fbpx

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มักจะถูกตั้งข้อสงสัยอยู่บ่อยครั้งถึงการบริหารจัดการเงินทุนที่ให้กับประชาชนแทบจะทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะมีเหตุการณ์การวิจารณ์ถึงการให้งบประมาณกับเอกชนมากเกินไปบ้างก็ตาม แต่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการทุกขั้นตอนให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับฟังข้อวิจารณ์ของประชาชน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้นไปอีก

ส่องสื่อ จึงได้มีโอกาสพิเศษ พูดคุยกับ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คนใหม่ ที่เข้ามารับช่วงต่อในการขจัดสื่อร้าย สร้างสื่อดีให้กับสังคมไทยต่อไป ผ่านเวทีการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ กับงาน TMF Power Fusion ที่จะขยับไปครบทั้ง 5 ภาคเลยทีเดียว

เราเลยใช้โอกาสนี้ในการถามคำถามหลายคำถามมาก ๆ ทั้งกรณีการแจกจ่ายทุน รวมไปถึงก้าวต่อไปในปี 2564 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย ติดตามอ่านจากบทสัมภาษณ์นี้กันครับ

วัตถุประสงค์ของงาน TMF Power Fusion

ตรง ๆ เลยก็คือ เอาภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกมาจากสำนักงาน ให้มาอยู่ในหัวใจของประชาชน ให้เข้าใจว่ากองทุนสื่อมีภารกิจอะไร เขาจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรครับ การมีส่วนร่วมในระดับกว้างที่สุดคือ การเป็นผู้เปิดรับสื่อที่ดี เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ระดับถัดไปก็คือ ช่วยเฝ้าระวังในสื่อที่ไม่ดีทั้งหลาย นะครับ เฝ้าระวังเสร็จแล้วอยากจะสร้างสื่อดี ก็ทุกคนก็เป็นผู้ผลิตสื่อที่ดีได้ครับ

ความสำคัญของการไปรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 5 ภาค?

เวทีนี้ไม่เชิงเป็นการรับฟังความคิดเห็น เขาเรียกว่าเอาภารกิจไปร่วมให้ประชาชนได้รับรู้ แล้วก็ร่วมขับเคลื่อนกับเรา ก็คือไปบอกว่าเราคือใคร เราทำอะไร และประชาชนจะมีส่วนร่วมกับเราได้อย่างไร

การสร้างเครือข่ายแบบนี้ แล้วจริง ๆ ทางกองทุนเองคาดหวังอะไรกับการสร้างเครือข่ายแบบนี้?

จริง ๆ แล้วเครือข่ายที่มันมีอยู่เนี่ยมันเป็นการบูรณาการ อย่างผมมาที่นี่ ผมมาเจอเครือข่ายของ สสจ. ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังที่เข้มแข็งมากที่สุดในประเทศไทย ต้องบอกอย่างนี้ว่า สสจ. เชียงใหม่เนี่ยเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังที่เข้มแข็งมากที่สุดในประเทศไทย สิ่งที่มาเรามาก็คือว่า พอเรามีหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกันปุ๊บเนี่ย แล้วเราบูรณาการงานที่เราทำร่วมกันเนี่ย มันทำให้เครือข่ายที่เขาทำอยู่แล้วเนี่ยเขาก็เข้มแข็งขึ้น มีกำลังใจมากขึ้นแล้วขยายฐานการทำงานเนี่ยออกไปสู่ในมิติที่กว้างขวางขึ้น แล้วได้ประโยชน์มาก แล้วก็มาร่วมเติมเต็มกันว่า งานนี้ กสทช. ทำ งานนี้ กสทช. ไม่ถนัด กองทุนสื่อทำ งานนี้ภาควิชาการทำนะครับ

ในส่วนประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้รับสื่อ พอเครือข่ายมันเริ่มมีขึ้นแล้ว มันจะทำอะไรให้คนรับสื่อได้อะไรบ้าง?

สิ่งที่เราอยากเห็นที่บอกว่าแค่ประชาชนทุกคนรู้เท่าทันสื่อนะครับ แล้วก็วินิจฉัยได้ว่าสื่อนี้น่าจะแปลก ๆ นะ สื่อนี้ไม่ดีนะ สื่อนี้ไม่ปลอดภัยนะ เราควรที่จะช่วยกำจัดบทบาทลงนะครับ แล้วก็สื่อนี้เออดี ชวนกันมาดูได้ ต้องช่วยกันขยายบทบาทนะครับ ก็คือลดสื่อร้าย ขยายสื่อดีนะครับ อันนี้ก็คือสังคมจะดีขึ้นมาทันทีเลย

โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ดูเหมือนว่าการเมืองกำลังจะเข้มข้นแล้วก็สื่อต่าง ๆ เองก็มีเยอะแยะมากมาย จริง ๆ แล้วมันพอจะใช้จังหวะนี้ในการพัฒนาสื่อหรือว่าจำกัดสื่อยังไงพวกนี้บ้าง?

อันนี้ก็เป็นสถานการณ์ที่เหมาะพอดีเลย วันนี้ก็สถานการณ์แบบนี้ต้องมี 2 อย่าง 1 คือมีสติ 2 ต้องใช้ปัญญาในการแยกแยะว่า ถ้า FAKE NEWS ก็ไม่ควรที่จะให้มันมีบทบาทขยายไป และที่สำคัญก็คือว่าทุกคนจะต้องอยู่กับความจริงให้มากที่สุดนะครับ แล้วก็ที่ไม่ควรเกิดเลยในสังคมที่ที่เป็นสังคมพุทธเนี่ยคือ Hate Speech คือคำด่า คำหยาบ ไม่ว่าจะด่าคนเล็กคนน้อย ไปจนถึงจะด่าใครก็สุดแท้แต่ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลยนะครับ เรื่อง Hate Speech เราก็ยังคิดว่าปีหน้าเราอาจจะจัดปีแห่งการรรณรงค์ที่เราจะไม่ด่ากัน

ภายใต้บริบทที่ท้าทายแบบนี้ เราพยายามจะบอกว่า ไม่ ไม่ ไม่ แล้วเราจะทำให้เขาตระหนักโดยที่ต้องช่วยกัน กองทุนคิดยังไงในเชิงลึก แล้วเราจะปรับกลยุทธ์ตรงนี้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแบบนี้อย่างท้าทายได้อย่างไรบ้าง?

เฉพาะหน้าคงอาจจะไม่ง่ายนักนะครับ เพราะโดยกลไกของกองทุนไม่ได้ถูกออกแบบมาในการที่จะมา Tracker ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน เราไม่ใช่ว่าเราเป็นองค์กรที่จะเข้ามา Take Action ในปัญหาเฉพาะหน้า เราเหมือน Infrastructure ที่จะเกิดระบบนิเวศน์สื่อที่ดีนะครับ แต่ว่าในระยะยาว เรามีกลไกในการับเคลื่อนอยู่ 2 กลไก คือ 1 ก็คือตัวที่เป็นกองทุนเองที่เรา Grants ในแต่ละปี กับ 2 ก็คือว่าเรามีโครงการตามยุทธศาสตร์ของกองทุน 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเราก็ทำทุกด้านอย่างที่บอกว่า เรามีทำด้านพัฒนาสื่อปลอดภัย สื่อสร้างสรรค์ เราทำเรื่องการเฝ้าระวัง เราทำเรื่องนวัตกรรม แล้วก็เราทำเรื่องการมีส่วนร่วมนะครับ เพราะฉะนั้นก็อย่างที่บอกว่าวันนี้เราก็ ด้านนึงเราทำเรื่องรณรงค์ในประเด็นทางสังคม ที่เราไม่ไปทำให้เกิด Conflict เพิ่มเติม อย่างเช่นว่าถ้าเราเรียกร้องในเรื่องของการที่ทุกคนไม่ด่ากันเนี่ย  อันนี้ก็คิดว่าทุกฝ่ายก็ยอมรับนะในวันนี้ผมว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะจุดยืนทางการเมืองแตกต่างอันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยส่วนใหญ่เนี่ยไม่มีใครนิยมในเรื่องของ Hate Speech

วันนี้ในงาน TMF POWER FUSION สัญจร 5 ภูมิภาค อยากได้อะไรจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชนบ้าง?

เอาง่าย ๆ เบื้องต้นก่อน ในรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนประจำปี ปีที่แล้วเนี่ย ก็ตอนที่ทางสำนักงานนำเสนอเข้ารายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ ข้อแรกเลยก็คือว่า เขาบอกว่ากองทุนตั้งมา 5 ปีละ คนยังไม่รู้จักกองทุนเลย ว่าคุณทำอะไรที่ไหน คือทำอะไรไม่มีคนรู้เรื่องเลย ถามว่าในเมื่อไม่มีคนรู้ แล้วคนก็ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีส่วนร่วมโอกาสก็ไม่เกิด เพราะวัตถุประสงค์กองทุนเนี่ย ย้ำทุกเวทีว่าต้องการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มันจะเกิดขึ้นเมื่อคนรู้จักเรา

วัตถุประสงค์ข้อแรกเลยก็คือว่าออกไปให้คนรู้จักว่ามีเราอยู่นะ เรามีอยู่ในโลกนี้ เรามีภารกิจของเราในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าใจภารกิจเรานะครับ แล้วก็เห็นแนวทางว่าเราเนี่ยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนที่ภาคประชาสังคมเนี่ยสามารถมามีส่วนร่วมกับเราได้  อย่างที่บอกว่าร่วมในพื้นฐานที่สุด ก็คือว่าร่วมในการเป็นผู้เปิดรับสื่อที่ดี มีคุณภาพ โดยกองทุนพร้อมที่จะสนับสนุนทุกความรู้ในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ ร่วมในระดับขั้นสูงสุดก็คือว่าเป็นผู้ผลิตสื่อที่สามารถสร้างผลกระทบให้กับสังคม

ตอนนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องของกองทุนสื่อด้วย งานวันนี้คิดว่าจะคลี่คลาย เรื่องข้อสังเกตจากการให้ทุนของปี 63 ที่ผ่านมาได้ไหม?

ก็อาจจะเป็นคนละส่วนกัน งานวันนี้ ก็อย่างที่บอกว่าเวลาจำกัด ในปัญหาบางปัญหามันอาศัยเวลา รายละเอียดในการทำความเข้าใจ แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่กองทุนทำก็คือว่ากองทุนเองทำงานในระบบเปิด ข้อแรกเลย โดยเฉพาะในยุคที่เข้ามารับตำแหน่งจัดการเนี่ย ก็ยืนยันในเรื่องของการทำงานระบบเปิดแล้วว่า เราจะมีการสื่อสารสาธารณะ ในสิ่งที่กองทุนทำทุกเรื่อง อะไรที่กองทุนทำแล้วสาธารณะ จะต้องรู้ เพื่อที่จะนำไปสู่ว่า เราต้องการสร้างองค์กรที่มีความโปร่งใส เพราะฉะนั้นอันนี้เนี่ย อันนี้เป็นอันแรกเลย

ส่วนเรื่องของการจัดสรรทุนที่หลายท่านก็พูดบนเวทีว่ามีทั้งผู้ที่ผิดหวัง ผู้ที่สมหวัง ก็จริง ๆ เนี่ย วันนี้ถ้าที่ดูแล้ว คือองค์ประกอบในการจัดสรรทุน จริง ๆ แล้วเราตั้งหลักการไว้ 4 ข้อ ข้อที่ 1 แน่นอนก็คือกฎหมายทุน ระเบียบข้อบังคับ อันนี้เราก็มีแน่นอน อันที่ 2 กระบวนการเราชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใสแน่นอน ก็มีแน่นอน อันที่ 3 ผลการพิจารณา นะครับ ให้ความเป็นธรรมเท่าเทียม หลายคนก็มีข้อโต้แย้งนะครับ ซึ่งกรรมการก็ต้องรับไปพิจารณาเหมือนกัน ถูกกฎหมาย ถูกกระบวนการ แต่ว่ากรรมการอคติไหม คือกรรมการก็ฟังในเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะกรรมการชุดใหญ่ และทุกชุดนะครับ สุดท้ายก็คือว่าในที่สุดแล้ว การจัดสรรุทนต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แล้วก็ทุกฝ่ายเนี่ยยอมรับในกติกา ซึ่งอันนี้คิดว่าใน 4 ข้อนี้ ตัวแปร 4 ข้อนี้เรามั่นใจว่ามันจะเป็นตัวแปรที่ใช้คะแนนเพิ่มขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ว่าแน่นอนที่สุด ว่าก็ภายใต้เกณฑ์ 4 ข้อที่ว่า ก็เราไม่สอบตก ทีนี้ อย่างที่บอกว่าวันนี้ก็เป็นรูปแบบของกิจกรรมหนึ่งที่เราพาตัวเองออกไปสู่การรับรู้ของสาธารณะกองทุนสื่อเนี่ย พูดง่าย ๆ ว่าตัวเล็ก หรือทุนน้อยมากเลย 300 ล้านบาทแต่เสียงดังนะครับ ในขณะที่กองทุนอื่นเขาเงินเยอะ นี่ไม่ได้แบบไปเหน็บแนมหรือว่าไปกระทบกระเทียบ อย่างกองทุนอนุรักษ์พลังงานเนี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท แต่เงียบเลย สังคมไม่รู้เลย ก็ปล่อย อันนี้คืออยู่ภายใต้ระบบราชการเขาว่ากันไป ทีนี้ สสส. เอง ก็สร้างผลงานมานานนะครับ แต่เขาก็มีเงิน 4,000 กว่าล้านบาทต่อปีนะครับ กระบวนการพิจารณาก็ไม่ได้แตกต่างกับกองทุนสื่อฯ เวลาไปนำเสนอก็ 4-5 นาที เหมือนกัน ไทยพีบีเอสเนี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ก็มีกองทุนในการผลิตสื่ออยู่ 6-700 ล้านบาทต่อปีเหมือนกันนะครับ เขาก็อาจจะไม่ได้ประชาสัมพันธ์ดังเท่าเรา แม้ว่าจะเปิดรับผู้ผลิตรายการแล้วนะ

แต่เรานี่เสียงดัง เสียงดังเพราะอะไร เพราะเราอยากให้เงินที่มันมีจำนวนน้อย ที่จำนวนจำกัดเนี่ย เราอยากได้คนที่มีความตั้งใจจริง เป็นช้างเผือก โดยเฉพาะหน้าใหม่ ๆ นโยบายผู้จัดการนี่ชัดมากเลยว่าคนหน้าใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจที่จะผลิตสื่อต้องได้เกิด และช่องทางในการที่จะได้เกิด ในการที่จะได้รับการสนับสนุนทุน จริง ๆ แล้วก็มีหลายช่องทาง ทีนี้ทำไมเราถึงเปิดโครงการประเภทที่สามคือประเภทความร่วมมือ เพราะว่าเราเห็นคนมีศักยภาพ เราจะไปทำกิจกรรมร่วมกันก่อน เราไปขับเคลื่อนภารกิจร่วมกันก่อน แล้วเสร็จแล้วเราก็เอามาเข้า Track ที่ไม่ต้องแข่งขันกันสูง หรืออาจจะบอกว่าช่องนี้เนี่ย สำหรับกลุ่มคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะเลยนะ ต่อสังคมนะ อันนี้เมื่อเราเลือกที่จะเดินไปอยู่ในที่สว่างเนี่ยทุกมุมเนี่ย สายตามันก็สามารถมองเห็น งั้นเราก็ไม่หวั่นไหวว่าเราก็จะไม่กลับไปอยู่ที่มืด พูดง่าย ๆ เรายินดีที่จะอยู่ในที่สว่างต่อไป และก็อย่างมีศักดิ์ศรี มีสง่าราศี

ผมยืนยันมาโดยตลอดว่าในฐานะผู้จัดการ ชัดเจนนะครับในการดำเนินงาน อะไรที่จะไม่ถูกไม่ต้องเนี่ยผมจะไม่มีทางยอมนะครับ ไม่มีทางยอมเลย แล้วก็ เป้าหมายก็ชัดเจนว่าว่าต้องการสร้างกองทุนให้เป็นกองทุนที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกองทุนของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นข้อกังวลตรงไหนเนี่ย ก็พร้อมที่จะชี้แจงแล้วก็พร้อมจะไปอธิบาย ก็หวังว่ากองทุนเนี่ยก็ ก็น่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ประชาชนก็น่าจะมีส่วนร่วมมากขึ้น

ทีนี้ประชาชนที่ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมจากเวทีสัมมนา 5 เวทีนี้ มีกลุ่มเป้าหมายในเจนไหนมากที่สุด?

ตอนนี้หลากหลายกลุ่มนะ แต่เราถ้าไม่นับแบ่งตามช่วงอายุ มันจะเริ่มตั้งแต่ผู้รับทุนเดิม เราก็ต้องให้เขามาแชร์ประสบการณ์ และมารับฟังปัญหา อุปสรรค รวมถึงมาบอกเล่าเรื่องราวว่าทำไมเขาได้รับทุน รับทุนแล้วผลงานเขาเอามาโชว์ได้ไหม และรับเงินไปเท่านี้ มันสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร กลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 1

เรามีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่เป็นผู้ขอรับทุน แต่ไม่ได้ เราเลือกเชิญมาเลย โดยเฉพาะคนที่ได้เกรดเอ แต่ว่าคือโครงการอยู่ในเกรดเอ จริง ๆ กรรมการรู้ แต่ว่าเมื่อไปเทียบกับที่ของคนอื่นแล้ว ของเขาเนี่ยมันเอบวก แล้วพวกเอบวกเขาเอาไปก่อน เกรดเอก็อยู่เหมือนกับตัวสำรอง เราก็เลยเชิญมาส่วนหนึ่ง

อันที่สามคือเครือข่ายเฝ้าระวังที่ส่วนราชการหลายส่วน เช่นเครือข่ายส่วนหนึ่งที่ผมอยู่ กสทช. ก็ทำ คุ้มครองผู้บริโภค อยากมาเจอเครือข่าย สสจ. เชียงใหม่เนี่ย ซึ่งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่เนี่ยเข็มแข็งมาก ที่เราเลือกมาที่นี่เพราะว่าเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เครือข่ายเข้มแข็งมาก เครือข่ายผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในกิจการวิทยุกระจายเสียง ในสื่อ และในคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ  เชียงใหม่อันดับหนึ่ง สสจ. ลงมาทำงานร่วมกับภาคประชาชนนะครับ

แล้วในเรื่องของการจัดการตนเองเนี่ย เชียงใหม่เองเป็นต้นแบบของจังหวัดจัดการตนเอง พวกเราอาจจะเคยได้ยิน ซึ่งอันนี้เป็นประชาธิปไตยฐานรากที่ดีมากและเข้มแข็ง แล้วเวลาเชียงใหม่รวมตัวกันมันสร้างผลกระทบต่อสังคม ไม่งั้นเนี่ยเรื่องป่าแหว่งเนี่ยมันไม่สำเร็จ คือเชียงใหม่เนี่ยเป็นจังหวัดที่มีกรณีศึกษา อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราเลือกเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก แล้วก็โมเดลเชียงใหม่ก็อาจจะไปปรับใช้กับโมเดลอื่น ๆ

ประโยชน์ของการสร้างภาคีเครือข่าย 5 พื้นที่ ประโยชน์จากที่ได้ฟังมา จริง ๆ มันก็ไป 5 ภูมิภาค

เพราะว่าจริง ๆ อยากไปทุกจังหวัดด้วยซ้ำ แต่ว่าเวลากับกำลังคนที่มีคืออย่างที่บอกว่างานหลาย ๆ งาน แม้มันจะเริ่มจากหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่งานจะเกิดขึ้นและตั้งอยู่ และใช้เวลาค่อนข้างยาวนานที่จะดับไปก็ให้มันยั่งยืน พูดง่าย ๆ ที่สุด เจ้าของภารกิจต้องส่งมอบภารกิจให้ไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนรู้สึกว่าภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงาน แต่เป็นภารกิจของเขา เช่น ถ้าทุกคนเห็นว่าโลกยุคใหม่เด็กและเยาวชนเติบโตมาในระบบนิเวศน์สื่อที่ดี ระบบนิเวศน์สื่อที่ดีเนี่ย ไม่ใช่เรื่องกองทุน ไม่ใช่เรื่องของสมาคมสื่อ ไม่ใช่เรื่อง กสทช. ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเนี่ยต้องทำเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็คิดว่าเชียงใหม่ก็น่าจะทำได้ก่อนที่อื่น

ก็อย่างที่บอกว่าเชียงใหม่มีความเข้มแข็งในการดำเนินกิจกรรมประชาธิปไตยฐานราก เชียงใหม่จะเป็นอย่างไรไม่ใช่ใครที่จะบอกว่าเชียงใหม่ควรเป็นอย่างนั้น เชียงใหม่ควรเป็นอย่างนี้ คนเชียงใหม่เขาจะบอกของเขาเอง แล้วเขาจะบอกอย่างที่มันสอดคล้องกับความเป็นเชียงใหม่ อันนี้คือสิ่งที่ส่วนราชการจะต้องระวังนะครับ เวลาไปที่ไหนเนี่ย มันหมดยุคที่จะไปชี้นิ้วเหมือนกันนะ บางทีรัฐก็ต้องเรียนรู้ว่าภาคประชาสังคมล้ำไปเยอะมากนะครับ หรือเวลาเกิดปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ มันสอนแง่คิด อยู่ที่ว่าเราจะเปิดหัวใจกว้างมากน้อยแค่ไหน คนรุ่นใหม่เขาก็ต้องคอยเรียนรู้คนรุ่นเก่า  และคนรุ่นเก่าก็ต้องคอยเรียนรู้คนรุ่นใหม่ หน้าที่ของกองทุนสื่อที่อยากจะบอกก็คือว่า ถ้าเรียนรู้กันแล้วรักกันไม่ได้ คือมีชุดความรู้กันคนละชุด มีดาวกันคนละดวง ฝันกันคนละฝัน ไม่โกรธกันได้ไหม ไม่ด่ากันได้ไหม ไม่ทะเลาะกันได้ไหม พื้นที่นี้มันไม่ใช่พื้นที่ของคนใดคนหนึ่ง เราแบ่งพื้นที่กันอยู่ได้ไหม อยู่กันให้ได้ท่ามกลางความแตกต่าง

แต่ว่าเมืองไทยไม่น่าห่วง เพราะว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแนวคิดสุดโต่ง ที่ดูนี่ก็ดู มันไม่สุดโต่งหรอกจริง ๆ เพียงแต่บางเรื่อง เราอยู่กับความเคยชินมานาน นานเกินไปจนแบบ พอเราจะกลับ บางทีเราสุดโต่ง กับการที่เราไม่อะไรมานาน พอเรากลับที่จะแบบขยับอะไรนิดหน่อย กลายเป็นรับไม่ได้สำหรับคนบางคน อันนี้ก็อยากให้ฟัง เด็กเขาก็นำพาประเทศไปลำพังฝ่ายเดียวไม่ได้ ที่สุดเด็กก็ต้องอาศัยประสบการณ์จากผู้ใหญ่ ก็ต้องเดินมาหารือกัน แล้วไม่มีใครในโลกนี้ที่จะได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กหรือกลุ่มผู้ใหญ่ อันนี้จะพูดนอกเรื่องเยอะ(หัวเราะ) ในสถานการณ์

ว่าแต่บนเวทีได้ยินคำนึงที่บอกว่าลดสื่อร้าย ขยายสื่อดี แล้วก็ในฐานะที่เป็น ผู้จัดการกองทุนฯ มีกรอบว่าประเทศไทยควรจะไปกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปีไหม?

ประเด็นทางสังคมนี่คือเป็นเรื่องยากมากแล้วก็เป็นคำถามที่ก็ต้องบอกว่าคือ ผลลัพธ์ทางสังคมมันเป็นเรื่องนำมาทำ เป็นประเดินเชิงคุณภาพ คุณทำวิจัยแล้วพวกเขียนโครงการบอกว่า จะสร้างการรับรู้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือหลอกลวงทั้งหมดเลย Mythology ทั้งหมดนี้ไม่ควรใช้เลย มันเฟค สิ่งที่มันเป็นนามธรรมเป็นเชิงคุณภาพ ไม่สามารถเอาเปอร์เซ็นต์เชิงปริมาณไปนับได้ คุณก็ต้องใช้การประเมินแบบคุณภาพเหมือนกัน

เช่นว่า วันนี้ลองสมมติว่าหา key Informant มาสัก 10 คน แล้วให้ลองประเมินดู แล้วหลังจากนั้นก็มาดูกิจกรรม ก็ให้ผ่านไปสักปีสองปีแล้วให้สิบคนนี้มาประเมินดูนะครับ แล้วก็ลองดูว่าผลลัพธ์การประเมินที่จะเกิด มันต้องใช้เวลา ถามว่าวัดได้ไหม วัดได้ แต่ว่าได้ไม่ตรงมากหรอกนะครับ แต่ว่าสังคมมันจะเห็นว่ามันเห็นทิศนะ เห็นทิศเห็นทาง สสจ. เขาก็ทำเรื่องที่ประสบความสำเร็จหลายเครื่องเหมือนกัน เรื่องของการรณรงค์ เรื่องของการลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากในการทำให้พวกขี้ยาทั้งหลายเนี่ย กลายเป็นตัวตลกในการสูบบุหรี่ วันนี้หลายอาหาร หลายร้าน ที่ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่เลย แล้วก็มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ จะเป็นบุหรี่แพงหรือแบบไหนก็แล้วแต่ เวลาจะไปร้านอาหารจะต้องถามก่อนว่ามีที่สูบบุหรี่ มีเสร็จก็เป็นความสำเร็จ นี่เป็นประเด็นทางสังคม

แต่ถามว่าเราวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ไหมตัวเลขที่อยู่ ยอดขายบุหรี่ลดลง ยอดคนสูบบุหรี่ลดลง แต่เรื่องอื่น ๆ ถ้าเป็นเรื่องของความคิด จิตสำนึกเนี่ยวัดยาก พฤติกรรมการสูบบุหรี่เนี่ยมันลดลง แต่สื่อเนี่ยมันไม่ใช่แค่เรื่องการสูบบุหรี่ การกินเหล้า เพราะฉะนั้นเนี่ย บางทีเวลาจะประเมินลดสื่อร้ายนี้ สื่อร้ายเนี่ยคิดว่าไม่ง่าย เพราะสื่อร้ายมันขายได้ แล้วก็มันไม่ใช่ขายได้อย่างเดียว แล้วมันกระตุ้น ไปกระตุ้นต่อมความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนด้วยนะ เพราะฉะนั้นเนี่ยสื่อร้ายมันถึงขายได้ เพราะว่ามันกระตุ้นต่อมกิเลสมนุษย์ แล้วไม่ใช่สื่อร้ายอย่างเดียวนะ เราอยู่ในโลกทุนนิยม

ในโฆษณาเนี่ยสังเกตไหมว่า เชื่อไหมว่าโลกนี้ ทุกวันนี้ คนซื้อสินค้าเนี่ย มันไม่ได้ซื้อเพราะ NEED นะ โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งหลายหนิ นี่ไม่ได้ว่าผู้หญิงเลยนะ ผู้ชายทั้งหลายก็ดี มนุษย์เวลาซื้อสินค้า มันซื้อเพราะ Want มันซื้อเพราะ Want ไม่ได้ซื้อเพราะว่ามันไม่ซื้อไม่ได้ ไม่มีไม่ได้ แต่ต้องมี ไปดูสิ เซเลบทั้งหลายได้ ดาราทั้งหลาย รองเท้ากี่คู่ เคยใส่ไหม เสื้อผ้ากี่ชุด ไอกิเลสแบบเนี้ย สื่อมันสร้างหมด วิชาโฆษณาก็ดี วิชาการตลาดก็ดี กิเลสไม่มีอะ ก็สื่ออะไปทำให้มันมี แล้วธุรกิจพวกนี้ที่มันขับเคลื่อนสังคมทุนนิยมเนี่ย มันมหาศาลนะ ถามว่าแล้วสื่อจะไปคัดงานแบบนี้ได้อย่างไร เพราะนั้นเนี่ยโอกาสที่สื่อดีจะเป็นกระแสหลักมีไหม น้อยมาก แต่มันต้องมีการทัดไทานไม่ต้องมี แค่นั้นเอง

ปี 2564 กองทุนสื่อฯ มีงบประมาณเท่าไหร่บ้าง?

เราตั้งงบที่จะขอจัดสรรทุนหนะ เราขอที่ กสทช.แล้วนะครับ กสทช. อยู่ในกระบวนการที่เราขอไป 350 ล้าน ทั้งหมดเลย ไม่เกี่ยวกับงบสำนักงาน ไม่เกี่ยวกับงบหลังบ้าน ในปี 2563 เราจัดสรรทุนไปทั้งหมด 284 ล้าน แต่จริง ๆ ทางกองทุนกะว่าจะขอ กสทช. สัก 2 รอบ ทีนี้เราต้องการทำผลงานให้ กสทช. เห็นก่อนว่าใช้เงินดี มีประสิทธิภาพ ก็คือรอบแรกขอไป 350 แต่ว่าจัดสรรไปเรียบร้อยเสร็จแล้ว ผลงานของปี 63 เราออก เราจะออกกลางปีอีก 300 ล้านบาทซึ่งอาจจะมาทำโปรเจคใหญ่ ใหญ่ไปเลยแล้วก็เล็กไปเลย สำหรับการจัดสรรทุน ผู้จัดการตั้งเป้าว่าจะขอ 650 ล้าน ตอนนี้ก็ไปแย็บ ๆ กับ กสทช. แล้ว คือ 350 ล้านแรกคิดว่าไม่มีปัญหา 300 ล้านหลังนี่คิดว่าอยู่ที่ผลงานของเรา ไม่ใช่ของ กสทช. เพราะว่าผลงานของเรา ถ้าเราไปอธิบายความจำเป็น อธิบายเหตุผล ก็คิดว่ามันน่าจะไม่มี

แล้วเป้าหมายปี 64 เราโฟกัสว่าเราอยากได้เรื่องหรือแบบไหน?

ถ้าประเด็นเชิงยุทธศาสตร์นี่ก็คือเป็น theme หลักที่กองทุนกำหนดเป็นเป้าว่าจะทำ อันนี้อาจจะเป็นโครงการขนาดใหญ่นะครับ ซึ่งต้องมี และตอนนี้ก็กำลังเถียงกันอยู่ว่าเป้าหลักที่เราจะไปมันควรจะเป็นเรื่องอะไร กรรมการแต่ละท่านก็เห็นไม่ตรงกัน ผู้จัดการก็มีความเห็นส่วนตัวไปอีกทางหนึ่ง อาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง ก็จะใช้เวลานี้ในช่วง ตุลาคม-ธันวาคม 2563 จะตกผลึกในเรื่องของ Theme หลัก ก็ เราจะมีเวทีในการรับฟังความคิดเห็นในทางการจัดสรรทุนมาอีก เชียงใหม่ก็รู้สึกจะมาวันที่ 18 ธันวา เวทีสุดท้าย อันนี้ก็คือไม่มีคนใดคนหนึ่งคิดเอง อันนี้ก็สร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการคิดเหมือนกัน

เราอยากจะเป็นแบบโมเดลเกาหลีที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อใช่ไหม?

ผู้จัดการต้องการอย่างนั่น ต้องการให้มี Theme หลัก แล้วส่วนเรื่องรองก็คือว่าความหลากหลายของสื่อ ตามกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเดียว กลุ่มคนชายขอบ กลุ่ม LGBT นะ กลุ่มคนเล็กคนน้อยทั้งหลายนี่ได้เข้าถึงทุนทั้งหมดนะครับ ซึ่งก็มันก็แน่นอนว่า ต้องมีหลายเกณฑ์ ต้องมีหลายชั้น แต่ผมนี่อยากทำมาก อยากทำหนังสักเรื่องนึงที่มันดูแล้วไม่ว่าคุณมีความเชื่อแบบไหน คุณดูได้ อยากทำภาพยนตร์แห่งชาติสักเรื่องหนึ่ง หรือภาพยนตร์ของประชาชนสักเรื่องหนึ่งนะครับปีนี้ แต่ถ้าไม่ได้เรื่องใหญ่ก็อาจจะทำซีรีส์

คือต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าถ้าจะทำให้มันมี Impact แล้วมันกระทบกับประชาชนทุกคนเนี่ย ละครซีรีส์เนี่ยกระทบ ถ้าเราทำให้ได้แบบบุพเพสันนิวาสเนี่ย ก็ประสบความสำเร็จ อยากได้แบบนี้เลย แล้วจุดยืนของกองทุนก็คือว่ามองว่าบุพเพสันนิวาสเนี่ย มันไม่ใช่เหตุบังเอิญ มันเป็นนวัตกรรม ในเมื่อเป็นนวัตกรรมเนี่ย มันควรจะสร้างได้ ลงทุนได้ ทำไมเกาหลีถึงมีปีนี้ 10 เรื่อง ปีหน้า 10 เรื่อง เพราะว่าเขามองว่ามันเป็นนวัตกรรม คือว่าอันนี้เนี่ยคนก็มอง ถ้าเราได้อธิบายเราเข้าใจว่า โครงการขนาดใหญ่จัง มันเป็นแบบ ต้องการให้มี Theme ของประเทศ

แล้วเรามีบริษัทพวกนี้เข้าห้องคุยไหมในเบื้องต้น?

บริษัทไม่มีคุย แต่ตอนนี้เริ่มคุยกับสมาคมพวกผู้กำกับ แล้วก็ทุกสมาคมก็คุยกัน ตอนนี้ผมอยากรวมผู้กำกับหนังทุกคนด้วยซ้ำไปนะ แล้วก็ให้มาสร้างกติการ่วมกัน แล้วอาจจะจัดสักก้อนหนึ่ง 50 ล้าน แล้วมา pitching สมมติเรามาทำหนัง หรือว่าอาจจะหาพาร์ทเนอร์ร่วม เช่นว่าองค์กรอย่างเป็น Telecom Operator อย่างนี้สักรายนึง ลงมาร้อยละ 50 ได้ไหม แล้วคุณก็ได้สื่อโฆษณาไป แต่ว่ามาทำหนังคอนเทนต์ของเรา คอนเซ็ปต์ของเราอย่างนี้ แล้วรายได้มาก็แบ่งครึ่งตามกรอบของกองทุน แต่ว่าไม่ทำ Theme หลักนะ หรือโครงการใหญ่นะไม่ได้เลย มันจะกระจายไปหมด แล้วมันก็ไม่เห็นอะไรเลยว่ากองทุนทำอะไร จริง ๆ งานโครงการเล็ก ๆ ไม่ใช่ไม่ดีนะ ดี แต่ว่ามันไม่สามารถสร้างผลกระทบในระดับชาติได้

แล้วเรามีแนวคิดไหมว่าสิ่งที่เราทำสิ่งดี ๆ ไปนี่มันจะมีโอกาสทำให้คนทั่วไปได้เห็น?

ที่ทำมาตอนนี้ สำนักงานไปรื้อหมดเลย ตั้งแต่ปี 2560 48 โครงการให้ไปรื้อตั้งแต่ 2560-2562 แล้วให้เอามาต่อยอด ก็คือบางทีงานออกมาดีหลาย ๆ งาน แต่คนตรวจรับหรือเจ้าหน้าที่ดูงานดูไม่ขาด หลายงานมันเอามาต่อยอดได้ เอามาเผยแพร่ได้ เอามาบิลด์ได้ ตอนนี้ก็เลยเหมือนเป็นฝ่ายทั้งที่เอางานเก่ามาโชว์ให้คนรู้ งานดี ๆ เยอะอยู่ แต่กองทุนที่ผ่านมาก็ไม่อยากจะพูดก็คือละเลยเรื่อง

แล้วเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่าน ๆ มา เราจะมาปรับใช้หรือว่าจะยกระดับยังไง?

ต้องเอามาฟัง ก็คือหนึ่งก็อย่างที่บอกแนวนโยบายที่พูดไป เราไม่เคยคิดว่าคนวิพากษ์วิจารณ์เนี่ย มุ่งร้ายเจตนาไม่ดีต่อกองทุน น้อง (ส่องสื่อ) จะรู้ดี ในจุดยืนของผู้จัดการ เพราะฉะนั้นวิจารณ์มาเนี่ย เราพิจารณาหมด เรารับฟังหมด และหลายเรื่องเราพูดว่าเราจะต้องปรับปรุงทั้งเรื่องระยะเวลาก็ดี หรือเรื่องคณะทำงานก็ดี เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลก็ดี ปีนี้ที่เราไม่ได้ทำก็ตั้งหลายเรื่อง จริง ๆ แล้วเมื่อปิดการขอโครงการแล้ว เราก็อยากเอาผู้ขอทุนทั้งหมดมาเผยแพร่ก่อน แต่ว่าก็ข้อมูลทั้งหมดเราก็เตรียมไว้ หลายเรื่องที่ก็คิดว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนี่ยที่เรามองว่าเขาก็รัก ห่วงกองทุน เราก็เอามาปรับปรุงการทำงาน แล้วก็ไม่ใช่รอครั้งหน้าค่อยปรับ ปรับเลย ทำเลย ก็มั่นใจว่ามันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ

เราพอจะบอกแบบคนที่ขอทุนไม่ได้ไหมว่า ที่เขาไม่ได้สาเหตุหลัก ๆ คืออะไร?

จริง ๆ การพิจารณาทุนก็มีตัวชี้วัด บางทีก็อย่างที่บอกว่าบางทีเขียนโครงการดี แต่พอเอาแค่เปิดหน้าแรกเลยว่าวัตถุประสงค์เขาสอดคล้องวัตถุประสงค์กองทุนไหม? บางทีไม่ใช่ บางทีก็เอาไปทำเรื่องประกอบการศึกษา มันไม่ใช่เป็นเจตนาหลักของกองทุนสื่อ อันนี้ก็ตกไปละ อันที่ 2 เขียนวัตถุประสงค์ดี แต่พอขอบเขตงานเนี่ย มันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ อันนี้มันคือเหมือนแบบ จริง ๆ เหมือนทำวิจัย 1 ดี 2 ดีแล้ว การบริหารโครงการมีความน่าเชื่อถือ หัวหน้าทีมเป็นใครทีมงานเป็นใครนะครับ มีความมั่นใจได้ไหมว่าจะทำโครงการให้สำเร็จตลอดรอดฝั่งได้

เสร็จแล้วเมื่อจ็อบงานคุณเสร็จ คุณตั้งงบประมาณที่สมดุลกันไหม หรือบางทีจ็อบงานน้อยมาก ผลิตอย่างเดียวไม่เผยแพร่ แพงมากเลย เมื่อไปเทียบแบบเปรียบเทียบกับอีกรายหนึ่ง ก็คือคะแนนพอ ๆ กันแต่ว่าผลิตด้วย เผยแพร่ด้วยนี่ คะแนนสูงกว่าอย่างนี้ เขาก็เลยได้ไป เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ผู้รับทุนทุกรายที่ขอแล้วไม่ได้ทุนเนี่ย กองทุนตอนนี้ก็เปิดให้ดูข้อมูล แล้วก็อันนี้เราสบายใจว่าทุกโครงการเราอธิบายได้ ถึงไม่มีแบบมั่ว ๆ ที่บอกอันนี้พวก อันนี้ไม่ใช่พวก