fbpx

เราอาจกล่าวได้ว่า ปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่ถูกจดจำมากที่สุดอีกปีหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เนื่องจากไวรัส COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของทุกคน มากน้อยก็แล้วแต่คนกันไป ถึงอย่างนั้น เวลาก็ผ่านไปอย่างเชื่อช้า เหมือนกับว่าบทความสรุปเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2019 ผ่านมาแล้วนานแสนนาน ฉะนั้น ก่อนจะอ่านบทความสรุปของปี พ.ศ.2563 ท่านสามารถกลับไปอ่านบทความสรุปของปีที่แล้วได้ จากบทความ RECAP 2019 : BOOK : ส่องสื่อ ได้ทางเว็บไซต์ songsue.co

ลดจำนวนพนักงาน ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

เริ่มต้นปีด้วยข่าวสองสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” และ “เดลินิวส์” ที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน โดยไทยรัฐใช้วิธีการ “จ้างออก” จำนวนร้อยละ 50 จากจำนวนพนักงานทั้งหมด เนื่องจากผลประกอบการในปี พ.ศ.2562 ที่ขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี ในส่วนของเดลินิวส์นั้น ได้มีการลาออกของบรรณาธิการบริหาร เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนในปีก่อนหน้าเช่นเดียวกัน [1]

สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติม จากบทความของส่องสื่อ >> เกิดอะไรขึ้น ทำไมหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ถึงต้องลดคนด้วย? : ส่องสื่อ (songsue.co)

เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องหายตายจากไปอีก เพราะเลิกตีพิมพ์

ส่งท้ายปีด้วยข่าวใหญ่ ของสำนักพิมพ์วิชาการที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน หลังจากที่หยุดตีพิมพ์ผลงานใหม่ไปในปี พ.ศ.2561 จนถึงวันนี้ สำนักพิมพ์ Openworlds ประเทศไทย ได้ประกาศปิดกิจการอย่างเป็นทางการ และ จะมีผลภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 หรือ ก่อนปีใหม่ที่จะถึง นำมาซึ่งความเสียดายของแฟนนักอ่านทั่วประเทศ

โดยสามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มของสำนักพิมพ์ได้ ที่นี่ >> Openworlds Thailand – โพสต์ | Facebook

งานหนังสือ หลังมาตรการ Lock Down

หลังภาครัฐคลายมาตรการในระลอกก่อนหน้านี้ PUBAT (สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) ได้จัดงานมหกรรมหนังสือเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 ขึ้น โดยมีมาตรการป้องกันที่ละเอียดตั้งแต่เข้างาน เพื่อรักษาความปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ และสร้างความสบายใจแก่ผู้เข้างาน ถึงแม้จะเป็นงานหนังสืองานแรกหลังจากสถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม แต่ผู้อ่านก็ออกมาจับจ่ายหนังสือกันเป็นจำนวนมาก [2]

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานหนังสือออนไลน์คู่ขนานกันไป เพื่อตอบโจทย์นักอ่านที่ไม่สะดวกในการเดินทางมางาน โดยสามารถสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ของงานได้เลย ซึ่งทาง PUBAT กล่าวว่าจะมีให้สั่งซื้อออนไลน์แบบนี้ต่อไปในงานอื่นๆ ที่จะตามมา

สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ จากบทความที่ส่องสื่อได้สัมภาษณ์ผู้จัดงาน สำนักพิมพ์ และ ผู้เข้าร่วมงาน >> Chiang Mai Book Fair 2020 ความในใจของผู้จัดงาน สำนักพิมพ์ และนักอ่าน หลังรัฐคลายมาตรการล็อคดาวน์ : ส่องสื่อ (songsue.co)

ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นเพราะ COVID-19 เสียทั้งหมด

ดังที่ได้กล่าวไปในบทความสรุป เรื่องราวของสื่อสิ่งพิมพ์ ปี พ.ศ.2562 ว่าสื่อมีแนวโน้มจะปรับตัวไปสู่สื่อออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิต การมาถึงของ COVID-19 จึงเป็นตัวเร่งที่สำคัญอย่างมากให้การปรับตัวนั้นเร็วขึ้นไปอีก โดยในงาน The Standard Economic Forum ที่จัดขึ้นโดย The Standard ได้คาดการณ์ว่าจะมีการใช้สื่อโทรทัศน์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 และ สื่อออนไลน์ ร้อยละ 25

“ต้องแยกให้ออกว่าธุรกิจได้รับผลกระทบเพราะ COVID-19 หรือว่าเพราะ Digital Disruption กันแน่? ต้องมองให้ออกว่าเกิดจากอะไร” [3] น่าจะเป็นคำกล่าวสรุปที่ดีของสถานการณ์สื่อในปีนี้ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และ สื่อประเภทอื่นๆ เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจริง และเป็นส่วนสำคัญในการขาดทุน และทำให้ลดการจ้างงานต่างๆ แต่อย่าลืมว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในปีที่ผ่านมาก็ประสบกับสภาวะ “ขาลง” มาก่อนหน้านี้เช่นกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปนำเสนอในช่องทางออนไลน์มาขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติม จากบทความของส่องสื่อ >> เมื่อ TV และ Internet คือ Mainstream และ 6 เทรนด์ที่ต้องรู้เกี่ยวกับสื่อ! : สรุปจากเวที The Standard Economic Forum : ส่องสื่อ (songsue.co)

สื่อสิ่งพิมพ์ กับการบ้านการเมือง

เรื่องราวของปี พ.ศ.2563 นอกจาก COVID-19 แล้ว สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ สถานการณ์ทางการเมือง และการชุมนุมของนักศึกษาที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวทางตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ได้นำหมายค้น มาที่สำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” โดยได้ตรวจสอบหนังสือ 3 ปก ได้แก่ ขุนศึก ศักดินา และ พญาอินทรีย์ , ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ , ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง [4]

เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ยังสะท้อนให้เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ถึงแม้จะมีเสรีภาพในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากกว่าสื่อประเภทอื่น (ไม่รวมถึงสื่อออนไลน์) ก็ยังไม่ได้มีเสรีภาพเท่ากับประเทศอื่นหลายๆ ประเทศ

สื่อสิ่งพิมพ์ในปี ‘64

จากสถานการณ์บ้านเมือง และโรคระบาดในช่วงปลายปี ทางผู้เขียนจึงเรียนกับท่านผู้อ่านตามตรง ว่าการคาดการณ์สถานการณ์ในปี พ.ศ.2564 เป็นเรื่องที่ยากมากๆ สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปอย่างแน่นอน คงไม่พ้นการปรับตัวไปสู่การเป็นสื่อออนไลน์ของสื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ สำนัก ดังที่ได้คาดการณ์ไปก่อนหน้านี้

ในส่วนของเสรีภาพสื่อ และการขับเคลื่อนกระแสสังคม น่าจะเข้าสู่สภาวะที่ขัดแย้งกันมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่เสรีภาพการนำเสนอของสื่อที่มากขึ้นในที่สุด จึงเป็นอีกครั้งที่จะขอจบบทความส่งท้ายปี ด้วยการให้กำลังบุคคลากรในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ และ สื่อสารมวลชนทุกท่าน สำหรับแรงกาย แรงใจ ในการหาทางออกของปัญหา และ สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ต่อไป

พบกันใหม่ ปลายปี พ.ศ. 2564 ครับ


อ้างอิงเพิ่มเติม

[1] Manager (Online) . 2562 . ตำรวจบุก “ฟ้าเดียวกัน” ตรวจยึดหนังสือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 จาก ตำรวจบุก “ฟ้าเดียวกัน” ตรวจยึดหนังสือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ (mgronline.com)


Infographic : ภูวิช จันทะฟอง