fbpx

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยงบการเงินประจำไตรมาสที่ 1/2564 แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 พบว่ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 403 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการกลับมากำไรประจำงวดอีกครั้ง

โดยแบ่งส่วนรายได้ ประกอบไปด้วย ส่วนงานเพลง มีรายได้ในไตรมาสนี้ทั้งหมด 491 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากภายนอก 457 ล้านบาท และรายได้ระหว่างส่วนงาน 34 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่ารวมน้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 754 ล้านบาท ในขณะที่กำไรในไตรมาสนี้ก็ลดลงเล็กน้อย โดยในส่วนงานนี้มีกำไรประจำไตรมาสที่ 195 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรส่วนงานนี้อยู่ที่ 250 ล้านบาท

ส่วนต่อมาคือส่วนงานสื่อ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการช่อง GMM25 โดยมีรายรับเข้ามาจำนวน 53 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 33 ล้านบาท และส่วนที่สามคือรายได้จากซื้อขายสินค้าและบริการอื่นๆ จะพบว่ามีรายได้ทั้งหมด 427 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากลูกค้าภายนอก 405 ล้านบาท และรายได้ระหว่างส่วนงาน 22 ล้านบาท ทำให้มีกำไรในส่วนงานนี้อยู่ที่ 192 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมส่วนงานอยู่ที่ 477 ล้านบาท และกำไรส่วนงานอยู่ที่ 198 ล้านบาท

สุดท้ายคือรายได้อื่นๆ ซึ่งในไตรมาสนี้มีรายรับเข้ามา 80 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากลูกค้าภายนอก 67 ล้านบาท และรายได้ระหว่างส่วนงาน 13 ล้านบาท ทำให้มีกำไรในส่วนงานอยู่ที่ 59 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้เข้ามาในส่วนงานนี้ที่ 150 ล้านบาท และกำไรส่วนงานที่ 91 ล้านบาท เมื่อตัดรายการระหว่างส่วนงานที่ 69 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้อยู่ที่ 982 ล้านบาท

ซึ่งถ้าแบ่งรายได้ที่ทำสัญญากับลูกค้าไว้ในงวด 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2564) จะแบ่งเป็นรายได้จากการขายสินค้า 389,274,000 บาท รายได้จากการผลิตรายการโทรทัศน์ 48,919,000 บาท รายได้จากการผลิตภาพยนตร์ 27,675,000 บาท รายได้จากจากการบริหารและค่าที่ปรึกษา 15,334,000 บาท รายได้จากธุรกิจโชว์บิซและจัดหาอุปกรณ์ 187,655,000 บาท รายได้จากการให้บริการอื่น 4,182,000 บาท และรายได้ค่าลิขสิทธิ์ 308,727,000 บาท รวมทั้งหมด 981,766,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีกำไรจากการได้สิทธิซื้อหุ้น จำนวน 34,346,000 บาท กำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมในตราสารอนุพันธ์ 335,194,000 บาท และรายได้อื่น 14,154,000 บาท ทำให้มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,365,460,000 บาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่เพียง 1,309,948,000 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 403,452,000 บาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ได้กำไรเพียง 53,912,000 บาท

สำหรับส่วนแบ่งกำไร(ขาดทุน) ในบริษัทร่วมการค้า ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในไตรมาสนี้ ประกอบไปด้วย บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) จำนวนส่วนแบ่งกำไรอยู่ที่ 65,051,000 บาท, บริษัท โอทู คิส จำกัด ส่วนแบ่งขาดทุนอยู่ที่ 10,000 บาท ทำให้ยอดรวมส่วนนี้อยู่ที่ 65,041,000 บาท

ในส่วนของส่วนแบ่งกำไร(ขาดทุน) ในบริษัทร่วมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ส่วนแบ่งขาดทุน 3,689,000 บาท บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด ส่วนแบ่งกำไร 4,906,000 บาท และบริษัทร่วมอื่นอีก 205,000 บาท ทำให้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมอยู่ที่ 1,422,000 บาท

แน่นอนว่าส่วนงานเพลงยังเป็นหัวใจหลักของบริษัทฯ ด้วยรายได้มากถึง 456.6 ล้านบาท แต่ในไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากรายได้จากธุรกิจบริหารศิลปินและธุรกิจโชว์บิซที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19 ส่งผลให้การจัดกิจกรรมของบริษัทที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากยังไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ดียังมีธุรกิจดิจิทัลมิวสิคและการขายลิขสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย

สำหรับในส่วนของธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ในไตรมาสนี้มีรายได้ 344.5 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่ธุรกิจภาพยนตร์ ในไตรมาสนี้มีรายได้ 52.1 ล้านบาท ลดลง ครึ่หนึ่งจากปีที่แล้ว เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉาย ในขณะที่การรับรู้รายได้จากรายได้ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับสตรีมมิ่งและดิจิทัลแพลตฟอร์มยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับ Box Office แต่มีทิศทางขยายตัว

ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวี มีรายได้ 60.2 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่ปรับตัวลดลง และส่วนธุรกิจการลงทุน ในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมจำนวน 66.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 3.6 ล้านบาท

ส่วนของธุรกิจอื่นๆ ในไตรมาสนี้มีรายได้ 68.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากในไตรมาส 4/2563 ภายหลังการปรับโครงสร้างการลงทุนในกิจการร่วมค้า มีการบันทึกรายได้จากธุรกิจดิจิทัลทีวี ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยของบริษัท

สำหรับเหตุการณ์หลังการรายงานงบการเงินนั้น พบว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 บริษัทฯลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด จำนวน 507 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นจำนวนเงิน 0.05 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 51 (การร่วมค้า) ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว