fbpx

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ข่าวที่ได้รับความสนใจในขณะนั้นคงหนีไม่พ้นการออกจากเรือนจำของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ผู้ประกาศข่าวชื่อดังจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่โดนศาลสั่งให้จำคุกในคดีทุจริตเวลาโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพนักงาน สรยุทธใช้ชีวิตในเรือนจำร่วม 2 ปี 4 เดือน จนกระทั่งวันนั้นที่ได้ออกจากเรือนจำครั้งแรก

หลังจากนั้น 1 พฤษภาคมปีเดียวกัน สรยุทธกลับมาในฐานะผู้ประกาศข่าวของสองรายการ คือ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ และเรื่องเล่าเช้านี้ โดยยังควบตำแหน่ง “ที่ปรึกษาฝ่ายข่าว” ของไทยทีวีสีช่อง 3 อีกด้วย โดยช่อง 3 ยอมที่จะซื้อแบรนด์เรื่องเล่าเช้านี้จาก “เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ในราคาร่วม 15 ล้านบาท เพื่อมาบริหารต่อโดยมีสรยุทธเป็นผู้นำ

เวลาผ่านล่วงมา 2 ปีนับจากสรยุทธออกจากเรือนจำ หลายท่านอาจจะยังสงสัยถึงประเด็นต่างๆ ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และหลังออกจากเรือนจำว่าเส้นทางของสรยุทธเป็นอย่างไรบ้าง? วันนี้ส่องสื่อรวบรวมมาให้อ่านอีกครั้งแบบครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว และนี่คือเรื่องราวของสรยุทธที่คุณต้องรู้!…

รู้จักที่มาของ “นายสรยุทธ”

สรยุทธ สุทัศนะจินดา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และ จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เมื่อปี 2530 และนี่เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสายสื่อเมื่อเขาได้ร่วมงานกับสำนักงานเดอะ เนชั่นในปีถัดมา โดยเขาทำข่าวในสายรัฐสภาเป็นเวลาสองปี พร้อมกับการทำข่าวในสายทำเนียบรัฐบาลอีกสองปี

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้ประจำในกองบรรณาธิการ ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง และในปี พ.ศ. 2537 เขาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง ซึ่งถัดมาปี 2539 กลุ่มเนชั่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สรยุทธก็ได้ร่วมงานกันกับไอทีวีในบทบาทของนักวิเคราะห์ข่าวการเมืองทางไอทีวีโดยรับหน้าที่ในรายการไอทีวี ทอล์ก, เวทีไอทีวี, ฟังความรอบข้าง และก๊วนกวนข่าว เป็นต้น และกลังจากนั้นในปี 2540 เขาก็ได้เป็นรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น และเริ่มลงมาจัดรายการโทรทัศน์อีกด้วย

จาก “นายสรยุทธ” ตั้งไข่ มาเป็น “กรรมกรข่าว”

ยุคทองของสรยุทธ เริ่มต้นขึ้นหลังจากยุค2540s โดยถือกำเนิดขึ้นในปี 2543 สรยุทธได้มีโอกาสนั่งจัดรายการข่าวกับผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกของช่องผู้มีฝีมือคมคายอย่าง ‘กนก  รัตน์วงศ์สกุล’ ในรายการ เก็บตกจากเนชั่น และรายการคมชัดลึก และในอีก 3 ปีถัดมา เมื่อช่อง 3 ทาบทามให้เขามาอ่านข่าวเช้าก่อนมาจัดรายการที่เนชั่น แต่ทางเนชั่นไม่เห็นด้วย ก็ได้ออกจากเนชั่น เพื่อมาร่วมจัดรายการกับช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) อย่างรายการ ถึงลูกถึงคน ซึ่งประสบความสำเร็จจนต้องผลิตรายการ คุยคุ้ยข่าวเพิ่มขึ้นมาในปีถัดมา

หนึ่งในจุดเริ่มต้นในการทำงานกับไทยทีวีสีช่อง 3 ของนายสรยุทธนั้นคือการรับหน้าที่ “พ่อมดประจำเกม” ซึ่งก็คือพิธีกรที่แทบจะไม่เปิดเผยหน้าตา ในรายการเกมโชว์ความยาว 90 นาทีที่ชื่อว่า “กล่องวิเศษ” รายการเกมโชว์สุดสนุกของค่ายเทโรเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ซึ่งในขณะนั้นคือบีอีซี-เทโร) ซึ่งเริ่มออกอากาศตอนแรกในเดือน มกราคม 2546 แทนที่เวลาเดิมของรายการ “กำจัดจุดอ่อน” ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเป็นจำนวนมากในขณะนั้น

รูปแบบของกล่องวิเศษจากที่ได้ยินมาปากต่อปากนั้น เป็นรายการเกมโชว์ที่เล่นกับการซักถามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และคาดเดาถึงสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ภายในกล่องวิเศษใบนั้น ซึ่งมีทั้งความลึกลับ น่าสนใจ ที่ทั้งลุ้น และทั้งเสียวในเวลาเดียวกัน การ “ไม่เปิดเผยตัวตน” ในรายการ ทำให้เป็นที่ฮือฮาอย่างมากว่าเสียงที่ได้ยินในรายการนั้นคือเสียงของใคร? ว่ากันว่าที่เขาไม่ได้เปิดเผยหน้าของเขาในรายการนี้เพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้เล่นสามารถจับพิรุธของพ่อมดประจำเกมได้ง่าย[2]

จุดเริ่มต้นของ “เรื่องเล่าเช้านี้”

แต่ไม่มีอะไรจะสุดไปกว่าการได้ร่วมงานในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งนับว่าป็นจุดที่ดังสุดฉุดไม่อยู่ของเขา ทำให้เกิดคำถามว่าเขาเอาเวลาที่ไหนไปพักผ่อนกกันแน่?  ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผู้ชมและผู้ฟังตั้งคำถามเป็นอย่างมากในช่วงนั้น เพราะไม่ว่าจะหลับหรือตื่น เราต่างก็พบเขาอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์เสมอ 

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2546 คือวันที่รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เริ่มออกอากาศเป็นวันแรก โดยแรกเริ่มเดิมที ช่อง 3 ตั้งใจให้มาจัดรายการนี้ก่อนไปจัดรายการเก็บตกจากเนชั่นที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล แต่ทางเนชั่นไม่ยินยอมที่จะให้ตัวของสรยุทธ์ไปทำงานให้กับช่อง 3 ก่อนจะมาทำงานให้กับเนชั่น เขาจึงตัดสินใจที่จะลาออกมาจากเนชั่นเพื่อมาจัดรายการที่ช่อง 3[3]

รูปแบบแรกของเรื่องเล่าเช้านี้นั้น คือรูปแบบที่สรยุทธนั้นนั่งจัดรายการร่วมกับ ปอ – อรปรียา หุ่นศาสตร์ (หรือชื่อปัจจุบันคือ  “ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์”) ในช่วงเวลาต่อมามีการเสริมผู้ประกาศข่าวกีฬาอย่าง “เอกราช เก่งทุกทาง” เข้ามาร่วมเสริมให้รายการดูเข้ารูปเข้ารอยขึ้น

เรื่องเล่าเช้านี้ มีการผลัดเปลี่ยนผู้ประกาศฝ่ายหญิงกันไปในหลายยุคหลายสมัยไม่ว่าจะเป็น สู่ขวัญ บูลกุล, มีสุข แจ้งมีสุข, วนกลับมาที่ตัวของปออยู่พักนึง และเปลี่ยนมาเป็น กฤติกา ขอไพบูลย์ ในเวลาถัดมา จนมาถึงผู้ประกาศหญิงคนปัจจุบันของรายการอย่าง “ไบรท์ – พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” ที่เป็นทั้งแฟนคลับของสรยุทธและเปรียบดั่งลูกสาวที่ฝึกฝนการอ่านข่าวด้วยการอ่านสไตส์ข่าวเก๋าแต่เก๋ ด้วยการอ่านแบบหนังสือให้ฟังมากกว่า หรือการอ่านสรุปจับใจความสำคัญในการนำเสนอออกมา

แต่พอวันที่สรยุทธไม่อยู่ก็เหมือนเสาหลักนั้นหายไป ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกแต่เป็นการเก็บอารมณ์อย่างไรให้มันไหลลื่นที่สุด และก็เป็นผู้สร้างความทรงจำทั้งวิธีเล่า เทคนิคการขมวดประเด็นและการรับผิดชอบต่อคนดูรายการด้วย

ในช่วง 2 ปีแรกของรายการ เรื่องเล่าเช้านี้สามารถปลุกช่วงเวลายามเช้าที่แทบจะเป็นป่าช้าในผังหลาย ๆ ช่อง พลิกมาให้คึกคักได้อย่างสดใส เพราะการที่ตัวรายการมีการนำสาระมาสอดแทรก, ผสมกับมุกที่ชวนฮา, ความทะลึ่งนิด ๆ, และเสียงหัวเราะที่ดึงดูดคนดูให้ขำได้ รวมถึงการเกลี่ยข่าวแบบไม่ลำดับความสำคัญ โดยเน้นเรื่องที่ชาวบ้านสนใจ สามารถทำให้รายการนี้มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ในช่วงเช้า จนสามารถมัดใจเอเจนซี่และเจ้าของสินค้าได้ ทำให้มีการขึ้นค่าโฆษณาในช่วง 2 ปีกว่า ๆ หลังรายการออกอากาศวันแรกถึง 3 ครั้ง! จากเดิมที่เริ่มที่ 50,000 บาท ก็ค่อย ๆ เพิ่มมาเป็น 80,000 บาท, 100,000 บาท และ 135,000 บาทตามลำดับ จนถึงขั้นที่ “ประวิทย์ มาลีนนท์” เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่เคยมีรายการใดในช่วงเช้าที่สร้างเรตติ้งให้กับช่อง 3 มากมายถึงขนาดนี้”

ความนิยมของรายการทำให้รายการเริ่มมีการจัดรายการนอกสถานที่อยู่บ่อยครั้งนับไม่ถ้วน โดยแรกเริ่มได้วางไว้ว่าจะจัดรายการนอกสถานที่ในทุก ๆ วันจันทร์ [4] และด้วยความนิยมของรายการ ยังทำให้รายการแตกออกมาเป็นรายการ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์” ในช่วงสาย ๆ ของวันเสาร์และอาทิตย์ได้อีกด้วย โดยรูปแบบที่เป็นภาพจำก็คือการมีผู้ประกาศชายจากฉบับวันธรรมดาจัดร่วมกันกับผู้ประกาศอีกคนหนึ่ง เพื่อเว้นให้ผู้ประกาศหญิงในฉบับวันธรรมดาได้พักผ่อน

อีกรายการหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงเมื่อครั้งยังอยู่ช่อง 3 คือ “จับเข่าคุย” อีก 1 รายการ Talk ซึ่งเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2546 ก่อนที่จะหายจากหน้าจอไปพักหนึ่ง และกลับมาใหม่ในอีกไม่กี่ปีถัดมา และหลุดผังไปอย่างถาวรในช่วงปี 2552 เพื่อหลีกทางให้กับรายการ “ทูไนท์โชว์” ของค่ายบอร์น

“ถึงลูกถึงคน” รายการสร้างประวัติศาสตร์ของช่อง 9

หลังจากวันออกอากาศของเรื่องเล่าเช้านี้ 1 วัน ในคืนวันถัดมา บนหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี รายการ “ถึงลูกถึงคน” รายการ Hard Talk ที่เกิดขึ้นจากการชักชวนของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” ในระหว่างที่เขากำลังเตรียมงานรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ก็ได้เกิดขึ้น

ถึงลูกถึงคนได้สร้างภาพจำให้กับสรยุทธในฐานผู้ประกาศข่าวได้อีกระดับหนึ่ง ด้วยรูปแบบที่เข้มข้น น่าสนใจ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้แสดงความคิดเห็นผ่าน SMS และระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้เป็นรายการพลิกสล็อต 5 ทุ่มที่เป็นช่วงเน่า ขายได้ยาก ให้เป็นเวลาที่น่าติดตามได้ แต่ก็มีบางฝ่าย อย่างเช่นสื่อเครือผู้จัดการ ก็มีข้อกังขาถึงการทำหน้าที่ของเขาเช่นเดียวกัน

เมื่อเวลาช่วง 5 ทุ่มได้เรตติ้งดี จากก่อนหน้านี้ที่เคยให้สล็อต 5 ทุ่มเพื่อทำรายการ Hard Talk ทางคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กรรมการผู้จัดการของ บมจ.อสมท. ในขณะนั้นก็ตัดสินใจให้สล็อตเวลาเพิ่ม โดยเปิดโอกาสให้สรยุทธร่วมผลิตรายการ ด้วยระบบการแบ่งขายเวลาโฆษณาหรือ Time Sharing ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 50 : 50 ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็มีรายได้จากโฆษณาที่แต่ละฝ่ายหามาได้ และนอกจากนั้นยังทำให้เกิดรายการ “คุยคุ้ยข่าว” (ซึ่งเดิมเกือบจะเป็นชื่อรายการของเรื่องเล่าเช้านี้)[4] ประกบคู่กับคู่หูคู่ข่าวที่คุ้นเคยจากช่องเนชั่นอย่าง “กนก รัตน์วงศ์สกุล” และนั่นคือจุดกำเนิดของบริษัท “ไร่ส้ม”[3]

ต้นสายปลายเหตุสู่เรือนจำของ “สรยุทธ”

เมื่อ 2 รายการเดิมในช่องโมเดิร์นไนน์ทีวีหลุดผังไปหลังจากเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งผลหลังจากนั้น ทำให้พบคดีเกี่ยวกับเวลาโฆษณาที่เกินออกมา แต่เขาก็ไม่ละเส้นทางบนสาย Hard Talk ทำให้เขาเลือกที่จะมาจัดรายการ “เจาะข่าวเด่น” เป็นช่วงย่อยในรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ซึ่งกระแสอาจจะไม่หวือหวามาก แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เรตติ้งเฉลี่ยหลังข่าวเกี่ยวกับคดีของบริษัทไร่ส้มเริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึง ในปี 2557 ก่อนการเข้ามาของทีวีดิจิทัล เรตติ้งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.852 เมี่อทีวีดิจิทัลเริ่มเข้ามา เรตติ้งเฉลี่ยในปีถัดมาจึงลดลงเหลือ 2.139 และเริ่มส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่สรยุทธต้องหยุดการทำหน้าที่ไป

การหยุดทำหน้าที่ในครั้งนั้น ทำให้บนโต๊ะมีเพียงผู้ประกาศหญิงอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะได้ผู้ประกาศชายอย่าง “ต๊ะ – พิภู พุ่มแก้วกล้า” มาทำหน้าที่ผู้ประกาศชาย ซึ่งต้องแบกความคาดหวังไว้สูงมาก แต่ทำหน้าที่ได้ไม่นานนัก ก็ต้องขอถอนตัวออกจากรายการนี้ไป หน้าที่นี้จึงตกเป็นของ “ไก่ – ภาษิต อภิญญาวาท” จนถึงทุกวันนี้ (แต่ในบางวันที่ติดภารกิจ ก็มักจะมีคนมาทำหน้าที่แทน ล่าสุดคือ “โจ – อรชุน รินทรวิฑูรย์” ที่ได้รับโอกาสมาทำหน้าที่แทนในวันนั้น ๆ)

เรตติ้งเฉลี่ยในปีนั้นอยู่ที่ 1.545 และร่วงลงมาเหลือ 1.101 ในปี 2560 ก่อนจะฮวบลงมาแตะเลข 0 โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งปีที่ 0.945 ในปี 2561 และในปี 2562 ที่มีการแยกรายการ “เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง” ออกมา ก็ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยของเรื่อเงล่าเช้านี้อยู่ที่ 0.930 และ 0.533 สำหรับรายการที่แยกออกมาอย่างเรื่องเล่าหน้าหนึ่ง[6]

ส่วนเรตติ้งเฉลี่ยเมื่อเทียบกับรายการช่วงเช้านั้น จะพบได้ว่าช่อง 3 เสียฐานผู้ชมให้กับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ของค่ายมีเดียส์สตูดิโอ (ฝ่ายข่าว(2) 7HD ในปัจจุบัน) และรายการ “สนามข่าว 7 สี (หรือสนามข่าว 7HD ในปัจจุบัน) ที่ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (หรือช่อง 7HD ในปัจจุบัน) ซึ่งเริ่มออกอากาศในปี พ.ศ. 2557

ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยในปี 2558 ในรายการประเภทข่าวเช้าผลัดกันขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” กับรายการ “สนามข่าว 7สี” หนำซ้ำในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ถึงไตรมาส 2 ปี 2561 ยังถูกรายการ “คุยข่าวเช้าช่อง 8” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ซึ่งในขณะนั้นมี “เอ – ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์” ซึ่งมีสไตล์ที่คล้ายคลึงกันกับสรยุทธ และพอทดแทนกันได้ นั่งเป็น 1 ในผู้ประกาศข่าว เบียดเรตติ้งเฉลี่ยของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ลงไปอยู่ในอันดับที่ 4! [7]

ถึงตัวของสรยุทธ จะเข้าเรือนจำครั้งแรกในวันที่ 21 มกราคม 2563 แต่ในช่วงเวลาไม่นาน สรยุทธ ก็เริ่มมีข่าวอัพเดตต่างๆ ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ 1 ในนั้นคือรายการ ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ ที่ทั้งอัพเดตสถานการณ์ข่าวในปัจจุบัน และอัพเดตข่าวจากกรมราชทัณฑ์ และยังเป็นการเปิดเผยการใช้ชีวิตในเรือนจำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรื่องเผยแพร่มุมมองที่ถูกต้องในมุมของเรือนจำ ให้กับชาวเรือนจำ อย่างเช่นเรื่องโควิด-19 ที่อาจติดกันในเรือนจำอย่างที่กังวลกัน หรือเรื่องสถานการณ์ภายในที่ทำให้ผู้ฟังก็สามารถคลายความคิดถึงเขาได้เป็นอย่างดี

ในวันที่สรยุทธออกจากเรือนจำ

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่หลายฝ่ายรอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 เวลา 7:30 น. สรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้รับการพักโทษ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวสรยุทธไปใส่กำไร EM เพื่อติดตามตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน (14 มีนาคม 2564 – 26 กรกฎาคม 2566) ที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครเขต 7 (ไอที สแควร์) โดยมีหลายคนในวงการออกมาต้อนรับสรยุทธ เช่น ทีมงานรายการเรื่องเล่าเช้านี้, พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ, อริสรา กำธรเจริญ, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, ตัน ภาสกรนที เป็นต้น ซึ่งสื่อมวลชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

โก๊ะตี๋ อารามบอย นำสูทตัวโปรดของสรยุทธ มารับสรยุทธ (ภาพ : เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ)

อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต กล่าวถึงการพักโทษของสรยุทธว่า ก่อนหน้านี้สรยุทธได้รับการอภัยโทษถึง 2 ครั้ง ประกอบกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สรยุทธได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผ่านรายการ “เรื่องเล่าชาวเรือนจำ” เพื่อแจ้งให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำถึงสถานการณ์โควิด-19 และการระวังตัวอีกด้วย รวมถึงประชาสัมพันธ์โครงการกำลังใจเพื่อผู้ต้องขัง ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพจึงได้ทำเรื่องขอพักโทษขึ้น ยังยืนยันว่าในตอนนี้ยังไม่พ้นโทษ และยังต้องรายงานตัวอยู่ทุกๆ เดือน รวมถึงมีหลักเกณฑ์ในขณะพักโทษ โดยต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีการประเมินพฤติกรรมตลอดเวลา การไม่ให้ไปที่สนามบินและใช้เครื่องบิน ไม่เข้าใกล้เรือนจำ และกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยให้เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เว้นในกรณีที่ต้องเดินทางหรือทำงานสามารถขออนุญาตเป็นรายกรณีไปล่วงหน้า 3 วัน รวมไปถึงห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (ไม่ใช่การทำหน้าที่เป็นพิธีกรในเวทีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง)

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ให้การต้อนรับสรยุทธ สุทัศนะจินดา (ภาพ : ดาริณ กาญจนะโรจน์)

หลังจากนั้น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้มอบพระให้กับสรยุทธ โดยได้ถามว่า “อิสรภาพมันหอมหวานไหม?” และสรยุทธก็ได้ตอบว่า “มันก็ดีเหมือนกันนะ” และหลังจากนั้นก็ได้ถามตอบกับสื่อมวลชน โดยได้ขอบคุณทางกรมราชทัณฑ์และดีใจ ตื่นเต้นมากที่ได้อิสรภาพ แม้จะยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ อย่างน้อยได้ออกจากเรือนจำ และดีใจที่ทุกคนไม่ได้ลืมกัน การอยู่ในเรือนจำมันก็มีความทุกข์ทางจิตใจพอสมควร คิดเอาไว้ว่าอย่างน้อยมันก็จะได้จบสักที วันนี้จะได้นับหนึ่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อสื่อมวลชนถามว่าจะได้กลับมาจัดรายการบนหน้าจอเมื่อไหร่นั้น สรยุทธได้ตอบไปว่า ตนเองนั้นจัดรายการอื่นไม่เป็น แต่ยังขอคิดอีกนิดนึงว่าจะกลับมาจัดอีกทีเมื่อไหร่? คือโลกมันเปลี่ยนไปเยอะนะ ตนเองไม่ได้ทำงานมา 5 ปี ฉะนั้นโลกในสมัยที่ตนเองทำนั้น ทำในช่วงที่คนไม่ดูข่าวหันมาดูข่าว แต่ในยุคนี้ตนยังไม่รู้เลยว่าในเมื่อข่าวมันเต็มไปหมดเลย จะทำยังไงให้เขาเข้ามาดูข่าวของเรา ขอเวลาคิดและปรับตัวอีกนิดนึง และจะยังช่วยเรือนจำอยู่จนกว่าทางกระทรวงยุติธรรมได้ขยับขยายต่อด้วยตนเองได้ ได้ทำแล้วก็มีความสุขพอประมาณ และเป็นประโยชน์ต่อคนในเรือนจำด้วยเช่นกัน ถ้าทำให้คนที่ทุกข์ที่สุดได้ยิ้มบ้างก็จะทำให้เรามีความสุข นอกจากนี้สรยุทธยังเน้นชัดว่าตนจะยังอยู่ช่อง 3 ร้อยเปอร์เซนต์อีกด้วย

เกิดอะไรขึ้นหลังจากสรยุทธกลับมา?

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีข่าวไทยทีวีสีช่อง 3 หรือชื่อที่เรารู้จักกันคือ “ครอบครัวข่าว 3” มีการปรับทัพกำลังกันมากขึ้น หลายคนก็คงจะได้เห็นพัฒนาการการนำเสนอข่าวของช่อง 3 อย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง คือการกลับเข้ามาของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กรรมกรข่าวคนดังของไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้ครองหน้าจอรายการข่าวยามเช้าอย่าง “เรื่องเล่าเช้านี้” และยามสายวันหยุดอย่าง “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” นั่นเอง

การกลับเข้ามาในครั้งนี้ นอกจากการกลับมาเป็นพิธีกรข่าวแล้ว ก่อนหน้าที่เขาจะออกสู่หน้าจอ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เขายังได้รับการดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาฝ่ายข่าว” โดยขึ้นตรงต่อ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าว จนออกมาเป็น 5 ช่วงเวลาข่าวที่ทางช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินการหลัก

ถ้าดูจากเรตติ้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะพบว่า เรตติ้งของรายการเรื่องเล่าเช้านี้มีระดับที่ทรงตัว โดยพบว่ายอดการรับชมออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 ล้านครั้ง ในขณะที่เรตติ้งทางโทรทัศน์ซึ่งวัดในกลุ่มผู้ชมอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลักก็พบว่าเรตติ้งทรงตัว มีขึ้น-ลงในบางช่วง จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ยังพบว่าเรตติ้งอยู่ที่ 2.33 และยอดการรับชมออนไลน์อยู่ที่ 2.1 ล้านครั้ง

แต่หลังจากการกลับมาของ “สรยุทธ” ปรากฏว่าในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ยอดการรับชมฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าเรตติ้งกระโดดไปถึง 2.97 และยอดรับชมผ่านออนไลน์สูงถึง 3.1 ล้านครั้ง และยังทำสถิติสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่มีเรตติ้ง 3.00 และยอดการรับชมออนไลน์อยู่ที่ 3.6 ล้านครั้งอีกด้วย[8]


อ้างอิง

[1] http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/04/number4.pdf
[2] http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgiHome=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A2011394/A2011394.html
[3] https://www.isranews.org/main-investigative/17152-%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98-%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%8B%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-3-%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B2-%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8D-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.html
[4] https://positioningmag.com/7871?fbclid=IwAR3izIocksrkrdv21PnSMpQ3MKKN8xm189Q1Lo0tJEMWc-thK-j7rnsAcxo
[5] https://positioningmag.com/11673
[6] https://www.tvdigitalwatch.com/news-ch3-reunglow-choanee-21-1-63/
[7] http://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/631100000002.pdf
[8] https://themodernist.in.th/sorrayut-ch3growth/