fbpx

นอกจากเสวนาในช่วงแรกของโคแฟค ประเทศไทยในเรื่องของ กาลามสูตรในยุคดิจิทัล: เส้นบางๆ ระหว่างความจริงและความเชื่อ แล้ว ยังมีเสวนาในช่วงเย็นที่เป็นประเด็นหลักเน้นหนักในเรื่อง เราจะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกไซเบอร์ (Cybermediation) ได้หรือไม่? ซึ่งมีวิทยากรที่น่าสนใจหลากหลายท่าน ส่องสื่อจึงรวบรวมสรุปมาให้ได้ติดตามกัน

ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นเกริ่นว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์และหลีกเลี่ยงให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วความขัดแย้งในโลกออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ แต่เดิมความคิดของเราจะอยู่ในหัว กลับกันในปัจจุบันความคิดถูกสื่อสารออกมาอย่างรวดเร็วผ่านตัวอักษร ทำให้เกิดความเสียหายต่อจิตใจไปจนถึงร่างกายเลยก็ได้ หลายคนรับความขัดแย้งเข้ามาจนส่งผลให้เกิดการทำร้ายตนเองเลยก็มี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหา

ถามว่าเกิดจากอะไร? แน่นอนว่าเกิดจาก “คน” และ “เทคโนโลยี” ในส่วนของคนนั้นเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างรุ่น ซึ่งเราก็จะเห็นคนเหล่านี้อยู่บนโลกใบเดียวกัน คือโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่เยาวรุ่น (เยาวชน) เท่านั้น ซึ่งเป้าหมายของเราคือเราจะทำอย่างไรให้สันติภาพกับความขัดแย้งไปด้วยกันได้ ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสันติและความสุขแล้ว นอกจากปัจจัย 4 แล้ว สิทธิ เสรีภาพก็สำคัญ ซึ่งจะต้องไม่ถูกละเมิด และนั่นคือเป้าหมายที่อยากจะไปให้ถึง

การจัดการความขัดแย้ง แบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ การใช้กฎหมาย การฟ้องร้อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก มีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจจะไม่ได้ลดความขัดแย้งได้ มีเรื่องของความเป็นธรรมเกิดขึ้นในหัวของคู่กรณีอยู่เสมอ บางทีอาจจะเสียทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นในทางกฎหมายก็จะมีการระงับข้อพิพาทที่เป็นทางเลือก ซึ่งก็จะมีหลากหลายอย่าง หนึ่งในแบบที่เป็นทางเลือก คือการใช้คนกลางเข้ามาช่วย หรือการใช้อนุญาโตตุลาการ ซึ่งแบบหลังจะมีราคาที่ต้องจ่ายที่แพงกว่า การใช้คนกลางจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะเสมอทั้งคู่

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ก็จะมีตั้งแต่การเกิดระหว่างบุคคล เช่น การเอารูปไปลวงขาย หรือการฉ้อโกงประชาชนทางออนไลน์ อันนั้นคือความขัดแย้งแบบส่วนตัว ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยตามกฎหมายได้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปรากฎการณ์ คือ ความขัดแย้งในโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการแตกต่างทางความเชื่อและการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ส่วนนี้คือความท้าทายเป็นอย่างมากในการเจรจาเพื่อสันติ

การไกล่เกลี่ยให้เกิดขึ้นแบบสันติได้ ก็จะต้องมีความจริงเกิดขึ้นก่อน และการนำทุกฝั่งทุกฝ่ายมานั่งไกล่เกลี่ยกัน ไม่มีการทิ้งใครออกจากฝั่ง และกระบวนการที่น่าเชื่อถือก็สำคัญ ซึ่งการหาความจริงในโลกออนไลน์ อะไรคือความจริง ความเชื่อ ความคิดเห็น อันนี้คือสิ่งที่ยากที่สุดในการค้นหา ซึ่งโลกเราอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูล ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ จึงทำให้เกิดการไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว หลายครั้งก็เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลด้วยเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นในอดีต เราก็คงจะไปตรวจสอบกับรัฐบาลเอา เพื่อทำให้ข้อมูลดูน่าเชื่อถือ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบันข้อมูลของรัฐเองก็ขาดความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน เลยอาจจะทำให้คนไปเชื่อข้อมูลฝั่งของตนเองมากกว่า เช่น เรื่องของโควิด-19 ที่ข้อมูลไม่แน่นอน แต่ภาครัฐกลับไม่โปร่งใสในตัวเลขที่ออกมา ซึ่งบางครั้งคือการโต้เถียงกันเองระหว่างรัฐ จนทำให้เกิดความคลาแคลงใจ

ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรามีแค่ไม่กี่รุ่น ช่องว่างระหว่างวัยก็คงไม่มากเท่าปัจจุบันที่มีถึง 5 รุ่น ซึ่งรุ่นหลังๆ คือผลผลิตจากรุ่นก่อนหน้า ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ที่ระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้บนพื้นฐานของเด็ก ฉะนั้นวิธีการคิดระหว่างรุ่นก่อนหน้านี้กับรุ่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้ว เยาวชนปัจจุบันเขาถือว่าเขาอยากมีตัวตนของตนเอง อยากมีส่วนร่วมในการร่วมสร้าง ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นแค่เด็กเท่านั้น

นอกเหนือจากนั้น วัฒนธรรมที่ควรถูกปลูกฝัง คือการรับฟังกันและกัน โดยที่ไม่เหยียดความคิดของคนอื่นที่แตกต่างกัน การรับฟังระหว่างรุ่นกัน ซึ่งเด็กรุ่นที่เกิดปี 2540 เป็นรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับปัญหามากมาย และเขาเกิดมาพร้อมกับความยากลำบาก เขาแทบมองไม่เห็นอนาคตอะไรเลย แต่เขาต้องการที่จะสร้างอนาคตของเขาไปด้วยกัน แน่นอนว่าเขาต้องการพื้นที่ที่มากขึ้น และผู้ใหญ่ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ด้วย

ซึ่งจากการฟังนั้นก็ต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้หาจุดร่วมกันให้ได้ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง? ให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกันและกัน ก้าวข้ามจุดที่ตนเองเคยอยู่เพื่อรับฟังเนื้อหา และสร้างกรอบในการพูดคุยกันให้เกิดจุดร่วมกันมากที่สุด ที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและสิทธิ เสรีภาพของตนเอง และส่วนตัวยังตั้งความหวังในเวทีนี้จะเป็นทิศทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการรับฟังกันและกันต่อไปในอนาคต

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talk มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) กล่าวต่อว่า เรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เราต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่น แต่เป็นความไม่เชื่อมต่อกัน ตอนนี้เรามีโลกของตนเอง เราก็จะได้ยินแค่เสียงสะท้อนของเรา และสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเกิดจากการได้ยินเพียงในโลกของเราเท่านั้น (ซึ่งก็คือ echo chamber) ซึ่งเราจะต้องแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราก็ต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สามารถทำให้คนรู้สึกสบายใจ และมีกระบวนการ

ในส่วนของกระบวนการนั้น เราต้องเพิ่มศักยภาพของคนให้คนสามารถ Connect กลับมาได้ ซึ่ง FNF พบโครงการ Country Talk ที่จัดครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ใช้วิธีการตั้งชุดคำถามผ่านแอพพลิเคชัน My Country Talk โดยสื่อเป็นคนตั้งคำถาม หลังจากนั้นสื่อก็กระจายไปตามบทความของตนเอง จนถึงระยะเวลาหนึ่งที่คนเข้าไปอ่านก็จะขึ้น Pop-Up ให้คนตอบคำถาม หลังจากนั้นถึงเวลาปิดลงทะเบียนก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จับคู่คนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยให้มาพูดคุยกันได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดว่าโลกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมีความเชื่อบางอย่างที่พอได้คุยกันก็สามารถเข้าใจได้มากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิด แต่เคารพและเข้าใจความจริง ความเชื่อต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนได้ เน้นการเชื่อมต่อกันเป็นหลักเพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการรับฟังร่วมกัน

มนุษย์มีความเชื่อว่าพอได้คุยกัน ได้เริ่มต้นสนทนากันจะไม่เกิดการฆ่ากันอย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับ TED Talk ที่มีนักพัฒนา My Country Talk ขึ้นไปพูด เขากล่าวว่าหลังจากการใช้งานแล้ว ปรากฏว่ามีคนขับรถจากอีกฟากหนึ่งไปหาคนที่เห็นต่าง แน่นอนว่าความคิดเห็นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เขาได้สัญญาไว้ว่าจะมาคุยกันทุกๆ ปี ซึ่งบริบทในเมืองไทยก็ทาง FNF พยายามเปิดช่องทางในการพูดคุยกัน ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ พื้นที่นี้ก็จะเปิดให้คนมาเชื่อมต่อกัน และสร้างความเข้าใจได้

ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้แทนประเทศไทย Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวเสริมว่า HD นั้นทำหน้าที่สนับสนุนในการลดและป้องกันความรุนแรง เน้นการพูดคุยเพื่อให้เกิดความสันติระหว่างคู่ขัดแย้ง ซึ่งการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งนั้นใช้กระบวนการที่ต้องมีคนที่สามที่ไว้วางใจได้ และไม่ฝักฝ่ายใด และอาจจะต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการเจรจาหาข้อยุติได้ ท่ามกลางคู่ขัดแย้งที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อหาทางออกให้ได้ดีที่สุดทั้งสองฝั่ง

ในการประชุมที่เจนีวา เมื่อปี 2018 UN Department of Political Affairs ร่วมกับหน่วยงานกระทรวงการต่างประเทศของสวิสเซอร์แลนด์ ได้แก่ Diplo Foundation และหน่วยงานชื่อ SwissPeace ได้จับมือกับ HD เพื่อประชุมว่าในโลกดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลกระทบต่องานเจรจาเพื่อสันติ และนำข้อมูลมาปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง? ซึ่งกลายเป็นความท้าทายใหม่ของนักคลี่คลายความขัดแย้ง เนื่องจากโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นวงปิดเหมือนสมัยก่อนแล้ว และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มากขึ้น

โดยในปัจจุบันก่อนที่จะเริ่มวงทั้งสองฝั่ง ก็จะเริ่มขั้นตอนที่จะต้องคุยแยกแต่ละฝั่งว่าความต้องการลึกๆ คืออะไร? และต้องมีกลุ่มผู้สนับสนุนว่าจะคุยอย่างไรให้ปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งสภาวการณ์ภายนอกก็จะพบว่ามีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถสนับสนุนให้เกิดการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความสันติได้ และนั่นจะส่งผลทำให้การเจรจาเพื่อสันติผ่านไปได้ด้วยดี

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องมาศึกษาบริบทอีกครั้งว่าบริบทในการทำงานนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยข่าวสารแบบไหนบ้าง? ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีการขับเคลื่อนด้วยข่าวสารแบบรวดเร็ว ทั้งการยุยง การสร้างข่าวลวงที่ง่ายดาย จึงทำให้จำเป็นต้องให้ผู้ไกล่เกลี่ยอาศัยการสร้างทักษะใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีในการช่วง รวมไปถึงการสื่อสารสาธารณะ การสร้างความร่วมมือ และการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาเพื่อสนัติ คือการตั้งเป้าหมายว่าอย่างไร? เช่น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความรุนแรงได้ และเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหลังจากนั้นก็ต้องสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งก็คือความเคารพความเป็นมนุษย์ หลักนิติธรรมและสันติวิธี และการแยกแยะข่าวลวงและข่าวจริง ซึ่งวิธีการจะตามมาหลังจากนั้น เช่น วิเคราะห์สถานการณ์/ประเมินความตึงเครียด ทั้งทางออนไลน์และกายภาพ แจ้งเตือนความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง หาวิธีการสร้างบรรยากาศที่คลี่คลาย และสร้างความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึง คือ กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่จำเป็นต้องมี, ใครที่จะเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ย?, บริบทและสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร?, เครื่องมือติดตามสถานการณ์, ข่าวจริงและข่าวลวงจะพิสูจน์อย่างไร?, การสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นมิตร เป็นต้น

สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวปิดท้ายว่า การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในโลกออนไลน์ จะแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือระหว่างประชาชนกับรัฐ และประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งวันนี้จะเน้นเรื่องของประชาชนกับรัฐบนโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการใช้ความรุนแรงทางการพิมพ์ แน่นอนว่าสะท้อนว่าประชาชนไม่สามารถมีพื้นที่ในการคุยกับเรื่องความขัดแย้ง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ปรากฏกรณ์ทัวร์ลง” เป็นเครื่องมือของฝั่งเยาวชนเองที่เห็นว่าในเมื่อเราไม่มีพื้นที่ในการพูด เราจึงไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

ปรากฏกรณ์ทัวร์ลงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเราจะยอมให้เกิดการทัวร์ลงเพื่อเปลี่ยนแปลงการกระทำเหรอ? เรายอมรับได้หรือที่จะเกิดแบบนี้? ซึ่งอันนี้เป็นคำถามปลายเปิด วันนี้ก็จะมานำเสนอแนวทางที่อาจจะไม่ได้ผล เช่น รัฐบาลเพื่อนบ้านมีการปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่นายกรัฐมนตรีปิดการแสดงความคิดเห็น ซึ่งนั่นก็ยังส่งผลทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นเชิงรุนแรงมากขึ้น อีกฟากอย่างเมียนมาร์คือยิ่งคนถูกปิดกั้นการสื่อสาร นั่นทำให้ประชาชนลงถนนมากขึ้น ซึ่งการไกล่เกลี่ยแบบนี้อาจจะส่งผลร้ายแรงได้

ส่วนการไกล่เกลี่ยที่ส่งผลเชิงบวกนั้น ยกตัวอย่างเช่น นิวซีแลนด์ที่นายกรัฐมนตรีใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการรณรงค์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งจะเสนอแนวทางการยุติความขัดแย้ง 3 ข้อ คือ การที่รัฐให้พื้นที่ในการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง, รัฐควรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการฟังประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไรต่อนโยบายต่างๆ และรัฐ-ประชาชนต้องมีกฎในการใช้สื่อสังคมออนไลน์