fbpx

ล่าสุด บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เอชดี ได้ส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 และเผยแพร่ในวันนี้ (26 เมษายน 2564) โดยพบว่ามีรายได้ลดลงเหลือ 4,168 ล้านบาท และกำไรลดลงไม่ถึง 1,000 ล้านบาทแล้ว

แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาช่อง 7 เอชดีต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายสถานีโทรทัศน์ รวมไปถึงช่อง 7 เอชดีรายได้ลดลง รวมไปถึงไม่สามารถถ่ายทำรายการต่างๆ ได้ในบางช่วงเนื่องจากการสั่ง Lockdown หรือสถานการณ์การติดเชื้อที่รุนแรงนั่นเอง แน่นอนว่าทางสถานีฯ ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยการชูโรงไปที่รายการข่าวและคอนเทนต์หลักๆ คือ ละครที่สามารถอกอากาศซ้ำได้ เพื่อรักษาความนิยมของผู้ชมได้นั่นเอง

สำหรับผลประกอบการประจำปี 2563 พบว่าช่อง 7 เอชดีมีรายได้หลักจำนวน 3,750,228,840.41 บาท ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 7.67 และมีรายได้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 4,168,966,230.58 ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 13.72 (ปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,832,284,761.14 บาท)

ในขณะที่ต้นทุนขายมีอยู่ที่ 1,631,489,835.68 บาท ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 8.98 (ปี 2562 มีต้นทุนขายอยู่ที่ 1,792,509,596.78 บาท) และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริการอยู่ที่ 1,367,576,345.21 บาท ลดลงร้อยละ 2.51 นอกจากนี้ยังมีภาษีเงินได้อยู่ที่ 193,443,907.47 บาท

ทำให้กำไรในปี 2563 ลดลงอยู่ที่ 972,593,608.75 บาท ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 30.52 ซึ่งปี 2562 มีกำไรอยู่ที่ 1,400,004,927.08 บาท ซึ่งกำไรของช่อง 7 นั้นลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี เนื่องมาจากการมีช่องที่มากขึ้น เสมือนว่ามีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ซึ่งทางช่อง 7 เอชดีก็มีการปรับผังรายการข่าวในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมไปถึงปรับปรุงแพลตฟอร์ม bugaboo TV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นหัวใจหลักของช่องอีกด้วย

สำหรับผู้ถือหุ้นนั้น จากการปิดงบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ยังพบว่า บริษัท ซีเคเอส โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด คือร้อยละ 26.22 รองลงมาคือกฤตย์ รัตนรักษ์ ถือหุ้นร้อยละ 19.46 นอกจากนั้นยังมีสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ถือหุ้นร้อยละ 18.85, สุดธิดา รัตนรักษ์ ถือหุ้นร้อยละ 8.83 นอกจากนั้นยังพบว่ากระทรวงการคลังถือหุ้นอีกร้อยละ 4.09 และบริษัท ทุนมหาลาภ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 2.67 อีกด้วย

ในขณะที่ช่อง 7 เอชดีเอง มีการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ได้แก่ บีบีทีวี เอ็คควิตี้ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 58.66, ซันไรส์ อีคิวตี้ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 49.98, อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 7.48, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 2.19, อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 43.65, แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 18.33, ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 9.43 และสหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 0.84

ต้องจับตากันต่อไปว่าช่อง 7 เอชดีภายใต้การนำของ “นายกฤตย์ รัตนรักษ์” จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้เกิดกำไรสมหวังดั่งที่ใจปรารถนาหรือไม่? และการดึงพันธมิตรเดิมของช่อง 3 เอชดี อย่างเทโร และเจ้าอื่นๆ มานั้น จะช่วยทำให้ช่อง 7 เอชดีตอบโจทย์คนดูที่พร้อมจะให้ทั้งกระแสและเรตติ้ง รวมไปถึงเม็ดเงินหรือไม่? ติดตามกันต่อไป