fbpx

“(ตบ) กูบอกแล้วไม่ใช่เหรอว่าไม่ให้มึงออกมา มึงไม่ฟังคำสั่งกูเลยนะ ต้องให้กูขังมึงก่อนใช่มั้ย หา!”

มึงอย่ามาเสือกนะอีป้า มึงแก่ก็อยู่ส่วนแกดิวะ หา! หรือไม่อยากแก่ตายเหรอ มึงฟังกูนะ อีจารวีไม่ใช่คนของมึงนานแล้ว โอ๊ย! มันเป็นของกูโว๊ย กูจะทำยังไงก็ได้ เข้าใจป่ะ แล้วมึงอ่ะนะ เลิกเอาคนของกูไปใช้งานได้แล้ว ไม่งั้นมันแรดไปหาผู้ชายคนอื่นไปทั่วแบบนี้ เข้าใจป่าว! แม่งเอ๊ย!”

“มึงเก่งนักเหรอ (ตบหน้าคว่ำ) มึงเห็นรึยังอีป้า ว่าอีนี่มันเลี้ยงยากแค่ไหน กูพูดดี ๆ กับมันไม่รู้เรื่อง มันต้องเลี้ยงด้วยส้นตีน (เตะ)”

“อยู่ในนี้ไปเถอะมึง จะได้เลิกแรด

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทพูดของตัวละคร “ธงฉาน” ซึ่งรับบทโดย “เอี๊ยง-สิทธา สภานุชาติ” หนึ่งในตัวละครจากเรื่อง “ฝ้ายแกมแพร” ทางช่อง GMM 25 ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการถ่ายทอดฉากความรุนแรงที่ผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิง ทั้งการตบ เตะ ต่อย กักขังหน่วงเหนี่ยว และยังมีการใช้รองเท้าตบหน้าตัวละคร “จารวี” ซึ่งรับบทโดย “แก้ว จริญญา ศิริมงคลสกุล” อีกด้วย

หลากหลายความเห็นที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทวิตเตอร์ พันทิป และคอมเม้นต์ใต้โพสต์โปรโมทบนหน้าแฟนเพจของสถานีฯ สะท้อนในแง่มุมที่เห็นพ้องต้องกันว่า “รับไม่ได้” ต่อการนำเสนอฉากดังกล่าว

ใครเขียนบท ใครเป็นผู้กำกับ ตอนแคสนักแสดงเลือกกันยังไง นักแสดงคิดยังไงกับบทที่ได้รับ คิดถึงผลตอบรับหลังละครออนแอร์หรือเปล่า เห็นโดนด่าทุกอาทิตย์จนตัดสินใจดูคัทซีนนาทีกว่า ๆ อห กูไม่อยากจะเชื่อเลยว่าละครแบบนี้ปล่อยให้ออกอากาศได้ – @mydear_

ในที่สุดก็มีคนคิดแบบเราแล้ว เอาจริง ๆ เราคิดว่าเรื่องกำพร้า เรื่องผู้หญิงถูกดทับจากผู้ชาย เรื่องคนรวยเหยียดคนจน เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ส่วนตัวเรามองว่าไม่ควรนำมาทำละครเลย เพราเรื่องพวกนี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และคนที่ผ่านเรื่องพวกนี้มาเขาไม่ได้โอเคกับเรื่องนี้ – @DsRv4EpxDQOin3K

เรียกตัวเองว่าผู้ดี ชนชั้นสูง แต่ทำตัวต่ำมาก แล้วยังดูถูกเหยียดหยาม เห็นเด็กกำพร้าเป็นตัวตลก เพิกเฉยต่อความรุนแรง คิดว่าการช่วยคนถูกทำร้ายเป็นเรื่องเสียเวลา ชายเป็นใหญ่ ผชทำร้ายผญ พี่ฉอดเลิกทำละครสะท้อนสังคมเถอะ มีอยู่จริงไม่ได้แปลว่าทำละครมาแล้วมันจะดี มันทุเรศ – @paengky_ns

ในขณะที่ฉันดูซีรีย์ Startup ของเกาหลีที่แข่งขันกันทำบริษัทของตัวเองอย่างเข้มข้นสร้างสรรค์ พอมาเปิดทีวีไทย ฝ้ายแกมแพรผู้ชายตบแฟนกระทืบแฟน ส่วนพ่อตบลูกต่ออีกที – @khkhemkhem789

Private lives จิกกัดการเมืองแบบเจ็บ ๆ คัน ๆ จนท.รัฐทุจริต คนอยู่เบื้องหลังอำนาจ รวม ๆ แล้วโคตรสนุก Startup ก็ปลุกพลังการทำธุรกิจ นักพัฒนา เติมเอเนอร์จี้ กูชอบมาก…ตัดมาที่ฝ้ายแกมแพร แค่ตอนสั้น ๆ เลื่อนผ่านฟีด เจอเหยียดคนที่ต่างใช้กำลังรุนแรง ทำร้ายร่างกายผู้หญิง สังคมชายเป็นใหญ่ – @chaichaicjaoija

“ฝ้ายแกมแพร” เป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์ เมื่อปี พ.ศ.2517 โดย “สุกัญญา ชลศึกษ์” เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” เจตนารมณ์ของผู้แต่งต้องการสะท้อนถึงความพยายามของสองตัวละครหลัก คือ “ทมนัย” และ “จารวี” ผู้ได้รับการอุปการะจากสองนักธุรกิจ “ธวัช” และ “ทอแสง” เพื่อมาช่วยดูแลบุตรแท้ ๆ ของตนแทน ทั้งทมนัยและจารวีต่างต้องการที่จะหลุดพ้นจากการโดนดูถูกเหยียดหยาม และได้เลือกวิถีทางลัดโดยการเข้าหาคุณหนูของอีกฝ่าย อันได้แก่ “ธงฉาน” และ “ทิพยางค์” เพื่อหวังซึ่งเงินทอง ลาภยศ และความสุขสบาย แต่สุดท้ายเมื่อได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน กลับพบว่าแม้จะมีเงินทองมากมายดังใจหมาย แต่ทัศนคติและความคิดในการใช้ชีวิตกลับไม่สามารถเข้ากันได้โดยสิ้นเชิง จนในที่สุดต้องเลิกรากันไป

นวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ.2518 และนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ.2522, 2528 และ 2535 ตามลำดับ และล่าสุดในปี พ.ศ.2563 ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งทางช่อง GMM 25 ภายใต้การสร้างของ “Change 2561” โดย “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” และ “เอส-วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย” มีผู้กำกับคู่บุญอย่าง “กู่-เอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข” มาดูแลในส่วนของการกำกับการแสดง และยังได้ “ธัญลักษณ์ จุลพงษ์” มาขัดเกลาบทประพันธ์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น เสริมทัพด้วยนักแสดงที่คุ้นหน้าคร่าตา ทั้ง นิว-ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต ในบทบาท“ทมนัย”, แก้ว-จริญญา ศิริมงคลสกุล (แก้ว Fay Fang Kaew) ในบทบาท“จารวี”, เอี๊ยง-สิทธา สภานุชาติ (เอี๊ยง Rookie BB) ในบทบาท“ธงฉาน” และ มารีน่า-ศดานันท์ บาเลนซิเอก้า ในบทบาท“ทิพยางค์” หรือ“แอ้”

ในช่วงเปิดตัวละครได้มีการพูดถึงบทบาทการดำเนินเรื่องที่ทันสมัย ตัวละครที่มีความฉลาดหลักแหลม บทโทรทัศน์สะท้อนแง่มุมความเหลื่อมล้ำในสังคม จนกระทั่งเมื่อออกอากาศมาถึงกลางเรื่อง ก็เริ่มมีเสียงท้วงติงถึงเนื้อหาบางประการที่มีลักษณะไปในทางดูหมิ่นเหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะทางการเงิน ชนชั้นทางสังคม อาหารการกิน ไปจนถึงเรื่องของเด็กกำพร้า

และละครเรื่องนี้ก็ได้รับการพูดถึงอย่างหนักหน่วงขึ้น ภายหลังจากที่ออกอากาศมาได้ถึงตอนที่ 15 (ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563) เมื่อปรากฏฉากการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเหตุการณ์ในเรื่องนั้นเกิดจากความหึงหวงที่ “ธงฉาน” เชื่อว่า “จารวี” นอกใจตนไปคบหาสมาคมกับ “ทมนัย” จึงตัดสินใจใช้กำลังประทุษร้ายทั้งร่างกายและกักขังหน่วงเหนี่ยวเธอ โดยผู้เป็นพ่อของธงฉานไม่ได้เข้ามาห้ามปรามใด ๆ ทั้งยังพาผู้หญิงค้าบริการที่มีความสัมพันธ์กันอยู่ก่อนแล้วมาชวนให้ร่วมเพศกันต่อหน้าจารวี กระทั่งออกอากาศมาถึงตอนล่าสุด ณ วันที่เขียนบทความชิ้นนี้ (19 พฤศจิกายน 2563) คือตอนที่ 18 ซึ่งปรากฏฉากการใช้ความรุนแรงในพื้นที่โรงพยาบาล โดยไม่มีผู้ใดเข้าให้การช่วยเหลือ ดังเนื้อหาที่ได้กล่าวถึงในช่วงต้นบทความ

คุณลุงของฉัน (My Mister) [Trailer] - YouTube
ภาพจาก MONOMAX

กรณีดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกันที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ.2561 กับละครโทรทัศน์เรื่อง “My Mister” ทางช่อง tvN ซึ่งปรากฏฉากการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงของตัวละครผู้ชายโดย “จางกียอง” ผู้รับบทเป็น “อีกวังอิล” ได้ทำร้าย “ไอยู” ซึ่งรับบทเป็น “อีจีอัน” ที่มาขอยืมเงินจากเขา จนเกิดการท้วงติงอย่างหนักจากผู้ชมว่าเป็นฉากที่ดูรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ แถมยังเป็นการทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้ เนื่องจากการถ่ายทำที่ดูสมจริง และได้ร้องเรียนไปยังองค์กรที่กำกับดูแลสื่ออย่าง Korea Communications Standards Commission (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งเกาหลี) โดยทางด้าน KCSC ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ให้ความเห็นกับกรณีดังกล่าวว่า “เราได้รับการร้องเรียนจากซีรีส์เรื่อง My Mister ที่ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข เราจะตรวจสอบตามความถูกต้องอีกครั้ง“

จนนักแสดงในเรื่องอย่าง “ไอยู” ต้องออกมาชี้แจง ว่าการกระทำของตัวละครนั้นมีเหตุผลและที่มาที่ไป อยากให้ลองเปิดใจรับชม “อีจีอันและอีกวังอิลเป็นตัวละครที่มีเรื่องราวในอดีต คาแรกเตอร์ของฉันแสดงออกชัดเจนเลยว่าเป็นศัตรูกับจางกียอง ฉะนั้นทั้งจีอันและกวังอิลต่างมีเรื่องราวที่ต้องแก้ไข เลยอยากขอทุกคนให้เวลา และคอยติดตามกันนะคะ”

ในส่วนของละคร “ฝ้ายแกมแพร” จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับมาพบว่า ละครเรื่องดังกล่าวได้รับการจัดประเภทรายการอยู่ในกลุ่ม “รายการที่สามารถรับชมได้ทุกวัย” หรือ ท.ทุกวัย และถูกนำมาออกอากาศซ้ำในช่วงเช้าวันถัดมาหลังละครออกอากาศจบ รวมไปถึงช่วงเย็นวันอาทิตย์อีกด้วย และยังไม่มีการขึ้นคำเตือนก่อนเข้าละคร จึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้ชมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในฉากการใช้ความรุนแรงดังกล่าว

อาจต้องจับตากันต่อไปว่าหลังจากกระแสท้วงติงดังกล่าวนี้เกิดขึ้น องค์กรกำกับดูแลสื่อในประเทศไทยอย่าง กสทช.  (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะออกมาให้ความเห็นอย่างไร และจะมีแผนดำเนินการกับทางผู้ผลิตต่อไปในทิศทางไหน

ในทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน มีความรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากเคยได้คาดหวังให้ละครเรื่องนี้สามารถถ่ายทอดแง่มุมสาระสำคัญ ให้ออกมาได้นุ่มลึกและทรงพลัง ผ่านการใช้ความคิดและสติปัญญาของตัวละครเพื่อรับมือกับอุปสรรคและปัญหาที่ต้องเผชิญ แต่กลับที่จะเลือกถ่ายทอดด้วยการนำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจเข้ามาเพื่อผูกกับสถานการณ์ในเรื่อง รวมไปถึงบทสนทนาบางส่วนที่ “จงใจ” แบ่งแยกชนชั้นฐานะและสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งให้ทางคณะผู้จัดละครได้นำกระแสท้วงติงดังกล่าวกลับไปทบทวน เพื่อปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมต่อสังคมมากขึ้นในละครเรื่องถัด ๆ ไป


อ้างอิง :