fbpx

หากพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดถึงเรื่องของการเมืองและพยายามทำเรื่องการเมืองให้เป็นเรื่องปกติในสังคม ก็คงจะนึกถึง “เจาะข่าวตื้น” รายการที่กล้าวิจารณ์เรื่องการเมืองให้สนุกและเข้าใจง่าย วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้พบกับผู้ก่อตั้งรายการนั่นก็คือ “จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์” วันนี้เราจะเจาะถึงเรื่องราวกว่าที่เขาจะมาทำข่าวการเมือง อุปสรรคที่พบเจอ รวมไปถึงเรื่องสื่อกับการเมืองที่น่าสนใจมากๆ เช่นกัน ลองอ่านจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

ทำไมถึงหักเหมาทำข่าวการเมือง

จอห์น : เพราะว่าตอนนั้นเพิ่งจะมารู้ว่าการเมืองมันมาเกี่ยวข้องกับเรา อยู่ในทุกขั้นตอนของชีวิต แล้วก็มาโดนหนักๆ ก็ตอนโดนภาษีย้อนหลังอะไรแบบนี้ แล้วเราก็จะตั้งคำถาม อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นเจ้าหนูเจ้าคำถามเลยว่าทำไมเงินภาษีถูกเอาไปทำอะไร? ทำไมประเทศไทยถึงยังอยู่แค่นี้? อะไรต่างๆ นานา แล้วก็ไม่มีใครตอบ เราก็เลยต้องการที่จะหาคนมาร่วมส่งเสียง หาคำตอบร่วมกันหน่อยสิ ก็เลยทำเจาะข่าวตื้นขึ้นมา ซึ่งเราเองก็เติบโตมากับครอบครัวนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ การปกครอง ทางด้านประวัติศาสตร์ คุณพ่อก็สอน คุณแม่ก็สอน เราก็เลยรู้สึกว่าเราเติบโตมาตั้งแต่อนุบาลจนมาถึงทุกวันนี้ เราเติบโตมาเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดเวลา เราก็ซึมซับโดยไม่รู้ตัว เรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง สังคม ความเป็นไปในประเทศนี้มันก็เลยมามีส่วนเกี่ยวข้องกับเราโดยที่ไม่รู้ตัว แล้วเราก็สามารถทำออกมาในรูปแบบลักษณะของรายการได้ เพราะว่าเราก็มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับการทำ Production แต่ว่าก็คิดว่าทำออกมาแบบไหนดีให้น่าสนใจและสนุก

ตอนทำแรกๆ เจอกระแสด้านลบบ้างไหม?

จอห์น : ตอนทำแรกๆ เหรอครับ? ไม่มีครับ เพราะไม่มีคนดู (หัวเราะ) คือมันไม่มีคนดู ช่วงแรกๆ มีคนดูหลักพันก็กรี๊ดแล้ว ณ ตอนนั้นก็เพิ่งมามีกระแสตอนทำ O-net มันตรงเข้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต้องสอบ O-net อะไรพวกนั้น มันก็เลยเป็นกระแสที่ดังขึ้นมา แต่อาจจะมีมาโดนเยอะหน่อยก็ตอนที่ช่วงทำเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง ม็อบพันธมิตรกับม็อบ นปช. หรือว่าหนักสุดก็จะเป็นช่วงทำ กปปส. ที่จะโดนกระแสตีกลับเยอะหน่อย ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะเราทำมาทุกม็อบ เราก็ทำทุกรัฐบาล

มีการบาลานซ์กันไหม? ต้องเป็นกลางแค่ไหน?

จอห์น : คือผมรู้สึกว่าการวัดความเป็นกลางมันวัดกันที่หลักการป่ะว่ะ เพราะไม่งั้นก็จะบอกว่า พวกมึงเป็นพวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นพวกธนาธร มึงเป็นพวกอะไรแบบนี้ คือผมรู้สึกว่าถ้าอยู่บนหลักการที่มันอธิบายได้ง่ายๆ อย่างเสียงข้างมากเป็นยังไง? เสียงข้างน้อยมันเป็นยังไง? แล้วตามหลักกฎหมายมันเป็นอย่างไร? ตามหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไร? เรื่องของการใช้เงินหรืออะไรแบบนี้ควรจะเป็นยังไง ถ้ามันอยู่บนหลักการได้รับการยอมรับอย่างสากล คนที่มีสามัญสำนึกหรือจิตปกติทุกคนเขาก็จะเข้าใจกันโดยที่ไม่ต้องถกเถียงกันให้มันวุ่นวาย ยุ่งยาก แค่นั้นก็บอกได้แล้วว่าเราเป็นกลางแบบนั้นไหม?

ผมไม่มีความเป็นกลางแน่นอนกับเรื่องรัฐประหาร การยึดอำนาจ ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องที่ผิด ผมถามทุกคนว่าการยึดอำนาจ การรัฐประหารมันเป็นเรื่องที่ผิดไหม? ทุกคนก็บอกว่าผิด ก็ใช่ไงมันผิด แต่ก็จะมีคนที่บอกว่า “แต่ไม่ได้นะครับ ด้วยบริบทตอนนั้นตอนนี้” แล้วมันผิดไหม? ก็ในเมื่อมันผิดมันก็ผิดดิ คือคุณจะพยายามอธิบายอะไรต่อ แม้มันจะมีเหตุผลอะไรมาอธิบาย แต่ถามว่ามันผิดไหม? มันก็ผิด เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าผมกลางหรือไม่กลาง เราอยู่กันบนหลักการ แล้วการที่เราจะอยู่รอดในสังคมนี้หรือประเทศนี้ จะให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ สังคมมันก้าวไปด้วยกันได้เนี่ย มันก็ต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานอะไรสักอย่างซึ่งมันควรจะเป็นสากลไหม? เพราะเราอยู่ในสังคมโลก เราอยู่บนกติกาสากลไหม? เรามีเพื่อนบ้านเป็นประเทศอื่นๆ ที่ทำมาค้าขายด้วย เราก็ควรอยู่บนมาตรฐานเดียวกันไหม? มันแค่นั้นเอง พื้นๆ มาก คือไม่ต้องคิดอะไรมากเลยครับ

เมื่อก่อนผมก็กังวลว่าตัวเองจะเป็นกลางรึเปล่า? แต่พอแบบคิดว่าอยู่บนหลักการดีกว่า แบบมันพิสูจน์ได้ง่ายสุดแล้วว่าเรากลาง

แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสื่อ Social Media ให้ตรงใจกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

จอห์น : คือจริงๆ แล้วภรรยาก็บอกว่าให้นึกถึงตัวเองบ้างไหม? (หัวเราะ) คือผมเครียดนะกับสิ่งที่เป็นอยู่ ผมพูดตามความรู้สึกตัวเองจริงๆ ว่า “เฮ้ย! มันคืออะไรว่ะ?” คือพ่อกับแม่สอนประวัติศาสตร์ด้วยไงครับ ฉะนั้นเราก็จะมีโอกาสที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของประวัติศาสตร์ไทยมากกว่า แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมมันยังอยู่ที่เดิม แล้วทำไมมันถึงไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เราเดินทางไปต่างประเทศแล้วสงสัยว่าทำไมบ้านเขาถึงมีสิทธิ์การรักษาพยาบาล เรื่องของการคมนาคมที่ดี เรื่องของการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน เรื่องของการทำหน้าที่ที่ตรวจสอบได้ของเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็รู้สึกว่าทำไมมันไม่เปลี่ยนแปลงว่ะ? แล้วยิ่งช่วงนี้มีลูกด้วยซึ่งก็เป็นเด็กเล็กอยู่ เราก็ยังคิดอยู่เลยว่าเขาจะโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน

ผมโตมาในระบบการศึกษาไทย ผมโตมาตั้งแต่ในระดับอนุบาล ประถม มัธยม มหาลัย ผมก็อยู่กับระบบการศึกษาไทยมาโดยตลอด แล้วพ่อกับแม่ก็สอนหนังสือ ก็อยู่ในแวดวงนี้มาตลอด ก็ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนา แล้วพี่สาวผมก็สอนอยู่ที่จุฬาฯ ก็ยังบ่นให้ฟังอยู่เลยว่าเด็กที่เข้ามาสู่ระดับอุดมศึกษา เขาผ่านอะไรมาบ้าง? แบบฉันเป็นห่วงมากเลยนะเนี่ย คือข้อมูลที่มันถาโถมเข้ามาในหัวมันประมวลออกมาแล้วว่า “กูต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว” กูต้องพูดอะไรหน่อยแล้ว ซึ่งไอ้ที่ทำอยู่มันทำเงินไม่ได้อยู่แล้วนะครับ เราทำเจาะข่าวตื้นก็ไม่มีลูกค้า ทำหาเรื่องก็ไม่มีลูกค้า คนมาซื้อโฆษณาคือเมีย ซึ่งมันก็ครอบคลุมแค่ค่า Production ค่าตัวของแขกรับเชิญที่เป็นค่าน้ำมันผมก็ควักเองออกมาหมดเลยนะ แต่เรารู้สึกว่ามันต้องทำ เพราะมันไม่มีคนกล้าที่จะถามแบบที่คนเขาอยากรู้ แล้วใครจะทำว่ะ? แล้วสื่อหลักก็ถูกกดดัน ผมก็เห็นใจเขา กสทช.ก็ทำกับพวกเขาไว้เจ็บพอสมควร คือโฆษณาก็ลำบาก โน่นนั่นนี่ก็ลำบาก ผมก็เห็นใจ

คืออย่างน้อยถ้าผมนำเสนอประเด็นอะไรขึ้นไปแล้วมันทำให้คนหยิบยกเอาไปพูดต่อมันก็สำเร็จแล้วแหละ แล้วถ้ามันเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหรือให้คนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาทำรายการแบบนี้บ้างก็ได้หรือมีแนวทางของตนเองก็โอเคนะ มันก็ส่งผลดีต่อเราทุกคนนะ อาจจะช้าหรือเร็ว แต่อาจจะช้าหน่อยนะ เพราะผมทำมา 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังต้องทำต่อ คือไม่ได้บอกว่าคนอื่นไม่ได้ทำ คือก็มีทำแต่ก็พ่ายแพ้ไปก่อน เขาไม่มีโอกาสแบบเราไง อะไรที่เรายังนำหน้า ยังมีตังค์ก็ยังทำต่อไปอยู่

วิธีการดึงข้อมูลมาใช้ในการเล่าข่าว

จอห์น : คือมันต้องนำเสนอและรวบรวมข้อมูลมาประมวลผลว่าอันไหนที่มันรายงานตรงกัน แล้วก็มีความน่าเชื่อถือได้ก็ใช้ตรงนั้น ถ้าเกิดมีอันเดียวมันโดดๆ ขึ้นมา เวลาอ้างมันก็จะไม่ได้นะ ยกเว้นว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ มีเครดิตจริงๆ เราก็ใช้เครดิตจากตรงนั้นมานำเสนอได้ด้วยเหมือนกัน

เจาะข่าวตื้นมีคนรุ่นใหม่ติดตามเยอะมาก รู้สึกอย่างไรบ้าง?

จอห์น : ก็ดีครับ แต่อยากให้เยอะกว่านี้ (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจแหละว่าบางทีการเมืองก็เป็นเรื่องที่วุ่นวาย แบบไม่สนใจแล้ว ก็ไม่แปลกเลย เพราะทุกคนเขาต้องทำมาหากิน น้องๆ บางคนก็ต้องเรียนหนังสือ อะไรต่างๆ คือทำมาหากินเพราะช่วงนี้เศรษฐกิจมันก็แย่ หาเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์มันก็ลำบากอะไรแบบนี้ มันก็ลำบากนะ เราก็เห็นใจ แต่ว่าอยากจะสร้างความตื่นตัวให้ทุกคนรู้นะว่าเรื่องการเมืองมันกระทบกับทุกคนจริงๆ

SpokeDark เองทำคอนเทนต์อะไรให้การเมืองเป็นเรื่องเข้าใจง่าย นอกจากเจาะข่าวตื้น?

จอห์น : ก็อย่างล่าสุดที่ทำก็ “หาเรื่องคุย” คุยกับนักการเมืองในเรื่องการเมืองนี่แหละ แต่ใช้คำสบายๆ ไม่ต้องใช้คำยากให้มันวุ่นวายจนเกินไป จริงๆ มันไม่ได้ยาก แต่ก็ควรจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันนะ แต่ก็ใช้วิธีการที่ทำให้เข้าใจง่ายๆ

สื่อ Social Media จะถูกใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง?

จอห์น : จริงๆ สิ่งที่สำคัญที่ควรจะทำเลยนะ ก็คือควรจะใช้สื่อ Social Media ในการให้ความรู้คนในเรื่องของกฎ กติกาการเลือกตั้ง ตอนนี้ตัวละครหลักๆ ในเวทีการเลือกตั้งคนรู้จักกันหมดแล้วแหละ แต่ปัญหาคือคนไม่รู้ว่าจะต้องเลือกตั้งอย่างไร? มีกติกามีบัตรอะไรอย่างไรบ้าง? แล้วก็ส.ว. 250 เสียงมันเป็นอย่างไร? เอ้า! ตายแล้ว มีตุนอยู่ในกระเป๋าแล้วเหรอ? คือตรงนี้คนยังไม่รู้มากสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเลยอยากให้พื้นที่ตรงนี้ให้คนได้มาเรียนรู้ แล้วในระยะเวลาที่สั้นขนาดนี้เนี่ย ควรจะต้องรีบเร่งแล้วก็ช่วยกันหน่อย

เสรีภาพสื่อจะเกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งอยู่รึเปล่า?

จอห์น : ผมว่าภายใต้การปกครองของ คสช. ยังไงก็ไม่มีเสรีครับ

อนาคตสื่อสารมวลชนไทยกับการเลือกตั้ง?

จอห์น : อนาคตผมว่าก็พูดยาก แต่เรากำลังเดินมาสู่ยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจกับการเปลี่ยนผ่านอะไรเยอะ สื่อเองก็มีการปรับตัวกันพอสมควร เพราะฉะนั้นผมเองไม่กล้ามองอนาคตเท่าไหร่ แล้วถ้าเราพูดถึงเสรีภาพสื่อแล้ว ตราบใดที่เรายังมี พ.ร.บ.ไซเบอร์ หรือว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อะไรก็แล้วแต่ที่ถูกใช้ในแนวทางที่ไม่เหมาะสม มันก็ทำให้การทำงานของสื่อมันลำบากมากยิ่งขึ้นนะครับ บางทีอำนาจอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไปมันก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่ากลัว แล้วสื่อก็ยังจะต้องสู้แถมปรับตัวให้อยู่รอดได้อีก ฉะนั้นก็เป็นกำลังใจให้ล่ะกันครับ