fbpx

ในหลายปีที่ผ่านมา วงการบันเทิงของประเทศไทยได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสื่อบันเทิงประเภทซีรีส์ได้ออกมาให้ผู้ชมได้เลือกรับชมมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ ซีรีส์วาย ” ที่มีตัวละครทั้งพระเอกและนายเอก ที่ได้รับความนิยมมากมาย มีการจับคู่ของนักแสดงที่รับบทนั้นๆให้แฟนคลับได้ฟินกัน

หนึ่งในเรื่องที่อยู่ในกระแส ณ ตอนนี้ก็คือ ” นับสิบจะจูบ “

ซีรีส์ที่ว่าด้วยความรักของนักเขียนหนุ่มอย่าง “จีน” ที่หนังสือที่ตนเองเขียนที่ต่อมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนได้สร้างเป็นละครซีรีส์วายที่มี “นับสิบ” แสดงเป็นตัวเอก เรื่องราวก็ดำเนินไป มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายและก็มีประเด็นมากมายที่น่าสนใจและเหมาะกับการหยิบมาพูดถึง

ประเด็นหนึ่งที่เราหยิบมาพูดถึงในวันนี้คือ “เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน”

หนึ่งในตัวละครรองอย่าง “ เอ๋ย ” นักแสดงที่เล่นคู่กับนับสิบในซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือที่จีนเป็นคนเขียน เมื่อเราดูไปเรื่อย ๆ แล้ว จะพบว่าเอ๋ยได้กลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ทำให้เกิดเรื่องราววุ่นวายมากมายในเรื่อง จากนิสัยของตัวเอ๋ยเอง แต่ถ้าหากเรามองดูดีๆ นิสัยของเอ๋ยไม่ว่าจะเป็นการต้องการความรักจากคนรอบข้าง จนถึงระดับที่เรียกว่าโหยหามัน หรือจะเป็นตอนที่เอ๋ยเช็คการพูดถึงที่มีต่อตัวเองในโลกออนไลน์อยู่บ่อยๆ รวมถึงวิธีการที่เอ๋ยปฏิบัติต่อคนอื่นที่ตนเรียกว่าการแสดงความรัก ซึ่งหลายครั้งมันดูเกินเลยและล้ำเส้นจนเกินไป โดยในตอนที่ 5 ได้มีการเฉลยปมถึงที่มาของตัวละครเอ๋ยว่าอะไรถึงทำให้เอ๋ยถึงเป็นแบบนี้?


หมายเหตุ :
เนื้อหาของบทความนี้มีการกล่าวถึงเนื้อหาในซีรีส์เรื่องนี้ด้วยบางส่วน กรุณารับชมก่อนอ่านบทความนี้


เมื่อความหวังดีจากพ่อแม่กลายเป็นมีดที่ค่อยทิ่มแทงลูก

อีกหนึ่งตัวละครที่ฉายภาพสิ่งที่เอ๋ยต้องแบกรับไว้ ก็คือ “เอิร์น” พี่สาวของเอ๋ยที่ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ ในบทสนทนาของเอิร์น ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่การเรียนที่กดดันเท่านั้น เรื่องที่บ้านเองก็ส่งผลกับความเครียดของเธอเช่นกัน รวมถึงการที่เธอรู้สึกอิจฉาที่เอ๋ยกล้าจะต่อต้านพ่อที่จะไม่เรียนในสิ่งที่พ่ออยากให้เป็น

ยิ่งในตอนที่ 5 ที่เอ๋ยยอมกลับไปกินข้าวที่บ้านตามคำชวนของพี่สาวในวันเกิดของตัวเอง การได้กลับไปสถานที่ที่ควรจะเป็นที่ที่เอ๋ยจะได้มาพักจิตใจ แต่วันนั้นสิ่งที่เอ๋ยได้รับคือคำพูดถากถางจากคนเป็นพ่อ พร้อมไล่ให้ออกไปจากบ้าน ก่อนที่สุดท้าย ทิฟฟี่ ผู้จัดการของเอ๋ยจะเป็นคนที่ทำหน้าที่แทนครอบครัวชั่วคราว ด้วยการมอบเค้กวันเกิด พร้อมอยู่กับเอ๋ยในวันที่โลกทั้งใบของเอ๋ยแตกสลาย

เมื่อย้อนกลับไปดูที่ครอบครัวของเอ๋ย พ่อผู้เป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ในสังคมที่ยังคงมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่เด่นชัดมาก นอกจากที่เอ๋ยจะไม่ได้เป็นอาชีพในแบบที่ผู้เป็นพ่อคาดหวังว่าจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับตนแล้ว ยิ่งเมื่อพ่อรู้ว่าเอ๋ยมีความรัก แต่เป็นความรักที่เกิดกับเพศเดียวกัน นอกจากจะรับไม่ได้แล้ว ยังจะพาลทำให้ตนต้องรู้สึกเสียหน้าอีก จนกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ตามมา และทำให้เป็นต้นเหตุให้เอ๋ยออกมาจากบ้านแล้วใช้ชีวิตด้วยตนเอง

จะว่าไปสิ่งนี้ก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยที่พ่อแม่มักจะบงการลูกให้เป็นไปในสิ่งที่ตนต้องการโดยใช้คำว่า “หวังดี” เพื่อให้เป็นความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง

มีกรณีศึกษาอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งน่าจะอธิบายเรื่องราวนี้ได้

หลายคนน่าจะรู้จักอย่างละครชื่อดังอย่าง “บัลลังก์เมฆ” เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ “ปานรุ้ง สมุทรเทวา” ที่ในตอนท้ายความรักที่ปานรุ้งให้กับลูก ๆ ทั้ง 4 ได้กลายเป็น “รักเกินรัก” และ “ทำลาย” สิ่งที่เธอให้ความรักด้วยความรักและความเป็นห่วงที่มากจนเกินไป จะเห็นว่าได้ว่าตัวปานรุ้งเอง รักลูกมากและวางแผนสิ่งต่าง ๆ ให้กับลูกของตนเพื่อให้พวกเขามีความสุขที่สุด แต่ไม่ได้ถามลูกเลยว่าสิ่งที่เธอทำให้นั้น พวกเขามีความสุขกับมันและมันได้ละเลยความรู้สึกจริง ๆ ของพวกเขารึเปล่า?

ภาพจากช่องวัน 31

บัลลังก์เมฆถูกสร้างเป็นละครครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ 2536 ย่อมแสดงให้เห็นถึงบริบทสังคมหลายอย่างในยุคนั้น และในปัจจุบันปัญหาที่เรากำลังพูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ยังคงถูกเผยแพร่ผ่านซีรีส์ “นับสิบจะจูบ” ในปี พ.ศ 2564 ราวกับว่าเวลาผ่านไปแล้ว 28 ปี สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ต่อไปในสังคมจนถึงปัจจุบัน

Toxic Parents

คำว่า “Toxic Parents” เองก็ดูไม่ใช่คำที่มีนิยามตายตัวหรือเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่มีคนอธิบายอย่างชัดเจน แต่คำนี้มันคือคำที่บ่งบอกว่าการที่พ่อแม่กระทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกเกิดความกลัวหรือรู้สึกผิดเมื่อไม่ได้ทำตามในสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง แม้แต่การมีพันธะที่ว่าเราต้องทำให้ทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่พอใจ โดยละเลยถึงความรู้สึกของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกในอนาคต ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับสิ่งที่เอ๋ยเจอในซีรีส์

เราอาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมหลายครอบครัวที่เหมือนจะรักลูกมาก และลูกควรจะมีความสุขที่มีคนรักและเป็นห่วง แต่ทำไมกลายเป็นว่าพ่อแม่เหล่านั้นได้กลายเป็น Toxic Parents

แน่นอนว่าพ่อแม่ “เกือบ” ทุกคนย่อมที่จะรักและเป็นห่วงลูก ต้องการให้ลูกเป็นคนดีและทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่บางทีพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา มีถูกมีผิด บางครั้งความเป็นห่วงใยจนเกินไปซึ่งเกิดจากความรู้สึกของตนเองก็ละเลยความรู้สึกของคนเป็นลูก และหลายครั้ง Toxic Parents ก็รู้ว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ผิด แต่ก็ละเลยและเลือกที่จะปล่อยผ่านไป ไม่มีแม้คำขอโทษ จนลูกเก็บงำความรู้สึกนั้นไว้ และหลายครั้งเมื่อถึงที่สุด มันก็ระเบิดออกมา สุดท้ายพอเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งเอง จนปัญหาเล็ก ๆ กลายเป็นปัญหาที่บางทีการแก้ไขในตอนนั้นมันก็สายเกินไปแล้ว

สิ่งนี้ส่งผลอะไรกับลูกบ้าง?

“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” สำนวนไทยที่มีมาแต่โบราณที่มีความหมายว่า ” ลูกย่อมไม่ต่างกับพ่อแม่มากนัก “ การเลี้ยงลูกเองก็เช่นกัน หลายครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นข้าราชการระดับสูง ก็ย่อมคาดหวังที่จะให้ลูกของตนมีฐานะทัดเทียมหรือสูงกว่าตน ด้วยเหตุผลที่คล้ายกันคือ เพื่อที่จะได้มีหน้ามีตา มีความเป็นอยู่ที่สบาย แบบที่ตนทำให้กับลูก

การกดดันให้ลูกต้องเรียนในคณะที่ดี หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ก็เป็นสิ่งที่เรามักเจอในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติ และวิธีการเลี้ยงดูนี้เองก็ส่งผลต่อนิสัยของเด็กในอนาคต ไม่ว่าเป็นการมองเห็นคุณค่าในตนเอง การไว้วางใจคนอื่นและวิธีการในการมองโลกรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ผู้คนหรือการกระทำของคนรอบข้าง เราจึงเห็นข่าวมากมายในสังคมที่เด็กหลายคนเลือกจบชีวิตลง เนื่องจากตนไม่สามารถทำในสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังได้และผิดหวังกับตนเอง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนไร้ค่าและตัดสินใจทำสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิด

หากลูกรู้ว่าสิ่งที่ครอบครัวทำต่อเรานั้นมัน Toxic หลายคนเลือกที่จะจดจำมันไว้เพื่อที่จะไม่ไปทำต่อกับคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งลูกของตนในอนาคต เมื่อโตขึ้นไปก็เข้าใจด้วยตนเองว่าสิ่งที่ถูกกระทำคือประสบการณ์สุดเลวร้าย บางคนก็เลือกที่จะทิ้งมันไว้ข้างหลัง และก้าวเดินต่ออย่างเข้มแข็ง ทำให้ตนเองมีความสุข

แต่ที่หลายคนที่ไม่รู้ และยังมองว่าการกระทำเหล่านั้นของครอบครัวคือความรัก เช่น การทำร้ายร่างกายในครอบครัว เพราะเข้าใจว่าทำไปเพราะความรัก จึงทำร้ายเพราะไม่ต้องการให้ลูกทำนั้น (ทั้งที่มีวิธีมากมายในการอบรมและแสดงความรัก) เมื่อลูกจดจำว่าสิ่งนี้คือความรัก จึงทำแบบเดียวกันกับคนอื่นตามไป เพราะมีความเชื่อจากประสบการณ์จากครอบครัว ว่าเราทำร้ายคนอื่นไปเพื่อความรัก

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหลายครอบครัวจึงยังเป็น Toxic Parents นั่นเพราะว่าพวกเขาจดจำสิ่งที่ถูกส่งทอดมาจากพ่อแม่ของตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูก จึงทำกับลูกตนเองและก็ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมไปเรื่อย ๆ

สำหรับในซีรีส์ สิ่งที่เอ๋ยกระทำต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะในสิ่งที่ทำกับจีน ก็มาจากการมองโลกของตนที่ถูกหล่อหลอมจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ทำให้หลายครั้งเรารู้สึกว่าสิ่งที่เอ๋ยกระทำต่อคนอื่นนั้นมันล้ำเส้นเกินไป แต่ถ้าลองทำความเข้าใจก็จะรู้ว่าลึก ๆ แล้วเอ๋ยอาจจะเป็นตัวละครที่น่าสงสารมาก สิ่งที่เอ๋ยทำนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เอ๋ยมองว่าเป็นเรื่องปกติเนื่องจากถูกปฏิบัติแบบนี้มาแต่เด็กและเชื่อว่ามันคือการแสดงความรัก ยิ่งการที่เอ๋ยพยายามเช็คการพูดถึงที่แฟนคลับมีต่อตน ก็หมายความว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงว่าเอ๋ยได้รับการยอมรับและได้รับความรัก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตนเองอยากได้จากครอบครัวมาโดยตลอด 

แล้วจะรับมือกับครอบครัวที่เป็น Toxic Parents อย่างไร?

แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอื่นได้ การกำหนดขอบเขตก็เป็นอีกวิธีในการจำกัดต่อการมีปฏิสัมพันธ์ของ Toxic Parents ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้เรามีพลังบางอย่างที่เราอาจจะรู้สึกไร้พลังมาก่อน เนื่องจากถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งที่สอนนั้นเป็นสิ่งที่ดีและต้องทำตามมาโดยตลอด

การกำหนดขอบเขตเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราเลือกที่จะทำเพื่อดูแลจิตใจตนเอง ซึ่งคือการทำให้ความคาดหวังต่อตนเองของเราชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนรอบข้างรู้ว่าคาดหวังกับเราอย่างไร และเราทั้งคู่ควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร เมื่อเราได้กำหนดขอบเขตของตนเองแล้ว เราจะโกรธและไม่พอใจน้อยลงเพราะเรารู้ว่าควรตอบสนองความคาดหวังของตนเองอย่างไรและแบบไหนที่ไม่ควรทำ

หากก้าวสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เราอาจจะยังรู้สึกว่าตนเองยังถูกควบคุมหรือได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูของ Toxic Parents จนเหมือนยังถูกครอบงำตลอดเวลา ซึ่งเราอาจรู้สึกเหมือนรอให้ใครบางคนอนุญาตให้เราหลบหนีจากสิ่งที่ถูกครอบงำนั้น

ทางที่ดี เราควรพึงรำลึกเสมอว่า เราคือคนที่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งต่าง ๆ และเราก็คือคนที่สามารถตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงและเลือกที่จะนำชีวิตกลับมาเป็นของเราได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เลย ณ ตอนนี้ คือการวางแผนทางเดินชีวิตของตัวเราเอง 

เรื่องราวของเอ๋ยอาจจะเป็นเรื่องราวหนึ่งที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วไปในสังคม และเชื่อว่ายังมีหลายคนที่ทรมานกับสิ่งนี้ ในขณะที่หลายคนก็อาจจะเป็น Toxic Parents โดยที่ตนเองรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าความหวังดีที่เรามีให้ได้ทำร้ายคนที่เรารักขนาดไหน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้บางทีอาจเป็นการยอมลดศักดิ์ศรีของตนแล้วกลับมาพูดคุย สนับสนุนและให้กำลังใจลูกไม่ว่าจะเจอเรื่องใดเข้ามาในชีวิต แบบที่ครอบครัวของจีนที่แม้จะคัดค้านในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ยอมรับในเรื่องที่จีนชอบนับสิบ และคอยเป็นไหล่ที่อบอุ่นให้กับจีนเมื่อเจอปัญหาในชีวิต

เมื่อไหร่ที่เราแก้ไขปัญหานี้ได้
เมื่อนั้นบ้านก็กลายเป็นเซฟโซนที่ลูกอยากกลับไปเติมพลัง
เพื่อมาเริ่มต้นใหม่กับเรื่องราวในวันรุ่งขึ้น

ยังมีประเด็นอีกมากมายที่น่าสนใจในซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นการตีแผ่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการซีรีส์วาย ตั้งแต่การเขียนจนไปถึงกระบวนการสร้างจนออกมาเป็นซีรีส์ ประเด็นความเป็นส่วนตัวที่หลายครั้งนับสิบจะก้าวล้ำเส้นของจีนมากเกินไป ประเด็น Gender Stereotype ที่ฉายออกมาผ่านตัวละครต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งติดตามทุกตอนได้ผ่าน WeTV ได้เลย


อ้างอิงเพิ่มเติม

ภาพประกอบจากซีรีส์ “นับสิบจะจูบ” สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

ข้อมูลประกอบบทความ
Understanding and Dealing with Toxic Parents and Co-Parents (healthline.com)
How to Set Boundaries with Toxic People – Live Well with Sharon Martin
ในวันที่ ‘บ้าน’ ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยเสมอไป ทำยังไงให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเดินต่อได้ (thematter.co)