fbpx

คอนเทนต์นี้เขียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563

ในวงการข่าวนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลังจากการเกิดขึ้นของดิจิทัลทีวีในประเทศไทยนั้น มีการเกิดขึ้นของสำนักข่าวใหม่ ๆ ขึ้นมากมายในวงการโทรทัศน์ จากเดิมที่มีเพียง 6 สำนักข่าวใน 6 ช่องหลัก ก็เพิ่มขึ้นมาอีกหลากหลายสำนักข่าว ทั้งที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคฟีเวอร์ของทีวีดาวเทียม , อิงมาจากสื่อเดิม หรือตั้งขึ้นมาใหม่เลย ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละช่อง และอีกส่วนก็คือข้อกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่บังคับให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องมีรายการข่าวและสาระในสัดส่วนอย่างต่ำ ๆ 25% ของผังรายการ จึงทำให้รายการข่าวเป็นรายการที่ทุกช่อง “ต้องมี” อยู่ในผังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กระทั่งช่องที่ปัจจุบันหันมาเน้นการฉายภาพยนตร์อย่างโมโน 29

ยิ่งในปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยแล้ว สำนักข่าวใหม่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด การรักษาความนิยม จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ และบนทีวี 1 ในหลักการที่ยังอยู่ก็คือ “ผู้ซื้อโฆษณา ก็ยังเลือกซื้อโฆษณาจากเรตติ้งโดยรวมของช่องอยู่ดี” ดังนั้น หลาย ๆ ช่องจึงต้องฟาดฟันกันด้วยคอนเทนต์แม่เหล็กที่มี และถนัด เพื่อดึงคนดูให้อยู่กับช่องของตน

1 ในสิ่งที่น่าจับตาก็คือ “รายการข่าว” ที่ต่างคนต่างไม่มีใครยอมใคร และเรตติ้งก็ผลัดกันขึ้น ผลัดกันลง จนน่าจับตามอง เราจะยกตัวอย่างมาให้ 2 รายการ ซึ่ง 2 รายการนี้ก็คงเป็นรายการที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีในระดับหนึ่ง


ไทยรัฐทีวี “จากคิดต่างอย่างเข้าใจ สู่ทีวีมหาชน”

ไตเติ้ล ไทยรัฐ นิวส์โชว์ พ.ศ. 2560 (Full Version.) - YouTube
เขมสร หนูขาว – พีระวัฒน์ อัฐนาค คู่หูข่าวไทยรัฐนิวส์โชว์ในช่วงเริ่มต้นของทีวีดิจิทัล

แรกเริ่มเดิมทีไทยรัฐทีวีนั้นเริ่มทดสอบระบบกันในปี พ.ศ. 2556 และมีการออกอากาศจริงในปี พ.ศ. 2557 โดยชูจุดเด่นด้วยสโลแกน “คิดต่างอย่างเข้าใจ” ที่มาจากคอนเทนต์ภายในช่องที่ค่อนข้างแตกต่างจากช่องทั่วไปในระดับหนึ่ง

1 ในนั้นก็คือรายการข่าว ที่ชูจุดเด่นโดยการนำ VIRTUAL GRAPHIC จากบริษัท VIZRT[1] มาใช้เป็นฉากในรายการข่าวแทบจะทุกรายการของช่อง โดยมีรายการข่าวที่เรียกได้ว่าเป็น “รายการเรือธง” ของช่องในช่วงไพรม์ไทม์อย่าง “ไทยรัฐนิวส์โชว์”

ซึ่งในช่วงแรกก็คือรายการข่าวที่เน้นการนำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ในสังคมอย่างเรื่องการเมือง , เศรษฐกิจ , ต่างประเทศ เป็นต้น และมี “จุดเด่น” ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยี IMMERSIVE มาใช้ในการนำเสนอเรื่องยากให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยมี MR. IMMERSIVE ที่ยืนพื้นอยู่คู่ไทยรัฐอย่าง “พีระวัฒน์ อัฐนาค” (*ปัจจุบันทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวให้กับช่องวัน 31 โดยสลับช่องกันกับ “ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์”) มานำเสนอให้ผู้ชม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจนทำให้ช่องมีเรตติ้งที่ดีในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การนำเสนอในรูปแบบเดิมก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ “ฐานลูกค้าส่วนใหญ่” ที่ยังคงชอบการนำเสนอแบบเล่าข่าว และนำเสนอข่าวที่สังคมสนใจ อย่างข่าวอาชญากรรม , ข่าวที่เจาะกลุ่มผู้ชมในวงกว้าง , ข่าวเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ มากกว่าข่าวที่สังคมควรรู้ ซึ่งที่กล่าวมา นั่นก็แทบจะกล่าวได้ว่าเป็น 1 ในแนวทางการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ในสังคมเองก็มีการตั้งข้อสงสัยบ้างเป็นระยะ ๆ

ไทยรัฐทีวีจึงต้องค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าว รวมถึงรายการให้ “แมสกว่าเดิม และคนดูเข้าใจง่ายกว่าเดิม” และละทิ้งสโลแกน “คิดต่างอย่างเข้าใจ” ที่ใช้มาได้ประมาณ 2 ปีเศษ ๆ ทิ้งไป โดยหันมาใช้สโลแกน “ทีวีมหาชน” ในเวลาไม่กี่ปีถัดมา

1 ในสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการที่ “ฉัตรชัย ตะวันธรงค์” ต่างก็ลาออกจากตำแหน่งของตนในไทยรัฐทีวีในช่วงประมาณปลายปี 2560 เพื่อกลับไปทำงานให้กับสถานีข่าว “สปริงนิวส์” ที่เขาเคยมีส่วนร่วมในการก่อตั้งอีกครั้งหนึ่ง[2] ประณต วิเลปสุวรรณ จึงเริ่มมีบทบาทในฝ่ายข่าวของช่องในสัดส่วนที่ “เยอะขึ้น” ตามไปด้วย

และ 1 ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันก็คือการสลับตัว สลับช่องกันระหว่าง “ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์” ที่แต่เดิมอยู่กับช่องวัน 31 กับ “พีระวัฒน์ อัฐนาค” ที่แต่เดิมอยู่กับไทยรัฐทีวี ไปอยู่กับอีกช่องหนึ่ง โดยภาคภูมิย้ายมาอยู่กับไทยรัฐทีวี ส่วนพีรวัฒน์ย้ายมาอยู่กับช่องวัน 31 ในช่วงที่มีการปรับทีมข่าวจากชื่อแบรนด์ “ONE NEWS” มาสู่แบรนด์ “ข่าวช่องวัน”[2] จึงเป็น 1 ในสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาสู่รูปแบบที่มีภาคภูมินั่งเป็นผู้ประกาศข่าวร่วมกับ “เขมสรณ์ หนูขาว” และในปัจจุบัน “พีระวัฒน์ อัฐนาค” ก็กลับมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ไทยรัฐทีวี โดยมาเล่าข่าวในช่วงไทยรัฐนิวส์โชว์ในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนข่าวช่องวันก็ถูกรวมเป็นสำนักข่าววันนิวส์เป็นที่เรียบร้อย

เอกลักษณ์ของไทยรัฐนิวส์โชว์ในปัจจุบัน คือการเน้นนำเสนอข่าวในกระแสที่สังคมสนใจ ใช้นวัตกรรม IMMERSIVE กับข่าวยิบย่อยมากกว่าในอดีต มีการเกลี่ยบทคล้ายคลึงกับทุบโต๊ะข่าว คือการให้ผู้ประกาศข่าวฝ่ายชายอ่านข่าวเป็นหลักในระดับหนึ่ง

ด้วยชื่อแบรนด์ “ไทยรัฐ” นั้นเองก็เป็นกำลังส่งให้กับคนดูด้วยส่วนหนึ่ง เพราะคนดูสามารถเชื่อใจได้จากประสบการณ์ในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของไทยรัฐที่มีมายาวนาน

ในปัจจุบัน ไทยรัฐเลือกที่จะชิงขยับเวลาเริ่มของไทยรัฐนิวส์โชว์ให้มาเริ่มในช่วง 1 ทุ่ม 15 ในช่วงต้นเดือนมีนาคมเพื่อชิงความได้เปรียบ และขยับมาเป็น 1 ทุ่มตรงในเวลาไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ก่อนที่ทุบโต๊ะข่าวเลือกที่จะขยับมาเริ่มออกอากาศในช่วง 1 ทุ่ม และขยับมาเริ่มออกอากาศในช่วงเวลา 18:50 น. ในเดือนถัดมา


อมรินทร์ทีวี “1 ในทีมข่าวใหม่ที่น่าจับตามอง”

จิตดี ศรีดี – พุทธ อภิวรรณ คู่หูประจำทุบโต๊ะข่าว

แม้ว่าในช่วงแรก ๆ อมรินทร์ทีวีนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับหลาย ๆ ช่องอย่างโลก้า , ไทยทีวี , บิ๊กแชนแนล (ปัจจุบันคือ จีเอ็มเอ็ม 25) , โมโน 29 , ช่องวัน 31 , พีพีทีวี ที่ต้องให้ความสำคัญในการผลิตรายการข่าวอย่างจริงจัง แม้จะยังไม่มีทีมข่าวอยู่ในช่องตัวเอง ก็จำเป็นต้องทำ หรือไม่ก็ต้องไปหาพันธมิตรเพื่อผลิตข่าวให้ช่องตัวเอง ในช่วงแรก ๆ อมรินทร์ทีวีจึงดึงทีมงานชุดหนึ่ง ซึ่งมาพร้อมกับ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” ที่มารับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวในรายการ “อมรินทร์ นิวส์ไนท์” แต่ทว่าเมื่อออกอากาศได้เพียง 1 สัปดาห์ ภิญโญได้ตัดสินใจ “ยุติบทบาท” ในช่องอมรินทร์ลง เนื่องจากช่วงนั้นภิญโญกับทางช่องมีวิธีคิดที่ไม่ตรงกันสักเท่าไหร่ในการทำงานข่าว (ประกอบกับช่วงนั้นก็พอดีเป็นช่วงที่เกิดการรัฐประหารอีกด้วย ทำให้สถานการณ์ภายในและภายนอกช่องเปลี่ยนไป)[3] อมรินทร์นิวส์ไนท์จึงต้องยุติการออกอากาศไปพักหนึ่ง

และทำให้ “ทุบโต๊ะข่าว” ที่แต่เดิมเป็นรายการแนว HARD TALK ก็ต้องมารับหน้าที่เป็นข่าวค่ำแทนอมรินทร์นิวส์ไนท์ไปก่อนในระยะหนึ่ง ก่อนที่ในเวลาถัดมาจะส่ง “ต่างคนต่างคิด” ให้มาเป็นรายการ HARD TALK กึ่ง DEBATE แทนที่กันไป (ก่อนที่อมรินทร์นิวส์ไนท์จะกลับมาออกอากาศในเวลาถัดมา และแปรสภาพมาเป็นรายการ “ข่าวเย็นอมรินทร์” ในช่วงปลายปี 2561 และยุติออกอากาศไปในช่วงที่มีการเพิ่มเวลาของรายการทุบโต๊ะข่าว)

รูปแบบที่คุ้นเคยสุดของทุบโต๊ะข่าว นำทีมโดยคนข่าวที่ยืนพื้นอยู่กับรายการอย่าง “พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี” หรือที่ในรายการมักจะเรียกเพียงชื่อจริงว่า “พุทธ อภิวรรณ” อ่านข่าวคู่กับ “จิตดี ศรีดี” ซึ่งเป็นศิษย์เก่าจาก “ทีนิวส์” เช่นเดียวกับพุทธ (ปัจจุบันมีผู้ประกาศข่าวท่านอื่นสลับกันทำหน้าที่แทนจิตดีที่โยกไปเล่าข่าวในช่วงอื่นๆ แทน)

เอกลักษณ์ของทุบโต๊ะข่าวก็คือการที่พุทธมีบทบาทในการนำเสนอข่าวค่อนข้างเยอะกว่า ส่วนจิตดีนั้นมักจะพูดออกมาบ้างเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่พุทธมักจะเป็นผู้นำเสนอ ส่วนจิตดีอาจจะแค่พูด คะ ค่ะ ตามอิริยาบถไป ทำให้จิตดีมีภาพลักษณ์เป็นเหมือนผู้ช่วยของพุทธ

แนวทางการอ่านข่าวของพุทธ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับผู้ประกาศข่าวชื่อดังของช่อง 3 อย่าง “สรยุทธ สุทัศนจินดา” หลังจากที่สรยุทธยุติบทบาทบนหน้าจอลงจากคดีไร่ส้ม พุทธจึงได้ “เฉิดฉาย” ในวงการข่าวอย่างเต็มตัว

จนครั้งหนึ่งเคยมีข่าว(ลือ)ในช่วงที่พุทธไม่ได้อ่านข่าวเพียง 2 วัน ซึ่งเป็นจังหวะ “บังเอิญ” กับช่วงที่สรยุทธนั้นต้องอำลาหน้าจอไป โดยในช่วงนั้นพุทธได้ทำการยื่นลาออกด้วย[4] การลาออกในครั้งนั้น ทำให้ “สมภพ รัตนวลี” ได้โพสต์ข่าวลือที่ได้รับมาจากเพื่อนร่วมงานว่าพุทธนั้นอาจจะย้ายไปทำหน้าที่ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ให้กับช่อง 3[5] แต่ในเวลาถัดมาทางพุทธได้กลับมาดำเนินรายการทางอมรินทร์ทีวีตามปกติ โดยที่เรตติ้งของทุบโต๊ะข่าวในช่วงนั้นอยู่ที่ 0.6 ซึ่งหากเป็นในปัจจุบัน ถือว่า “น่าเป็นห่วง”[6]

หลังจากการเพิ่มเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มเวลาที่ไล่ ๆ กันกับไทยรัฐทีวีที่หวังขยับสงครามชิงเรตติ้งให้มาเริ่มตั้งแต่ช่วง 1 ทุ่ม ก็ได้มีการเพิ่มผู้ประกาศข่าวอีก 2 คนก็คือ นภจรส ใจเกษม และ ธนญญ์นภสสร์ น้อยเวียง โดยที่จิตดีลดบทบาทลง เหลือเพียงการเป็นผู้ประกาศในช่วงที่ 1 เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ ในช่วงแรกจะมีผู้ประกาศข่าวทั้งหมด 3 คน และในช่วงสองจะมีผู้ประกาศ 2 คน ตามปกติ ทำให้ใช้ผู้ประกาศข่าวเยอะกว่าไทยรัฐนิวส์โชว์ไปบ้างในวันจันทร์-ศุกร์

ปัจจุบันนี้นอกจากพุทธจะทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวแล้ว พุทธยังรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของช่องด้วย จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ฝ่ายข่าวช่องนี้จะ “แข็งแกร่ง” เสียจริง


“เมื่อจรรยาบรรณไม่ไปกับเรตติ้ง”

โกหกทำไม! ชาวบ้านเปิดปาก มีคนสั่งพี่ชมพู่ ให้พูดหลอก ส่อพลิก4พยานพ่อ

หากสังเกตตั้งแต่ช่วงต้นปีมานี้ จะพบว่าทั้ง 2 ช่องต่างก็ท็อปฟอร์มพอ ๆ กันในด้านการนำเสนอข่าว สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่มีเหตุการณ์ “การปล้นชิงทอง” ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นข่าวที่นำเสนอแบบฉับพลันในระดับหนึ่ง ทางผู้เขียนเองก็จำไม่ค่อยได้ว่าวันนั้นทั้ง 2 ช่องเล่นข่าวอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือข่าวนั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 21:00-22:00 น. จึงเจียดพื้นที่ช่วงท้ายรายการให้เล่นได้

บางช่องก็นำเสนอได้เลยเถิดกันไปข้าง ที่น่าสลดใจก็คือหลังจากนั้น “บางช่อง” ได้นำเสนอข่าวเลยเถิดไปตั้งแต่การ “ทวงหนี้พ่อของเด็กผู้เสียชีวิต” , “เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลในครอบครัว” แม้กระทั่ง “การดูโหงวเฮ้งของผู้ก่อเหตุ” ซึ่งกลายเป็นว่ามันดัน “เลยเถิดจนเกินไป”

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่มีข่าวเหตุการณ์ “กราดยิง” ใน จ.นครราชสีมา ทั้ง 2 ช่องต่างก็ลากรายการให้จบช้าลง ลากยาวตั้งแต่ค่ำยันดึก บางช่องก็ลากยันเช้าของอีกวันเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ช่องถูกสังคมประณามว่า “ไร้จรรยาบรรณ” ไปช่วงหนึ่ง พร้อม ๆ กับช่องวัน 31 ที่ยอม “ล้มผัง” เลื่อนการออกอากาศรายการ TOP CHEF THAILAND SEASON 3 รอบ FINAL ไปอีกสัปดาห์เพื่อรายงานสถานการณ์นี้

“แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลต่อเรตติ้งแต่อย่างใด”

ในวันนั้นอมรินทร์ทีวีสามารถทำเรตติ้งได้สูงถึง 3.450 และไทยรัฐทีวีทำเรตติ้งได้ 2.667[7] ท้ายที่สุดนั้น สำนักงาน กสทช. จึงมีคำสั่งปรับทั้งไทยรัฐและอมรินทร์เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท/ช่อง จากเหตุการณ์นั้น ส่วนช่องวัน 31 ที่ร่วมถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในวันนั้นถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 250,000 บาท[8]

แต่ที่พีคสุดคือข่าวการหายตัวไปของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมที่สังคมจับตามอง

ในช่วงแรกการนำเสนอก็ยังดูปกติ แต่ในช่วงหลัง ๆ การนำเสนอข่าวเลือกที่จะเกาะติด “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” กับคดีนี้อย่าง “ลุง” ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในช่วงแรก ก่อนจะมาเป็น “ฮีโร่” ซึ่งมีแฟนคลับในเวลาถัดมา สื่อทั้ง 2 แห่งเลือกที่จะนำเสนอข่าวของลุงในเชิงเกาะติดยังไงอย่างนั้น

แต่ที่เริ่มเลยเถิดก็คือการนำเสนอในแบบ “คดีแทบไม่มีความคืบหน้า แต่ข่าวยังมีให้เล่น” บางช่องก็เล่นประมาณว่าลุงก้าวเท้าข้างไหนออกจากบ้าน , ลุงร้องเพลง (ที่พีคคือมีช่องนึงปาดเนื้อแบบคาราโอเกะเลยด้วย) , โหงวเฮ้งลุง , สัดส่วนลุง ,แม้กระทั่งลุงไปจ่ายตลาดกับหมอผีท่านหนึ่ง ก็นำเสนอว่าไปซื้ออะไรมา และราคารวมเท่าไหร่ ลุงนั้นได้รับโอกาสหลายสิ่งหลายอย่างแบบงง ๆ ได้ทั้งบ้าน(ใหม่) ได้ทั้งรูปเหมือน ได้ทั้งอะไรต่อมิอะไร แม้กระทั่งโอกาสในวงการบันเทิง!

ในด้านเรตติ้งนั้น ทั้ง 2 ช่องต่างทำเรตติ้งได้ดี ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม ที่พีคสุดก็คือเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นั้นเอง ที่ “ทุบโต๊ะข่าว” ของช่องอมรินทร์ทีวีสามารถทำเรตติ้งในช่วงที่ 2 เป็นอันดับหนึ่งด้วยเรตติ้ง 4.194 แซงหน้าละครของช่อง 7 เอชดีที่ในขณะนั้นส่งเรื่อง “ปีกหงส์” มาลงสล็อตละครในวันพุธ-พฤหัสบดี ซึ่งทำเรตติ้งได้ที่ 3.821 ส่วนคู่แข่งอย่างไทยรัฐนิวส์โชว์ของไทยรัฐทีวีสามารถทำเรตติ้งไปได้ที่ 3.790[9]

แน่นอนว่ามันส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งจากการนำเสนอของทั้ง 2 ช่อง ทำให้คนในชุมชนได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิของตนจากการทำข่าว ทำให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต้องเชิญทั้ง 2 ช่องมาชี้แจง และในขณะเดียวกันก็มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อดูแลเนื้อหาการออกอากาศ[10]

สุภิญญา กลางณรงค์ ได้กล่าวไว้ในงาน “ข่าวเลยเถิดละเมิดสิทธิ ปั่นดรามา มอมเมา… สังคมไทยควรทำอย่างไร ?” ซึ่งมีการกล่าวถึงคดีการเสียชีวิตของเด็กว่า “ข่าวไม่ใช่ละคร” ซึ่งการนำเสนอของสื่อในปัจจุบันมักทำให้เหมือนละคร มีความน่าสนใจแต่ไม่คำนึงถึงผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งสมาคมวิชาชีพสื่อก็ควรที่จะมีมาตรการตรวจสอบกันเองที่เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมไปถึงองค์กรด้านสื่อ เอเจนซีก็ควรมีความรับผิดชอบในการดูแลและมีส่วนร่วมไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนซึ่งมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงกฎหมายคุ้มครองเด็กอยู่ด้วยนั่นเอง[11]

ยังไม่นับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ในเชิงของ “เลขเด็ด” “ใบ้หวย” หรืออย่างอื่นอย่างใด ซึ่งก็มีส่วนทำให้ผู้ชมที่ชื่นชอบการซื้อสลากตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน เพราะทั้ง 2 ช่องต่างก็ถ่ายทอดสดการออกรางวัลเช่นเดียวกัน จนบางช่องก็โดน กสทช. ในยุคของคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ฟันดาบกันไปรอบหนึ่งเหนาะ ๆ บางช่องจึงต้องเลี่ยงด้วยการเบี่ยงไปในเชิงว่า “เลขที่เกี่ยวข้อง” หรือให้เลขในไลฟ์บนโซเชียลมีเดีย

รวมถึงข่าวบันเทิงบางช่องที่พาดหัวโอเวอร์ หรือนำข่าวที่ยังไม่มีมูลความจริงมาใส่ ไม่ก็นำเสนอในเชิงประชดประชัน จนอาจทำร้ายจิตใจของคนบันเทิงในข่าวได้


หากว่ากันตามตรงในช่วงที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ทั้ง 2 ช่องก็ยังนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของเด็กคนนี้แบบร่ายยาวเหมือนเดิม (แม้ว่าอาจจะไม่ได้ยาวมากเหมือนเมื่อก่อนก็ตาม) ถึงแม้ว่าในด้านความคืบหน้าของคดีนั้นแทบจะไม่มี แต่ทั้ง 2 ช่องก็ยังเล่นต่อไป ด้วยหัวข้อข่าวที่ “ไม่คิดว่าจะเล่นได้” ซึ่งผู้เขียนคิดในใจว่าทั้ง 2 ช่องน้้นมีเหตุผลอะไรในเล่นข่าวนี้ต่อไป ทั้ง ๆ ที่คดีแทบจะยังไม่มีความคืบหน้า เพราะบางเรื่องที่บางช่องเล่น คนดูไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้

ลึก ๆ แล้วตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกอนาถใจกับจรรยาบรรณสื่อในไทยที่เริ่มถดถอยลงจนเริ่มเข้าสู่ยุค “เรตติ้งดีกว่าจรรยาบรรณ” ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ “ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” สำหรับตัวผู้เขียนและคนอื่น ๆ

ในความคิดของผู้เขียน ผู้เขียนมองว่าข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจพอ ๆ กันอย่างข่าวการชุมนุมที่สถานการณ์ก็เริ่มจุดติดแล้ว , ข่าวเศรษฐกิจที่ประชาชนสนใจ หรือข่าวอื่น ๆ นั่นก็ดูน่าสนใจ และน่าเล่นพอ ๆ กัน แต่นั้นอยู่ที่ว่าช่องจะจัดสัดส่วนข่าวยังไงให้ออกมา “พอดี”

การนำเสนอข่าวจนเกินพอดีของสื่อ โดยอาจจะหวังแค่เรตติ้งเพียงอย่างเดียว นอกจากจะส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ชมแล้วก็มีส่วนทำให้คนดูบางคนที่เริ่ม “เบื่อ” ชิงเปลี่ยนช่องไปดูข่าวช่องอื่นที่ไม่ได้เน้นการนำเสนอข่าวแบบที่ 2 ช่องแห่กันนำเสนอ อย่างทีเอ็นเอ็น 16 หรือ พีพีทีวี เช่นเดียวกัน หรือถ้าหากไม่ดูข่าว ก็จะกลับไปดูรายการในกลุ่มละคร , ภาพยนตร์ , หรือวาไรตี้ในช่องอื่น ๆ ตามเดิม

ในสภาวะที่เรตติ้งมีผลต่อช่อง เพราะผู้ซื้อโฆษณายังพิจารณาจากเรตติ้งอยู่ ตัวผู้เขียนนั้นแทบไม่ต้องเดาคำตอบจากทั้ง 2 สำนักข่าวว่าจะหยุดนำเสนอข่าวในรูปแบบนี้ หรือนำเสนอข่าวแบบนี้ต่อไป คงทำใจได้แล้วว่าในสังเวียนดิจิทัลทีวีนั้น “ไม่เด็ดจริง…อยู่ยาก”


อ้างอิง
[1] ไทยรัฐออนไลน์ , “”ไทยรัฐทีวี” กับเทคโนโลยีเวิลด์คลาส”
https://www.thairath.co.th/content/417484

[2] ดาราเดลี่ , “”คนข่าว” สมองไหล โยกย้าย…ข้ามช่อง”
https://www.daradaily.com/news/66081/read

[3] โพสต์ทูเดย์ , “ภิญโญยุติจัดรายการข่าวผ่านอมรินทร์ทีวี”
https://www.posttoday.com/ent/news/299807

[4] ดาราเดลี่ , “อมรินทร์ทีวีคอนเฟิร์ม “พุทธ อภิวรรณ” ออกจริง คอข่าวลุ้น นั่งแท่นอ่านแทน “สรยุทธ””
https://www.daradaily.com/news/53987/read

[5] Positioning Magazine , “ลือสนั่น ช่อง 3 ดึง “พุทธอภิวรรณ ทุบโต๊ะข่าว จัดเรื่องเล่าฯ แทนสรยุทธ”
https://positioningmag.com/63087

[6] MGR ONLINE , “พุทธอภิวรรณ” หวนกลับทำรายการช่อง “อมรินทร์ทีวี” เหมือนเดิม”
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000041200

[7] MGR ONLINE , “เรตติ้งข่าวกราดยิงโคราช “ช่องวันสูงสุด “ไทยพีบีเอส” ต่ำสุด ประณาม “สื่อไร้จรรยาบรรณ” ไร้ผล”
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000014149

[8] TV DIGITAL WATCH , “กสทช. สั่งปรับ 3 ช่อง เหตุกราดยิง ไทยรัฐ อมรินทร์ 5แสน ช่องวัน 2.5 แสน”
https://www.tvdigitalwatch.com/news-nbtc-26-2-2563/

[9] TV DIGITAL WATCH “เมื่อละครช่อง 7 ยังต้องแพ้ดราม่า “รายการช่าว””
https://www.tvdigitalwatch.com/09_07_top10/

[10] ไทยทีวีสีช่อง 3 , “สื่อช่องดังแจงเสนอข่าว “น้องชมพู่” กสทช.จ่อสอบย้อนหลัง 2 เดือนปมละเมิดสิทธิ”
https://ch3thailandnews.bectero.com/news/199613

[11] เว็บไซต์ส่องสื่อ , “สื่อและสังคมได้อะไร จากการนำเสนอข่าว “เด็กผู้หญิงเสียชีวิต”แบบเรียลลิตี้”
https://songsue.co/10010/