fbpx

คุณว่าความฝันสูงสุดของคนรักการอ่านหนังสือคืออะไร?
เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่า “ การได้เป็นเจ้าของร้านหนังสือสักร้าน “

แน่นอนว่าสำหรับคนรักหนังสือแล้ว การที่ชีวิตได้รายล้อมด้วยหนังสือ ได้พูดคุยกับคนเกี่ยวกับหนังสือทุกวันแถมเวลาว่างยังได้อ่านหนังสือระหว่างที่รอลูกค้า คงเป็นสวรรค์ของคนรักหนังสือแน่ แต่การจะเป็นเจ้าของร้านหนังสือสักร้านหนึ่ง ในแต่ละวันจะต้องเจออะไรกันบ้างนะ? 

“บันทึกประจำวันอันแยบคาย ขำขันปนขื่นขม 
เรื่องจริงไม่อิงนิยายของคนขายหนังสือผู้มุทะลุ ดื้อด้าน ต่อต้านสังคม”

คำโปรยหลังของหนังสือที่มีหน้าปกรูปแมวดำ (ซึ่งต่อมาจะรู้ว่าชื่อ Captain) กำลังอ่าน มีหน้าปกเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Diary of Bookseller” และด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เราถูกดึงดูดให้เราเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

หนังสือที่เขียนจากบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นจริงของ Shaun Bythell เจ้าของร้านหนังสือมือสองจากเมืองวิกทาวน์ในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งร้านหนังสือถึงขั้นมีเทศกาลหนังสือประจำปีในเมือง

“ก่อนซื้อร้านหนังสือ ผมจำได้ว่าตัวเองเคยเป็นคนน่ารักและเป็นมิตรทีเดียว
การถูกกระหน่ำยิงด้วยคำถามบื้อเบื้อตลอดเวลา ภาวะการเงินที่ผันผวนของธุรกิจนี้ 
การถกเถียงอันไม่สิ้นสุดกับพนักงานและลูกค้าผู้เซ้าซี้วุ่นวาย น่าเบื่อหน่ายแบบไม่รู้จบ
ทำให้ผมกลายเป็นคนแบบนี้" 
แล้วผมคิดจะเปลี่ยนอะไรบ้างไหม ... 
"ไม่"

คำโปรยที่ติดอยู่หลังหนังสือเล่มนี้บอกกับเรากลายๆว่าในหนังสือเล่มนี้เราจะเจอกับอะไรบ้าง

เรื่องราวในเล่มเล่าถึงชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในร้าน ไม่ว่าจะเป็นการเจอลูกค้าในแต่ละวันที่บ้างก็นิสัยน่ารัก บ้างก็น่ารำคาญ บางวันก็ได้ถกเถียงเรื่องต่างๆ (เช่นผีมีจริงมั้ย)  ซึ่งตา Shaun ก็ได้จิกกัดลูกค้าที่แวะเวียนมาใช้บริการได้อย่างแสบสันต์  ไม่เว้นกระทั่งแมวที่ร้านอย่างเจ้า Captain (ดังถึงขั้นที่มีคนมาที่ร้านเพราะติดตามเจ้า Captain เลยนะ!)

พนักงานเองในร้านเองก็ยังไม่เว้นที่จะถูกจิกกัด ไหนจะเป็นช่วงที่ต้องออกไปรับหนังสือมือสองที่มีคนเอามาขายให้ (เช่น คนอย่างลุงเนี่ยนะอ่านหนังสือแบบนี้) ไม่ก็ลูกหลานเอาหนังสือมาขายเพราะเจ้าของเดิมได้ตายลง หรือว่าวันไหนขายของไม่ดีก็น่าจะมีปัญหาแน่ เช่นหิมะตก ฟ้าครึ้มคนเลยไม่อยากออกบ้าน แถมยังมีวันหนึ่งที่ยอดขายไม่มีเลยด้วย เหตุผลก็ตลกมาก (อ่านต่อได้ในหนังสือ)

นอกจากผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาสร้างสีสันในแต่ละวันแล้ว การทำร้านหนังสือสักร้านก็ต้องมีเรื่องราวในส่วนหลังบ้านมาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากแค่การขาย ไม่ว่าจะเป็นการเช็คสต็อคหนังสือว่าคงเหลือเท่าไร การทำบัญชีในแต่ละวัน เช่น วันนี้ยอดขายเป็นยังไง ตามหาหนังสือเมื่อมีลูกค้าสั่งออนไลน์(ซึ่งก็หาเจอบ้างไม่เจอบ้าง) และยังมีเรื่องราวอีกมากมายซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของร้านหนังสือทุกคนต้องทำในแต่ละวัน และ Shaun ก็ถ่ายทอดมันออกมาในสไตล์ของตัวเอง

ในหนังสือมีการบันทึกไว้ด้วยว่าแต่ละวันมีลูกค้ากี่คน สั่งออนไลน์กี่คน หาเจอกี่เล่ม วันนี้มีรายได้เท่าไร ให้เห็นว่าแต่ละวันต้องเจออะไรบ้างในการอยู่รอดของธุรกิจนี้

ไหนจะเรื่องของแฟนของ Shaun (ที่ตอนนี้เป็นอดีต) ที่มีความฝันว่าอยากเปิดร้านหนังสือ (ซึ่งก็ได้ช่วยกันเปิดร้านหนังสือที่ชื่อ The Open Book ซึ่งก็เป็นกระแสช่วงหนึ่งที่ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของร้านหนังสือได้! เพียงแค่จองผ่าน Airbnb ก็ได้เป็นผู้บริหารร้านสมใจอยากแล้ว )

ทั้งหมดคือบันทึกประจำวันของเจ้าของร้านหนังสือคนหนึ่งที่มันจริงมาก (เพราะเขียนจากเรื่องจริงนั่นเอง)สำหรับใครที่มีความฝันว่าอยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือ แล้วอยากรู้ว่าแต่ละวันจะต้องเจออะไรบ้าง นี่คือหนังสือที่เราเชื่อว่าคุณจะชอบมาก

ไหนๆเราก็คุยเรื่องร้านหนังสือกันแล้ว อยากแวะมาคุยเรื่องหนึ่ง

มีบทความหนึ่งจาก Forbes เขียนไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก “ How Indie Bookstores Beat Amazon At The Bookselling Game: Lessons Here For Every Retailer (forbes.com)

ร้านหนังสืออินดี้จะสู้อเมซอนได้ยังไงนะ? ในเมื่ออเมซอนมีครบทุกอย่าง อยากหาเล่มไหนก็หาเจอ หรือถ้าอยากรวดเร็วก็ซื้อผ่าน E-book ได้เลย มีสองเรื่องที่เราสามารถโยงได้กับในบันทึกประจำวันเล่มนี้ คือการสร้างชุมชนให้กับลูกค้าที่แวะเวียนมาที่ร้าน รวมถึงการสร้างเหตุผลที่จะทำให้คนได้ออกมาและพูดคุยกัน

ประเด็นแรกคือการสร้างชุมชนให้กับลูกค้า ซึ่งการที่คุณ Shuan ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านที่คอยดูแลร้านหนังสือแล้ว การเป็นนักเล่าเรื่องที่สนุกที่คอยพูดคุยกับลูกค้าหรือแนะนำหนังสือในร้าน คอยรับโทรศัพท์ที่มีคนโทรมาสอบถามในเรื่องต่างๆ  นอกเหนือจะเป็นการทำงานในร้านตัวเองตามปกติแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แล้วการได้ทักทายพูดคุยกับลูกค้าก็ทำให้ตัวลูกค้าและเจ้าของร้านมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งเมื่อลูกค้าพอใจก็ย่อมกลับมาใช้บริการในครั้งต่อไป เพราะร้านไม่ใช่แค่ร้านหนังสือที่มาซื้อแล้วก็กลับเท่านั้นแต่ยังเป็นชุมชนที่เหมือนได้มาพบปะคนคุ้นเคย แวะมาพูดคุยและซื้อหนังสือกลับไป ยิ่งเมื่อผู้คนรู้สึกว่าร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว การซื้อหนังสือที่ร้านก็จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้ร้านยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง การซื้อหนังสือออนไลน์หรือการอ่าน E-Book ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับการซื้อหนังสือที่ร้านได้ 

นอกจากการพูดคุยในชีวิตจริงแล้ว ในยุคดิจิตัลการใช้สื่อออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งที่บรรดาร้านหนังสือเลือกใช้ในการติดต่อกับลูกค้าของตน นอกจากจะใช้ในการบอกเล่าความเคลื่อนไหวของหนังสือที่เข้าออกในแต่ละวันแล้ว การมีเรื่องราวน่ารักในแต่ละวันก็ยังทำให้ลูกค้าได้ติดตามและพูดคุยกันก็สามารถสร้างความผูกพันให้กับตัวลูกค้าและร้านหนังสือได้

ขนาดในหนังสือยังมีการพูดถึงลูกค้าที่มาร้านเพราะเจ้า Captain เลย!

ในประเทศไทยเองก็มีร้านหนังสือหนึ่งที่เป็นแบบนี้หลายร้านเลย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นร้านหนังสือโปรดของตัวเราเองอย่าง Z-Books | Facebook ที่มีการพูดถึงหนังสือและเรื่องราวต่างๆในแต่ละวันของร้าน ทำให้เรารู้สึกผูกพันและแวะเวียนไปใช้บริการทุกครั้งที่มีโอกาส

ประเด็นที่สองคือ การสร้างเหตุผลที่จะทำให้คนได้ออกมาและพูดคุยกัน 

หนึ่งในจุดเด่นของ Starbucks คือการทำให้ร้านกาแฟของตนเองเป็น “Third Place” ที่ผู้คนสามารถมาใช้เวลานอกเหนือจากบ้านและที่ทำงานโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการหรือได้รับสิทธิพิเศษใดใด ร้านหนังสือหลายร้านก็เป็นแบบนี้เช่นกัน

ในร้านหนังสือที่ประสบความสำเร็จหลายร้านก็นำคอนเซ็ปต์ “Third Place” มาใช้ในรูปแบบการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น การพูดคุยเรื่องหนังสือตามหัวข้อต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาและมอบประสบการณ์ที่มีค่าให้กับเวลาที่พวกเขาได้ใช้ไปกับที่แห่งนั้น

หลายร้านได้มีมุมที่ลูกค้าจะสามารถมานั่งอ่านหนังสือได้คนเดียวหรือรวมกลุ่มกันพูดคุย อ่านหนังสือ มีดนตรีเบาๆคลอ อาจจะมีกาแฟสักแก้วมาเสิร์ฟให้เหมือนกับว่าที่นี่เป็นสถานที่ผ่อนคลายสำหรับพวกเขา

การที่ผู้คนได้มาเลือกใช้เวลายามว่างจากการใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับการอยู่ในร้านหนังสือก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ร้านหนังสือยังสามารถดึงดูดใจให้ผู้คนยังคงเลือกแวะเวียนมาที่ร้านมากกว่าการสั่งซื้อหรืออ่านผ่าน E-book

ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้เอง ร้านหนังสือจึงปรับตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเข้าหาตัวลูกค้า มากกว่าเพียงแค่ให้บริการซื้อหนังสือและหนังสือเล่มนี้เองก็ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าทำไมร้านหนังสือของ Shaun Bythell จึงมีผู้คนหลากหลายเข้าออกเพื่อให้ตัวเขาเองยังมีเรื่องราวต่างๆมาเขียนบันทึกประจำวันให้เราได้อ่านกันในเล่มนี้ 

นอกเหนือจากนี้แล้วการที่มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาทุกวัน ยังทำให้ Shaun สามารถปิดท้ายหนังสือด้วยข้อความที่ว่า

" ร้านยังคงเปิดอยู่ "

ที่มา : บันทึก/คนขาย/หนังสือ ( The Diary Of a Bookseller )
เขียนโดย : Shaun bythell แปล : ศรรวริศา สำนักพิมพ์ : กำมะหยี่ฃฃ
How Indie Bookstores Beat Amazon At The Bookselling Game: Lessons Here For Every Retailer (forbes.com)
10 สิ่งที่ควรมีในการเปิดร้านหนังสือให้รอดในยุคนี้ | Readery EP.43 – YouTube