fbpx

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2564) ภาคีโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 16 “กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ” โดยเน้นการสร้างความเข้าใจถึงเส้นกั้นระหว่างความเชื่อกับความจริง ซึ่งอยู่ระหว่างทางที่เราต้องชั่งน้ำหนักให้เกิดความเข้าใจและเลือกที่จะวิเคราะห์ที่จะเชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา โดยยังเชิญวิทยากรจากหลากหลายศาสนามาร่วมคิดและแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ด้วย

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวเริ่มต้นว่า วันนี้เรามาพบกันในเสวนา Digital Thinkers Forum #16 กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีทั้งผู้แพร่กระจายข่าวลวง โคแฟคเป็นหนึ่งส่วนในการตรวจสอบข่าวลวง แน่นอนว่าในช่วงหนึ่งถึงสองวันนี้มีความอลหม่านเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงอยู่เสมอๆ การตรวจสอบข่าวลวงจึงสำคัญและเป็นสิ่งที่สังคมต้องการในช่วงที่สถานการณ์ทั่วโลกเกิดวิกฤตการเผยแพร่ข่าวลวงอยู่ ณ ขณะนี้

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันข่าวสารมักแพร่กระจายขัดแย้งกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อเกิดการแก้ไข ประชาชนก็เกิดความสับสนว่าจะเชื่อส่วนไหนดี? นอกเหนือจากนี้ในวันนี้ดิฉันขอย้อนกลับไปเมื่อครั้นที่กาลิเลโอมีความเชื่อที่ขัดแย้งกับศาสนจักร จนกระทั่งถูกดำเนินคดีในศาสนจักร ซึ่งถึงแม้สุดท้ายกาลิเลโอก็พ้นผิดออกมาได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการวางรากฐานกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กลับกันในปัจจุบันคนเรามักจะเชื่อข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ เพียงเพราะตรงกับทัศนคติของตนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ หวังว่าเวทีวันนี้จะเป็นเวทีที่สามารถร่วมค้นหาคำตอบว่าข้อเท็จจริงมีความหมายและมีคุณค่ามากกว่าความเชื่ออย่างไรบ้าง?

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ. IBHAP) ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง หลักกาลามสูตรเพื่อสันติในยุคดิจิทัล ว่า หลักกาลามสูตรที่หลายคนอาจจะจำได้ไม่หมด วันนี้พระอาจารย์จึงทบทวนถึงหลักกาลามสูตรทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. ฟังกันมาอย่างเพิ่งเชื่อ
  2. ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อไม่ได้
  3. ตื่นเขาเล่ามาอย่าเชื่อไป
  4. อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา
  5. อย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น
  6. เพราะกะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า
  7. เพราะนึกตรึกตรองและตรวจตรา
  8. เพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน
  9. อย่าเชื่อเพราะว่าเพียงคนเชื่อเขา
  10. อย่าเชื่อเขาเพราะเขาเป็นครู เป็นคนที่เคารพนับถือ

ส่วนใหญ่บางทีหลายคนจะจำได้ แต่บริบทที่พระพุทธเจ้าตรัสและแสดง มันมีวิธีที่กำหนดว่าความจริงกับความเชื่อเป็นอย่างไร? โดยหลัก 10 ข้อนี้ ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า หลักเกสปุตตสูตร ซึ่งมาจากชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งและชื่อโคตรตระกูล ซึ่งนี่เป็นความย้อยแย้งของข้อมูลที่บางคนอาจจะไม่ได้หาเอาไว้

ณ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนก็แล้วแต่ การที่จะเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการดูยุคและสมัยในตอนนั้นแล้ว ต้องดูยุคปัจจุบันด้วยว่าเป็นอย่างไร ในยุคปัจจุบันเราต้องอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้อยู่รอด เราไม่มีทางแยกกันเพื่อทำให้ตนเองรอดได้ การเปิดพื้นที่จริงเพื่อเปิดพื้นที่ใจ เปิดพื้นที่ใจเพื่อเปิดพื้นที่จริง และการเปิดพื้นที่เสมือนจริงเพื่อเปิดพื้นที่ใจ ก็เกี่ยวข้องกับกาลามสูตรด้วยเช่นกัน

ในยุคปัจจุบันนี้คนที่มีความเห็น ความเชื่อแตกต่างกัน นั่นก็เสมือในยุคสมัยพระพุทธกาล ซึ่งเกิดจากพื้นฐานความเชื่อที่ได้รับและเลือกที่จะเชื่อ ซึ่งหลักกาลามสูตรต้องใช้พื้นฐานของการรู้ด้วยตนเอง, ติเตียนโดยผู้รู้ และการรู้ว่าสิ่งที่ทำไปเกิดโทษ ไม่เกิดประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ และพระพุทธเจ้าสรุปสุดท้ายเอาไว้ว่าคนที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จะเกิดความอุ่นใจ 4 ประการ

ดังนั้น วันนี้สิ่งที่ควรจะให้มองเห็น คือสันติโดนทำลายจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางสุขภาวะ การเมือง ศาสนา กลับเป็นสิ่งที่นำมาใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงนั่นเอง และทำให้คนรังเกียจกันมากขึ้นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ Context และการนำไปใช้ด้วยเช่นกัน จะทำยังไงให้ความจริงและความเชื่อมันเชื่อมกันได้

ส่วนใน Session ต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “อะไรคือเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ?” โดยเริ่มต้นจาก คุณพ่ออมรกิจ พรหมภักดี อุปมุขนายก สังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี กรรมการอำนวยการ สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ได้กล่าวว่า ความจริงกับความเชื่อถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความจริงที่สามารถแสวงหาคำตอบได้, ความจริงที่ได้รับการยืนยัน สืบทอดกันมา และความจริงที่เชื่อกันมา ไม่ได้ต้องการแสวงหาคำตอบ ฉะนั้นพยายามตั้งคำถามว่าเส้นแบ่งความจริงกับความเชื่อมันแบ่งกันอย่างไร ฉะนั้นจะมองในมุมมองของศาสนาคริสต์ ก็ได้มาพิจารณาคัมภีร์และรูปแบบการสื่อสาร ซึ่งพระองค์ตรัส ถ้าเห็นว่าดีก็ทำให้มี แต่สุดท้ายแล้วความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพระองค์ถูกตัดขาดไป นั่นก็คือการสื่อสารที่หลอกหลวง การหลงเชื่อคำโกหกนั้นไป

ในโลกปัจจุบัน ความจริงและความเชื่อ ต้องแยกแยะระหว่างความดี ความชั่วออกมาก่อน ซึ่งทุกศาสนาสอนมาอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างความจริงและความเชื่อเป็นอย่างไร และเราจะสื่อสารอย่างไรเพื่อลดความขัดแย้ง ข้อมูลต่างๆ ที่มีจำนวนมาก เราจะสื่อสารบนพื้นฐานความจริงและความดีที่เราให้ และเราควรพูดความจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในเมื่อเราเป็นผู้พูดควรตัดสินใจเลือกพูดสิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณค่า

รศ.เสาวนีย์ รุจิระอัมพร-จิตต์หมวด กรรมการบริหารหลักสูตร สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และผู้อำนวยการหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (จชต.) สถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวต่อด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าความจริงก็คือที่เกิดจากการทดลองโดยมนุษย์ของเรา และความเชื่อเกิดจากการยึดถือบางสิ่งบางอย่างให้เกิดสติที่ดีขึ้น และทั้งสองสิ่งมันเกื้อหนุนกัน ทำให้เกิดฐานสำคัญนำไปสู่ความจริง ซึ่งในภาษาของอิสลามนั้นไม่มีเส้นบางๆ แบ่งกัน แต่ทั้งสองอย่างอยู่ในพื้นที่ที่กว้างมากๆ และยังสามารถเชื่อมต่อและขยายให้เกิดเป็นองค์ความรู้ได้ด้วย ชาวมุสลิมควรเป็นควรที่เติมเต็มความรู้อยู่เสมอๆ และศึกษาค้นคว้าอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากนั้น สุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้ง UbonConnect ได้กล่าวในฐานะคนทำงานว่า ตนจะยก 3 กรณีสั้น ๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบว่าอะไรคือเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่าง ความจริงและความเชื่อ โดยเรื่องที่ 1 เป็นเรื่องจริงของคุณแม่ทีมงานของตนเอง หยอดน้ำมันกัญชาที่เพื่อนบอก จากการส่งต่อกันมาในกลุ่มไลน์ จนต้องเข้ารพ.เกือบตาย ซึ่งความจริงน้ำมันกัญชามีหลายอย่าง หลายสูตร หลายการใช้ เหมาะกับแต่ละคนต่างกัน และการส่งข้อความในไลน์ ใครจะพิมพ์อะไร โกหกแค่ไหนก็ได้ แต่คุณแม่มีความเชื่อว่า รัฐบาลต้องควบคุมกำกับดูแลไลน์ ไม่ปล่อยให้มาหลอกคน เหมือนสมัยก่อนที่กำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ มีเซ็นเซอร์ อะไรต่ออะไร ด้วยความเชื่อนี้ทำให้เกิดการ เชื่อไลน์ไม่เชื่อลูก ส่งผลกระทบตามมาให้เข้ารพ.ล้างท้อง เกือบตาย

ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องจริงของตนเอง ที่สงสัยในเรื่องวัคซีนแต่ละยี่ห้อมีการผลิตที่แตกต่างกัน ที่ใช้เชื้อตาย เชื้อไม่ตายมันคืออะไร ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเรียนมา มีความรู้เชี่ยวชาญกว่าเรา ก็ได้รับคำอธิบายว่า ตัวอย่างวัคซีน เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ใช้เชื้อตายมาผลิตแบบสมัยโบราณ, AstraZeneca Johnson & Johnson Sputnik V  ยัดหนามโควิดเข้าไปในเวกเตอร์ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา, Pfizer Moderna สร้าง mRna หรือ ชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัส ขึ้นมา ร่างกายเห็นผิดปกติก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน และยังมีอีกแบบที่สร้างเปลือกปลอมขึ้นมา ยังไม่ค่อยพูดถึงในไทย คือ NOVAVAX

ผมก็ถามว่ามีคนเขาว่า ซิโนแวค เป็นเชื้อตาย ปลอดภัยที่สุด ปลอดภัยกว่าแบบอื่น ๆ จริงไหม คำตอบคือ ไม่จริงเสมอไป มีคนได้รับผลข้างเคียงจากซิโนแวคก็มี แต่เรื่องนี้ เป็น “ความเชื่อ” ไปด้วยแล้ว เภสัชด้วยกัน หมอด้วยกัน ยังมีชุดความเชื่อต่างกัน บางคนก็บอกแบบเชื้อตายดีกว่า บางคนก็บอกแบบสมัยใหม่ดีกว่า ตัวเภสัชท่านนี้เอง ก็เชื่อใน AZ มากกว่า!

ผมก็ได้ข้อสรุปโดยความเห็นส่วนตัวว่า เรื่องนี้ “ความจริง” ยังไม่มีใครรู้ 100% เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก เพิ่งทดลองกันมาอย่างจริงจังก็แค่ปีกว่า  อย่าง ซิโนแวค ได้ความจริงบางส่วน เช่น เก็บข้อมูลในบราซิล 12,000 คน ป้องกันได้ 51%, เก็บข้อมูล ตุรกี 13,000 คน ป้องกันได้ 84%, เก็บข้อมูล ชิลี 10 ล้านคน ป้องกันได้ 67% และเก็บข้อมูล อินโด 1,620 คน ป้องกันได้ 65% บางคนก็เอาที่เก็บข้อมูลบางส่วนในบราซิล 51% มาอ้างเป็นความเชื่อ ตลอดว่า ซิโนแวคไม่ดี  ด้วยความจริงที่ไม่ 100% และไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเห็นและความเชื่อ ความคิดที่ ผิดพลาดตามมา

เรื่องที่ 3 หนังเรื่อง Dante’s peak เพียร์ซบรอสแนน ภูเขาไฟกำลังจะปะทุในหมู่บ้าน หลาน ๆ บอกให้คุณย่ารีบอพยพไปด้วยกัน ย่าไม่ยอมไป ความเชื่อของคุณย่าก็คือ “ภูเขาลูกนี้จะไม่ทำร้ายเรา” จนในที่สุดบาดเจ็บสาหัส ลูกหลานจะพาไปรักษา ย่าบอกว่า “จะอยู่เฝ้าภูเขาของย่า” ความเชื่อยากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะความมีอคติของคน เวลามีน้อย จาก 3 เรื่องที่ผ่านมา ผมสรุปว่า เส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่าง ความจริง กับ ความเชื่อ คือ เส้นแห่ง”ความเห็น”ด้วยความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว

หากเราฝึกหัด ใช้สมอง มองให้เห็นเส้นแบ่งนี้ แยกให้ออกว่าเป็น ความจริง หรือ ความเห็น หรือ ความเชื่อ ไม่ฆ่าชุดความคิดผู้อื่น ด้วยชุดความคิดตัวเอง ไม่เชื่อในชุดความคิดตัวเอง มากจนเกินไป ศึกษามากกว่าถือสา วิเคราะห์ด้วยสูตรของชาว กาลมะ ที่พุทธเจ้าตรัสไว้ สันติของ สังคม ชุมชน ครอบครัวเรา ก็จะกลับคืนมา

ต่อมา รณพงศ์ คำนวณทิพย์ ผู้ก่อตั้ง Media Oxygen ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าเกิดในแง่ของตรรกะ ถ้าอะไรที่ไม่จริงก็คือความเท็จ แต่ความเชื่อมันคือสิ่งที่คนยึดถือโดยที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งเป็นสิ่งที่องเห็นและมองไม่เห็น ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้เราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งถ้ามีข้อพิสูจน์แล้วก็จะทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่จริง ในขณะเดียวกันข่าวก็มีส่วนที่มองได้ว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง และมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราก็เลยต้องวิเคราะห์อย่าละเอียดเพื่อพิสูจน์

แต่ละคนเวลานำเสนอข่าวก็จะมีชุดข่าวของความจริงมาอยู่ ในขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือใครๆ ก็เป็นสื่อได้ และเช่นกันว่าสื่อออนไลน์ก็มีการปรุงแต่งที่ทำให้เข้าใจไปเป็นอย่างอื่นเช่นกัน ฉะนั้นความจริงบางอย่างก็เป็นความจริงที่ละเอียดอ่อน และบางส่วนก็เปลี่ยนไปด้วยบริบทที่เพิ่มขึ้นด้วย บางข้อมูลอาจจะเคยจริง แต่เวลาผ่านไปก็อาจจะไม่จริงก็ได้

อีกสิ่งหนึ่งคือ Digital Disruption เช่น การมอบของระหว่างทรัมป์ให้กับโอบามา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการโยนทิ้งไป แต่ภาพจริงๆ คือไม่ได้มีการโยนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการหลอกหลวง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี Deep Fake ที่สามารถปรับการขยับริมฝีปากหรือปรับประโยคการพูดได้ ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายแรงได้เลยทีเดียว

วิธีการแชร์อย่างรับผิดชอบ ต้องคิดก่อนแชร์ว่าเนื้อหามาจากไหน ผลิตเมื่อไหร่? อย่างไร? และการ Cross-Check ในสื่อก็สำคัญเช่นกัน การแชร์อาจจะเป็นแค่การกดครั้งเดียว แต่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิดและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน เนื่องจากทุกๆ การแชร์จะไปถูกจับเก็บที่ Data Center ของแต่ละที่เช่นกัน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือการแชร์แต่ละครั้งมันทำให้คนแตกแยกไหม? หรือเป็นความจริงด้านเดียวหรือไม่? ถ้าแชร์ไปแล้วเกิดความแตกแยกก็อย่าแชร์จะดีกว่า