fbpx

นอกเหนือจากงานเสวนาในช่วงเช้าทั้งสองเรื่องที่เกี่ยวกับการทำข่าวในสภาวการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วงค่ำวันนี้ ภาคีโคแฟคยังมีการถ่ายทอดสดในภาคค่ำเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในการสื่อสารจากหลายภาคส่วนอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรกเราจะขอนำเสนอ 4 มุมมอง คือผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัล ผู้ตรวจสอบข่าวลวง สื่อมวลชน และผู้บริโภคนั่นเอง เรามาติดตามจากบทความสรุปนี้กันครับ

คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์
ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท

คุณพีรพล กล่าวถึงการทำงานของสื่อในการให้ข้อมูลต่อโควิด-19 ว่า สื่อควรจะทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจและเพิ่มการรับรู้ในทางวิชาการในประเด็นที่ตนเองจะนำเสนอว่าเป็นอย่างไร? ต้องนำเสนอในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อที่จะก้าวข้ามความท้าทายให้ประชาชนเข้าใจได้และเข้าใจง่าย ไม่มีผิดเพี้ยน เสมือนอาหารที่ย่อยง่าย ซึ่งคำพูดที่เอามาพาดหัวหรือเล่าเรื่องก็ต้องเน้นความเข้าใจง่าย ซึ่งมันค่อนข้างซับซ้อนมากพอสมควร ในส่วนของสื่อก็ต้องเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคนในวิชาชีพกับประชาชนที่จะเข้าใจร่วมกัน สื่อจะเป็นพลังในการกระเพื่อมสังคมที่ยิ่งใหญ่ การสื่อสารเรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็ต้องใช้การคาดการณ์ ความรู้ และการค้นคว้าเพิ่มเติม

นอกเหนือจากนั้น ยังมีการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่จะทำให้สื่ออยู่ได้ด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความยากที่สื่อจะอยู่รอดต่อไปได้ แน่นอนว่าวัคซีนมีความสำคัญและก็ต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะรับมือเรื่องข่าวลวง ซึ่งการทำพลาดไปเพียงแค่ครั้งเดียวอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมได้เหมือนกันด้วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่สื่อผิดพลาด ประชาชนก็สามารถชี้แนะและสื่อก็สามารถแก้ไขได้เช่นกัน

นอกเหนือจากนี้ ในยุคที่ทุกคนมีเสรีภาพที่เท่าเทียมกันนั้น ก็อยากให้ทุกคนมีความตระหนักรู้ในการส่งสื่อไปยังประชาชน ซึ่งบางคนมีคนติดตามเป็นจำนวนมากและมีความน่าเชื่อถือ การตระหนักในเสรีภาพและความรับผิดชอบน่าจะเกิดขึ้นในสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อภาคประชาชนแบบไปพร้อมๆ กัน เพื่อต่อสู้กับปัญหาข่าวลวงในสภาวะโรคระบาดในขณะนี้

ถ้าถามว่าเราควรจะเชื่อถือใครดี? แน่นอนว่าในบางจังหวะก็ควรฟังแบบหูไว้หู และตรวจสอบสื่ออยู่เสมอๆ ตลอดจนการหาแหล่งที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้เสมอๆ หลายๆ แหล่งนั่นเอง สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนนั้นมันมีข้อมูลที่เราต้องไปทำหน้างานอยู่แล้วด้วย ซึ่งถ้าเราไม่สามารถที่จะฉีดได้จริงๆ เราก็จะถูกคัดออกไปอยู่ดี ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในระบบหรือเอกสารที่ผ่านตาเราระหว่างการลงทะเบียนฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการเดินตามดงข้อมูล เราต้องมีความพร้อมจริงๆ ในการคัดกรองว่าข้อมูลนี้เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่? จึงต้องเพิ่มเครื่องมือและความเข้มแข็งของเราในการตรวจสอบข่าวสารต่อไปด้วย

คุณสถาพร อารักษ์วทนะ
รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ในมุมของผู้บริโภคนั้น คุณสถาพรได้กล่าวต่อว่าผู้บริโภคที่รับสื่อก็เกิดความไม่ไว้ใจสื่อ ตลอดจนต้องตรวจสอบหลายชั้น จนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือใครดี? ซึ่งในบางครั้งการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ที่น่าเชื่อถือก็ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าควรจะแชร์หรือไม่? ตลอดจนการที่คนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากมีการปล่อยข่าวลวงออกมา ซึ่งเกิดจากการเข้าใจคลาดเคลื่อนไปอีก และสุดท้ายประชาชนก็ไม่เกิดความน่าเชื่อถืออีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นข่าวของจังหวัดภูเก็ตที่ให้ยกเลิกการลงทะเบียนหมอพร้อม และไปลงทะเบียนที่จังหวัด เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นเสมอๆ และอาจจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือหน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งสื่อกระแสหละกอีกต่อไป

ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องตรวจสอบจากสื่อมวลชนว่าข่าวเหล่านี้จริงหรือลวงกันแน่? ตลอดจนการสร้างความเข้าใจต่างๆ ในเรื่องของข่าวลวง และตรวจสอบหลากหลายสื่อ คิดก่อนแชร์ และตรวจสอบอยู่เสมอๆ ในฐานะผู้บริโภคที่ยืนงงในดงข้อมูล เพราะต้องหาข้อมูลเรื่องวัคซีนที่อันตรายและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือรัฐจะจัดให้ประชาชนสามารถเลือกวัคซีนได้หรือเปล่า? และต้องรีวิววัคซีนว่าของแบรนด์ไหนที่ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ซึ่งประเทศไทยก็ยังไม่เห็นจะทำ

นอกจากนั้น อีกส่วนที่จะช่วยได้คือ e-marketplace ที่เป็นแหล่งขายยาแผนโบราณและในหลายๆ ครั้งก็มักจะโฆษณาชวนเชื่อ ต้องร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดการเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เกิดการโฆษณาชวนเชื่อ และสามารถจัดการกับร้านค้าที่ทำผิดกฎหมายได้ทันที

คุณสายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อสังคม

คุณสายใจได้กล่าวถึงการนำเสนอข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19 ไว้ว่า อันที่จริงแล้วการเมืองกับวัคซีนแยกกันไม่ออก ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกเป็นปกติ ซึ่งเราจะต้องมีเครื่องมือในการแยกระหว่างเรื่องการเมืองและเชื่อในวิทยาศาสตร์ให้ออกจากกันไป เช่นในสหรัฐอเมริกาที่คนเชียร์ฝั่งทรัมป์ไปฉีดวัคซีน เพียงเพราะเชื่อในทรัมป์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันความเข้าใจในความเสี่ยงที่จะไม่ติดเชื้อโควิด-19 จากการฉีดวัคซีน ซึ่งสิ่งนี้ต้องเข้าใจใหม่ว่าร้อยละ 95 ไม่ได้หมายความว่า 100 คน 95 รอด แต่การฉีดครบตามโดสจะทำให้มีอัตราการไม่ติดเชื้อน้อยลงร้อยละ 95 นอกจากนี้เครื่องมืออีกอย่างคือความเชื่อใหม่ๆ ที่อาจจะลบล้างในอดีตได้ เช่น อายุในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งข้อมูลมีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เราในฐานะประชาชนก็ต้องเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลา และมีเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ พยายามเอาข้อมูลทางการเมืองกับวัคซีนแยกออกจากกัน นอกจากนั้นก็ต้องเจาะลึกในเรื่องต่างๆ อย่าเชื่อแค่ในสิ่งที่สื่อเผยแพร่ และหาความรู้อยู่เสมอๆ นั่นเอง ซึ่งสามสิ่งที่ได้แนะนำอาจจะดูยากไปสำหรับประชาชน สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือการที่รัฐต้องให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและจริงใจ สื่อก็ต้องเป็นตัวขยายสิ่งเหล่านั้นให้ทั่วถึง และสุดท้ายคือแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องป้องกันในการส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือนหรือหลอกลวง เพื่อไม่ให้ประชาชนยืนดงในงงข้อมูล

แต่ถ้ากลับมาขั้นตอนแรกที่ประชาชนจะตรวจสอบได้ คือการดูแหล่งที่มาว่าเป็นใคร? ใครเป็นคนเขียน สังกัดไหน? วันที่เขียนเป็นวันที่เท่าไหร่? (วัน เดือน ปี เวลา) แต่ในระยะยาวก็ต้องอาศัยทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และเจ้าของแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน

คุณสุภิญญา กลางณรงค์
Cofact Thailand

สุดท้าย คุณสุภิญญาได้กล่าวสรุปว่า การที่จะทำให้เขาเชื่อในข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะความคิดของแต่ละคนมักจะเชื่อในสิ่งที่เข้าข้างตนเองอยู่แล้ว ฉะนั้นกระบวนการในการต่อสู้ข่าวลวงด้วยข้อเท็จจริง แน่นอนว่าทำได้ยาก แต่สื่อก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ออกมาสู่สายตาประชาชนให้ได้มากที่สุด และเน้นความย่อยง่าย เข้าใจง่าย และสื่อสารถึงตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดนั่นเอง

สุดท้ายแล้วทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาครัฐ สื่อมวลชน และองค์กรเอกชนต้องร่วมมือในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เสพสื่อที่หลากหลายและไม่เอนเอียง เชื่อตามหลักวิชาการมากกว่าการเมือง รวมไปถึงการเลือกฉีดวัคซีนได้ซึ่งรัฐต้องทำ และทุกคนต้องส่งข้อมูลในเชิงบวกว่าวัคซีนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการยุติโรค เพียงแต่ตอนนี้มันไม่มีทิศทางจนทำให้ข่าวลือ ข่าวลวงมีมากมาย เราไม่สามารถโทษประชาชนอย่างเดียวได้ แต่สุดท้ายครอบครัวและชุมชนก็เป็นเสาหลักในการคุยกันอย่างมีศิลปะ เพื่อเอาตัวรอดจากการระบาดโรคโควิด-19 และข่าวลวงที่เกิดขึ้นจำนวนมาก