fbpx

แน่นอนว่าคนในวงการสื่อคงจะรู้จักว่าทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกๆ ปี จะเป็นวัน International Fact-Checking Day ซึ่งปีนี้เองทาง CO-FACT ร่วมมือกับหลายภาคส่วนและภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมในวันที่ 2 เมษายนขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นที่ถือว่าเป็นน้ำจิ้มก่อนวันจริงคือการตั้งห้อง Clubhouse ภายใต้ชื่อห้อง “Why We Need Fact-Checkers?” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังและผู้ร่วมวงสนทนาหลากหลายคนเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ้านอย่าง พีรพล อนุตรโสตติ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ.อสมท, สุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการ Ubonconnect, ณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ AFP Fact-Check, กนกพร ประสิทธิผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ ไทยพีบีเอส และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล ทีม Co-Fact ภาคเหนือ

โดยเริ่มต้นจากคุณพีรพล ได้พูดถึงความสำคัญของ fact-checker ว่าปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่สำนักข่าวหรือเกิดจากกองบรรณาธิการข่าวเท่านั้น แต่นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมจากคนที่มีความรู้เฉพาะทาง เช่น แพทย์ พยาบาล หรือคนในวงการนั้นๆ ที่มาช่วยเช็คข้อมูลด้วยเช่นกันนอกจากนี้ยังมีภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจสอบ โดยใช้จุดแข็งของเครือข่ายของตนเองในการทำงานประเด็นต่างๆ เข้ามาช่วยเช็คด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์หรือระบบ AI ที่เข้ามาช่วยค้นและหาข้อมูลแรกเริ่มสุด และตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริงอีกด้วย

ในขณะที่ชัวร์ก่อนแชร์ เกิดขึ้นก่อนคำว่า fact-checker โดยเกิดจากเจตนาในการที่จะตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยตั้งใจในการส่งสารข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลจริงให้ โดยยังกล่าวถึงการทำงานในปัจจุบันว่าข่าวลวงมาวิ่งอยู่บนออนไลน์ได้แนบเนียนขึ้น จึงทำให้การตรวจสอบยาก และมีรายละเอียดที่ซับซ้อนเช่นเดียวกัน

ในขณะที่คุณกนกพร ได้กล่าวถึงการติดตามและพฤติกรรมของคนรับสื่อว่า โดยปกติแล้วคนมักจะติดตามจากสไตล์ในการนำเสนอข่าวเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันสื่อได้แบ่งภูมิทัศน์ที่ยากขึ้น และในบางครั้งเองสื่อก็ตกเป็นเหยื่อและเป็นเครื่องมือแทนเช่นกัน เช่น การนำรูปผู้ประกาศข่าวมาตัดแปะและนำเสนอข่าวที่ทำให้เข้าใจผิด โดยลงผ่านช่องทางสื่อที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นโฆษณานั่นเอง

ซึ่งผู้เสพสื่อจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการรับข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันตรวจสอบมากขึ้นเช่นกัน และเป็น Active Citizen ในการตรวจสอบ เพราะสื่ออย่างเดียวไม่สามารถตรวจสอบได้เพียงคนเดียว โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการสร้างข่าวลวงขึ้นมาก็มีตั้งแต่เพื่อความสะใจ สร้างรายได้ ตลอดไปจนถึงสร้างความเสียหาย และเกิดการยุยงปลุกปั่นด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เสพสื่อจำเป็นต้องติดทักษะการรู้เท่าทันสื่อตลอดเวลา เพื่อให้ตามทันกับสื่อที่ไหลเข้ามามากขึ้น

ในขณะที่ฝั่งของคุณณัฐกร กล่าวถึงการทำงานของ AFP Fact-Check ว่า โดยปกติแล้ว AFP จะมีนักข่าวคอยตรวจสอบ 2-5 คนก่อนเผยแพร่ทั่วโลกผ่านบริการต่างๆ ของ AFP โดยในกรณีที่มีความผิดพลาดต้องรีบแก้อย่างตรงไปตรงมา และมีหลักการคือไม่อ้างจากสื่อออนไลน์ แต่จะใช้จากแหล่งข่าวแรกสุด หรือแหล่งข่าวปฐมภูมิ เพื่อให้ได้ข่าวตรงตามมาตรฐานและเที่ยงตรงที่สุด นอกจานั้นคือการสร้างวัฒนธรรมการตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และค้นหาคำตอบอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับการตรวจสอบข่าวลวงในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและหลายมิติมากขึ้น ซึ่ง AFP ก็จะใช้วิธีการแยกแต่ละมิติออกมาหาความจริง เพื่อเจาะลึกและหาต้นตอให้เจอ โดยถ้าเรื่องไหนที่ครึ่งๆ กลางๆ ทาง AFP จะไม่ทำ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบได้ และยิ่งในช่วงปัจจุบันที่คนเราเสพสื่อด้วยอารมณ์นำ ยิ่งทำให้การตรวจสอบและทำให้เขาเชื่อถือยิ่งยากมากขึ้นด้วย

ในส่วนของคุณสุชัย ได้กล่าวเสริมในฐานะภาคประชาชนว่า ภาคประชาชนมีส่วนในการเข้ามาตรวจสอบข่าวลวงอย่างมีระบบเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งข้อมูลผ่าน LINE Openchat ซึ่งทำให้สามารถส่งข่าวตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และถ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น เรื่องฝนฟ้าอากาศหรือภัยพิบัติ ภาคประชาชนจะมีส่วนช่วยเติมข้อมูลได้อย่างถูกต้องมากขึ้นด้วย แต่อุปสรรคสำคัญคือความเข้าใจในกลุ่มประชาชนบางส่วนที่ยังไม่มีภูมิต้านทานในการรับข่าวลวง เช่น ผู้สูงวัยที่หลงเชื่อข้อมูลด้านกัญชา ซึ่งต้องใช้วิธีการค่อยๆ เติมความรู้เข้าไปให้ได้มากที่สุด โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความแข็งแรงของภาคประชชนด้วยเช่นกัน

มาถึงช่วงคำถามสำคัญคือ “ทำไมเราต้องเป็น Fact-Checker?” ซึ่งทางคุณกนกพรได้ตอบว่า เพราะสื่อเพียงอย่างเดียวเอาไม่อยู่ ประชาชนจึงเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากๆ ในการช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งเปรียบเทียบว่า “ผู้ร้ายมากกว่าตำรวจ” ในขณะเดียวกัน การรู้เท่าทันสื่อก็จะช่วยทำให้เรามีภูมิต้านทานมากขึ้นด้วย

ในขณะที่คุณณัฐกร ได้ตอบว่าพฤติกรรมในการเสพสื่อและการแชร์กันต่อไปได้ง่าย ทำให้ขาดการตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองที่มีอารมณ์ร่วมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ยากเข้าไปใหญ่ และในปัจจุบันคนชอบเสพสื่อทางเลือกมากกว่าสื่อทางหลัก เพราะว่าเข้าใจว่าสื่อหลักมักจะมีกรอบการทำงานมากกว่านั่นเอง ประกอบกับในแต่ละ Social Media นั้นจะเกิดการ Echo-Chamber หรือห้องสะท้อนเสียง จึงทำให้เกิดการขาดตรวจสอบ และหลายสำนักข่าวเน้นทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวแต่ไม่ได้ทำเรื่องของการเมือง เพราะการเมืองมีความเที่ยงตรงของข้อมูลยากมากกว่าด้วย จึงยากในการตรวจสอบและฟันธง

ทางด้านของคุณพีรพลได้กล่าวสรุปส่งท้ายว่า Fact-Checker เป็นเรื่องที่ใหญ่ทั้งในสังคมและในบ้าน สิ่งที่สำคัญคือการตรวจสอบและเติมข้อมูลไปทีละน้อย ประกอบกับต้องตามสื่อให้ทันเสมอเพื่อที่จะรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

และแน่นอนวันที่ 2 เมษายน 2564 Co-Fact ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จัดงาน International Fact-Checking Day 2021 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดการเสวนาและกิจกรรมแลกเปลี่ยน รวมไปถึงมีการเปิดห้องบน Clubhouse ด้วยเช่นกัน ทุกท่านสามารถติดตามได้ทาง Facebook : Cofact – โคแฟค ได้เลยครับ