fbpx

เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สื่อหลายเจ้าอยู่ในภาวะที่ขาดทุน บ้างก็กำไรน้อยมาก ๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนรัฐบาลต้องสั่งปิดประเทศและงดกิจกรรมหลายอย่าง คอนเสิร์ตจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี และกิจกรรมอื่น ๆ ก็ถูกเลื่อนอีกเช่นกัน แต่สำหรับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กลับยังสามารถดำเนินธุรกิจหลักอย่างธุรกิจเพลงต่อไปได้ และมีผลประกอบการที่กำไรเหมือนเดิม โดยอาจจะลดลงจากไตรมาสที่แล้วไปพอสมควร

โดยจากการรายงานของส่องสื่อในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 จะพบว่าในไตรมาสที่ 1/2563 จีเอ็มเอ็ม มีกำไรอยู่ที่ 53 ล้านบาท แต่สำหรับไตรมาสที่ 2/2563 ที่งบประมาณเพิ่งรายงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 พบว่าจีเอ็มเอ็มมีกำไรประจำงวดอยู่ที่ 3,952,000 บาท และมีกำไรสุทธิประจำงวดอยู่ที่ 7,499,000 บาท

ถ้าแบ่งประเภทรายได้ของจีเอ็มเอ็ม จะพบว่ากลุ่มธุรกิจหลักที่ยังคงเป็นตัวสร้างกำไรก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจขายสินค้า อันได้แก่ ธุรกิจเพลง ที่ได้รายได้อยู่ที่ 422 ล้านบาท หรือร้อยละ 46 ของรายได้ทั้งหมด โดยลดลงร้อยละ 52.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้จากธุรกิจบริหารศิลปินและธุรกิจโชว์บิซ (การจัดแสดงคอนเสิร์ต) ที่ลดลงจากการงดการจัดกิจกรรมตามมาตรการของรัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดีธุรกิจดิจิทัลมิวสิคและธุรกิจการจัดเก็บลิขสิทธิ์ เป็นตัวที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและมีรายได้ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า หรือเทรดดิ้ง อันประกอบไปด้วย โอ ช็อปปิ้ง , จีเอ็มเอ็ม แซท ในส่วนของโอ ช็อปปิ้งมีรายได้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 408 ล้านบาท ส่วนธุรกิจกล่องรับสัญญาณทีวีมีรายได้ 51 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนงานธุรกิจภาพยนตร์ โดย จีดีเอช 559 มีผลประกอบการอยู่ที่ 19 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากการที่ไม่มีโปรแกรมฉายและมาตราการสั่งปิดโรงภาพยนตร์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังมีรายได้อื่นๆ อีก 16 ล้านบาท

ในส่วนของการรับเงินปันผลจากกลุ่มธุรกิจร่วมการค้า โดยมีบริษัทที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลอย่าง บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หรือช่องวัน 31 ที่จีเอ็มเอ็มได้ส่วนแบ่งกำไรประจำไตรมาสนี้อยู่ที่ 38,939,000 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 10 ล้านบาท ในขณะที่อีกบริษัทอย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด หรือช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้ส่วนแบ่งภาระขาดทุนอยู่ที่ 10,581,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีบริษัทร่วมอีกสองบริษัทที่จีเอ็มเอ็มได้ส่วนแบ่งด้วย นั่นก็คือ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด ที่จีเอ็มเอ็มได้ส่วนแบ่งกำไรอยู่ที่ 1,800,000 บาท , บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ส่วนแบ่งภาระขาดทุนอยู่ที่ 3,756,000 บาท และบริษัทร่วมอื่นๆ ได้ส่วนแบ่งกำไรอยู่ที่ 356,000 บาท

สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเติมนั่นก็คือการปรับตัวของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในการดำเนินธุรกิจหลังการเกิดโรคโควิด-19 ที่อาจจะดูไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจไปไม่น้อยเลย ยังไงอย่าลืมติดตามเรากันต่อไปนะครับ