fbpx

ชีวิต ความรัก นักข่าว และโลกใบใหม่ของณัฏฐา โกมลวาทิน ผอ. Thai PBS World

จากการรายงานข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ สื่อหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ “Thai PBS” สื่อสาธารณะระดับชาติที่มีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลด้วยความเที่ยงตรง แต่ความสำเร็จในการนำเสนอข่าวต่างประเทศนั้น คนไทยอาจจะยังคงไม่รู้จักหรือไม่ทราบว่าในเบื้องหน้ายังมีเบื้องหลังที่ทำให้การนำเสนอข่าวต่างประเทศทั้งในภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และยังทำให้ชาวต่างชาติรู้จัก Thai PBS ในฉบับภาษาอังกฤษอีกด้วย

วันนี้ส่องสื่อจึงดึงตัวแขกรับเชิญมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับมุมมองข่าวต่างประเทศ รวมไปถึงการทำข่าวภาคภาษาอังกฤษว่าสื่อสาธารณะทำไมถึงกระโดดมาเล่นในบทบาทนี้ด้วย เราจึงดึงตัว “ณัฏฐา โกมลวาทิน” ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS WORLD ศูนย์ข่าวภาคภาษาอังกฤษของไทยพีบีเอส และผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส มานั่งพูดคุยกันครับ แต่แน่นอนว่านี่คือ 1st Interview ฉะนั้นนอกจากเรื่องงานแล้ว เราจะเจาะเรื่องส่วนตัวที่ไม่เคยมีที่ไหนสัมภาษณ์มาก่อน อ่านพร้อมกันได้เลยครับ

ทำไมถึงสนใจข่าวต่างประเทศ แล้วก็มาทำศูนย์ Thai PBS WORLD?

จริง ๆ ก็ถึงเวลาแล้วสำหรับไทยพีบีเอสที่จะต้องมีบริการข่าวภาคภาษาอังกฤษ ก็เป็นการคิดกันของทางผู้บริหารของไทยพีบีเอสชุดนี้ด้วยนะคะ โดยคุณวิลาสินี พิพิธกุล (ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส) เขาเห็นว่าควรจะต้องปักธง ด้วยความที่ไทยพีบีเอสก็เป็นสื่อสาธารณะ แล้วถ้าต้องการจะให้มี Impact ในระดับภูมิภาค ต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยในระดับภูมิภาค ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีข่าวภาคภาษาอังกฤษ ประกอบกับช่วงนี้ก็เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นในไทยด้วย ทั้งในเรื่องของ โควิด-19  เรื่องของบริบททางสังคม เรื่องของการเมือง ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นเยอะ คนก็ต้องการคำอธิบาย ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง คนต่างชาติก็อาจจะอยากมองไทยให้เข้าใจมากขึ้น และเราก็จะทำยังไงให้คนไทยเองเข้าใจเรื่องต่างประเทศมากขึ้น ก็เลยนำมาสู่การตั้ง Thai PBS WORLD ขึ้นมา

เป็นอย่างไรบ้างกับการเริ่มต้นทำข่าวภาคภาษาอังกฤษ?

ก็คิดว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญสำหรับความเป็นไทยพีบีเอสนะ เพราะว่าก็เป็นสื่อที่จะต้องนำเสนอภายใต้โจทย์ที่จะต้องเป็นหลักคิดให้กับสังคม แล้วก็ต้องพยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนให้มากที่สุด แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้คนรู้สึกว่าต้องมองออกไปไกลจากประเทศไทยด้วย มองออกไปไกลจากตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะมีความรู้สึกว่า อาจจะมองไทยเป็นศูนย์กลาง หรือว่ามองคนไทยเป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว ซึ่งในบริบทยุคปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเชื่อมโยงถึงกันอยู่แล้วทั้งเรื่องระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับต่างประเทศ ไปจนถึงในระดับโลก เห็นได้ชัดเลยว่าอย่างในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ทุก ๆ ประเด็น ทุกความเคลื่อนไหวมันเชื่อมโยงถึงกันหมด เพราะฉะนั้น Thai PBS WORLD ก็มีหน้าที่ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในชีวิตจริง ในโลกออนไลน์ แล้วก็ทำให้คนไทยเข้าใจพลวัตรของการเปลี่ยนแปลง

ข่าวต่างประเทศสำคัญยังไงกับการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตของคนไทยบ้าง?

คือถ้าเป็นข่าวต่างประเทศคนไทยอาจจะบอกว่าต้องมาฟัง เพราะว่าเป็นข่าวภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่าเวลาจะนำเสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ข่าวในไทยเป็นภาษาอังกฤษจะเข้าใจอย่างไรนะ แต่ส่วนตัวอยากที่จะให้มองเห็นคุณค่ามากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา แต่ว่าเป็นเรื่องของการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย แต่แน่นอนว่ากลุ่มของคนที่จะเข้ามารับรู้ข่าวในแบบนี้ได้ จะต้องเป็นคนที่รู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งก็อาจจะเป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนทำงาน หรือว่ากลุ่มนักวิชาการ รวมถึงกลุ่มเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ที่มีแวดวงที่ทำงานต้องเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ก็จะเป็นกลุ่มที่จะเป็น Target หลักของ Thai PBS WORLD ซึ่งตรงนี้ฐานคนดูอาจจะไม่เยอะ แต่ว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนในเชิงของความคิด แล้วก็จะได้ถ่ายทอดทั้งในแง่ของปรากฏการณ์ทางสังคมแล้วก็การเมืองในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย อันนั้นก็เลยเป็นความสำคัญและเป็นความตั้งใจว่า Thai PBS WORLD ก็จะต้อง พยายามเจาะกลุ่มคนเหล่านี้ให้ได้ อีกด้านนึงก็คือจะต้องพยายามสร้างภาคีกับสื่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องในอาเซียน เช่น สื่อพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เหล่านี้ที่จะต้องเชื่อมโยงถึงกันให้มากขึ้น

อยากให้เล่า Routine การทำงานใน 1 วันของพี่เต๋าหน่อย เริ่มต้นทำอะไรบ้างจนถึงก่อนนอน?

คือถ้าย้อนกลับไปก่อนนอน เราก็ต้องเช็คข่าวก่อนเพื่อที่จะรู้ว่าข่าวใหญ่ในวันพรุ่งนี้คาดว่าจะมีอะไร ตื่นเช้ามาก็ทำธุระส่วนตัว แต่ว่าก็ต้องเริ่มดูแล้วว่าที่เขาคุยกันทางโลกโซเชียลมีเดีย สื่อสำนักต่าง ๆ คุยกัน โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ Trends มันคืออะไร หรือว่าประเด็นใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันนั้น รวมถึงในไลน์ ซึ่งก็จะมีความเคลื่อนไหวของผู้สื่อข่าวของไทยพีบีเอสอยู่แล้ว ไม่เฉพาะ Thai PBS WORLD เราก็จะรู้แล้วว่าข่าวใหญ่วันนี้มันควรจะเป็นยังไง

ทีนี้ในไลน์ของทีม Thai PBS WORLD ก็จะมีอีกไลน์หนึ่งเฉพาะ ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็น 2 รายการ ทั้ง Thai PBS WORLD Tonight ซึ่งก็คือข่าวภาษาอังกฤษ แล้วก็ทันโลกกับ Thai PBS WORLD ซึ่งก็คือข่าวต่างประเทศที่นำเสนอเป็นภาษาไทย ตรงนี้เราก็จะจับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับจะมี บรรณาธิการ กลุ่มนักข่าวแต่ละทีมอยู่แล้วที่จะต้องทำคอนเทนต์เพื่อป้อนลง 2 รายการ

อีกด้านนึงของ Thai PBS WORLD ก็จะมี Platform ออนไลน์คือเว็บไซต์ แล้วก็จะมีอีกทีมหนึ่งที่คอยมอนิเตอร์ ทั้งข่าวรายวัน รวมถึงอีกทีมหนึ่งที่ทำบทความเชิงวิเคราะห์เข้ามา เหล่านี้ก็จะเป็น Output งานที่เกี่ยวข้องกับ Thai PBS WORLD ส่วนของพี่ พอจบทางนี้แล้วก็จะจบประมาณสองทุ่มครึ่งใกล้ ๆ สามทุ่มก็จะดู คือระหว่างวันก็ต้องเตรียมที่นี่ไทยพีบีเอสไปด้วยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง? ข่าวใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในรายการที่นี่ไทยพีบีเอสเป็นอย่างไร พอจบ Thai PBS WORLD ก็จะไปลุยทำที่นี่ไทยพีบีเอสต่อ

จนถึงก่อนนอนก็จะเช็คข่าวอีกรอบนึง?

ใช่ ๆ หรือว่าถ้ามีอะไรตูมตามขึ้นมาเป็น Breaking News หลังจากที่นี่ไทยพีบีเอส หลาย ๆ คืนก็จะทำ FACEBOOK LIVE เพื่อเกาะติดสถานการณ์ ไม่ว่าจะมีเหตุระเบิดตอนนั้นที่โกดังเบลารุสระเบิดเราก็ถ่ายทอดสดตอนนั้นเลย ก็พยายามเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

แสดงว่า Key หลักที่รู้สึกว่าทำมาตลอดก็คือการเป็นนักข่าวโดยสัญชาตญาณของตัวเองหรือเปล่า?

คือมันก็อยู่กับข่าวมาตลอดนะคะ ถ้าจริง ๆ ก็อยู่กับข่าวมาตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ มันก็นานมาแล้ว แต่ตั้งแต่ทำไทยพีบีเอสตั้งแต่ปี 2551 ก็คือชีวิตเราก็จะวนอยู่กับข่าวตลอด หมายถึงก็จะคลุกคลีอยู่กับข่าวตลอดทั้งวันไปจนถึงนอน แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องพยายามคิดอะไรที่เป็นเชิงลึกมากขึ้นด้วย อย่างเช่นการคิด Series ในการทำรายการ หรือว่าการสัมภาษณ์พิเศษ เพื่อที่จะให้มันเจาะลึก และให้มันไปไกลกว่าประเด็นในรายวัน ซึ่งมันก็ต้องพยายามเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ไป

ความฝันวัยเด็กของพี่เต๋าอยากเป็นอะไรครับ?

จริง ๆ อยากเป็นนักบินตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เพราะว่าพ่อเป็นทหารอากาศ เราก็อยากเป็นนักบินไง แต่ว่าจริง ๆ เรียนพวกเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เราทำคะแนนได้ไม่ดี แต่ว่าเราเองอยากเป็นนักข่าวจริง ๆ ตั้งแต่เรียนประมาณประถมศึกษานะ คือก็เริ่มดูข่าวช่อง 9 ดูผู้ประกาศข่าว เราก็รู้สึกว่าอยากทำ รู้สึกว่าอ่านข่าวแล้วก็อยากจะเล่าให้คนอื่น รับรู้ รับฟัง แต่ที่มาชัดจริง ๆ คือตอนเรียนมหาวิทยาลัย พี่เรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งก็มีคลาส Critical Thinking แล้วก็มีคลาส Reading English Newspaper แล้วก็ Critical Reading ซึ่งอาจารย์เป็นคนอินเดีย

แต่ว่าอาจารย์จะให้อ่าน Text ภาษาอังกฤษเยอะมาก ซึ่งในยุคนั้นเด็กไทยที่จะอ่านภาษาอังกฤษ มันจะรู้สึกว่าเหมือนมันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องไกลตัว แต่อาจารย์ก็เอามาให้ลองอ่าน แล้วก็สอนว่า เฮ้ย เธอจะต้องตั้งคำถาม ต้องเขียนออกมายังไง แล้วเรียนไปอาจารย์ก็ถามว่าเธออยากเป็นอะไร? มันก็เหมือนปิ๊งขึ้นมาเองแล้วว่าอยากเป็นนักข่าว เพาะว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่สงครามอ่าวเปอร์เซียกำลังมีปัญหา แล้วก็เห็น Christiane Amanpour กำลังรายงานในพื้นที่ เรารู้สึกว่ามันเท่มากเลย ถ้าเราได้ทำข่าว ได้ไปพื้นที่ภาคสนาม แล้วก็รายงานสถานการณ์จริง ๆ มันน่าจะสนุกมากเลย แล้วเราน่าจะทำได้ดี หมายถึงว่าเราก็น่าจะสนุกไปกับงานที่เราทำ

เริ่มต้นอาชีพนักข่าวยังไงบ้าง?

เริ่มต้นที่เดอะเนชั่นค่ะ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ตอนนั้นคุณเทพชัย หย่อง ก็เป็นบรรณาธิการเดอะเนชั่น เริ่มต้นจากโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ โต๊ะสายอสังหาริมทรัพย์ค่ะ ตำแหน่งแรกเลยเป็น Property Reporter ก็แบบถูกเหวี่ยงเข้าไปทำงานพวกโครงการอสังหาริมทรัพย์ คือช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยมันกำลังเติบโต แล้วมันก็จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ในตามเมืองพัฒนาเยอะมาก

เราก็ถูกสอน คือพี่ ๆ ที่เนชั่นก็จะสอนเลยว่า เฮ้ย ไปทำข่าวอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่แค่งานแถลงข่าวนะ ไม่ใช่แค่บอกว่ายูนิตนี้คนเช่าเท่าไหร่ ตึกมีกี่ห้อง มันต้องพยายามเชื่อมโยงให้ได้มากกว่านั้น ไปถึงตลาดการเงิน เรื่องของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ก็เป็นช่วงที่ได้เรียนรู้ทุกวัน ได้เขียนงานทุกวัน สนุกมาก คือแบบเรียนรู้เร็วมากเลย จากที่ตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่าเราฝืด ๆ กับการเขียน แต่พอไปแล้วมันจะต้องส่งงานทุกเย็น

มันเหมือนมันติดจรวดไป?

ใช่ แล้วแบบพอเขียนงานมีคนมารีไรท์มีบรรณาธิการมาสอนทุกวัน ๆ ก็เป็นช่วง Learning Terms ที่เร็วมาก แล้วหลังจากนั้นเนชั่นก็เริ่มขยายงานมาทีวี ก็เริ่มมีรายการ มีแผนกข่าวทีวี ทางทีวีก็ชวนไปทำ เราก็อยากลอง ก็เลยลองไป เสร็จแล้วอีกสักปีนึงก็มาเนชั่นสกายนิวส์ แล้วก็มีไอทีวี ซึ่งเป็นช่วงฟอร์มทีม แล้วก็ตามคุณเทพชัย หย่องไป ช่วงไอทีวีชุดแรก ๆ เลย 2 ปีแรก ตอนนั้นสำนักงานในช่วงไอทีวีใหม่ ๆ อยู่เนชั่นก่อนแล้วก็ย้ายไป SCB Park

แต่ด้วยความเป็น ผอ. ในยุค 2020 การทำงานกับคนรุ่นใหม่ยากไหม?

สนุกมากเลย (หัวเราะ) น้อง ๆ มอนิเตอร์กัน สนุกดีค่ะ เป็น Learning Terms ขึ้นมาอีก เพราะว่าจริง ๆ ตอนนี้องค์กรแต่ละองค์กรจะต้องมีเลือดใหม่ ๆ เข้ามา แล้วจริง ๆ Landscape สื่อมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้วนะ คือถ้าเป็นแต่ก่อนเราก็จะมีความรู้สึกว่าถ้าเกิดจะไต่เต้าในวงการ มันจะต้องเป็นนักข่าวที่คร่ำหวอด ทำข่าวภาคสนามเยอะ ต้องมีแหล่งข่าว มีคนที่ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึก โทรเช็คข่าวได้ มันก็เป็นเส้นทางที่เราต้องพยายามพัฒนาตัวเองมาตลอด

แต่พอมาถึงยุคนี้ ความเร็ว ความเร่ง การต้องออกข่าวในแต่ละวันมันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย ความสำคัญของบรรณาธิการจริง ๆ ก็ยังต้องสูงมาก แต่ว่าวิจารณญาณของนักข่าวที่ทำข่าวแล้วจะต้องส่งข่าวตัวเองทางสื่อสังคมออนไลน์มันเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่เก่งมากในแง่ของการ Production การทำ Output ต่าง ๆ ในเชิงเทคนิคเก่งมากเลย แต่ว่าพอทำงาน คุยกันไปก็จะรู้ว่าอาจจะยังต้องการการเติมเต็มเรื่องของประเด็น เรื่องของการเรียบเรียงความคิด เรื่องของแหล่งข่าว เรื่องของการมองประเด็นสำคัญมาก ๆ เพราะว่าไม่อย่างนั้นก็อาจจะรู้สึกว่ามองอะไรง่าย ๆ เจาะประเด็นเดียว แล้วก็นำเสนอได้

แต่จริง ๆ งานข่าวที่ดี งานข่าวที่กลมกล่อม มันต้องมองหลาย ๆ ด้าน อาจจะเอาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มาเขียนเป็นชิ้นเดียวกัน แล้วถ้ายิ่งเราได้ยกหู หรือว่าได้สัมภาษณ์ใครเป็น Exclusive มันก็จะมาทำให้งานของเราดูมีน้ำหนัก คือที่สุดแล้วมันต้องมี Context มีบริบทในการอธิบาย มันจะไม่ใช่แค่แบบ ไปเห็นอะไร He Said, She Said เสร็จแล้วก็จบ

มีคำถามนึงที่ทีมงานฝากเข้ามาถาม

ดูน่ากลัวมากเลย

นิยามความรักของพี่คืออะไร?

มันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหม? (หัวเราะ)

ทุกคนอยากรู้มาก อันนี้

นิยามความรักน่าจะเป็นเรื่องที่แบบก็น่าจะต้องเข้าใจ ก็คือคุยกันแล้วสบายใจ เข้าใจกัน

แล้วความรักที่เกี่ยวกับงานมันจะถูกมาประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง?

ก็ต้องผูกพันกับงาน คือถ้าเกิดรู้สึกว่าทำงานแล้วสนุก สนุกไปกับงานที่ทำก็แสดงว่าเราน่าจะรักในงานนั้นแหละ หรือว่างานบางงานถ้าเกิดทำแล้วไม่ได้ค่าตอบแทนก็ยังทำ แสดงว่าเราน่าจะชอบจริง ๆ ละ คือแบบเห็นแล้วอยากคุย อย่างของพี่เห็นแล้วอยากส่งต่อ อยากจะเล่าต่อ ซึ่งก็ไม่ได้มีใครมาบังคับ ไม่ได้มาแบบเอาปืนจ่อ ว่าเธอต้องทำนะ แต่ว่าก็อยากทำเอง ก็ไม่อยากจะใช้คำว่า Passion นะ แต่ว่ามันก็อาจจะใช่ในระดับหนึ่ง ก็คือมีความสนุก อยากจะใช้คำว่าสนุกแล้วก็เพลินดี สนุกแล้วก็เพลินกับสิ่งที่ตัวเองทำก็หมายถึงว่าเรามีความรักกับงานที่ทำ

พอมันเป็นความรักในการทำงาน มันสามารถมี Dynamic ในการขับเคลื่อนในการทำงานได้เพิ่มขึ้นไหม?

สำคัญเลยค่ะ ความรักในการทำงาน ความสนุก ความผูกพัน การตั้งคำถาม สำหรับพี่รู้สึกว่าไฟที่มันจะทำให้เป็นนักข่าวที่ดี ต้องมี Curious Mind ตั้งคำถามเยอะ ๆ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็น ปรากฏการณ์ที่เราเห็นแต่ละวัน แล้วก็ตั้งคำถามแบบนักข่าวว่าเราจะต่อยอดประเด็นนี้อย่างไร เราจะนำเสนอยังไง จะทำยังไงให้คนดูมาอยากรู้ อยากเข้าใจแบบเรา พี่คิดว่ามันสำคัญ เพราะว่าถ้านักข่าวเห็นอะไรแล้วก็ปล่อย ๆ ผ่านไป คิดว่าเออ มันก็งั้น ๆ แหละ ไม่เห็นน่าตื่นเต้นเลย ไม่เห็นมีอะไรเลย มันก็คงไม่มีคนที่มาคอยตั้งคำถาม หรือว่ามาท้าทายโครงสร้างเดิม ๆ ที่มันอาจจะมีปัญหาอะไรซุกซ่อนอยู่เยอะ

คือตรงนี้ก็เลยทำให้รู้สึกสนุกกับงานตรงนี้ ยกตัวอย่าง ถ้าเราไปงานสัมมนาทั่ว ๆ ไป ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไปก็อาจจะรู้สึกว่าไปแล้วก็ได้ประโยชน์ เสร็จจบกลับบ้านนอน แต่ว่าคนที่เป็นนักข่าวไป มันก็ต้องคิดว่าเราไปแล้วเราจะคุยกับใคร จะสัมภาษณ์ใคร จะไปย่อยเรื่องราวต่าง ๆ ที่มันซับซ้อนดูยาก ๆ กลับมาให้คนดูเราได้เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ ได้อย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของเรา

เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การตั้งคำถาม อยู่ที่มุมมอง แล้วกว่าจะได้ทักษะพวกนี้มา มันก็อยู่ที่การมองในแต่ละวัน การตั้งคำถามที่ดี การอ่านหนังสือ พยายามเปิดมุมมองตัวเองเยอะ ๆ การคุยกับคนซึ่งเราจะได้เยอะมาก บางทีเราคิดว่าคุยกับคนอาจจะไม่มีประโยชน์ แต่บางทีบางเรื่อง ถ้าเรานั่ง ๆ คุย ๆ อยู่มันก็อาจจะคล้าย ๆ กับต่อยอด หรือว่าเป็นเสมือนสายน้ำให้เรา ซึ่งก็จะแบบ ทำใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกว่าสายน้ำ มันดูเหือดแห้ง มันไม่ค่อยมีอะไรในแม่น้ำของเราเลย แต่พอทำ ๆ ไปมีทั้งประสบการณ์ มีความรู้มากขึ้น มีแหล่งข่าว มีคนคุย มีความรู้ในคลังของตัวเองมากขึ้น มันก็จะรู้สึกว่าสนุกมากขึ้น ก็คือสะสมไปในแต่ละวัน

เห็นอะไรจากการทำงานข่าว และเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อในบ้านเราอย่างไรบ้าง?

ในแง่ของความเร็วและความเร่ง เห็นชัดเลยว่าช่วงหลัง พอมันมีสื่อสังคมออนไลน์ ความเร็วและความเร่งในการผลิตงาน มันจะต้องเยอะมาก แล้ว Skill ที่ผู้สื่อข่าวแบบคร่ำหวอดกันมา 10-20 ปีในบางเรื่องมันอาจจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้

แต่ Journalism Is Not Dying คือมัน Is Not The End Of Journalism มันอยู่ที่ว่ามันจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร สำหรับงานด้านนิเทศศาสตร์ งานด้านวงการสื่อสารมวลชน เพราะว่าคุณภาพต้องมา ยิ่งภายใต้ในยุคนี้ที่เสียงเยอะมาก คือทุกคนส่งเสียงได้หมด มีเวทีให้ตัวเองส่งเสียงได้หมดเลย สื่อคุณภาพจะอยู่อย่างไร อันนี้สำคัญมาก

เพราะฉะนั้น Skill แบบเดิม ๆ ในการเช็คข่าว การเรียบเรียงข่าวประเด็นต่าง ๆ มันยังต้องมี มันเป็นประเด็นสำคัญ คือหัวใจของความเป็นนักข่าว ทำงานข่าวตรวจสอบ ทำงานข่าวที่เรียบเรียงในความคิด แล้วก็นำสังคมให้ได้ คือพูดง่าย ๆ ว่าสื่อมวลชนต้องเก่ง เพราะว่าในยุคที่ Noise เยอะแบบนี้ ถ้าคุณรู้สึกว่าผลิตงานแบบไม่ต้องมีคุณภาพ เอายอด Like ยอด Share ดราม่า ทำให้คนขำ ๆ กันแล้วจบ คุณนอนได้สบายใจ มันก็คงไม่ใช่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพ แต่ว่ามันจะทำยังไงให้ช่วยให้เพิ่มพูนชีวิตคนมากขึ้นในแง่ของการมองประเด็นต่าง ๆ หรือว่ามองความเป็นไปในโลกใบนี้ คือมันก็เป็นหน้าที่ของสื่อที่มันต้องคงความเอกลักษณ์เอาไว้

บางคนอาจจะมองว่าข่าวต่างประเทศไม่ได้ทำเรตติ้งสูงเท่ากับข่าวอื่น?

และมักจะถูกตัดก่อนด้วย

คิดว่ามันเป็นความผิดที่ใครกัน?

มันก็หลายเรื่องนะ คือมันก็อาจจะเกี่ยวข้องกับสปอนเซอร์ด้วย คือช่วงที่พี่ไปดูงานที่สหรัฐอเมกาเมื่อหลายปีที่แล้ว นักข่าวพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ท่ามกลางปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในวงการสื่อนะ กลุ่มที่จะถูกตัดก่อนเลยก็คือข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะ Correspondence ที่อยู่ในต่างประเทศจะถูกเรียกตัวกลับ หรือว่าถูก Layoff ไปเลย ซึ่งก็แสดงว่าเรตติ้งมันอาจจะไม่ได้ ทำให้สำนักข่าวนั้น ๆ รู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนส่งนักข่าวไปทำข่าวหรือว่าไปประจำอยู่ต่างประเทศ แต่ว่าในยุคนี้มันยิ่งต้องการการอธิบาย มันก็คือคงจะต้องตั้งใจทำมากขึ้น

มองเห็นอะไรบ้างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือได้ประสบการณ์อะไรจากตัวเองบ้างไหม?

จริง ๆ ก็เป็นอาชีพหลักของพี่มาตลอดนะ ไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นอาชีพที่ให้อะไรกับชีวิตเรามาก เปิดโอกาสอะไรมากมายให้กับชีวิตเรา ส่วนหนึ่งก็คือชอบข่าวต่างประเทศด้วย คือในแง่เนื้อหา เราชอบข่าวต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น มันก็เลยกลายเป็นว่าเราก็พยายามศึกษาหาความรู้ หามุมมองอะไรที่เป็นต่างประเทศ แล้วก็กลายเป็นว่ามุมมองเนื้อหาที่เราชอบทำแบบนี้ มันเปิดโอกาสให้ในชีวิตเรา หลาย ๆ เรื่อง

อย่างเช่น พอมาอยู่ที่นี่ พอทำข่าวต่างประเทศเยอะ ได้สัมภาษณ์ Exclusive อะไรเยอะ มันก็จะมีโครงการของสถานทูตต่าง ๆ เชิญเราไป Study Trip หรือว่าเข้าเรียน เช่นโครงการ IVLP ของสถานทูตสหรัฐฯ ได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมใหญ่ ๆ ระดับโลกอย่าง Sunny land Summit ซึ่ง ประธานาธิบดีโอบาม่าได้พบกับผู้นำอาเซียน หรือว่าเราก็สามารถนำผลงานต่าง ๆ ที่เราทำ ไปสมัครเพื่อขอทุนโครงการเฉพาะต่าง ๆ ซึ่งมันก็ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางของเราในแง่ที่ว่าเป็นนักข่าวแล้วรู้เรื่องต่างประเทศ ทำให้รู้สึกว่าได้เพิ่มพูนชีวิตของเราว่าในการทำบทบาทสื่อมวลชน นอกจากความภูมิใจกับงานรายวันที่เป็นส่วนหนึ่งของสื่อสาธารณะ ได้นำเสนอประเด็นหลัก ๆ เป็นข่าวใหญ่ ๆ ให้กับคุณผู้ชมได้ติดตามทุกคืน

ซึ่งเราก็ถือว่ามันเป็นภารกิจที่เราชอบแล้วเราสนุก คือทุกครั้งเนี่ยเวลา SIGN OFF หรือว่าเวลาลารายการที่นี่ไทยพีบีเอส เราจะรู้สึกว่า ภูมิใจ ผ่านไปอีกวันนึงแล้ว แล้วเราก็ได้เสิร์ฟอาหารจานข่าวให้กับคนดูก่อนนอน รู้สึกว่าได้ให้อะไรที่คนดูอาจจะรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มมุมมอง เพิ่มอาหารสมองให้กับคนดูก่อนนอน มันก็เป็นความสุขสำหรับคนทำงานในแต่ละวันนะ คือเบื้องหลังคนดูคงไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรมาบ้างหรือว่าใช้เวลายาวนานขนาดไหนสำหรับงานแต่ละชิ้น แต่ละนาทีที่มันออกหน้าจอ รวมถึงการทุ่มเทของทีมงานทั้งหมดที่มาช่วยกันมะรุมมะตุ้มทำ แต่ว่าพอสรุปรวบยอดแล้ว มันอยู่ที่เราต้องเป็นคนเสิร์ฟให้คนดูได้ดู เราก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ และก็ทำให้เป็นความสุขอย่างหนึ่งในการทำงาน

อยากให้เล่าเบื้องหลังของทีม Thai PBS WORLD หน่อยว่าการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง?

จริง ๆ Thai PBS WORLD ก็เป็นยูนิตใหม่มากสำหรับไทยพีบีเอส คือตอนแรกก็เริ่มแบบคล้าย ๆ กับเริ่มทำกัน ช่วงแรกเลยก็จะมีพี่ที่นั่งหลักเป็นคนแรกก่อน แล้วก็ข้างในก็มีพนักงาน Full Time อยู่ในระดับหนึ่ง มีคุณเทพชัย หย่องเป็นที่ปรึกษา ก็แบบทำ ๆ กันมา มันก็จะไม่ค่อยพร้อมมาก เพราะว่าคนมีจำกัด อย่างตัวพี่เองก็ยังมีภารกิจจากที่นี่ไทยพีบีเอสด้วย เราก็ติดภารกิจอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เริ่มมีทีมรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเรียกว่าเป็นเลือดใหม่ ซึ่งก็เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจะจบการศึกษามา หรือว่าเป็นคนทำงานที่เริ่มมีประสบการณ์ใหม่ ๆ แล้วก็ได้ภาษาอังกฤษ ก็ทำให้การทำงานนั้นรู้สึกว่ามี Dynamic มีการขับเคลื่อนทั้งในเชิงของประเด็น

แล้วก็เชิงการผลิตที่มันสนุกมากขึ้น แล้วส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะทีมงานมีความอยากรู้อยากเห็น มีความเป็นเพื่อนกันอยู่ในทีม ทำให้พี่ในฐานะที่ต้องดูภาพรวมรู้สึกว่าสนุกกับการทำงานของทีมนี้ สนุกกับการฟัง เวลาฟังทีมรุ่นใหม่ ทีมเลือดใหม่คุยกัน เรารู้สึกว่าเราสนุกไปกับการฟังมุมมองของเขาด้วย ในฐานะที่เป็นน้องใหม่ในวงการสื่อสารมวลชน เขามองประเด็นเหล่านี้ยังไง ถกประเด็นกันยังไง อะไรที่พี่ใส่ได้ หรือว่าเสริมช่วยคิดต่อยอดได้ก็จะช่วย ก็จะช่วยพยายามทำบทบาทตรงนั้น

แล้วพี่คิดว่าเหมือนกับเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันนะ สำหรับทีม Thai PBS WORLD จริง ๆ มันก็มีหลาย generation จริง ๆ เลยคุณเทพชัยก็คือว่าเป็นปรมาจารย์ที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน เป็นสื่อมวลชนรุ่นใหญ่ อย่างพี่ก็ถือว่ารุ่นกลาง ๆ ที่เรียนรู้จากคุณเทพชัย ความที่อยู่ตรงกลางของเรา เรารู้สึกว่าเหมือนเราเป็นสะพาน ในด้านนึงเราก็รู้สึกว่าคุณเทพชัยมีความเก๋าอย่างมาก แล้วก็ได้เห็นทีมรุ่นใหม่ที่มีความสดใหม่ในพลังเยอะ แล้วเราอยู่ตรงกลาง เราก็มีความรู้สึกว่าจะเชื่อมตรงนี้อย่างไร จะนำพลังของ 2 ฝ่ายเข้ามาเสริมให้ Thai PBS WORLD แข็งแกร่งได้ ตรงนี้ก็รู้สึกว่าเป็นภารกิจในบทบาทของตัวพี่ด้วยในฐานะที่ได้รับหน้าที่ต้องเป็น ผอ. Thai PBS WORLD ก็พยายามที่จะดูทั้ง 2 ฝั่ง และด้วยบทบาทของตัวเองด้วยในการที่จะขับเคลื่อน ทั้งในแง่ของการบริหารประเด็น การมองประเด็น มุมมองต่าง ๆ

ก็คิดว่าตอนนี้ส่วนผสมที่ดูจากการทำงานร่วมกันมา ก็มีความสนุก มี Dynamic มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นพลัง คือทุกคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของ Thai PBS WORLD เพราะว่าอย่างรุ่นใหม่ก็จะมีความเก่ง มีความรอบตัว มีความสามารถเฉพาะตัวสูงกันทุกคน มีจุดแข็งที่แตกต่างกันที่อาจจะต้องเสริมบ้าง ก็อาจจะเป็นเรื่องของประเด็น เรื่องมุมมอง ซึ่งตรงนี้คุณเทพชัยก็ช่วยเติมเต็มให้อยู่ พี่คิดว่าถ้าทุกคนสนุกไปด้วยกัน แล้วก็พัฒนาความเป็นทีม ก็น่าจะทำให้งานของ Thai PBS WORLD เติบโตไปได้ ภายใต้ภารกิจที่เราก็อยากจะให้แบรนด์ความเป็น Thai PBS WORLD ใต้ร่มไทยพีบีเอสมันเติบโตเป็นอีก 1 แบรนด์ของประเทศไทย ไม่ได้มองว่าเป็นเฉพาะของไทยพีบีเอส แต่มองว่าเป็น Big Brand หนึ่งของประเทศไทยในการนำเสนอมุมมอง ข้อมูล ข่าวสารจากไทยไปสู่เวทีโลก

คิดว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค หรือว่ายากลำบากที่สุดในการดำเนินชีวิตเป็นนักข่าว?

จริง ๆ พูดตรง ๆ ว่าตำแหน่งไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพี่เลย แต่ว่าก็รู้สึกว่าภูมิใจว่าได้รับความไว้วางใจให้มาดูแลตรงนี้ ที่จะเป็นปัญหาจริง ๆ ก็คือเรื่องการแบ่งเวลาของตัวเองมากกว่า เพราะว่างานข่าวแต่ละวัน เรามีเดดไลน์ตรงหน้า โดยเฉพาะชีวิตเหมือนกับถูกกำกับด้วยรายการที่ไทยพีบีเอสมาตลอด รับหน้าที่พิธีกรตั้งแต่วันแรก คือทุกอย่างที่ทำเพื่อเป้าหมายว่าต้องมีของออกอากาศในรายการ ทีนี้พอมี Thai PBS WORLD ก็หมายความว่าภารกิจเรากำลังเพิ่มขึ้น มีทั้งเนื้อหาที่เราต้องเข้าไปทำเองด้วย ก็มีเดดไลน์ของมัน อุปสรรคใหญ่ก็คือเรื่องเวลานี่แหละ คือรู้สึกว่าเวลามีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะว่านอกจากจะต้องทำคอนเทนต์ ดูทั้งหมดแล้ว เราก็ต้องแบ่งเวลาเพื่อที่จะเข้าไปประชุมทำงานบริหาร ดูนโยบายต่าง ๆ เราก็ต้องมาดูนโยบายขององค์กร

ตรงนี้ก็คิดว่าเป็นอุปสรรค เป็นโจทย์ ไม่อยากจะมองว่าเป็นอุปสรรค แต่ว่าเป็นสถานการณ์ที่เราต้องพยายาม Handle ให้ได้ มันก็ต้องกรองว่าอะไรไม่สำคัญ เราตัดได้ตัด อะไรที่รู้ว่าเราจะต้องนั่งอยู่ตรงนั้น ต้องใช้เวลาเท่าไหร่แบบทำได้ก็ต้องแบ่งเวลาทำอะไรหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน ในระหว่างที่ประชุมก็ต้องติดต่อไลน์ ดูประเด็นข่าวด้วย แปลไปด้วย คุยกับในไลน์ไปด้วย คุยกับทีมงานไปด้วย

ซึ่งถามว่ามันดีไหม มันก็เหมือนกับว่าเราต้องพยายามทำให้ได้ แต่จริง ๆ ถ้าได้มีเวลาคล้าย ๆ กับทำเรื่องหนึ่ง ทำให้เสร็จเรื่องเดียวแล้วค่อย ๆ ทำไป มันจะดีมากสำหรับเราไง แต่ว่าในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะว่าอะไรมันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แล้วก็ต้องพยายามแก้สถานการณ์

อยากจะให้เมาท์ทีมงานนิดนึง คิดว่าทีมงานเป็นยังไงบ้างหรือแต่ละคน?

คือจริง ๆ ทีมรุ่นนี้ที่เข้ามา เขาเข้ามาช่วงโควิด-19 เลยเริ่มงานจริงเมษายน ก็ประมาณ 5-6 เดือนแล้ว จริง ๆ พี่คิดว่าสนุกดีนะ สำหรับพี่คิดว่าสนุก เป็น Learning Terms ของตัวเองด้วย เพราะว่ามันก็เหมือนเป็นน้องใหม่ที่เข้ามาร่วมทีม แล้วก็มีความสดมาก เพราะว่าเพิ่งเรียนจบกันมา คือพี่ก็จะไม่เคยทำงานกับเด็ก ๆ จบใหม่ แต่ว่าตอนที่มีนักศึกษามาฝึกงานที่ที่นี่ไทยพีบีเอส นั่นก็จะมีความสนุกกันไปอีกแบบนึง แต่รับรู้ว่าเขามาแล้วเขาก็ไปไง เขาจะอยู่กับเราประมาณ 2-3 เดือน แต่สนุกทุกครั้งนะ เพราะว่าพี่ชอบคุยกับน้อง ๆ เราก็จะถามว่าเขาเรียนอะไรกัน ครูสอนอะไร แล้วสมัยเรียนทำอะไรกันบ้าง แล้วเราก็จะพยายามสื่อสารว่าในบทบาทที่พวกคุณกำลังทำอยู่ สำหรับทีม Thai PBS WORLD ก็เหมือนกับว่ามันก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการทำงาน มันเปลี่ยนไง มันไม่ใช่นักศึกษาแล้ว มันเป็นโลกที่มันต้องรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น มีเดดไลน์ มีโจทย์ที่ต้องแก้แต่ละวัน แต่ว่าทีมนี้ความรับผิดชอบสูงมาก เป็นเพราะว่าน้องเขานั่งอยู่ตรงนี้เขาก็ต้องชมแหละ (หัวเราะ)

พูดจริง ๆ คือรู้เลยว่าตอนแรกที่เห็นโจทย์ว่ามี Chief Producer ก็คือมีพี่ต่อง แล้วก็มีทีม Co-Producer คือมีเค้กกับทาโร่ ก็คือตอนแรกพี่ต่องจะไหวไหมนะ เพราะว่าน้องใหม่มากเลย แล้วจะ Handle กันไหวไหม เพราะว่าอยู่ ๆ ก็ถูกโยนให้มาทำรายการสดทุกวัน แต่ว่าหลังจากนั้นก็เห็นว่าทีมเข้าขา คุยกันได้ลงตัว แล้วก็มี Energy เยอะ มีความขยัน มีวินัยในตัวเองกันทุกคน แล้วก็ทำให้งานในแต่ละวันมันออกมา คือในฐานะที่เห็นหมด เห็นทุกสายพานการผลิต เราว่างาน Production มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันจะต้องลงรายละเอียดอะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วมันบีบด้วยเรื่องของเวลา แต่ว่าก็เห็นแบบทุกคนทำมันอย่างขะมักเขม้น แล้วแก้ปัญหาได้ คือระหว่างทางมันมีอุปสรรคอยู่แล้ว

แต่ว่าจากที่คนมักจะพูดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน พี่คิดว่าคงต้องมาดูดี ๆ ว่าเวลาทำงานด้วยกันจริง ๆ เขาก็จะมีพลังของเขา แล้วก็จะมีอะไรที่เป็น Improve ที่ทำให้งานของ Thai PBS WORLD น่าสนใจไปด้วย มันก็จะเหมือนกับการมารวมพลังกัน Converse กันระหว่างรุ่นอาวุโสมากหน่อย รุ่นกลางหน่อย รุ่นเด็กรุ่นน้อง ๆ หน่อย

ซึ่งพี่คิดว่าสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ระหว่าง Gen ยิ่งในช่วงนี้เราก็เห็นว่าประเทศเรามีปัญหาเรื่องความคิดที่มันต่างกัน พี่คิดว่าถ้าเกิดเปิดใจแล้วก็มานั่งคุย นั่งแลกเปลี่ยนกัน จริง ๆ อยากให้น้อง ๆ คุยเยอะมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะพี่ก็คุยกับคุณเทพชัยว่าเวลาประชุมส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นใหญ่พูดเยอะ จริง ๆ อยากฟังจากน้อง ๆ เยอะ เรารู้สึกว่าอยากรู้ว่าเขาคิดอะไร แล้วอยากทำอะไร คือพี่มีความรู้สึกว่าพี่มีหน้าที่ส่งเสริม คือชอบมากเลยที่ว่าน้องเดินมาแล้วมาบอกว่าอยากทำเรื่องนี้ พี่มีหน้าที่ส่งเสริมให้ทำทุกอย่าง เพราะรู้สึกว่าถ้าคนอยากทำยิ่งต้องทำ แล้วก็เป็นนโยบายที่พี่ก็บอกชัดเจนว่าตำแหน่งพวกคุณเป็นแบบหนึ่ง แต่ว่าอยู่ที่การขวนขวาย มีพลังที่อยากทำ อยากทำอะไรเดินมาบอกพี่ได้เลย แต่ว่าแน่นอนว่างานประจำก็อย่าให้เสีย

คิดว่าคงจะต้องปรับกันไปอีกเยอะ มันเหมือนกับเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะว่างาน Thai PBS WORLD มันก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้น มันคงจะมีอะไรที่โผล่ขึ้นมาอีกเยอะ แล้วก็จะมีอะไรที่มันก็ต้องทดสอบความสามารถกันทุกคน แต่ว่าแง่ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนนั้น พี่รู้สึกว่าไม่น่าเป็นห่วง กลัวแต่ว่าน้อง ๆ จะเบื่อก่อน เพราะว่าถ้าทำ ๆ ไปแล้วรู้สึกว่าเขาไม่เติบโต ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากอย่างที่เขาอยากจะเรียนรู้ แต่ว่าโดยรวมพี่ก็มีความสุขกับทีมงาน รู้สึกว่าสนุก แล้วก็แต่ละคนก็กระตือรือร้น

ถ้าให้เลือกรายการ Podcast สัก 1-2 รายการ ที่รู้สึกว่าคนเป็นนักข่าวต้องฟัง?

เอาพี่เป็นบรรทัดฐานไม่ได้นะ พี่ไม่ได้แบบไปฟังเยอะขนาดนั้น แต่ว่าส่วนตัวพี่ พี่ชอบ Secret Sauce ของเจ้าพ่อเคน (นครินทร์ วนกิจไพบูลย์) ซึ่งพี่ก็บอกเจ้าพ่อเคนไปแล้วเป็นการส่วนตัว บอกว่าพี่ชอบมาก เพราะว่าฟังแล้วได้มุมมอง คือชอบอยู่แล้วอะไรที่เกี่ยวกับโลกใบใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ กับการรับมือกับโลกดิจิทัล แล้วก็เคนเลือกกรณีศึกษาได้เห็นภาพ แบบเราต้องฟัง เพราะฟังแล้วมันก็เปิดมุมมองของเราว่าผู้บริหารยุคนี้ ถ้ามันจะโต มันก็ต้องเปิดใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง คือใครอยู่ในโลกแบบเดิม ๆ ไม่ได้ มันก็ต้องการอะไรทำ หาลูกเล่นใหม่ ๆ จำได้ว่าตอนเคนคุยกับผู้บริหารของนาดาว พี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) สนุกมากเลยนะ เพราะเขาก็จะบอกว่าเขาก็ได้เรียนรู้จากโลก YouTube พวก Youtuber, Vlogger ซึ่งคนทำอาจจะไม่คิดว่ามืออาชีพระดับต้น ๆ ของวงการจะมาดู แต่พี่ก็คิดว่ามันก็คงเป็นอาหารสมอง แล้วก็ Mission To The Moon ของพี่รวิศ หาญอุตสาหะ แต่จริง ๆ พี่ชอบฟังของ BBC พวก Global News Update แล้วก็ BBC Learning English อย่างนี้ชอบ แล้วก็ฟังอยู่ล่าสุดของ Michael Obama Podcast

ฟัง BBC เพราะว่าส่วนหนึ่งเคยทำงานอยู่ BBC หรือเปล่า?

ส่วนหนึ่งก็น่าจะใช่ คือถ้าเราไม่เคยทำงานกับ BBC เลย เราอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นสื่อที่ไกลตัว แต่ว่าพอไปอยู่ BBC จริง ๆ แล้วรู้สึกว่างานเขาคุณภาพสูงมาก แล้วเราก็ชอบฟังวิทยุมาก ตั้งแต่สมัยอยู่ลอนดอน คือเราต้องขึ้นรถเมล์เยอะ เราก็จะฟังวิทยุ สมัยก่อนไม่มี Podcast ก็จะฟังคอลัมน์ต่าง ๆ ของเขา ก็เลยติดมาจากตรงนั้นด้วย

ธรรมชาติในการทำงานกับ BBC กับไทยพีบีเอสต่างกันไหม?

ต่างนะ คือ BBC ก็เป็นสื่อสาธารณะที่มีรูปแบบการทำงานแบบของ BBC มีวัฒนธรรมที่สร้างไว้อย่างแข็งแกร่งแล้ว จะ 70 ปีแล้วนะ BBC มันก็มีวัฒนธรรม มี DNA ของเขา อย่างไทยพีบีเอสตอนนี้ก็ 12-13 ปี จริง ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย ๆ แต่ว่าก็เป็นอีก Vision หนึ่งของไทยพีบีเอส พี่คิดว่าจนถึงวันนี้คนมันก็คงเห็นถึงความเป็นไทยพีบีเอสที่ว่ามันไม่หวือหวา ไม่ได้ตามกระแสมากขนาดนั้น แต่ว่าพยายามทำอะไรที่มันลุ่มลึก แม่นยำ แล้วก็ให้มันน่าเชื่อถือ อันนั้นก็เป็น Vision เรตติ้งอะไรมันก็ไม่ได้สูง แต่พี่คิดว่ามันอาจจะเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งที่เวลามีวิกฤต คนจะคิดถึงไทยพีบีเอส เวลาที่มันอิรุงตุงนัง เสียงมันดังไปหมดเลย ในสังคมมันจะแบบจับต้นชนปลายยังไง คนก็จะหันมามองไทยพีบีเอส เพื่อที่จะได้เข้าใจว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น

ด้วยความเป็นสื่อสาธารณะของทั้ง BBC และไทยพีบีเอสจะทำให้ทุกคนมองว่าในสถานการณ์ปกติแล้ว สื่อทั้ง 2 แบบนี้เขาคร่ำครึกันเองหรือเปล่า?

ก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่คนจะมองแบบนั้นนะ เพราะว่าอะไรที่มันแบบต้องช้านิดนึง มันไม่ทันใจคนในโลกยุคออนไลน์อยู่แล้ว แต่ว่ามันก็คงไม่ใช่ภารกิจที่จะไปแข่งกับสื่อออนไลน์หรือว่า Dumbing Down เพื่อให้แบบทั้งดรามาจ๋า คนต้องมามองเรา ซึ่งมันเป็นโจทย์ใหญ่ ตั้งแต่พี่อยู่ที่ลอนดอนอยู่แล้ว เพราะว่าเขาก็เถียงกันเรื่องเรตติ้งมาตลอด แล้วผู้บริหารก็พยายามที่จะ Dumbing Down

Dumbing Down ก็คือลดคุณภาพ แล้วพนักงานไม่ยอม พนักงาน BBC เขาไม่ยอม เขามีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่พันธกิจของเรา พันธกิจของเราคือความเป็นสื่อสาธารณะ ที่เราต้องแบบปักหลัก เป็นเสาอยู่ตรงนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วแบบไปเร็วมากไง ก็คือจะปักหลักตะโกนบอกคนว่าเฮ้ย ถ้าต้องการอะไรที่มันเป็นเนื้อหาสาระ ให้มาดูเราเหอะ เรายังเชื่อถือได้ เราก็คงคล้าย ๆ กับไทยพีบีเอสนะ เพราะเราก็รู้ว่าอยู่ ๆ ให้เราไป Dumbing Down แบบไปหวือหวาเอาข่าวอาชญากรรม ภาพหวาดเสียวขึ้นอย่างนี้ เราก็คงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเราทำ คนก็จะยิ่งตั้งคำถามว่าให้งบประมาณสื่อสาธารณะมาคุณมาทำแบบนี้เหรอ? แล้วคุณจะตอบโจทย์ความเป็นสื่อสาธารณะหรือเปล่า

คิดยังไงกับการทำงานแบบเชิงครอบครัว?

คือจริง ๆ มันก็เพิ่งมาปรับเปลี่ยนในยุคนี้นะ หมายถึงว่า Thai PBS WORLD โครงสร้างขึ้นอยู่กับสำนัก ผอ. เป็นหน่วยย่อยที่แยกออกมา มันก็มีความคล่องตัวมากขึ้นในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เราจะทำ เราก็คิดกันในทีม นำเสนอ ผอ. แล้วก็สามารถที่จะอนุมัติได้เลย คือในแง่ของความคล่องตัว พี่ว่ามันคล่องขึ้นในการตัดสินใจที่จะต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการรับคนเพิ่ม หรือว่าปรับกันเรื่องเนื้อหาสาระ Format ด้วยความที่มันเป็นออนไลน์ด้วยไง แล้วก็ไม่ต้องมายึดติดกับเวลาแบบทีวี

ซึ่งมันก็จะมี Dynamic มี Matrix ของมัน ทำให้คล่องตัวมาก Thai PBS WORLD ในตอนนี้มันก็กำลังโต ครอบครัวมันไม่ใหญ่มาก มันก็เหมือนครอบครัวก็จริง แต่ว่าทุกคนก็พยายามทำงานแบบมืออาชีพ ถ้าจะมองว่าครอบครัวหมายถึงยูนิตเล็ก ๆ มันก็คงจะเป็นแบบนั้น เพราะว่ามันยังไม่ใช่ยูนิตที่ใหญ่ ไม่เหมือนสำนักข่าว ยังไม่เหมือนฝ่ายรายการ ไม่เหมือนสำนักโทรทัศน์ที่มีคนเป็นร้อย ๆ คนมาทำ แล้วมันก็เป็นช่วงระหว่างการทำให้มันเติบโตขึ้น

ทีวีกำลังจะตายแล้วจริงหรือเปล่า สื่อกำลังจะตายแล้วจริงหรือเปล่าในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นนักข่าวได้?

จริง ๆ มันก็อาการน่าเป็นห่วงค่ะ คือถ้าดูเฉพาะในทีวีที่มันต้องอาศัยโฆษณา แน่ ๆ มันไม่เหมือนเดิม คือถ้าจะดูจาก Landscape สื่อ สื่อหนังสือพิมพ์มันก็เป็นระลอกแรกที่ได้รับผลกระทบ ตอนที่มีทีวีเข้ามาใหม่ ๆ สื่อวิทยุก็ได้รับผลกระทบ แต่ถามว่าหนังสือพิมพ์ตายไหม ก็ไม่ตาย ทุกวันนี้ก็ยังเห็น เพียงแต่ว่าปรับเปลี่ยนรูปแบบ New York Times , Washington Post , Guardian , Bangkok Post ในไทยก็ยังอยู่ เราต้องปรับมาเป็น Online Format มากขึ้น

ทีวีพี่ว่าขณะนี้มันกำลังโดนคลื่นถาโถมหนักมาก คิดว่าก็คงไม่ตายค่ะ คล้าย ๆ หนังสือพิมพ์ เพียงแต่ว่ามันจะค่อย ๆ ถูกระบบการตลาดจำกัดวง แล้วอาจจะเหลือผู้ผลิตที่มันเล็กลงเรื่อย ๆ จากทีวีดิจิทัลที่ตอนแรกมันมี 26 ช่องแล้วก็ค่อย ๆ ลดลง คือปฏิเสธไม่ได้ว่าทีวีมันถูกจำกัดด้วยกลไกการตลาดสูงมาก ขนาดของอุตสาหกรรมมันก็คงจะเล็กลง แต่พี่คิดว่าไม่ตาย พฤติกรรมคนไทย คนต่างจังหวัดก็ยังชอบดูข้อมูลข่าวสารทางทีวีอยู่ แต่ก็คงน้อยลง และก็การจะพึ่งพารายได้จากโฆษณาอย่างเดียวคงจะยากขึ้น ตอนนี้เป็นโจทย์ใหญ่เลย 

สื่อทีวีทั้งหมดในไทยก็มาเล่นออนไลน์แพลตฟอร์ม พี่คิดว่าก็จะคงต้องพยายามทำให้ออนไลน์แพลตฟอร์มสร้างรายได้ให้ได้ อันนั้นเป็นโจทย์ใหญ่อย่างไทยพีบีเอสเองก็ต้องไปออนไลน์แพลตฟอร์มมากขึ้นเช่นกัน

จะมีวิธีการทำอย่างไรให้ระหว่างเส้นของความเป็นจรรยาบรรณสื่อกับเส้นของการหารายได้สมดุลกัน?

มันก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ ไปเป็นลักษณะเป็น Advocate หรือว่าการร่วมทุนกันมากขึ้น แล้วรายได้แบบถล่มทลาย ขายได้เยอะ ๆ มีเจ้ายักษ์ ๆ ในวงการคงไม่มีอีกแล้ว มันก็คงจะเป็นลักษณะทำงานร่วมกัน ทำงานข้ามแพลตฟอร์ม แล้วก็ทำงานข้ามวงการมากขึ้น อย่างเช่น ก็อาจจะเห็นคนสื่อไปทำงานร่วมกับศิลปินหรือว่าคนในวงการสื่อไปร่วมกับนักธุรกิจ นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งเม็ดเงินจากโฆษณาจะหายไปอย่างแน่นอน

อาจจะต้องใช้รูปแบบซื้อบริษัทไหม หรือร่วมทุนร่วมหุ้นกัน?

อาจจะเป็นลักษณะแบบว่าองค์กร Corporate เข้ามาทำงานร่วมกับไทยพีบีเอสมากขึ้น เป็นลักษณะภาคี แล้วเราก็ใช้ประโยชน์จากการทำ Virtual Benefits ในแง่ของคอนเทนต์ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ไทยพีบีเอสก็มีความร่วมมือกับ TDRI มีความร่วมมือกับ IPPD คือแต่ก่อนไทยพีบีเอสอาจจะมองว่า เราอยู่เฉย ๆ แล้วก็เอาเขามาสัมภาษณ์ แต่ตอนนี้มันจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันมากขึ้น เอาคอนเทนต์ของเราและของเขามาใช้มากขึ้น น่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แลกเปลี่ยน Result ระหว่างกันมากขึ้น รวมถึงเราเองก็จะไปอยู่บนแพลตฟอร์มของเขามากขึ้นด้วย อันนี้มันก็จะเป็นในแง่ของสื่อสาธารณะ ถ้าเป็นสื่อที่หารายได้พี่ว่าโจทย์กำลังจะยากขึ้นด้วย

คิดว่า Thai PBS WORLD ใน 3 หรือ 5 ปีข้างหน้าจะตอบโจทย์อะไรให้กับคนที่อยากติดตามข่าวภาคภาษาอังกฤษ?

พี่คิดว่าทางฝ่ายนโยบายของไทยพีบีเอสก็คงจะต้องแบบ ตั้งหลักให้ดี อันดับหนึ่งเลยต้องยอมรับว่าฐานคนดู Audience ของ Thai PBS WORLD ในไทย มันจะไม่ใหญ่ เพราะฉะนั้นก็ต้องตั้งหลักให้มั่น อย่าหวั่นไหว ถ้าเกิดมุ่งมั่นว่าจะต้องพัฒนาข่าวภาคภาษาอังกฤษ เพื่อให้ปักธงในระดับภูมิภาคว่าสื่อสาธารณะในไทย สามารถนำเสนอผ่านชื่อ Thai PBS WORLD แล้วในอนาคตมันอาจจะมีเกินไปกว่าภาษาอังกฤษก็ได้ อาจจะมีภาษาในอาเซียน หรือว่าภาษาจีนด้วยก็ได้

เพียงแต่ว่าช่วงของการทำ แล้วก็ปักธงก็คงเป็นช่วงที่ท้าทายอย่างมาก แล้วพอคนดูไม่เยอะ อาจจะมีคำถามว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า? เราทำได้หรือเปล่า? แต่ว่าตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้ ผู้บริหารเขาให้การสนับสนุน แล้วก็มีความหวังว่า Thai PBS WORLD จะเป็นแบรนด์นึงที่แข็งแกร่งของไทยพีบีเอส พี่ก็คิกว่าคงต้องใช้ความอดทนระดับนโยบาย คนทำงานก็คงจะต้องหาช่องทาง พยายามปักธงให้มันเป็นแบรนด์ที่อยู่ในหัวใจคนไทยให้มันชัดขึ้น

รวมถึงในระดับภูมิภาคว่าถ้ามีข่าวอะไรก็ตาม กลับมาดู Thai PBS WORLD แล้วคุณจะเข้าใจ คือจริง ๆ ถ้าในระดับภูมิภาคเราต้องไปดู Channel News Asia – CNA หรือว่าที่แข็งแกร่งในระดับประเทศก็คือ Malaysia Gini ก็ล้มลุกคลุกคลานกันเยอะ อย่าง CNA เอง รัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน อย่างของเราคงไม่ต้องการจะให้รัฐบาลสนับสนุน แต่ว่าถ้าทางฝ่ายนโยบายของ Thai PBS WORLD เห็นความสำคัญซึ่งขณะนี้เห็นความสำคัญแล้วก็เดินหน้าต่อไปแบบนี้ ทั้งในแง่ของการเพิ่มบุคลากร เพิ่มพื้นที่ในการนำเสนอ แพลตฟอร์มต่าง ๆ มันก็น่าจะทำให้เติบโตได้ในอนาคต และตอนนี้เราก็กำลังทำภาษาไทยไปด้วยควบคู่กัน คืออย่างน้อยให้มันตรงกับจริตของคนไทย แล้วก็เป็นอีก 1 ช่องทางที่ให้คนได้เห็นชื่อนี้ในหมู่คนไทย ยังไงก็ต้องเลี้ยงกระแสไว้ก่อน

จะทำงานจนถึงอายุเท่าไหร่?

เออ ตลกดีนะ เพิ่งจะมีคนถามพี่อะไรอย่างนี้ เห็นคุณหมอทักบอกว่าคุณเต๋าไม่คิดจะพักบ้างเลยนะ เอาเข้าจริง ๆ ถ้าถามตัวเองว่าถ้าเลิกทำงานจะไปทำอะไร? เราก็คงยังทำงานเดิมอยู่ เพราะว่าจริง ๆ งานแบบนี้มันไม่ต้องเข้าออฟฟิศเราก็ทำได้ คือเราก็อาจจะไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าเราจะต้องเกษียณอายุเท่านั้น เท่านี้นะคะ พี่คิดว่าตอนนี้มันยังสนุกกับงาน เขายังจ้างเราอยู่ เราก็ทำให้เต็มที่ก่อน แล้วถ้าวันหนึ่งจะต้องเกษียณ เราก็ยังสามารถเล่าข่าวได้ เปิด Facebook Live ทำ Podcast ของตัวเอง เราก็ยังทำได้อยู่ดี สุดท้ายสมมติว่าตั้งไว้ว่า อายุ 60 ปีต้องเกษียณ สำหรับชีวิตคนเรา พอ 60 ปีจริง ๆ เราก็อาจจะรู้สึกว่าเรายังแข็งแรง เรายังมีไฟที่ทำงาน เราก็ทำต่อเองได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นลูกจ้างขององค์กรนี้ เราก็อาจจะไปหาเส้นทาง หาอะไรทำของเราสนุก ๆ เลยก็ได้ถ้าเกิดมีคนจ้าง หรือพยายามทำตัวเองให้มีคนจ้าง

อยากให้ส่องสื่อสัก 1 เรื่อง จะส่องอะไรในวงการสื่อบ้านเราไหมครับ?

คิดว่าเรื่องของ Media Literacy การรู้เท่าทันสื่อ ก็อยากจะฝากถึงคนดู แล้วก็คนทำสื่อด้วยกัน อะไรที่มันเป็น Fake News หรือว่าข้อมูลที่มันไม่แน่ใจ หรือว่าอะไรที่มันกระพือความเกลียดชังในสังคม พี่คิดว่าคนในสื่อต้องระมัดระวังอย่างมาก ก็อาจจะต้องแบบพยายามไปส่องแล้วก็ตรวจตราซึ่งกันและกัน ซึ่งคิดว่ากำลังของคนดูมีพลังมากในการล่าแม่มด เอาพลังล่าแม่มดมาล่าสื่อที่นำเสนอความเท็จ ความลวง แล้วก็ตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคม น่าจะมีประโยชน์ เรียนรู้ไปด้วยกัน คนดู คนทำสื่อ เพราะว่า ในยุคที่ใครอยากพูดอะไร อยากนำเสนออะไรก็ได้ คนที่ทำสื่อก็ควรจะมีความรับผิดชอบในการนำเสนอ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของคนให้มันดีขึ้น ไม่ใช่ว่าแบบยิ่งเข้าสู่ดรามาหรือว่าปั่นคอนเทนต์อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นน้ำเน่า เป็นน้ำไม่ดี มันก็ไม่ได้เพิ่มพูนใครเลย มันก็อาจจะเท็จขึ้นมา เป็นไวรัลขึ้นมาแค่วันสองวัน แต่ว่าคนที่ถูกคุกคาม คนที่ถูกกระทบ คนที่ถูกกล่าวหา ผ่านข้อมูลของเรา อาจจะต้องช้ำไปตลอดชีวิต คิดว่าตรงนี้สื่อจะต้องระวัง

ฝาก Thai PBS WORLD ให้หน่อย

ฝากไว้ในอ้อมอกอ้อมใจนะคะ Thai PBS WORLD ทั้งเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม รายการ Thai PBS WORLD Tonight , ทันโลก กับ Thai PBS WORLD แล้วก็ Thailand Weekly ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แล้วก็ฝากว่าเป็นผลงานของน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่กำลังเป็นพลังที่แข็งแกร่ง พี่ก็รอวันที่น้อง ๆ เป็นผู้บัญชาการ แล้วพี่ก็จะรับออเดอร์ จากน้อง ๆ แทนค่ะ (หัวเราะ)


หลังจากที่เราฟังเสียงของผู้อำนวยการ Thai PBS WORLD มาแล้ว เรามาฟังเสียงหนึ่งในทีมงานของทีม Thai PBS WORLD กันบ้างดีกว่า อย่าง “ดลยณา บุนนาค” Content Creator ประจำ Thai PBS WORLD ว่าทำไมถึงมาร่วมทีมกับพี่เต๋า และความในใจถึงพี่เต๋า ไปอ่านกันต่อเลยครับ

ทำไมถึงตัดสินใจมาร่วมงานกับทาง Thai PBS WORLD ตั้งแต่เริ่มแรก?

คือมันก็เป็นความฝันของแน็ดอยู่แล้วที่อยากจะทำข่าวภาคภาษาอังกฤษที่เป็นฝีมือคนไทยจริง ๆ คือเวลาเราไปต่างประเทศอย่างนี้ เวลาเรานั่งไล่ดูช่องต่าง ๆ อย่างสมมติเนี่ยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เขามีช่องภาษาอังกฤษเป็นของตัวเอง แต่พอมองกลับมาที่เมืองไทยทำไมเราไม่มี หรือต่อให้มีมันเหมือนกับว่า เราไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วไม่มีใครแบบ Aware เลยว่าเมืองไทยมีข่าวภาคภาษาอังกฤษ

คือถ้าข่าวภาคภาษาอังกฤษของไทยก็จะมีแค่แบบสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ก็ออนไลน์ไปเลย ก็คือที่เราจะคุ้นเคยก็คือ Bangkok Post, The Nation หรือหลัง ๆ ก็จะมี Khaosod English ที่เราจะคุ้นเคย ซึ่งเรารู้สึกว่า ความฝันของพี่ก็คือเหมือนว่า อยากมี อยากทำงานกับช่องข่าวภาคภาษาอังกฤษ แต่เป็นของคนไทยนะ ซึ่งมันก็เป็นความฝันตั้งแต่เรียนมหาลัยจบนะ มันก็เลยมีความรู้สึกว่า เออ อยากจะทำช่องข่าวภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็เป็นรายการข่าวข่าวภาคภาษาอังกฤษ

ซึ่งมันยอมรับอย่างหนึ่งว่า พอมาเป็นแบบเมืองไทย คนมันให้ความสำคัญในส่วนนั้นน้อยมาก เพราะว่าเวลาเราพูดถึงข่าวภาคภาษาอังกฤษ คำถามแรก ๆ เลยมันก็จะเหมือนว่า ใครมันจะไปดู เรตติ้งก็ไม่ได้ แล้วคนไทยคือไม่ดูภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เวลาเราจะไปเปิดดูทีวี เขาดูอะไร ช่อง 3 , ช่อง 7 หรือช่องไหนก็ตามที่มันมีละคร หรือไม่ก็เป็นข่าวที่แบบติดตลาด แต่พอมันเป็นข่าวภาคภาษาอังกฤษ เรารู้สึกว่ามันไม่มี แล้วมันก็จะมีความรู้สึกว่าเวลาเราไปแบบต่างประเทศ เราอยากจะมีข่าวภาคภาษาอังกฤษของคนไทยให้คนทั้งโลกเห็น ซึ่งพอเราได้เห็น Thai PBS WORLD เรารู้สึกว่าแม่ หนูอยากมาที่นี่ มันคือสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นช่องข่าวภาคภาษาอังกฤษ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นแบบ Online คืออย่างเราก็แบบ พอมันเป็นข่าวภาคภาษาอังกฤษ หรือเราก็ทำอะไรก็ได้ เป็นผู้สื่อข่าวก็ได้ เป็นผู้ประกาศข่าวก็ได้ เป็น Producer ได้ คือเราเป็นได้หมดเลย เพราะว่าเราคิดว่าจุดแข็งของเราก็คือภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็เรียนมาตั้งแต่เด็กจนโตเลย

ทำงานกับพี่เต๋า แล้วก็ทีมงาน เป็นยังไงบ้าง?

คือทำงานกับพี่เต๋ามีความสุขมาก เพราะว่าพี่เต๋าเป็นคนที่ใจดีมาก น่ารักมาก เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของทุกคน คือถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งในสถานะจริง ๆ เหมือนกับว่าเขาเป็นเจ้านายเรา คือเหมือนกับว่าคือตำแหน่งเจ้านายมันคือตำแหน่งที่สูงส่ง แต่เขาไม่เคยทำตัวสูงส่งเหมือนตำแหน่งของเขา พูดง่าย ๆ คือตำแหน่งสูงส่งแต่เขาไม่ทำตัวสูงส่งตาม ซึ่งมันทำให้การทำงานมีความสุข แล้วก็มีความสบายใจล้วน ๆ เลย แล้วเวลาเรามีไอเดียอะไรเขาก็จะฟัง แล้วถ้าวันไหนเราหมดไอเดียแล้ว เขาก็จะคอยบอก ๆ เราว่า ทำเป็นอันนี้ แล้วลองทำเป็นอันนี้สิ ลองเล่นเรื่องนี้ได้นะ มันก็ทำให้รู้สึกว่าโอเค เขาก็แบบคอยช่วยเรา แล้วก็อีกอย่างคือเวลาที่เรามีปัญหาหรือเรารู้สึกท้อ เขาก็จะเป็นคนหนึ่งที่คอยให้กำลังใจเสมอ

แล้วมาทำงานที่ Thai PBS WORLD ได้อะไรกลับไปบ้างไหม?

ในเชิงการทำงาน เหมือนกับว่า Thai PBS WORLD มันทำให้เราต้องทำงาน คือเราจะสนใจแค่ข่าวประเภทเดียวไม่ได้ อย่างเมื่อก่อนเราสนใจข่าวต่างประเทศมาก แต่พอมาอยู่ Thai PBS WORLD ซึ่งที่เราต้องให้ความสนใจก็คือข่าวไทย ซึ่งบางครั้งมันเหมือนเราเผลอละเลย อย่างข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก หรือบางคนแบบสนใจข่าวบันเทิง จนลืมไปว่าข่าวพวกนี้มันก็มีความสำคัญกับเราเหมือนกัน แล้วก็ทำให้เหมือนเราอ่านให้รอบด้านมากขึ้น แล้วก็ต้องคอยทำการบ้านอยู่ตลอดเวลาว่าวันนี้มีอะไร คือมันไม่ใช่แค่แบบว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ว่าเราก็ต้องเรียนรู้ว่า Context มาของเรื่อง ๆ นี้มันเป็นอย่างไรด้วย

ทำงานข่าวมาก็หลายปีแล้ว มองมุมมองอย่างไรกับการที่ส่วนใหญ่เวลาเราอยู่หน้าจอเราก็จะเห็นสัดส่วนผู้ประกาศข่าวชายครองหน้าจอมากกว่าผู้ประกาศข่าวหญิง?

ใช่ค่ะ ประมาณ 6-7 ปี เมื่อก่อนก็อยู่ TNN ก็เป็นผู้สื่อข่าว เป็น Producer เคยมีงานเป็นผู้ดำเนินรายการบ้าง แล้วก็ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกก็คือเป็นผู้สื่อข่าวและผู้เรียบเรียงข่าวต่างประเทศ แล้วก็มาอยู่ Thai PBS WORLD ซึ่งถามว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างนอกจากเรื่องของ Production ที่เน้นความสวยหรูของ Computer Graphic มี Immersive Technology คือเรารู้สึกว่านักข่าวยุคนี้ เขาเหมือนกับว่าเขาก็พยายามที่จะ Up Skill ตัวเอง จากที่เมื่อก่อนอาจจะแค่เขียนสคริปต์ แล้วก็ลงถัง แล้วก็ไปลงเสียง ทำสกู๊ป ดูตัดต่อ คือเรารู้สึกว่ายุคนี้มันต้อง Multi Task มากขึ้น หรือบางทีเราอาจจะต้อง Engage กับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เรารู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อยู่

ส่วนประเด็นที่ถามมา เรารู้สึกว่าผู้ประกาศหญิงเยอะกว่า ในความรู้สึกเรานะ เพราะว่าอย่างตอนก่อนที่จะมาอยู่ Thai PBS WORLD ผู้ประกาศหญิงเยอะมาก แล้วเรารู้สึกว่ามันก็เป็นข้อดีที่เราได้เห็นผู้ประกาศหญิงกับผู้ประกาศชายเริ่มมีสัดส่วนที่เท่ากัน บางช่องผู้ประกาศข่าวหญิงก็จะเยอะกว่าผู้ประกาศข่าวชาย คือถ้าจะมองใน Sense ความเหลื่อมล้ำจะรู้สึกว่า อย่างสมมติว่าเป็นผู้ประกาศข่าวหญิงก็จะถูกเพ่งเล็งในเรื่องของการแต่งตัวว่าวันนี้ทำผมทรงอะไร แต่งหน้าสีอะไร ใส่ชุดอะไร หรือว่าอ้วนขึ้นผอมลง ก็ว่าอาจจะคล้าย ๆ กับนักการเมืองบางคน

แล้วจะถามว่าเหลื่อมล้ำไหม? คือพูดยากเหมือนกัน คือเรารู้สึกว่าถ้ามองในแง่ของการจับผิด ผู้หญิงจะโดนจับผิดมากกว่าอยู่แล้ว เพราะว่าสังคมคนไทยเราจะมองเหมือนกับว่าหน้าจอทุกอย่างต้องเพอร์เฟค ซึ่งเรารู้สึกว่าความไม่เพอร์เฟคมันมีได้ แล้วบางทีความไม่เพอร์เฟคก็อาจจะทำให้คนหนึ่งโดดเด่นกว่าอีกคนได้

คิดว่าในสายงานของเราจะขยับไปได้ไกลแค่ไหน แล้วก็จะทำยังไงให้คนดูมาสนใจข่าวต่างประเทศมากขึ้น?

คืออย่างประเทศไทยเอง นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะมาก แต่มันไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว นักธุรกิจที่อยู่ที่นี่ หรือคนที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ แต่ละคน First Language คือภาษาอังกฤษ ซี่งเรารู้สึกว่าที่นี่คือแพลตฟอร์มที่ทำให้คนต่างชาติเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น สำหรับคำถามที่ว่าข่าวภาคภาษาอังกฤษใครจะไปดู เพราะมันเป็นภาษาอังกฤษ คนไทยไม่ดูภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราคิดว่าอยากให้ภูมิใจมากกว่ากับการที่เรามีข่าวภาคภาษาอังกฤษ เพราะมันคือ Window To Thailand คือถ้าเราอยากให้ชาวต่างชาติเข้าใจมุมมองของคนไทย ช่องเหล่านี้คือเป็นเหมือนกับด่านแรกที่ทำให้คนต่างชาติเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น

แล้วถ้ามันไม่มีแพลตฟอร์มเหล่านี้ ชาวต่างชาติจะเหมือนเข้าใจประเทศไทยในมุมที่ผิด ๆ เพราะถ้าเราไปเห็นสื่อต่างประเทศรายงานข่าวเกี่ยวกับไทย ก็จะเป็นมุมมองของคนชาตินั้น ๆ แต่ถ้าเป็นคนไทยที่แบบเล่าเรื่องของไทยให้คนต่างชาติฟัง ก็จะมี Substance ที่ดูแบบน่าสนใจกว่านั้น มีน้ำหนักกว่าในมุมของเรา แล้วก็อีกอย่างคือถ้าคนไทยไม่เล่า ใครเขาจะเล่าได้ดีเท่าเรา คือเราคิดว่าเราอยากให้ชาวต่างชาติ เขาเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น แล้วจริง ๆ ประเทศไทยมันก็ไม่ได้มีแค่สถานที่ท่องเที่ยว แล้วก็ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง แบบคนเสื้อไหนตีกัน หรือแบบพรรคไหนตีกัน มันมีอะไรมากกว่านั้นที่เรารู้สึกว่าเขาอยากจะสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยเยอะมาก แล้วเราคิดว่าเราควรทำตัวเป็นแบบ Platform เพื่อให้เขาเข้าถึงข้อมูลของเรา

แต่ว่าเรามองเห็นอนาคตของ Thai PBS WORLD ยังไง? ก็คือนอกจากเป็น Platform แล้ว เราก็อยากให้เหมือนกับว่า ถ้ามองหาข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นข่าวไทยแต่เป็นภาคภาษาอังกฤษ เราอยากให้คนต่างชาตินึกถึงเราบ้าง ใน Sense ว่าเราเป็นไทยพีบีเอส เราเป็นสื่อสาธารณะ แต่เราก็ให้ข้อมูลที่รอบด้าน น่าเชื่อถือ แล้วเขาก็สามารถพี่งพาเราได้ แล้วยิ่งช่วงนี้ก็แบบ Fake News หรือแบบ Misleading Information เยอะมาก เราก็อยากให้ Thai PBS WORLD  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามา แล้วก็แบบบอกต่อว่าข่าวภาคภาษาอังกฤษมีนะ ในเมืองไทยมันมีข่าวภาคภาษาอังกฤษนะ 1 ในนั้นก็คือ Thai PBS WORLD เราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น

บอกความในใจถึงพี่เต๋านิดนึง

รักพี่เต๋านะคะ ขอบคุณที่ให้โอกาสเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ แล้วก็ขอบคุณที่บางครั้งอาจจะระบายความรู้สึกในใจบ่อย ๆ จนบางทีระบายเยอะมาก จนพี่เต๋าก็ถามว่าทำไมระบายเยอะขนาดนี้ แต่ขอบคุณที่เป็นทั้งหัวหน้า เป็นเจ้านาย และเป็นทั้งพี่สาวที่คอยรับฟังปัญหา และคอยให้กำลังใจเราจนถึงทุกวันนี้ คือก็ยอมรับว่ามีอยูช่วงหนึ่งที่ท้อกับการเป็นผู้ประกาศข่าวเหมือนกัน คือเราทำทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แต่ด้วยความที่ภาษาไทยเราไม่ได้เก่งเท่าภาษาอังกฤษ เรารู้สึกว่าบางครั้งก็ทำให้เราเครียด ประหม่าบ้าง แล้วบางทีใคร Comment เข้ามา เราก็จะรู้สึกแบบ Insecure พี่เต๋าก็จะเป็นคนที่แบบคอยให้กำลังใจเรา เพื่อให้่ผ่านช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่ไปได้ แบบมันง่ายขึ้นเยอะเลย

สำหรับพี่แล้ว ถ้าเป็นคนอื่น ๆ เขาก็จะแบบปัดตกไป แต่พี่เต๋าเขาเป็นคนที่รับฟังเราเยอะมาก แล้วพี่เต๋าเป็นคนที่ใช้ใจฟังจริง ๆ แล้วเขาก็เหมือนกับเคยเจอแบบที่เราเจอ เขาก็รู้เลยว่าเรารู้สึกยังไง เราคิดอะไรอยู่ และที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเรามาก ในวันที่บางครั้งเราไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง รักพี่เต่านะคะ


ขอบคุณ ศูนย์ Thai PBS WORLD สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส