fbpx

ทุกท่านเชื่อไหมว่าศิลปวัฒนธรรมอยู่รอบตัวเรา? วันนี้ในบทความนี้ ส่องสื่อจะพาทุกท่านมาติดตามการพาทัวร์ครั้งแรกของรายการศิลป์สโมสรกัน ซึ่งใช้หลักการในการค้นหาความเร้นแต่ไม่ลับของอยุธยา ผ่านสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญๆ กัน รวมไปถึงความน่าสนใจที่คนรุ่นใหม่ควรตามรอยท่องเที่ยวไปด้วย อ่านบทความนี้ไปด้วย เพื่อรู้ประวัติความเป็นมาโดยย่อของสถานที่ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ติดตามได้เลยครับ

โดยกิจกรรมนี้ทางกลุ่มข่าวและรายการศิลปวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดขึ้นมในชื่อโครงการวัฒนธรรมบันเทิง “ศิลป์สโมสรสัญจร ครั้งที่ 1” โดยใช้ชื่อตอนว่า “เล่าอดีตจากอิฐกรุงเก่า” ซึ่งในครั้งนี้ทีมงาน The Educative ได้มีโอกาสเดินทางไปด้วย เป็นการท่องเที่ยวและเล่าประวัติความเป็นมาของวัดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มีประวัติศาสตร์ และทำให้สามารถตามมาเที่ยวกันได้ ในทริปนี้ยังมีอาจารย์สองท่าน ได้แก่ อ.ปฎิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส ร่วมกัีบ อ.ราม วัชรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องคนแรกของประเทศไทย มาร่วมให้ข้อมูลประกอบการเยี่ยมชมอีกด้วย

โดยขอเริ่มต้นที่วัดกฎีดาว ซึ่งมีชื่อเสียงด้านฐานะกรุสมบัติสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเล่าลือมาอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากในเอกสารอ้างอิงอย่าง “สาสน์สมเด็จ” บันทึกเอาไว้ว่านักเสี่ยงโชคนิยมมาที่วัดแห่งนี้อยู่ตลอด แต่เรื่องเล่าที่โด่งดังที่สุดนั่นก็คือ “พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช” ที่ใช้เครื่องค้นหาวัตถุ “ไมน์ดีเทคเตอร์” สำรวจพบตำแหน่งโลหะในวัดแห่งนี้ แต่ขุดไม่ค้นพบอะไร นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมี “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” คอยรักษาสมบัติอยู่อีกด้วย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งนิยายเรื่อง “พิษสวาท” ของทมยันตีอีกด้วย

วัดต่อมาที่พามากันก็คือวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในพระราชพงศาวดารฯ ได้สันนิษฐานไว้ว่าเป็นวัดที่จำพรรษาของพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด เนื่องจากบันทึกของชาวฝรั่งเศส “ฟรังชัวส์ อังรี ตุรแปง” กล่าวถึงช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสละราชสมบัติและออกผนวช โดยออกนามของพระองค์ว่า “เจ้าชายประดู่” ทำให้ต่อมามีการขนานพระนามพระเจ้าอุทุมพรภายหลังว่า “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”

วัดสุดท้ายในช่วงเช้า นั่นก็คือ วัดมเหยงคณ์ ซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยาด้านตะวันออก เชื่อกันว่าเป็นเขตอโยธยาตอนเหนือ ซึ่งอโยธยา หมายถึง ชุมชนเมืองโบราณก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา โดยวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยเจ้าสามพระยา หรือสร้างหลังกรุงประมาณ 100 ปี

ถัดมาในช่วงบ่าย เราจึงเดินทางไปยังวัดไชยวัฒนารามกันต่อ โดยวัดนี้เป็นหนึ่งในวัดที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา กลายเป็นฉากหลังของละครอย่าง “เรือนมยุรา” และ “บุพเพสันนิวาส” ที่ได้สร้างปรากฎการณ์ชุดไทยฟีเวอร์กันมาแล้ว โดยวัดแห่งนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเป็นการจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระองค์เหนือกรุงละแวก

วัดสุดท้ายก่อนปิดทริปนี้ก็คือ วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจำถึงสถานที่ฝึกของทหารกรุงศรีอยุธยา จากตำนานสำนักดาบอันลือลั่น ซึ่งแม้แต่ฉากในละครดังอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ยังสอดแทรกเรื่องนี้เอาไว้ด้วย แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่าเป็นอดีตวังของ “พระเจ้าอู่ทอง” ที่เรียกว่า “เวียงเหล็ก” ก่อนที่พระองค์จะไปสร้างเมืองใหม่ในเขตหนองโสม หรือก็คือ “กรุงศรีอยุธยา” นั่นเอง

มาถึงจุดสุดท้ายในการปิดทริป นั่นก็คือ “สุสานบ้านโปรตุเกส” ซึ่งจดหมายเหตุของคุณพ่ออันโดนิโอ ปินโต แห่งคณะมิสซังสยาม ได้ระบุไว้ว่าในสมียพระไชยราชาธิราช มีโปรตุเกสถูกเกณฑ์ไปช่วยรบในสงครามเชียงกราน 120 คน เมื่อได้รับชัยชนะจึงพระราชทานที่ดินเหนือคลองตะเคียนให้โปรตุเกสอาศัยและสอนศาสนาได้ตามปรารถนา ถือเป็นอนุสรณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-โปรตุเกส ที่มีมาอย่างยาวนาน

ซึ่งกลุ่มข่าวและรายการศิลปวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตั้งใจทำ ศิลป์สโมสรสัญจร เพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางได้ถกคิดข้อมูลคิดต่ออย่างสร้างสรรค์ตามเป้าหมายนในการร่วมสร้าง “พื้นที่การเรียนรู้” ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ชมต่อไปอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถติดตามทริปต่อไปได้ทาง Facebook : Artclub Thai PBS ได้ต่อไป