fbpx

เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ iCreator Conference 2020 ที่ปีนี้จัดแบบระบบ Hybrid Conference ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2 โดย RainMaker โดยส่องสื่อร่วมเป็น 1 ใน Media Partner ของงานนี้ด้วย เราจึงสรุปบางช่วงที่น่าสนใจมาฝากกันครับ

RainMaker เปิดเผยตัวเลขสำคัญทาง Internet ที่ Content Creator ห้ามพลาด!

RainMaker เปิดเผยว่าสื่อออนไลน์มีการเติบโตมากขึ้น โดยยอดมูลค่าโฆษณาของสื่อออนไลน์ในรอบ 7 เดือนมีมูลค่ามากกว่า 12,942 ล้านบาท โดยข้อมูลจากนีลเส็นเปิดเผยว่ามีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่สื่ออื่น ๆ มีอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอัตราการลงโฆษณาลดลงถึงร้อยละ 39 และสื่อ In-store Media มีอัตรลดลงในรอบ 7 เดือนของปีมากถึงร้อยละ 43

ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ลดลงไปร้อยละ 14 สื่อวิทยุมีการลงโฆษณาที่ลดลงร้อยละ 20 และโควิด-19 ก็ทำให้สื่อภาพยนตร์มีอัตรการลงโฆษณาที่ลดลงมากถึงร้อยละ 59 เลยทีเดียว ในขณะที่ยอดการใช้ Social Media TikTok มีอัตรการใช้งานที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยใช้กันอย่างแพร่หลายอีกด้ว

ในขณะที่ผลสำรวจค้นพบว่าคนไทยให้เวลากับออนไลน์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนมือถือมากถึงเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ยอดการใช้ e-commerce มีอัตราการใช้สูงถึงอันดับ 2 ของประเทศเช่นเดียวกัน และใช้เวลากับ Social Media Platform มากถึง 10.1 ชั่วโมงเลยทีเดียว

TikTok ประเทศไทย พร้อมสนับสนุน Content Creator พร้อมดันศักยภาพแบบไร้ขีดจำกัด

คุณลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนท์ TikTok ประเทศไทย เปิดเผยว่า TikTok มีทีมงานสนับสนุน Content Creator แบบครบวงจร ทั้งการให้ข้อมูลสนับสนุน การลงข่าวประชาสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา การจัดกิจกรรมสนับสนุน Creator และพื้นที่ชุมชนให้กับบรรดา Content Creator ซึ่งถ้า Creator รับฟังและช่วยกันสนับสนุน ก็จะช่วยทำให้สามารถก้าวสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

TikTok ยังมีข้อมูลและคอยนำเสนอ Hashtag ที่น่าสนใจสำหรับ Content Creator ที่สนใจเพื่อให้สามารถสนับสนุนให้ถึงเป้าหมาย รวมไปถึงการร่วมงานในเชิงการประชาสัมพันธ์อีกด้วย และการจัดกิจกรรม เช่น เปิดคอร์สเรียนเต้นหรือเพิ่มศักยภาพให้กับ Content Creator ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากๆ สำหรับ TikTok

สิ่งสำคัญที่ TikTok ฝากไว้สำหรับผู้ที่อยากเป็น Content Creator ได้ นั่นก็คือ ความสม่ำเสมอในการผลิตงาน ความคิดสร้างสรรค์ในผลงาน โดยการดูกระแสและไถฟีดบ่อยๆ และในการทำงานกับ TikTok สิ่งสำคัญคือต้องทำงานกับ TikTok และใช้ประโยชน์จาก TikTok ให้ได้มากที่สุด โดยการดึงข้อมูลจากทีมสนับสนุนให้ได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์และผลิตชิ้นงาน

ยกตัวอย่างเช่น KIK0404 ที่ทุกเช้าจะประชุมทีมเพื่อวางตารางการทำงาน และผลิตชิ้นงาน วางแผนการลงคอนเทนต์ และในเช้าวันต่อมาจึงมาดูผลตอบรับ เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจ TikTok แนะนำ Unit ใหม่อย่าง “TikTok Uni” ที่เป็นการลงเนื้อหาความรู้ที่สร้างสรรค์ที่ตอนนี้ยังมีตลาดผู้ผลิตน้อย แต่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่ง TikTok พยายามสร้างพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมกันผลิต เพื่อสร้างสังคมความรู้บน TikTok ให้ได้มากที่สุด

สำหรับ Advertise TikTok สิ่งสำคัญที่ TikTok แนะนำก็คือ “อย่างผลิตโฆษณา ให้ผลิตคอนเทนต์” หมายความว่า ไม่ควรโฟกัสว่าคอนเทนต์โฆษณาคือโฆษณา แต่ให้โฟกัสว่าคอนเทนต์โฆษณาคือหนึ่งคอนเทนต์บน TikTok ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่ถูกบังคับให้ดูโฆษณา แต่สามารถเพลิดเพลินไปพร้อม ๆ กับการขายของได้นั่นเอง

หัวใจหลักของการสร้างแบรนด์ของ “โหน่ง วงศ์ทนง”

โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เปิดใจในเวที iCreator Conference 2020 ถึงการก่อตั้ง The Standard ว่า เกิดจากการที่ตนออกไปเรียนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้ไปเห็นเรื่องราวการตัดสินคดีความต่าง ๆ ประอบกับตัวเองสนใจในการอ่านข่าวสาร เศรษฐกิจ สังคม จึงสนใจที่จะทำนิตยสารข่าวแบบจริงจัง และทำให้เกิดแบรนด์ “aday weekly” ที่เน้นเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรม แบบจริงจัง

แต่ aday weekly ไม่ได้ประสบความสำเร็จ ไม่มีโฆษณาเข้า เพราะในตอนนั้นผสมเนื้อหาได้ไม่ดี และภาพลักษณ์ของ aday กับ aday weekly ไม่สอดคล้องกัน ที่สำคัญเราไม่ได้รู้จริง ซึ่งถ้าทุกคนได้เคยอ่านจะได้เห็นกลิ่นอายของ The Standard ที่มาจาก aday weekly เอามาก ๆ

หลังจากการปิดตัว aday weekly แล้ว โหน่ง วงศ์ทนง ได้ไปเห็น Free Copy ที่ต่างประเทศ ประกอบกับในประเทศไทยไม่ได้มี Free Copy ในฉบับภาษาไทย จึงกลับมาทำ aday bulletin ซึ่งกลับกลายเป็น Free Copy ที่ได้รับความนิยมและสร้างรายได้หลักให้กับ aday เป็นจำนวนมาก ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเดินทางแจกรถไฟฟ้า และการเล่นประเด็นสดใหม่ให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้รับความนิยมจริงจังมาก

สิ่งสำคัญที่โหน่ง วงศ์ทนงได้บอกไว้ คือ เราต้องเรียนรู้จากอดีตและพัฒนาตัวเองให้เป็น เพื่อทำให้ตัวเองพัฒนาได้มากขึ้น และประสบความสำเร็จจากความล้มเหลวต่อไป

แต่คนเราไม่สามารถจะอยู่บน Offline ได้ตลอด โหน่ง วงศ์ทนง จึงก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ “The Momentum” และดึง “เคน นครินทร์” มาร่วมทำ โดยยังใช้ทีมงานฝั่ง Print มาพัฒนาสำนักข่าว ถือว่าเป็นการซ้อมทำ แต่ทำได้ 8-9 เดือน โหน่งพร้อมทีมจึงลาออกด้วยเหตุผลที่ทุกคนทราบกันดี จึงออกมาก่อตั้ง The Standard ซึ่งการซ้อมฝีมือจาก The Momentum มา 8-9 เดือนก็เป็นบทเรียนในการมาพัฒนากับ The Standard จนทำให้สำเร็จได้ในเวลารวดเร็ว

หัวใจหลักที่ทำให้ The Standard สำเร็จได้ มีทั้งหมด 7 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ คิดสิ่งใหม่ๆ ออกมาให้นอกกรอบมากขึ้น ทำให้คอนเทนต์ของ The Standard ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของคนเคยทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยซ้ำ ต่อมาคือการออกแบบ ซึ่งทำให้งานมีคุณค่ามากขึ้น นอกจากนั้นก็มีคอนเทนต์ที่สามารถทำให้คนพัฒนาตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงคนอ่านเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้เอาใจคนอ่านมาก การใช้นวัตกรรม ความน่าเชื่อถือ สิ่งไหนเป็นโฆษณา ควรบอกว่าเป็นโฆษณา แต่ไปสร้างคอนเทนต์โฆษณาให้มีคุณค่ามากขึ้นต่อไป เพื่อทำให้คนติดตามมากขึ้น การสร้างความสามัคคีในทีม และการปรับปรุงพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้แบรนด์สำเร็จได้อีกด้วย

โหน่ง วงศ์ทนง กล่าวเพิ่มว่าการให้ความสำคัญของการทำงานคือการให้ความสำคัญกับทีมงานมาก ๆ โดยมี 4 ข้อหลักที่ทำให้ทีมงานเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ คือ ความเข้าใจในตัวทีมงาน ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ซึ่งการทำงานแบบคล่องตัวและไม่ใช้ระบบบนลงล่างก็ทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น นอกจากนี้แรงบันดาลใจและภารกิจหลักของเราก็เป็นสองสิ่งที่ทำให้เราทำงานควบคู่กันได้อย่างมีความสุขและถึงเป้าหมายได้มากขึ้นนั่นเอง

ติดตามการสรุปรวบรวมแบบเรียลไทม์ได้ทาง Facebook : ส่องสื่อ