fbpx

ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ : เมื่อการเป็นนักข่าวคือสิ่งที่ใจบอกว่าใช่

ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งที่มีมากมาย สื่อมวลชนเป็นพื้นที่ที่หลายคนคาดหวังให้เป็นพื้นที่ตรงกลางเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งยังคงต้องนำเสนอบนพื้นฐานความเป็นจริงอีกด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อสังคม The Standard จึงได้ทำรายการ ‘The Standard Now’ ขึ้น โดยได้พิธีกรอย่าง “อ๊อฟ ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์” มาดำเนินรายการ ภายใต้ความที่เชื่อว่าเขาสามารถใช้การรับฟังช่วยยุติความขัดแย้งได้

วันนี้ทีมส่องสื่อจึงนำบทสัมภาษณ์ของเขามานำเสนออีกครั้ง เนื่องจากเขาเคยสัมภาษณ์ผ่านรายการ “ส่องสื่อ Saturday Live” เมื่อปี 2563 และในโอกาสอันดีนี้เราจึงอยากพาทุกคนมารู้จักเขาอีกครั้ง ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักร้อง ก่อนเข้าสู่หน้าจอทีวี

คือจริง ๆ แล้ว เราเข้ามาจากการประกวดร้องเพลงก่อน ตอนแรกสุดก็คือตอนปี 2551 ก็เริ่มจากการประกวดร้องเพลงแบบจับพลัดจับผลูไปประกวดแล้วดันชนะ พอชนะขึ้นมาตอนนั้นเขาก็ให้เซ็นสัญญากับทางบีอีซี-เทโร (เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ในปัจจุบัน) แล้วก็เซ็นสัญญากับแกรมมี่อีกที่ เพื่อที่จะเป็นนักแสดงและเป็นนักร้อง แต่ว่าตอนแรกที่เราได้ทำคือได้ไปทำเป็นนักแสดงก่อน เล่นน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ แล้วก็หลังจากนั้นก็ควบคู่ไปกับการเป็นพิธีกรรายการอาวุธไอเดียทางช่อง 3 แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ

จนผ่านมาสักประมาณ 2-3 ปี ก็มี Project ที่ชื่อว่า Tempo-po ก็ไปออกอัลบั้ม ไปเป็นนักร้องอยู่หลายปีเหมือนกัน หลังจากที่ไปเป็นนักร้องก็ก้าวเข้ามาสู่การเป็นพิธีกรเต็มตัว เริ่มจากช่อง 3 แต่ว่าช่อง 3 ก็เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าเต็มตัวจริง ๆ ก็คือตอนที่มาทำ BANG CHANNEL ทำในรายการเพลง รายการสดตอนเย็น ๆ ตอนแรกก็ไปแทนเขาก่อน เราก็เริ่มจากงานที่เขาลา สุดท้ายเราก็ได้ทำรายการอื่น ๆ ใน BANG ด้วยแล้วก็มาทำ ทีนี้ก็เริ่มแตกแขนงพิธีกรออกไปที่อื่น ๆ ช่อง 5 ช่องไทยพีบีเอส นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการที่เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ แล้วหลังจากนั้นก็มาอยู่ช่องวันตอนที่ขึ้นทีวีดิจิทัลในฐานะผู้ประกาศข่าวบันเทิงก่อน

จากความอยากจนเริ่มต้นที่ช่องวัน

คือเท้าความก่อนว่าจริง ๆ  ใจตัวผมนะ อยากอ่านข่าวหลักหรือข่าวกีฬามานานแล้ว เพราะว่าส่วนตัวคือเป็นคนชอบกีฬามาก ชอบฟุตบอล แล้วก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะอย่างนั้นจะเอาข่าวทั่วไปหรือข่าวกีฬาก็ชอบหมด ก็เลยตั้งเป้าตอนที่มีทีวีดิจิทัลว่าจะต้องเป็นผู้ประกาศข่าวสักช่อง มันเปิดไปตั้ง 20-30 ช่อง มันจะไม่มีสักช่องที่เราจะไปอยู่ด้วยเลยเหรอ ก็เลยคิดว่าอยากจะเป็นผู้ประกาศ มันถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนจากบทบาทของการเป็นพิธีกร นักร้อง มาเป็นผู้ประกาศข่าว

แต่ตอนนั้นก็ไปทดลองอยู่หลายที่เหมือนกัน ประมาณสัก 3 ช่อง ครับ 3 แล้วสุดท้ายลงรอยที่เดิมก็คือที่แกรมมี่ เพราะว่าไปคุยกับพี่บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ แล้วก็รู้สึกว่าพี่บอยจริงใจ แล้วก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานที่ใช่ เพียงแต่ว่าตอนนั้น ด้วยความที่ทีวีดิจิทัลมันเพิ่งเริ่มเพราะฉะนั้นมันไม่มีใครรู้หรอกว่าเป็นยังไง มันก็จับพลัดจับผลู ลองผิดลองถูกไปพร้อม ๆ กันหมดนะครับ ช่วงแรกก็เลยได้มาทำบันเทิงก่อน ก็อ่านวันบันเทิงอยู่นานมาก อยู่ประมาณสัก 3-4 ปีนะครับ

ทีนี้จุดเปลี่ยนมันคือเริ่มจากตอนที่ช่องวันจะเปลี่ยนรายการข่าวให้เป็นวาไรตี้ ไม่ได้แยกว่าข่าวหลักกับข่าวบันเทิงต้องแยกออกจากกัน เอาข่าวหลักกับบันเทิงมารวมกัน ก็คือตอนนั้นชื่อว่ารายการ “เที่ยงรายวัน” จริง ๆ เราไม่ได้อยู่ในนั้น เราทำบันเทิงอยู่ดี ตอนนั้นเขามีพี่อุ๋ย ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ที่อยู่ไทยรัฐนิวส์โชว์แล้วตอนนี้ มีแคน อติรุจ กิตติพัฒนะ ที่ไปช่อง 3 แล้ว มีพี่เดียร์ ลิลลี่ แม็คกร๊าธ นะครับ มีพี่แดนนี่ พิชาพัฒน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ที่อยู่พีพีทีวีตอนนี้ แล้วก็มีพี่พีเค ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร ตอนนั้นก็มี 5 คน ปรากฎว่า ไป ๆ มา ๆ พี่พีเคอาจจะด้วยงานเยอะ งานรัดตัว พี่พีเคก็สลับกับพี่แฟรงค์ ภคชนภ์ โวอ่อนศรี พี่แฟรงค์เคยมานั่งอ่านข่าวด้วย บางคนอาจจะไม่ทัน สั้น ๆ แป๊บนึง

แล้วไป ๆ มา ๆ มันก็ตกมาถึงเรา แล้วพอมาถึงเราปุ๊บก็เลยกลายเป็นว่า เราก็ไปเสียบเขายาวเลยตอนนั้น ก็ทำอยู่พักนึงก็เปลี่ยนรูปแบบ แต่ว่าตอนนั้นยอมรับนะเคยย้อนกลับไปดูตัวเองสมัยทำเที่ยงรายวันแล้วก็แบบ ทำไปได้ยังไง ดูเด๋อ ดูแบบไม่มีความเป็นผู้ประกาศเลย มีความวัยรุ่นสูง แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้ทำงานกับระดับเซียน อย่างพี่อุ๋ยนี่คือแบบ เป็นอาจารย์ผมเลยก็ว่าได้ พี่อุ๋ยนี่ผมยกให้เป็น อาจารย์การอ่านข่าว สอนเยอะมาก เสร็จแล้วปุ๊บพอจากเที่ยงรายวันก็เปลี่ยนอีก

สรุปเลยคือระหว่างที่ผมอยู่ช่องวันหลังจากที่เที่ยงรายวันมา ผมอ่านคู่มาตลอดเลย คืออ่านทั้งบันเทิง อ่านทั้งข่าวหลัก แบบใครลาเราก็ไปแทนเขา  ใครเสียบก็ได้หมดทั้งบันเทิงทั้งข่าวหลัก จนมาสู่ช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ช่วงนั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงพอดี ก็คือหลาย ๆ ท่านก็ย้ายที่ทำงาน ออกจากช่องวันไป เราก็เลยได้ไปอ่านข่าวอยู่ปีนึง อ่านข่าวแบบอ่านข่าวเพียว ๆ เลยปีนึง ซึ่งพอหลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกนะ ก็ทำให้เราหลุดออกมาอ่านข่าวบันเทิงอีกรอบนึง พอเราหลุดออกมาอ่านบันเทิงก็อ่านบันเทิงอีกปีนึง จนล่าสุดก็คือย้ายมาช่อง 25 เมื่อปลายปี 2562

จากช่องวัน ขอย้ายมาสตูดิโอช่อง 25 หน่อย

อย่างแรกคือเรายังยึดมั่นคำเดิมว่า “เราอยากอ่านข่าวหลัก” ทีนี้ช่องวันก็ให้โอกาสเราเยอะ จริง ๆ เราอยู่ช่องวัน เราทำเยอะมากนะครับ ผมเป็นพิธีกรมาเยอะมาก ทั้งรายการวาไรตี้ ข่าวบันเทิง ข่าวหลัก หรือว่าอีเวนต์ต่าง ๆ เราทำกับช่องวันมาเยอะมาก แล้วก็ถือว่าเป็นพี่บอยเป็นผู้มีพระคุณมาก ๆ ในช่วง 5 ปีที่อยู่กับช่องวันมาเต็ม ๆ แต่จุดที่ทำให้เราเปลี่ยนมาอยู่ 25 เพราะว่าจริง ๆ 25 ก็ไม่ถือว่าใหม่เท่าไหร่กับเรา เพราะว่าเราเคยอยู่กับพี่ถา GMMTV (สถาพร พานิชรักษาพงศ์) ตอนสมัยเราเป็นนักร้องมาก่อน แล้วก็เปลี่ยนบทบาท ทีนี้กลับมาอยู่แต่ว่าไม่ได้เป็นนักร้อง มาเป็นผู้ประกาศข่าวแทน จุดที่เปลี่ยนง่าย ๆ เลย คือเราแค่อยากอ่านข่าวหลัก แล้วมีที่ไหนให้เราอ่านข่าวหลักบ้างเท่านั้นเอง ประจวบเหมาะพอดีว่าทางช่อง 25 ติดต่อมา ก็เลยตัดสินใจเลยว่า โอเค งั้นเราย้ายดีกว่า ก็เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ผมว่า เพราะว่าเราก็อยู่กับช่องวันมานาน เราก็ผูกพันกับทุก ๆ คนที่นั่น แต่ว่าก็โอเค ก็ตอนนี้ก็ถือว่าโอเคอยู่ครับ ไม่ได้คิดว่าตัดสินใจผิดแต่อย่างใด

จากนักร้องสู่ผู้ประกาศข่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัว

ตอนแรกเราคิดว่าไม่ยาก อันนี้ยอมรับนะ เพราะว่ามันก็คือคนในวงการสื่อเหมือนกัน มันก็คือในทีวีเหมือนกัน แต่พอมาทำจริง ๆ แล้ว สิ่งที่มันยากเป็นเรื่องของสิ่งที่มันต่างเข้ามา มันไม่ใช่เรื่องการทำงานด้วย คือการทำงานอาจจะเป็นโชคดีของเราที่ค่อย ๆ เทิร์นมันมาอยู่แล้วเราไม่ได้เปลี่ยนแบบตู้มเดียว เพราะว่าอย่างตอนอยู่ช่องวัน เราอ่านทั้งบันเทิง อ่านข่าวทั่วไปอยู่แล้ว มันเหมือนกับว่าค่อย ๆ เปลี่ยนมันมาอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่มันค่อนข้างที่จะยากสำหรับผม คือการเป็นนักร้องมันมีแต่คนรัก มันมีแต่คนชอบ มันมีแต่คนพร้อมที่จะกรี๊ด พร้อมที่จะขอมือหน่อย จับมือ ขอลายเซ็น

แต่ว่าการเป็นผู้ประกาศข่าวมันไม่ใช่แบบนั้น เราต้องยอมรับว่าเอาใน 1 ข่าวมันมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบในเนื้อข่าว แล้วในตัวคนเล่าอีก การเล่ายังไงให้มันถูกจริตคน แล้วยิ่งข่าวสมัยนี้มีเรื่องของการแสดงความคิดเห็น มุมมอง ทัศนคติอีก ซึ่งเราไม่สามารถที่จะมีมุมมองหรือทัศนคติที่ตรงกับทุกคนบนโลก นั่นคือสิ่งที่ยาก แล้วผมยอมรับว่าผมมีปัญหานิดนึงกับการปรับตัวในช่วงแรกเวลามีคนมาด่าหรือมีคนมาวิจารณ์ เราไม่เคยเจอนะ เพราะว่าตอนที่เราเป็นนักร้อง เป็นนักแสดง เราไม่ได้มีข่าวเสีย ๆ หาย ๆ อะไร เรามีแต่ความเฉย ๆ กับเสียงชื่นชม คือคนไม่ชอบ คนหมั่นไส้มันก็มี แต่มันไม่ได้เยอะเท่า

แต่พอเป็นผู้ประกาศ ไม่มีผู้ประกาศข่าวคนไหนที่ไม่เคยโดนด่า มันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผมนะ อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกนะ เพราะว่าผมรู้สึกว่าทำไมต้องด่า คือบางอย่างถ้าเกิดว่านำเสนอผิด เรื่องของข่าวมันมีผิดพลาดอยู่แล้ว อันนี้โอเคไม่มีปัญหา แต่บางทีมันเป็นเรื่องแบบรูปร่าง หน้าตา เรื่องมุมมอง เรื่องคำพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็เปลี่ยนช่อง มันมีข่าวไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรายการที่คุณเลือกอยู่ หรือว่าคือจริง ๆ ทุกวันนี้คอมเมนต์ในโซเชียลมันแรงกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว

โลกออนไลน์มักแรงกว่าความเป็นจริงเสมอ

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจะสื่อสารกับทุกคนในโซเชียลมากที่สุด คือคุณพยายามพิมพ์ทุกอย่างในโซเชียลให้เหมือนเวลาคุณเจอหน้ากัน นี่คือพยายามยึดมาโดยตลอด คำถามคือถ้าคุณด่าเขาขนาดนี้ในโซเชียล คุณกล้าไปด่าแบบนี้ต่อหน้าเขาไหม? แค่นั้นเอง มันจะทำให้ทั้งสังคมจริงและสังคมออนไลน์มันน่าอยู่มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ตอนนี้กำลังปรับตัวได้มากขึ้นแล้ว ว่าบางทีคนอาจจะตั้งคำถาม ยกตัวอย่าง เช่น คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา คนชอบเขาเยอะ แต่คนไม่ชอบก็มี มันเป็นสิ่งที่ตอนแรกผมไม่ได้เตรียมใจเตรียมตัวมารับมืออะไรแบบนี้ คือเราก็พยายามนำเสนอเหมือนกับว่ารายการข่าวมันก็คือการเล่าเรื่อง การเป็นพิธีกร แต่ Feedback ที่กลับมามันไม่เหมือนกับตอนเป็นพิธีกร มันไม่เหมือนกับตอนที่เป็นนักร้องหรือนักแสดงนะ นั่นคือสิ่งที่ต้องปรับและรับมือกับมันให้ได้้

มองว่าตนเองไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นผู้ประกาศข่าวมากกว่า

จริง ๆ แล้วผมไม่กล้าที่จะเรียกตัวเองว่าผมเป็นนักข่าว คือถ้าใครมาบอกว่าเราเป็นนักข่าว เราจะรู้สึกว่าอย่าเรียกเราแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจ แต่คือเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งกาจพอที่จะเป็นนักข่าว บทบาทเราตอนนี้คือเราคือผู้ประกาศข่าว เราคือคนที่นำเสนอข่าว นักข่าวคือคนที่คนไปเอาข่าวมาแล้วเอามาให้เราเล่า เราไม่ได้เก่งกาจพอที่จะบุกตะลุยไปหาข่าว ไปสัมภาษณ์ เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น และเราไม่ได้มาสายนั้น เราก็ต้องยอมรับ ประสบการณ์ทางด้านสายนั้นเราน้อย

แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราปรับตัวแล้วทำการบ้านหนักขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือต้องดูข่าวเยอะขึ้น จากเดิมที่เสพข่าวอยู่แล้วต้องดูเยอะขึ้น แต่คำว่าดูเยอะขึ้นหมายถึงว่าดูให้หลายมุมหลายด้านมากขึ้น แต่ก่อนเราอาจจะเลือกอ่านเฉพาะสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราประทับใจ สิ่งที่เราอยากฟัง สิ่งที่เราอยากดู สิ่งที่เราอยากอ่าน แต่ตอนนี้พอเรามาเป็นผู้ประกาศเต็มตัว มันทำแบบนั้นไม่ได้ มันต้องดูทั้งหมด แบบนี้แล้วเราก็เอามาปรับใช้กับตัวเรา ส่วนนึงที่ผมทำแบบนี้ เพราะผมยอมรับว่าผมไม่ได้เก่งมาก ผมยังไม่ได้มีภาพของความเป็นผู้ประกาศที่คนจำได้ ที่คนแบบ เชื่อ 100% ภาพเรามันหลายภาพในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำการบ้านหนักในการที่เราจะเล่า หรือเราจะพูด

เป็นนักข่าวเพราะชอบ ไม่ใช่เพราะแค่อยากเท่านั้น

จริง ๆ แล้ว คือผมชอบอ่านข่าว เพราะนั่นคือความชอบเลย แล้วความชอบคนเรามันไม่ต้องมีอย่างเดียว เราชอบร้องเพลง แล้วเราก็ชอบที่จะอ่านข่าวไปด้วยได้ ไม่จำเป็นที่ว่าเราจะต้องชอบแต่ร้องเพลง แล้วเราจะอ่านข่าวไปด้วยไม่ได้ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้มันอาจจะไม่ได้คิดเลยว่าเราจะสามารถมาเอาดีด้านการเป็นผู้ประกาศข่าวได้ไหม? ย้อนกลับไปมีเรื่องเล่าที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน ก็คือว่าจริง ๆ ผมเคยสมัครเป็นผู้ประกาศข่าวทั้งกีฬาและก็ข่าวหลักก่อนที่จะมีทีวีดิจิทัล คือเคยยื่นสมัครเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาช่องนึงไป ตกรอบแบบไม่ได้ไปถึงไหนเลย ตกรอบแรก เสร็จแล้วพอจะมาอ่านข่าวเต็ม ๆ คือก่อนทีวีดิจิทัล หลายอย่างมันไม่ Match กัน มันไม่พอดีกัน ด้วยงานด้วย เรายังร้องเพลงอยู่ด้วย

ทีนี้พอถึงเวลาทีวีดิจิทัลขึ้น นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญเลยว่ามันได้เวลาแล้วแหละ เพราะตอนทีวีดิจิทัลมันย้อนกลับไปประมาณตอนเราอายุประมาณ 25 ปี เราก็รู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้ว เราจะเป็นวัยรุ่นไปตลอดชีวิตเหรอ ไม่ได้ เราจะมาทำพิธีกรรายการเล่นเกม ร้องเพลงไปตลอดชีวิตเหรอ เราไม่ได้รู้สึกสนุกกับมันแน่นอนเมื่อเราอายุ 30 ปี ตอนนั้นเราคิดแบบนั้น แล้วเราสนุกกับอะไร? คือจุดที่ทำให้มาทำตรงนี้ ถือว่าโชคดีแล้วก็ที่ใครหลาย ๆ คนเห็นว่าเราทำได้ด้วย

อย่างแรกถ้าย้อนกลับไปเลยก็คือตั้งแต่สมัยช่องวัน ก็ต้องขอบคุณพี่บอย ถกลเกียรติด้วย แล้วก็บรรณาธิการบริหารตอนนั้น หรือพี่ต่าง ๆ ที่อยู่ตอนนั้นว่าเขาก็คงไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเห็นอะไรว่าไอ้ผู้ชายใส่แว่น ผอม ๆ คนนี้ตอนนั้นที่แบบอ่านบันเทิง ร้องเพลงมาตลอดชีวิตมันจะมานั่งอ่านข่าวบนโต๊ะกับผู้ประกาศระดับแบบเซียนได้เหรอ แต่ว่าวันนึงมันค่อย ๆ ที่จะหล่อหลอมมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เราก็มานั่งเป็นตัวหลักของข่าวช่อง 25 ก็ต้องขอบคุณหลาย ๆ ท่านที่ทำให้เรามีวันนี้ได้เหมือนกัน แต่อย่างว่าวันนี้ของเราแทบจะเป็นแค่นับ 1 เท่านั้นเองในโอกาสอันน้อยกว่าคนอื่นเยอะมาก ๆ ซึ่งเป้าหมายที่เราวางไว้หรือสิ่งที่เรา Challenge ตัวเองยังมีอีกเยอะมาก

สื่อและคนเสพต้องปรับทิศทางข่าวไปพร้อมกัน

คนไทยชอบอะไรที่เป็นดรามา แต่ย้อนกลับไปก่อนที่จะเป็นดรามา เพราะคนไทยชอบดูละคร เพราะว่าอะไรที่มันเป็นแบบละคร อะไรที่มันมีเรื่องราว คนไทยชอบ เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตเห็นได้ว่าข่าวของแทบทุกช่องเขาจะทำให้มันมาแนว ๆ เหมือนละคร แล้วเราจะมาถ่ายทอดยังไง ละครมันมีดารา นักแสดง มันมีพระเอก นางเอก ตัวร้าย ตัวอิจฉา ตัวสร้างสีสัน แต่ข่าวมันไม่มีตัวละครพวกนั้น แต่ทำยังไงให้มันเล่าออกมาให้มันเหมือนละคร มันก็เลยเป็นที่มาของว่าทำไมข่าวมันถึงขายดรามาจังเลย

แล้วถามว่าแล้วพอมันขายดรามาจังเลยคนแล้วชอบไหม? คนก็ชอบ คนก็ดู คนก็แชร์ ด่าไหม ด่า ด่าแต่ถามว่าอ่านไหม? อ่าน ด่าแล้วดูไหม ก็ดู คือมันก็ต้องปรับไปด้วยกัน แล้วถามว่ารายการที่ไม่มีข่าวดรามาเลย ไม่นำเสนอข่าวความเชื่อดรามา เลยมีคนดูไหม ไปดูเรตติ้งรายการข่าวที่อันดับต้น ๆ ไทยรัฐนิวส์โชว์, ทุบโต๊ะข่าว หรือเรตติ้งออนไลน์ ทุกช่องก็ต้องมีประเด็นดรามาหมด

แต่ถ้าเอาตามความเห็นผมนะ ผมเป็นคนไม่อินกับอะไรแบบนี้ อันนี้ส่วนตัวผมนะ สมมติว่าผมเจอข่าวแบบงูเข้าบ้าน ตัวเงินตัวทองโผล่ ต้นไม้กลายเป็นเลข 8 อันนี้ส่วนตัวผมไม่ค่อยอิน แต่ถามว่าเล่าได้ไหม เล่าได้ ซึ่งอันนี้จะตรงกันข้ามกับหลาย ๆ คนหรือบางคนเลยที่เขามีความเชื่อที่เขาอินกับอะไรแบบนี้ แล้วก็จริง ๆ ก็ต้องบอกว่าคนไทยจำนวนมาก ก็เชื่อแล้วก็ชอบ เพราะนั้นเราไม่ดูถูกหรือเราไม่ไปดูแคลน หรือเราไม่ไปว่าคนที่คิดแบบนั้น เห็นว่าส่วนตัวเป็นคนที่ถามว่าอ่านได้ไหม อ่านได้ แต่ความอินอาจจะไม่ได้ 100% เท่ากับเขา

เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

ผมไม่ค่อยได้หนักใจเท่าไหร่กับการเล่าข่าวการเมืองนะ เพราะว่าด้วยตัวช่องด้วย คือช่อง 25 ไม่ได้เป็นช่องที่มาเน้นด้านการเมืองจ๋าขนาดนั้น เพราะฉะนั้นมันก็จะมีการเมืองแบบแตะ ๆ มีบ้าง ไม่มีบ้าง มีเฉพาะประเด็นใหญ่หรือมีอะไรที่มันสำคัญ แต่ไม่หนักใจหรอกครับ เพราะจริง ๆ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ บางทีเราเบื่อจะแย่อยู่แล้วใช่ไหม ด่ายังไงก็เหมือนเดิม แต่ยังไงก็ต้องรู้ไว้บ้างนะครับ อย่างตัวผมบางทีก็อยากจะเล่านะ เพียงแต่มันก็ต้องมาชั่งน้ำหนัก เราไม่สามารถจะตัดสินใจได้คนเดียวว่าวันนี้ฉันอยากเล่าเรื่องนี้แล้วฉันต้องเอาอันนี้ให้ได้ มันมีหลายอย่างประกอบกัน

ตรวจสอบข่าวจากหลายแหล่ง เพื่อรับมุมมองทุกด้าน

คือด้วยความที่ผมไม่ได้มาจากการเป็นนักข่าวแต่แรก เพราะนั้นผมจะไม่มี Connection ด้านข่าวเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เขาจะมีกลุ่มไลน์ หรือมีชแหล่งข่าว มีแบบนักข่าวอิสระ ผมไม่มีเลย เพราะฉะนั้นผมจะรู้ไม่ต่างจากทุกคนเลย แต่ผมก็ต้องทำการบ้านให้หนักกว่าทุกคน อย่างเช่นบางคนอาจจะเห็นจากไทยรัฐแล้ว รู้แล้วว่าเรื่องเป็นไง แต่ว่าเราไม่ได้ วิธีตรวจสอบของเราคือ ผมก็จะเอาข่าวนั้นไป Search ต่อแล้วก็เปิดสัก 4-5 เว็บว่าแล้วเจ้าอื่นเขาว่ายังไง เดลินิวส์ว่าไง มติชนว่าไง ข่าวสดว่าไง เนชั่นว่าไง วอยซ์ว่าไง คือต้องดูหมด แต่ว่าเราก็เลือกที่จะเอามุมที่มันโอเคของแต่ละที่มาใช้ ทีนี้เราเป็นสื่อ เราก็หยิบเอาข้อดีของแต่ละที่มาใช้ละกัน อะไรที่มันเป็นข้อเสีย ก็พึงระลึกไว้ว่าอย่าไปทำ

ผู้ประกาศข่าวไม่ควรใส่ความเห็นตนเองลงไปในข่าว

ถ้าให้ผมพูด ให้ผมเล่า หรือให้นำเสนอข่าวแบบที่ใจผมอยากทำนะ ผมเป็นคนที่จะไม่แสดงความเห็นอะไรเลย มันคือข่าวแบบข่าวสมัยก่อนที่แบบแค่นำเสนอ ผมรู้สึกว่าผู้ประกาศข่าวไม่ควรที่จะใส่ความเห็นของตัวเองเลย “แม้แต่นิดเดียว” เพื่อตัดปัญหาทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชื่นชอบที่เกิดขึ้นในตัวผู้ประกาศข่าวในช่วงหลัง มันเกิดจากการที่ทัศนคติและมุมมองและความคิดเห็นของผู้ประกาศข่าวคนนั้นมันถูกใจ มันถูกจริตกับคน มันก็เลยกลายเป็นว่ามันมีทั้งคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ แต่ถ้าถามผมคือผมว่าไม่อยากเลย แต่ก็ต้องมีบ้าง เช่นข่าวสังคม จะมานั่งอยู่เฉย ๆ นำเสนออย่างเดียวบางทีมันก็ไม่ไหว ยกเว้นว่าจะเป็นแบบคดีพลิกแบบมหากาฬอย่างนี้ อันนั้นก็ค่อยว่ากัน

เมื่อรู้ว่าผิดก็ควรรีบแก้ไข ไม่ควรปล่อยผ่าน

คือบางทีบางอย่างมันผิดจริง ๆ เช่น ตอนที่มีข่าวโควิด-19 พวกไทม์ไลน์ของคนที่ติดโควิด-19 แล้วไปที่ไหนมาบ้าง แล้วใครออกมาให้ข่าวบ้าง อย่างที่เราทราบกันดี มันมีความคลาดเคลื่อนกันเยอะ เพราะว่าบางเคส บางจังหวัดก็ไม่เปิดเผย บางคนก็เปิดไม่ตรงกัน แล้วบางทีพอเรานำไปนำเสนอปุ๊บมันผิด เคยโดน Inbox มาด่าว่าแบบทำไมคุณไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนนำเสนอ บางทีผมยอมรับนะ มีพิมพ์ตกไปนิดเดียว แต่มันผิดก็ต้องลบนั่นเอง

คือคำว่าข่าวลวงกับพิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิด บางทีมันต้องดูที่เจตนาเหมือนกัน บางทีบางคนเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเผยแพร่ Fake News เพียงแต่ว่าเขาพิมพ์ผิด หรือเขาได้รับมาผิด แบบนี้คุณก็ต้องไปดูตั้งแต่ต้นทางหรือเปล่าว่าต้นทางมันมายังไง ถ้าต้นทางมันมาผิด คุณก็ต้องไปเอากับคนที่อยู่ต้นทางถูกไหม? ไม่ใช่มาอันนี้ แต่ว่าสำหรับผมทุกคนผิดพลาดหมด เราไม่ใช่หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์บางทียังมีผิดพลาดเลย แล้วคนมันจะไม่ผิดพลาดเลยมันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนล้วนที่มีความผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าผิดพลาดแล้วก็ต้องยอมรับผิดแล้วก็แก้ไขให้มันถูกต้องเท่านั้นเอง

รายการสัมภาษณ์คือหนึ่งในความฝันที่อยากทำ

จริง ๆ ผมชอบฟังคนเล่าให้ฟังมากกว่า คือเราอยากรู้ว่าเขามีวิธีการคิดหรือมีวิธีการทำงานยังไง เป็นแนวทอล์กก็ได้ แนวสัมภาษณ์ก็ได้ แต่ก่อนผมยอมรับเลยว่าผมเป็นคนที่สัมภาษณ์ไม่เก่ง ทอล์กไม่เก่ง เพราะเรานึกไม่ออก เหมือนตอนแรก Mindset เราชอบไปคิดว่ามันคือการทำงาน แล้วเราก็จะคิดไม่ออกว่าเราต้องถามอะไร แล้วต้องคุยอะไร พอตอนหลังมาเราถึงรู้ว่าจริง ๆ แล้วเราก็เหมือนคุยกับเพื่อนว่าอยากคุยอะไร สงสัยอะไร ก็ถาม เขาตอบอะไรมาก็มาต่อยอดประเด็นจากตรงนั้น แต่ถ้าถามว่าอยากมีรายการเดี่ยวแบบไหน จริง ๆ แล้วผมอยากมีรายการเดี่ยวแบบเล่าข่าว อาจจะเป็นแนวแบบพี่อาร์ต – เอกรัฐ ตะเคียนนุช แต่ว่าถ้าเป็นไปได้ เป็นอย่างนั้นได้ก็ดี

เตรียมตัวพบกับ “อ๊อฟ ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์” กับบทบาทใหม่ในการใช้การฟังเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม ผ่านรายการ “The Standard Now” ทางทุกช่องทางของ The Standard และติดตามชมบทบาทผู้ประกาศข่าวได้ในรายการ “เจาะข่าวค่ำ” ทุกวัน 18.00 น. ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และติดตามข่าวสารได้ผ่านทาง Facebook : Off Chainon ได้เลยครับ

ขอบคุณภาพจาก The Standard
รับชมรายการ “ส่องสื่อ Saturday Live” ตอนนี้ได้ทาง YouTube