fbpx

บทความชุดนี้ได้รับความร่วมมือในการร่วมผลิตระหว่างทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ , COFACT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation for Freedom) ประเทศไทย


หลังจากที่เราได้อ่านบทความแรกเกี่ยวกับข่าวปลอมบนโลกออนไลน์กันไปแล้ว เรากลับมาดูการทำหน้าที่ของสื่อหลักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการแบนสื่อจากภาครัฐและประชาชน โดยเราขอพาทุกคนย้อนกลับไปเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือยุคมืดของเสรีภาพสื่อมวลชน โดยในงานสัมมนา หัวข้อ 40 ปี 14 ตุลา 2516 เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย” นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า มีการสร้างสถานการณ์ขึ้นมา จนทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง และทำให้เสรีภาพมืดมิด นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทำให้สื่อมวลชนต้องไปรายงานตัวที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อขอเปิดสำนักพิมพ์ แต่ต้องมีเงื่อนไขติดตัวมา เช่นไม่ให้รับนักข่าวคนนั้นเข้าทำงาน และทำให้นักข่าวหลายคนต้องถูกไล่ออก หลายคนก็ต้องตกงานและต้องเสียสละเพื่อให้หนังสือพิมพ์ได้เปิด

เมื่อครั้นเข้าสู่ยุค พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะ รสช. ก็เกิดการชุมนุมขึ้น แต่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ควบคุมโดยรัฐบาล กลับออกข่าวที่ทำให้สิ่งที่เป็นดำกลับเป็นขาว ออกข่าวตรงกันข้ามกับหนังสือพิมพ์อยู่ตลอดเวลา

เราจะเห็นได้ว่า ในอดีต สื่อจะถูกภาครัฐควบคุมไปจนถึงการแบนหรือปิดกิจการไปเลย ทีนี้เราลองมองกลับมาดูสื่อหลักในปัจจุบันกันดีกว่า ยุคที่สื่อมีอิสระเสรีมากขึ้น ภาครัฐควบคุมได้ยากลำบากมากขึ้น แต่กลับกัน สื่อเลือกปิดการนำเสนอข่าวเอง เช่น กรณีรายการเก็บตกจากเนชั่น เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 กนก รัตน์วงศ์สกุล เปิดเสียงคล้ายทักษิณ ชินวัตร กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สนทนากัน ซึ่งในเวลาต่อมาผู้อัดวิดีโอวิเคราะห์เสียงดังกล่าวว่าตนเองได้นำคลิปขณะที่ ทักษิณไปบรรยายที่ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย เมื่อปี 2546 มาเปรียบเทียบและพบว่าตรงกัน และนั่นทำให้คนตั้งข้อสงสัยจนสามารถสืบได้ว่าคลิปเสียงที่รายการข่าวข้น คนเนชั่น นำมาเผยแพร่นั้นเป็นการตัดต่อ จนเกิดกระแสเรียกร้องต่อความรับผิดชอบและเกิด #เนชั่นโป๊ะแตก ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ซึ่งในตอนนั้นเริ่มมีกระแสแบนเนชั่น แต่กระแสยังไม่แรงมาก จากกรณีดังกล่าว เราจะเห็นว่า มีนำเสนอข่าว Fake News ขึ้นมา โดยการตัดต่อ ดัดแปลง (Manipulated Content) และทำให้เข้าใจผิด (Misleading) เช่น การนำคลิปเสียงการสนทนากันระหว่างบุคคลสองคนมาเปิดพร้อมขึ้นรูปภาพของคนสองคน แต่ทำให้เป็นสีดำมาเปิดในรายการและมีการโทรศัพท์สัมภาษณ์คุณธนาธร ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าใจว่าคนในคลิปเสียงเป็นคุณธนาธร

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาต่าง ๆ และก็ได้หยุดไปช่วงหนึ่งเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และได้เริ่มกลับมาชุมนุมในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จากเหตุการณ์ที่คุณวันเฉลิมถูกอุ้มหายไปจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายใต้การนำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยได้จัดชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางกระแส “#Saveวันเฉลิม”

หลังจากนั้นได้เกิดการชุมนุมต่อมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 2563 มีกระแสแบนเนชั่นเกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ และครั้งนี้มีการสนับสนุนให้แบนผู้สนับสนุนช่องเนชั่นด้วย จนเป็นที่มาของ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดจาก 2 เหตุผล ประกอบไปด้วย

  1. นักข่าวเนชั่นปกปิดต้นสังกัดรายงานข่าวม็อบและสร้างข่าวบิดเบือน (ตัดต่อ ดัดแปลงและทำให้เข้าใจผิด) จาก “เหตุการณ์ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 โดยนักข่าวของเนชั่นบอกกว่ามาจากช่อง NEW18 แล้วนำคลิปสัมภาษณ์ไปออกช่องเนชั่น และตัดต่อช่วงที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ (หนีพ่อแม่มาม็อบ)
  2. รายการเก็บตกข่าวภาคเที่ยงพยายามบิดเบือน โดยการนำเสนอข่าวเชื่อมโยงมั่ว ๆ ตัดต่อ ดัดแปลง และทำให้เข้าใจผิดในความหมายของการชูสามนิ้วของเด็กนักเรียนในโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่สามนิ้วมีความหมายโดยสากลคือ เสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาพ โดยเนชั่นนำรูปชูสามนิ้วที่สื่อถึง เช่น โกงข้าว ล้มเจ้า และเผาเมือง เป็นต้น

ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งคิดว่าเนชั่นไม่มีความเป็นกลางและอยู่ข้างประชาชน จนเกิดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ในวันแม่ปีนี้ ชวนแม่เลิกดูเนชั่น การแนะนำสินค้าทดแทนสินค้าที่เป็นผู้สนับสนุนช่องเนชั่น และวิธีการลบช่องเนชั่นจากโทรทัศน์ เป็นต้น ในเวลาต่อมาช่องเนชั่นออกมายอมรับว่า มีบริษัทหลายแห่ง ทยอยถอนโฆษณาออกจากเนชั่นเรื่อย ๆ และเราสามารถเห็นผลกระทบจากกระแสสังคม และการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตระหนักถึงการนำเสนอข่าวบิดเบือนว่า ไม่สมควรทำได้

จากงบการเงินงวดไตรมาสที่ 2/2563 ของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่าบริษัทมีรายได้ทั้งหมด 222,449,000 บาท แบ่งเป็นรายได้จากโฆษณาทางโทรทัศน์ ทั้งหมด 108,100,000 บาท สื่อโฆษณาทางออนไลน์ 4,641,000 บาท การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 105,285,000 บาท และธุรกิจนำเที่ยว 4,473,000 บาท ซึ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 107,684,000 บาท แต่กลับมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 4,641,000 บาท

ซึ่งในภายหลังทีมงานส่องสื่อได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน โดยได้กล่าวว่า “การแบนสื่อ จริง ๆ เมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ผล เพราะสปอนเซอร์ไม่ได้สนใจ เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีการตอบสนองสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ได้ผล ต้องยอมรับ เพราะพลังของผู้บริโภคสูงและเป็นกระแสระดับ Global ทั่วโลกก็มีเช่นกัน เช่น Facebook ก็ยังมีถูกแบน อันนี้ก็เหมือนกันเป็นเรื่องปกติที่สื่อจะถูกแบน เนื่องจากไม่ระวังตัว ไม่แม่นในหลักการทำงาน ก็เกิดการแบนเกิดขึ้น และถามว่าจะสร้างความเชื่อมั่น เราก็กลับมาทำความเป็นสื่อมืออาชีพ มันไม่ใช่เรื่องของความเป็นกลาง คือสื่อมีจุดยืนได้ แต่ต้องไม่แสดงออกด้วยความรุนแรง อย่างเช่น Hate speech ทั้งท่าทาง การใช้ข้อความบนหน้าจอ สีที่ใช้ ภาษากายของผู้นำเสนอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง แต่เราต้องเปิดกว้างให้คนอื่นโต้แย้งได้ ไม่ไปโจมตีเขา”

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้เกิดกรณีการรายงานข่าวของรายการข่าวค่ำช่องวัน ซึ่งถ่ายทอดสดจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ทางทีมงานข่าวช่องวันได้มีการนำเสนอข่าวของนักข่าวภาคสนาม โดยภาพที่นำเสนอนั้นเป็นภาพตัดต่อจาก 2 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ฉีดน้ำแรงดันสูงเกิดขึ้น และเหตุการณ์ย้ายรถของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เวลาใกล้เคียงกันมารายงาน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเวลาเดียวกันได้ แต่แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์ที่ 1 และ 2 เกิดหลังจากนั้นห่างกันเกือบครึ่งชั่วโมง จนทำให้เกิดกระแสแบนช่องวัน ซึ่งเป็นช่องต้นสังกัดขึ้นมาในสังคมโลกออนไลน์ และนำผู้สนับสนุนช่องวันมาพูดถึงอีกครั้งเหมือนกับกรณีแบนเนชั่น

และในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ก็ยังได้เกิดกรณีรายงานข่าวชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ซึ่งไทยรัฐทีวีรายงานข่าวผิดจากความเป็นจริง ด้วยความต้องการรายงานข่าวสารให้ถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลที่มีไม่เพียงพอและรีบด่วนสรุปข่าวจากความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งรายงานข่าวว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันและมีการใช้อาวุธกันเอง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดกระแสแบนไทยรัฐเกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์อีกครั้ง และในภายหลังได้ออกแถลงขออภัยในการรายงานข่าวดังกล่าวแล้ว

เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการนำเสนอข่าว Fake News ของสำนักข่าวต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง? รวมไปถึงแนวทางการแก้ไขในแต่ละกรณีศึกษาไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เราคงต้องจับตากันต่อไปว่าการนำเสนอข่าวทางการเมืองของสื่อมวลชนในเมืองไทยจะมีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นอีกในปี 2564 หรือไม่? ต้องคอยติดตามกัน

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ


คนใกล้ชิดของคุณ อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือส่งต่อข่าวลวงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว ร่วมด้วยชัวร์ก่อนแชร์ใช้ COFACT ตรววจสอบง่ายๆ ที่ https://cofact.org/ หรือ LINE Official Account : @Cofact


ที่มา :
https://prachatai.com/journal/2013/10/49229
https://prachatai.com/journal/2019/03/81590
https://brandinside.asia/ban-right-wing-extremism-tv-channel-ban-nation-tv-22/
https://songsue.co/11436/
https://songsue.co/11612/