fbpx

นับตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก สำหรับวงการสื่อเองก็เช่นกัน ทั้งสื่อที่เป็นสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ และสื่อทางเลือก ตลอดไปจนสื่อออนไลน์ด้วยทั้งสิ้น เรียกได้ว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็จะได้เห็นในปีนี้” กันเลยทีเดียว ทางทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อได้เชิญ คุณปริญญ์ หมื่นสุกแสง – หัวหน้าเจ้าที่บริหารธุรกิจวิทยุคูลลิซึ่ม, นทธัญ แสงไชย – Podcast Station Director : Salmon Podcast และ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ – บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางสื่อภายใต้ COVID-19 และทิศทางสื่อในปี 2021

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง – หัวหน้าเจ้าที่บริหารธุรกิจวิทยุคูลลิซึ่ม

นับได้ว่าปี 2020 เป็นปีที่จะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “อยู่ ๆ ลูกค้าที่มีการดีลโฆษณาพร้อมคอมเฟิร์มอย่างดี กลับมาระงับการออกอากาศเอาดื้อ ๆ อีเว้นท์ที่ได้มีการแพลนไว้ อย่างคอนเสิร์ต Kamikaze Party 2020 ก็มีการเลื่อนและขยับออกไปจนพฤษภาคมปีหน้า เราเชื่อว่าระลอกแรกที่เจอมาเราผ่านไป ส่วนระลอกต่อไปก็ต้องไปได้ด้วยดี” ปริญญ์ หมื่นสุกแสงกล่าว ทั้งนี้การจัดคอนเสิร์ตจะมีการจัดในรูปแบบ Social distancing เพื่อป้องกัน COVID-19  

ผลตอบรับจากโฆษณาเป็นอย่างไรบ้าง?

คิดว่ายอดคนฟังคงจะไม่ลดลง แต่โฆษณาก็อาจจะไม่เพิ่ม แต่คิดว่าคงจะหยุดลดแล้ว เนื่องจากน่าจะถึงจุดอิ่มตัว เพราะปีหน้าน่าจะมีการแข่งขันที่ดุเดือดกันพอสมควร โควิด-19 ที่กระทบวันนี้ ทำให้ปีหน้าก็ยังจะเป็นปีที่ทำลำบาก โดยเฉพาะสื่อทางเลือกอย่างวิทยุเป็นต้น ก็ค่อนข้างน่าจะมีการแข่งขันที่สูง อย่าง RS GROUP เองก็ต้องมีปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ไม่ใช่แค่เพียงวิทยุ ทั้งสื่อโทรทัศน์ก็คงจะต้องมีการปรับตัวให้ Lean มากขึ้น 


นทธัญ แสงไชย – Salmon Podcast 

“เราโชคดีที่ทีมงานค่อนข้างมีขนาดเล็ก ค่อนข้างมีความ Lean มากอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ COVID-19 ได้ค่อนข้างดี แต่ก็เพราะ COVID-19 ทำให้ต้องมีการ Work From Home โดยการย้ายอุปกรณ์มาอัดพอดแคสต์ที่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วง Lockdown ซึ่งทุกๆ คนจะอยู่บ้านกันและมีการเสพสื่อออนไลน์ที่สูง แต่กลับกันตลาดพอดแคสต์ที่ทุกคนคิดว่าน่าจะโตเร็วขึ้นในช่วงนี้ กลับโตช้ากว่าที่คิดไว้ เพราะผลกระทบจาก COVID-19 แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในสภาพที่โอเคอยู่” นทธัญ แสงไชยกล่าวในวงสนทนา

ทำไมถึงเติบโตช้าตามกว่าปกติทั้ง ๆ ที่เป็นช่วง Lockdown ?

ทุกคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วใช่ไหมครับ ว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งได้มีมาตรการ Lockdown ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Work From Home ซึ่งมีการทำงานอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งโดยแล้วปกติพฤติกรรมของผู้บริโภคจะมีการฟังพอดแคสต์ในช่วงเวลาตอนทำงาน หรือเดินทาง นั่งรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งพอไม่มีการเดินทางไปทำงาน ทำให้ในช่วงแรกที่ lockdown ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าควรฟังพอดแคสต์ช่วงเวลาไหนดี ทำให้ยอดผู้ฟังพอดแคสต์ลดลงค่อนข้างเยอะพอสมควร เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ หลังคนเริ่มปรับตัวกับการทำงานในรูปแบบ work from home ได้บ้างแล้ว ยอดผู้ฟังก็เริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และในช่วงประมาณปลายปีเริ่มมีสปอนเซอร์กลับมามากขึ้นก็เป็นช่วงก่อนที่ COVID-19 ระลอกใหม่จะมา

โควิด-19 ระลอกสองมาแล้ว จะมีการปรับตัวอย่างไร?

เรามีความรู้ ประสบการณ์จากรอบก่อนอยู่แล้ว ว่าจะทำอย่างไรหาก work from home สิ่งที่น่ากังวลคงจะเป็นอีเว้นท์ที่เราเริ่มทำมา ซึ่งเรามีความเชื่อมาตลอดว่าพอดแคสต์สามารถสร้างชุมชนคนฟังได้ รายการหนึ่งที่สามารถสร้างชุมชนคนฟังได้คือ Untitled Case ทฤษฎีสมคบคิด เรื่องลึกลับ ความลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งมีคนที่ฟังอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เราสามารถที่จะต่อยอดจากพอดแคสต์ให้กลายเป็นสื่ออื่นๆ ได้ อย่าง Untitled case ก็กลายเป็นหนังสือ งานอีเว้นท์ที่จัดที่ SF Cinema ที่ Central World ที่ผ่านมา เมื่อก่อนคงไม่มีใครคิดว่าพอดแคสต์จะถูกนำมาต่อยอดกลายเป็นหนังสือ บอร์ดเกม จนกระทั่งอีเว้นท์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นการปรับตัวในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งเราได้มีการแพลนเอาไว้แล้ว ส่วนหนึ่งเราก็หวังว่าพอดแคสต์จะสามารถทำได้แบบที่วิทยุทำมีสปอนเซอร์เข้ามาโฆษณา

อุตสาหกรรมพอดแคสต์จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากน้อยแค่ไหนในปีหน้า?

พอดแคสต์จะกินวงแคบลง อย่างรายที่นิยมมากๆ ก็จะเป็น SNEAKER ON SIGHT เรียกได้ว่าปีหน้าเป็นปีที่พอดแคสต์จะมีความ unique มากขึ้น มีรายการที่มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่มมากขึ้น จะมีคนที่ติดตามและสนใจมากขึ้นอีกในปีหน้า อีกอย่างหนึ่งเลยคือความรู้ในด้านเสียงของคนไทยที่เริ่มพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมาตราการ lockdown จึงทำให้ต้อง Work From Home หรือ ประชุมผ่าน zoom กันมากขึ้น จนไปถึงทำให้เกิด Personal podcast มากขึ้น ด้วยความที่พอดแคสต์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งออนไลน์เป็นอะไรที่ใช้คนจำนวนน้อยอยู่แล้ว เพราะงั้นพอดแคสต์จึงใช้คนน้อยมากๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้หลากหลาย อะไรบางอย่างที่อาจจะดูไม่น่าทำได้ก็สามารถทำได้แล้ว


นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ – บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY

ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ทาง workpointTODAY ต้องมีการปรับตัวในด้าน content ที่มากขึ้น หันมาทำ content ด้านธุรกิจกันมากขึ้น รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพอเจอกับ COVID-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จึงหันมาสนใจเรื่องของเงินทองกันมากขึ้น ในช่วงต้นปีเรามองหานักข่าวด้านการเมืองเพราะข่าวด้านการเมืองค่อนข้างได้รับความนิยมสูง แต่พอมาในยุค COVID-19 เรามองหานักข่าวด้านธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ด้านปากท้อง คนที่เข้าใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนที่สนใจเรื่องนี้ ซึ่งแตกต่างจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เราเน้นประเด็นด้าน Gender และคนพิการ ซึ่งตรงนี้เป็นผลกระทบโดยตรง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยน content ใหม่ ทำให้ความหลากหลายน้อยลง ส่วนอีกด้านคือเรื่องการหารายได้เข้าทีม ซึ่งจริงๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง ในฐานะคนที่ทำสื่อออนไลน์ เม็ดเงินที่ได้รับนั้นถูกกว่าทีวี แต่ทาง workpoint ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่จึงได้รับผลกระทบจากตรงนี้ 

มีวิธีการจัดการคอนเทนต์อย่างไรบ้าง?

ช่วงโควิดเราปรับคอนเทนต์มากขึ้น เน้นคอนเทนต์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ธุรกิจมากขึ้น แน่นอนว่ามีพอดแคสต์ แต่ยังไม่ใช่คอนเทนต์หลักของเราอยู่ดี โดยที่ผ่านมาทาง workpointTODAY ก็มีการจับมือร่วมกันกับทาง google , Facebook จึงต้องมีการจัดสรรทีมงานผลิตวิดีโอให้กับทาง Google และ Facebook อยู่ด้วย พอเรายึดว่าเราเป็นสำนักข่าว โดยธรรมชาติของคนไทยยังไม่ได้จำเป็นที่ต้องฟังข่าวผ่านทางพอดแคสต์เลยทีเดียว โดยปกติแล้วเวลาทำคอนเทนต์ออนไลน์ยังจำเป็นที่จะต้องมีหลายแพลตฟอร์มซึ่งเปรียบเสมือนกับอาวุธที่หลากหลาย ซึ่งเราก็ต้องคิดว่าจะทำคอนเทนต์อะไร ลึกแค่ไหน เกาะกระแสไหม ต้องคิดด้วยว่าจะทำเรื่องนี้เพื่ออะไร แต่โดยรวมๆ ถ้าเป็นข่าวคนส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มสนใจกันอยู่แล้ว ที่เราจะยึดหลักๆ จะเป็นด้านจรรยาบรรณสื่อ “สิ่งที่เราขายไม่ใช่ข่าว แต่เป็นความน่าเชื่อถือ ทำยังไงให้คนเชื่อได้ว่าเป็นความจริง คนกล้าแชร์ได้”

การทำข่าวต้องมีการปรับตัวอย่างไรกับ COVID-19 ระลอก 2?

เราได้รับบทเรียนค่อนข้างมาก จริงๆ ที่ทำมา 3 ปีเทรนด์เรื่องสุขภาพเป็นแกนหลักในการทำข่าวของเราอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญกับทุกคนอยู่แล้ว นับว่าเป็นประเด็นที่ไม่ต้องกังวลเหมือนเรื่องการเมือง ซึ่งทำให้สามารถที่จะทำได้อย่างเต็มความสามารถ และเรายังได้ทำงานร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ Coivd-19 แต่ที่แน่นอนคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม คือเศรษฐกิจ ภาคส่วนไหนที่จะทำเงิน ภาคส่วนไหนที่จะแนะนำให้คนไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางออก รวมถึงเรื่องต่างประเทศด้วย จริงๆ COVID-19 เหมือนเป็นตัวเซ็ตให้โลกอยู่สถานะเดียวกันหมด ทำให้สถานการณ์ข่าวต่างๆ สำคัญมากขึ้น

อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากน้อยแค่ไหนในปีหน้า

ด้วยความที่สื่อออนไลน์มีความ Lean ขององค์กรค่อนข้างมากอยู่แล้ว ถ้าเกิดมรสุมทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้สามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดี อย่างรายการข่าวที่ทำอยู่เราใช้คนที่น้อยกว่า รวมทั้งอุปกรณ์ที่น้อยกว่า ส่วนเรื่องของประเด็นข่าว ด้วยความที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ทำให้นักข่าวหลายคนอยู่ในเซฟโซน ไม่กล้าทำประเด็นอะไรใหม่ๆ นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายแก่สังคม โดยรวมๆ คิดว่าคนรุ่นใหม่ใช้โลกออนไลน์เยอะมาก ทุกวันนี้คุยกับรุ่นน้องที่ทำงานที่เป็นเด็กจบใหม่ที่ workpointTODAY ก็บอกเขาตลอดว่าน้องต้องคอยให้คำแนะนำให้มากขึ้น ต้องแชร์ความเห็นให้ได้เยอะๆ  ปัจจุบันคนที่เสพสื่อออนไลน์คืออายุ 18-30 ปี ซึ่งต้องปรับตัวอยู่ตลอด ปี 2020 ได้สอนเราว่าไม่มีอะไรที่วางแผนอะไรได้ไกลจริงๆ ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นมาก็ควรจะรับมือให้ทัน

ช่วงที่ผ่านมามีการชุมนุมเกิดขึ้นเยอะมาก ในด้านการทำข่าวมีความยากยากขึ้นไหม?

ในฝั่งคนข่าวพอสถานการณ์ประเทศเจอสิ่งใหม่ๆ เยอะไป ซึ่งนักข่าวเองก็ต้องทำสิ่งใหม่ โดยที่ไม่มีคู่มือคอยบอก ซึ่งเป็นความยากที่ท้าทาย ก็ค่อนข้างสนุกนะ อย่างเรื่องสถานการณ์ชุมนุม เราก็คิดว่าเรารายงานสถานการณ์จริงๆ ให้มีการประณีประณอมอย่างไร ในขณะเดียวกันคนก็เชื่อเราจริงๆ อย่างที่บอกเราไม่ได้ขายข่าวที่มีสีสันหวือหวา แต่เราทำให้คนเชื่อใจว่าเมื่อเปิด workpointTODAY เราก็รายงานอย่างไม่มีอคติ 

โฆษณาในสื่อออนไลน์ปีหน้า?

คิดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากการซื้อโฆษณาในออนไลน์ เม็ดเงินมันน้อยกว่าสื่อหลักอย่างทีวี ถ้าหากเป็นองค์กรออนไลน์อย่างเดียวอาจได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบนี้ เนื่องจากมีเครื่องมือที่ครบ แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือลูกค้าหรือเอนเจนซีก็น่าจะรู้จักกับสื่อออนไลน์มากขึ้น ปีหน้าเม็ดเงินโดยรวมจะเป็นขาขึ้นอยู่ แต่คงไม่สามารถวางใจได้ เพราะยังไงทั้งวงการก็ได้รับผลกระทบ เม็ดเงินก็จะหายไป ซึ่งกระทบกับส่วนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่ทราบ


สำหรับใครที่พลาดการสนทนาสดในครั้งนี้ สามารถติดตามสรุปทิศทางสื่อภายใต้ COVID-19 และทิศทางสื่อในปี 2021 แบบย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่ Facebook : ส่องสื่อ และ YouTube : Modernist Studio ได้เลยครับ


สัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
เรียบเรียงโดย ธนโชติ วงศ์เมธิญญ์