fbpx

เนชั่นทีวีในวันที่ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” กลับมา เพื่อเป็นสถานีข่าวตัวจริงอีกครั้ง!

ท่ามกลางการแข่งขันของการนำเสนอข่าวสารที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากคือความน่าเชื่อถือของการนำเสนอข่าวและลึกในประเด็นการนำเสนอข่าวสาร ซึ่งปัจจัยรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือสังคมก็ตาม มุ่งหวังให้เกิดสถานีข่าวที่น่าเชื่อถือขึ้น เพื่อทำให้เขาสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างครอบคลุม ฉับไว และเป็นความจริง น่าเชื่อถือมากที่สุด

วันนี้ส่องสื่อได้มีโอกาสกลับมาที่ “เนชั่นทีวี” อีกครั้ง เพื่อสัมภาษณ์กับ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ CEO ของ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ที่เคยเข้ามาทำงานกับเนชั่นทีวีตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ จนเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยที่นำเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง และลาออกไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560

เขากลับมาอีกครั้งพร้อมกับความคาดหวังของทั้งคนในเนชั่นทีวีและคนภายนอกว่าเนชั่นจะปรับเปลี่ยนโทนการนำเสนอมากน้อยแค่ไหน? แล้วเหตุใดความน่าเชื่อถือจึงสำคัญมากๆ วันนี้เราชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กันครับ

ก่อนที่จะกลับมาบริหาร มีความคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าวของเนชั่น?

ตั้งแต่ผมออกจากเนชั่นไปผมก็ทำหลายอย่าง อันดับแรกทำพิสูจน์ความเชื่อตัวเอง 77 ข่าวเด็ด อันนั้นคือ concept ของการกระจายอำนาจในการตัดสินใจข่าว ให้กับนักข่าวต่างจังหวัด ดึงพลังนักข่าวท้องถิ่น ชุมชน วันนี้ก็มีคนเข้า 40,000 IP Address ที่ไม่ซ้ำกัน และไปช่วยพัฒนาธุรกิจ OTT ให้กลุ่ม MV (MV Hub) อันนี้คือหนังจีน มีคนแปลกใจเหมือนกันว่าไปถึงขนาดนี้แล้ว และมาช่วยทำ Business Today เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวถนัดผม ผมเคยเป็นบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ ถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับช่องเนชั่น คือผมก็มีเวลาดูน้อย และผมเสพข่าวทั่วไปจากทุก ๆ สื่อ จริง ๆ ก็คงไม่ต่างจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์นะครับ ซึ่งเราก็เห็นว่าถ้าโครงสร้างกองบรรณาธิการเปลี่ยนไป ก็จะเป็นแบบนี้ ยอมรับว่าทีมบรรณาธิการชุดเดิม ไม่ให้ความสำคัญกับระบบโต๊ะข่าว แต่ให้ความสำคัญกับผู้ดำเนินรายการเป็นหลัก ระบบโต๊ะข่าวคือกระดูกสันหลัง และหัวใจของสถานีข่าว ไม่ใช่ผู้ดำเนินรายการ

การกลับมาครั้งนี้ คุยกันยังไงครับถึงตัดสินใจกลับมา?

ผมก็คิดว่ามีเสียงเรียกร้อง ทั้งจากคนภายในที่เคยทำงานอยู่ที่เนชั่นนาน ๆ อยากจะให้ฝ่ายบริหารหรือผู้ถือหุ้น คือ คุณฉาย บุนนาค ได้ชวนผมกลับมาช่วยพัฒนาเนชั่นทีวี ซึ่งครบรอบ 20 ปี ผมเป็นคนที่เริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ได้มอบหมายมา และก็ออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 วันที่ออกอากาศวันแรกคือวันเดียวกับ CNN ในปี ค.ศ. 1980 เราออกอากาศหลัง CNN ออกอากาศที่แอตแลนตา 20 ปี CNN ประกาศตัวเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เราก็ Concept เดียวกัน

ช่วงก่อตั้งเนชั่นทีวี (ตอนนั้นชื่อเนชั่นแชนแนล) ผมได้อ่าน “CNN สถานีข่าว 24 ชม.” ผมอ่านเพื่อซึมซับบรรยากาศและลงมือทำ หลายอย่างคล้ายกันมากคือต้องสร้างเองตาม DNA ของมัน ถ้าเราไม่สร้างเองมันก็ไม่มี DNA ผมเองก็เป็นคนที่เข้าใจ DNA ของช่องเนชั่นทีวีมากที่สุดคนนึง เพราะผมทำตั้งแต่วันแรก ส่วนคนอื่น ๆ รุ่นแรก ๆ ของเนชั่นในปัจจุบันเหลือไม่เยอะในระดับหน้าจอ หรือ บก.ข่าว แต่ก็เหลือคนทำงานหรือฝ่าย Back Office ฝ่ายแอดมิน ฝ่ายขาย เขายังอยู่ และเราก็ได้รับโจทย์จาก คุณฉาย บุนนาค ว่าอยากทำให้เนชั่นทีวี พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันข่าวมืออาชีพ ซึ่งผมก็ได้อธิบายว่า สถาบันสื่อมืออาชีพคืออะไร?

หน้าที่หลักก็คือ คุณต้องรายงานความจริง โดยปราศจากอคติ และถ้าย้อนไปดู Vision ของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้ตั้งแต่ตอนเข้าตลาดหุ้น มีอยู่ข้อหนึ่ง คือการสร้างแรงบันดาลใจ คือเป็นโรงเรียนคนข่าวสำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ อันนี้ผมคิดว่ายังอยู่ ในเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันมีความมุ่งมั่นแบบนั้น และชวนผม

จริง ๆ ครั้งแรกเลยผมได้ขอให้คุณฉาย ได้คุยกับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ เช่น คุณสุทธิชัย หยุ่น และคนอื่น ๆ เพื่อให้อย่างน้อยสุดเพื่อแสดงเจตนาความตั้งใจให้พัฒนาขึ้นไปอีก เนชั่นทีวีถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ข่าวที่เก่าแก่ที่สุด และก็ในช่องดิจิทัล ช่องข่าวก็เหลืออยู่แค่ 3 ช่อง มี TNN 16 มี New18 และก็ช่อง NationTV 22 ของเราก็มีเรตติ้งสูงสุด ผมก็เลยตอบรับ เพราะมีเสียงเรียกร้อง ทั้งศิษย์ปัจจุบันที่อยู่ ทั้งศิษย์เก่าตั้งแต่สมัย Nation Channel ที่ออกไป กับของพวกฝั่งสิ่งพิมพ์อย่างเดอะเนชั่น เรียกร้องด้วย ตั้งแต่มีข่าวออกไป อยากให้ผมตัดสินใจรับกลับเข้ามาทำ ผมก็โอเคที่จะตอบรับ แม้จะมีข่าวลืออื่น ๆ มีทัวร์ลง นั่นก็เรื่องปกติ

เราก็ผ่านมาหลายอย่างแล้ว ช่อง Nation Channel ที่ทำตั้งแต่วันแรกตั้งแต่ UBC 8 แล้วไป ไททีวี และไปเป็นช่องดาวเทียม เคเบิลทีวี ผ่านมาเยอะ เรื่องการที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องเล็ก เราขอเอางานมาเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่าว่าความคิดทางการเมือง ความชอบทางการเมือง มันไม่เกี่ยวกับเรื่องการทำสื่อ ผมเชื่อว่าเรามีความเป็นมืออาชีพพอในการแยกแยะ ก็เลยตอบรับ อันนี้คือเหตุผล และก็เข้ามาได้อาทิตย์กว่า ผมก็ยังยืนยันว่า สถานีข่าวยังต้องมีการกลั่นกรอง ระบบบรรณาธิการ ระบบโต๊ะข่าวที่แข็งแรง นี่คือกระดูกสันหลังหลักของสถานีข่าว ถ้าระบบเหล่านี้ไม่แข็งแรง เราควบคุมคุณภาพไม่ได้ ไม่สามารถนำเสนอประเด็นที่มันต่อเนื่องได้

ผมมักเปรียบเทียบว่าสถานีข่าวเหมือนการวิ่งมาราธอน เหมือนการปั่นจักรยานทางไกล จะเห็นว่าเวลาผมเขียนผมจะติด hashtag แบบนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของระยะยาว ต้องรู้จักออมแรง อย่างผมปั่นจักรยานมาหลายปีแล้ว จากแรก ๆ ผมก็ปั่นได้ในระยะใกล้ ๆ 3-5 กิโลเมตรก็เหนื่อยแล้ว ช่วงก่อนออกจากเนชั่นปั่นได้ 15 กิโลเมตร เราฝึกฝนสะสมกำลัง ปัจจุบันเราปั่นแบบ Non stop อย่างต่ำ 40 กิโลเมตร ผมเปรียบเทียบว่าการทำสถานีข่าวเราต้องสะสมกำลัง แล้วอย่าไปหักโหม  เราต้องรู้จักตัวเอง เราต้องรู้จักโครงสร้างของบรรณาธิการ เหมือนเรารู้เวลาออกกำลัง และต้องรักษาสุขภาพ เพื่อระยะยาว ไม่เหมือนวิ่งเร็วระยะสั้น ถ้าแค่ทำรายการข่าวมันเหมือนระยะสั้น แต่ทำสถานีข่าวมันคือการวิ่งระยะไกล โหมทีเดียวแรง ๆ ไปไม่ถึง แต่ถ้ารู้จักสะสมพลังมันก็จะไปได้

นอกจากเรื่องจังหวะจะสำคัญแล้วและเราต้องสร้างคนของตัวเอง สถานีข่าวนั้นการไปซื้อคนมามันไม่ค่อยยั่งยืน การสร้างคนคือเรื่องสำคัญ คนที่อยู่หน้าจอคือกำลังหลัก จะเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราเป็นโรงเรียนคนข่าว เรามีหลักสูตรสานฝันผู้ประกาศข่าว 10 กว่ารุ่น หลาย ๆ คนได้ผ่านหลักสูตรสานฝันผู้ประกาศข่าวสไตล์เนชั่น อย่างคนที่อยู่หน้าจอปัจจุบัน อย่างคุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ Workpoint Today) ,คุณโมไนย เย็นบุตรที่อยู่ช่อง True4U ก็ใช่ หลายคนผ่านมาจากที่นี่ อันนี้คือหัวใจของการทำสถานีข่าว เราคิดว่า Concept นี้น่าจะถูกต้อง เราต้องสร้างคน ถึงแม้ว่าความจำเป็นตอนนี้เรายังต้องหาคนมาทดแทนคนระดับแม่เหล็กที่ออกไป ก็จะมีทั้งคนที่เข้ามาทดแทนกับคนที่สร้างใหม่ หรือพัฒนาคนที่มีอยู่เดิม ให้มาทดแทนคนที่ออกไปได้

ด้วยการที่คุณอดิศักดิ์เข้ามา ก็มีกระแสเข้ามาว่าเรตติ้งลดลง?

มันธรรมดา ต้องเรตติ้งลดลง แต่ว่าเราก็คิดว่าคุณภาพสำคัญกว่า เป้าหมายความเป็นสถาบันสื่อมืออาชีพสำคัญกว่าเรตติ่ง เพราะยุคนี้ผู้ลงโฆษณาไม่ได้ดูแค่เรตติ้งอย่างเดียว ต้องดูเรื่องของแบรนด์ของสถานี ก็ต้องยอมรับว่า ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีเสียงวิพาษวิจารณ์เยอะ ผมได้คุยกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาของต่างชาติที่อยู่ในไทย เรื่องนี้สำคัญ แบรนด์ต่างชาติเขาระมัดระวังในเรื่องของสื่อที่ถูกวิพากวิจารณ์ เรื่อง Fake News, Hate speech เขาไม่ลงโฆษณานะ ถึงเรตติ้งสูงเขาก็ไม่ลง เพราะนี่ก็เป็นแคมเปญระดับโลกนะ ครั้งนี้ที่เนชั่นชัดเจนว่ามีผลกระทบ แต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจ ให้ความเชื่อมั่นเหล่านี้กลับมา และผมคิดว่าคนที่กลับมาดูเรามากขึ้น ก็เป็นคนที่ต้องการ คุณภาพของสื่อ ส่วนคนที่คิดว่าแบบเดิมดีเหมาะสมก็จะไม่ดูเราสักพักนึงก็คงกลับมา

สำหรับตัวของ Content หรือ รายการต่าง ๆ มันต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เป็นสถานีข่าว?

เดิมสัดส่วนของข่าว มันให้น้ำหนักไปในทางของข่าวการเมืองเยอะมาก คอนเทนต์ของ Nation Channel เดิมมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น ข่าวต่างประเทศ ข่าวบันเทิง ศิลปะ วัฒนธรรม ข่าวเกี่ยกับคุณภาพชีวิต ข่าวการลงทุน ข่าวสืบสวนสอบสวน มันหายไปเยอะ เราต้องกลับมาทำ เพราะว่าประเทศเรามีเรื่องให้พูดเยอะแยะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว สถานีข่าวไม่ควรละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

สำหรับสถานีข่าวที่เป็นช่องบริการภาคพื้นดินระดับประเทศ มีความหนักใจกว่าการทำสถานีข่าวสมัยก่อนไหม?

ผมว่าไม่ได้มีความหนักใจอะไร ที่ผมพูดไม่ได้หมายถึงทีวีหรือ First Screen อย่างเดียว เราพูดถึงทุก Platform ภายใต้แบรนด์ NationTV ควรที่จะมี Content ที่หลากหลาย ที่มีมาตรฐาน เข้ากับความต้องการของคนแต่ละช่วงวัย เช่น โทรทัศน์อาจจะเหมาะกับผู้ชมอายุ 40-45 ขึ้นไป แต่กลุ่มอายุที่น้อยลงมา บางคนบอกว่าไม่ดูโทรทัศน์แล้ว แต่จริง ๆ เนชั่นทีวีมีออนไลน์ เราต้องทำส่วนนี้ ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ อาจจะใช้คนละทีมทำ แต่ source ใช้อันเดียวกัน ภาพถ่าย วิดีโอ มีอยู่ในส่วนกลาง ดึงมาปรุงแต่งให้เหมาะสมโดยบรรณาธิการคนละวัย เพื่อให้แบรนด์เนชั่นทีวี เข้าถึงได้ ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะทางทีวีอย่างเดียว ทั้ง Podcast, จัดกิจกรรม, เวทีสัญจร จะเห็นว่าเราเริ่มมีความร่วมมือกับ สถาบันพระปกเกล้า บริษัท OpenDreams และสื่อท้องถิ่นอย่าง ไทยนิวส์ อีสานบิซ โฟกัสภาคใต้ 77 ข่าวเด็ด ในการทำเรื่องเลือกตั้ง อบจ. จัดทำเวทีสัญจร อันนี้คือบทบาทของเนชั่นทีวีในทศวรรษต่อไปคือ ทศวรรษที่ 3 ก็คือว่าเราต้องเป็น Open Platform ที่ให้ทุกคนได้ใช้ ใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน นำความรู้ถ่ายทอดออกไป ทั้ง Platform ทีวีดิจิทัล ออนไลน์ Social Media หรือ On Ground ทำทุกอย่าง

จากกรณีแบนเนชั่น ในช่วงที่ยังไม่ได้กลับมาบริหาร รู้สึกอย่างไร และมีวิธีการจัดการอย่างไรให้สื่อมีความเป็นกลางมากขึ้น?

การแบนสื่อ จริง ๆ เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ผล เพราะสปอนเซอร์ไม่ได้สนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีการตอบสนองสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ได้ผล ต้องยอมรับ เพราะพลังของผู้บริโภคสูงและเป็นกระแสระดับ Global ทั่วโลกก็มีเช่นกัน เช่น Facebook ก็ยังมีถูกแบน อันนี้ก็เหมือนกันเป็นเรื่องปกติที่สื่อจะถูกแบน เนื่องจากไม่ระวังตัว ไม่แม่นในหลักการทำงาน ก็เกิดการแบนเกิดขึ้น และถามว่าจะสร้างความเชื่อมั่น เราก็กลับมาทำความเป็นสื่อมืออาชีพ มันไม่ใช่เรื่องของความเป็นกลาง คือสื่อมีจุดยืนได้ แต่ต้องไม่แสดงออกด้วยความรุนแรง อย่างเช่น Hate speech ทั้งท่าทาง การใช้ข้อความบนหน้าจอ สีที่ใช้ ภาษากายของผู้นำเสนอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่เราต้องเปิดกว้างให้คนอื่นโต้แย้งได้ ไม่ไปโจมตีเขา ผมเข้ามาได้ 7-8 วัน ผมได้พบบริษัทเอเจนซี่โฆษณา หลายราย ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี หลายคนรู้จักผมอยู่แล้ว สิ่งที่ผมพูดไม่ได้โกหก เพราะทำมาแล้ว ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักผม จะมาโจมตีหรือมา IO อย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ก็แค่นั้นเองไม่มีอะไร

ให้เวลาตัวเองเท่าไหร่กับการสร้างสถานีข่าวให้กลับมา?

ผมคิดว่าตอนนี้ถือว่าทำงานแบบวิ่งเร็วนะ เข้ามาได้นับเวลาทำงาน วันนี้วันที่ 7 นะ (ในวันสัมภาษณ์) แต่ผมทำทุกวัน เสาร์ อาทิตย์ก็ทำ เพียงแต่ว่า บางวันไม่ได้อยู่ออฟฟิศแต่ก็ทำ ผมก็ทำทั้งปรับโครงสร้างการทำงาน ให้ระบบโต๊ะข่าวกลับมาเป็นหัวใจ สร้างระบบบรรณาธิการข่าว บรรณาธิการรายการ บรรณาธิการออกอากาศ บรรณาธิการบริหาร หาพันธมิตร เข้ามาร่วมมือกับเรา เพราะเราไม่ได้มีความสามารถทำทุกอย่างได้

ปรับ Mindset ของคนทำงานระหว่าง TV, Online มันต้องคนละ Target กัน รวมทั้งทำโครงสร้างเชื่อมโยง Content ในเครืออย่าง กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ที่มีความถนัดในด้านของตัวเอง มาเชื่อมโยงต่อการนำเสนอ เพื่อให้เนชั่นทีวีไม่ใหญ่เกินไป คล่องตัวในการทำงาน อาศัยเครือข่ายพันธมิตรมาช่วยในการทำงาน ปัจจุบันเนชั่นกรุ๊ปมีช่องทีวี 1 ช่อง และสื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์  แต่ในตัว NBC เองก็มีครบทั้งทีวี สื่อออนไลน์ ก็ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย รวมถึง Open Platform เปิดรับพันมิตรเพื่อความคล่องตัว

ทาง NBC มีทำ Podcast ด้วย ชื่อ “สรุปให้ฟัง” คิดว่าจะแตกรายการย่อยที่เป็น Podcast เพิ่มเติมไหม?

คงมีอยู่แล้ว แต่เราเน้นที่ตัวช่องมากกว่า เพื่อให้กลับมาสู่สถาบันข่าวมืออาชีพ ผู้สื่อข่าวต้องกลับมายืนรายงานข่าว ด้วยความภาคภูมิใจ ดังสโลแกน “ทุกสนามข่าว เราคือตัวจริง” ต้องพูดได้เต็มปาก ไม่ใช่ต้องปิดบังเสื้อตัวเอง ปิดบังไมค์ เอาจุดนี้ก่อน Podcast จะเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด บอกได้เลย ไม่ได้ยากอะไร

ต้องทำงานหนักแค่ไหนที่จะรีแบรนด์ ภาพลักษณ์ช่องเนชั่นทีวี และสื่อในเครือ ให้กลับมาถึงบนพื้นโลกแบบที่ตั้งใจ?

คือผมเข้ามาทำเนชั่นทีวีเป็นหลัก ไม่ได้สื่อในเครือทั้งหมด ส่วนเรื่องตัวช่องไม่ได้หนักใจอะไร เข้ามาได้ 7-8 วันเรารู้ DNA ของเรา ที่ผ่านมาอาจจะละเลย DNA ความเป็นสถานีข่าว ซึ่งอย่างที่ผมเขียนใน Facebook ก่อนที่จะเข้ามา ผมได้คุยกับทางผู้ถือหุ้น คือคุณฉาย บุนนาค ว่า อยากจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งแรกคือ ต้องกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารให้เป็นความจริง ไม่อคติหรือปล่อยสารพิษออกไป สิ่งที่สองเหมือนกระจกกับตะเกียง กระจกคือสะท้อนทุกสิ่งตามความจริงไม่บิดเบี้ยว ส่วนตะเกียงคือการส่องให้เห็นมุมมืด สิ่งไหนที่ไม่ดีจริง คุณต้องรายงาน และต้องมีความเที่ยงธรรมด้วย สะท้อนสังคม อันนี้จะบอกว่า เราไม่ควรเฮไปทำนั่นนี่ตามกระแสจนเกินเหตุ และละเลยเรื่องที่สำคัญแต่คนไม่ค่อยเห็น เราต้องหยิบขึ้นมา ให้สังคมหันมามอง เป็นการกำหนดวาระทางสังคม

การวางตัวเป็นโรงเรียนคนข่าว อันนี้ถือว่าสำคัญ เราต้องสร้าง Inspiration ให้คนรุ่นใหม่ ๆ แต่ก่อน เนชั่นคือสถานที่ที่มีคนรุ่นใหม่อยากมาทำงาน แต่ว่าระยะหลัง ๆ อาจจะมีสื่ออื่น ๆ เยอะแยะก็เจือจางไปเยอะ เราต้องกลับเข้ามาใหม่ นอกจากเป็นโรงเรียนคนข่าว ต้องเป็นโรงเรียนสังคม คือเป็น Platform เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม หรือเรานำเสนอข่าวออกไปให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างน้อยที่สุดเรามีบุคลากร มีความน่าเชื่อถือ กลั่นกรอง เราสามารถเป็นโรงเรียนที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้ รวมทั้งกิจกรรม เวทีดีเบทในประเด็นที่แตกต่างกัน ทำให้ความคิดเห็นที่ต่างกันเข้ามาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เดิมมีคนตั้งคำถามว่า ช่องเนชั่นไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเราก็แค่ทำตามสิ่งที่คนวิจารณ์ เพื่อให้เขาเห็นว่าเรายอมรับเสียงวิจารณ์ เชื่อว่าไม่ได้ยากด้วย ไม่ใช่การนับจาก 0 DNA คนที่ทำงานตั้งแต่ก่อตั้งมา หรือระหว่างทาง มีเยอะที่พร้อมกลับมา ทิศทางอาจเคยผิดแปลกไป แต่ตอนนี้เหมือนว่าทุกคนกลับมาทำหน้าที่สื่อปกติ เดิมอาจไม่ปกติ แค่นั้นเองไม่ยากอะไรเลย

พวกรายการบันเทิงเชิงข่าว เนชั่นมีแนวคิดจะกลับมาทำไหม?

เราคงต้องเพิ่มน้ำหนักข่าวที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น เช่น ข่าวการศึกษา ข่าวอาชญากรรม ข่าวสาธารณสุข เทคโนโลยี เพราะที่ผ่านมา 2-3 ปี อาจจะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ไปให้น้ำหนักข่าวการเมืองเยอะ ส่วนรายการที่เคยหลุดผังไปที่ยังพอเอากลับมาทำได้ มีแผนเอากลับมาทำไหม? ผมขอตอบตรงนี้เลยว่ารายการมียุคสมัยของมัน ไม่จำเป็นต้องเอากลับมา อาจจะเป็นการพัฒนารายการใหม่มาแทน ผมไม่ยึดติดกับรายการอะไรเลย

มีคนคาดหวังอยากให้คนเก่า ๆ นอกจากพี่กลับมา จะมีกลับมาบ้างไหม?

อันนี้ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้าไปดูสัดส่วนผู้ถือหุ้น คุณสุทธิชัยยังถือหุ้นอยู่นะ แทบจะเท่าเดิม แต่จะกลับมาหรือไม่ก็คงไม่ทราบ คงต้องไปถามเขา แต่ถามว่าเราสนใจคอนเทนท์แนวต่างประเทศไหม เราสนใจ เพราะว่าช่องเนชั่น ที่ผ่านมาคือจุดแข็ง ช่วงที่คุณสุทธิชัยอยู่รายการข่าวต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แต่คุณเทพชัยไม่ได้ถือหุ้นอยู่แล้ว สำหรับตอนนี้ผมก็วางแนวทางว่าจะกลับมาฟื้นฟูข่าวต่างประเทศในช่องเนชั่นอีกครั้ง แต่เป็นข่าวต่างประเทศที่หลากหลายมากขึ้น คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองต่างประเทศ จะมีหลากหลาย เช่น เรื่องเทคโนโลยี บันเทิง เพราะคนไทยก็สนใจเรื่องต่างประเทศเยอะนะ เช่น หนังของ NETFLIX หรือเรื่องราวของบริษัท Startup ใหม่ ๆ คนไทยก็สนใจ ไม่ได้สนใจแต่การเมืองต่างประเทศอย่างเดียว

อยากให้มองอนาคตของเนชั่นทีวีใน 1 ปีข้างหน้า?

ภารกิจผมคือผมจะทำอย่างไรให้ช่องเนชั่นมีบทบาทความเป็นโรงเรียนคนข่าวและโรงเรียนของสังคม อันนี้ผมว่าเป็นจำกัดความที่คลุมหมด โรงเรียนข่าว เราต้องสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งเพาะคนข่าวใหม่ ๆ ซึ่งคงไม่ใช่แค่บนหน้าจอทีวี แต่เป็นคนทำคอนเทนท์สาระ มีบทบาทกำหนดวาระทางสังคม เป็น Open Platform สำหรับทุกคน เพื่อลบภาพที่บอกเลือกข้างออกไป อันนี้คือความมุ่งหวัง