fbpx

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งรายได้และงบการเงินประจำปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกวาดรายได้รวม 5,937 ล้านบาท และมีผลยอดขาดทุน 303 ล้านบาท โดยรายได้จากโฆษณาลดลงเกือบ 2,000 ล้านบาท ในขขณะที่รายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รายได้บีอีซี เวิลด์ ปี 2563 ลดลง แต่ขาดทุนน้อยลง

โดยผลประกอบการประจำปี 2563 มีรายได้จากการขายโฆษณาจำนวน 4,757,747,207 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 6,743,487,183 บาท, รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นๆ ปี 2563 รายได้จำนวน 1,053,370,878 บาท มากกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 953,257,295 บาท, รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและโชว์ ปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 9,437,952 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 557,002,485 บาท และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 40,367,303 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 56,427,358 บาท

เมื่อรวมรายได้อื่นๆ แล้วจะทำให้ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,937,324,577 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,731,553,072 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายรวมในปี 2563 ที่ 6,014,082,973 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 9,163,812,025 บาท ทำให้ในปี 2563 มีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 303,992,244 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 449,279,406 บาท

เปิดค่าใช้จ่ายบีอีซี เวิลด์ ปี 2563 คุมอยู่หมัด!

สำหรับค่าใช้จ่ายของบีอีซี เวิลด์ในปี 2563 แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการ 3,196,410,271 บาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายจ่ายอยู่ที่ 4,706,740,929 บาท, ค่าใช้จ่ายในการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ ปี 2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 10,299,912 บาท, ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร ปี 2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 161,593,215 บาท, ค่าใช้จ่ายพนักงาน ปี 2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 1,113,935,738 บาท สัดส่วนน้อยกว่าปี 2562 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารและสถานที่ 313,808,031 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดปี 2563 จะอยู่ที่ 6,014,082,973 บาท น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายจ่ายอยู่ที่ 9,163,812,025 บาท

บีอีซี เวิลด์ยังมีค่าเช่าภาพยนตร์ ค่าผลิตภัณฑ์ภาพยนตร์ ค่าละครและลิขสิทธิ์รอตัดจำหน่ายในปี 2563 อยู่จำนวนรวม 2,377,899,773 บาท น้อยกว่าปี 2562 เล็กน้อย โดยมีมูลค่ารวมปี 2562 อยู่ที่ 2,461,011,629 บาท

ความเคลื่อนไหวของช่อง 3

สำหรับความเคลื่อนไหวของบีอีซี เวิลด์ ในปี 2563 นั้นมีการปรับโครงสร้างบริษัทต่างๆ ให้โครงสร้างเล็กลง โดยเริ่มจากในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้จดทะเบียนเลิกกิจการของ บริษัท แซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด และบริษัท บางกอกแซทเทิลไลท์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ทั้งสองบริษัทได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว และในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้จดเลิกกิจการของบริษัท ยู แอนด์ ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างชำระบัญชีอยู่

แต่ดีลขายที่ใหญ่ที่สุดคือ บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)) ที่ทางบีอีซี เวิลด์นั้นได้ทำการขายเงินลงทุนทั้งหมดให้แก่นายไบรอัน ลินด์เซ มาร์การ์ ทั้งจำนวนในราคา 15 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 และหลังจากนั้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 บีอีซี เวิลด์ได้ซื้อเครื่องหมายการค้ารายการข่าว จากบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งได้ชำระเงินทั้งจำนวนแล้ว

คดีความของบีอีซี เวิลด์

นอกจากนี้ในปี 2563 บีอีซี เวิลด์ยังมีคดีฟ้องร้อง ได้แก่ ในปี 2560 บริษัทย่อยของบริษัท 2 แห่ง ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วม ในฐานผิดสัญญาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากยุโรป จำนวนทุนทรัพย์ 260.22 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้บริษัทย่อยของบริษัทชนะคดี ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่บริษัทย่อยของบริษัทคาดว่าจะไม่ได้รับความเสียหาย จากการถูกฟ้องร้อง ดังนั้นจึงไม่ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

และบริษัทและบริษัทย่อยของบริษัท 3 แห่ง ถูกฟ้องเป็นจำเลย รวม 3 คดี ในคดีแรงงาน โดย 2 คดีแรก จำนวนทุนทรัพย์รวม 35.20 ล้านบาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องของโจทก์ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และอีก 1 คดี จำนวนทุนทรัพย์รวม 135.14 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่บริษัทและบริษัทย่อยคาดว่าจะไม่ได้รับความเสียหายจากคดีดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

ทิศทางธุรกิจปี 2564

สำหรับทิศทางในปี 2564 บีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 พยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาดและขยายฐานผู้ชมใหม่ ด้วยการสร้างรายได้ในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงไพร์มไทม์ด้วย ซึ่งมีรายการข่าวและวาไรตี้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น ในส่วนของรายการข่าวนั้นจะเน้นข่าวที่น่าเชื่อถือ มืออาชีพ โดยทีมข่าวมากประสบการณ์ เน้นการวิเคราะห์ให้เข้าใจง่าย และเป็นศูนย์การการพึ่งพายามทุกข์ของคนไทย รวมถึงเจาะออนไลน์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย

ในส่วนของละคร เน้นเจาะกลุ่มที่อายุน้อยลง เนื้อเรื่องเข้มข้นและเดายากขึ้น ให้นักแสดงท้าทายกับบทบาทใหม่ๆ มากขึ้น และรักษาคุณภาพของละครช่อง 3 เอาไว้ และรายการวาไรตี้นั้นจะเน้นการสร้างคุณภาพรายการระดับสากลและสร้างคอนเทนต์ที่เป็นของตนเอง รวมถึงปรับปรุงรายการเดิมให้ดีขึ้นด้วย

ในส่วนของการหารายได้ทางอื่น ช่อง 3 พยายามอย่างต่อเนื่องในการหารายได้ในช่องทางใหม่ๆ เช่น รสร้างนวัตกรรมเพื่อไปตอบโจทย์เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจอื่นๆ อย่างการใช้ QR, SMS และการเอื้อให้เกิดการโฆษณาแบบโดยตรงกับผู้ชม รวมไปถึงการจัดกิจกรรมและการสนับสนุนแบบ Sponsorship

ในส่วนของคอนเทนต์ทั้งหมดจะยังคงเดินตามแนวทาง Single Content Multiple Platform เน้นการกระจายรายได้ไปสู่ช่องทางอื่นๆ โดยคาดหวังให้การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์และดิจิทัลแพลตฟอร์มเติบโตร้อยละ 20 จากปี 2563 โดยยังเน้นเจาะในประเทศจีน และอาเซียนเป็นหลัก สำหรับในไทยนั้นก็พยายามพัฒนาระบบ CH3Plus Premium เพื่อเป็นฐานรายได้ใหม่ต่อไปอีกด้วย