fbpx

วันที่ 2 เมษายน ซึ่งทุกๆ ปีจะเป็นวัน International Fact-Checking Day เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นข่าวลวงและส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งคนก่อตั้งคือ International Fact-Checking Network (IFCN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนการทำงานในการตรวจสอบข่าวลวงในแต่ละประเทศอีกด้วย ภาคีโคแฟคจึงได้จัดงานวันตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทยขึ้น วันนี้ส่องสื่อจึงสรุปช่วงเช้าที่สำคัญๆ มาให้ติดตามกันครับ

IFCN กับการตรวจสอบข่าวลวงในช่วงปีที่ผ่านมา

คุณ Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล / Director of International Fact-Checking Network (IFCN) กล่าวในพิธีเปิดว่า การตรวจสอบข่าวลวงในปีที่ผ่านมา IFCN ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมมือต่างๆ ในการตรวจสอบข่าวลวงของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการร่วมมือกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Google ในการให้งบปราณกับ Fact-Checker ของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะได้สามารถตรวจสอบข่าวลวง

International Fact-Checking Day ในปีนี้ ถือเป็นวันที่ดีในการร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง และมีการเฉลิมฉลองในหลายๆ เมือง เช่น ลอนดอน โรม รวมไปถึงประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งในอนาคต IFCN อยากจะขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ส่งผลดีต่อผู้รับสารในการที่จะลดการรับข้อมูลข่าวลวง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดที่การตรวจสอบข่าวลวงและหาต้นตอยากกว่าการหาต้นตอโรคระบาดเสียอีก และกว่า 6,000 คนที่เสียชีวิตจากการเผยแพร่ข่าวลวงที่เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงเลยทีเดียว นี่เป็นเพียงผลกระทบร้ายแรงเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวง

วันตรวจสอบข่าวลวง เป็นอีกวันที่สำคัญที่หลายเมืองจัดงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงที่อาจจะเกิดอันตรายได้ ดังที่ยกตัวอย่างไป หลายๆ อย่างคุณอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่กับหลายๆ คนอาจจะหลงเชื่อข่าวลวงได้ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้อีกด้วย

ในอนาคต IFCN ยังคงมุ่งเน้นการทำงานในการลดการสร้างข่าวลวง รวมถึงในประเทศไทยที่สร้างความร่วมมือมากขึ้นอีกด้วย เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับข่าวลวง

สำหรับผมเองที่อยู่ประเทศตุรกี รัฐบาลของประเทศตุรกีก็ประกาศว่าจะสร้างองค์กรเพื่อทำงานด้านข่าวลวง โดยแน่นอนว่าอาจจะมีการควบคุมข้อมูลต่างๆ ที่มาจากรัฐบาล และส่งผลทำให้เกิดการโจมตีกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรอิสระ อย่างไรก็ดี IFCN ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่องค์กรเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการทำงานและการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังป้องกันอันตรายจากนักข่าวอีกด้วย

สำหรับการตรวจสอบข่าวลวงในช่วงที่ผ่านมาเราก็มีการตรวจสอบข่าวลวงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงการทำงานของทรัมป์ แต่หลังจากนั้นเราก็ยังให้ความสำคัญในการตรวจสอบข่าวลวงอย่างสม่ำเสมอ และมีการเช็คข้อมูลที่มากขึ้นอีกด้วย โดยในการทำงานตรวจสอบข่าวลวง โดยส่วนใหญ่คือนักข่าว แต่ไม่ใช่นักข่าวทุกคนที่จะตรวจสอบข่าวลวงได้ นักข่าวเองก็ต้องรายงานข่าวเพื่อความรวดเร็ว ส่วนคนตรวจสอบข่าวลวงก็เน้นการทำงานเชิงข้อมูลเพื่อหาต้นตอเป็นหลัก โดยต้องใช้เครื่องมือทางดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ในการตรวจสอบร่วมด้วย ในบางกรณีผู้สื่อข่าวอาจจะเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวงร่วมด้วยได้

ทุกคนสามารถเป็น Fact-Checker ได้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ยากอะไรมากนัก เพราะหลายๆ คนที่ทำงานก็สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงองค์กรภาคีการทำงานก็สามารถทำงานได้ด้วยดีและแข็งขัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำงานกันจริงจังเป็นอย่างมาก

“โอกาสและอุปสรรค การตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย” จากหลายมุมมองของนักตรวจสอบข่าวลวง

คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า ในปัจจุบันคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้วย เช่น แม่ค้าที่ต่างจังหวัดอาจจะได้รับข้อมูลจากไลน์และส่งต่อทันที ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคมีส่วนกับการเผยแพร่ข่าวลวง เราเลยไม่สามารถทำครอบคลุมทุกพื้นที่ได้จริงๆ ข่าวลวงจึงระบาดเป็นวงจรเรื่อย ๆ การที่ใช้แพลตฟอร์มให้เกิดประโยชน์จะช่วยทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น

สุดท้ายแล้วสื่อเอกชนมักจะโดนทุนนิยมเข้ามาครอบเพื่อสร้างรายได้ โดยต้องสร้างธุรกิจที่สร้างกลไกทางการตลาดที่มีมูลค่ามากที่สุด ซึ่งการสนับสนุนของสินค้าต่างๆ ในแง่หนึ่งคืออุปสรรคในการตรวจสอบข่าวลวง รวมไปถึงอุปสรรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการทำงานทางธุรกิจ ซึ่งในอนาคตต้องใช้วิธีการความร่วมมือในการทำงานอย่างจริงจังต่อไป

คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท กล่าวว่า นักตรวจสอบข่าวลวงจะทำงานหลักๆ คือการหาเรื่องข่าวลวง ตรวจสอบและสร้างสรรค์สื่อ และนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยงานเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากทุกคนต้องเร่งรีบแข่งขันไปกับเวลาให้สามารถนำเสนอได้เร็วที่สุด นอกจากนั้นแหล่งข้อมูลที่อาจจะทำให้เกิดข้อมูลเท็จ ซึ่งเราต้องหาต้นตอแรกสุดให้เจอ และการรับสื่อแบบมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อารมณ์รับสื่อ การอยู่ในภาวะห้องสะท้อนเสียง

ความจริงของแต่ละคนมีความต่างกัน โดยเท่าที่พบมาความจริงสำหรับทุกคน อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อ ซึ่งหลักการการทำงานของชัวร์ก่อนแชร์คือการสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดวิธีคิดต่อคนเสพสื่อให้เข้าใจมากขึ้น ทำให้สามารถจำแนกการทำงานได้ รวมถึงเข้าใจสถานะการเป็นไปในการหาความจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการรับข่าวลวง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่เกิดในยุค Digital Native

คุณสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย กล่าวต่อว่า ข่าวลวงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งถูกสร้างเพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งการหาต้นตอและจัดการว่าข่าวลวงต่างๆ อาจจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ต้องอาศัยความเข้าใจมากขึ้น โดยในปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนผ่านทางบัญชีอย่างเป็นทางการของไลน์ รวมไปถึงการเรียนรู้ข่าวลวงในพื้นที่ว่ามีประเด็นใดเป็นหลัก เช่น ประเด็นข่าวลวงเรื่องสุขภาพ ซึ่งต้องจัดการแบบเจาะจงพื้นที่นั้นๆ เพราะสื่อแต่ละสื่ออาจจะไม่เพียงพอ

ในการจัดตั้งของรัฐแน่นอนว่าในการเผยแพร่ข่าวสาร ต้องพิสูจน์บนข้อเท็จจริง โดยการที่รัฐตั้งหน่วยงานตรวจสอบข่าวลวงอาจจะมีอคติบางอย่างอยู่แล้ว แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งต้องรวมไปถึงขั้นตอนในการทำงานที่เราต้องทำงานให้เป็นกลาง มีเงื่อนไขการทำงาน และแยกแยะการตรวจสอบข่าวลวง

คุณณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ Fact-Check สำนักข่าวเอเอฟพี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทีมตรวจสอบข่าวลวงของเอเอฟพีเกิดจากทีมสื่อออนไลน์ที่เห็นกระแสข่าวลวงจำนวนมาก จึงทำให้เกิดทีมนี้ขึ้นเพื่อเริ่มทำงานในการเลือกตั้งของฝรั่งเศส เพื่อสกัดข้อมูลข่าวลวง และประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายได้ครบ 5 ทวีปอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันมีทีมงานเกือบ 100 คน ผลิตกว่า 29 ภาษา เอเอฟพีมีจุดเด่นคือการมีนักข่าวทั่วโลก จึงทำให้สามารถเจาะจงในแต่ละพื้นที่ได้ สำหรับในกลุ่มเอเชียแปซิฟิคมีการดำเนินการทั้งหมด 14 ประเทศ และประเทศไทยมีการผลิตเนื้อหาทั้งหมด 201 รายงาน มีคนเข้าชมมากกว่า 31 ล้านผู้ชม โดยเอเอฟพีร่วมเป็นสมาชิก IFCN เน้นการทำงานโดยไม่แบ่งฝ่ายและเมื่อมีข้อผิดพลาดก็พร้อมจะแก้ไขและอธิบาย

สำหรับวิธีการทำงานของเอเอฟพีจะเริ่มจากการหาข่าวลวงในโลกออนไลน์ และดูจากความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด โดยเลี่ยงการใช้คำว่า “ข่าวปลอม” เนื่องจากอยากจะทำงานบนความโปร่งใสและไม่ปิดกั้นการตรวจสอบของคนอื่นๆ นั่นเอง ในปัจจุบันเอเอฟพีร่วมทำงานกับ Facebook ในการตรวจสอบข่าวลวง โดยการทำงานจะเน้นการหาข่าวลวง ถ้าพบเจอข่าวลวงบนแพลตฟอร์มจะมีการแจ้งเตือนและลดการเข้าถึงของโพสต์นั้นๆ รวมไปถึงการทำงานกับ Google เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวที่ตรวจสอบได้

สำหรับข้อเท็จจริงในความเชื่อของเอเอฟพี คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ ความจริงคือการพิสูจน์ด้วยหลักฐาน โดยอาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยในการตรวจสอบ เรามักจะเชื่อคนที่ไว้ใจหรือคนที่อาวุโส ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงไม่ถูกพิสูจน์ ทางเอเอฟพีอยากให้ตั้งคำถามกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมเพื่อที่สามารถตรวจสอบได้นั่นเอง

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค COFACT Thailand กล่าวว่า ในส่วนของโคแฟคจะใช้วิธีการทำงานที่มาจากไต้หวัน โดยใช้หลักการวารสารศาสตร์แบบผสมผสานกับทักษะทางดิจิทัลในการช่วยการทำงาน โดยยังใช้หลักการตาม UNESCO ที่ต้องใช้หลักการวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบร่วมกัน หลักการสำคัญคือรัฐต้องเปิด Opendata เพื่อให้เหล่านักตรวจสอบข่าวลวงสามารถตรวจสอบข่าวลวงได้ และจะทำให้สามารถเข้าใจในการทำงานของรัฐมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่าการตรวจสอบความจริงเป็นหนึ่งในการรู้เท่าทันสื่อ ที่ไม่สุดโต่งไปสู่ความเกลียดชัง การแยกแยะความจริงคือการแยกแยะสสารความจริงกับความเห็นที่อาจจะชี้นำสังคมได้ โคแฟคจะแยกแยะส่วนที่ไม่สามารถค้นหาความจริงได้ กับค้นหาความจริงได้ ถ้าความเชื่อและความเห็นเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นด้วย