fbpx

อาร์เอสในวันที่กลับมาลุยเพลงแบบเต็มสูบ และทิศทางหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับ “อาร์เอส” ที่ในอดีตผลิตผลงานเพลงและศิลปินมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โฟร์-มด , ฟิล์ม รัฐภูมิ , พริกไทย และศิลปินอื่นๆ อีกมากมายให้แจ้งเกิดขึ้นมา ด้วยการสร้างสรรค์เพลงที่หลากหลาย ตอบโจทย์กับคนไทยมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งการเข้ามาของทีวีดิจิทัล อาร์เอสจึงรุกช่อง 8 แบบเต็มที่ ในขณะเดียวกันผู้บริหารอย่าง “เฮียฮ้อ” ก็ปรับโมเดลบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ด้วยการปรับธุรกิจเป็นพาณิชย์ เน้นการขายสินค้าเป็นหลัก แต่ยังไม่ละทิ้งสื่อของตนเองเอาไว้ กลับกันอาร์เอสยังเอามาใช้ประโยชน์ในการเป็นช่องทางขายมากขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ธุรกิจเพลงค่อยๆ จางหาย ไม่โดดเด่นเหมือนแต่ก่อนแล้ว

เฮียฮ้อและทีมใช้เวลามานาน เริ่มมีข่าวว่าอาร์เอสจะกลับมาทำเพลงในปี 2562 โดยผ่านรายงานประจำปีของบริษัทฯ ข่าวเริ่มมีมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 อาร์เอส กรุ๊ป ประกาศเปิดตัว 3 ค่ายเพลง และ 9 ศิลปินใหม่ พร้อมลุยในโมเดลใหม่แบบเต็มสูบกับ “Music Star Commerce” เพื่อขยายช่องทางการนำเสนอสินค้าในอนาคตให้มากขึ้น ร่วมกับการผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กับคนไทยมากที่สุด

วันนี้ทีมกองบรรณาธิการส่องสื่อ จึงถามทุกคำถามแบบกัดไม่ปล่อยกับ “เฮียฮ้อ” หรือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ถึงการดำเนินการบริหารบริษัทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่งคลี่คลายมา รวมไปถึงการเปิดตัว 3 ค่ายเพลงด้วยเช่นกัน ติดตามอ่านได้เลยครับ

การบริหารบริษัทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง?

หลังโควิด-19 เรามีการปรับใหม่ เราอยู่ระหว่างการวางแผนว่าเราจะใช้กลยุทธ์ Entertainmerce เรามองว่าทั้งทีวี วิทยุ และสื่อต่าง ๆ ของเราจะถูกนำ Entertainmerce เข้ามาผนวกหมด แต่ผมคิดว่าเรื่องเรตติ้งก็ยังสำคัญ ช่อง 8 เราก็ถือว่าอยู่ในเรตติ้งระดับผู้นำ

ถ้าให้สรุปภาพ RS วันนี้มีอายุ 39 ปี เข้าสู่ปีที่ 40 และนี่คือการรีแบรนด์ครั้งใหญ่และสำคัญมากที่สุด เพื่อก้าวเข้าสู่ RS ยุคใหม่ที่มีธุรกิจที่หลากหลาย หัวใจสำคัญของเราคือ เรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ เมื่อไหร่ควรหยุด เมื่อไหร่ควรช้า เมื่อไหร่ควรเร็ว ผมคิดว่าจังหวะในการทำธุรกิจคือปัจจัยสำคัญ ถ้าติดตาม RS มาจะเห็นว่า เราปรับตัวมาตั้งแต่ธุรกิจเพลงตลอดเวลา เราสามารถสร้าง Business Model ใหม่ ๆ เรื่อย ๆ โดยยังมีกำไรและแข็งแรง ที่ผ่านมาเรา Transform ธุรกิจมาเป็น Commerce ซึ่งกลายเป็นธุรกิจใหญ่ของเราและก็ประสบความสำเร็จ จนมีคนพูดเยอะว่า RS “จะเลิกทำเพลงแล้วเหรอ” และกระทั่ง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี่เองก็มีข่าวลือกันว่า “RS จะกลับมาทำเพลง”

นี่แหละครับเพราะเรามองว่า เมื่อไหร่ควรหยุด เมื่อไหร่ควรเดิน นี่คือวิสัยทัศน์ของเรา วันนี้เราก็นำเสนอให้เห็นว่าเรากลับมารุกธุรกิจเพลงอย่างจริงจัง โดยมี 3 ค่าย คือ Rsiam Kamikaze และ Rose Sound ซึ่งเป็นการกลับมาอีกครั้งของไอคอนของเรา ซึ่งเป็นชื่อธุรกิจเพลงแรกของผม ผมทำค่ายเพลงครั้งแรก ก่อนจะเป็น RS คือ Rose Sound เรียกว่ามาถึงวันนี้การนำแบรนด์แรกในชีวิตกลับมาอีกครั้ง ก็น่าจะเป็น Gimmick ที่น่าสนใจ

ตลอด 40 ปี การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอาร์เอสเป็นอย่างไรบ้าง?

RS ในยุคแรก ๆ เราเป็นปลาเล็ก ตอนนั้นกลยุทธ์คือ ปลาเล็กจะต้องรอดอย่างไรไม่ให้ถูกกินก่อน ช่วงที่ 2 คือในปี 2535 ตอนนั้น RS ย้ายมาอยู่ลาดพร้าวแล้ว เริ่มเป็นบริษัทที่ใหญ่ ช่วงนั้นเลยต้องมีกลยุทธ์ว่า ปลาเร็วกินปลาช้า พอเราใหญ่เรากลับต้องเร็ว เป็นยุคที่ความเร็วเข้ามามีผลมาก อีก 5 ปีต่อมาจนถึงปัจจุบัน กลยุทธ์กลายเป็นปลาฉลาดกินทุกปลา ใหญ่เล็กไม่สำคัญแล้ว แต่ต้องเร็วและฉลาด เพราะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่แต่ช้าและโง่ ก็ถูกกินได้ เราสร้างศิลปินแล้วเราต้องมี Business Model มารองรับ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต

โดยเฉพาะปัจจุบันการจะเป็นศิลปินนักร้องสักคน ค่ายเพลงมีบทบาทลดลง ศิลปินสามารถโชว์ตัวบนโลกออนไลน์ได้ และธุรกิจก็เกิดขึ้นที่ตัวศิลปินเขา ส่วนทางเราเป็นค่ายเพลง เราก็ต้องมีธุรกิจของเราที่มาเชื่อมโยงต่อยอดให้กับศิลปิน เป็น Star commerce ไม่ใช่แค่ร้องเพลงดีแล้ว เราคัดเลือกศิลปินที่ต่อยอดจาก Business Model ของเราได้ เราสร้างศิลปินให้เป็น Partner ของเรา  เราอาจจะมีธุรกิจที่ศิลปินกับเจ้าของแบรนด์เป็น Partner กัน โดยที่เขาเป็นคนรัน เราเป็นคน Support

การเปิดตัวทั้ง 3 ค่ายในวันนี้ อยากให้เติบโตอย่างไรบ้าง?

คืออยากแก้ก่อน คนชอบบอกว่าอาร์เอสกลับมาทำเพลง จริงๆ อาร์เอสไม่เคยหยุดทำเพลง ครั้งนี้คือการกลับมารุกหนักอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าเพลงไม่ได้หายไปจากอาร์เอสอยู่แล้ว มีการปรับตัว ขยายบ้าง ลดบ้างในช่วงจังหวะที่เหมาะสม แต่การกลับมาครั้งนี้เป็นการรุกธุรกิจเพลงอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้แนวคิด “Music Star Commerce” แล้วก็การเปิดศิลปิน 9 คนใน 3 ค่ายเพลงก็เป็นโมเดลใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าคาดหวังอย่างไรกับการเปิดตัว ก็คาดหวังว่าในมุมรายได้ของธุรกิจเพลงก็อยู่ในเป้าหมายที่เราทำตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหารายได้จากการชม การสตรีมเพลง การสร้างศิลปินเพื่อมีงานแสดง กิจกรรม หรือเป็นพรีเซนเตอร์

คือสภาพรายได้ต่างๆ จากศิลปินก็ยังคงเป็นแบบเดิมที่ยังอยู่และก็เป็นรายได้หลัก ซึ่งเราคิดว่าวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดีขึ้น เพราะเรื่องการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์หรือสตรีมมิ่งเพลงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและประชาชนยอมรับอยู่แล้ว มันก็เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะมาลงทุนทำธุรกิจเพลงอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับเป้าหมายของเราคือการสร้างศิลปินในโมเดลใหม่ เรามองไปถึงการต่อยอดในธุรกิจ Commerce ในอนาคตด้วยครับ

แต่อย่างการร่วมมือกับ JOOX ในการปัดฝุ่นเพลงเก่ามาทำ ส่วนนี้จะเป็นการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอยู่ในร่ม “โตมากับอาร์เอส” อยู่ดี สำหรับศิลปินเก่า เราก็มีแผนในปีหน้าในการที่จะทำกิจกรรมและคอนเสิร์ตอยู่แล้ว อันนั้นจะอยู่ในมุมของกิจกรรม นอกจากนั้นในปีหน้าก็จะมีการร่วมมือกันมากขึ้น อย่างการร่วมมือกับ JOOX เราก็จะเห็นชัดได้ว่านักร้องนอกค่าย อิสระ มาทำงานกับเพลงของเราได้ เราคิดว่าไม่มีอะไรปิดกั้นเราได้อีกแล้ว

ศิลปินทั้ง 9 คนมีโมเดลหรือสินค้าใดที่ชัดเจนแล้วหรือยัง?

ตอนนี้ยังไม่ได้มองแบบนั้น เราคิดว่าสร้างศิลปินให้ประสบความสำเร็จจนเป็น Super Influencer ก่อน หลังจากนั้นแล้วผมคิดว่าความพร้อมในสินค้าต่างๆ ของอาร์เอสจะเข้ามาเชื่อมโยงเอง สำหรับระยะเวลาผมคาดหวังว่าแล้วแต่ผลตอบรับของศิลปินแต่ละคน แต่ผมเรียนแบบนี้ครับว่าจุดตั้งต้นของการทำเพลงในวันนี้ การเลือกศิลปินก็จะมีความแตกต่างจากอดีตอยู่แล้ว ด้วยความที่เรามีเป้าหมายแบบนี้ การจะสร้างศิลปินคนหนึ่ง เราอาจจะมองมากกว่าอดีต เช่น อดีตเรามองแค่ว่าศิลปินคนนั้นร้องดี หน้าตาดี แสดงออกดี บุคลิกที่ดี แต่วันนี้บนโมเดลใหม่ เราเน้นเรื่อง Lifestyle ของศิลปิน เด็กทุกคนต้องมีชีวิตส่วนตัวที่ดีและน่าสนใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าสนใจของเขาจะทำให้เขาเป็น Influencer ที่ดีได้

สำหรับการโปรโมทศิลปิน เราไม่ได้มองว่าต้องใช้โทรทัศน์ในการโปรโมทเป็นหลัก ศิลปินแต่ละคนก็จะมีฐานแฟนคลับที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเขาเหมาะตรงไหนก็จะใช้การสื่อสารที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเรา

การคาดหวังรายได้ในส่วนของเพลงจะเติบโตเท่าไหร่?

คือผมมองอย่างนี้ ขั้นตอนแรกคือรายได้จากธุรกิจเพลงเดิมก่อน ผมเชื่อว่ามันดีขึ้นอยู่แล้ว การที่มีศิลปินที่มากขึ้น มีเพลงออกมากขึ้น โอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นยอดวิว ยอดสตรีม หรือการสร้างรายได้จากตัวศิลปินทุกอย่าง รวมถึงการแบ่งปันรายได้ผมว่าจะมีมากขึ้น ส่วนของการต่อยอดไปในเรื่อง commerce มันก็อยู่ในแผนระยะยาวต่อไป แต่ว่าถ้าเรามองในธุรกิจเพลงจะโตขึ้น แต่สัดส่วนอาจจะไม่โตขึ้น เพราะธุรกิจ commerce จะยังโตขึ้นอีก ในส่วนของสัดส่วนรายได้นะ

จากเดิมสมัยก่อนเรามีสัดส่วนจากรายได้เพลงมากกว่าร้อยละ 90 แล้วก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราไปทำธุรกิจอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือ commerce ซึ่งทำให้ปัจจุบันรายได้ร้อยละ 65 มาจาก commerce อีกร้อยละ 35 ของรายได้มาจากธุรกิจสื่อและบันเทิง ได้แก่ เพลง วิทยุ โทรทัศน์ และในอนาคตเรายังวางแผนที่จะทำเรื่องอื่นๆ อีก ฉะนั้นธุรกิจเพลงเอง เมื่อเทียบที่ผ่านมาอาจจะโตขึ้น แต่ถ้าเทียบกับรายได้จากส่วนอื่นก็อาจจะเล็กลง ผมยกตัวอย่างปีหน้าอาจจะมีรายได้อยู่ที่ 400 ล้านบาท จากเดิม 200 ล้านบาท แต่สัดส่วนลดลง

นิยามของ Super Influencer คืออะไร?

คือแต่ละคนต้องช่วยกันสร้าง แล้วก็ให้ความสำคัญ คืออย่างนี้ครับ ปริมาณอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดอย่างเดียวในระดับหนึ่ง ผมยกตัวอย่างเช่น คนที่มียอดคนติดตาม 1,000,000 คน กับ 500,000 คน บางทีคนที่มีน้อยกว่าอาจจะมี impact กว่า ฉะนั้นผมมองว่าการมองที่ยอดคนติดตามอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบนะครับ

ซึ่งการเป็น Super Influencer มันเริ่มต้นจากที่ศิลปินทั้ง 9 คนเป็นนักร้อง เป็น Superstar นี่ก็จะเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้เขาเป็นที่สนใจของแฟนคลับ แล้วก็แต่ละคนเองก็มี lifestyle ที่ชัดเจนและแตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้แต่ละคนมีความน่าสนใจในตัวของเขาเอง ซึ่งไม่ใช่สนใจแค่เพลงอย่างเดียว และสิ่งนั้นก็จะทำให้เขามีฐานแฟนคลับ นี่คือจุดตั้งต้นก่อน แล้วหลังจากนั้นก็อย่างที่ผมเรียนว่าก็เป็นเรื่องของการนำธุรกิจต่างๆ ในเครือของอาร์เอสเข้าไปต่อยอดแล้ว

ในส่วนของเป้าหมายของแฟนคลับ แต่ละค่ายก็จะมีกลุ่มที่ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างจริงๆ ไม่ได้ทับกลุ่มกันทีเดียว แต่จะมีใกล้ๆ กันบ้าง แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง การแบ่งกลุ่มเป้าหมาย ผมไม่ได้มองเรื่องอายุ อายุไม่ได้บอกสไตล์ เช่น คนฟังอาร์สยามอาจจะอายุ 27-28 ปีก็ได้ ไม่ใช่ฐานผู้สูงอายุ เพียงแต่เขาอาจจะมี lifestyle อีกแบบหนึ่ง

อย่างเราคุยกับศิลปินในอดีตว่าเราช่วยกันสร้างให้คุณเป็น Superstar นี่เข้าใจตรงกัน แต่วันนี้เด็ก 9 คนที่คุยกัน เราบอกเลยว่าปลายทางเราอยากให้คุณเป็น Business Partner กับเรา นี่คือปลายทางของแต่ละคน ใครไปถึงไม่ถึงก็ว่ากัน วันหนึ่งเราอาจจะมีศิลปินที่ดังมาก แล้วก็อาจจะมีสินค้าหนึ่งแบรนด์ที่เราเป็นหุ้นส่วนด้วย ซึ่งเด็กทุกคนก็จะมี Passion ด้วย

เกณฑ์ในการเลือกศิลปิน?

อย่างแรกคือต้องมี Passion มีความสามารถในการร้องเพลง และต้องมี Lifestyle มีชีวิตส่วนตัวที่ชัดเจน ถ้าในอดีตเราเห็นเด็กคนนี้ร้องเพลงเก่ง แสดงดี ความคิดดี เราอาจจะเริ่มให้เป็นนักร้องเลย แต่วันนี้เราก็จะดูว่า lifestyle เขาน่าสนใจไหม ถ้าเขาเป็นคนเก็บตัว ชอบชีวิตเงียบๆ อันนั้นไม่ใช่คนที่เราเลือก หรือถ้าเราถามว่าชีวิตส่วนตัวคุณทำอะไร แล้วเขาบอกว่าผมไม่ได้ทำอะไรเลย มันไม่มีความโดดเด่น มันก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่เราเลือก คือต้องมีอะไรที่โดดเด่นในตัวตนและ lifestyle ซึ่งวันนี้เรามีศิลปินในสัญญาเดิมของอาร์สยามมากกว่า 20 คน และศิลปินใหม่อีก 9 คนที่มีสัญญา 8 ปีด้วยกัน ที่ผ่านมาต้องเรียนว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเราแค่ทำอาร์สยามอย่างเดียว

ธุรกิจเพลงจะยังเป็นธุรกิจต้นน้ำในอาร์เอสหรือไม่?

ผมคิดอย่างนี้ครับ ผมว่าธุรกิจเพลงยังเป็นธุรกิจต้นน้ำที่อาร์เอสมีความถนัด สิ่งนี้ไม่ได้หายไปจากอาร์เอสอยู่แล้ว แล้วทุกคนก็เห็นว่าการทำเพลงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเรา เราอยู่มานานพอสมควร เพียงแต่ว่าจังหวะในการทำต่างหากที่เรารู้ว่าช่วงไหนควรมาก ควรน้อย อันนี้คือมุมของการขับเคลื่อนธุรกิจ

สำหรับผมในธุรกิจเพลง เราเข้าใจว่าแต่ละคนมีเป้าหมายที่ต่างกัน ซึ่งโมเดลของเราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คนเยอะ ถ้า 9 คนสำเร็จจริงสัก 5 คนก็ถือว่าดีแล้วครับ โมเดลในต่างประเทศจะต่างกับของอาร์เอสตรงที่ว่า ของเขาพอศิลปินดัง เขาก็ต้องไปเจอกับบริษัทที่มีแบรนด์อยู่แล้ว ก็จะไม่ได้ตจ่างกับการเป็น Partner ในเชิง Brand Ambassador แต่ว่าของเราจะต่างกันนิดหนึ่ง ซึ่งของอาร์เอสจะไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ในส่วนของศิลปินเดิมที่ใช้สัญญาแบบเดิมเขาและเราก็ต่างโอเคกับสัญญาตรงนี้ต่อกัน ส่วนศิลปินใหม่ทั้ง 9 คน ก็จะมีข้อตกลงที่แตกต่างกัน

สำหรับธุรกิจเพลง cost margin ดีที่สุด เพราะว่ารายได้ของเพลงมาจากการบริหารลิขสิทธิ์ที่ไม่มีต้นทุนอยู่แล้ว กับรายได้ที่มาจากการทำงานเพลง ศิลปินเป็นคนลงทุน ทำให้ cost margin ในกลุ่มนี้มากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 60-70 เลยทีเดียว แต่ขนาดของตลาดถ้าเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในอาร์เอสก็เล็กสุด

โมเดลในการผลิตผลงานเพลงจะยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

ยังเหมือนเดิมครับ ศิลปินก็ยังลงทุนทำเพลงเหมือนเดิม แต่โมเดลในการขยายธุรกิจกว้างขึ้น ซึ่งเขาจะต้องลงทุนในส่วนของชิ้นงานเพลงและ MV ส่วนเราจะจัดการทุกเรื่องให้ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าศิลปินไม่มีความเสี่ยง เพราะเราจะวิเคราะห์ให้ทั้งหมด เราจะบริหารจัดการให้ ทีมงานอาร์เอสทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลงหรืออื่นๆ แต่ศิลปินลงทุนเองทั้งหมด โดยที่เราวิเคราะห์ว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นค่าโปรดักชั่นหรือการตลาด จะครอบคลุมกับรายได้ที่ได้รับอย่างแน่นอน ทำเพลง เสื้อผ้าหน้าผม MV จะเป็นการลงทุนของศิลปิน แต่จะมาจากการวิเคราะห์และดูแลของทีมทอาร์เอส เพราะฉะนั้นเราจะไม่ปล่อยให้เขาทำโดยมีความเสี่ยงเอง แต่ลิขสิทธิ์จะเป็นของอาร์เอส เดี๋ยวนี้เราเลือกจากเด็กที่มีศักยภาพอยู่แล้ว มันหมดยุคแล้วที่เอาเด็กมาสอนให้ร้องเพลง เด็กสมัยนี้เขาเก่งมาแล้ว มีศักยภาพอยู่แล้ว

มูลค่าตลาดเพลงตอนนี้เท่าไหร่?

พูดยากเลยครับ ผมไม่รู้ว่าจะนับจากมิติไหน มันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน สมัย 15-20 ปีที่แล้วมันนับง่ายครับ เรานับแค่ยอดขายแผ่นซีดี ยอดการแสดง แต่ปัจจุบันมันกระจายไปทั่วมากๆ วันนี้คุณทราบไหมว่ามีศิลปินทั่วประเทศไทยทั้งหมดกี่คน? บางคนเป็น YouTuber ก็เป็นศิลปินได้แล้ว วันนี้เขาก็สำเร็จบนเป้าหมายเขาไง  แต่ผมมองว่าธุรกิจเพลงไม่ได้มีการแข่งขัน เพราะถ้าการแข่งขันมันคือคนหนึ่งได้ อีกคนจะหายไป ตอนนี้ธุรกิจเพลงมันเปิดกว้าง แต่ละคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ใครมีเป้าหมายอย่างไรก็ตอบโจทย์ตรงนั้น

ในการทำการตลาด ผมว่ามันก็แตกต่างกันนะครับ ผมจะมองว่าตอนนี้ง่ายกว่าก็ได้นะ คือมันเอามาเทียบกันไม่ได้ มันแตกต่างกันเลยครับ มันคือโลกแอนะล็อกกับโลกดิจิทัล มันเทียบกันไม่ได้เลยครับ ซึ่งผมว่ามันก็มีข้อดี อย่างแรกคือต้นทุนการทำเพลง หรือต้นทุนในการทำให้ศิลปินคนหนึ่งเกิดมันน้อยมาก มันไปวัดกันที่ฝีมือและคอนเทนต์

อย่างเมื่อก่อนสมมติว่าค่าผลิตคอนเทนต์อยู่ที่ 500,000 บาท ซึ่งรวมถึงการถ่ายทำ MV แต่ค่าการสร้างศิลปินคนหนึ่งสมัยก่อนอาจจะ 10-20 ล้านบาท แต่ปัจจุบันค่าทำเพลงและ MV อาจจะอยู่ที่ 300,000 บาท และไม่มีค่าการตลาด เราก็นำไปวางบนสื่อสังคมออนไลน์ได้เลย แล้วก็พิสูจน์ผลงานเป็นการตลาด ฉะนั้นถ้ามองในมุมนี้ก็ง่าย เราถึงเกิดศิลปินเต็มไปหมด ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ดี ยิ่งเรามีศิลปินเยอะ ตลาดก็จะยิ่งโต มีคนดูมากขึ้นและกระจายมากขึ้น แต่อย่างที่ผมบอกไปนะครับ ธุรกิจเพลงอยู่ที่โจทย์คนๆ นั้นนะครับ ศิลปินบางคนไม่ต้องมีค่ายก็ได้

ลองนึกภาพดูนะครับ พอเราผลิตเพลงเสร็จ ทุกก้าวที่เราออกไปคือจ่ายเงิน แต่ตอนนี้เราผลิตเพลงเสร็จ ทุกก้าวที่เราออกไปคือได้เงินไง มันไม่มีต้นทุนในการโปรโมท แต่ทุกๆ การโปรโมทเราได้เงินกลับมา คนดู 2 ครั้งเราก็ได้เงิน เพียงแต่ดูเยอะๆ ถึงจะได้เงิน

ถ้าจะถามว่ามูลค่าศิลปินคนไหนมากที่สุด ผมว่ามันตีมูลค่ายากนะ ต้องถามก่อนว่าจะตีมูลค่าอย่างไร? ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ศิลปินคนหนึ่ง รายได้บางอย่างเป็นของเรา สำหรับในโมเดลเดิมหรือของค่ายทั่วไปนะครับ รายได้บางอย่างจะเป็นของค่าย มูลค่าบางอย่างก็จะเป็นของเขาไง ซึ่งเราตีมูลค่าไม่ได้ คุณตีค่าความนิยมของนักร้องคนหนึ่งไม่ได้

สำหรับ BT Cosmetics ที่ร่วมมือกับใบเตย อาร์สยาม ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

กำลังเดินกันอยู่นะครับ คืออย่างนี้ ที่อาร์เอสเราปรับตัวกันเร็ว ตลาดเครื่องสำอางมีการเปลี่ยนแปลง เวลาเราจะเข้าตลาดเราก็จะวิเคราะห์กันในหลายๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นเวลาเรามีข้อมูลทางการตลาด เราก็จะเอามาปรับกันใหม่

มองธุรกิจ Commerce ของอาร์เอสหน่อย?

สำหรับปีนี้อาร์เอสจะปิดดีลกับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะลงตัวกันแล้วในการที่อาร์เอสจะเข้าไปซื้อบริษัทนั้น เพียงแต่ว่าจะไม่ใช่บริษัทที่ทำโรงงานแน่นอน การที่เราจะเลือกธุรกิจนั้นอยู่ที่อนาคตของบริษัทนั้น การเข้ากับกลยุทธ์ของอาร์เอสไหม? และมันต่อยอดกับอาร์เอสได้อย่างไร?  สำหรับ RS Mall ตอนนี้สินค้าที่ขายดีที่สุดยังคงเป็นกลุ่ม Health & Beauty เพียงแต่สินค้าแต่ละตัวจะมีวัฏจักรของสินค้าตัวนั้นอยู่ เราก็ทำการพัฒนาเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราไม่สามารถมองยอดขายว่าตัวไหนดีที่สุด เพราะเราไม่ได้ขายแค่ในโทรทัศน์อย่างเดียว ซึ่งข้อมูลจากที่เรามีอยู่ เชื่อไหมว่าสินค้าที่เราขายอยู่มากกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายไม่ได้มาจากหน้าจอ แต่มาจากการจัดการข้อมูลแล้วโทรกลับไป เราเลยไม่สามารถบอกได้ว่าช่วงเวลาไหนขายดี มันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด

ด้านหน้าก็ทำหน้าที่แบบหนึ่ง คือการวางสินค้าเหมือนชั้นวางสินค้า หาลูกค้าใหม่ ส่วนอีกด้านคือการใช้ข้อมูลจากประมาณ 1.5 ล้านคน เราใช้ระบบ AI วิเคราะห์ให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น เพื่อเลือกสินค้าที่ดีที่สุด แล้วให้ Telesale โทรกลับไป สำหรับปีหน้าเราต้องมองว่าบางบริษัทที่จะโตและแข็งแรงขึ้น อาร์เอสจะเป็นหนึ่งในนั้น แต่ภาพรวมในอุตสาหกรรมก็ยังแย่อยู่

สำหรับคอนเสิร์ตที่ไม่ได้จัดไปช่วงโควิด มีแผนจะกลับมาจัดไหม?

ส่วนของ Coolism เราก็แบ่งออกเป็นแม่น้ำ 3 สาย 2 สายแรกนั้นก็จะมี Cool Fahrenheit กับ Cool Live โดย Cool Live ตั้งมาเพื่อจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมโดยตรง มีคอนเสิร์ตประมาณ 10 คอนเสิร์ต โดยจะไม่ได้จำกัดเฉพาะเพลงของ RS

อนาคตของอาร์เอสจะเป็นอย่างไรต่อไป?

เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เอาง่ายๆ COVID-19 ก็คือสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสถานการณ์ปัจจุบันดีกว่า อย่างตอนนี้เราต้องการปรับให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น ไม่ได้ปรับตัวเพราะวิกฤต หลายๆ คนจะเห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เฉพาะแค่แบรนด์ แต่เราเรียนรู้จากความผิดพลาด ถ้าพบว่าไม่ใช่ก็หยุด แน่นอนว่าที่ผ่านมาเราทำให้องค์กรเล็กลงขึ้นตามที่ตั้งใจ แต่ว่าเราก็ยังที่จะก้าวสู่ตลาดใหม่ อย่างเช่นตอนนี้จะก้าวสู่ตลาดอาหารสัตว์ ซึ่งการเข้ามาของมาเราอาจกระทบรายอื่นไม่มาก แต่เราจะได้อะไรใหม่ ๆ ในตลาดมากขึ้นนั่นเอง