fbpx

สถานการณ์สื่อโทรทัศน์ในช่วงปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นปีที่หลายสถานีโทรทัศน์ตั้งใจและวางแผนเอาไว้ว่าจะพัฒนารูปแบบคอนเทนต์ให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นปีที่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ออกอากาศเต็มรูปแบบสักที แต่ก็ไม่วายโดนโควิด-19 เล่นงานจนทำให้หลายช่องต้องงัดคอนเทนต์รีรันออกมากลางคัน หลายสถานีก็ต้องปรับรูปแบบของคอนเทนต์ในสถานีด้วยเช่นกัน รวมไปถึงทิศทางธุรกิจของแต่ละสถานีโทรทัศน์ก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นเดียวกัน วันนี้ทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อขอรวบรวมมาให้ได้ติดตามกัน

โฆษณาทีวีดิจิตอลปีนี้ เหมือนโควิด-19 จะสาดซ้ำธุรกิจอย่างไม่ใยดี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าโฆษณาในช่วงปี 2563 จะเป็นอีกปีที่คนทีวีต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อโควิด-19 เริ่มทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เริ่มจากการถูกสั่งให้เกิดการ Lockdown ทั่วประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ส่งผลทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อประคองให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้ โดยในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนแรกที่เริ่ม Lockdown ยังคงมีมูลค่าโฆษณาสูงที่สุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินเหมือนทุกๆ ปีว่าในช่วงเมษายนจะเป็นช่วงกอบโกยเพื่อทำการตลาดของแต่ละแบรนด์อยู่ จึงทำให้เกิดการซื้อโฆษณาล่วงหน้า ทำให้เม็ดเงินตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด คือ 5,998 ล้านบาท

จนกระทั่งภาครัฐเริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมา รวมไปถึงการงดวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ และนั่นเป็นฟางที่ทำให้ทุกแบรนด์ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย หั่นค่าโฆษณาไปถึง 1,926 ล้านบาท ทำให้เดือนเมษายนเหลือเม็ดเงินโฆษณาอยู่เพียงแค่ 4,072 ล้านบาทเท่านั้น แต่นั่นยังไม่ต่ำที่สุด เพราะหลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม เม็ดเงินโฆษณายังหายไปอีกกว่า 148 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่าโฆษณาในเดือนพฤษภาคมเหลือเพียงแค่ 3,924 ล้านบาท ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งครั้งที่มูลค่าโฆษณาน้อยกว่า 4,000 ล้านบาทในครั้งล่าสุด คือในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 ซึ่งตรงกับช่วงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวรรคต

ในช่วงหลังจากนั้นหลายช่องพลิกวิกฤต ด้วยการนำคอนเทนต์มารีรันแทนในระหว่างที่รอให้การถ่ายทำกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะช่วงที่ชูโรงเรื่องละครเป็นหลัก บางช่องต้องใส่คอนเทนต์รีรันเข้ามาช่วยเพื่อทำให้ตนเองไม่มีช่องโหว่ในช่วงนั้นๆ ในขณะที่บางช่องต้องงดการจัดรายการ Talk Show เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในการถ่ายทำอีกด้วย

หลังจากนั้นเม็ดเงินโฆษณาก็เริ่มฟื้นตัวกลับมามากขึ้นจากการปรับตัวและจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือน้อยลงในประเทศไทย โดยเริ่มเข้าสู่หลัก 5,000 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม และเริ่มกลับมามีเม็ดเงินในตลาดมากขึ้นในเดือนตุลาคม จบ 11 เดือนไปด้วยเม็ดเงินในเดือนพฤศจิกายนที่ 5,966 ล้านบาท

โดยในกลุ่มช่องความคมชัดสูง มีมูลค่าเม็ดเงินในตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 32,795 ล้านบาทใน 11 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มช่องความคมชัดปกติมีมูลค่าโฆษณารวมอยู่ที่ 14,481 ล้านบาทในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,500 ล้านบาท ในขณะที่ช่องข่าวซึ่งมีเพียง 3 ช่องเท่านั้น ในปี 2563 ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา มีเม็ดเงินอยู่ที่ 1,309 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 120 ล้านบาท และช่องสาธารณะ มีเม็ดเงินในรอบ 11 เดือนอยู่ที่ 1,236 ล้านบาท โดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละไม่ถึง 100 ล้านบาท โดยในเดือนเมษายนเป็นต้นมาเหลือมูลค่าเพียง 40 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น

เรตติ้งทีวี : เริ่มรู้ว่าใครต้นตารางบ้างแล้ว

นอกจากในส่วนของเม็ดเงินโฆษณาแล้ว โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับชมโทรทัศน์เลยก็ว่าได้ เนื่องมาจากการที่คนอยู่บ้านมากยิ่งขึ้น นั่นส่งผลทำให้เกิดการสวิงในเชิงของตาราง 10 อันดับแรก โดยเฉพาะในอันดับที่ 4 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคอนเทนต์เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดผู้ชมผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์อีกด้วย

โดยในช่วงสถานการณ์ Lockdown นี้ช่อง 7 ที่มีละครก่อนข่าวอย่าง “เศรษฐีตีนเปล่า” และละครหลังข่าวอย่าง “ร้อยป่า” ที่ถูกใจคนดูเป็นจำนวนมาก และช่อง MONO29 ที่ในช่วงนั้นขนหนังแนวแอคชั่นมาจำนวนมากนั้นต่างได้รับผลพลอยได้จากการที่ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้สามารถกวาดสถิติเรตติ้งสูงสุดในรอบ 11 เดือนได้นั่นเอง ในขณะที่ช่อง 3 ซึ่งได้ทำการปิดช่องแอนะล็อกไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนหนึ่งและส่วนสุดท้ายที่ยังคงดูโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาชมในระบบดิจิตอลมากขึ้น อย่างไรก็ตามอิทธิพลของละคร “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ถูกอกถูกใจแม่ยกแห่งชาติไว้อย่างถล่มทลาย ก็ทำให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ช่อง 3 ทำสถิติเรตติ้งไว้สูงสุดในรอบ 11 เดือนอีกด้วย

นอกจากนั้นในอันดับที่ 4-5 มีการสวิงเรียกได้ว่าเป็นช่วงเลยก็ว่าได้ เริ่มจาก 5 เดือนแรก อันดับที่ 4 ช่อง Workpoint สามารถกวาดเรตติ้งได้ดีจากการมีคอนเทนต์วาไรตี้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพชรตัดเพชร นักร้องซ่อนแอบ และอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนที่จะตกไปในอันดับที่ 6 ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์เกิดขึ้น และกลับเข้าสู่ Top 5 ในช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน โดยมี “เพชรตัดเพชร 300” ที่มาช่วยเสริมให้ช่องกลับเข้าสู่ Top 5 นั่นเอง โดยเรตติ้งสูงสุดคือ 0.675 หรือเดือนเมษายนนั่นเอง

ในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม นั้น อันดับที่ 4 เป็นฝั่งช่องอมรินทร์ทีวีที่สามารถกวาดเรตติ้งได้ 3 เดือนเต็ม จากคอนเทนต์ข่าวอย่างรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ที่สามารถทำให้สถานีเข้าสู่อันดับที่ 4 อย่างภาคภูมิใจ นอกจากนั้นคือละครช่วง 22.00 น. ของ “พี่ฉอด” ที่สามารถทำให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองติดไม่แพ้กันอีกด้วย ก่อนที่จะตกไปในอันดับที่ 6 เฉกในช่วงหลังจากนั้น แต่ก่อนหน้าที่จะขึ้นอันดับที่ 4 อมรินทร์ทีวีก็อยู่ในอันดับที่ 6-7 มาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยเรตติ้งสูงสุดในรอบปีคือ0.739 หรือเดือนกรกฎาคมนั่นเอง

ส่วนอันดับที่ 4 ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายนนั้น ตกเป็นของช่องวัน 31 ที่ได้ “ดวลเพลงชิงทุน” และ “นางฟ้าลำแคน” ละครช่วง 19.00 น. กวาดเรตติ้งถล่มทลาย ทำให้เรตติ้งช่องโดยรวมดีดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว ซึ่งก่อนหน้านั้นช่องวัน 31 อยู่ในอันดับที่ 5-7 มาโดยตลอด ซึ่งช่องนี้พูดได้จริงๆ ว่าคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการที่จะทำให้เรตติ้งสูงขึ้นนั่นเอง

สำหรับอันดับที่ 5 ช่องที่เรายังไม่ได้พูดถึงคือ “ไทยรัฐทีวี” ที่มีสองรายการนำอย่างไทยรัฐนิวส์โชว์ และถามตรงๆ กับ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ที่ทำใหใครหลายคนต้องหยุดมาดูที่ช่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่จัดเต็ม รวมไปถึงประเด็นที่สด ใหม่ ฉับไวอีกด้วย ทำให้คว้าอันดับ 5 ในช่วง New Normal คือเมษายน – กรกฎาคมนั่นเอง

ในขณะที่อันดับที่ 8 นั้น เรียกได้ว่าเป็นเสมือนเลขล็อคเลยก็ว่าได้ เพราะในทุกๆ เดือน ช่อง 8 ก็ต้องคว้าอันดับ 8 ไปแบบงงๆ ชนิดที่เรียกได้ว่า เอ๊ะ หรือฉันควรจะตั้งเป็นเลขอื่นดีไหม? (หัวเราะ) แน่นอนว่ากวาดมาได้จากละคร ซีรีส์อินเดียที่เริ่มน้อยลงไปทุกเดือน และรายการข่าว โดยเรตติ้งสูงสุดคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่กวาดไป 0.394 นั่นเอง

ในขณะที่อันดับที่ 9 หนีไม่พ้นช่องเนชั่นทีวีแน่นอน ที่ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมากวาดอันดับ 9 ไปด้วยเรตติ้งประมาณ 0.2 นิดๆ ด้วยคอนเทนต์ข่าวและการใส่สีตีไข่ของเหล่าผู้ประกาศข่าวชุดเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความที่คนจับรีโมทคือคนกลุ่มวัยมีอายุโดยประมาณก็ทำให้เรตติ้งอยู่ในอันดับที่ 9 และมีเรตติ้งสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน ยกเว้นในเดือนพฤศจิกายนที่หล่นไปในอันดับ 10 นั่นเอง

และอันดับ 10 เป็นการช่วงชิงระหว่างช่อง 9MCOT 30 ที่กวาดเรตติ้งไปได้ช่วง 3 เดือนแรก และช่วงสิงหาคม – ตุลาคม ในขณะที่เดือนเมษายนนั้น ช่อง GMM25 ได้เรตติ้งสูงสุดไปด้วยคอนเทนต์ละครหลังข่าวอย่างเรื่อง “เนื้อใน” ส่วนช่วงพฤษภาคม – กรกฎาคม PPTV HD ช่อง 36 กวาดไป และพุ่งไปในอันดับที่ 9 สลับกับเนชั่นทีวีในเดือนพฤศจิกายนอีกด้วย

โควิด-19 กับการปรับตัวของสื่อโทรทัศน์ในไทย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อหลายๆ สถานีและผู้ผลิตรายการ ทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยังต้องแบกรับ โฆษณาที่หายไป และการถ่ายทำรายการที่ต้องชะงักไปนานเกือบ 2-3 เดือนที่มีการประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด

แนวทางการออกอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงที่หลายรายการต้องพักการถ่ายทำ มีหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศรายการเดิมต่อโดยการออกอากาศเทปรวบรวมความน่าสนใจจากตอนเก่า ๆ ที่เคยออกอากาศมาก่อนหน้า หรือ ออกอากาศรายการเดิมจนหมดสต็อก แล้วนำรายการอื่นมาออกอากาศแทน เช่น หนัง ละคร หรือรายการเก่า ๆ นั่นเอง

แน่นอนว่าสื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่ไม่ว่าสถานการณ์อะไรก็ยังคงต้องออกอากาศ เพื่อส่งต่อข่าวสารสู่ประชาชนที่เข้าถึงโทรทัศน์อยู่นั่นเอง แม้กระทั่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ก็ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินการถ่ายทำมากขึ้น โดยเฉพาะในรายการข่าวที่ต้องออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง อย่างเช่น ข่าว 3 มิติ ที่ “กิตติ สิงหาปัด” เปิดบ้านเป็นโรงถ่ายทำรายการของตนเอง ถ่ายทอดรายการจากบ้านของตนเอง เพื่อลดการเคลื่อนไหวภายใต้นโยบายของรัฐ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นั่นเอง ซึ่งเป็นผลทำให้สถานีโทรทัศน์อื่นๆ ได้งัดไม้เด็ด ไม่ว่าจะเป็นการวีดีโอคุยกันกับแขกรับเชิญของไทยพีบีเอส , การถ่ายทอดจากที่บ้าน ทั้งในสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ รวมไปถึงการใช้เทคนิคพิเศษ เช่น โฮโลแกรมที่ช่วยทำให้แขกอยู่ในสถานที่นั้นโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาได้อีกด้วย

นอกจากนั้น เมื่อรัฐบาลเปิดให้ภาคเอกชนสามารถถ่ายทำรายการได้ โดยการจำกัดคนแล้ว หลายรายการก็เลือกที่จะใช้เทคนิคพิเศษช่วยทำให้บรรยากาศคงเดิม ไม่ได้หายไปไหน โดยเฉพาะในรายการที่ต้องมีผู้ชมเชียร์ด้วย ก็ปรับให้เป็นเสียงในห้องรวมเสียงเพียงเท่านั้น และใช้ภาพที่เป็นแฟ้มภาพเข้ามาช่วย รวมไปถึงการใส่ “Face shield” ที่หลายคนคงจะคุ้นเคยมากขึ้นจากในรายการโทรทัศน์แล้ว เนื่องจากพิธีกรหลายท่านเริ่มใช้มากขึ้น นอกเหนือจากนั้นยังมี “ฉากใสกั้น” ที่อยู่ตามรายการข่าวอีกด้วย นี่คือนวัตกรรมของสื่อไทยที่ประยุกต์ให้ทันสมัยเสมอมา

ดีลนั้นมาที ดีลนี้มาที : การปิดดีลซื้อ และการปิดดีลขาย เป็นเรื่องปกติไปแล้วในยุคโควิด-19

เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราไม่พูดถึงสองดีลที่ถือว่าเป็นที่ฮือฮา เราคงไม่สามารถนำมาสรุปประจำปีได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน นั่นก็คือ การที่ช่อง 3 ตัดสินใจขาย “บีอีซี-เทโร” และดีลแกรมมี่ให้ช่องวัน 31 ถือหุ้นแทนในช่อง GMM25 นั่นเอง ถือเป็นสองดีลที่หลายคนจับตามองเป็นอย่างมาก

เริ่มที่ดีลแกรมมี่ก่อน โดยสรุปง่ายๆ คือ ช่องวัน 31 จะช่วยเข้ามาถือหุ้นในกลุ่มช่องจีเอ็มเอ็ม 25 โดยแกรมมี่ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และให้สิทธิ์แก่ช่องวัน 31 ในการดำเนินการใช้สิทธิ์ทั้งตัวรายการและเครื่องหมายทางการค้าช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละไม่เกิน 30 แต่ไม่เกิน 70 ล้านบาท/ปี ซึ่งการได้รับสิทธิ์ทำการตลาดย่อมรวมไปถึง การจัดผังตามข้อกำหนด กสทช. การหาลูกค้า จัดจำหน่ายเวลาในช่อง หาผู้ว่าจ้างผลิตรายการ และดำเนินการให้คำแนะนำในการดูแลช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ด้วย และยังปรับโครงสร้างใหม่ของจีเอ็มเอ็ม แชนแนลอีกด้วย โดยบริษัทที่อยู่ในเครือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จํากัด จะเข้ามาอยู่ภายใต้บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด นั่นเอง ในส่วนของผู้ถือใบอนุญาตช่อง 2 อย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จํากัด มาอยู่ภายใต้บริษัท จี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อแยกส่วนการบริหารออกจากกันนั่นเอง

ส่วนอีกดีลที่สำคัญ คือการขายเงินลงทุนทั้งหมดที่บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ได้ถือไว้ใน บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ , ข่าววันใหม่ , เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง และรับจัดคอนเสิร์ตให้กับศิลปินทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงรับผลิตรายการวิทยุให้กับสองคลื่นในช่อง 3 ได้แก่ 95.5 และ 105.5 MHz อีกด้วย โดยดีลในครั้งนี้เป็นการขายยกล็อตให้กับไบร์อัน ลินด์เซ มาร์การ์ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 119,999,950 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 59.99 ของหุ้นในฝั่งบีอีซี เวิลด์ถือทั้งหมด มูลค่ารวมทั้งหมด 15 ล้านบาท ทำให้บีอีซี-เทโร หลุดสถานะจากการเป็นบริษัทย่อยในบีอีซี เวิลด์

สองดีลนี้เป็นดีลที่เกิดขึ้นช่วงไล่เลี่ยกัน แถมยังเป็นช่วงของสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย ซึ่งในวงการสื่อ ถือได้ว่านี่เป็นสิ่งที่จับตามองเป็นอย่างมากนั่นเอง

เนชั่นทีวี กับการเปลี่ยนเกมครั้งสำคัญ เมื่อคนเก่าออก เลือดใหม่ต้องมา

นับว่าเป็นอีกสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกเลยจริงๆ สำหรับเนชั่นทีวี ภายใต้บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่หลายคนอาจจะทั้งคาดคิดและไม่คาดคิด นั่นก็คือการลาออกยกชุดของทีมผู้บริหารและผู้ประกาศข่าว (เรียกยกชุดว่าชุดของสนธิญาณ)

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการลาออกของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จากตำแหน่งกรรมการ รองประธานกรรมการคนที่ 2 และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัทฯ โดยมีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการลาออกของ นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย โดยมีผลในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 การลาออกครั้งนี้เป็นการลาออกที่ทำให้ทุกคนจับตามอง เนื่องจากฉัตรชัยมีอำนาจโดยตรงในการดูแลเนชั่นทีวี จากก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 “อัญชะลี ไพรีรัก – สันติสุข มะโรงศรี” ประกาศอำลาหน้าจอเนชั่นทีวีอย่างเป็นทางการ ซึ่งในหนังสือลาออกที่ยื่นมีผลในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และยังมีนายสถาพร เกื้อสกุลที่ลาออกไปอีกคน นอกจากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กนก-ลักขณา รัตน์วงศ์สกุล ซึ่งทั้งคู่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในเนชั่นทีวี และอุบลรัตน์ เถาว์น้อย ก็ได้ลาออกจากเนชั่นทีวีอีกด้วย

นั่นทำให้ ฉาย บุนนาค ต้องสรรหาแผนที่จะมาช่วยทำให้เนชั่นทีวีกลับมามีทั้งผลประกอบการและเรตติ้งที่ดีขึ้น จนได้อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ และได้มีการเปิดผังรายการปี 2564 โดยดึงผู้ประกาศข่าวหลายท่านมาร่วมงาน หนึ่งคู่ที่จับตามองนั่นก็คือ พิภู พุ่มแก้วกล้า และอรการ จิวะเกียรติ ที่รับตำแหน่งควบกับการดูแลคอนเทนต์ของเนชั่นออนไลน์อีกด้วย

Switch off ทีวีแอนะล็อก

หลังจากสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย เริ่มเข้าสู่การออกอากาศในระบบดิจิตอล และทยอยหยุดการออกอากาศทีวีระบบแอนะล็อก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยช่องแอนะล็อกส่วนใหญ่ ยุติการออกอากาศผ่านระบบเดิมเรียบร้อยเกือบทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่ยังมีเพียงช่องเดียวที่ยังไม่ได้ยุติการออกอากาศฯ นั่นคือ “ไทยทีวีสีช่อง 3”

สาเหตุหลักที่ทำให้ช่อง 3 ปิดทีวีระบบแอนะล็อกช้า มาจากการประมูลทีวีดิจิทัลที่ใช้นิติบุคคลอื่นเข้าประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน (บจก. บีอีซี มัลติมีเดีย) และช่อง 3 บนระบบแอนะล็อก (บจก. บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์) ยังมีสัญญาอยู่กับ บมจ.อสมท ผู้ให้สัมปทานออกอากาศทีวีระบบเดิม ซึ่งสัญญาจะหมดในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ทำให้กระทบทั้งการปิดทีวีระบบแอนะล็อก ทำได้ช้าเพราะอาจผิดสัญญา และเกิดปัญหาการออกอากาศคู่ขนานในช่วงแรกของการเริ่มทีวีดิจิทัล ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติให้ออกอากาศแบบ Simulcast ระหว่างช่อง 3 (ระบบแอนะล็อก) และช่อง 3 HD (ระบบดิจิทัล)

จนกระทั่งเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 26 มีนาคม 2563 วันครบรอบ 50 ปีของไทยทีวีสีช่อง 3 และเป็นวันที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ อสมท. ทำให้ช่อง 3 สามารถยุติการออกอากาศทีวีในระบบแอนะล็อกได้ และถือเป็นวันที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคของการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ

COVID-19 ผู้พาทีวีการศึกษามาลงจอทีวีดิจิทัล

สถานการณ์ของโรค COVID-19 ทำให้การศึกษาไทยต้องชะงักเช่นกัน โรงเรียนต้องปิด วันเปิดเทอมถูกเลื่อนออกไป พร้อมกับการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ การเรียนจากที่บ้านผ่านหน้าจอ แทนการเจอหน้าจริง

ทีวีเพื่อการศึกษา อีกหนึ่งหน้าจอที่ต้องกระโจนสู่ทีวีดิจิทัล เพื่อบริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้มากขึ้น โดย สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ สามารถใช้คลื่นความถี่โทรทัศน์เพื่อทดลองออกอากาศได้เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่ 18 พ.ค. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งช่องที่มาให้บริการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของการทดลอง มีทั้ง DLTV (จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง ระดับอนุบาลปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6) ETV (จัดการศึกษานอกระบบ) และช่องอาชีวะศึกษา ขณะนี้ ช่องการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น ได้ยุติการออกอากาศทางทีวีดิจิตอลแล้ว เนื่องจากหมดช่วงการทดลองออกอากาศตามที่ กสทช. ได้อนุญาต

นอกจากนี้ Thai PBS ก็ตัดสินใจเริ่มให้บริการโทรทัศน์ช่องใหม่ เพื่อบริการด้านการเรียนรู้สำหรับทุกคนในชื่อ “ALTV (Active Learning TV)” ที่นำเสนอสาระ และการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ที่มีแกนกลางอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดย กสทช. ได้อนุมัติให้ทดลองออกอากาศทางช่องหมายเลข 4 เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา และ Thai PBS ก็มีแผนที่จะดันให้ ALTV ได้รับใบอนุญาตในการออกอากาศอย่างเต็มรูปแบบต่อไปด้วยเช่นกัน ต้องรอดูในปีหน้า 2564 ว่าเราจะได้เห็นช่อง ALTV เดินหน้าต่อไปในทิศทางไหน และไปในแพลตฟอร์มใดต่อไป


เขียนสรุป : กฤตนัน ดิษฐบรรจง , พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
Infographic : ภูวิช จันทะฟอง