fbpx

หากพูดถึงคำว่า “ค่ายเพลง” หลาย ๆ คนก็อาจจะคิดถึง 2 ค่ายใหญ่ ๆ อย่างอาร์เอส และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นค่ายแรก ๆ ซึ่งแทบทุกคนต่างก็รู้จักค่ายเพลงเหล่านี้ ในระดับที่เรียกได้ว่าแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว บ้างก็โตมากับแนวเพลงของอาร์เอส บ้างก็โตมากับแนวเพลงของแกรมมี่

ในช่วงที่ทั้ง 2 ค่ายต่างก็เติบโตแบบสุดขีด การขยายธุรกิจจึงเป็นทางเลือกเพื่อที่จะขยายอาณาจักรของธุรกิจบันเทิงที่ทำอยู่ให้ใหญ่กว่าเดิม 1 ในนั้นก็คือธุรกิจการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโทรทัศน์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าหากมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเองแล้วด้วยละก็ นั่นก็ยิ่งช่วยได้มาก

ในปัจจุบันที่นิยามของคำว่า “ค่ายเพลง” ไม่ได้ถูกจำกัดนิยามไว้แค่ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แต่หลาย ๆ คนต่างก็ตั้งค่ายเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีบทบาทเยอะขึ้น หรือไม่ก็เป็นในรูปแบบที่ศิลปินปล่อยเพลงเองแบบไม่ง้อค่ายเพลง การมีกลุ่มธุรกิจมากกว่า 1 ธุรกิจก็สามารถกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัทได้

ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Home Shopping ที่ถึงแม้ว่าคนดูส่วนหนึ่งจะ “รำคาญ” ก็ตาม แต่ก็ยังมีลูกค้าที่เหนียวแน่น วันนี้ทางผู้เขียนจึงจะขอหยิบยกกรณีของ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ต่างค่ายต่างก็ทำ Home Shopping ของตัวเอง มาให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ

โอ ช้อปปิ้ง (จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) – ผู้นำแนวคิด SHOWHOST และรายการขายของแบบสดเข้ามาในไทย

สำหรับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ต้องอธิบายแบบสั้น ๆ เลยว่านอกจากธุรกิจเพลงแล้ว 1 ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างการทำโฮมช้อปปิ้งก็ดูจะเป็นสิ่งที่ค่ายนี้สามารถทำได้ และทำออกมาแล้วเวิร์คด้วย

ด้วยความที่หลาย ๆ อย่างที่อยู่ในลิสต์นี้มีภาพลักษณ์ที่แยกออกจากกัน และบทความนี้เราเน้นพูดถึงกลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้งเป็นหลัก จึงต้องกราบขออภัยด้วยที่ผู้เขียนอาจจะไม่มีโอกาสได้พูดถึงหลาย ๆ สินค้าที่บริษัทเคยผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “โฟร์มี” ที่สร้างความฮือฮาในช่วงเปิดตัว , เครื่องสำอาง “ยูสตาร์” ที่ออกมาไล่ ๆ กัน

หรือสินค้าที่ออกมาใหม่ ๆ อย่าง ผลิตภัณฑ์ “อิโดโล่” ที่บริษัทย่อยของธุรกิจร่วมทุนอย่าง “จีเอ็มเอ็มทีวี” จับมือกับ “เบตเตอร์เวย์ (ประเทศไทย)” เจ้าของแบรนด์ “มิสทิน” เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้จากนักแสดงที่มีอยู่ในค่าย ด้วยการสร้างสรรค์กลุ่มสินค้าสกินแคร์และเครื่องสำอางสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ชื่นชอบซีรีส์วาย โดยวางจำหน่ายในช่องทางการจำหน่ายที่มิสทินมีอยู่ และที่อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เพลส , “ผลิตภัณฑ์ออร่า-ทัย” ที่ “จีเอ็มเอ็ม กู๊ดส์” ร่วมมือกับศิลปินในค่ายอย่าง “ต่าย-อรทัย ดาบคำ” เพื่อออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่เข้าใจผิวของคนไทย และคนในภาคอีสาน โดยออร่า-ทัยเน้นใช้การจัดจำหน่ายแบบ “ขายตรงชั้นเดียว” เป็นหลัก ไม่มีการจัดจำหน่ายร่วมกับกลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง

About Us

แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอพูดถึงกลุ่มธุรกิจ “โฮมช้อปปิ้ง” ที่ค่ายนี้ทำอยู่อย่าง “โอช้อปปิ้ง”

โอช้อปปิ้งจัดตั้งบริษัทในช่วงปลายปี 2554 และเริ่มดำเนินงานในอีกไม่กี่เดือนถัดมา โดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ร่วมทุนกับบริษัท CJ O Shopping Co., Ltd. จากประเทศเกาหลีใต้ ในอัตราส่วน 51 : 49 [1]  (ในปี 2562 ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายเดิมที่ถือในสัดส่วน 49% ทำให้ในปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในบริษัททั้งหมด[2] และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ในเวลาถัดมา)

ในช่วงแรก ๆ อาจกล่าวได้ว่าโอช้อปปิ้งนั้นได้สร้างจุดเปลี่ยนในด้านของรูปแบบการผลิตรายการแนะนำสินค้า โดยนำแนวคิดของอาชีพที่เรียกว่า “SHOWHOST” ซึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศเกาหลีใต้ มาเผยแพร่ให้กับผู้ชมชาวไทย

อาชีพ SHOWHOST มีความแตกต่างจากอาชีพพิธีกร หรือพนักงานขายทั่วไป เพราะจะคัดสรรจากผู้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในทุกด้าน ที่สำคัญก็คือผู้ที่จะประกอบอาชีพ SHOWHOST จะต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจความต้องการของมวลชนได้เป็นอย่างดี[3] นั่นจึงทำให้อาชีพ SHOWHOST มีความแตกต่างจากพิธีกร และพนักงานขายอย่างชัดเจน

อีก 1 ความแตกต่างก็คือการที่ “มีรายการในรูปแบบถ่ายทอดสด” ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ในวงการโฮมช้อปปิ้งในไทยที่มีรายการสด ด้วยความที่โอช้อปปิ้งเน้นการถ่ายทำรายการแนะนำสินค้าในสถานที่ที่เป็นหลักแหล่งชัดเจน จึงเอื้ออำนวยให้กับรายการแนะนำสินค้าแบบออกอากาศสดได้

ทำให้แตกต่างจากรายการแนะนำสินค้าแบบปกติในช่วงก่อนหน้านั้นที่ถ้าหากไม่นำเทปจากต่างประเทศมาฉาย ก็ถ่ายทำในประเทศโดยใช้สถานที่และพิธีกรสับเปลี่ยนกันตามสินค้านั้น ๆ และมักไม่ค่อยมีพิธีกรแนะนำสินค้าประจำ ไม่เน้นการถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ในเวลาถัดมา ก็มีทั้งโฮมช้อปปิ้งเจ้าใหม่ ๆ เข้ามา ก็จัดทำรายการในรูปแบบที่คล้าย ๆ กัน ส่วนเจ้าเก่า ๆ ก็ปรับรูปแบบให้เป็นไปในทางเดียวกัน ทั้ง 2 สิ่งที่นำเข้ามาจึงกลายเป็น “เรื่องปกติ” ของรายการโฮมช้อปปิ้งในปัจจุบัน

ปัจจุบันโอช้อปปิ้งมีรายการแนะนำสินค้า หลัก ๆ อยู่ในสถานีโทรทัศน์ที่เป็นธุรกิจร่วมทุนของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่อย่าง ช่องวัน 31 และ จีเอ็มเอ็ม 25 และในช่องอื่น ๆ เช่น ททบ.5 ,  นิว 18 ,  3 เอชดี เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือเมื่อผลรายได้ของโอช้อปปิ้งในปี 2562 ออกมา ผลกำไร(ขาดทุน)สุทธิ ออกมาในทาง “ขาดทุน”

ปี 2560 มีรายได้รวม 1,900 ล้านบาท กำไร 8.57 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 2,307 ล้านบาท กำไร 20.80 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,700 ล้านบาท ขาดทุน 37.98 ล้านบาท

แต่โอช้อปปิ้งยังไม่ใช่แหล่งรายได้หลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เสียซะขนาดนั้น เพราะกลุ่มธุรกิจซื้อขายสินค้าของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่นั้นทำรายได้ให้กับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ถึง 30% ก็จริง แต่รายได้หลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจเพลง ซึ่งคิดเป็น 60% ของรายได้ทั้งหมด

สำหรับผลรายได้ของบริษัทแม่ ซึ่งก็คือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ในปี 2562 นั้น ถือว่าค่อนข้างเติบโตกว่าปี 2561 มากพอสมควร

ปี 2560 มีรายได้ 4,773 ล้านบาท กำไร 515 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 3,959 ล้านบาท กำไร 15.11 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 6,640 ล้านบาท กำไร 374 ล้านบาท

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (คนที่ 2 จากซ้ายมือ)

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อในกรณีการดำเนินงานของแกรมมี่ไว้ว่า “ณ วันนี้เราไม่ได้คิดว่าทีวีดิจิทัลเป็นธุรกิจทีวี เราถือว่าเราเป็น CONTENT PROVIDER เรากำลังเอาคอนเทนต์ของเราไปสู่ทุกมิติ ทุกแบบ ศิลปินของเราก็หารายได้ได้ การมีรายได้จากการขายสินค้าก็ดี จากการกิจกรรมต่าง ๆ เรามีรายได้หลายช่องทาง  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแก้ไขปัญหาในเชิงธุรกิจ ขณะนี้ดิจิทัลทีวี ไม่ใช่เรามีประสบการณ์ เรามีทางออกพอสมควร”

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลให้ส่วนหนึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยังคงโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจเพลงมากในระดับหนึ่ง ซึ่งก็จะแตกต่างกับอีกบริษัทที่เรากำลังจะพูดถึง ที่ปัจจุบันหันไปโฟกัสกับกลุ่มธุรกิจพาณิชย์เป็นหลัก

อาร์เอสมอลล์ : เมื่ออาร์เอสไม่ได้จำกัดตัวเองแค่ธุรกิจบันเทิง

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจสินค้าและแพลตฟอร์ม บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

ในด้านของอาร์เอส กรุ๊ปนั้น ด้วยความที่ในปัจจุบันรายได้จากกลุ่มธุรกิจ MPC นั้นมีเยอะกว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจสื่อ ทำให้ทางอาร์เอสได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณาย้ายหมวด จากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ไปยังหมวดธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

เพลงของอาร์เอสนั้นมักจะได้รับความนิยมในกลุ่มของวัยรุ่น และครองใจวัยรุ่นได้ในหลากยุคสมัย ด้วยตัวเพลงที่ไพเราะ และตัวศิลปินที่เป็นไอดอลในใจของใครหลาย ๆ คน ทำให้กลุ่มธุรกิจเพลงของอาร์เอสนั้นสามารถครองใจผู้ฟังได้ในหลากหลายยุคสมัย

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น การขยายธุรกิจก็ย่อมเป็นเรื่องอันเป็นธรรมชาติของหลาย ๆ บริษัท อาร์เอสก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจภาพยนตร์, ผู้ผลิตคอนเทนต์ และโทรทัศน์,  วิทยุ, สื่อสิ่งพิมพ์, โชว์บิซ, สื่อดิจิทัล, กีฬา, หรือแม้กระทั่งสื่อโฆษณานอกบ้านก็ยังเคยทำมาแล้ว! (ที่พูดมานี้ยังไม่นับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม Sunbox 1 ในสินค้าของค่ายนี้ ที่เคยผลิตออกมาช่วงหนึ่งเพื่อให้ขานรับกับกลุ่มธุรกิจช่องดาวเทียม และกีฬา และก็มาตอบโต้กับกล่องรับสัญญาณ GMMZ ของฝั่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ด้วย แต่น่าเสียดายที่อายุของธุรกิจนี้ไม่ได้ยาวเสียเท่าไหร่)

แต่เมื่อธุรกิจนั้นค่อย ๆ ถูก Disruption ทีละเล็ก ทีละน้อย นั่นก็ทำให้อาร์เอสก็ต้อง Disruption ตัวเองตามไปด้วย และ 1 ในการ Disruption นั่นก็คือการลงสนามสู่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง

ในช่วงเวลานั้นอาร์เอสเลือกที่จะส่ง Magique Youthful Radience สินค้าในกลุ่มของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่ทางบริษัทจัดจ้างผู้ผลิตภายนอกผลิตให้กับทางบริษัท และนำมาจำหน่ายบนช่องทางของตัวเอง โดยวางจำหน่ายผ่านช่องทาง Telesales ผ่านเบอร์ 1781 (ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของ Sunbox) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557

หลังจากนั้นมา อาร์เอสจึงค่อย ๆ ปล่อยสินค้าของตัวเองออกมาทีละเล็ก ทีละน้อย ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ “เอสโอเอ็ม” , ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในไลน์ใหม่ ๆ ภายใต้แบรนด์ “มาจีค”, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมภายใต้แบรนด์ “รีไวฟ์” ออกมาเพื่อวางจำหน่ายบนช่องทาง Telesales ของอาร์เอส

เมื่อทุกอย่างไปได้สวย ช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 อาร์เอสจึงได้เริ่มส่งรายการแนะนำสินค้า และเว็บไซต์ Shop1781 ออกมาในช่วงเวลานั้น และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมวางจำหน่ายบนช่องทางโมเดิร์นเทรด, บิวตี้สโตร์ และร้านผลิตภัณฑ์ความงามครบวงจรในช่วงปี พ.ศ. 2560[4]

และในปี พ.ศ. 2561 อาร์เอสก็ได้เปิดตัว Lifestar BIZ ธุรกิจขายตรงที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของขายตรง และรองรับการขยายฐานเติบโตของไลฟ์สตาร์[5]

แต่ที่มาชัดเจนจริง ๆ ก็คงเป็นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ที่อาร์เอสเลือกที่หันมาจะโฟกัสช่องทางการขายของตัวเองในส่วนของ Telesales และออนไลน์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และปรับแบรนด์มาเป็น “อาร์เอส มอลล์” เพื่อขยายแนวรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทุกรูปแบบ[6]

ปัจจุบันอาร์เอสมอลล์มีรายการแนะนำสินค้า และโฆษณาทั้งในสถานีโทรทัศน์ของตนเอง คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ อาทิเช่น ไทยรัฐทีวี , อมรินทร์ทีวี , เวิร์คพอยท์ เป็นต้น

สำหรับรายได้ของบริษัท อาร์เอส มอลล์ (หรือ “ไลฟ์สตาร์”) ในปี 2562 นั้นยังอยู่ในจุุดที่ยังทำกำไรอยู่ แต่ผลกำไรก็อยู่ในจุดที่ “น้อยกว่าปีก่อน ๆ ไปมาก” เช่นกัน

ปี 2560 มีรายได้ 1,472 ล้านบาท กำไร 336 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 2,129 ล้านบาท กำไร 247 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 2,012 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท

ที่น่าสนใจก็คือรายได้ของอาร์เอส กรุ๊ป (บมจ.อาร์เอส) ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่กว่า 56% มาจากธุรกิจพาณิชย์ มากกว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจเพลงและอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 14%

ปี 2560 มีรายได้ 659 ล้านบาท กำไร 241 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 859 ล้านบาท กำไร 365 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 916 ล้านบาท กำไร 365 ล้านบาท

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

ด้วยความที่รายได้หลักของอาร์เอสมาจากกลุ่มธุรกิจพาณิชย์มากกว่าสื่อ จึงอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ในปัจจุบันในมุมมองของผู้เขียนมองไปในทิศทางของ “บริษัทพาณิชย์ ที่มีสื่ออยู่ในมือของตัวเอง” มากกว่า “บริษัทสื่อ ที่มีกลุ่มธุรกิจพาณิชย์อยู่ในมือของตัวเอง” ซึ่งสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวไว้กับส่องสื่อว่า “ถ้าให้สรุปภาพ RS วันนี้มีอายุ 39 ปี เข้าสู่ปีที่ 40 และนี่คือการรีแบรนด์ครั้งใหญ่และสำคัญมากที่สุด เพื่อก้าวเข้าสู่ RS ยุคใหม่ที่มีธุรกิจที่หลากหลาย หัวใจสำคัญของเราคือ เรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ เมื่อไหร่ควรหยุด เมื่อไหร่ควรช้า เมื่อไหร่ควรเร็ว ผมคิดว่าจังหวะในการทำธุรกิจคือปัจจัยสำคัญ ถ้าติดตาม RS มาจะเห็นว่า เราปรับตัวมาตั้งแต่ธุรกิจเพลงตลอดเวลา เราสามารถสร้าง Business Model ใหม่ ๆ เรื่อย ๆ โดยยังมีกำไรและแข็งแรง ที่ผ่านมาเรา Transform ธุรกิจมาเป็น Commerce ซึ่งกลายเป็นธุรกิจใหญ่ของเราและก็ประสบความสำเร็จ”

ในมุมของผู้เขียน ผู้เขียนมองว่าการที่ค่ายเพลงมีกลุ่มธุรกิจพาณิชย์นั้น กลุ่มธุรกิจนี้สามารถใช้ช่องทางสื่อของบริษัทแม่ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากรายได้จากช่องทางสื่อที่มีอยู่แล้วด้วย แต่หากกลุ่มธุรกิจนี้ใช้ช่องทางสื่อของบริษัทแม่ในระดับที่ “คุ้มค่าเกินไป” จนคนดูรำคาญ ก็อาจจะทำให้คนดูมองว่า “น่าเบื่อ และดูยัดเยียด” ได้เช่นกัน


เขียนโดย กันต์ หิรัญคุปต์
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง


อ้างอิงข้อมูล

[1] บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) , ข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ที่ GRAMMY 027/2554 เรื่อง การแจ้งร่วมทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอช้อปปิ้ง จำกัด และการเพิ่มทุนของบริษัททีน ทอล์กจำกัด

[2] บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) , รายงานประจำปี 2562

[3] O BLOG , Showhost เทรนด์อาชีพใหม่จากเกาหลี!!

[4] Marketing Oops! , “อาร์เอส” ส่ง “ไลฟ์สตาร์” สู้ศึกตลาด เฮลท์ แอนด์ บิวตี้ ลุย 3 กลุ่ม “บำรุงผิว-เส้นผม-อาหารเสริม” โต 100%

[5] MGR ONLINE , “อาร์เอส” แตกไลน์ปั้น “Lifestar BIZ” ลุยขายตรง ดึง “ไฮเทค-สื่อ” เสริมทัพโปรโมต ดันยอด 5.3 พันล้าน

[6] MGR ONLINE , “เฮียฮ้อ” รีแบรนด์ Shop 1781 เป็น “RS Mall” บุกทุกแพลตฟอร์มดัน MPC โต

[7] เว็บไซต์นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) , หน้าธุรกิจบริษัท

หมายเหตุ : สำหรับข้อมูลการเงิน ทางผู้เขียนอ้างอิงจาก Creden Business Creditscore ซึ่งอ้างอิงจากศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ และแหล่งที่มาอื่น ๆ อีกทอดหนึ่ง