fbpx

นอกจากการสนทนาของ COFACT Talk เมื่อวานนี้ (10 พฤษภาคม 2564) ที่เป็นการล้อมวงคุยระหว่างคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ประเทศไทย และคุณสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่จัดขึ้นในช่วงเวลา 21.00 น. บน Twitter Spaces ในครึ่งหลังยังมีการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มผู้ฟังกับวิทยากรด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจเลยทีเดียว ส่องสื่อเลยขอสรุปมาให้ติดตามกันครับ

เริ่มต้นที่ท่านแรก ซึ่งได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวลวงในประเทศไทยไว้ว่า แท้ที่จริงแล้วบนไลน์กลุ่มต่างๆ อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวการของปัญหาข่าวลวงที่เกิดขึ้นจากการแบ่งปัน ส่งต่อกันระหว่างกลุ่ม และขาดการตรวจสอบที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้ตรวจสอบ โดยโคแฟคอาจจะต้องร่วมมือกับไลน์ในการตรวจสอบข่าวลวงมากขึ้น

ในขณะที่คุณรอน ผู้แลกเปลี่ยนอีกท่านได้กล่าวถึงข้อมูลของวัคซีนว่ามันกระจายตัวไปในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก จนเกิดการล้นทะลักของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เขาไม่ตัดสินใจที่จะอ่านข้อมูลเหล่านี้ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไม่อ่านก็เนื่องจากการที่ข้อมูลออกมาจากหลากหลายแหล่ง บางแหล่งน่าเชื่อถือ แต่บางแหล่งก็ขาดความน่าเชื่อถือ จนทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจำนวนมาก และมีกระแสข่าวออกมาถึงวัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีด จึงอยากให้มีศูนย์รวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อสามารถเข้าใจได้มากที่สุด

ในขณะเดียวกันเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากเหตุการณ์การลงทะเบียนวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชน แต่ในวันถัดมามีธนาคารแห่งหนึ่งโทรมาสอบถามเรื่องการส่งบัตรเครดิต จึงกังวลในการส่งต่อข้อมูลและการจัดการข้อมูลกับรัฐที่มีจำนวนมาก

คุณสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ในขณะที่ผู้ร่วมแชร์อีกท่านได้กล่าวถึงวัคซีน Sinovac ที่ประชาชนไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน รวมไปถึงเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่เป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่สามารถวัดด้วยเปอร์เซ็นต์ได้จริงๆ แน่นอนว่าคนไทยทุกกลุ่มไม่มั่นใจในการฉีดและทำให้ไปไม่ไว้วางใจตัวรัฐบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะมีหลายๆ คนออกมาพูด แต่ก็มีคนกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลที่โจมตีด้วยอดีตทุกครั้ง ฉะนั้นมุมมองที่ดีที่สุดคือการหาตัวกลางที่สามารถไขข้อข้องใจ โดยที่ตัวกลางต้องไม่เอนเอียงไปฝ่ายใด

ซึ่งมีผู้แสดงความเห็นอีกท่านหนึ่งกล่าวแลกเปลี่ยนความเห็นว่าที่คนไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน Sinovac เนื่องจากเรื่องของผลข้างเคียงและหลายคนอยากจะได้วัคซีนที่ดีกว่านี้ เพื่อทำให้ตัวเขามั่นใจในการฉีดวัคซีนมากที่สุดนั่นเอง และถึงแม้จะอยากฉีดวัคซีนก็ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากการจัดสรรวัคซีนและการลงทะเบียนที่ลำบากในกลุ่มผู้สูงอายุอีกด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน

คุณสมชัยกล่าวถึงการนำเสนอข่าวและการตรวจสอบข่าวลวงในอังกฤษว่า ในส่วนของรัฐบาลเองก็จะมีข้อมูลเป็นชุดเพื่อทำให้สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแบ่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และของรัฐบาล อีกฟากหนึ่งคือการนำเสนอข่าวของบีบีซีที่เป็นตัวเชื่อมทำให้คนเข้าใจมากขึ้น โดยยังอยู่ภายใต้จรรยาบรรณสื่อที่ยังคลุมอยู่อีกด้วย ในขณะที่การฉีดวัคซีนนั้นทางรัฐบาลจะให้ลงทะเบียนผ่านการส่งทีมงานไปที่บ้านเพื่อลงทะเบียน หรือผ่านทางโทรศัพท์ โดยสอบถามแค่ที่อยู่ว่าอยู่ตรงไหน เพื่อเชื่อมไปยังจุดที่ใกล้ที่สุด และทำการนัดหมายต่อไป นอกจากนั้นยังมีระบบการเข้าคิว โดยให้เข้ามารอได้ไม่เกิน 5 นาที และผู้ที่ฉีดวัคซีนก็จะทำการนำตัวเลขที่ได้จากรัฐบาลมาให้กับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวของช่วงสำคัญๆ ในอังกฤษจะมีรัฐมนตรีและคณะแพทย์ รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการมาตอบคำถาม ซึ่งทุกๆ วันที่แถลงข่าวนั้นจะเปิดโอกาสให้นักข่าวซักถาม ในกรณีที่ข้อมูลคลาดเคลื่อนก็จะโดนนักข่าวล้วงในตอนนั้น และถามซ้ำปิดท้ายคนละ 1 คำถาม หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนซักถามต่อไปได้

ในขณะที่คนไทยในสหรัฐอเมริกาได้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยกล่าวถึงข่าวลวงในไลน์ที่คนไทยในสหรัฐฯ ได้รับ กรณีอดีตพนักงานไฟเซอร์ ซึ่งที่สหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เช่นกัน ทำให้เกิดความเป็นห่วงและวิตกกังวลบางส่วน ยิ่งถ้าเป็นคนที่น่าเชื่อถือแชร์ต่อมาก็ยิ่งเชื่อถือมากกว่าเดิม ทำให้ไม่ได้คัดกรองข่าวลวงนั่นเอง ในขณะที่คนไทยในสหรัฐฯ เองก็ไม่กล้าฉีดในช่วงแรกๆ เนื่องจากข่าวลวงต่างๆ ฉะนั้น ความสำคัญในการสื่อสารและความน่าเชื่อถือของรัฐก็เป็นสิ่งสำคัญ

ในขณะที่ระบบในประเทศไทยนั้น คนไทยในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าเพราะเราไม่แยกเรื่องการเมืองออกจากเรื่องสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาเป็นทอดๆ อีกด้วย และการลงทะเบียนฉีดวัคซีนที่สหรัฐฯ นั้นก็ใช้การลงทะเบียนเฉพาะจุด ทำให้ลดความแออัดและใช้ระยะเวลาสั้น เพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น การกระจายอำนาจในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้มากที่สุด

คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์ ทูเดย์

คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ใช้รูปภาพรายงานข่าว ซึ่งอาจทำให้คนแชร์ต่อๆ กันโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ในกรณีที่ข้อมูลได้มีการอัพเดตแล้ว ซึ่งทำให้เกิดผลร้ายในการรับรู้ข่าวสาร ในขณะที่ความเชื่อมั่นของรัฐบาลก็มีผลต่อการเข้าถึงบริการและไว้ใจในการฉีดวัคซีนของประชาชนด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การลงทะเบียนหมอพร้อมไม่เข้าเป้า ซึ่งทำให้การป้องกันโรคไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แน่นอนว่าสื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ต้องร่วมกันตรวจสอบและระมัดระวังในการนำเสนอต่อไปในอนาคตอีกด้วย รวมไปถึงการสร้างการรู้เท่าทันสื่อซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้รับสื่อ

คุณสมชัยเกริ่นปิดท้ายถึงเรื่องการให้ข้อมูลว่า ระบบสาธารณสุขนั้นต้องเน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และโปร่งใสมากที่สุด ไม่สร้างความเข้าใจผิด ให้ข้อมูลด้านเดียว หรือบิดประเด็นไป ซึ่งในอังกฤษยังไม่เคยเจอ แต่ในประเทศไทยกลับพบจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความไม่ไว้ใจต่อรัฐบาล แต่ในกรณีที่ทำอะไรผิดพลาดแล้วขอโทษ ก็น่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในอนาคตมากขึ้น ซึ่งกรณีของไทยพีบีเอสนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีเลยทีเดียว และสุดท้ายคือต้องแยกการเมืองออกจากเรื่องสุขภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมในระยะยาวเช่นกัน