fbpx

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ได้มีมติเห็นชอบในการเพิ่มหัวข้อเพื่อเข้าพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยการแก้ไขครั้งนี้เป็นการเพิ่มเนื้อหาในการประชุม ได้แก่ การนำกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ออกจำหน่ายขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และนำช่องวัน 31 (ตัวย่อ : ONE) จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอให้ประชาชนทั่วไปถือหุ้นร้อยละ 20 จากสัดส่วนการเพิ่มทุนทั้งหมดนั่นเอง

ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอนำ ONE เข้า IPO

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวาระนี้เข้าไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO) หรือประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนเข้าตบลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ลุล่วง รวมถึงเป็นตัวแทนของ GRAMMY ในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ONE อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้พิจารณาอนุมัติแนวทางดำเนินธุรกิจ และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม GRAMMY และกลุ่ม ONE ในอนาคต โดยให้ ONE เป็น Flagship ของกลุ่มในด้านคอนเทนต์ (สื่อโทรทัศน์ ผลิตรายการ ละคร ซีรีส์ และสื่อวิทยุ) โดยทาง GRAMMY จะไม่ขยายธุรกิจที่ทับกับกลุ่มของ ONE และทาง GRAMMY จะให้ความร่วมมือในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ONE ในการดำเนินการตามที่จําเป็นเพื่อให้ ONE สามารถแสดงได้ว่ามีกลไกการจัดการเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น การกําหนดให้บริษัทย่อยเข้าทำข้อตกลงใดๆ กับ ONE เพื่อลดหรือขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้ ONE จะได้หรือไม่ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ONE จะมีมติเพิ่มทุนและเปิดให้มีการ IPO หรือไม่? นอจากนั้น ONE ยังจะต้องส่งหนังสือชี้ชวนให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พิจารณาเพื่ออนุมัติ รวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องรับหุ้นของ ONE เพื่อเปิดทางให้สามารถ IPO ได้นั่นเอง และทาง ONE ต้องเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว เพื่อทำให้สามารถเข้าหลักเกณฑ์การขายหุ้นต่อไปได้ด้วย

ย้อนไปช่วงปรับโครงสร้าง GMM25 – สำคัญต่อ ONE อย่างไร?

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 แกรมมี่ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ในกรณีการปรับโครงสร้างของกิจการร่วมการค้า โดยประกอบกับการที่บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ผู้ถือหุ้นในช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้ถอนหุ้นทั้งหมดไปแล้ว จึงได้ปรับให้แกรมมี่ดำเนินการขายหุ้นในส่วนของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ให้แก่กลุ่ม ONE โดยแยกส่วนของผู้ถือใบอนุญาตช่องหมายเลข 25 บนทีวีดิจิตอลมาอยู่ภายใต้บริษัท จี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (แกรมมี่ถือหุ้นทั้งหมด) ร่วมกับบริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จํากัด และบริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จํากัด ซึ่งจะอยู่ภายใต้บริษัทนี้ทั้งหมด

ในส่วนของผู้ผลิตเนื้อหา คือ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง และบริษัทในเครือทั้งหมด ได้แก่ เอ-ไทม์ มีเดีย, จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และเช้นจ์ 2561 มาอยู่ภายใต้กลุ่ม ONE ซึ่งจะถือหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ยังจำหน่ายสิทธิ์ทางการตลาดและการดำเนินการในทีวีดิจิตอลช่องหมายเลข 25 ให้แก่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด โดยจะแบ่งรายได้เป็นร้อยละ 70 ให้กับจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง (บริษัทที่ทำการตลาดให้) และ GMM25 จะได้ร้อยละ 30 ในฐานะผู้ถือใบอนุญาต โดยจะมีรายได้ไม่เกิน 70 ล้านบาทต่อปี และเมื่อรวมระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออีก 8 ปี 4 เดือน (นับจากวันที่ 1 มกราคม 2564) GMM25 จะมีรายได้ไม่เกิน 583,333,333 บาท และจะยังได้รับค่าตอบแทนการแต่งตั้งตัวแทนการตลาดอีก 67 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 ได้รับไปแล้ว

นอกจากนี้ทาง GRAMMY ยังจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะเงินกู้ยืมในอัตราส่วนร้อยละ 31.27 ตามสัดส่วนที่ถือหุ้นใน ONE หรือไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงิน 2,200 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหุ้น GMMCH (จีเอ็มเอ็ม ชนแนล โฮลดิ้ง) ในวงเงินไม่เกิน 1,100 ล้านบาท

เงื่อนไขหลังการทำธุรกรรมการซื้อ GMMCH คือทาง GMM25 ต้องชำระค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ให้กับทาง กสทช. งวดต่อไปภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้กระทำการแทนและผู้ถือหุ้นให้ กสทช. ได้รับทราบ นอกจากนี้ยังต้องยินยอมเมื่อทาง ONE ต้องการใช้ศิลปิน และสุดท้ายคือการโอนถ่ายพนักงานจากสังกัด GMM25 ไปยังหน่วยงานต่างๆ นั่นเอง

ซึ่งสิทธิ์ในการทำการตลาดของ GMM25 ที่ GMMCH (ซึ่งกลายเป็นบริษัทในเครือ ONE แล้ว) มีหน้าที่ได้แก่ การจัดหาผู้เช่าเวลารายการในช่อง 25, จัดหาลูกค้าเพื่อร่วมผลิตรายการ, จำหน่ายเวลาโฆษณาทั้งหมดในช่อง 25 รวมไปถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบไปด้วยโลโก้ช่อง ชื่อรายการ งานลิขสิทธิ์ของ GMM25 และการผลิตรายการตอนใหม่ โดย GMM25 จะไม่มีสิทธิ์ในการผลิตรายการเอง หรือหาลูกค้าเอง ซึ่งทับซ้อนต่อการดำเนินงานของตัวแทนการตลาดเด็ดขาด เว้นแต่ในด้านการบริหารให้มีนายสถานี แลการชำระะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ที่ยังคงเป็นหน้าที่ของ GMM25 เหมือนเดิม

ONE จะเข้า IPO อย่างไรบ้าง? รู้ก่อนใครแบบง่ายๆ ที่นี่!

บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด จะดำเนินการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนร้อยละ 20 จากทั้งหมดของทุนที่ชำระแล้วภายหลังจากการทำการเพิ่มทุนเรียบร้อย มูลค่าที่ตราไว้อยู่ที่ 100 บาท สำหรับราคาเสนอขายยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากต้องสำรวจความต้องการในการซื้อหลักทรัพย์ก่อน และต้องรอการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เพื่อกำหนดวันเปิดหนังสือชี้ชวนและเสนอขายอย่างเป็นทางการได้

ปัจจุบันกลุ่ม ONE มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 3,810 ล้านบาท โดยมี บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 50, กลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ร้อยละ 18.34 (ประกอบไปด้วยตัวนายถกลเกียรติ ร้อยละ 3.94, บริษัท วัน ทำ ดี จำกัด ร้อยละ 3.15), บริษัท ซิเนริโอ จำกัด ร้อยละ 11.64 (แกรมมี่ถือร้อยละ 25, กลุ่มนายถกลเกียรติถือร้อยละ 52.67 และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ร้อยละ 22.33) และ GRAMMY ถือหุ้นร้อยละ 31.27 โดยหลังจากการ IPO เสร็จสิ้น จะทำให้ประชาชนทั่วไปถือหุ้นร้อยละ 20, GRAMMY ถือหุ้นร้อยละ 25.02, กลุ่มนายถกลเกียรติ ถือหุ้นร้อยละ 5.67 (ประกอบไปด้วยตัวนายถกลเกียรติ ร้อยละ 3.15 และบริษัท วัน ทำ ดี จำกัด ร้อยละ 2.52), บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ร้อยละ 40 และบริษัท ซิเนริโอ จำกัด ร้อยละ 9.31

โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการของ ONE นำโดย ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นประธานกรรมการ โดยผลประกอบการ 2 ปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้น จากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,773.03 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 178.39 ล้านบาท แต่ในปี 2563 มีรายได้เติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 3,215.10 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 633.90 ล้านบาท

ใครได้ ใครเสียจากการนำ ONE เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

การนำ ONE เข้า IPO จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกถือหุ้น ONE หรือ GRAMMY ก็ได้ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้นของ GRAMMY ทางอ้อมจากการที่ราคาหุ้นของ ONE สูงขึ้นตามตลาด และ ONE จะได้ระดมเม็ดเงินเพื่อเพิ่มกำลังในการผลิตผลงาน ขยายธุรกิจ และสร้างกำไรต่อไปในอนาคตได้ นอกจากนี้จะยังสานต่อความเป็นพันธมิตรทางด้านสื่อและธุรกิจระหว่างกันได้มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ และ ONE จะนำเงินมาคืนในการค้ำประกันวงเงินกู้ยืมจากการซื้อหุ้น GMMCH กลับมายัง GRAMMY และส่งผลให้ปลดภาระการค้ำประกันได้ในที่สุดอีกด้วย

โดยกลุ่ม ONE นั้นปัจจุบันประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบ ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ที่มุ่งเน้นการออกอากาศผ่านช่องทางโทรทัศน์ในระบบ ดิจิทัลทีวี

คงต้องจับตากันต่อไปว่าการเข้า IPO ในครั้งนี้จะสมหวังดั่งที่ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เคยกล่าวเมื่อครั้งที่ช่องวัน 31 และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เข้าร่วมการแถลงการณ์กรณีการเรียงช่องว่าอยากทำให้กลุ่ม ONE เป็นหนึ่งในธุรกิจผู้นำทางด้านคอนเทนต์ให้เป็นจริงหรือไม่? หรือผู้ถือหุ้นทั้งทาง ONE และ GRAMMY จะทำอย่างไรกันต่อ? คงต้องติดตามในวันประชุมผู้ถือหุ้นกัน ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนประมาณไตรมาสที่ 3 ของปีนี้แน่นอน