fbpx

ปี พ.ศ.2563 เราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปีที่มีการแบนสื่อมากที่สุดอีกปีหนึ่ง เนื่องจากการนำเสนอข่าวที่ขัดต่อจรรยาบรรณสื่อ รวมไปถึงความพยายามอยากนำเสนอข่าวให้ถึงประชาชนอย่างรวดเร็วมากที่สุด จนทำให้เกิดความผิดพลาดและมีผลกระทบตามมา ทำให้เกิดการวิจารณ์และส่งผลเสียต่อสังคม ตามมาด้วยบทลงโทษที่สื่อมวลชนเองต้องรับสภาพ วันนี้เราจะพาไปย้อนดูเหตุการณ์กัน

กราดยิงโคราชสะท้อนวงการสื่อ

จากกรณีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช เมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2563 สื่อแต่ละสำนักต่างรีบเร่งทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว เพื่อความรวดเร็วและฉับไว เข้าถึงประชาชนที่กำลังติดตามและให้ความสนใจในขณะนั้นซึ่งมีจำนวนมาก แต่ก็มีสื่อบางสำนักได้นำเสนอข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกิดความยากลำบากมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ นำไปสู่การเกิดกระแสแบนสื่อที่เกิดขึ้น จนทำให้ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ และทำให้การแบนที่เริ่มจากหนึ่งสำนักขยายเพิ่มขึ้นเป็นอีกหลายสำนักที่นำเสนอข่าวสารไม่เหมาะสม

ณ เวลา 21:32 น. Facebook ของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือในการไม่เผยแพร่การปฏิบัติการในการจับกุมผู้ก่อเหตุ รวมถึงการระมัดระวังในการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมากขึ้นด้วย

และในวันถัดมา (วันที่ 9 กุมภาพันธ์) เวลา 15:56 น. Facebook ของสำนักงาน กสทช. โพสต์ชี้แจง เรื่อง การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดของสื่อบางสำนัก โดยมีการโทรศัพท์แจ้งเตือนตลอดและแจ้งว่าหลังจากนี้จะมีการเรียกสื่อทุกสำนักมาให้ข้อมูล ก่อนจะลงมติดำเนินการกับสื่อต่อไป โดยจะมีการเรียกให้มาทำความเข้าใจในการนำเสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพื่อเสนอมาตรการรองรับการออกอากาศรายการในลักษณะดังกล่าวต่อไป

หลังจากเหตุการณ์นี้ กสทช. มีมติเห็นชอบตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยเห็นชอบให้มีคำสั่งปรับทางปกครองทั้งหมด 3 บริษัท โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 59 (3) ประกอบกับมาตรา 57 (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 คือ ไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี ถูกปรับเป็นจำนวนเงินช่องละ 500,000 บาท ส่วนช่องวัน 31 ที่ร่วมถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในวันนั้นถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 250,000 บาท

https://www.prachachat.net/ict/news-425294

การเสียชีวิตของเด็กสู่การนำเสนอข่าวเสมือนละคร

จากกรณีคดีการหายตัวไปและเสียชีวิต “น้องชมพู่” เด็กหญิง 3 ขวบ แห่งบ้านกกกอก สื่อหลายสำนักมีการนำเสนอข่าวคดีน้องชมพู่ แต่มีสื่อบางสำนัก ได้แก่ อมรินทร์ทีวี และไทยรัฐทีวีได้นำเสนอข่าวในแบบ “คดีแทบไม่มีความคืบหน้า แต่ข่าวยังมีให้เล่น” เหมือนกับมีตัวละครเกิดขึ้นรอบตัวน้องชมพู่ที่ตาย และนำเสนอข่าวเกี่ยวกับลุงพลแทน โดยนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของลุงพล เช่น ลุงก้าวเท้าข้างไหนออกจากบ้าน , ลุงร้องเพลง (ที่พีคคือมีช่องหนึ่งปาดเนื้อแบบคาราโอเกะเลยด้วย) , สัดส่วนลุง ,แม้กระทั่งลุงไปจ่ายตลาดกับหมอผีท่านหนึ่งก็นำเสนอว่าไปซื้ออะไรมา และราคารวมเท่าไหร่ จนทำให้วิถีชีวิตของลุงพลและชาวบ้านเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านค้าและประชาชนเดินทางไปอย่างน้อย 300 คน ตลอดจนลุงพลนั้นได้รับโอกาสหลายสิ่งหลายอย่างแบบงง ๆ ได้ทั้งบ้าน (ใหม่) ได้ทั้งรูปเหมือน แม้กระทั่งโอกาสในวงการบันเทิง! เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่คดียังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งสังคมโลกออนไลน์ได้เกิดการต่อต้านขึ้น เช่น แบนลุงพล แบนสื่อ แบนอมรินทร์ แบนไทยรัฐ เป็นต้น และตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ตลอดจนมีการถามหาจรรยาบรรณจากสื่อในปัจจุบัน

นำเสนอบิดเบือนความจริงสู่การแบนสื่อและสปอนเซอร์

จากกรณีคลิปเสียงของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับคุณทักษิณ ชิณวัตร ในรายการเก็บตกจากเนชั่นที่นำมาออกอากาศ ได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและทำให้เกิดการแบนขึ้น แต่ในช่วงเวลานั้นทางเนชั่นทีวียังไม่ได้รับผลกระทบมาก และเลยเถิดมาจนถึงคดียุบพรรคอนาคตใหม่ของธนาธร ทำให้เกิดการชุมนุมในมหาวิทยาลัยต่างๆ และหยุดไปช่วงหนึ่งจากโควิค-19 ระบาด และกลับมาในช่วงเหตุการณ์อุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งมีการชุมนุมขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 2563 มีกระแสแบนเนชั่นเกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ และครั้งนี้มีการสนับสนุนให้แบนสปอนเซอร์เนชั่นด้วย ซึ่งในการแบนเนชั่นครั้งนี้ทางเนชั่นทีวีได้ออกมายอมรับว่า มีบริษัทหลายแห่งทยอยถอนโฆษณาออกจากเนชั่นเรื่อย ๆ จริง และจากการสัมภาษณ์ คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ได้ให้การยืนยันอีกครั้ง โดยกล่าวว่า “การแบนสื่อ จริง ๆ เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ผล เพราะสปอนเซอร์ไม่ได้สนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีการตอบสนองสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ได้ผล ต้องยอมรับ เพราะพลังของผู้บริโภคสูง” สามารถอ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://songsue.co/11612/

ในเวลาต่อมา จากกรณีรายงานข่าวแบบถ่ายทอดสดจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 โดยสื่อบางสำนักได้มีการตัดต่อภาพจาก 2 เหตุการณ์ คือ 1) ฉากฉีดน้ำแรงดันสูงเกิดขึ้น 2) การย้ายรถตำรวจที่เวลาใกล้เคียงกันมารายงาน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเวลาเดียวกันได้ แต่แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์ที่ 1 และ 2 เกิดหลังจากนั้นห่างกันเกือบครึ่งชั่วโมง จนทำให้เกิดกระแสแบนช่องวัน ซึ่งเป็นช่องต้นสังกัดขึ้นมาในสังคมโลกออนไลน์ และนำสปอนเซอร์ช่องวันมาพูดถึงอีกครั้งเหมือนกับกรณีแบนเนชั่น

และนอกจากนี้ยังมีกรณีรายงานข่าวชุมนุม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ไทยรัฐทีวีรายงานข่าวผิดจากความเป็นจริง ด้วยความต้องการรายงานข่าวสารให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว แต่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย โดยรายงานว่ากลุ่มนักเรียนอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันและมีการใช้อาวุธกันเอง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดกระแสแบนไทยรัฐเกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์อีกครั้ง และในภายหลังได้ออกแถลงขออภัยในการรายงานข่าวดังกล่าวแล้ว

วันที่เนชั่นไม่มีกนกและกลับสู่ Nation Way อีกครั้ง

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 นายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรข่าวชื่อดังของช่องเนชั่น ประกาศลาออกหลังจากที่ทำงานมานานถึง 24 ปี โดยเจ้าตัวได้โพสต์รูปและข้อความผ่านทาง Facebook ส่วนตัว โดยระบุว่า “ซาบซึ้งใจน้อง ๆ ทุกคน ผมอยู่ที่นี่มา 24 ปี (คุณปุ้มอยู่มา 27 ปี) ทุกค่ำคืนก่อนกลับบ้าน เราสองคนจะเดินปิดไฟ ปิดทีวี จุดที่ไม่จำเป็น แทบจะทุกชั้น เพราะเราคิดว่าที่นี่คือบ้าน ไม่ใช่ที่ทำงาน แต่แม้เราจะอยู่นานแค่ไหน เราสองคนก็เป็นเพียงผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าของบ้าน อีกไม่นานก็จะเกษียณแล้ว อยากอยู่ที่นี่จนถึงวันนั้น หวังจะได้ร่ำลา และส่งไม้ต่อให้น้อง ๆ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

เราผ่านเหตุการณ์..ผ่านกลุ่มผู้บริหารเก่าๆ หลายคน บางคนจากไป โดยทิ้งปัญหาไว้ใต้พรม.. บางปัญหาถึงขั้นฟ้องร้อง! บางคนรับเงินชดเชยไปนับ 10 ล้าน แต่บอกลูกน้องว่าตนเองไม่ได้อะไรเลย..  บางคนไปตั้งกลุ่ม ด่าทอบ้านตัวเอง วันทั้งวัน..ทุกวัน สุมไฟบ้านเก่า… เราจะไม่เป็นเช่นนั้น เราจะไม่ลืมสิ่งดีๆ ที่นี่ เนชั่นให้เรามีวันนี้ ผมไม่ใช่คนร่ำรวย.. และกำลังจะเป็นคนแก่ จึงเป็นเรื่องลำบากใจ ที่ต้องจากไปหางานใหม่ ในวัย 50 กว่า ที่ไม่มีอะไรมั่นคง มีแต่ความเสี่ยงรออยู่เบื้องหน้า  แต่ทุกเส้นทางข้างหน้า เราเชิดหน้าชูตาได้ ไม่ต้องหลบสายตาใคร ไม่มีใครกล่าวหาเราได้ ในเรื่องผลประโยชน์เบื้องหลัง ถ้าน้อง ๆ รู้จักพี่ อยากให้เป็นพี่กนกคนเดิม ต้องให้พี่ไป..ผมก้าวออกจากเนชั่น เพราะต้องการเป็น “กนกคนเดิม” แต่ถ้าอยู่ต่อ.. คงไม่ใช่พี่กนก ที่เคยอยู่มา 24 ปี  ขอส่งความรัก กำลังใจให้ทุกๆคน ทำหน้าที่สื่อด้วยความรักชาติ บ้านเมือง และสถาบันฯ เลือกยืนอยู่ข้างความถูกต้อง มีคุณธรรม กราบลาศาลพระพรหม เจ้าที่เจ้าทาง หน้าอาคาร สวัสดีครับ วันจันทร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓”

และในวันต่อมา (10 พฤศจิกายน 2563) เนชั่นได้จัดงานแถลงข่าวขึ้น โดยยืนยันในการลาออกของผู้ประกาศข่าว คือ กนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญไพบูลย์, อัญชะลี ไพรีรัก และ สันติสุข มะโรงศรี และแถลงให้ความเชื่อมั่นอีกครั้งว่า จะทำให้เนชั่นกลับมาเป็นสถาบันสื่อเหมือนเดิม โดยการนำแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่เรียกว่า “เนชั่น เวย์” กลับมา

หลังจากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ได้มีการจัดงานเปิดบ้านเนชั่น โดยมีการปรับเปลี่ยนผัง กลับสู่สถานีข่าวของคนรุ่นใหม่ เรียกว่า All New Nation TV และได้มีผู้ประกาศข่าวเข้ามาร่วมงานใหม่ โดยเฉพาะ ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า ที่จะเข้ามาร่วมงานในปี 2564 นอกจากนั้นยังมี กวาง อรการ จิวะเกียรติ, อร อรรินทร์ ยมกกุล, เกม ชวัลน์ จันทร์ทรัพย์, กิฟท์ กรองบุญ ศรีสรรพกิจ, ปรินซ์ ลลิตา มั่งสูงเนิน, ดาว ชาญชัย ประทีปวัฒนะวงศ์ และ ชิบ จิตนิยม เป็นต้น

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2564 เรียกได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับวงการข่าว และทำให้เราต้องกลับมานั่งทบทวนการทำหน้าที่นักข่าว ผู้ประกาศข่าว และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำข่าว ทั้งในเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ รูปแบบในการนำเสนอข่าว รวมถึงจุดยืนที่เป็นกลางในการนำเสนอข่าว โดยไม่มีกลุ่มทุนหรือภาครัฐเข้ามาทำให้การนำเสนอข่าวผิดไปจากความเป็นจริง

ทั้งนี้ ทีมงานส่องสื่อ ขอเป็นกำลังใจให้คนข่าว ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในช่วงโควิด-19 นี้ไปได้


เขียนโดย เกริกธัช คุณานุปถัมภ์