fbpx

ด้วยอาชีพหลักของเราเองที่ต้องใช้ “การสัมภาษณ์” เป็นแกนหลักในการทำงานเพราะต้องผลิตบทความและคอนเทนต์ที่ดีบ้างและไม่ดีบ้าง (ฮา) ให้กับสื่อหลายๆ สำนัก ดังนั้นเราเองเลยต้องลับคมทักษะการสัมภาษณ์ของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งมันมีได้สามวิธี

หนึ่ง-อ่านงานสัมภาษณ์ของเพื่อนพ้องในวงการเดียวกันจากนิตยสารหรือสื่อออนไลน์อื่นๆ
สอง-ซึ่งอันนี้ยากหน่อย คือการตาม “นักสัมภาษณ์” มืออาชีพไปดูวิธีการทำงานของเขา (อันนี้อาจโกงความตายได้ด้วยการนั่งถอดเทปให้ผู้สัมภาษณ์เอาไปเรียบเรียงต่อ)
และสาม-เพราะเราเขียนงานให้ส่องสื่อ เราก็ต้องฝึกทักษะการสัมภาษณ์ด้วยการดูรายการสัมภาษณ์สิ

โชคดีขึ้นไปอีกที่เราเองสนใจในรายการสนทนาจากต่างประเทศมาตั้งแต่นมแต่นาน และหลายรายการที่เราดูนอกจากมันจะเร้าความอยากให้เราอยากเป็นพิธีกรกับเขาบ้าง มันยังช่วยฝึกวิธีคิด ปรับวิธีการสัมภาษณ์ เพิ่มทักษะในการฟัง แถมยังเติมรสนิยมทางมุกตลกให้เราเอาไปเล่นกับเพื่อนๆ ในวงเหล้าได้บ้าง

เราเลยอยากแบ่งปัน 6 รายการที่เราเองชอบดูอยู่บ่อยๆ เพื่อชวนให้คุณตามไปชมหลังจากอ่านจบ และรับรองได้ว่าไม่ว่าคุณจะดูเพื่อจุดประสงค์อะไร มันควรค่าแก่การดูแน่นอน

The Tonight Show starring Johnny Carson
NBC (1962 – 1992)

รายการทอล์กโชว์ภาคกลางคืนของ NBC สหรัฐอเมริกาที่จริงๆ มีมาตั้งแต่ปี 1954 ซึ่งจริตของรายการก็จะเน้นความตลกขบขันเป็นหลักเพื่อส่งเป็นความบันเทิงยามเข้านอน ซึ่งจุดเปลี่ยนในซีรีส์ Tonight Show เกิดขึ้นเมื่อสถานีตัดสินใจซื้อตัว Johnny Carson ตลกหนุ่มผู้กำลังมาแรงจากการเป็นพิธีกรรายการของตัวเองให้กับช่อง CBS การย้ายช่องของเขาในครั้งนี้กลายเป็นไมล์สำคัญของวงการเลตไนท์อเมริกันที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน

The Tonight Show ในแบบของคาร์สันแทบจะเป็นโครงสร้างบังคับของรายการทอล์กโชว์แบบอเมริกันแทบทุกรายการที่ต้องมีมุกตลกที่หลากหลายตลอดชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น Monologue ที่ไม่จิกกัดและเสียดสีใคร Sketch (ละครสั้น) ที่ตลกเหนือกาลเวลาและโดดเด่นด้วยความคลาสสิกตามเวลาที่ออกอากาศ หรือการเปิดพื้นที่ให้ตลกหน้าใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือการเดี่ยวไมโครโฟน ซึ่งที่นี่ก็แจ้งเกิด Ellen DeGeneres อย่างเป็นทางการอีกด้วย

จอห์นนี่ปิดรายการในปี 1993 ซึ่งเป็นขวบปีที่ 30 ของรายการพอดี ว่ากันว่ามันเป็นการปิดรายการที่สมศักดิ์ศรีที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์จะมี มีผู้คนรวมกลุ่มกันดูรายการตอนสุดท้ายเป็นจำนวนมากทั่วสหรัฐ และมันยังทำให้ผู้ชมเสียน้ำตาในการจากลาครั้งนี้ รวมถึงเขายังปูทางและให้คำแนะนำกับตลกหน้าใหม่ในเวลานั้นที่กำลังจะมีรายการทอล์กโชว์เป็นของตัวเอง ทั้งผู้ที่จะรับไม้ต่อจากเขาในเวลานั้นอย่างเจย์ เลโน หรือโคแนน โอ ไบรอัน

Conan
TBS (2010 – 2021)

Conan O'Brien's Career Evolution is As Timely As Ever - Variety
Image by variety.com

นี่ไม่ใช่การ์ตูนฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน แต่เป็นชื่อรายการของโคแนน โอ ไบรอัน ตลกชายที่เคยมีตัวตนในโลกเลตไนท์ตั้งแต่ปลายยุค 90 ในการเป็นพิธีกรของรายการ Late Night ก่อนจะข้ามสายมาเป็นพิธีกรในรายการรอบดึกอันโดดเด่นอย่าง The Tonight Show แต่ก็ต้องตกสวรรค์เพราะเรตติ้งที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเกินกว่าที่สถานี NBC จะรับไหว จนเขาได้ลงหลักปักฐานในช่องเคเบิ้ล TBS ในรูปแบบรายการเดิม แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า Conan

เราชอบในการจิกกัดและเสียดสีอย่างถึงแก่นของแต่ละมุก รวมถึงความกวนตีนในการยำเรื่องราวข่าวสารในชีวิตประจำวันจนออกมาเป็น Sketch บ้าๆ บอๆ ที่ต่อให้จะไม่เข้าใจวัฒนธรรมอเมริกันก็สนุกไปกับมันได้

อีกหนึ่งเสน่ห์ของโคแนนที่ชูรสให้รายการอร่อยยิ่งขึ้นคือ ความเป็นกันเองแบบสุดๆ กับแขกรับเชิญที่เมื่อใครได้แวะเวียนมานั่งสัมภาษณ์กับเขา เราจะรู้สึกสบาย เป็นกันเอง และทุกอย่างที่โคแนนแสดงออกต่อแขกมันก็ดูจริงใจและไม่อึดอัด พร้อมส่งเสริมให้แขกรับเชิญได้พูดในสิ่งที่เขาต้องการจะคุยอย่างสบายตัวมากกว่าเดิม

น่าเสียดายที่ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่โคแนนจะออกอากาศ​ หลังจากรายการถูกย่นเวลาออกอากาศจากหนึ่งเหลือครึ่งชั่วโมงในช่วงสองปีท้ายของรายการ แต่โคแนนจะย้ายบ้านไปอยู่บนสตรีมมิ่งอย่าง HBO Max ที่สำหรับคนไทยก็ต้องอดใจรออีกหน่อยกว่าจะได้หัวเราะไปกับเขา

Full Frontal with Samantha Bee
TBS (2016 – ปัจจุบัน)

ซาแมนธา บี คือตลกหญิงที่อยู่เคียงข้างจอห์น สจ๊วด ในรายการ The Daily Show ซึ่งเป็นทอล์กโชว์กึ่งข่าวที่มักนำเหตุบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศมาวิเคราะห์และเสียดสีอย่างเผ็ดมัน ซาแมนธารับบทผู้ช่วยพิธีกรและผู้สื่อข่าวภาคสนามที่มีลีลากวนๆ แบบตลกหญิงที่ติดตาติดใจผู้ชม จนเมื่อช่องเคเบิ้ล Comedy Central ตัดสินใจยุบรายการ ซาแมนธาจึงได้รับโอกาสในการมีทอล์กโชว์ข่าวของตัวเองในชื่อ Full Frontal

รูปแบบรายการไม่ได้ต่างจากกรายการตลกเชิงข่าวแบบนั่งวิเคราะห์และเสียดสีแบบ Last Week Tonight หรือต้นทางอย่าง The Daily Show เท่าไหร่ แต่เพราะตัวละครในรายการนี้เป็น “ผู้หญิง”​ มันจึงกลายเป็นรสชาติใหม่ของการวิเคราะห์ข่าวแบบจิกกัดที่สนุกใช่เล่น แถมแต่ละประเด็นก็แรงๆ ทั้งนั้น

นอกจากสกุ๊ปข่าวนอกห้องส่ง การสัมภาษณ์นอกสถานที่ก็เป็นอีกสิ่งที่ซาแมนธาทำได้ดีแถมยังจิกกัดเสียดสีสังคมได้เจ็บแสบมากๆ เช่นกัน หลายครั้งที่เราอยากดูข่าวและขอผ่อนคลายกับจริตความกวนในมุกตลกทั้งหลายก็จะมีซาแมนธาเป็นตัวเลือกหลักเสมอๆ

Chelsea
Netflix (2016 – 2017)

With Pitbull, Gwyneth Paltrow, and Drew Barrymore on Board, Can Chelsea  Handler's New Netflix Series Change the Late-Night Talk Show? - The Atlantic
Image by Netflix

เชลซี แฮนด์เลอร์ คือนักแสดงหญิงที่แรง ตรง และตลกบนพื้นฐานของความแรงและตรงของเธอนั่นแหละ มันเลยเป็นส่วนประกอบสำคัญทำให้เธอมีเสน่ห์ที่เมื่อเวลาเธอทำรายการทอล์กโชว์ของตัวเองตั้งแต่ Chelsea Lately มันจะมีอะไรที่ดึงดูดเราโดยไม่รู้ตัว

Chelsea คือชื่อรายการที่ตั้งมาจากชื่อเธอตรงๆ นั่นแหละ ซึ่งต่างจากรายการเดิมของเธอที่ช่อง E! อย่าง Chelsea Lately ที่ยังคงโครงความเป็นรายการทอล์กโชว์กึ่งทางการ แต่ในรอบนี้เธอเป็นตัวของตัวเองสุดๆ ตั้งแต่การวิจารณ์รัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิงหรือแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องต่างๆ อย่างเผ็ดมันแบบไม่แคร์อะไรทั้งสิ้นในชนิดที่ว่าเธอพูดคำหยาบออกทีวีแบบเน้นๆ

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจดจำของ Chelsea คือ ในช่วงที่รายการออกอากาศตรงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชลซีในฐานะกองเชียร์อันเหนียวแน่นของบารัค โอบาม่าจากพรรคเดโมแครตถึงขั้นร้องไห้น้ำตาไหลระหว่างการบันทึกรายการ เมื่อเธอรู้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง

นอกจากทอล์กโชว์แบบปกติ อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆ ใน Chelsea คือรูปแบบรายการแบบ Dinner Party ที่ชวนเพื่อนพ้องดาราคนสนิทมานั่งล้อมวงทานอาหารเย็นที่บ้านของเธอ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบรายการหนึ่งที่เราได้เห็นความผ่อนคลายของแขกรับเชิญในการสนทนา และประเด็นที่ไม่ได้หนักหนาเกินไป ทำให้ Dinner Party คือปาร์ตี้ที่แสนสนุกและเป็นตัวเองจริงๆ ของหมู่เพื่อนพ้องดารา

The Graham Norton Show
BBC (2007 – ปัจจุบัน)

BBC One - The Graham Norton Show, Series 23, Episode 2
Image by BBC

เกรแฮม นอร์ตัน คือพิธีกรและตลกชาวอังกฤษที่มีรายการทอล์กโชว์ของตัวเองซึ่งได้รับความนิยมมากๆ และเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ตอยู่หลายครั้งอย่าง The Graham Norton Show

รูปแบบรายการก็สามารถการันตีความสามารถทั้งในการยิงคำถามและดำเนินรายการของเขาได้อย่างไม่ต้องสงสัย-แขกรับเชิญ 2-3 คนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย (เช่น นักดนตรีอัลเทอร์เนทีฟกับดาราหนังบล็อกบัสเตอร์ หรือไอดอลเกาหลีกับพิธีกรรายการข่าว) มานั่งสัมภาษณ์รวมกันบนโซฟาตัวเดียวกัน ในประเด็นคำถามใกล้เคียงกันที่เมื่อแขกคนหนึ่งกำลังถูกถามอยู่ ผู้ร่วมโซฟาก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาเดียวกันได้อย่างแนบสนิทไร้รอยต่อ ยิ่งความเป็นกันเองของเกรแฮมที่ค่อยๆ ละลายพฤติกรรมแขกรับเชิญที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันให้ค่อยๆ ผ่อนคลายและกลายเป็นหนึ่งเดียวของโต๊ะสนทนา

 ยิ่งรายการเองไม่มีองค์ประกอบอื่นอย่างที่รายการทอล์กโชว์ทั่วๆ ไปมี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือละครสั้น (แต่มีโชว์จากศิลปิน) การที่ The Graham Nortnon Show ยืนระยะมาได้ถึง 14 ปี, 21 ซีซั่นและรางวัล BAFTA Awards ถึง 8 ครั้งที่การันตีความสามารถของเกรแฮมในการดำเนินรายการนี้ ก็คงไม่ต้องบอกเยอะถึงคุณภาพของมันแล้วล่ะ

My Next Guest needs no Introduction with David Letterman
Netflix (2018 – ปัจจุบัน)

WATCH] 'My Next Guest Needs No Introduction' Season 3 Trailer: David  Letterman – Deadline
Image by Netflix

เดวิด เลตเตอร์แมน คือหนึ่งในพิธีกรรายการทอล์กโชว์ภาคกลางคืนที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดแห่งยุค ตั้งแต่เขาอำลาจอไปเมื่อปี 2015 และมีสตีเฟ่น โคลแบร์มาแทนที่ วงการรายการเลตไนท์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จนกระทั่งเขาประกาศการร่วมงานครั้งพิเศษกับ Netflix ซึ่งเขากลับมาบนหน้าจออีกครั้งเพื่อทำรายการสนทนาเพียวๆ ในชื่อภาษาไทยว่า “เสวนาฮาเฮ”

My Next Guest need no Introduction ไม่มีอะไรนอกจากบทสนทนาเพียวๆ ระหว่างเดวิดและคู่สนทนา ซึ่งรายชื่อแขกรับเชิญก็คือผู้มีอิทธิพลในวงการระดับ A-List ซึ่งประเด็นคำถามอาจไม่ได้หนักหน่วงอะไร แต่วิธีการไล่เรียงประเด็นและการยิงคำถามในการสัมภาษณ์ของเดวิดนั้นน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม และสามารถรีดเอาคำตอบที่ทำให้คู่สนทนากล้าตอบออกมาได้อย่างสบายใจ

ในความคิดของเรา-ถึงแม้ว่าปีท้ายๆ ของการทำเลตไนท์ของเดวิดจะเริ่มอยู่ในเพซที่เฉื่อยเหมือนรอเวลาปิดรายการ แต่พอเป็นเสวนาฮาเฮที่เขาได้ใช้เวลาในการพัฒนารายการและลงรายละเอียดกับมันเต็มที่ จากการเลือกแขกรับเชิญและวางวิธีการเล่าเรื่อง เราจึงยกให้เสวนาฮาเฮคือหนึ่งในรายการสนทนาที่ดีที่สุดรายการหนึ่งเลย