fbpx

เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. จัดประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นครั้งแรกในรอบปี 2564 โดยหนึ่งในวาระที่น่าสนใจคือการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค (Regional Content) ของกรมประชาสัมพันธ์

โดยมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค (Regional Content) ของกรมประชาสัมพันธ์ ตามแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลออกไปอีก ๖ เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดการอนุญาต (๑๗ มกราคม ๒๕๖๔) พร้อมทั้งปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว และเงื่อนไขในการอนุญาตอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตไว้ ดังนั้น กรมประชาสัมพันธ์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว

ทั้งนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีความเห็นเพิ่มเติม โดยขอให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตกิจการสาธารณะ ระดับภูมิภาค ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยกำหนดกรอบระยะเวลาภายใน 6 เดือน ตามที่ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว เพื่อให้ทันก่อนการขอขยายระยะเวลาของกรมประชาสัมพันธ์ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยังได้มีความเห็นเปิดผนึกต่อด้วยว่า เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค มาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 และขยายระยะเวลาให้ทดลองส่งสัญญาณเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง รวมระยะเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว และตนเองเคยให้ความเห็นว่าสมควรให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำและเสนอรายงานสรุปผลการศึกษาการทดลองดังกล่าวในทุกมิติ เพื่อให้ กสทช. พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเปิดให้มีการอนุญาตประกอบกิจการประเภทนี้ในอนาคต

นอกจากนี้ตนเองยังเห็นว่าการอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขบังคับที่ทำให้ กสทช. จำเป็นต้องออกใบอนุญาตให้กับกรมประชาสัมพันธ์ตามที่ได้อนุญาตให้ทดลองทดสอบในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งในกรณีที่ กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค ได้นั้น ยังต้องพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ได้กำหนดไว้ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้มีการให้อนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไว้ใน 3 ประเภท คือ ใบอนุญาตบริการสาธารณะ ใบอนุญาตบริการชุมชน และใบอนุญาตกิจการทางธุรกิจ

และเฉพาะในประเภทกิจการทางธุรกิจเท่านั้นที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยมิได้มีการกำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะในระดับภูมิภาคแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีหากมีข้อสรุปว่าผลการศึกษาการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับภูมิภาค สะท้อนถึงความสำคัญหรือความจำเป็นต่อภูมิทัศน์การสื่อสารในปัจจุบัน ก็จำต้องมีกระบวนการแก้ไขกฎหมายเสียก่อน เพื่อให้กสทช. สามารถดำเนินการให้อนุญาตได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป