fbpx

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลได้ตัดสินคดีความระหว่าง สำนักงาน กสทช. และ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ที่เริ่มดำเนินการฟ้องร้องมาหลายปี โดยมีใจความว่า บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ชนะการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2556 จำนวน 2 ช่องรายการคือ ไทยทีวี ช่องประเภทข่าวและสาระ หมายเลข 17 และ โลกา (Loca) ช่องประเภทเด็ก เยาวชน และครอบครัว หมายเลข 15

ต่อมาได้ยุติประกอบกิจการในปี 2558 โดยได้ทำการขอคืนใบอนุญาตและคืนเงินประมูล แต่ไม่สามารถยุติการออกอากาศได้ ทำให้ไทยทีวีได้ยื่นฟ้องร้อง โดยมี กสทช. เป็นจำเลย ในขณะที่ กสทช. ก็มีคำสั่งออกตามหนังสือที่ สทช 4010/5495 ลว. 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เลขที่ B1-S20031-0024-57 และ B1-S20031-0017-57 และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ไทยทีวีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทาง กสทช. กล่าวว่า คู่กรณีไม่ได้ชำระค่าประมูลให้ครบตามกฎหมาย ทำให้จำเป็นต้องยึดเงินประกัน จึงเกิดการฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2558 ขึ้น

ในระหว่างนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 4/2562 โดยใช้มาตรา 44 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถจะคืนช่องได้ และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายตลอดอายุสัญญาที่เหลืออีก 9 ปี 6 เดือน และมีช่องที่ขอคืนไปก่อนหน้านี้อีก 7 ช่อง ได้แก่ 3SD, 3Family, MCOT Family, Spring News 19, Spring 26, Voice TV และ Bright TV แต่ในกรณีของไทยทีวีนั้นบริษัทไม่เข้าเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศให้คืนช่องได้ เนื่องจากได้คืนใบอนุญาตไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และได้ยื่นฟ้อง กสทช. ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558

หลังจากนั้นศาลได้คุ้มครองไทยทีวีในช่วงปี 2560 โดยยังไม่ให้ กสทช. ยึดเงินประกัน เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด และในปี 2561 ได้ตัดสินว่าบริษัท ไทยทีวี จำกัด สามารถขอคืนใบอนุญาตได้ โดยเป็นการที่ฝั่งไทยทีวีได้ขออุทธรณ์ต่อศาล จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลได้ตัดสินอย่างเป็นทางการว่า บริษัท ไทยทีวี จำกัด สามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากทาง กสทช. ไม่สามารถปฏิบัติตามที่โฆษณาหรือประกาศไว้ได้ เช่น แจกคูปองช้ากว่าที่ประกาศไว้ 6 เดือน ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทีวีล่าช้า ไม่ทั่วถึง ขยายโครงข่ายช้า และไม่มีแผนเยียวยาที่แน่นอน ซึ่งทางกสทช. ก็ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

โดยให้ กสทช. คืนเงินค่าใบอนุญาต งวดที่ 1 ที่จ่ายเกินไป จำนวน 152 ล้านบาท และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันทั้งหมด หากคืนไม่ได้ ให้ใช้คืนเป็นเงินสด จำนวน 1,750 ล้านบาท และคืนเงินงวดที่ 2 ให้กับธนาคารกรุงเทพที่จ่ายแทนอีก 384 ล้าน ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน ส่วนค่าเสียหายศาลไม่ได้ตัดสินให้คืนแก่ไทยทีวี ซึ่งจากกรณีนี้ ไทยทีวีได้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวในระยะหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นระยะสั้นกว่าที่กำหนดในใบอนุญาตมาก จึงไม่ควรที่จะบังคับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้

ส่วนนางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กสทช.คืนเงิน 1,750 ล้านบาท ให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดยฝ่ายกฎหมายจะเสนอรายงานผลคำพิพากษาต่อที่ประชุมกสทช. ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ โดยทางฝั่งบริษัท ไทยทีวี จำกัดก็ถือว่าพอใจมากในคำตัดสินของศาล