fbpx

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำกิจกรรมร่างโครงการหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยในกิจกรรมได้มีงานเสวนาเรื่อง “ใครต้องปรับ อะไรต้องเปลี่ยนในบริบทนิเวศสื่อ?” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งเป็นสื่อมวลชนเข้าร่วมมากพอสมควร

เทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโสและประธานสมาพันธนักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน กล่าวว่า สื่อในยุคปัจจุบันต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของสื่อออนไลน์ ทำให้สังคมไม่ให้ความเชื่อถือคอลัมนิสต์เหมือนแต่ก่อนแล้ว สื่อกระแสหลักอาจต้องเปลี่ยนแปลงตามสังคมมากขึ้น นอกจากนั้นการเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ยังส่งผลทำให้สื่อต้องหยุดคิด และเตือนสติถึงบทบาทของสื่อมากขึ้นว่าไม่ควรให้ค่าแค่ความเร็วและการช่วงชิงเรตติ้ง แต่ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข่าวปลอมด้วย นอกจากนี้ในช่วงเวลานับต่อจากนี้สังคมผู้สูงอายุจะขยายจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้อัตราการรับข่าวสารผ่านสื่อมีมากขึ้น และบทบาทของจีนมีผลต่อสื่อมวลชนพอสมควร โดยฌพาะการกำหนดประเด็นต่าง ๆ รวมไปถึงมุมมองของการทำงานสื่อด้วยเช่นกัน

ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีอายุที่ยืนนานกว่าอาชีพอื่น ๆ โดยการวัดความเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการสื่อในอดีตคือการหาข้อมูลให้เท่าทันวงการสื่อ แต่ในปัจจุบันคือการเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคก็มีผลต่อการพัฒนาคอนเทนต์ของสื่อมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการจับเทรนด์ของจีนที่เริ่มหาความร่วมมือกับสำนักข่าวในไทยบ้างพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่น่าตกใจคือสื่อมวลชนในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงของนายทุนสื่อ ทำให้การสะท้อนสังคมและการตั้งคำถามมีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย รวมไปถึงการมีสื่อเลือกข้างที่มากขึ้นและส่งผลไปสู่ความรุนแรงต่อสังคม โดยการใช้คำพูดที่รุนแรงในการรายงานข่าว ทำให้ผู้เสพสื่อได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องพึ่งพิงนายทุนและผู้บริโภคคุ้นชินกับการเสพข่าวสารแบบฟรีจนส่งผลทำให้ระบบนิเวศสื่อต้องพึ่งพิงนายทุนในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต้องผ่านหลายด่านและใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร สำหรับระบบนิเวศสื่อของไทยได้พาดพิงไปถึงความเป็นวัฒนธรรม บริบทสังคม และการเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำ Agenda Setting มีผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการใช้คำที่เร้าอารมณ์ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ไปพร้อมกับข่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง นอกจากนั้นการเกิด IO จากทั้งสองฝั่งก็ส่งผลต่อการเกิด Fake News และทำให้คนรับสื่อเกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดสภาวะไร้ระเบียบทางข้อมูลข่าวสารในมิติการเมือง นอกจากนั้นการแบ่งขั้วทางความคิด ทำให้เกิดห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือ echo chamber ซึ่งเนื่องด้วยเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้จัดลำดับความสำคัญของฟีดข่าวสาร ทำให้เกิดการตอกย้ำทางความคิดตลอดเวลา และส่งผลให้เกิดการปฎิเสธกับสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือต้องปรับทัศนคติต่อสังคม รวมไปถึงปรับทิศทางของสื่อมวลชนให้นำเสนอในหลากหลายมิติมากขึ้น เพื่อทำให้นิเวศสื่อกลับมาดีขึ้นนั่นเอง

ทศ ลิ้มสดใส ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters กล่าวว่า ส่วนตัวตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษา ตนเองมักจะติดตามข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่และไม่ดูทีวีอีกแล้ว จากแต่ก่อนที่ตนเองติดตามผ่านทางหน้าจอทีวีตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงรายการข่าว ตนเคยดู “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” หรือ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ซึ่งทำให้ได้รับข่าวที่ด่วนในสมัยประถมศึกษา เนื่องจากสามารถเลือกข่าวที่สนใจมากกว่า โดยเฉพาะการติดตามข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การติดตามข่าวสด มติชน หรือสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่โลกทัศน์เปิดกว้างมากขึ้นเมื่อตอนเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแต่ก่อนด้วยสังคมที่บ้านเป็นฝั่ง กปปส. จึงทำให้ซึมซับ แต่การเข้าไปในธรรมศาสตร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เรียกว่าเป็น “สลิ่มกลับใจ”  ทำให้เลนส์ในการเป็นนักข่าวกว้างมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นการเกิด Echo Chamber ก็ทำให้เกิดการรับรู้ข่าวสารแค่ฝั่งเดียว ทำให้เราต้องกลั่นกรองและคอยดูกลุ่มผู้ติดตามว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง? เพื่อที่จะนำไปพิจารณาการทำคอนเทนต์ สิ่งสำคัญคือการถูกบิดเบือนจากข่าวที่เป็นรูปภาพ ทำให้ต้องสำนักข่าวออนไลน์ต้องทำให้ข่าวจากรูปภาพดูแล้วรู้เรื่องมากที่สุดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่บิดเบือนแค่ตอนใดตอนหนึ่ง

ทศ ยังกล่าวต่อว่า แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่การเป็นจรรยาบรรณของสื่อมวลชน หรือวิธีการหาข่าว รวมไปถึงความน่าเชื่อถือ ก็ยังเป็นคีย์หลักที่ทำให้สื่อมวลชนยังอยู่รอดได้และประชาชนให้ความไว้วางใจ รวมถึงถ้าผิดเราก็ต้องขอโทษและรับผิดชอบในการทำงานด้วย แต่ข้อเสียของสื่อออนไลน์ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อหายไป เครดิตของการทำข่าวหายไป และน้อยกว่าสื่อกระแสหลัก

แน่นอนว่าในงานเสวนานี้ก็คงไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่าสถานการณ์สื่อจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน หรือใครควรต้องเปลี่ยนแปลงจริง ๆ แต่ถึงอย่างไรการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสื่อในครั้งนี้ก็ต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของผู้เสพสื่อด้วยเช่นกัน