fbpx

ทีวีดาวเทียมกับการเมืองรอบใหม่

สืบเนื่องจากหลังจาก Voice TV ได้ยุติออกอากาศทางดิจิทัลทีวีเมื่อปีก่อน และย้ายมาช่องทางออนไลน์ แต่ยังคงเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของ V2H ออกอากาศ ก็ยังถือว่าเป็นอีกช่องทางที่ยังมีมีคนตามไปรับชมเยอะพอสมควร

จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่การเมืองร้อนแรงของปี 2563 ที่มีการชุมนุมกัน ทำให้ Voice TV ถูกระงับการออกอากาศ ในช่วงเดือนตุลาคม โดยอ้างว่ามีการละเมิด พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ถูกระงับทุกช่องทาง แต่ในทางปฏิบัติ Voice TV ยังคงออกอากาศทางออนไลน์ และเพิ่มช่องทางใน Twitch ด้วย ทำให้เห็นว่าคนยังดูทางโทรทัศน์อยู่ด้วย แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของช่อง ดังตัวอย่างทางทวิตนี้

แต่สุดท้ายทางช่อง Voice TV ก็ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา เนื่องจากศาลอาญายกคำร้อง โดยตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งศาลในวันที่ 20 ต.ค. 2563 ศาลพิจารณาเห็นว่าเนื่องจากผู้ร้องไม่แสดงเหตุชัดเจนว่าจะให้ศาลปิดเนื้อหาบางส่วน หรือปิดทั้งหมด จึงขอยกเลิกคำร้อง จึงทำให้ได้กลับมาออกอากาศทางดาวเทียมอีกครั้ง แต่ได้ย้ายช่องสัญญาณที่ออกอากาศ จากช่อง 51 เป็นช่อง 75 ซึ่งเป็นการเช่าจาก V2H เช่นกัน

TOP TV เมื่ออีกฝั่งก็อาจมาลงดาวเทียมด้วย

ดังที่ทราบกันดีว่าอดีตทีมผู้ประกาศข่าวของเนชั่นทีวี ลาออกแทบเกือบยกทั้งยวง และมีแผนว่าจะไปซื้อเวลาช่อง New18 ทำรายการ แต่ดีลก็ไม่ลงตัว จนกระทั่งมีความพยายามจะซื้อช่อง ก็ไม่ลงตัวอีกเช่นกัน จึงต้องหันมาเปิดตัวช่องของตัวเองภายใต้ชื่อ “TOP TV”

โดยเบื้องต้นคาดว่าทำทีวีออนไลน์แน่นอน แต่ก็มีกระแสว่าปีถัดไปจะทำช่องดาวเทียมด้วย ก็เท่ากับว่าทีวีดาวเทียมการเมือง อาจกลับมาร้อนระอุในปีหน้า ซึ่งความจริงตอนนี้ก็มีช่องอื่นที่มีเนื้อหาการเมืองออกอากาศอยู่แล้ว ทำให้นึกถึงเหมือนกับยุคก่อน ๆ ที่มีทีวีดาวเทียมการเมืองจากสารพัดสีสารพัดฝั่งก่อนรัฐประหาร

บทสรุปจากทีมงาน

ปีหน้าทีวีดาวเทียมอาจได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากการมาของช่องการเมืองของทั้งสองฝั่ง และที่มีความใกล้เคียงกันคือ Voice TV ก็เคยเป็นช่องดิจิทัลทีวีมาก่อน และทีมข่าว TOP TV ก็เป็นอดีตทีมงานและผู้ประกาศช่องเนชั่นทีวี ทางดิจิทัลทีวีมาก่อน หากช่อง TOP TV ลงดาวเทียมจริงและทั้งสองช่องมีความต่างกันทางความเห็นการเมืองชัดเจน ก็ทำให้น่าจับตามอง แม้ว่าจะมีการออกอากาศทางออนไลน์อยู่แล้วก็ตาม เพราะกลุ่มคนวัยรุ่นบางส่วนยังคงดูโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่ และกลุ่มเป้าหมายใหญ่อีกกลุ่มคือ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ

และความร้อนแรงทางการเมืองก็ทำให้น่าจับตามองว่า รัฐบาลจะมีการจัดการอย่างไร และเท่าเทียมกันหรือไม่ ตามหลักประชาธิปไตย เมื่อกระทำอย่างไรกับฝ่ายนึง ก็ต้องกระทำแบบเดียวกันกับอีกฝ่ายเช่นกัน


เป็นปีที่ช่องดาวเทียมปิดตัวเยอะ ทั้งเพราะพิษเศรษฐกิจ และการย้ายไป Online

อีกประเด็นนึง ที่ต้องตามต่อในวงการทีวีดาวเทียม คือช่องที่ปิดตัวไป ซึ่งจริง ๆ ถือว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน (2562 เข้าสู่ 2563) ค่อนข้างเยอะกว่า โดยแบ่งออกเป็นกรณีดังนี้

สารพัดช่องเพลงที่ปิดตัว

เป็นปีที่ช่องดาวเทียมประเภทเพลงปิดตัวลงถึง 3 ช่อง ทั้งบนจานดำอย่าง FanTV จากค่าย GMM Grammy ที่ได้ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยจะยุติออกอากาศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ทางช่อง ไทยไทย และ VeryTV บน TrueVisions ก็ได้แจ้งยุติออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ช่องที่มุ่ง Go Online

Cartoon Club, Mono Plus ก็ลาจากดาวเทียมเรียบร้อย แต่ยังคงออกอากาศทางออนไลน์ และยังมี Disney XD อีกช่อง ที่เป็นช่องจากต่างประเทศที่ให้บริการโดย TrueVisions ก็ยุติไปโดยที่บริษัทแม่ของช่องจากต่างประเทศยุติเอง

ช่องที่จำเป็นต้องไปชั่วคราว

ช่อง ME TV ที่ฉายตลกคาเฟ่เก่า ๆ และมีการ์ตูนของ Cartoon Club ให้ดูด้วย ก็ลาจอโดยจำเป็นต้องลาชั่วคราว เนื่องจากต้องโยกความถี่ให้กับช่อง T Sports บนจานดำ ทำให้ทาง ME TV ต้องหาช่องสัญญาณความถี่ใหม่ไปก่อน

สถิติทั่วไป

ทีวีดาวเทียมในปี 2563 (2020) บางช่วงยอดการรับชมลดลงกว่าปี 2562 (2019) สังเกตได้จากผลจากสถิติด้านล่างนี้ จะพบว่าปี 2562 ในส่วนของทีวีดาวเทียมและเคเบิลจะค่อนข้างอยู่ตัว 11%, 12% ตลอดทั้งปี แต่พอมาในปี 2563 จะพบว่า จะลดลงมาในระดับ 11-10% และช่วงกลางปีเป็นต้นไปลดลงไปถึง 9% หลายเดือนเลย


สรุปปิดท้ายวงการทีวีดาวเทียมปี 2563

จากที่ได้เห็นมานั้น บอกได้เลยว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ช่องดาวเทียมปิดตัวเยอะแบบนี้ เราจึงขอวิเคราะห์แยกประเด็นดังนี้

1. กรณีช่องเพลง: เนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคทางด้านการรับชมมิวสิควิดีโอและการฟังเพลงมีทางเลือกที่หลากหลาย โดยเฉพาะทางออนไลน์อย่าง YouTube และสตรีมมิ่งต่าง ๆ ที่สามารถกดเข้าดูเข้าฟังเมื่อไหร่ก็ได้ และทางค่ายเพลงกับศิลปินเองก็มีวิธีการโปรโมท MV เพลงใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องเพลงอีกต่อไป เพราะสามารถโปรโมททางช่องทางออนไลน์ได้ทันที จึงทำให้ผู้ชมผู้ฟังทางออนไลน์ ได้ฟังและดู MV เพลงใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่า

2. กรณีช่องที่ย้ายไปลงออนไลน์ทั้งช่อง:

จะเห็นได้ชัดว่าเป็นช่องประเภทหนังและการ์ตูน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของช่องเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เช่นกลุ่มเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองจะเปิดการ์ตูนให้ลูกดู ก็เปิดผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันมาก

แต่ทาง Cartoon Club ยังคงไม่ทิ้งตลาดทีวีดาวเทียม โดยการไปเช่าเวลาช่องดาวเทียมอื่น ๆ หลายช่องต่างช่วงเวลาเพื่อออกอากาศรายการการ์ตูน ทำให้มีต้นทุนที่ถูกว่าเช่าดาวเทียมทั้งช่อง รวมถึงทางด้านของหนังที่มีบริการสตรีมมิ่งมาแทนที่ แต่ว่าทางช่อง Mono Plus ก็ยังคงเก็บคนที่ยังชอบดูตามผังรายการไว้ จึงต้องย้ายช่องมาลงออนไลน์แทนที่จะเลิกทำ (ซึ่งความจริงก็อาจทับไลน์ MONO29 ที่เป็นดิจิทัลทีวีอีกช่องในเครือเดียวกันด้วย) นอกจากนี้การที่ทั้งสองช่องย้ายทั้งช่องมาลงออนไลน์ อีกส่วนเพราะตลาดกล่องอินเตอร์เน็ตทีวี หรือ IPTV ต่าง ๆ เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังใช้ทีวีในการรับชม เนื่องจากเน็ตที่แรงเร็วขึ้น จึงนำภาพที่มีความละเอียดสูง เผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตได้สบาย ๆ และยังคงการรับชมรูปแบบเดิมคือ ดูบนจอทีวีได้ และอีกทั้งมีการนำไปแถมกับผู้ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านและอินเทอร์เน็ตมือถือในเครืออีก คนเลยมองว่าไม่จำเป็นต้องติดจานดาวเทียมอีกต่อไป

3. ผู้ให้บริการคอนเทนท์หันไปบุกตลาดสตรีมมิ่งเต็มตัว: จากกรณี Disney XD ที่ยุติการออกอากาศโดยที่บริษัทแม่เจ้าของช่องเป็นผู้ยุตินั้น เราได้ลองสืบค้นข้อมูลพบว่ามีการทยอยยุติในหลายประเทศ ส่วนในไทยคือยุติหลังเที่ยงคืนของ 31 ธันวาคม 2563 มีจุดประสงค์ที่ชัดมาก ว่าจะย้ายคอนเทนท์มาลง Disney+ ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิ่งของตัวเอง และกำลังผลักดันเรียกผู้ชมจึงต้องวางหมากด้วยวิธีนี้ อีกทั้งทำให้ลดต้นทุนได้อีกเพราะยังขายคอนเทนท์ได้ แต่ไม่ต้องดำเนินการเป็นสถานีโทรทัศน์แล้ว

4.  พิษเศรษฐกิจและโควิด-19: ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจถือว่าน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว มาเจอวิกฤตโควิด-19 อีก ก็ทำให้หลายบริษัทพิจารณายุติสิ่งที่ขาดทุนเยอะ หรือไม่มีความจำเป็นออกไป ก็เป็นอีกเหตุผลที่เร่งให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น


อ้างอิง

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/135223
https://voicetv.co.th/read/77jAPmRpc
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5549494