fbpx

เข้าสู่วันสุดท้ายของ iCreator Conference 2020 กันแล้ว วันนี้ปิดท้ายด้วยการเปิดข้อมูลของสินค้าที่มีผลในช่วงโควิด-19 การทำคอนเทนต์ของไอดอล การเลือกกล้องสำหรับทำคอนเทนต์ และปิดท้ายด้วยการทำคอนเทนต์คอนเสิร์ตของ “ป๋าเต็ด” ส่องสื่อสรุปมาให้ได้อ่านแล้ว ติดตามจากบทความนี้ได้เลย

คนที่ปรับตัวและพร้อมกว่า ถึงจะชนะผู้บริโภค

คุณบี สโรจ เลาหศิริ ผู้ก่อตั้ง Rabbit Digital Group ชวนเราย้อนกลับไปมองพฤติกรรมของผู้บริโภค และ การปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ระยะล็อคดาวน์ -> ช่วงเฝ้าระวัง -> ช่วงฟื้นตัว -> (ระลอกที่สอง?) -> ช่วงที่กลับมาเป็นปกติ และ ช่วงที่เรากำลังอยู่กันในตอนนี้ คือช่วงของการฟื้นตัว

จากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้น คือผลกระทบทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากคนอยู่บ้านมากขึ้น ธุรกิจหลายประเภทต้องปิดตัว เลิกจ้าง หรือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจอีกหลายประเภทเติบโตขึ้น ซึ่งส่งผลให้เจ้าของธุรกิจและลูกจ้างในประเภทหลัง มีรายได้เพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือผู้คนจะใช้จ่ายกับช่องทางดิจิตอล และ Omnichannel มากขึ้น และ คำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการ ก่อนจะจ่ายเงินไปกับสิ่งนั้น และ การเปลี่ยนแปลงที่ว่า จะอยู่กับเราต่อไป แม้โควิด-19 จะพ้นไปแล้วก็ตาม

คำแนะนำสำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ของคุณบี คือ
– นี่คือเวลาของคุณ ทุ่มเทกับการทำงาน
– สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่ากับผู้คน หรือ สร้างคอนเทนต์ความบันเทิงไปเลย
– เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ท้ายที่สุด วางแผนล่วงหน้า รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอ เช่น การมีคอนเทนต์สำรองเก็บไว้ เพราะวิกฤติครั้งต่อไป อาจจะไม่ใช่ระลอก 2 ของโควิด-19 แต่เป็นอะไรก็ตามที่เราตั้งตัวไม่ทันเหมือนกับที่ผ่านมา

การสร้าง Content ฉบับ Idol ไปกับ Pim Sweat16, Ice Siamdream และ Beam Beam Fever

วันนี้ทาง iCreator Conference ได้เชิญ 3 สาวจากวงไอดอลต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์กัน โดยมี Pim Sweat16, Ice Siamdream และ Beam Beam Fever ทั้งสามสาวจะมาพูดคุยกันว่าชีวิตไอดอลของพวกเธอ และการทำคอนเทนต์ให้แมสทำได้อย่างไร?

จุดเริ่มต้นของการทำ Content Creator เริ่มจากอะไร?

#Pim มีความเห็นว่า เราต้องการที่จะแตกต่าง เนื่องจากปัจจุบันมีวงไอดอลมากมายเกิดขึ้น เราต้องหาสิ่งที่คนอื่นยังไม่มี และมองสิ่งที่เพื่อนเรายังไม่มี หรือเราที่ยังทำไม่ได้ และอยากลองทำ เพื่อต้องการที่จะโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น เลยเริ่มที่จะทำช่องยูทูปที่มีชื่อว่า Pimkhanjon Channel

#Ice มีแรงบันดาลใจมาจากพี่ ๆ หลายคนที่เป็นไอดอลอยู่อย่าง BNK48 หรือ Pim และ ในฐานะที่ไอซ์เป็นคนที่มีคนตามเยอะมากที่สุดในวง ไอซ์ต้องการที่จะช่วยเพื่อน ๆ โปรโมทวง Siam dream ว่าไอดอลมีชีวิตประจำเป็นอย่างไรบ้าง? คนในวงมีนิสัยกันอย่างไร? เพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับเพื่อน ๆ ให้มากขึ้น

คลิปแรกที่ทำก็จะทำตอนช่วงการระบาดของโควิด เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Vlog ของตนเอง ซึ่งไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ มีคนเข้ามาติดตามเพิ่มเยอะมาก

#Beam Beam โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบถ่ายคลิปเล่นอยู่แล้ว พอเรามาทำคลิปเองมันก็สนุดดีที่จะทำ ชีวิตที่บีมทำงานเป็นแอร์ และเป็นไอดอลด้วย บีมก็จะมาแชร์ในแต่ละวันว่าแอร์ และการเป็นไอดอลเป็นอย่างไรบ้าง? เพื่อให้คนที่อยากจะรู้สิ่งเหล่านี้

แฟนคลับมีผลต่อการทำคอนเทนต์อย่างไร?

#Beam Beam มีผลเพราะ เราทำเพื่อแฟนคลับ โดยปกติทั่วไปจะชอบแอบเช็คฟีดแบ็คจากเหล่าแฟน ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

#Ice เริ่มต้นที่ตีตลาดจากฟีดแบ็คเหมือนกัน อย่างมีแฟนคลับบางคนบอกว่าหน้าคล้ายมินตัน จึงไปชวนมินตันมาทำคลิปร่วมกัน ให้แฟน ๆ ได้เห็นฟินกันซักครั้ง

#Pim แฟนคลับคือกลุ่มคนที่ซัพพอร์ทเรา อารมณ์เหมือนพ่อแม่ ที่จะชมเราเมื่อเราทำดี หรือถ้าแย่ก็จะบอกเรา แฟนคลับบอกสิ่งที่พวกเขาอยากดูหรืออยากเห็น

คิดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเป็นไอดอล?

#Ice คิดว่าความสม่ำเสมอ เพราะเราเป็นไอดอลต้องมีตารางฝึกซ้อม ต้องบริหารเวลา เพราะเราก็ต้องเรียนด้วย

#Beam Beam การทำให้ Mass พอเราดูคลิปวิดีโอ เราก็จะเปรียบเทียบกับวิดีโออื่นว่าทำไมคลิปนี้ได้น้อย แต่คลิปนั้นได้เยอะ มันยากมากเลย เลยต้องไปแพลตฟอร์มอื่นอย่าง TikTok เพื่อไปหาจุดที่ทำให้เรา Mass ขึ้น ขยายฐานแฟนคลับ

กล้องที่ดีที่สุดสำหรับครีเอเตอร์ จาก Asayhi Channel และ Peeradon Yamastudio

หัวข้อดีเบทวันนี้ คือ What’s the best camera for creator โดยได้คู่ดีเบทจากผู้มีความรู้ทั้งสองท่าน ได้แก่ พี่ไบร์ท จาก Asayhi Channel และพี่ซาน จาก Peeradon Yamastudio ทางส่องสื่อ ได้รวบรวมคำถามและคำตอบจากดีเบทดังกล่าวไว้แล้ว ด้านล่างเลยครับ

เกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอ 4K เราจะเอาไปใช้งานยังไง?

#Asayhi ขึ้นอยู่กับงาน อย่างผมไปต่างประเทศ ไม่ได้ไปบ่อยๆ ผมก็อาจจะใช้ หรือ อีกกรณีคือเอาไว้ Crop กรณีนั่งสัมภาษณ์ จะได้เหมือนกันใช้งานสองกล้อง แต่สำหรับงานผมโดยทั่วไปแล้วไม่ถึงขนาดนั้น

#Peeradon เราขยับบรรทัดฐานเรื่อยๆ สื่อบางประเภทอย่าง TikTok ก็อาจจะเหมาะกับเฉพาะในมือถือ แต่สื่ออื่นๆ ผมมองว่า 4K จะกลายเป็นมาตรฐาน อย่างทุกวันนี้ขั้นต่ำก็ควร 1080p แล้ว

การถ่าย LOG ช่วยให้การทำคอนเทนต์ดีขึ้นไหม?

#Asahi ถ่าย LOG คือคล้ายถ่าย RAW ในภาพนิ่ง ซึ่งสามารถนำมาปรับแต่งเพิ่มเติมได้ และเพิ่มขั้นตอนในการทำงาน อย่างที่บอกว่าขึ้นอยู่กับงาน อย่างงานของผม พูดตรงๆ ขี้เกียจ ฮ่าๆ เสียเวลา และ ไม่จำเป็นกับการถ่ายรีวิวสินค้าทั่วๆ ไป ยกเว้นผมไปเที่ยว ผมก็เอา LOG ไปถ่าย หรืองาน MV อันนี้ต้องให้คุณซาน (Peeradon) ตอบ

#Peeradon LOG คือวิดีโอที่ถ่ายมาเพื่อนำไปปรับแต่งต่อ ซึ่งมันดีแน่นอน แต่คนส่วนใหญ่ลืมไป ว่าการถ่าย LOG จะใช้ iso เริ่มต้นที่ 800 ฉะนั้น งานกลางแจ้ง แล้วถ้าเลนส์คุณค่า f กว้าง ก็ต้องพกฟิลเตอร์กรองแสงเอาไว้อีก สำหรับใครที่ต้องการงานรีบก็คงไม่เหมาะ แต่ผมใช้เยอะ เพราะคอนเทนต์ผมต้องการสีสวย

กล้องแพง หรือ เลนส์แพง?

#Peeradon กล้อง เลนส์ ทุกรุ่น ออกแบบมาเพื่อรองรับตลาดที่ต่างกัน เค้าคิดมาแล้วครับ ว่าราคาเท่านี้ มีกลุ่มคนใช้งานในด้านไหน สมมติเรามีเลนส์เทพ f 0.95 ละลายหลังสวยๆ แต่เอาไปถ่ายภาพวิว ยกไป 2 กิโล ถามว่าจำเป็นไหม กล้องดี คือภาพที่มีคุณภาพ เลนส์ดี ก็ได้หน้าชัดหลังเบลอ ได้การซูมระยะ แต่ถ้าถามโดยส่วนตัว ผมเลือกกล้อง เพราะกล้องมาก่อน

#Asahi ตัดเรื่องความแพงทิ้ง เอางานมาดู เอาการใช้งานเป็นหลัก อย่างผมก็ไม่เปลี่ยนกล้องละ เพราะผมใช้งานแค่นี้ ความละเอียดเท่านี้ กล้องมันจะไปไกลแค่ไหนก็ช่างมัน ยกเว้นว่างานของผมมันต้องเปลี่ยน ก็ค่อยขยับตัวกล้องไป ฉะนั้น ถ้าถามผม เอางานมาตั้งก่อน แล้วดูว่างานที่จะทำใช้ของราคาแค่ไหน กล้องต้องเท่าไหร่ เลนส์ต้องเท่าไหร่

สรุป Topic ของคำถามที่ว่า กล้องที่ดีที่สุดของครีเอเตอร์

#Peeradon ผมเข้าใจการมีหัวข้อนี้นะ เข้าใจคำถามแต่ละข้อ แต่อยากให้มองว่า การที่เรามีกล้องก็เหมือนกับเราเป็นนักเขียน มีเครื่องมือเป็นปากกาลูกลื่น ปากกาขนนก ดินสอ หรืออะไรต่างๆ สุดท้ายแล้ว คนอาจจะไม่ได้โฟกัสที่ปากกา แต่โฟกัสว่าเราเขียนอะไรให้เค้าอ่าน กล้องที่ดีมันช่วยให้งานดีแน่นอน แต่อยากให้มองสิ่งที่จะสื่อสารมาก่อน

#Asahi ต้องดูครับว่าปัญหาคืออะไร พอรู้ปัญหาเราจะเลือกกล้องได้ง่ายมาก อย่าไปคิดว่ากล้องตัวแรกมันจะจบ ฮ่าๆ กล้องแต่ละตัวก็จะมีสิ่งที่เราชอบแล้วก็ไม่ชอบ พอใช้ไป เราจะรู้ความต้องการมากขึ้น และค้นหากล้องตัวต่อไป Content is King กล้องเป็นแค่อุปกรณ์ครับ

The future of Media & Music Business กับป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม

จุดเริ่มต้นของป๋าเต็ดทอล์ก?

เริ่มจากอาชีพแรกของผมคือรายการวิทยุ มีคอลัมน์ประจำชื่อ “เปิดอัลบั้ม” คืนก่อนวันวางแผงเทป ซีดี ก็จะมีศิลปินมาให้สัมภาษณ์และเปิดเพลงฟังทีละเพลง เหตุนี้เองทำให้รู้จักศิลปินเยอะ ทำให้คิดว่า ถ้างั้นต้องทำอะไรสักอย่าง ให้คนรู้จักศิลปินเหล่านี้มากขึ้น จึงคิดจะทำรายการออนไลน์ “ป๋าเต็ดทอล์ก” เป็นการคุยกับศิลปินลึก ๆ ให้เข้าใจสิ่งที่ศิลปินเขาทำ ซึ่งเกิดจากเราเองก็อยากรู้ แต่ว่าทำเป็นรายการก็จะมีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ ด้วย

รายการเราจะแบ่งเป็น Season จะพบว่ามีความแตกต่างชัดเจน พอทำไป 1 Season พบว่าเราอ่อนหัดจริง ๆ รู้สึกสู้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่ทำรายการออนไลน์ไม่ได้เลย จนไปเจอแนวคิด Deep Talk ไอเดียเริ่มจากวันที่คุณสุทธิชัยมาสัมภาษณ์ผมเลย รูปแบบที่เขามานั่งคุย ค่อนข้างลึก แต่ว่าเราก็ต้องมาย้อนดูว่า รายการเราไม่ใช่รายการข่าว จะทำแบบนี้ได้ไหม เราก็ต้องมีการลำดับให้สนุกขึ้น เราเห็นว่าคำถามไหนควรเอาขึ้นก่อนก็เอามาไว้แรกๆ เลย มันจะได้รู้สึกว่าเราฟังอะไรที่น่าสนใจและเจาะลงลึกจริง ๆ

และรายการของเราจะไม่ใส่เพลงประกอบเลย ไม่มี Sound Effect ใด ๆ เลย จนถึงทุกวันนี้ เพราะว่ามันทำให้คนเสียสมาธิในการฟัง เอาง่ายๆ ขนาดเราไม่ได้ใส่เพลงประกอบเลย แค่มีเสียงรถไอศกรีมเข้ามาเบามากคนยังได้ยิน แต่แนวคิดนี้อาจไม่เหมาะกับทุกรายการนะ รายการ Deep Talk แบบเราหรือของคุณสุทธิชัย ไม่เหมาะที่จะใส่ แต่ก็ต้องไม่เครียดจนเกินไป

สิ่งที่ผมตั้งใจในการทำคือเพราะเรามีประสบการณ์ที่จะสามารถถามคำถามยาก ๆ ได้ ให้คนอื่นถามจะดูก้าวร้าวกว่านี้อีก แต่ก็มีข้อเสียคือผมรู้เยอะ ทำให้อาจคิดว่าบางเรื่องไม่ควรถาม ไม่น่าสนใจ แต่คนที่ดูอาจสนใจก็ได้ ผมก็เลยต้องไม่ตั้งคำถามเอง แต่จะให้ครีเอทีฟรายการตั้ง เพราะเขามีอายุน้อยกว่า ผ่านประสบการณ์น้อยกว่าแต่เขาสามารถ Research เก่ง

นักสัมภาษณ์ที่ดีไม่ใช่พูดเก่งหรือถามเก่ง แต่ต้องฟังเก่ง คำถามที่ได้ถามหลายคำถามไม่ได้อยู่ใน List คำถามเลย แต่เกิดจากการฟังแล้วทำให้อยากรู้เพิ่มหรือมีประเด็นให้ถามเพิ่มสด ๆ

คอนเสิร์ต Big Moutain มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างในยุค Covid-19?

คือว่าตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างแปลกประหลาด เราต้องเว้นระยะ ใส่หน้ากาก แต่ตอนกินข้าวก็ต้องถอดหน้ากาก และร้านอาหารกับรถไฟฟ้าก็ไม่ได้เว้นระยะแล้ว บางทีเรารู้สึกว่าก็ต้องทำมาตรการพิเศษ แต่บางทีเราก็รู้สึกว่าบ้านเราไม่ได้มีติดในประเทศมานานกว่าสองเดือนแล้ว

ปกติความสำเร็จของเราคือการให้คนหลายๆ คนมาเจอกัน ทำให้มีความยากในการ Balance บางคนคิดถึงคอนเสิร์ตเพราะไม่ได้ไปมานานมาก แต่บางคนก็ยังกลัวและกังวลอยู่ บางคนก็คิดว่าถ้ามาตรการเข้มข้นจะสนุกไหม แต่ถ้ามาตรการไม่เข้มข้นฉันจะติดไหม

เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ปลอดภัยทางสาธารณะสุข แต่ต้องไม่ลดความสนุก นอกจากมีการวัดตรวจคนเข้าแล้ว เราต้องเพิ่มทางเข้างานมากขึ้น และก็มีโซนแยกชัดเจน โซนคอนเสิร์ตที่คนต้องอยู่ติดๆ กันต้องใส่หน้ากาก แต่นอกคอนเสิร์ตก็สามารถถอดหน้ากากได้ เพราะคนต้องกินข้าว และดูห่างๆ และเราต้องลดจำนวนคนเข้างานลงหน่อย เรามีการแจกเสื่อให้ปูเพื่อแบ่งระยะในการดูคอนเสิร์ตอีกด้วย เห็นระยะได้ชัดเจน DIY ง่ายๆ เลย

ส่วน Virtual Concert เราคิดคล้ายๆ กับทีมงานว่าไม่ใช่ New normal แต่เป็นคอนเสิร์ตทางเลือกใหม่ ไม่สามารถทดแทนคอนเสิร์ตจริงๆ ได้ เพราะไม่เท่านัดแนะเพื่อนไปคุยไปกินไปดู และได้เห็นบรรยกาศ เห็นศิลปินตัวเป็นๆ ถ้า Virtual Concert จะทดแทนได้ ต้องถึงขั้นทำให้เราเสมือนเราวาร์ปเข้าไปในอีกโลกได้ แนบเนียนกว่า VR แต่อนาคตก็อาจจะมีเหตุการณ์อะไรแปลกๆ กว่า Covid-19 ก็ได้ ไม่แน่

ป๋าเต็ดมองวงการศิลปิน ดนตรี ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร?

แต่ก่อนค่ายเพลงกับศิลปินอยู่ฝั่งเดียวกัน ทำเองทุกอย่าง แต่ยุคนี้ค่ายเพลงต้องปรับตัว ต้องไปให้ความสำคัญในจุดที่ไม่เคยให้ความสำคัญในอดีต เช่นการใช้อำนาจต่อรองต่อ Partner เช่นสื่อหรือสินค้า ต้องมีการร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน และบางทีการทำอะไรมากไปก็ดูไม่เหมาะสม เช่นมีคนติเรื่องว่าเราจัดคอนเสิร์ตมากไปหรือเปล่า? ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเราหากำไรมากไป แต่เกี่ยวกับว่าเราใช้งานเขาหนักไปเขาไม่ได้พักหรือเปล่า

อีกเรื่องคือสื่อแทนที่จะโปรโมทอย่างเดียว ต้องทำ Community ให้คนที่สนใจมาเจอกันได้ และต้องสสื่อสารกับเขาได้ ตอบสนองความต้องการของเขาได้ ได้รู้พฤติกรรมของกลุ่มคนสนใจและติดตาม จะช่วยให้ต่อยอดการทำเพลงหรือโปรโมทของเราได้ แต่อย่าลืมว่าคุณจะทำคอนเทนท์อะไร จัดอีเวนท์อะไร ยังต้องคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ เอกลักษณ์นี่แหละคือสิ่งที่คนอื่นทดแทนไม่ได้

ส่องสื่อ เป็น 1 ใน Media Partner ของงาน iCreator Conference 2020