fbpx

หลายคนอาจจะดูข่าวทางโทรทัศน์ก็เพราะหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความน่าเชื่อถือ การเล่าข่าวที่สนุก หรือแม้กระทั่งสื่อหยิบยกประเด็นใหม่ๆ มาเล่า แต่ในทุกวันนี้ที่สื่อมีมากขึ้นและต้องแข่งขันกัน หลายคนก็เลยเลือกที่จะไม่กลับไปดูโทรทัศน์ เพราะข่าวในโทรทัศน์ปัจจุบันมักจะไม่เปิดประเด็นใหม่ๆ รวมไปถึงการนำเสนอข่าวที่รุนแรงขึ้น เราต้องพกเครื่องมืออะไรในการเสพสื่อบ้าง?

วันนี้มาฟังคนข่าวตัวจริงอีกคนซึ่งมีผลงานอย่างการเปิดประเด็นเรื่องเมจิก สกิน รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ในสังคมอีกมากมาย นั่นก็คือ “เคนโด้-เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร” ลองมาฟังมุมมองสื่อที่มองสื่อด้วยกันเองดีกว่าครับว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

แนะนำตัวหน่อยครับ

พี่เคนโด้ : สวัสดีครับ ผมเคนโด้ครับ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร รายการข่าวใหญ่ไทยแลนด์ ช่อง GMM25 นะครับ

จุดเริ่มต้นของการทำงานข่าวช่อง GMM25

พี่เคนโด้ : คือตอนแรกเราก็ทำมาหลายช่อง เป็นผู้ประกาศมาเกือบ 10 ปีแล้ว แล้วก็ได้โอกาส ตอนนั้นทางพี่อั๋น ภูวนาท ได้ดูรายการๆหนึ่งที่จัดกับพี่เก๋ กมลพร วรกุล ที่ช่อง NEWS1 ตอนนั้นคือรายการ “เป็นเรื่อง” แล้วก็เป็นกระแสทางออนไลน์ ยอดวิวหลักร้อยวิว หลายตอนมาก ปรากฎว่าพี่ๆที่ GMM25 ก็ได้ดูโดยพี่อั๋นนี่แหละ พี่อั๋นก็เลย inbox มาคุยด้วย ตอนนั้นพี่อั๋นบริหารงานข่าวอยู่เลยชวนมาทำ ก็เลยได้จัดรายการมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2561

การทำงานข่าวยากง่ายแค่ไหน?

พี่เคนโด้ : คือการทำงานข่าวก็ต้องค่อนข้างรอบคอบ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดออกไปเนี่ยมันต้องถูกต้องคือร้อยเปอร์เซนต์ แล้วก็ต้องระวังในการนำเสนอข่าวด้วยเช่นกัน เพราะว่าข่าวมันก็มีความน่าเชื่อถือแล้วข่าวก็เป็นสิ่งที่นำสังคมได้ การดำเนินรายการข่าวก็ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษครับ

เรื่องพีคๆ ในการทำงานข่าว

พี่เคนโด้ : โดยส่วนตัวเป็นคนทำข่าวเชิงลึก คือโทรหาแหล่งข่าวเอง บุกไปเอง ไปหาคนที่เกิดเรื่องเอง ดูจะไม่ใช่ผู้ประกาศที่อยู่ในสตูดิโอเพียงอย่างเดียว สิ่งที่อยากเล่าก็คือคดีของ “เมจิก สกิน” นี่แหละที่ดังไปทั่วประเทศ ก็เริ่มต้นจากที่ GMM25 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 พอเราแฉกับขบวนการของเมจิก สกิน เราก็ต้องสู้รบกับเขามาก เจอทั้งอิทธิพล เจอทั้งข่มขู่ เจอทั้งจะให้เงินหลายล้านบาทเพื่อปิดปาก ไม่ให้เราทำข่าวนี้ แต่ด้วยจิตวิญญาณการเป็นนักข่าว พี่กับพี่เก๋เลยมองหน้ากันแล้วบอกว่า เรื่องเงิน เรื่องอิทธิพล เราไม่กลัวอยู่แล้ว เพราะว่าเราทำให้ถูกต้อง ถ้าเกิดไม่ทำข่าวชิ้นนี้ต่อหรือพับมันลงไป ผู้เสียหายหลายพันคนเขาจะพึ่งใคร? วันนั้นก็เลยเจออุปสรรคมากมาย แต่ก็รอดมาได้เพราะเอาความถูกต้องนำ

“หลายครั้งที่เพจจะบอกว่าเบื่อสื่อไทยมาก เพราะโทรไปขอประเด็นข่าวเขาบ่อยมากโดยที่ตนเองไม่ทำ หรือได้ประเด็นจากเขาไปก็ไม่ขยายต่อก็ทำเท่าที่เขาให้มา”

ข่าวที่ทำให้รายการข่าวใหญ่ไทยแลนด์กลายเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก – เมจิก สกิน

ส่องสื่อหน่อยว่าสื่อยังขาดอะไรไปในการนำเสนอข่าวสาร?

พี่เคนโด้ : ตอนนี้เหรอ? (นึกคิดสักครู่) ถ้าจะให้วิจารณ์สื่ออื่นๆนะ พี่คิดว่าพี่มองที่ตัวเองก่อนว่าตอนนี้เราที่เป็นสื่อและก็เพื่อนๆของเราขาดอะไรบ้าง? หลายครั้งที่ได้คุยกับเพจใหญ่ๆ ซึ่งทรงอิทธิพล มีคนติดตามหลายล้านคน เราค่อนข้างที่จะสนิทกับแอดมินเพจหลายเพจ เพราะค่อนข้างที่จะมีข้อมูลแลกเปลี่ยนกับเพจ แล้วหลายครั้งที่เพจจะบอกว่าเบื่อสื่อไทยมาก เพราะโทรไปขอประเด็นข่าวเขาบ่อยมากโดยที่ตนเองไม่ทำ หรือได้ประเด็นจากเขาไปก็ไม่ขยายต่อก็ทำเท่าที่เขาให้มา เขาบอกว่าเขาเบื่อมากและไม่ค่อยอยากจะคุยกับสื่อแบบนั้น เราก็ไม่อยากให้สื่อไปขอข่าวเพจ เพราะว่าเราเป็นสำนักข่าว บางช่องมีบุคลากรหลายร้อยคนเลยนะ แต่เพจมีคนทำงานแค่ 1-2 คน แต่ได้ประเด็นข่าวที่ลึกกว่าเราเยอะ เพราะคนเชื่อมต่อกับ Social Media มากกว่าโทรศัพท์ไปที่สถานีโทรทัศน์หรือเข้ามาที่เพจของสถานีฯ เขารู้สึกว่าเขาพึ่งเพจดังๆ ทำให้ข่าวเขาดังแล้วเจ้าหน้าที่ก็ไปช่วย ทีวีก็ตามประเด็นจากเพจมาโดยที่ลืมไปว่าตัวเองก็สามารถสร้างประเด็นแล้วก็ช่วยเหลือประชาชนเหมือนกับเพจ facebook เลย

ค้นประเด็นยังไงให้น่าสนใจและเหมาะกับสังคม?

พี่เคนโด้ : ประเด็นที่หามีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเขามาหาเราเอง เขามาด้วยความเดือดร้อนในหลายๆ ประเด็น เช่น เมจิก สกินก็ดี หรือเรื่องพระที่ตุ๋ยเณรก็ดี เขาก็ส่งเรื่องมาหาเรา เขาก็คาดหวังว่าเราจะสามารถช่วยเปิดประเด็นให้เขาได้ ขยายความและนำไปสู่การช่วยเหลือได้ ก็จะเป็นทางบ้านส่งมาแล้วเราก็จะดูกระแสใน Social Media เหมือนกันว่าตอนนี้เขาพูดกันเรื่องอะไร และกำลังเดือดร้อนเรื่องอะไร เพราะ Social มันไว แล้วเราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อ สัมภาษณ์แหล่งข่าว เก็บข้อมูลจนได้เป็นชิ้นงานข่าวที่สมบูรณ์นั่นเอง

เป็นนักข่าวต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง?

พี่เคนโด้ : เรื่องของข้อมูลเลย เพราะว่าถ้าเรานำเสนอข้อมูลผิด เท่ากับว่าเราชี้นำสังคมไปในแนวทางที่ผิด เรื่องของข้อมูล เรื่องของข่าวต้องเป็นความจริง ข่าวต้องเป็นความจริงร้อยเปอร์เซนต์ เราจะใส่สีใส่ไข่ไม่ได้ในเชิงของข้อมูล แต่ในเชิงลีลาการเล่า อันนี้แล้วแต่ลีลาของผู้ประกาศ เพราะว่าพี่ก็ไม่ใช่เป็นผู้ประกาศที่เป็นแบบเล่าข่าวธรรมดาๆ หรือว่าเป็นผู้ประกาศอ่านข่าว เราก็เป็นผู้ประกาศข่าวที่ใส่สีสัน ใช้ลีลาในการเล่าแล้วก็เข้าถึงชาวบ้านครับ

ระหว่างอ่านข่าวกับเล่าข่าว คิดว่าแบบไหนคนดูมากกว่ากัน?

พี่เคนโด้ : คือเรื่องของการอ่านข่าวและการเล่าข่าวเนี่ย คนที่เป็นคนอ่านข่าวอาจจะเข้าถึงคนได้ไม่มากเท่าคนที่เล่าข่าว เพราะว่ามนุษย์ถ้าฟังสิ่งที่คนอ่านอะไรมากๆ ก็ไม่อยากฟัง แต่ถ้ามีคนเล่าแบบกรองข้อมูลให้ย่อยง่าย ฟังครั้งเดียวเข้าใจ คนก็จะมาเสพมาฟัง เพราะว่าการอ่านข่าวมันไม่ได้เป็นการย่อยข้อมูล คือมันเป็นการอ่านข้อมูลแบบตรงๆ คนฟังแล้วก็ไม่ได้เข้าใจแล้วต้องมาฟังอีกรอบนึง แบบ “ห๊ะ!” แต่ถ้าเป็นการเล่าข่าว เราก็ต้องย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายก่อนอีกทีหนึ่ง พี่ก็เลยมองว่าเทรนด์ในการทำข่าวตอนนี้ก็คือการเล่าข่าวจะทำให้คนสนใจมากขึ้น แต่การเล่าข่าวก็ต้องเล่าตามกรอบ เล่าตามความจริง

นักข่าวจำเป็นต้องใช้ Social เป็นไหม?

พี่เคนโด้ : จำเป็นมาก ถ้านักข่าวใช้ Social Media ไม่เป็น นักข่าวก็จะไม่ทันเด็กอายุ 14 15 ซึ่งมันเป็นเรื่องที่อัปยศอดสูนะพี่ว่า นักข่าวรู้ข่าวทีหลังเด็กอายุ 15 ที่เล่นทวิตเตอร์เก่งมาก นักข่าวต้องไวและต้องรู้ข่าว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าใน Social Media มีแหล่งข่าวมากมายเกิดขึ้น ทุกวันนี้เด็กอายุ 15 16 รู้ข่าวเร็วกว่าเราด้วยซ้ำ พี่ยังมีแฟนรายการอายุ 18 อย่างนี้ เข้าถึงข่าวเร็วกว่าเราในทุกเพจ ในทุก Social เลย จริงๆ นักข่าวก็ต้องฝึกเรื่องของ Social แล้วก็ต้องรู้จัก admin Page อ่ะ จริงๆ แล้วนักข่าวในเมืองไทยหลายๆ คนตอนนี้ก็รู้จัก admin Page แล้วพอรู้จักปุ๊ปเนี่ย มันมีสายสัมพันธ์ มันก็จะได้ประเด็นข่าวที่หลากหลาย

ทีมผู้ประกาศข่าวช่อง GMM25

“สื่อสักษณะของความเป็นกลางเนี่ย มันก็คือจรรยาบรรณนั่นแหละ แต่การนำเสนอมันก็ไม่สามารถนำเสนอให้เป็นกลางได้แบบร้อยเปอร์เซนต์”

คำว่า “สื่อเป็นกลาง” ยังมีจริงอยู่ไหม?

พี่เคนโด้ : สื่อเป็นกลางที่ว่า เอาพูดกันจริงๆ เลยก็คงไม่จริงหรอก สื่อสักษณะของความเป็นกลางเนี่ย มันก็คือจรรยาบรรณนั่นแหละ แต่การนำเสนอมันก็ไม่สามารถนำเสนอให้เป็นกลางได้แบบร้อยเปอร์เซนต์ จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับประเด็นด้วยว่ามันเป็นประเด็นอะไร ถ้าเป็นประเด็นที่เป็นกลางได้ก็นำเสนอ แต่ถ้าเป็นประเด็นที่มีการชี้นำสังคม อันนี้ก็ต้องทำข้อมูลให้ค่อนข้างแน่นพอสมควร จริงๆ มันก็ควรอยู่ในพื้นฐานของการเป็นกลางแหละ แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนอันนี้ไม่รู้ เพราะว่าเทารนด์ของคนดูข่าว เอาจริงๆ แล้วเขาไม่ชอบความเป็นกลาง ช่องไหนที่เสนอความเป็นกลาง สังเกตแบบช่องรับบาลที่นำเสนอข่าวของรัฐ มันก็มักจะมีเรตติ้งที่ต่ำมาก ในตารางสุดท้ายเลยแบบนี้แต่ถ้าช่องไหนที่ Take side หน่อยๆ ให้คนลุ้นบ้าง คนก็จะตามไปดูอะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องอยู่ในพื้นฐานที่ถูกต้อง

คนที่เสพสื่อควรพกเครื่องมืออะไรมากที่สุด?

พี่เคนโด้ : พี่ว่าคนรับสื่อเนี่ย เครื่องมือที่รับสื่อก็คือวิจารณญาณของตนเองนั่นแหละ เพราะว่าทุกคนก็มีวิจารณญาณที่แตกต่างกัน คือเราบอกไม่ได้ว่าอย่างน้องเองเสพข่าวเรื่องนี้เองจะคิดไปในทางไหน? เราไม่รู้เลย จริงๆ แล้วทุกคนควรมีวิจารณญาณของตนเองนะครับ แล้วก็ต้องดูข่าวให้เกิดประโยชน์ แล้วตนเองก็สามารถถ่ายทอดข่าวให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เพราะว่าทุกคนเป็นสื่อได้ มี Social Media เป็นของตนเอง ช่องหรือสำนักข่าวอาจจะเป็นผู้นำในเรื่องของสื่อ แต่เวลาที่เราชม ชอบและแชร์คอนเทนต์ออกไปเนี่ย แล้วไปขึ้นแคปชั่นไม่ดี ยุยง ปลุกปั่น ทำให้คนทะเลาะกัน เถียงกัน แบบนี้แหละจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณเสพสื่อแล้วนำวิจารณญาณของคุณเนี่ย ไปแชร์ข่าวให้มันเป็นประโยชน์ มันก็ถือว่าคุณเป็นสื่อมวลชนได้เหมือนกัน

ฝากอะไรถึงคนที่ทำสื่ออยู่?

พี่เคนโด้ : คนที่ทำสื่อพี่ว่ามันก็ต้องมาจากการที่ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่การนำเสนอนี่ไม่จำกัดเลยนะว่าจะเป็นแบบไหน จะเป็นแบบอ่านหรือแบบเล่า คุณจะต้องเรียบร้อยหรือจะ Take side หรือจะเป็นกลาง อันนี้พี่ไม่บังคับ เพราะว่าทุกคน ทุกสำนักข่าวเขามีสไตล์เป็นของตนเอง แต่สุดท้ายปลายทางของข่าวประชาชนต้องได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย ไม่ใช่ข่าวชิ้นนั้นนำเสนอสนุกมาก มีเรตติ้งมาก คนชอบดูสะใจ แต่หาประโยชน์ไม่ได้ นั่นก็ไม่ใช่การนำเสนอข่าวที่ถูกต้องครับ

ฝากอะไรถึงคนที่รับสื่อ?

พี่เคนโด้ : คนที่รับสื่อก็อย่างที่บอกว่าเราต้องรับสื่ออย่างมีปัญญา แบบมีปัญญาคือเราต้องครุ่นคิด วิเคราะห์ มีวิจารณญาณในการดูในการชม เพราะว่าบางคนดูแล้วใช้อารมณ์ดู พอใช้อารมณ์ดูหลายครั้งมันก็ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันใน Facebook หรือเขา war กันแหละ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของเราเลยแต่ไปด่ากันเต็มไปหมดเลย ก็เลยทำให้คนต้องมีวิจารณญาณในการเสพสื่อมากขึ้น

เคนโด้ – เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร

จะเห็นได้ว่าสื่อในปัจจุบันนี้จำเป็นต้องเปิดประเด็นใหม่ๆ และควรส่งเสริมการทำงานข่าวมากขึ้น ให้เจาะลึกขึ้น ในขณะเดียวกันคนรับสื่อต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม เพราะในความเป็นจริงสื่อไม่มีความเป็นกลางในแง่ทัศนคติเสมอไป