fbpx

หลังจากประเทศไทยและอีกหลายชาติทั่วโลก เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ความกังวลต่อการระบาดระลอกที่สองของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ไม่ใช่คำถามว่าจะเกิดขึ้น “หรือไม่” แต่จะเกิดขึ้น “เมื่อไร” และ “ร้ายแรงแค่ไหน” เนื่องจากการไม่พบผู้ติดเชื้อ “ในประเทศไทย” ต่อเนื่องเกินกว่าระยะฟักตัวอย่างน้อย 28 วัน ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการกลับมาระบาดอีกครั้ง

เมื่อแนวโน้มการระบาดรอบสอง อาจมาเร็วกว่าที่คิด! เมื่อสุขภาพกำหนดสังคม ประเทศไทยควรกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 รอบสองอย่างไร? หากต้องอยู่กับการระบาดของโควิด – 19 ไปอีกอย่างน้อยสองปี ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ จึงจัดเวทีนโยบายสาธารณะในรูปแบบ Virtual Policy Forum: “เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ COVID-19” ขึ้น

โดยนอกจากจะเป็นการจัดงานโดยมีแกนหลักอย่างไทยพีบีเอส และ HFocus แล้ว ในการนี้ยังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) , กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงตัวแทนภาคธุรกิจ หน่วยงานผลิตวัคซีน และตัวแทนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ ให้ความสนใจร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยการจัดงานเป็นรูปแบบปิด และเน้นการจัดออนไลน์เป็นหลัก

ส่องสื่อ เราได้มีโอกาสเข้าร่วมในฐานะสื่อมวลชนครับ เราเลยขอมารีวิวเรื่องราวจากกิจกรรมที่จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา นำเอามาฝากกันให้ทุกท่านได้ติดตามและได้อ่านกันนะครับ โดยเราขอเริ่มต้นจากการจัดงานก่อนเลย งานในครั้งนี้หลักๆ อย่างที่ได้บอกกันนะครับว่าเป็นการจัดงานที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก โดยมีการรับสมัครผู้เข้าร่วมก่อนหน้านี้ เพื่อเชิญชวนให้เข้าห้องเสวนาผ่านระบบ Zoom Meeting โดยผู้ชมเสวนาก็มีส่วนร่วมในการถาม-ตอบด้วย เราก็จะได้เห็นการถามตอบกันสดๆ เลย

นอกจากนี้ การเชิญผู้ร่วมเสวนาในแต่ละช่วง ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว เพราะงานนี้มากันครบทั้งผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข องค์การภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประเด็นที่หลากหลายและครอบคลุมอีกด้วย ซึ่งทำให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ทีมงานส่องสื่อจึงไม่รอช้าในการที่จะเข้าไปชมผ่านทาง Facebook: The Active โดยทันทีในวันงาน โดยงานจัดตั้งแต่ 09.00-16.30 น. อัดแน่นด้วยความรู้ตลอดทั้งวันเลยครับ

เริ่มต้นช่วงเช้า มีปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มาพูดในหัวข้อ “ผลกระทบ COVID-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม” ซึ่งในช่วงหนึ่งที่อาจารย์อุดมพูดถึง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว นั่นก็คือเรื่องของวัคซีนนั่นเอง

“เนื่องจาก COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคที่ยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา  จะเห็นได้ว่านานาประเทศ อาทิเช่น อเมริกา อังกฤษ จีน ต่างเร่งผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในการรักษาโรค ซึ่งกระบวนการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา เราอาจต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกอย่างน้อยปีหรือปีครึ่งแน่ ๆ  งั้นที่ผ่านมา ไทยเราทำอย่างไรในการป้องกัน COVID-19 ? เราก็ใช้วิธีการ Lockdown นั่นเอง แต่ตัวที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคก็คือ Physical Distancing

ที่ผ่านมาเราทำได้ค่อนข้างดีมาก เพราะว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีการวางพื้นฐานไว้อย่างดี แต่สำคัญก็คือได้รับการร่วมมือจากประชาชนอย่างดีมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ ถัดมาในเรื่องของการระบาด คงไม่ได้มีเพียงแค่ระลอกเดียว แต่คงมีอีกเป็นระลอกเล็ก ๆ คงเป็นไปไม่ได้ที่ยอดผู้ติดเชื้อจะเป็นศูนย์ไปตลอด เพราะรอบ ๆ ประเทศเราก็ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อกันอยู่ไม่ใช่น้อย”

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้เท่านั้น อาจารย์อุดมยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำคัญในเรื่องของ “สุขภาพกำหนดวาระทางสังคม” โดยมี 3 เสาหลัก ได้แก่

– Healthcare การดูแลรักษาพยาบาลจะเปลี่ยนไป ในปัจจุบันเราต้องยึดหลัก Physical Distancing เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคระบาดไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพจะเป็นการดูแลสุขภาพทางไกล (Digital Healthcare) หมายความต่อไปนี้การดูแลสุขภาพจะเน้นเป็นการดูแลที่บ้านมากขึ้น อนาคตเทคโนโลยี AI , 5G จะเข้ามาช่วยในทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น ในอนาคตเราสามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าใครจะเป็นโรคอะไรบ้าง ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถคาดการณ์และแนะนำป้องกันได้ หลายๆ โรงพยาบาลปัจจุบันส่งยารักษาไปให้ยังที่บ้านของผู้ป่วยได้เลย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมา โรงพยาบาลลงอย่างมาก

– Education การศึกษา จะเน้น Blended learning มากขึ้น เป็นการเรียนผสมออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะเป็น Active learning มากขึ้น หลายๆ อย่างยังไม่สามารถที่จะออนไลน์ทั้งหมดได้ จึงต้องมีการออฟไลน์ควบคู่ไปด้วย ในยุค New normal จะมี 3 หลักใหญ่ๆ ที่โรงเรียนจะต้องทำคือ 2S Safety นักเรียน/นักศึกษาจะต้องปลอดภัย ครู/อาจารย์จะต้องไม่ติดโรค  , Non-Crowded จะต้องไม่แออัดต้องมี Physical Distancing  , Education Equity ต้องมีความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น ก่อนจะเกิดสิ่งเหล่านี้ต้องมีการ Re-design เสียก่อนต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน แต่ต้องไม่ลดคุณภาพการศึกษาลง มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น ให้สามารถมอนิเตอร์การเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพขึ้น

– Business ธุรกิจต่าง ๆ จะเกิด Delivery service ขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล เช่น การสั่งอาหารมากินที่บ้าน สั่งของสดมาส่งที่บ้าน โดยคนจะออกจากบ้านน้อยลง อีกด้านคือ Work From Home เมื่อการทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถที่จะทำที่บ้านได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศซึ่งโควิดจะมาทำให้ทุกอย่างพลิกโฉมไปอย่างมาก

ซึ่งพอทางทีมส่องสื่อเราสรุปมา เราก็ได้เห็นว่า สุขภาพมีผลต่อการกำหนดวาระทางสังคมจริง ๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่การกำหนดการเปิดธุรกิจแต่ละแห่ง อาจต้องอาศัยข้อมูลทางด้านสาธารณสุขเข้าไปช่วยด้วยเช่นกัน รวมไปถึงประชาชนจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการกำหนดการเปิด/ปิดสถานบริการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีผลต่อการระบาดของ COVID-19 ได้นั่นเอง

อีกคนที่เรารู้สึกว่าอยากให้อ่านมาก ๆ เพราะเรื่องราวมีผลต่อการใช้ชีวิต นั่นก็คือในช่วงเสวนา “นโยบาย – ผลกระทบ – การรับมือ การระบาดรอบที่สองของ COVID-19” ซึ่งเราขอหยิบยกคำพูดในตอนหนึ่งของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่พูดถึงการแพร่เชื้อของคนติดเชื้อ 1 คนให้ฟังด้วย 3 ตัวอักษร “C – P – D” ซึ่งแบ่งเป็น C อันหมายถึง โอกาสในการติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่าการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เป็นความจริง ก็คือไม่มีความเสี่ยงนั่นแหละครับ ส่วน P หมายถึง การกระจายของไวรัส ซึ่งสามารถใช้ระยะห่างทางกายภาพควบคู่ไปกับการล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัยก็จะช่วยได้ สุดท้ายคือ D หมายถึง ระยะเวลาติดเชื้อที่มีผลต่อการแสดงอาการและการแพร่ระบาดนั่นเอง

“มีปัจจัย 3 ตัว C ถ้าคน 1 คนไปเจอคนเยอะ ก็มีโอกาสแพร่เชื้อเยอะ นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราชวนให้อยู่บ้าน เมื่อผ่อนปรน คนจะออกจากบ้านมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่ตัว C จะอ่อนลง  ตัว P ถ้าเราไปยืนโดยทำ Physical Distancing ซึ่งถ้าเราใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้โอกาสการติดเชื้อน้อยลง ตัวสุดท้ายคือตัว D ระยะที่คนติดเชื้อถ้าหากนานมากคนก็ตายหมด”

อีกคนที่เราอยากให้ทุกท่านได้อ่าน นั่นก็คือคำพูดของ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่พูดถึงการรับมือโรค COVID-19 ในฝั่งกระทรวงสาธารณสุขว่า “สำหรับกระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุม DOE เพื่อสรุปสถานการณ์ทุกวันด้านการดำเนินงาน หลังจากมียอดผู้ติดเชื้อผมก็จะทำการ Set ว่า เตียงในกรุงเทพมหานครพอไหม? จะมีการประชุมและร่วมมือตลอด จุฬา-รามา-ธรรมศาสตร์ และหลายๆ โรงพยาบาล รวมทั้งประธานโรงพยาบาลเอกชน นอกเหนือจากนี้ยังมีการประสานข้อมูลกันระหว่างกรมควบคุมโรคให้สามารถนำข้อมูลไปเพื่อออกมาตรการจัดการป้องกัน

การจัดระบบป้องกันมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน ถ้าหากมีการระบาดรอบ 2 ต่อไปนี้สำหรับคนไข้ที่ไม่ได้เป็นโรคติดต่ออาจไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล มีการทำการรักษาทางไกล ส่งยารักษาถึงบ้าน ยาพอไหม? ต้องบอกว่าปัจจุบันการเตรียมการค่อนข้างพร้อมทั้งยา ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน ชุด PPE , N95 การดูแลด้านสุขภาพจิตก็มีการเตรียมพร้อม และปัจจุบัน มีเตียงมากกว่า 2 หมื่น สามารถรองรับผู้ป่วยได้ต่อวันประมาณ 500 คน”

อีกส่วนที่เราพลาดไม่ได้ นั่นก็คือเสวนาช่วงบ่ายในเรื่อง “วัคซีน – ยา : ความหวัง – โอกาส – วิกฤต” โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการยาและวีคซีนที่ถือเป็นความหวังของประเทศถึง 3 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยน คือ นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม รศ.ภกญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และ นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) ในส่วนแรกนี้ ต้องยอมรับว่าทีมงานเราไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะศัพท์ทางการแพทย์ที่เฉพาะทางมาก ๆ และเนื้อหาส่วนใหญ่ในช่วงบ่ายค่อนข้างหนักและเป็นความรู้ใหม่ แต่ทางทีมงานเราพอจะสรุปแบบง่ายๆ มาฝากทุกคน

เนื้อหาหลักที่ทั้ง 3 ท่าน พูดถึงเป็นเรื่องของการผลิตยาและวัคซีน ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมด้านยาของประเทศไทยตอนนี้อ่อนแอมาก ทั้งที่เมื่อก่อนอุตสาหกรรมยาเข้มแข็ง สังเกตได้จากที่เรามีความสามารถผลิตยาสามัญชนิดเดิม แต่กลับไม่สามารถผลิตยาชนิดใหม่ ๆ ได้ ดังนั้น ตอนนี้ประเทศไทยจึงมีแผนที่จะขยายการผลิตยาระดับอุตสาหกรรมภายในเดือนตุลาคมนี้ และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 จะต้องเป็นผู้ผลิตสารตั้งต้นในการผลิตยาได้เอง ซึ่งทางวิทยากรก็บอกว่า แม้จะเป็นเรื่องยากของไทยแต่ก็ต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองให้ได้ในอนาคตนั่นเองครับ

สำหรับเรื่องวัคซีนโควิด 19 นั้น ทุกวันนี้เริ่มมีการทดลองและผลิตในหลายประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้ภาครัฐจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการเจรจา โดยวิทยากรให้ความเห็นว่า ประเทศไทยของเราควรเจรจาหรือพูดคุยตั้งแต่เนิ่น ๆ และสิ่งสำคัญต้องเจรจาหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศของเรา 

ยังมีอีกช่วงหนึ่งที่เราสนใจ ช่วงนี้เป็นเรื่องราวจากภาคธุรกิจซึ่ง นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พูดเอาไว้เกี่ยวกับการช่วยเหลือของภาคเอกชนต่อการยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 “ที่ผ่านมาภาคเอกชน ก็ช่วยประสานหาเครื่องมือแพทย์ในการรับมือโรคระบาด ล่าสุดเจรจากับต่างประเทศ ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีน หากประเทศใดสามารถผลิตได้ก่อน เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน หลังจากปิดประเทศ ทำให้เห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ควรพัฒนา แต่วิกฤตตอนนี้คือมีคนตกงานจำนวนมาก”

จากทั้งหมดในงานเสวนาตลอดทั้งวัน เราได้เรียนรู้เรื่องราวหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะความรู้ในการรักษา COVID-19 รวมไปถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแบบครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชนแบบบูรณาการ ซึ่งจะทำให้ส่งผลดีต่อประชาชนอีกด้วย และเรายังได้ทราบถึงการดำเนินงานต่าง ๆ รวมไปถึงเข้าใจเรื่องข้อจำกัดของทุกฝ่ายในการให้ความช่วยเหลือประชาชน

สำหรับประชาชนเอง ถ้าได้ฟังจากงานเสวนานี้ก็จะได้ทราบข้อมูล และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้ตนเองไปมีความเสี่ยงและแพร่เชื้อ รวมไปถึงเข้าใจการทำงานของหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรทำความเข้าใจในฐานะผู้ที่ใช้ภาษีประชาชนในการดูแลรักษาโรคอีกด้วยครับ

และท่านสามารถรับชมเต็มๆ ได้ทาง www.facebook.com/TheActive.Net