fbpx

หน่วยงาน COFACT ประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรหลายภาคส่วน ร่วมกันจัดกิจกรรม Digital Thinker Forum ครั้งที่ 13 จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงและความงามได้อย่างไร ซึ่งได้ตัวแทนทั้งสื่อมวลชน นักศึกษา และอดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยในเวทีนี้เพื่อให้ความเห็นและร่วมหาทางออกด้วยกันในการลดช่องว่างทางการสื่อสารด้วย

คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยการเติบโตของสังคม ทำให้นิสัยของเราเปลี่ยนแปลงได้ ในส่วนของการเมืองเมื่อมีการรัฐประหารก็มักจะเกิดวงจรเดิม ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง แล้วก็วนกลับมาที่เดิม ซึ่งสังคมไทยไม่ได้มองที่รากฐานจริง ๆ และไม่ไปแก้ปัญหาในจุดนั้น จึงทำให้สถานการณ์ยังคงอยู่ที่เดิม ไม่พัฒนาไปไหนสักที การตั้งคำถามจึงจำเป็นมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหา ถ้าตั้งคำถามผิดไม่ว่าคำตอบจะดีอย่างไร มันก็ผิดได้เสมอ ตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม สังคมก็ย่ำแย่แบบนี้เหมือนเดิม

สำหรับตนเองได้ให้คำจำกัดความว่าเป็น Digital Ignorance คือไม่อยากเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็น Digital ใด ๆ ทั้งสิ้นเลย อย่าคิดว่าระบอบประชาธิปไตยคือความถูกต้องทั้งหมด แต่ต้องมาพร้อมกับกาลเทศะด้วย ฉะนั้นคนจะทำอะไรก็ต้องวางแผนงานด้วย และทำให้สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่ อย่าดูถูกประชาชน การจะอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินไทยจะต้องเปิดใจกว้างซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด และการใช้ภาษาก็สำคัญด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการเคารพความเห็นที่แตกต่างกัน โดยสรุปแล้วปัญหาของทุกประเทศคือ การสื่อสารระหว่างกันที่ไม่มีความรับผิดชอบของผู้ทำสื่อ ผู้ผลิตสื่อ ซึ่งต้องใช้การฟังจากหลายๆ สาย และการพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย

คุณสุนิทสุดา เอกชัย สื่อมวลชนอาวุโส คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงช่องว่างระหว่างวัย ที่ความคิด อุดมการณ์ต่างกันจนตัดขาดกัน ถ้าเราสร้างพื้นที่แห่งความแตกต่างหลากหลายที่ทำให้อยู่กันไปได้ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอาไปใช้ในระบบสังคมใหญ่ไม่ได้ เนื่องจากฝั่งตรงข้ามมีสรรพกำลังมากกว่า เลยอาจจะทำให้การพูดจากันดี ๆ อาจจะไม่ได้เป็นผลสักเท่าไหร่ ซึ่งการพูดจริงควรเป็นที่หนึ่ง พูดด้วยความปรารถนาดี มีกลาเทศะก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมจริง ๆ ก็ควรพูดตามหลักที่มีไว้ ถึงแม้ว่ามันจะนำไปสู่ภัยต่อตนเองก็ตาม

เราต้องตั้งคำถามไว้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนผลิตความไม่จริง? ใครที่สร้างความเกลียดชังต่อสังคม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่าการไปสอนเขา เราต้องพูดกับใคร? คนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง หรือผู้สร้างความรุนแรง การไปพูดกับเยาวชนคือเดินมาผิดที่หรือเปล่า? ต้องพิจารณาไว้ให้ดีว่าสังคมควรเป็นแบบไหน?

คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY กล่าวว่า ส่วนตัวที่ทำงานกับเวิร์คพอยท์ จะรู้เรื่องตัวเลขและการเดินทางของแต่ละช่วงอายุอย่างดี เช่น คนอายุต่ำกว่า 35 ปีจะติดตามเวิร์คพอยท์ทางออนไลน์ ส่วนคนอายุมากกว่า 35 ปี จะติดตามเวิร์คพอยท์ผ่านทีวี ส่วนตนอายุ 36 ปี ก็จะได้เห็นมุมมองการเมืองไทยที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็จะพบว่าประเทศไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไม่มีแสงสว่างหรือทางออกมากให้เขาได้เห็นแสงเลย ถ้าดูจากตัวเลขจะพบว่าแต่ละช่วงเวลาจะเจอการเดินทางผ่าน GDP ประเทศไทยที่แตกต่างกันไป

เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2563) จะเห็นได้ว่าโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้สะท้อนมุมมองของแต่ละฝ่ายอย่างมาก และต่างคนต่างมองคนละมุม ซึ่งตนเองวิจารณ์การทำงานของสื่อว่าตอนนี้ควรทำหน้าที่ตรงกลางในการพูดคุย เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น เราควรทำหน้าที่ตามวิชาชีพที่ได้เรียนกันไปด้วย แน่นอนว่าเราก็ต้องมีผู้ช่วยในการจัดสรรพื้นที่กันได้ และทำให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดต่อไป

สุดท้ายของตนเอง ด้วยความที่ตนเองทำงานข่าว เรายังเชื่อมั่นในสังคมที่อยากสร้างสรรค์ความดีให้กับประเทศไทย ยังมีอีกหลายคนที่เห็นความดีงาม และพัฒนาสังคมได้ ซึ่งไม่มีพื้นที่ที่ให้คุยกันได้ สรุปรวมคือมีเรื่องช่วงวัย สื่อ และพื้นที่การพูดคุยนั่นเอง และการเป็นสื่อในยุคนี้ก็คาดการณ์เหตุการณ์ได้ยากมาก และทำให้เราไม่สามารถวางแผนได้เลยจริง ๆ ว่าจะไปอย่างไรได้ต่อ

คุณพิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวและพิธีกร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ช่องว่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแค่อายุ แต่รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคมด้วย และถ้าควบรวมเป็นวัฒนธรรมแต่ละแบบ แล้วเราจะรวบวัฒนธรรมแต่ละแบบมารวมกันได้อย่างไร? สิ่งนี้คือเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับความขัดแย้ง อันที่จริงเกิดจากปัจเจกบุคคลก่อน แล้วค่อยขยายตามบริบทของสังคม ถ้าอยากทำให้สังคมเกิดความสันติ ก็ต้องไปแก้ไขปัญหาของปัจเจกบุคคล แล้วมันจะขยายต่อยอดไปเรื่อย ๆ ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ต้องพูดอยู่แล้ว แต่ควรเติมด้วยสุนทรียะที่ต้องหาช่วงเวลาและลีลาในการพูดคุยที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

คุณปานวาด ก่อเกียรติทวีชัย ผู้แทนนิสิต คณะกรรมการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จริง ๆ ที่บ้านของตนเองเริ่มให้เล่นอินเตอร์เน็ตตั้งแต่อายุ 7 ปี ซึ่งครอบครัวคิดว่าเป็นช่องทางในการหาความรู้ ทำให้ตนเองเติบโตทั้งสองสื่อ ทั้งสื่อดั้งเดิม และสื่อดิจิทัล และพอเป็นนักเรียนสื่อ ทำให้ทราบว่าสื่อเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในการสร้างความเชื่อในการรับรู้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันในสื่อดิจิทัลก็จะเจอ echo chamber ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งข้อเสียของดิจิทัลมีเดีย ซึ่งการที่เราเสพสื่อแบบนี้ต่อมาเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันในคนรุ่นใหม่ก็จะตั้งคำถามต่าง ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเช่นกัน และในหลายๆ ครั้งพอคนรุ่นใหม่ถามคนรุ่นก่อน ก็ไม่ได้คำตอบจริง ๆ ว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น และกลายเป็นไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองได้

ส่วนตัวรู้สึกว่า ตนเองต้องลุกออกมาทำสื่อเอง ทำให้เข้าถึงง่ายและหลายมุมกว่า รวมไปถึงสามารถเลือกสื่อที่จะสามารถทำให้เกิด Interactive ได้ด้วย แต่ในสื่อเดิมสื่อก็เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อได้ และสามารถเลือกที่จะเชื่อได้

แน่นอนว่าเวทีนี้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่หาเจอเสมอไป แต่นี่คือความเห็นที่ทุกฝ่ายมองตรงกันว่าการสื่อสารที่ตรงกับช่วงเวลา กับจังหวะ และลีลาในการพูดความจริงก็เป็นสิ่งสำคัญในการพูดเพื่อให้ทุกฝ่ายลดช่องว่างให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ในบางครั้งจะมีบางจุดที่เกิดปัญหาขึ้นก็ตามนั่นเอง