fbpx

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) เผยแพร่เอกสารนำเสนอผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อประกอบการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยได้เปิดเผยถึงแนวทางและกลยุทธ์ที่น่าสนใจของบีอีซี เวิลด์ในปี 2564 รวมไปถึงรวบรวมสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ อีกด้วย ซึ่งจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นในเร็วๆ นี้

สถานการณ์ของช่อง 3 ในปี 2563

ก่อนที่จะไปอ่านเรื่องแผนในปี 2564 กัน เรามาดูสถานการณ์ในปี 2563 ของช่อง 3 กันก่อน เพื่อทำความเข้าใจกลยุทธ์ต่างๆ ของช่อง 3 ในปี 2564 ให้มากขึ้น เริ่มจากในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลทำให้พนักงานต้องสลับวันทำงานและทำงานจากที่บ้าน นอกจากนั้นสถานการณ์ทางการเงินในปี 2563 ถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือในครึ่งปีแรก (ไตรมาสที่ 1-2/2563) มีผลประกอบการที่ขาดทุน โดยขาดทุนรวมกันอยู่ที่ 542 ล้านบาท แต่ในครึ่งปีหลัง (ไตรมาสที่ 3-4/2563) มีผลประกอบการที่ดีขึ้น สามารถทำกำไรรวมกันได้ที่ 327.6 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 2563 มีการลดจำนวนพนักงาน และลดโครงสร้างองค์กร โดยพนักงานลดลงถึงร้อยละ 55 โดยประมาณจากปี 2562 และเหลือพนักงานประจำการอยู่ที่ประมาณ 900 คน และยังเป็นช่วงเดียวกันกับที่ปิดช่อง 3 ในระบบแอนะล็อกเดิม ในขณะเดียวกันช่อง 3 ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ผ่านการทำการตลาดและสร้างแอปพลิเคชัน CH3Plus ที่มาช่วยเติมเต็มความต้องการในการรับชมได้

และในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมีการขายหุ้น TERO ออกทั้งหมด และได้ซื้อกลุ่มรายการตระกูล “เรื่องเล่า” โอนถ่ายให้แก่ช่อง 3 ในการผลิตรายการแทน และการเปลี่ยนตัวผู้บริหารจาก “อริยะ พนมยงค์” เป็น “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” รวมไปถึงการลดต้นทุนและการบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็ทำให้สถานการณ์ในปี 2563 ผ่านพ้นไปได้

ละครชูโรง ส่งออกไปต่างประเทศ

ในปี 2563 ช่อง 3 ได้ดำเนินการส่งออกละครไทยที่ทางช่องเป็นผู้ผลิตเพื่อออกอากาศทั้งในรูปแบบคู่ขนาน (Simulcast) และออกอากาศบนออนไลน์ของต่างประเทศ โดยมีละคร 5 เรื่องที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ และชูโรงทำกำไรได้มากกว่า 408.5 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2562 ที่ทำรายได้ไป 162.8 ล้านบาท และมีละครส่งออกไปเพียง 1 เรื่องเท่านั้น โดยส่งออกไปยังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

โดยละครที่ส่งออก ได้แก่เรื่อง “เล่ห์บรรพกาล” ฉายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 โดยส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม, ละครเรื่อง “อกเกือบหัก แอบรักคุณสามี” ฉายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 โดยส่งออกไปประเทศจีน, ละครเรื่อง “พยากรณ์ซ่อนรัก” ฉายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 โดยส่งออกไปยังประเทศจีน, ละครเรื่อง “ร้อยเล่ห์มารยา” ฉายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 โดยส่งออกไปที่ประเทศจีน ผ่าน 3 แพลตฟอร์มหลัก และประเทศอื่นๆ ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย, อินเดีย, ไต้หวัน, เวียดนาม, มาเลเซีย, บูรไน, สิงคโปร์ และละครเรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 โดยส่งออกไปยังประเทศจีน, เวียดนาม, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และบูรไน

ช่อง 3 เปลี่ยนก้าวไปสู่โลกดิจิทัลสำเร็จ

ในส่วนของธุรกิจสื่อใหม่และสื่อดิจิทัลในปี 2563 ช่อง 3 ขยายตัวและปรับตัวก้าวสู่ออนไลน์มากขึ้น โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแอปพลิเคชันจาก Mello เป็น CH3Plus ในวันที่ 4 มีนาคม 2563 และมีผู้ใช้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ล้านคน นอกจากนั้นในกลุ่มสื่อใหม่และสื่อดิจิทัลโดยรวมยังทำรายได้อยู่ที่ 429.6 ล้านบาท มากกว่าปี 2562 ที่ทำรายได้อยู่ที่ 318.5 ล้านบาท โดยมีฐานพันธมิตรทางธุรกิจ ประกอบไปด้วย LINE TV, YouTube, WeTV, Facebook, True ID, AIS PLAY, VIU และ Netflix

นอกจากนั้นยังปรับตัวสำหรับการจัดกิจกรรม ทั้งแถลงข่าวและ Fan Meeting โดยให้เป็นระบบออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยจัดในรูปแบบ Virtual Activity ไปทั้งหมด 3 ครั้ง

เปิดปม เหตุผลที่ช่อง 3 ตัดใจขาย TERO Entertainment

สำหรับเหตุผลในการขาย TERO Entertainment ซึ่งขายหุ้นทั้งหมดกว่าร้อยละ 59.99 ที่ถือในเทโรฯ ช่อง 3 ชี้แจงว่าเป็นการขายหุ้นไปตามแผนการจัดการในการลงทุนของช่อง ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มเทโร มีผลประกอบการที่ขาดทุน ทำให้ช่อง 3 ตัดสินใจขายเพื่อหยุดการขาดทุนจากการรวมงบการเงินของเทโร ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจเพลง คอนเสิร์ต จำหน่ายบัตรเข้าชม ผลิตรายการ และผลิตรายการวิทยุ และทำให้สามารถจัดการการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย โดยมีกำไรที่รับรู้จากการขายครั้งนี้อยู่ที่ 37.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ช่อง 3 ยังตัดสินใจซื้อแบรนด์และทรัพยากรภายใต้แบรนด์ “เรื่องเล่า” จากเทโร ให้มาเป็นของช่อง 3 ที่จะดำเนินการผลิตเองในปี 2564 ประกอบไปด้วยรายการ เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง, เรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ในปี 2564 ได้ต่อไป

กลยุทธ์ปี 2021 ภายใต้แนวคิด “คอนเทนต์เดียว ส่งทุกช่องทาง”

ช่อง 3 ในปี 2021 ยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการทำ Single Content, Multiple Platform. อยู่ โดยเน้นให้ผลิตเนื้อหาแค่ชิ้นเดียว แต่สามารถลงได้ทุกช่องทางที่ช่องมีอยู่ ได้แก่ โทรทัศน์, ออนไลน์ และส่งออกไประดับโลก (หรือขายลิขสิทธิ์นั่นเอง) โดยมุ่งมั่นทำให้องค์กรเป็นผู้นำทางด้านความบันเทิงและคอนเทนต์ แพลตฟอร์มในประเทศไทย

ซึ่งทางช่อง 3 มี 3 กลยุทธ์ที่เน้นทำ คือ การรักษาฐานผู้ชมเดิม ขยายฐานผู้ชมใหม่ให้มากขึ้น เน้นการกระจายรายได้ให้มาจากหลายช่องทางมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับองค์กร และสร้างคุณค่าในองค์กรของช่อง โดยการทลายกรอบและทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เน้นให้ความสำคัญกับผู้ชมเป็นลำดับแรก แล้วรายได้และเรตติ้งจะตามมา เน้นกลยุทธ์ร้อยละ 10 แต่เน้นการลงมือทำร้อยละ 90 โดยต้องเร็วและเล็ก เน้นความมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส และเน้นทำงานแบบบูรณาการ ทำงานร่วมกันในองค์กรให้มากขึ้น

สำหรับแนวทางของผังและคอนเทนต์ในปี 2021 ช่อง 3 ให้ความสำคัญกับการพัฒนารายการในช่วงไพร์มไทม์ และเพิ่มการเติบโตของรายได้ในช่วงที่นอกเหนือจากไพร์มไทม์ โดยให้ความสำคัญกับรายการข่าวและวาไรตี้มากเป็นพิเศษ โดยจะเน้นรายการในช่วงวันหยุดที่ทำให้ดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในเชิงการเติบโต ช่อง 3 ยังมองไปถึงเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งของตลาดระดับโลก และการสร้างรายได้จาก CH3Plus ให้เป็นอีกหนึ่งรายได้ โดยจะมีการเปิด Package CH3Plus Premium ในราคา 99 บาทอีกด้วย ซึ่งคาดหวังการเติบโตในแพลตฟอร์ม CH3Plus ในไตรมาสแรกของปี 2564 อยู่ที่ 1.2 ล้านคนต่อเดือน และยังพัฒนาในส่วนของคอนเทนต์ข่าว โดยเฉพาะในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่จะพัฒนาขยายฐานผู้ชมข่าวใน CH3Plus ให้เติบโตขึ้นเป็น 3 ล้านผู้ใช้อีกด้วย

ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าช่อง 3 จะสามารถก้าวผ่านและสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดได้หรือไม่? ที่สำคัญคือต้องจับตาการกลับมาของ “สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา” ที่ทางช่องคาดหวังสูงให้เรื่องเล่าเช้านี้กลับมาเติบโตมากขึ้น ต้องติดตามกันต่อไป