fbpx

ม็อบวัยรุ่นต้องหยาบคายและรุนแรง? – เมื่อวัฒนธรรม K-Pop ถูกใช้ในการชุมนุม โดยกลุ่มคณะราษแดนซ์ กลุ่มดาราหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จากออนไลน์ไวรัล

ว่ากันว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุม หลายคนในสมัยก่อนก็จะนึกถึงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เสียดสี ด่าทอฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงต้องเป็นกลุ่มที่เน้นความรุนแรง ชอบปะทะ แต่การชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมาของกลุ่มประชาชนที่เรียกตนเองว่า “ราษฎร” กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุกคนล้วนมีกลยุทธ์เป็นของตนเอง ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้องที่เหมือนกัน (ซึ่งทุกสื่อได้นำเสนอไปแล้วนั่นแหละ)

ผมในฐานะกองบรรณาธิการส่องสื่อมีโอกาสเข้าไปร่วมการชุมนุมครั้งนี้ แต่จุดประสงค์เริ่มแรกก็คือมาหาหน่วย CIA ซึ่งก็คือร้านลูกชิ้นทอด ที่เสี้ยนมาก พอเราเดินกินจนอิ่มแล้ว ก็มาสะดุดกับพื้นที่ลานหน้า LH Bank สาขา Q House Lumpini ที่มีบรรดาวัยรุ่นและประชาชนต่างเปิดเพลง K-Pop เต้น Cover Dance กันอย่างมิได้นัดหมาย สลับกับการปราศรัยเป็นระยะๆ ซึ่งก็กะระยะไม่ได้เช่นกัน ตามแต่ช่วงที่แกนนำเต้นจะเหนื่อยไหม? และด้วยความที่ผมชื่นชอบ K-Pop จึงรีบปรี่เข้าไปดูจนจบ

นี่คือที่มาของการดึง “แอนนา – ปิงปิง – นัท” 3 แกนนำจากกลุ่มที่เป็นไวรัลทุกครั้งในการชุมนุมอย่าง “กลุ่มคณะราษแดนซ์” กลุ่มที่ใช้เพลง ท่วงท่า และความสนุกสนานมาเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการผลักดันข้อเรียกร้องสำคัญ รวมถึงเปิดเป็นพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมเต้นเพลงสนุกๆ อย่าง เพลงของ BTS ,EXO หรือวงอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน เราจึงอยากถามพวกเขาว่าทำไมถึงตัดสินใจทำกลยุทธ์นี้ในการผลักดันข้อเรียกร้องกัน? และที่สำคัญส่องสื่อคือที่แรกที่พวกเขาให้สัมภาษณ์แบบ Full Option กันเลยทีเดียว ไปอ่านบทสัมภาษณ์กันครับ

ทำไมเราถึงเอาการ Cover Dance มาเป็นแกนหลักในการชุมนุมในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา?

เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ติดมากับคนไทยก็คือการเต้นซึ่งมีมานานแล้ว กับอีกอย่างหนึ่งคือโมเดลที่เราเห็นมาจากตอนที่เกาหลีไล่ประธานาธิบดีพัค กึน เฮ โดยใช้เพลง Into The New World ของ SNSD มาใช้ เราก็เลยคิดว่าความหมายเพลงมันดีมาก การจะก้าวเข้าสู่โลกใหม่คือสิ่งที่เราฝันมากกับประชาธิปไตยเรียลๆ ประชาธิปไตยแบบประชาชนจริงๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเรามาทำ Movement นี้ดีกว่า ส่วนตัวคิดว่ามันน่าจะใหม่สำหรับประเทศไทยมากและคิดว่าเป็นสิ่งที่กระตุกจิต กระชากใจคนได้

แล้วมันพอดีกับช่วงที่ไม่มีแกนนำ ทุกคนเป็นแกนนำหมด เป็นช่วงที่ใช้ พรก.ฉุกเฉินร้ายแรง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้มีทิศทางในม็อบตรงไหนที่ชัดเจนเลย มันแบบแต่ละกลุ่มเขาก็จะไปจับกลุ่มตะโกนอะไรของเขาไว้ พอดีเราในวันนั้นมีลำโพงก็เลยเปิดเต้นกับเพื่อน ก็เกิดเป็นไอเดียอันนี้ แล้วเราก็ทำต่อเรื่อยมาจนมันปังเป็นดาราหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ในออนไลน์ ก็เลยมีคนสนใจเข้าและก็จะเกิดกิจกรรมแบบนี้ในทุกๆ ครั้งที่มีม็อบคณะราษฎร

กังวลไหมว่าจะไม่มีใครเข้าร่วม?

ไม่กังวล เพราะว่าวันนั้นเราก็เต้นกันอยู่สามคน (หัวเราะ) แต่เราเห็นคนมาแจมอีกสองคนเราก็ดีใจแล้ว คืออย่างที่เราพูดว่าเรารู้สึกว่ามันต้องไปปังถึงขั้นว่า “โอ้โห ติดตามคณะราษแดนซ์มา” เป็น Movement ที่อะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่าเราอาจจะเป็นหนึ่งใน Sub-culture ที่เราหยิบขึ้นมาเล่น แล้วมันไปกระตุกจิตกระชากใจคนอย่างที่เราบอกไว้ สักนิดนึงก็ดีแล้ว เพราะว่าการเต้นมันคือพื้นฐานในการแสดงออกของคน มนุษย์ทุกคนต้องการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การเต้นก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราใช้ขึ้นมาเพื่อแสดงออกได้ ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ เราใช้เพลง ใช้การเต้นของเราเรียกร้องในสิ่งที่เรียกร้องได้

มองยังไงกับอุตสาหกรรมเพลงเมืองไทยบ้าง?

เรารู้สึกว่า ถ้าเทียบกับการที่เอา K-Pop มาใช้เป็น Pop Culture ในการชุมนุมวันนี้ คือภาครัฐของเขาส่งเสริมให้วงการอุตสาหกรรมบันเทิงก้าวหน้าได้จนถึงระดับเอเชีย และระดับโลก แล้วถ้าเรามองกลับมาที่เมืองไทย เราเคยมียุคๆ หนึ่งที่ T-Pop มันรุ่งเรือง โลดแล่นไปในเวทีต่างประเทศได้ เมื่อเรามองกลับมาว่าทำไมเวทีเพลงไทยมันไม่สามารถกลับไปบูมในจุดๆ นั้นได้ เรามองว่าภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปถึงจุดๆ ที่เราเคยอยู่ตรงนั้นได้

คิดว่าการใช้ K-Pop เข้ามาจะสามารถช่วยผลักดันข้อเรียกร้องได้ไหม?

อย่าเรียกว่าเราใช้ K-Pop ดีกว่า เราเริ่มมาจากไอเดียแรกที่เราใช้ K-Pop มาเป็นโมเดล เรารู้สึกว่าพอเป็นคำว่าคณะราษแดนซ์ เราจะเต้นเพลงอะไรก็ได้ เราเลยคิดว่าพอมันมาจากพื้นฐานเรื่องสิทธิการคอมเมนต์อย่างเสรีภาพ มันก็เลยทำให้คิดว่าจะไม่ไปลดทอนนะ แล้วก็ไม่ลดทอนเลยแหละ เพราะว่าเต้นโชว์ ทุกคนต้องการที่จะแสดงออกไป ผลักดันมันออกมา เพราะฉะนั้นมันก็เลยอาจจะเป็น Sub culture หนึ่งที่หยิบขึ้นมาใช้แล้วก็ผลักดันมันไปจนถึงจุดที่เราสามารถใช้ร่วมกับเขาได้ เพราะว่าทุกอย่างเราบอกเลยว่าหมุดหมายเดียวกัน คือการได้มาซึ่งประชาธิปไตย

พื้นที่การแสดงออกในบ้านเรายังน้อยมากจริงๆ เหรอ?

สำหรับเราที่เคยผ่านประสบการณ์การเต้นมา เรามองว่าอย่างเมื่อวานเด็กที่ Cover Dance เรามองว่าน้องแค่ซ้อมในพื้นที่ที่เป็นของเอกชนเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เพื่อขึ้นงานอย่างนี้ เราไม่ได้แบบว่ามีพื้นที่ในการแสดงออกแบบต่อหน้าประชาชนหรือผู้คนได้มาดู ได้เห็นความสามารถของน้องๆ เขาเรามองว่าพื้นที่มันถูกจับจองโดยนายทุน โดยเอกชน ทำให้เราไม่สามารถแสดงออกในความสามารถของเราเองออกมาได้อย่างเต็มที่ หรืออาจจะด้วยเรื่องของกรอบเวลา เพราะบางที่อาจจะมีงานสตรีทอาร์ตอย่างนี้ มันก็เป็นเพียงแค่ระยะเวลาช่วงหนึ่ง มันก็ไม่สามารถทำให้เราแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ในทุกๆ ช่วงที่เราอยากจะทำ

เรารู้สึกว่าสิ่งที่เกาหลีเขานำไปไกลกว่าบ้านเราแล้วก็คือการที่เขาสนับสนุนเยาวชนในเรื่องนี้มาก เราไปฮงแดแล้วเรารู้สึกประทับใจมากว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ เขาไม่ต้องการว่าเขาจะต้องไปโด่งดังจนถึงต่างประเทศหรอก แต่เขาต้องการแค่พื้นที่ในการโชว์แล้วมีคนมาดีใจ ปรบมือ ชื่นชมเขา เหมือนสมัยนั้นที่เราต้องไปใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่น หรือบางทีที่ไม่มีตังค์มากขนาดนั้น เด็กมัธยมศึกษาต้องไปเช่าสตูดิโอเพื่อมาเต้นและเพื่อออกงาน รัฐควรที่จะผลักดันศักยภาพเขาตรงนี้ไหม? มีพื้นที่ตรงนี้ให้เขาไหม?

สิ่งที่เราเซอร์ไพร์สอย่างหนึ่งคือเกาหลีใต้เขาเอาวัฒนธรรม K-Pop ไปเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเลยนะ แล้วโมเดลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในเมืองไทยในช่วงเวลาที่เราเคยรุ่งเรืองเรื่องสื่อ แล้วประเทศเขายังไปไม่ถึงจุดนั้น เขาไปสู้แข่งกับ J-Pop ตรงนั้น เราจำได้ เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่าเขาหยิบสิ่งที่เรามีไปพัฒนาจนตอนนี้เขาก้าวกระโดดไปล้านก้าวแล้ว แต่เรายังอยู่ที่เดิม อาจจะก้าวไปแต่ว่าเราก้าวไปสอง แต่ถอยหลังไปอีกสิบ มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้เลยในบ้านเรา

สื่อไทยนำเสนอข่าวเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้?

เราคิดว่ามันยังเกิดกึ่งกลาง ยังมีความเป็น bias อยู่ในสื่อในตอนนี้ ซึ่งจริงๆ ถ้าตามหลักจรรยาบรรณสื่อคือการที่เขาจะต้องนำเสนอข่าวอย่างไรก็ได้ให้เป็นกลางมากที่สุดและมีความจริงมากที่สุด เพื่อที่จะส่งการสื่อสารสู่ประชาชน แต่มันกลายเป็นว่าตอนนี้สื่อกลุ่มหนึ่ง เราไม่ขอพูดแล้วกัน เขาใช้ถ้อยคำในเชิงเหยียดหยามนักศึกษา เพราะว่าเขาบอกว่าเราเหยียดหยามสิ่งที่เขายึดเหนี่ยวจิตใจและนับถือของเขา ซึ่งเราไม่มีเลย เราเรียกร้องให้แค่ปฏิรูปเพียงเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเขาเอาถ้อยคำไปใช้ทำลายเรา เป็นข่าวปลอมที่บอกว่าเด็กพวกนี้ทำไมทำแบบนี้กัน? ทำไมเป็นคนแบบนี้? แล้วมันกลายเป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่คนกลุ่มที่ดูช่องนี้เชื่อ แล้วไม่ยอมเปิดหูเปิดตาออกมาฟังว่า เอกสารมากมายทุกอย่างเปิดแล้ว เขากลับไม่เปิด เราก็เลยคิดว่า Bias นี้ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นกำแพงระหว่างสื่อกับประชาชนอยู่ แล้วจริงๆ มันไม่ควรจะมี bias ในสื่อด้วยซ้ำ แต่จริงๆ ถ้าพูดตามพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต่างก็มี bias กันทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะไปในทางด้านดีหรือด้านร้าย แต่ว่าสื่อไม่ควรจะมี bias

เรารู้สึกว่าสื่อก็คือธุรกิจนะ มันถูกดำเนินด้วยทุน ทุนมันก็เข้ามาแทรกแซง แล้วทุนก็ยังมีอำนาจอีก อย่างเช่นในช่วงการประกาศ พรก.ฉุกเฉินร้ายแรง ก็จะปิดสื่อนะ เห็นไหมว่าเขาจะปิดสื่อก็คือแทรกแซงสื่อแล้ว แล้วตามหลักสากลไม่ควรทำควรจะปล่อยให้สื่อนำเสนอข่าวที่เป็นความจริงออกมา ซึ่งถามว่ามี bias ไหม? มันก็มีไม่ว่าจะสื่อไหนก็ตาม มันก็เลือกที่จะนำเสนอหรือไม่นำเสนออะไรในด้านไหน แต่ว่าประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะรู้เท่าทันสื่อ ตรวจสอบ Recheck อันไหนจริงหรือไม่จริง แล้วก็ใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ ตรงนี้ประชาชนก็ควรจะมีด้วย

อย่างการตรวจสอบสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าทุกคนควรจะมี แล้วตรวจสอบว่าสื่อพูดจริงหรือไม่จริงด้วยการที่เอาข้อมูลมาตรวจสอบด้วยกันว่าจริงหรือไม่จริง อย่างไร? สื่อเป็นทุน? ใช่ มีทุนในการเข้ามาหนุนนำสื่อให้ก้าวเจริญเติบโตไป มันก็คงจะต้องช่วยๆ กัน Recheck ไปว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป คุณสามารถเลือกเชื่อสื่อนี้ได้ไหม? หรือเลือกเชื่อไม่ได้? มันก็เป็นหน้าที่ของเราด้วย ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อเพียงอย่างเดียว

ถ้าการเมืองดี เราคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น?

เริ่มจากง่ายๆ ก่อนเลยว่ามีพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม การเต้นก็มีเยอะแยะเลย การวาดรูปศิลปะต่างๆ ตอนนี้ศิลปะเหมือนถูกผูกอยู่กับชนชั้นอีลีท เขาเรียกว่าเป็นแฟชั่นเป็นแบบสิ่งที่ต้องมาอัพเกรดให้เขารู้สึกว่าหรูขึ้น อย่างเช่นห้องเสื้อแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง (หัวเราะ) ก็อยากให้มันเข้าถึงเยาวชนบ้าง คือเยาวชนมันเก่งมากๆ อย่างวันนี้จากคนไม่รู้จักกันมาเต้นเข้าท่าด้วยกันอะไรอย่างนี้ ก็เลยถ้าการเมืองดีเราก็อยากให้เกิดพื้นที่การแสดงออกและพื้นที่สร้างสรรค์ของเยาวชน

อีกอย่างเรามองว่าถ้าการเมืองดีระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศไทยจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ มันจะไม่มีแบบพื้นฟุตบาธตรงนั้นขุรขระเกิดขึ้น เราไม่ควรจะเจออะไรแบบนั้น หรือแบบถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ คุณเอายางมะตอยมาซ่อมแบบง่อยๆ แบบนี้ แล้วมันพังเหมือนเดิม ภาษีที่เราเสียไปมันไม่ได้ตอบแทนกับสิ่งที่เราต้องการหรือสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ควรจะได้รับ แล้วระบบการขนส่งทางรางก็ถูกผูกขาดโดยนายทุน เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยกับสิ่งที่เรียกว่าขนส่งสาธารณะ  มันควรจะเข้าถึงประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ พอมีประกาศ พรก.ฉุกเฉินร้ายแรงที่ผ่านมา การคมนาคมถูกสั่งปิดจากภาครัฐ นายทุนก็เอื้อกับรัฐบาล เรามองว่าไม่สมควรที่จะเป็นแบบนั้น คุณใช้คำว่าระบบขนส่งสาธารณะ คุณควรที่จะเอื้อให้กับสาธารณชน

และเราคิดว่าโอกาสจะเข้าถึงทุกคนไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม อย่างแรกคือเรื่องการศึกษา สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดคนบางกลุ่ม เราไม่เรียกตนเองว่าปัญญาชนละกัน เขายังไม่สามารถที่จะได้รับโอกาสนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วงบประมาณจากภาษีที่เราจ่ายไปกระทรวงศึกษาธิการได้มากที่สุดนะ แต่ว่าลับกลายเป็นว่าเขาไม่ใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ เขาเอามาปาหี่กัน แล้วกลายเป็นว่าเด็กหลายคนไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เรียน เหมือนเราไปดูคลิปในทวิตเตอร์ มีคุณป้าคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าเขาไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะว่าเขาไม่ได้เรียนหนังสือ มันเป็นคำที่เรารู้สึกว่า โห มันควรจะเข้าถึงทุกคนนะ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม โอกาสนี้มันเลยควรจะเกิดขึ้นถ้าการเมืองดี โอกาสที่คนจนจะลืมตาอ้าปากก็เป็นสิ่งสำคัญ การที่เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นมันอาจจะเอื้อให้ต่อเขา การที่โอกาสไม่ได้เข้าถึงแค่นายทุนอย่างเดียว เข้าถึงคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย เอสเอ็มอีจะตายกันหมดแล้วตอนนี้ เพราะว่านายทุนเข้ามาครอบงำแทบจะทุกธุรกิจเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ มีคนทำออกมาขาย ขายแล้วปัง เสร็จแล้วก็มีนายทุนทำตัดหน้า ตัดราคาให้น้อยลงมันยิ่งกลายเป็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยผลิตสินค้าออกมาเพื่ออะไร? โดนนายทุนตัดราคาแล้วพวกเขาจะอยู่กันอย่างไร? ถ้าการเมืองดี เราก็อยากให้โอกาสของุกคนจะเข้ามาแต่สิ่งที่ดีๆ

แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้หลายคนอาจจะยังติดภาพมุมมองของการออกมาประท้วงหรือชุมนุม มักจะต้องมีการไฮปาร์ค หรือถ้อยคำหยาบคาย แต่ปัจจุบันนี้ด้วยสังคม วัฒนธรรม และการเปลี่ยนผ่านของวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การประท้วงหรือชุมนุมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การไฮปาร์คเท่านั้น แต่เขายังเอาวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนประกอบที่จะเรียกร้องสิ่งสำคัญอีกด้วย อย่าลืมมาร่วมทีม “คณะราษแดนซ์” ได้ผ่านทาง Facebook Group ในชื่อเดียวกันได้เลยครับ