fbpx

บทความชุดนี้ได้รับความร่วมมือในการร่วมผลิตระหว่างทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ , COFACT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation for Freedom) ประเทศไทย


“ข่าวปลอม” กับการเมืองเป็นของคู่กันมาโดยตลอด โดยฝั่งทางการเมืองนั้นใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีฝั่งตรงข้ามให้เกิดความเสียหายทั้งชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลหรือองค์กร เราก็สามารถรับข่าวปลอมได้ในหลากหลายช่องทาง ซึ่งในอดีตเราจะได้รับแจกแผ่นพับ ใบปลิวหรือการบอกต่อแบบปากต่อปากที่มีเนื้อหาบิดเบือนหรือแต่งขึ้นมาจากความเป็นจริง แต่ในปัจจุบันเราสามารถพบเจอกับข่าวปลอมได้ง่ายมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, LINE, Twitter, Telegram และ TikTok ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบัน ทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้ง่าย และส่งไปถึงผู้รับสารได้เป็นจำนวนมากกว่าในอดีต

ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจถึงวิธีการสร้างข่าวปลอม เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกันก่อนดีกว่า โดยข่าวปลอมนั้นแบ่งตามเจตนาความตั้งใจของผู้สร้างข่าว เราสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

  1. การแชร์ข่าวปลอมโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้ส่งสารไม่มีเจตนา ปั่นป่วนหรือทำร้ายใคร แต่แชร์เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  2. ข่าวปลอมที่ตั้งใจปั่นป่วน ให้ร้าย โจมตีผู้อื่น มีเจตนาที่จะชักนำความคิดของสังคม และปิดบังความจริง
  3. ข่าวปลอมที่สร้างความเกลียดชัง เป็นข่าวที่มีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่เจตนาสร้างขึ้นเพื่อดูถูก  เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชังให้ผู้ตกเป็นข่าว มีการแบ่งเขาแบ่งเรา

หรือเราอาจจะแบ่งตามลักษณะเนื้อหาของข่าวปลอมตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก มีทั้งหมด 7 ประเภท คือ

  • เนื้อหาล้อเลียนเสียดสี
  • เนื้อหาไม่ตรงพาดหัว
  • เนื้อหาชี้นำ
  • เนื้อหาที่ผิดบริบท
  • เนื้อหาแอบอ้าง
  • เนื้อหาหลอกลวง
  • เนื้อหาแต่งขึ้นมา

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักประเภทของข่าวปลอม โดยแบ่งตามเจตนาของผู้สร้างข่าวและรูปแบบเนื้อหาตามระดับความรุนแรง เราจะเห็นได้ว่าข่าวปลอมมีการสร้างขึ้นจากทั้งสองฝั่ง และเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์  เรามาดูกันว่ารัฐบาลได้มีการทำอะไรเอาไว้บ้างที่เกี่ยวกับข่าวปลอม

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนำเรื่องการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์ พร้อมเอกสารหลักฐานทั้ง 3 ฉบับ เป็นหนังสือสรุปการเข้าอบรมให้ความรู้กับคณะทำงานปฏิบัติการข่าวสาร หนังสือคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติการ และกำหนดค่าตอบแทน เช่น มีการสนับสนุนค่าโทรศัพท์คนละ 100 บาท  และ 300 บาท รางวัลสื่อสังคมออนไลน์เดือนละ 3,000 บาท รวมถึงยังได้แสดง QR Code โดยอ้างว่าเป็นกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่ IO และมีประชาชนเข้ากลุ่มเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ระบุถึงการทำงานของ IO ว่ามีหน้าที่ช่วยเชียร์รัฐบาล และรายงานเพจหรือบุคคลที่โจมตีรัฐบาล

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 Twitter Safety รายงานว่า “การสอบสวนของเราพบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการด้านข่าวสารซึ่งเรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่แสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการนี้เชื่อมโยงกับกองทัพบกไทยและบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้เผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะสนับสนุนกองทัพบกและรัฐบาลไทย และยังมีพฤติกรรมโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่น รวมถึงเปิดเผยบัญชีผู้ใช้งาน (ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านข่าวสาร) ทั้งหมด 926 บัญชี และเดินหน้าตรวจสอบความเคลื่อนไหวย่อย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสารนี้ต่อไป”

ในวันถัดมา พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ได้ส่งข้อความชี้แจงสื่อมวลชนว่า ขั้นต้นได้ประสานงานยืนยันกับทางทวิตเตอร์ไปแล้วว่ากองทัพบกไม่ได้ใช้งานทวิตเตอร์ในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหา ในส่วนของทวิตเตอร์ที่เป็นของกองทัพบก ยืนยันว่าใช้ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกเท่านั้น ทั้งนี้ทวิตเตอร์ที่อยู่ในระบบของกองทัพบกนั้นมีการใช้แบบเปิดเผยชัดเจน โดยมีศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกที่เป็นคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ดูแลควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของกองทัพบก หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก รวมถึงหน่วยระดับกองพล และกองพันลงไป โดยมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 คณะก้าวหน้าได้ออกมาเปิดเผยปฏิบัติการ IO โดยมีรายชื่อกำลังพลของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) หรือ “บูรพาพยัคฆ์” จำนวน 17,562 บัญชี จากรายชื่อทั้งหมด 19 หน่วยงาน 54,800 บัญชี ซึ่งแบ่งหน้าที่ออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเผยแพร่ข้อความเทิดทูนสถาบันฯ และกองทัพ อีกส่วนเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชังและด้อยค่ากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งปฏิบัติการด้านข่าวสารทำงานผ่าน Application ที่ใช้งานกับทวิตเตอร์ จำนวน 2 แอป คือ Twitter Broadcast และ Free Messenger ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นทำหน้าที่กระตุ้น Hashtag Twitter ให้เกิดพร้อมกันได้หลายข้อความในเวลาเดียวกัน ทั้งสีขาวและสีดำ โดยการ follow และ retweet กันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏข้อมูลชุดหนึ่งจนเป็นกระแสขึ้นมาใน Twitter ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่สามารถทวีตข้อความหลายข้อความได้ในเวลาเดียวกันหรือปั่นแท็ก เพื่อถักทอความจริงขึ้นมาโดยจงใจ

ในระหว่างการแถลงข่าว นางสาวพรรณิการ์ ได้ขึ้นหน้าจอไสลด์ปล่อย QR Code ที่รวบรวมรายชื่อบุคคลในชุดปฏิบัติการของกองทัพกลุ่มหนึ่ง พร้อมระบุว่าเมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีอย่างน้อยที่สุด 600 บัญชีเป็นทหาร ที่มีตำแหน่ง ยศ และหน่วยงานที่ชัดเจน ซึ่งนางสาวพรรณิการ์กล่าวต่ออีกว่า บัญชีต่าง ๆ เหล่านี้ มีพฤติกรรมที่สรุปง่าย ๆ ได้ว่า เพิ่งจะเปิดบัญชี Twitter เมื่อสามเดือนที่ผ่านมา และมีการทวีตข้อความซ้ำซากเป็นจำนวนมาก ติด Hashtag พร้อม ๆ กันในห้วงเวลาเดียวกัน ติดตามกันและกันเองในวงแคบ ๆ แต่มีหลายบัญชีที่ในบางครั้งทวีตแปลก ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ถูกจับผิดได้บ่อย บางคนเปิดหน้าเป็นทหารชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ใช้รูปหมาแมวหรือดาราเกาหลีเป็นโปรไฟล์แทน

ยกตัวอย่าง เช่นบัญชีที่ชื่อว่า “เฮือตือหนามเป้า” มีการใช้ชื่อบัญชีบนทวิตเตอร์ว่า “ทัน มาลัยทอง” @Thunmalaithong ซึ่งเป็นชื่อ-นามสกุลจริงของเจ้าตัว และเป็นหนึ่งในรายชื่อ IO ข้างต้น ซึ่งไปสอดคล้องกับตัวจริงคือ พ.ท.ธรรม์ มาลัยทอง สังกัด พล.ม.2 รอ. พฤติกรรมในทวิตเตอร์บัญชีนี้คือ ในแต่ละวันทวีตพร้อมติด hashtag จำนวนมาก ซึ่งแม้ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ คนธรรมดาทั่วไปก็ทวีตอะไรแบบนี้ได้ แต่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็คือมีการแสดงความจงรักภักดีด้วยข้อความเดียวกันเป็นพัน ๆ ข้อความเกิดขึ้น ใช้ภาพเดียวกัน ข้อความเดียวกันทุกตัวอักษร และเกิดขึ้นตามมาในแบบเดียวกัน จากหลายพันบัญชีบน Twitter แบบเดียวกับของ พ.ท.ธรรม์

“ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราเห็น hashtag แปลก ๆ อยู่ดี ๆ ก็ขึ้นมาเต็มไปหมดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก่อนสามเดือนไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งเกิด hashtag เป็นรหัส เช่น #1200z11, #B111900 เราเข้าใจเองว่านี่คงเป็นรหัสที่ใช้ในการสื่อสารกันและในการตรวจงาน คงไม่มีใครในโลกนี้ติด hashtag เป็นรหัส และนี่ก็คือโฉมหน้าของปฏิบัติการ IO ของกองทัพ”

จากทั้งสามช่วงเหตุการณ์ที่เป็นข่าวและมีหลักฐานออกมาเปิดเผย เราจะเห็นว่า ปฏิบัติการทางข้อมูล โดยมีผู้ควบคุมอยู่ที่ศูนย์กลาง เป็นการสร้างข่าวปลอมโดยมีเจตนาเพื่อสร้างความเกลียดชัง อาจมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่เจตนาสร้างขึ้นเพื่อดูถูก เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชังให้แก่ฝั่งตรงข้าม (คณะราษฎร คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล) เนื้อหามีความชี้นำให้ผู้รับสารเข้าใจไปตามที่ตัวเองต้องการหรือสร้างข่าวขึ้นมา รวมถึงมีเจตนาที่จะหลอกลวงหรือใส่ร้าย ทำให้เข้าใจผิดเป็นวงกว้าง

สำหรับฝั่งแกนนำในการชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook Fanpage, Twitter และ Telegram นำมาใช้ในการสื่อสารนัดแนะการชุมนุม และสร้างความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารกัน ซึ่งก็ทำให้เกิดข่าวปลอมได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแชร์ข่าวปลอมโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้แชร์ไม่มีเจตนาปั่นป่วนหรือทำร้ายใคร แต่แชร์เพราะคิดว่าเป็นข่าวจริงและอยากส่งต่อให้ผู้อื่นได้รับรู้จากข้อมูลที่ได้รับมา และอาจมีการนำอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจในแนวทางที่ตัวเองต้องการ ซึ่งในบางครั้งอาจจะมีผู้ไม่หวังดี ใช้โอกาสนี้ในการสร้างข่าวปลอมที่มีความจริงอยู่บางส่วนและมีการแต่งขึ้นเพิ่มเติม เพื่อสร้างความแตกแยกทางความคิดทางการเมือง

เพราะฉะนั้น ในการส่งต่อหรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับข่าวสารที่ได้รับหรือเสพผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในโลกออนไลน์หรือสื่อหลัก เราต้องมากลั่นกรองถึงความถูกต้องและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ไม่เกินจริง โดยเราอาจจะยึดหลักกฎหมายหรือหลักการต่าง ๆ รวมถึงการรับสารหรือข้อมูลที่ไม่ควรมาจากฝั่งเดียวกันเพียงอย่างเดียว เพราะเวลาเราค้นหาหรือรับข้อมูลบางอย่างที่เราสนใจ และเราเลือกที่จะรับข้อมูลแต่สิ่งที่เราสนใจเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Echo Chamber หรือห้องแห่งเสียงสะท้อน ซึ่งบางครั้งเป็นการรวมกลุ่มของคนที่เห็นเหมือนกัน แต่ถ้ามีอคติเหมือนกัน จนไปถึงการรวมกลุ่มของคนที่สุดโต่ง อาจจะทำให้เราสนใจเสพข่าวหรือข้อมูลที่เราต้องเสพเพียงอย่างเดียว จนละเลยถึงข้อเท็จจริงในข่าว และอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้ เพราะฉะนั้นเราต้องตระหนักถึงเหตุผลว่าคนเราสามารถมีความความคิดที่แตกต่าง ไม่เหมือนกัน หรือไม่ลงรอยกับเราได้ เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง ๆ และลดอคติของตัวเรา

จากบทความนี้ ทางผู้เขียนหวังว่าเราจะมีสังคมที่เปิดกว้างและรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นจากความเข้าใจถึงวิธีการสร้างหรือเกิดขึ้นของข่าวปลอมในแต่ละฝั่ง เพราะฉะนั้น เราอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาง่าย ๆ และแชร์ต่อไปทันที เพราะอาจจะเป็นผู้ไม่หวังดีทำให้เราเป็นผู้ส่งสารข่าวปลอม โดยที่เราไม่รู้ตัวและกลายเป็นผู้สร้างข่าวปลอมได้นั้นเอง

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ


คนใกล้ชิดของคุณ อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือส่งต่อข่าวลวงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว ร่วมด้วยชัวร์ก่อนแชร์ใช้ COFACT ตรววจสอบง่ายๆ ที่ https://cofact.org/ หรือ LINE Official Account : @Cofact


ที่มา :
https://www.bbc.com/thai/thailand-55145803
https://www.blognone.com/node/119879
https://twitter.com/twittersafety/status/1314235339322601472?s=21
https://www.youtube.com/watch?v=uOtvdk3d41k