fbpx

เรียกได้ว่าปัญหาการข่มขืนพระเอก-นางเอกในวงการโทรทัศน์ไทยก็ยังคงไม่หายไปไหนสักที เพราะล่าสุดอย่างละครเรื่อง “เมียจำเป็น” ซึ่งออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผลิตโดยบริษัท ดีวันทีวี จำกัด ก็ได้มีฉากที่ตัวร้ายข่มขืนนางเอกออกอากาศอีกแล้ว ซึ่งนี่คือเรื่องราวที่ทำให้หลายความเห็นบนโลกออนไลน์เกิดความไม่พอใจกันเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันทางหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

โดยในฉากได้มีการถูกจับตัวไป และได้มีการล่วงละเมิดทางเพศนางเอก นอกจากนั้นยังได้มีการถ่ายคลิปวิดีโอเพื่อส่งไปให้พระเอกอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ย่อมผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ผลที่ได้รับหลังจากนั้นคือหลังจากที่พระเอกได้ไปช่วยนางเอกเสร็จสิ้น ทั้งคู่ก็ไม่สามารถพูดคุยกันแบบติดหน้าได้ เพราะไม่เข้าใจสถานการณ์และจิตใจของนางเอก (หรือเปล่า?) ซึ่งพอเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงจุดหนึ่งนางเอกก็ตัดสินใจที่จะไม่เอาเรื่อง อาจจะเพราะตนเองก็มีเรื่องราวบางอย่างที่ยังไม่ได้บอกกับพระเอกและครอบครัวอยู่ด้วย และตนเองก็ไม่สบายใจในการตรวจร่างกาย

แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องที่เงียบไป ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่าการข่มขืนในละครเมืองไทยมีมาอย่างยาวนาน และแน่นอนว่าปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนละครไทยให้ไปข้างหน้า คือฉากความรุนแรงทางเพศเหล่านี้ที่พบเจอกันมามากพอสมควร ซึ่งแม้แต่สำนักข่าว AP ก็เคยรายงานถึงสถานการณ์ของละครในบ้านเราว่าติดกับดักในการเล่นฉากข่มขืนอยู่เสมอๆ

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY เมื่อปี 2563 ถึงกรณีการถูกข่มขืนในเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงถูกคาดหวังจากสังคม ว่า “มายาคติที่ฝังรากลึกในไทย สังคมมีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง มีภาพอุดมคติของผู้หญิงที่ดี เช่น เราจะได้ยินคำว่า กุลสตรี แม่ที่ดี ภรรยาที่ดี พอผู้หญิงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงดีได้ เช่น ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศมา สังคมจะบอกว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีหมายถึงคุณต้องบริสุทธิ์ คุณต้องไม่เคยมีชะตากรรมแบบนี้ คุณจึงไม่ควรจะถูกข่มขืน คุณจะต้องรักนวลสงวนตัวไปจนถึงวันที่คุณแต่งงาน พอคุณแต่งงานแล้วก็ต้องมีลูกให้ได้ เพราะคุณจะต้องเป็นแม่ และเป็นภรรยาที่ต้องตอบรับความต้องการทางเพศจากผู้ชาย เพราะฉะนั้นความคาดหวังของสังคมที่มีต่อคุณค่าของผู้หญิงคนหนึ่ง มาพร้อมกับเรื่องเพศหมดเลย”

นอกจากนั้นคุณจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยังให้สัมภาษณ์ใน workpointTODAY ต่อว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหาการข่มขืนคือ “ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย เกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจและความต้องการแสดงอำนาจบางอย่างที่เกิดขึ้นด้วย

ในทางด้านของผู้จัดละครอย่าง จ๋า-ยศสินี ณ นคร ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ที่เว็บไซต์กระปุกดอทคอม เมื่อปี 2557 ว่า บางครั้งฉากข่มขืนก็สำคัญกับละคร เพราะละครเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีเรื่องราว เธอเองก็พยายามเลี่ยงฉากข่มขืนแล้ว แต่บางครั้งฉากเหล่านี้ก็จำเป็นต่อการดำเนินเรื่อง

ในส่วนของความเห็นอีกฝากของ ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา กล่าวในบทความของส่องสื่อว่า ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศนั้น เป็นปัญหาที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ โดยไม่ได้รับความสนใจ ทั้งในเชิงป้องกัน แก้ปัญหา และเยียวยาเหยื่อที่ประสบปัญหาดังกล่าวมากนัก หากจะมองในเชิงการป้องกัน ผู้เขียนมองว่า ครอบครัวและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากในการให้ความรู้ที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก เพื่อให้พวกเขารู้ว่า การกระทำแบบใดเป็นการล่วงละเมิดร่างกายเด็ก และจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งการสื่อสารเรื่องนี้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก

ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญมาก โดยจะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมในครอบครัวให้พูดคุยกันเรื่องเพศได้อย่างไม่เคอะเขิน ทำเรื่องเพศในครอบครัวไม่ให้เป็นเรื่องน่าอาย แต่สามารถสื่อสารกันได้ เป็นโจทย์ที่พ่อแม่ต้องเริ่มสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้น อาจเริ่มจากประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของเด็กจนถึงการพูดคุยเกี่ยวกับลักษณะหรือการกระทำที่เป็นการละเมิดร่างกายเด็กจากบุคคลอื่นที่เด็ก ๆ จะต้องรู้จักวิธีการปกป้องตนเอง และการเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งพ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกของตัวเองได้ ปัญหาที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน และลูกชายท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน

จากหลายมุมมอง หลายความเห็นก็คงคิดได้ว่าละครไทยผูกพันและปลูกฝังค่านิยมไปมากน้อยแค่ไหน และคงจะรู้กันนะครับว่าละครไทยควรนำเสนอแบบไหนให้ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการไม่มีฉากข่มขืนย่อมดีกว่าการมีนั่นเอง