fbpx

เมื่อทุกก้าวจังหวะชีวิตคือ “การ์ตูน” – ธนพ ตันอนุชิตติกุล

บทเกริ่นนำ

หากท่านมีอายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป ในวัยเด็กท่านอาจจะเคยได้เห็นหน้าตาของ “พี่นัท – น้องนพ” หรือ “ธนัท – ธนพ ตันอนุชิตติกุล” คู่พี่น้องที่มีอายุของทั้งคู่ห่างกันประมาณ 5 ปี ซึ่งโด่งดังจากรายการ “ไฮไลท์การ์ตูน 9” หรือถ้าไม่ใช่รายการนี้ คนที่มีอายุเด็กลงมาหน่อย อาจจะเคยได้ยินชื่อของทั้งคู่มาจากรายการ “ไอทีวี การ์ตูนคลับ” ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและทีไอทีวี

แน่นอนว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านจากยุคของทีไอทีวี เข้าสู่ยุคของสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างไทยพีบีเอส รายการนี้ก็มีอันต้องหลุดออกจากผังด้วยตามรูปแบบของสถานีที่เปลี่ยนไป และทั้ง 2 ก็เลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน

พี่ชายคนโตอย่างนัท ก็ยังคงวนเวียนในวงการพิธีกร โดยการเป็นพิธีกรในรายการสารคดี ทั้งในสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี และกลับมาสู่วงการรายการเด็กด้วยการเป็นพิธีกรรายการ 50:50 ของค่ายเทโรเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (บีอีซี-เทโร ในขณะนั้น) ก่อนที่จะเฟดตัวเองออกจากวงการเบื้องหน้าในวัย 28 ปี เพื่อหันมาโฟกัสงานบริหารในฐานะ CEO รุ่นใหม่ไฟแรงของบริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย จำกัด ที่น่าสังเกตคือพี่ชายอย่างนัทมักไม่ค่อยออกสื่อมากสักเท่าไหร่ในช่วงหลัง ๆ

ส่วนคนน้องอย่างนพ ก็ออกไปเรียนต่อในต่างประเทศ และเมื่อครั้งที่เขากลับมาถึงไทย และพร้อมออกสื่ออีกครั้ง เขาก็กลับมาในฐานะของ Executive Director ของการ์ตูนคลับ มีเดีย ถึงแม้ว่าบุคลิกภายนอกจะดูเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ก็ยังคงเป็นคุณนพคนเดิม และเริ่มให้สัมภาษณ์กับสื่อบ่อยขึ้นในช่วงหลัง ๆ

ในวันหนึ่ง นพได้แจ้งข่าวร้ายในวงการการ์ตูนลิขสิทธิ์ว่าทางการ์ตูนคลับจะหยุดการทำพากย์ไทยสำหรับการ์ตูนเรื่องดังอย่างวันพีชลงชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่น่าอับอายก็คือการเข้ามาของเว็บดูเถื่อนซึ่งมีโฆษณาเว็บพนันเต็มไปหมด โดยการ์ตูนคลับเลือกหยุดไว้ที่ตอน 891 ก็ทำให้สะเทือนวงการการ์ตูนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับผลประกอบการที่ขาดทุนเกือบ ๆ 5 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางทีมงานของเราพยายามที่จะตามประเด็นนี้จากการที่ทางคลับ Tokusatsu Club เปิดห้องพูดคุยกับนพในแพลตฟอร์ม Clubhouse แต่ทว่าเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมที่เยอะและคำถามที่เยอะในเวลาที่จำกัด ก็อาจจะทำให้ทีมงานถามคำถามที่อยากถามไม่ได้เท่าที่ควรเสียเท่าไหร่ และทางทีมงานส่องสื่อจึงไม่รอช้า รีบติดต่อนพในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน โชคดีที่นพติดต่อกลับมา และตกลงกับทางทีมงานว่าสะดวกที่จะให้เปิดห้อง ZOOM เพื่อพูดคุยกับเขาในช่วงเย็นของอีกไม่กี่วันถัดมา

“ธนพ ตันอนุชิตติกุล”

ในช่วงเย็นของวันนั้น ในขณะที่นพกำลังนั่งรับประทานอาหารนอกบ้าน เมื่อมีโอกาสแล้วทั้งที บรรณาธิการใหญ่ของพวกเราอย่างปังปอนด์, หัวเรือใหญ่ในการสัมภาษณ์อย่างวี และน้องเล็กอย่างตูน ซึ่งทันได้ติดตามการ์ตูนคลับมาตั้งแต่ยุคของฟรีทีวีดาวเทียม จึงขอถือโอกาสพูดคุยกันกับนพถึงเรื่องความเป็นไปของช่อง 9 การ์ตูนในปัจจุบัน, บริษัทเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งอยู่ในเครือธุรกิจของครอบครัว ที่ผ่านการปลุกปั้นโฆษณาขนมดังให้ติดหูด้วยเสียงร้องที่ว่า “ไม่ว่าเวลาไหน…สะดวกอร่อยได้ทุกที่”  และมุมมองเกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์ในไทยในสายตาของชายหนุ่มวัย 31 ปีที่ Passion ในการทำธุรกิจของเขาคือเรื่องของการ์ตูน

นับเป็นบทสัมภาษณ์ที่ใช้เวลาสัมภาษณ์นานกว่าปกติไปบ้างประมาณ 1.5 เท่า ของที่ผมเคยแกะเทปออกมา แต่ถ้าดูจากบทสัมภาษณ์แล้ว นับว่ามันดีไม่น้อยเลยแหละ

แต่ที่น่าปลื้มปริ่มก็คือนพนั้นติดตามพวกเรามาตั้งแต่วันที่พวกเรานั้นร่วมมือกับทีมงานยามเฝ้าจอ เพื่อเกาะติดการยุติการออกอากาศของช่อง 3 ในระบบอนาล็อก (ซึ่งเป็นงานแรกที่คนเขียนคำเกริ่นอย่างผมร่วมงานกับทีมงานทั้ง 2 ทีม ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในชายคาของส่องสื่อ ตั้งแต่ยุคที่ Modernist ของพวกเรานั้นเปลี่ยนชื่อเป็น The Educative ในช่วงสั้น ๆ) ซึ่งทำให้เราได้รับรู้ว่าหลาย ๆ คน พี่ ๆ ที่เรานับถือในวงการสื่อเองก็สนใจเนื้อหาที่พวกเราทำเช่นเดียวกัน เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับการทำงานต่อไปเลยหละ

หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้คงเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเปิดใจรับเนื้อหาอันถูกลิขสิทธิ์ไปไม่มากก็น้อย และเข้าใจถึงบริบทของผู้ผลิตเนื้อหามากขึ้นไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม

เริ่มต้นจากโฆษณา สู่วงการการ์ตูน

นพเริ่มเล่าให้พวกเราทั้งสามคนฟังถึงการเริ่มต้นในธุรกิจการ์ตูนว่า “ต้องขอเกริ่นก่อนว่ากลุ่มธุรกิจเราก็ประมาณ 30 ปี ที่อยู่ในวงการการ์ตูนมาในประเทศไทย ขอเล่าย้อนไปตั้งแต่แรกเลยว่าจริง ๆ กลุ่มเราเริ่มต้นมาจากเอเจนซี่โฆษณา ก่อนจะเข้ามาในวงการการ์ตูนนะครับ เราเป็นเอเจนซี่โฆษณาไทยแท้

ปัจจุบันเอเจนซี่เราในนามบริษัทเมเจอร์ ไอเอ็มซี ก็ยังทำเป็น Integrated Marketing Production Agency อยู่ ซึ่งลูกค้าที่สนับสนุนเรามาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันก็กลุ่มผลิตภัณฑ์ยูโร่ทั้งหมด เลยอาจจะได้คำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาถึงเห็นโฆษณายูโร่ค่อนข้างเยอะในช่อง 9 การ์ตูนครับผม แต่เราก็ไม่ได้ลิมิตอยู่แค่สินค้าเด็กเท่านั้น แม้ว่าสินค้าเด็กจะเป็น Expertise หรือว่าเป็นการชำนาญของเรานะครับ

แล้วก็สินค้าอย่างทิพรสด้วยตั้งแต่ยุคแรก ๆ เลย ปัจจุบันทิพรสก็เป็นพาร์ทเนอร์ที่ทางเอเจนซี่เราดูแลสินค้าทิพรส เพราะฉะนั้นในนามเอเจนซี่เรา เราก็มีซื้อสื่อโฆษณาได้ทุกรูปแบบนะครับ ทั้งออนไลน์ ทั้งทางช่องต่าง ๆ

และเคสของยูโร่พอเป็นสินค้าเด็กค่อนข้างเป็นหลักนะครับ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราก็ร่วมก่อตั้งช่อง 9 การ์ตูนเป็น Time Slot ตอนนั้นก็จะเป็น 8 โมงเช้าถึง 10 โมงเช้าที่ฉายการ์ตูนมาอย่างยาวนาน ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีการปรับ Time Slot มาเป็น 7 โมง ถึง 9 โมงนะครับ แต่ว่าก็ยังเป็น Time Slot ที่เราร่วมกับช่อง 9 จนถึงปัจจุบัน

อันนี้คือเล่าภาพรวมว่ากลุ่มธุรกิจของเราก็จะมีส่วนของเอเจนซี่นะครับ, บริษัทเอฟฟ์ ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ในการบริหารสล็อตเวลาช่อง 9 การ์ตูนและการ์ตูนคลับ มีเดียที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตออกอากาศโดยไม่ใช้คลื่นความถี่นะครับ ซึ่งออกอากาศช่องการ์ตูนคลับอยู่ และแบรนด์การ์ตูนคลับของเรานะครับปัจจุบันก็ไปร่วมกับ VOD Platform ต่าง ๆ เช่น LINE TV, trueID, WeTV, MONOMAX แล้วก็พยายามจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ตรงนี้

เพราะว่าต้องยอมรับว่าคนบริโภคสื่อทางทีวีโดยตรงที่เป็น Linear TV, Digital TV น้อยลงอย่างมาก ต้องยอมรับความจริงในส่วนของตรงนี้กัน ซึ่งเราก็ทราบในส่วนของเทรนด์ตรงนี้นะครับ ทำให้ลิขสิทธิ์การ์ตูนแต่ละเรื่อง อย่างวันพีชล่าสุด ต้องเรียนว่าจริง ๆ วันพีชเราหยุดออกอากาศทางทีวีไปเกือบ 2 ปีแล้ว แต่เราก็ออกอากาศทาง VOD ผ่านทาง LINE TV อยู่นะครับ ถามว่าทำไมบางเรื่องเรามีความจำเป็นต้องหยุดออกอากาศทางทีวีก่อน หรืออะไรก่อน บางทีก็คือเป็นเหตุผลว่าจุดคุ้มทุนของเรื่องนั้นอาจจะไม่สามารถดำเนินการด้านการออกอากาศทางทีวีต่อในส่วนตรงนี้

แต่คำถามที่ถามว่าการ์ตูนคลับยังจะร่วมสืบทอดตำนานช่อง 9 การ์ตูนกับช่อง 9 ต่อไหม ผมมองว่าเราเกิดมาจากแบรนด์นี้นะครับ ผมกับช่อง 9 ผูกพันกัน ชื่อของผมจริง ๆ คนก็เรียกอีกชื่อนึงว่า “น้องนพ ช่อง 9 การ์ตูน” ด้วยซ้ำนะ เพราะฉะนั้นความร่วมมือพันธมิตรมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่น GEN แรกที่ทำธุรกิจมาจนถึงรุ่นของทางผมกับคุณนัทเนี่ยครับ เราก็หมายมั่นปั้นมือแหละว่ายังไงเราก็จะต้อง Build แล้วก็รักษาคงไว้ซึ่งแบรนด์ช่อง 9 การ์ตูนต่อไปในส่วนของตรงนี้ แล้วก็ขยายฐานไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยที่ให้คนสามารถรับชมได้ ON DEMAND ทางช่องทางต่าง ๆ”

ผลงานที่ทุกคนต้องคุ้นหู!

นพเล่าให้ฟังถึงธุรกิจของเมเจอร์ ไอเอ็มซีว่า “ถ้าเป็นคอนเทนต์ปัจจุบันเป็นการ์ตูนครับ แล้วก็ในนามของเมเจอร์ ไอเอ็มซี เนื่องจากเราเป็นเอเจนซี่โฆษณานะครับ โฆษณาเราต้องให้เครดิตกับ Creative Director ของเรา และทีม Creative ที่ค่อนข้างจะเชี่ยวชาญในการทำโฆษณาสไตล์ Jingle โฆษณาเพลงนะครับ

“ไม่ว่าเวลาไหน…สะดวกอร่อยได้ทุกที่” อ่า โฆษณายูโร่นะครับ โฆษณาทิพรสนะครับ ต่าง ๆ ก็คือเป็นเพลงที่ทางครีเอทีฟเราคิด แล้วก็มีเพลงที่ติดหู “ปี ปีโป้ ปะ ปะ ปี ปีโป้” “ใคร ๆ ก็ชอบปักกิ่ง คึกคัก ๆ ก็ปักกิ่ง” เหล่านี้แหละครับผมก็เป็นผลงานที่ภูมิใจในนามเอเจนซี่ของเรา ซึ่งมีโฆษณาคลาสสิคมากมายในนามยูโร่เค้ก, ปักกิ่ง, ปีโป้ หรือว่าสโลแกนซึ่งก็ติดหูกับผลิตภัณฑ์ของยูโร่ อันนี้อาจจะเป็นสโลแกนยุค น่าจะ 80 ด้วยซ้ำ มา 90 คาบเกี่ยวนิดหน่อย เช่น “เหมือนเดิม โอโจ้ด้วย” ก็เป็นสโลแกนของสินค้ายูโร่ เป็นผลงานโฆษณาในนามของเอเจนซี่เราครับ”

“ธนพ ตันอนุชิตติกุล”

จากงานลูกค้า ก้าวเข้าสู่การสร้างสังคมที่ดีผ่านการ์ตูน

นพยังเล่าให้ฟังต่อถึงการเริ่มต้นว่า “เมเจอร์ ไอเอ็มซีเราก็มีลูกค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์มาอย่างยาวนาน ก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ยูโร่นะครับ แล้วก็อย่างทิพรสด้วย ซึ่งเคสของยูโร่ มีสินค้าเด็กเยอะแยะมากมายในพอร์ต ยกตัวอย่างเร็ว ๆ เลยก็ปีโป้, ยูโร่เค้ก, ปักกิ่ง, โอโจ้, เอลเซ่, บิ๊กบลูม ต่าง ๆ ที่เราเห็นโฆษณายูโร่นะครับผม เพราะฉะนั้นถ้ามอง Business ก็เป็นระบบ Virtual Integration แหละครับ คือในเมื่อเราต้องการจะหาคอนเทนต์ที่เหมาะกับสินค้าเรา แล้วทำไมเราไม่ขยายฐานธุรกิจมาตรงกับคอนเทนต์ที่กลุ่มลูกค้าเรา ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าเรา ก็เลยเป็นที่มาที่ไปว่า กลุ่มลูกค้าสำหรับคนที่ลูกค้ายูโร่ ก็น่าจะเป็น เด็ก เยาวชน

เราก็เลยขยายมาเป็นฐานการ์ตูน แต่แน่นอนว่าการ์ตูน ก็คือต้องเป็นการ์ตูนที่ดีที่ให้ Lesson ที่ดีที่เด็ก ๆ ดูการ์ตูนเพราะความสนุกด้วยอยู่แล้วแหละ แต่ว่าในความสนุกเหล่านั้นของการ์ตูนเนี่ย ก็มั่นใจว่าการ์ตูนที่เราเลือกมาต้องสร้างข้อคิดดี ๆ ให้ เหมือนอย่างที่สังคมญี่ปุ่น เด็กโตมากับการ์ตูน แล้วทำไมเขาโตมาเป็นเด็กที่ดี กับมี Culture ที่ดี มีระเบียบวินัยที่ดีหลาย ๆ อย่าง ทุก ๆ อย่างนะครับผม ผมเชื่อว่าการ์ตูนเป็น 1 ในสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาออกมาเป็นคนที่ดีแน่นอนครับผม ในส่วนของเราก็มองว่าฐานลูกค้าเราเป็นสินค้าเด็กค่อนข้างเยอะ เราก็เลยขยายฐานธุรกิจมา

อันนี้ก็ต้องย้อนไปรุ่นเจนแรกที่เริ่มทำธุรกิจมาร่วมก่อตั้งช่วงเวลาในการซื้อการ์ตูนมาออกอากาศในประเทศไทยครับผม ตั้งแต่ยุคแรก ๆ เลย โปรเจ็กต์ที่ต้องเรียนว่าคุณพ่อผม (นิรุฒน์ ตันอนุชิตติกุล) ร่วมกับทางช่อง 9 เลย ก็เป็นเรื่องโดเรม่อน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วครับ 30 กว่าปีซึ่งต้องเรียนว่าตอนที่ทำยุคแรก ๆ ตอนนั้นผมก็ยังไม่เกิดเลย เพราะว่าปีนี้ผมก็ 31 แล้วครับ แต่ว่าเราก็ดีใจที่ได้สืบทอดตำนานมาเป็น พี่นัท – น้องนพ ช่อง 9 การ์ตูน เมื่อยุค 20 ปีที่แล้ว แล้วก็ตอนนี้ในนาม คุณนัท – คุณนพ การ์ตูนคลับ เราก็ยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับทาง อสมท. กับช่วงเวลาสล็อตนี้นะครับ และจริง ๆ เราก็มีขยายเวลามาร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ อย่างปัจจุบันเราก็ร่วมกับ true4U นะครับผม ซึ่งเวลา 6 โมง – 7 โมง ฉาย “ชินจังจอมแก่น” ในวันอาทิตย์ครับ ก็คือเราร่วมทุกพาร์ทเนอร์ที่มีในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ว่าในขณะเดียวกันเราก็พยายามขาย ขยายช่องทางออกอากาศต่าง ๆ

แล้วก็พอมาเป็นยุคโทรทัศน์ดาวเทียมบูมเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว การ์ตูนคลับก็ 12 ปีละ เราก็ขยายมาทำการ์ตูนคลับแชนแนล เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องการ์ตูน ซึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การ์ตูนคลับแชนแนลยังอยู่ แต่ก็มาเปลี่ยนเป็นระบบ IPTV ในส่วนของตรงนี้ รับชมได้ฟรีเหมือนเดิมทุกกล่อง IPTV ครับผม แล้วก็พาร์ทเนอร์กับแอปต่าง ๆ เพื่อนำคอนเทนต์เราไปออกอากาศ LINE TV, trueID, WeTV, MONOMAX แล้วก็ YouTube ครับ

คือเราก็ต้องปรับตัวตลอดเวลาเพราะผมมั่นใจว่าคนยังดูการ์ตูนอยู่เหมือนเดิมครับผม แต่ดูในวิธีที่ต่างกัน ดูผ่านแอพบ้าง ดูผ่านมือถือบ้าง บางคนดูผ่าน SVOD (รับชมบนระบบสมัครสมาชิกที่เสียค่าใช้จ่าย) /AVOD (รับชมบนระบบฟรีที่มีโฆษณาคั่น) มีทุก ๆ อย่าง แต่ว่าคอนเทนต์การ์ตูนไม่ได้ขาดความนิยมไปจากคนดูหรอกครับ คนก็ยังเสพการ์ตูนอยู่เหมือนเดิม มันก็ยังเป็นสื่อบันเทิงที่สนุกสำหรับทุก ๆ คน ไม่งั้นเราจะไม่เห็นปรากฏการณ์ดาบพิฆาตอสูรเกิดขึ้นมาในตลอดปีที่ผ่านมาหรอก เป็นภาพยนตร์ต่างชาติที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย ในส่วนของตัวเองก็ต้องชื่นชมในส่วนของทาง M PICTURES ที่นำภาพยนตร์เข้ามา การ์ตูนคลับเราก็ถือภาคซีรีส์ ซึ่งภาคซีรีส์ของดาบพิฆาตอสูรก็ได้รับความนิยมที่ดีโดยดีมากเช่นกัน ประมาณนี้ครับผม

นอกจากนี้เราก็ขยายมาทำภาพยนตร์ด้วย อย่างปีที่ผ่านมาเรามีดิจิม่อนเข้าฉายทางโรง ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เป็นเบอร์ #1 Box Office ประจำสัปดาห์ที่เข้าฉายเลย และปีนี้จริง ๆ เราก็ขยายมา ช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โรงภาพยนตร์ตอนนั้นเปิดอยู่ แล้วก็สถานการณ์โควิดอยู่ในช่วงที่ Control หลังจบ Wave 2 เราก็นำภาพยนตร์ “อุโมงค์ผีดุ” โดย Toei Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำขบวนการ 5 สีนะครับผม Toei จริง ๆ เขาเป็นบริษัทที่ทำคอนเทนต์หลายอย่างมากเลย ไม่ว่าจะเป็น Battle Royale พวกเกมนรกนั่นนี่ไปหมด แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ Toei เขาทำกับเจ้าอื่นมาตั้งแต่แรกละ ส่วนการ์ตูนคลับก็นำเข้าอุโมงค์ผีดุมา สำหรับผู้กำกับจูออน Takashi Shimizu เราก็เป็นการขยายธุรกิจจาก Partnership ที่เรามีอยู่ นำภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทย ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเช่นกัน เป็น Box Office เบอร์ #1 ของสัปดาห์ที่เข้าฉายเช่นกัน

อีกเรื่องนึงก็คือสถาบันสอนพากย์การ์ตูน “Cartoon Club Academy” อันนี้ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี รุ่นล่าสุดที่เราเปิดไปก็ดีใจมาก เต็มภายใน 2 ชั่วโมงครับ เพราะว่าเราสร้างอาชีพ เรามองว่าเนื่องจากเราก็มีการ์ตูนใหม่ ๆ ฟีดเข้ามาพากย์การ์ตูนตรงนี้ตลอดแหละ ก็อยากมีโอกาสให้ผู้ที่สนใจอยากเป็นนักพากย์การ์ตูนได้มีโอกาสมาเรียนกับโค้ชของเรา มาเรียนกับผู้มากประสบการณ์จริง ๆ ก็เป็นหลักสูตรสอนพากย์การ์ตูน ถ้าในนามสถาบันจากสถานีโทรทัศน์ที่โฟกัสการ์ตูนแอนิเมชั่น ก็เป็นเราที่ทำในนามการ์ตูนคลับครับ”

เมื่อเครื่องมือรับชมมากขึ้น การจัดการต้องมากขึ้นตาม

นพเล่าให้ฟังถึงการจัดการบริหารคอนเทนต์ระหว่างยุคโทรทัศน์ 6 ช่อง กับยุคปัจจุบันไว้ว่า “ยุคปัจจุบันถ้าพูดถึงการบริหารถือว่ายากกว่ามาก เพราะว่าเมื่อก่อนลิขสิทธิ์การ์ตูน สมัยที่เรายังไม่มี Device ลิขสิทธิ์การ์ตูนอย่างเดียวที่ออกอากาศในส่วนของ Broadcast ก็จะมีแค่ Free TV Right Exclusive หรือ Non-Exclusive Right บรรทัดเดียว เคลียร์ ลิขสิทธิ์เวลาเราซื้อจากญี่ปุ่น ถ้าเป็นทีวี ก็ค่อนข้างจะต้องเป็น Exclusive ถ้ายิ่งสมัยทีวี 4 ช่องด้วยนะครับ แต่ปัจจุบันทีวีอย่างเดียวก็มีหลายแพลตฟอร์มละ IPTV, Cable TV , Satellite TV, Digital TV ก่อน OTT Platform ที่เป็น VOD Platform ต่าง ๆ นะครับ

แต่ว่าทุก ๆ ครั้งที่มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มา เราก็ต้องคุยกับเจ้าของสิทธิ์ว่าเราก็ต้องปรับตัวนะ คือสมมุติคนดูอาจจะมีมากขึ้น น้อยลงบ้าง แต่ว่าถ้าเรา Some Platform ทุกอย่างมาแล้ว มันมีการกระจายไปดูหลาย Platform มากเลย บางคนถ้าดูทางทีวีแล้ว เขาก็อาจจะไม่ได้สะดวกดูทาง VOD หรือว่าถ้าดูทาง Cartoon Club ใน IPTV แล้ว เขาก็อาจจะไม่ได้ตื่นเช้ามาดูช่อง 9 การ์ตูนเสาร์ – อาทิตย์เหมือนเมื่อก่อนที่ทุกอย่างมีให้ดูสล็อตเดียวคือ 8 โมง – 10 โมง เพราะฉะนั้นการบริหารเราก็ต้องปรับตัวว่าเราต้องพยายามจะครอบคลุมสิทธิ์ให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าถึงทุก ๆ Flag Point ที่เป็นไปได้นะครับ

แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่าเจ้าของสิทธิ์ บางทีการจะขอสิทธิ์บางอย่างมา มันไม่ได้ง่ายเพียงขอแค่ในส่วนของตรงนี้แล้วตกลงราคาได้ทันที เพราะทุกอย่างบางที ความต้องการของเจ้าของสิทธิ์ก็มีจุดที่จะเรามองแล้วมันไม่คุ้มทุนบ้าง ยกตัวอย่างเคสภาพยนตร์ดิจิม่อนนะครับผม เรื่องนี้เรา Finish Production เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉายลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีกระแสคนตามมาเยอะมากว่าทำไมทางผมไม่เอาลง VOD ละ อยากลงมากครับ จริง ๆ เลย แต่ว่าบางทีด้วย Minimum Guarantee หรือค่าลิขสิทธิ์ที่เราจำเป็นต้องแบกรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าที่เป็นปัญหาซึ่งต้องยอมรับว่าน่าใจหายกับเคสวันพีชกับเคสที่เกิดขึ้นคือ VOD ต่างประเทศทั้งหลายนะครับผม หรือประเทศญี่ปุ่นเนี่ยเขามีการ Regulate ที่ดีมาก ๆ ในส่วนของกฎหมายว่าการรับชมลิงก์เถื่อนมันก็คืออาชญากรรมอย่างนึงหรือว่าการอัปโหลดลิงก์เถื่อนมันคืออาชญากรรมอย่างนึงเลยนะ มันก็คือการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทรัพย์สินทุกอย่าง คอนเทนต์การ์ตูนมันก็คือทรัพย์สินทางปัญญาแหละ ฉะนั้นมันก็คือการถูกขโมยทรัพย์สินมาถึงตรงนี้ ปัญหาที่ยากในปัจจุบันคือพวกผู้บริหารลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในส่วนของ OTT Platform ต่าง ๆ ก็คือว่าเราลำบากตรงที่ว่าเราต้องต่อสู้กับลิงก์เถื่อน ซึ่งมันคือกฎเกณฑ์ที่ไม่แฟร์ว่าเหมือนการต่อสู้ที่ไม่เป็นธรรมนะครับผม

พูดถึงลิขสิทธิ์ ต้นทุนลิขสิทธิ์ทุกเจ้าเรามีต้นทุนที่ต่างกัน เรามีต้นทุนที่สูงพอ ๆ กันแหละ แต่ลิงก์เถื่อนเขาไม่มีต้นทุนอะไรเลยนอกจากค่าเซิร์ฟเวอร์ และขโมยคอนเทนต์มาได้ฟรี ๆ เลย ประมาณนี้แหละครับผม ก็ทำให้สิ่งที่ยากในปัจจุบันคือการบริหารลิขสิทธิ์ในส่วนของยุคที่ลิงก์เถื่อนแพร่หลาย เพราะการปรับตัว อย่างวันพีช เมื่อก่อนวันพีช ยุค 16 ปีที่แล้วเรานำมาออกอากาศทางช่องไอทีวี ตอนนั้นในยุคไอทีวีการ์ตูนคลับก็ได้รับความนิยมสูง แล้วก็วันพีชจริง ๆ ก็มีการสลับช่องตามผังที่ปรับเปลี่ยนไปนะครับ วันพีชเคยมียุคที่ออกอากาศช่อง 3 ยุคออกอากาศช่อง 9 ยุคออกอากาศช่องไทยรัฐต่าง ๆ นะครับ ส่วนท้ายที่สุดทีวีของวันพีชก็หยุดออกอากาศมาเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะว่ามันถึงจุดที่ค่าลิขสิทธิ์มันอาจจะไม่สมดุลกับรายได้ในส่วนของตรงนี้ แล้วพอมาในส่วนของ VOD เราก็ปรับตัวอย่างเมื่อก่อนมาช้า อย่างที่เห็น Subtitle ก็มีการปรับตัวมาเร็วเท่าวันเดียวกับญี่ปุ่นแล้ว หรือพากย์ไทยเราก็ปรับตัวให้ความเร็วกว่าญี่ปุ่น 2 เท่าเพื่อที่จะตามญี่ปุ่นให้ทัน

แต่เราแพ้ให้ลิงก์ถูกลิขสิทธิ์เว็บอื่นเหรอ มันก็ไม่ใช่ เพราะว่าพวกเราคือพาร์ทเนอร์พันธมิตรกัน เราลองมารวมยอดวิวอื่น ๆ ของลิงก์ถูกลิขสิทธิ์ของวันพีชรวมกัน ถ้าเฉลี่ยต่อตอนก็หลักหลายแสน แต่ลิงก์เถื่อนบางทีแค่ไม่กี่ลิงก์ แค่ไม่กี่เว็บ Traffic เขาเข้าเป็นล้าน ๆ นะครับ ถ้าสรุปคร่าว ๆ ก็คือยอดวิวลิงก์แท้หลักแสน ยอดวิวลิงก์เถื่อนหลักล้าน มันเกิดขึ้นกับคอนเทนต์ในประเทศไทย ซึ่งมันทำให้ต่อสู้กันอย่างยากลำบากในส่วนของตรงนี้ครับ ทำให้ยุคปัจจุบันก็เหนื่อยขึ้น แต่ก็พร้อมต่อสู้ครับ อย่างที่บอกว่าวันพีชถึงแม้ว่าตอนนี้ต้องหยุดพัก แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งที่ทุก ๆ คนทราบถึงความสำคัญ ตระหนักถึงความสำคัญของลิงก์ลิขสิทธิ์นะครับ ซึ่งเราก็มีให้ชมรับชมแล้วแบบฟรี ๆ ด้วย เร็วเท่าญี่ปุ่นแล้วด้วย หรือถ้าอยากจะรับชมช่องทางที่ไม่มีโฆษณา ก็ต้องเข้าใจว่าทุก ๆ อย่าง ลิขสิทธิ์มีต้นทุน มีการบริหาร มีการผลิตผลงานนั้นต่าง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าจ่ายเป็นค่าสมาชิกก็จะไม่มีโฆษณานะครับ แบบระบบ SVOD Netflix หรือ MONOMAX นะครับ แต่ว่าถ้ามีโฆษณาก็มาในแบบที่การ์ตูนคลับพาร์ทเนอร์อย่างเช่น LINE TV ประมาณนี้ครับ”

“ธนัท ตันอนุชิตติกุล”

หลากช่องทาง หลายรายได้ แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นด้วย

นพเล่าให้ฟังถึงเรื่องการบริหารจัดการสิทธิ์ไว้ว่า “ต้นทุนสูงขึ้นครับ เพราะยุคฟรีทีวี ต้นทุนเทป 1 เทปมาออกอากาศอีกทีในส่วนของตรงนี้ คือต้นทุนด้านลิขสิทธิ์ ก็ต้องเรียนว่าขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้าในบางเจ้า เราก็คุยในสถานการณ์ตรง ๆ ว่ามัน Fragment เราขอพยายามบริหารต้นทุนให้เพิ่มขึ้นก็เพิ่มขึ้นไม่มากได้ไหม? แต่เราขอช่องทางการออกอากาศให้มากขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อลิขสิทธิ์เขานะครับ แต่ต้นทุนทาง Production หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสูงแน่นอน เพราะว่าการนำ 1 เทปออกอากาศ 1 Hard disk เนี่ยครับ จะต้องไปในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ต้องมีการ Produce ไปในแต่ละ Format ของช่อง แต่ละแอพก็มีการ Require Format การออกอากาศที่ต่างกัน อย่างทีวีบางช่องใช้ AVF บางช่องใช้ MOV ทุกอย่างมันคือต้นทุนที่สูงขึ้นในส่วนของตรงนี้ครับ

แล้วก็ต้นทุนด้านลิขสิทธิ์ บางช่องก็สามารถเจรจาให้ขึ้นก็ขึ้นไม่มาก แต่บางเจ้าเขาก็มองว่าเป็นแพลตฟอร์มเพิ่มไปอีก 1 แพลตฟอร์มก็ต้องขอค่าลิขสิทธิ์ บางทีก็คือแบบคูณสองเลยก็มี แต่ทุก ๆ อย่างขึ้นอยู่กับการเจรจา ใช้เหตุและผลอธิบายนะครับ เราก็พยายามจะบริหารให้คุ้มค่าที่สุดกับเม็ดเงินลงทุนที่ลงทุนเข้าไปด้วยครับ”

ปัญหาลิขสิทธิ์ต้องแก้ทุกส่วน ไม่ใช่แก้แค่คนดู แต่กฎหมายต้องรัดกุมด้วย

นพเล่าให้ฟังถึงปัญหาการจัดการด้านลิขสิทธิ์ไว้ว่า “ต้องแก้ “ทุกส่วน” แต่สำคัญที่สุด ส่วนสำหรับผมนะครับ คือผู้บริโภค ถ้าเราปรับพฤติกรรมจะสามารถแก้ต้นเหตุได้ดีที่สุด การแก้กฎหมายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่ผมว่าการแก้โดยพฤติกรรมผู้บริโภคน่าจะง่ายกว่าเพราะว่าทุก ๆ อย่างเรามีให้รับชมฟรีแล้วนะครับ แล้วก็มาไวสู้กับลิงก์เถื่อนอีกหลาย ๆ Option ที่ยุคปัจจุบันแอพดู VOD ต่าง ๆ ก็มีเกิน 10 แอพละ แล้วก็มีการ์ตูนให้รับชมหลาย Choice มาก ๆ เลย

แต่ว่าเท่าที่มีโอกาสคุยกับหลาย ๆ Partner ก็ค่อนข้างหนักกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคอนเทนต์เจอลิงก์เถื่อนมาเยอะในส่วนของตรงนี้นะครับ ก็เลยคิดว่าถ้าถามว่าเคสที่การ์ตูนคลับจะไม่ดำเนินการด้านกฎหมายเหรอ เรายืนยันว่าเราดำเนินการแน่นอนนะครับ แต่ว่าเคสของทางกฎหมายนั้น กระบวนการมันใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าจะมีการคุยกับทนาย การสืบพยานต่าง ๆ ผมเชื่อว่ามันใช้เวลานานเป็นหลักปีแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นหลักปีแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เปลี่ยนนะครับ เราก็ไม่อยากให้มีเคสอย่างวันพีชเกิดขึ้นกับเรื่องอื่น ๆ อีก และอยากให้เคสวันพีชแค่เป็นอุบัติเหตุ 1 ครั้งที่ทำให้คนทราบถึงความสำคัญของการรับชมลิงก์ถูกลิขสิทธิ์ แล้วมาสนับสนุนลิขสิทธิ์

ให้คิดว่าจริง ๆ มันก็คือเป็นการ “ดูลิงก์เถื่อน = สนับสนุนโจร” ผมใช้คำนี้ตลอดว่ามันคือสิ่งที่อยากจะให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เพราะว่าลิงก์เถื่อน การที่เขาดูคอนเทนต์มาให้ได้รับชม เขาก็หวังโฆษณาเว็บสีเทาต่าง ๆ ในส่วนของตรงนี้แหละครับ คือเราก็ต้องแก้ปัญหาควบคู่กันไป แต่สำคัญที่สุดถ้าไม่มีผู้บริโภคพร้อมจะเสพลิงก์เถื่อนเหล่านั้น เขาก็อยู่ไม่ได้นะครับ ไม่ว่ากฎหมายจะยังไงก็ตามแต่ แต่ถ้าสมมติเขามองว่าแล้วว่าสร้างเซิร์ฟเวอร์ เขามีต้นทุนถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าเราหลายเท่า แต่เขาก็มีตุ้นทน ถ้าถึงจุดที่คนเขาไม่เสพลิงก์เถื่อนเลยจนเขาอยู่ไม่ได้ ปรับตัวกันตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าลิงก์เถื่อนจะหมดไป”

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงขั้นตอนทางด้านกฎหมายไว้เพิ่มเติมด้วยว่า “อยู่ในช่วงประมาณอยู่ เพราะว่าผมเพิ่งโพสต์ในส่วนของตรงนี้ไป เราก็อยู่ในช่วงที่กำลังเริ่มคุยกับทนาย แล้วก็จริง ๆ ไม่ใช่แค่ผมถูกละเมิดนะครับ ทุกเจ้าที่ถือลิขสิทธิ์ในประเทศไทยก็กำลังคุยกับพาร์ทเนอร์ที่ทำการ์ตูนกันอยู่หลาย ๆ เจ้า เพราะว่าถ้าเป็นในกรณีนี้ เรารวบรวมเอกสารจากญี่ปุ่นมาในส่วนของการฟ้องร้อง

จริง ๆ มองว่าถ้า 1 เสียง การ์ตูนคลับฟ้องร้องไป มันได้แหละ แต่ถ้าเรารวบรวมทุกคนที่อยู่ในวงการการ์ตูนมาคุยด้วยกัน ผมคิดว่ามันจะสร้าง Impact ได้มากกว่านี้นะครับ เพื่อให้ขับเคลื่อน คือผมมองว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่บั่นทอนทำลายวงการสื่อครั้งใหญ่เลยนะ แล้วก็คือได้เห็นแล้วแหละว่าหลาย ๆ ครั้ง ด้วยพฤติกรรมการรับชมที่มักง่าย ดูลิงก์เถื่อนจนเคยชิน แล้วก็อาจจะคิดว่าอาจจะไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำร้ายวงการ ไม่ได้อะไรหรอก แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งนี้แหละครับคือสิ่งที่ทำร้ายวงการสื่อของเรามาก ๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้นเราก็คือคุยกับพาร์ทเนอร์ที่ทำการ์ตูนเจ้าอื่น ๆ ซึ่งก็คือเพื่อนที่ร่วมทำวงการต่าง ๆ นะครับผม แล้วก็มองว่าแบบจะต้องคุยกับทนายว่าหลาย ๆ เว็บที่มี ซึ่งถ้าคิดในใจตอนนี้ เกินสิบแน่นอน แล้วก็นอกจากลิงก์เถื่อนด้วย Facebook LIVE เถื่อนอีก มีเยอะแยะมากมายเลยครับ โดยเฉพาะวันพีชครับ คือน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกละเมิดเยอะสุดเรื่องหนึ่งด้วยแหละ”

ภาครัฐต้องเข้มงวด และเข้าใจลิขสิทธิ์ให้มากขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

นพเพิ่มเติมถึงความต้องการที่มีต่อภาครัฐว่า “อยากให้กฎหมายเข้มงวดกับกรณีนี้มากขึ้นกว่านี้ คือที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับ ถ้าภาพรวมกฎหมายมีแหละแต่ว่ามันไม่ได้มีการปฏิบัติ มันไม่ได้มีการ Enforce หรือจริงจังกับกฎหมายในส่วนของตัวตรงนี้ เพราะว่าถ้าสมมุติจะมีการจับจริง ปรับจริง แล้วก็ให้มันเป็นเคสที่เข้มงวดมากกว่านี้ มันก็จะเป็นการกระทำที่ช่วยเสริมอีกทางนึงที่ดีนะครับ เพราะว่ากฎหมายทุกอย่าง พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องปรับ กฎหมายต้องปรับ แต่ถามว่าในมุมของผม เนื่องจากว่าผมก็ไม่ใช่นักกฎหมายและผมก็ไม่ได้มีอำนาจด้านกฎหมายพวกนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่การ์ตูนคลับทำได้ แน่นอน เราเดินทั้งคู่ กฎหมาย เราใช้ฝั่งของทนายเดิน Process ทางกฎหมาย

แล้วถ้าถามว่าอยากให้ภาครัฐทำอะไรในส่วนของตรงนี้ ก็คืออยากให้ภาครัฐเข้มงวดกับการใช้กฎหมายการละเมิดลิขสิทธิ์ทางทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้นกว่าเดิมครับ ผมถ้าความต้องการจากส่วนของผู้บริโภค มีกฎหมายมีอยู่แล้วแหละ แต่อยากให้เข้มงวดขึ้นในส่วนของกรณีนี้ ถ้ามีการเข้มงวด การปิดลิงก์เถื่อนที่อย่างจริงจังนะครับผม ผมคิดว่าคือจะทำให้คนดูลิงก์เถื่อนเนี่ยหาลิงก์เถื่อนดูได้ยากขึ้น เพราะปัจจุบันเนี่ย ลิงก์เถื่อนหาง่ายกว่าลิงก์แท้นี่คือปัญหาครับ แล้วถามว่าเราไม่ทำการตลาดเหรอ ทำนะครับ แต่ว่าทำเต็มที่ที่แต่ละเจ้าทำได้อยู่แล้วแหละ คือมันคือการต่อสู้ที่ไม่แฟร์ คือกฎระเบียบที่ไม่แฟร์ หมายถึงว่าลิงก์เถื่อนเขามีต้นทุนต่างกว่าเราหลาย ๆ เท่า แต่ไม่ต้องมีอะไรเลย นอกจากกรขโมย ก็คือไม่ต่างอะไรจากการขโมยของจากร้านค้าร้านนึงแล้วเอามาตั้ง แล้วจริง ๆ ก็เสียแค่ค่าเช่า ไม่ต้องมีค่าคิดผลงาน ไม่ต้องมีอะไรเลย ต้นทุนมันคือการต่อสู้ที่อยู่ในคนละกฎเกณฑ์กันครับผม มันคือการต่อสู้ที่ไม่แฟร์กันอยู่แล้วระหว่างเรากับลิงก์เถื่อน

แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องทุกเจ้าก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนะครับ ก็มองว่าอย่างเคสของวันพีชครับผม ก็ บอกว่าแบบเฮ้ย ไม่อยากดูพากย์ไทย ไม่ชอบดูของไทยแต่ผมเข้าใจว่ารสนิยมการเสพการ์ตูนของแต่ละคนต่างกัน การดูต่างกัน ขอแค่อย่าดูลิงก์เถื่อนก็พอ ลิงก์แท้ถูกลิขสิทธิ์ที่ไหนก็ได้นะครับ เพราะว่าวันพีชเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด มีพากย์ไทย พยายามเร็วที่สุดแล้ว แต่ก็เจอผลกระทบจากลิงก์เถื่อน หรือว่าซับไทยเร็วที่สุดแล้วจากแอพอื่น ๆ มาวันเดียวกับญี่ปุ่นแล้วด้วย เพราะฉะนั้นคือ อย่าให้เป็นข้ออ้างของการทำค่านิยมให้เกิดการรับชมลิงก์เถื่อนดีกว่าครับ”

ปัญหาลิขสิทธิ์ = ฉายคอนเทนต์ไม่จบ เพราะขาดทุน

นพเล่าให้ฟังในจุดนี้ว่า “ก็ทำให้ลำบากขึ้น แต่ยังไงผมก็ยืนยันว่าผมจะสู้เพื่อลิขสิทธิ์การ์ตูนต่อไปนะครับ แต่บางทีด้วยความจำเป็นในการบริหารองค์กรในรูปแบบธุรกิจนะครับ ถ้าเรื่องไหนมองว่ามันถึงจุดที่เราไม่สามารถจะถึงจดที่คุ้มทุนได้ มันก็คือทำให้เรื่องนั้นต้องมีกรณีหยุดพัก อย่างนารูโตะพากย์ไทยเคยมีการหยุดพักมาก่อน ก่อนที่การ์ตูนคลับจะกลับมาทำ การ์ตูนเรื่องนี้ยังมีพากย์ไทย ภาค Shippuden ไม่ได้ครบ 500 ตอน ภาคตำนานวายุสลาตันไม่ครบ 500 ตอน เพราะว่าตอนนั้นเป็นผลกระทบของเทปผี ซีดีเถื่อน ตอนนี้ไปเป็นลิงก์เถื่อน เหมือนในยุคซีดีเถื่อนอะไรต่าง ๆ ก็กระทบหนักครับ

อย่างปัจจุบันลิงก์เถื่อนหนักกว่าเดิมอีก เพราะว่ามันรับชมได้ง่ายกว่าเดิมยิ่งกว่าซีดีเถื่อน แผ่นเถื่อนอะไรตรงนี้อีก เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับตัวครับผม เจ้าของสิทธิ์ทางญี่ปุ่นเองก็ต้องมีการปรับตัว แต่เขาก็มองแหละว่าทำไมประเทศอื่น ๆ ปัญหาลิขสิทธิ์มันไม่หนักหน่วงเท่ากับประเทศไทยละ โอเค เรื่องกฎหมายก็เป็นส่วนหนึ่ง เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจจะที่่ผ่านมา ผมเชื่อว่าแฟน ๆ วันพีชหลาย ๆ คนที่ดูลิงก์เถื่อน บางทีก็มีคนมา Attack ว่าเขาไม่ใช่แฟนวันพีชจริงหรอก ผมเชื่อว่าจริง ๆ เขาก็เป็นแฟนวันพีชนะ แต่ที่ผ่านมาไม่ทราบว่าการดูลิงก์เถื่อนมันผิดยังไงแล้วมันทำลายลิขสิทธิ์ยังไง แล้วมันทำร้ายกับภาพรวมอุตสาหกรรมยังไง เพราะผลกระทบในการหยุดพักการพากย์ กระทบอุตสาหกรรมไปจนถึงนักแปล นักพากย์ นักตัดต่อทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเลยจากการดูลิงก์เถื่อนต่าง ๆ

เพราะฉะนั้นก็เลยมองว่าแบบนั้นพวกเราก็ต้องปรับตัวกัน อย่างเราก็ยืนยันวาเรายังอยู่ในวงการการ์ตูนอยู่ แต่อย่างวันพีชก็ยังมี Subtitle อยู่ แต่ว่าการพากย์ไทยบางเรื่องเราก็ต้องปรับตัวว่าถ้าถึงจุดที่พากย์ไทยมันไม่คุ้มทุนเราก็อาจจะต้องหยุดพักพากย์ไทยในส่วนของตรงนี้ แต่ว่าถ้าวันนึงคนกลับมาดูมากเพียงพอ ผมผูกพันกับวันพีชอยู่แล้ว หรือว่าหลาย ๆ เรื่อง แต่เราก็อยากจะทำการ์ตูนให้เข้าถึงทุกกลุ่มทุกวัย ซึ่งการพากย์คือคำตอบของการเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ดีนะครับผม เพราะว่าการอ่านศัพท์ผมก็เข้าใจ ถ้าเด็กเล็กอาจจะยังไม่เคยชิน หรือว่าอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการอ่าน Subtitle ด้วย”

ค่าพากย์ แพงแต่ก็ยังทำ เพื่อเข้าถึงแฟนคลับทุกคน

นพเล่าถึงค่าใช้จ่ายในการพากย์การ์ตูนแต่ละตอนด้วยว่า “คือทุกเรื่องต่างกันหมดมาก ๆ เลยครับ คืออันนี้อาจจะพูดเป๊ะ ๆ ของแต่ละตอนลำบาก เพราะว่าแต่ละเรื่องนักพากย์ต่างท่านกัน ซึ่งแต่ละท่านอาจจะมีเรตที่ไม่เท่ากันของแต่ละ Type ของชนิดหนังนะครับ แต่ว่าเกริ่นคร่าว ๆ ได้ว่างานพากย์ราคาสูงกว่างานทำ Subtitle หลายเท่าตัวครับ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมี 3 เท่าขึ้นไป อย่างน้อย ๆ สุด กับการทำ Subtitle 1 ตอน

เพราะการทำ Subtitle 1 ตอนคือคนแปลบท และคนตัดต่อนะครับ แต่พากย์แปลมันคือ Process ที่ต้องมีการเปิดห้อง พากย์แปล ยิ่งสถานการณ์โควิดตอนนี้ สมัยก่อนการลงเป็นทีมที่มี 10 ทีม 10 ท่าน มาลงพร้อมกันได้ ปัจจุบัน Social Distance 1 ท่าน 1 Switcher เวลาการทำงานทุกอย่างมันต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นแน่นอนนะครับ”

เนื้อหาการ์ตูน สำคัญกับการคัดสรรลงแต่ละช่องทาง

นพยังเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปที่การ์ตูนบางเรื่องต้องลงทีวี หรือบางเรื่องต้องลงออนไลน์เอาไว้ว่า “แต่ละเนื้อหาการ์ตูน ถ้าพูดถึง 24 ช่อง เราเคย Push สูงสุดที่ร่วมมือกับช่องต่าง ๆ 8 จาก 24 ก็คือ 1 ใน 3 นะครับ ย้อนไปยุคแรก ๆ คอนเทนต์มากมาย ทุกคนพยายามทำการ์ตูนหมด แต่จริง ๆ แล้ว ช่องที่โฟกัสทำการ์ตูน ณ ปัจจุบันก็มีไม่กี่ช่องนะครับ  แล้วก็มีแบรนด์ทางเลือกอย่าง ถ้ายุคย้อนไปสมัยก่อน ก็อย่างไอทีวี ที่มีการ์ตูนคลับเราก็ร่วมด้วย ปัจจุบันคือถ้า Time slot ของการ์ตูนอาจจะมีช่องไม่ได้มากขนาดนั้นที่เปิดรับเนื้อหาการ์ตูนสำหรับการลงช่องดิจิทัลทีวี

เพราะฉะนั้น จริง ๆ เราเปิดโอกาสความร่วมมือ แต่แน่นอน เราก็ต้องเคารพช่อง 9 อสมท. เป็นแบรนด์ที่เราร่วมก่อตั้งมา แล้วก็คอนเทนต์การ์ตูน คือด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน Rate Card โฆษณาทางทีวีมันก็มีการลดราคาลงอย่างมาก จากก่อนยุค 4 ช่อง แน่นอน จาก 4 เป็น 24 แล้วปัจจุบันก็เหลือ 17 แล้วก็เนื้อหาการ์ตูน เพื่อให้เข้ากับช่วงเวลา มันก็จะต้องมีการบริหารแล้วแหละ จริง ๆ การ์ตูนหลายๆ เรื่องอาจจะไม่เหมาะกับช่วงเวลา 8-10 โมงเช้า ทำให้การ์ตูนบางเรื่องทำไมลง VOD Platform เลย ไม่มีการลงทีวี ทั้ง ๆ ที่มีกระแสอย่างดังมาก ๆ

ยกตัวอย่างเรื่องนี้ ถึงแม้การ์ตูนคลับไม่ได้ถือลิขสิทธิ์ แต่ว่าผมก็เป็นแฟนเรื่องนี้อยู่อย่าง “ผ่าพิภพไททัน (Attack On Titan)” เป็นการ์ตูนที่สนุกมากครับ แต่เนื้อหาการ์ตูนเรื่องนี้ ผมมองว่ามันเป็นการ์ตูน จริง ๆ อาจจะมากกว่า 15+ ด้วยซ้ำแหละ เพราะว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เยาวชน อย่างไรก็ตามก็ “ไม่ควรเอามาลงช่อง 9 การ์ตูน” แหละครับ ถ้ามี Time Slot เหมาะสม คือสมมติถ้ามีคนพร้อมจะร่วมมือ แต่อาจจะต้องเป็น น. 18+ คือเราต้องเข้าใจกันว่าช่อง 9 การ์ตูนคือไม่ใช่คอนเทนต์สำหรับเด็กเสมอไป การ์ตูน Attack On Titan เป็นตัวอย่างที่ดีที่นำเสนอออกมาในรูปแบบการ์ตูน แต่จริง ๆ เนื้อหาคอนเทนต์หนักมาก มีความเป็นผู้ใหญ่ไป

จริง ๆ ญี่ปุ่น Time Slot ที่นิยมแบบสล็อตอย่างนี้ เวลาตี 1 ก็มีความนิยมสูงมาก ซึ่งเราคิดว่าการ์ตูนไม่จำเป็นต้องเป็นเวลา 8-10 โมงเช้าวันเสาร์ – อาทิตย์เสมอไปนะครับ เพราะฉะนั้นจริง ๆ เราพร้อมเปิด อย่างยกตัวอย่าง ดาบพิฆาตอสูร การ์ตูนคลับถือลิขสิทธิ์ Free TV อยู่นะครับ Exclusive เราออกอากาศ VOD ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมเรายังไม่ลงช่วงเวลาการ์ตูนละ จริง ๆ ดาบพิฆาตอสูรผมก็มองว่าไม่น่าเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กเล็กนะ คือเป็นการ์ตูนที่มีความรุนแรงอยู่พอควรแหละ เพราะฉะนั้น คิดว่าก็ตามนโยบายเราตลอดที่เกริ่นมาว่าการ์ตูน คือพ่อแม่ต้องฝากเด็ก ๆ ไว้ที่หน้าจอกับแบรนด์ช่องการ์ตูนคลับได้ เราก็เลยคิดว่าช่วงเวลาตอนเช้าคงยังไม่เหมาะกับตอนนี้ เราก็เปิดโอกาสหาพาร์ทเนอร์ที่จะหาช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ Type ของช่องต้อง Match กับ Type ของการ์ตูนด้วยเช่นกัน

อย่างถ้าถามว่า Attack On Titan มีทีวี มีสถานีโทรทัศน์ที่เหมาะอย่างช่องวัยรุ่นจ๋า ๆ อะไรจ๋า ๆ อะไรพวกนี้เนี่ย ผมคิดว่าเหมาะกับการ์ตูน Type Attack On Titan “แต่ไม่ใช่แบรนด์ช่อง 9 การ์ตูน” ประมาณนี้ครับ ก็เลยคิดว่าอย่างปัจจุบันทำไมว่าเนื้อหาการ์ตูน ด้วยความที่ Time Slot เป็นตรงนี้ กลุ่มคนดูปัจจุบันเป็นประมาณนี้ การ์ตูนที่ลงในทีวีเลยจะมี Type ที่ค่อนข้างชัดอยู่ว่าเป็นการ์ตูนสำหรับกลุ่มไหนนะครับ”

นอกจากนี้นพยังเสริมถึงเรื่องของการเซ็นเซอร์การ์ตูนด้วยว่า “ช่วงเวลาของการ์ตูนเช้าเสาร์-อาทิตย์จะเป็นช่วงเวลา ด. 6+ เพราะฉะนั้นตามกฎเซ็นเซอร์ของช่วงเวลาตรงนั้น การเซ็นเซอร์เลยจำเป็นจะต้องมีเยอะกว่าช่วงเวลา ท.ทั่วไป ปกติ ถ้าในเรื่องของเซ็นเซอร์นะครับ เนื่องจากการ์ตูนถูกจัดในช่วงเวลาที่ออกอากาศเหมาะสมสำหรับเด็กครับ แต่ส่วนตัวถามว่าการ์ตูนที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สุด มีไหม? มีครับ การ์ตูนที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่อย่าง Attack On Titan นี่แหละครับ”

พยายามปรับตัว ทำการตลาด แต่เงินจากลูกค้ากลับถูกรัดเข็มขัด ซัดด้วยโควิด-19

นพเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การปรับตัวตอนนี้เพิ่มเติมว่า “ก็ต้องยอมรับว่าต้องมีการรัดเข็มขัดด้วยงบประมาณลูกค้า ซึ่งก็เข้าใจลูกค้าเลยครับ ด้วยสถานการณ์โควิดตอนนี้กำลังซื้อทุกอย่างมันถดถอยลงนะครับ งบประมาณ พอกำลังซื้อยอดขายลดลง งบโฆษณาเป็นงบแรก ๆ ที่โดนตัดจากทางลูกค้าอยู่แล้วนะครับ เข้าใจเขา เพราะว่าด้วยสถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยมันลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ลูกค้าได้สนับสนุนน้อยลง เราก็จะต้องมีการบริหารต้นทุนที่ใช้งบซื้อคอนเทนต์น้อยลงแหละครับผม ถ้ามองมาเป็นทอด ๆ ในส่วนของตรงนี้นะครับ

เพราะฉะนั้น เกิดเคสตรงนี้ขึ้น งบประมาณสนับสนุนน้อยลง เคสของวันพีชพากย์ไทย ก็เลยเป็นอีก 1 สาเหตุที่เกิดขึ้นด้วย ด้วยยอดวิวที่น้อยลง ถ้ายอดวิวเราดีเยอะมากเพียงพออยู่ ยังไงลูกค้าเราก็คิดว่า เราก็ยังคุ้มค่าในส่วนของตรงนี้ด้วยอยู่แล้วครับ ก็คือมีการปรับตัว พยายามไปอยู่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ แบรนด์การ์ตูนคลับของเราจากที่แบรนด์นี้ จริง ๆ ก่อตั้งมา ถ้าชื่อการ์ตูนคลับที่ผูกกับเราก็คือแบรนด์นี้เริ่มต้นมาในนามที่เป็นไอทีวีการ์ตูนคลับนะครับ เป็นช่วงเวลาของเรากับช่องไอทีวีในยุคที่เป็นทางเลือกที่รับชมช่องการ์ตูนอีกช่องหนึ่ง แล้วก็พลิกมาเป็นแบรนด์สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องการ์ตูน ถ้าดาวเทียม ฝั่งของการ์ตูนญี่ปุ่นที่ฟรี ณ ปัจจุบันปรับมาเป็น IPTV แล้ว ก็มีเราที่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นช่องเดียวเพราะว่าอีก 2 ช่องทางเลือก Toonee ก็เป็นการ์ตูน Western หรือว่า Boomerang ก็เป็นการ์ตูน Western นะครับ

แต่การ์ตูนคลับเราก็ยังยืนยันจุดยืนว่าเราคือผู้บริหารลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ที่จะต้องไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มให้ได้ครับ เพราะฉะนั้น ภาพยนตร์เราก็ขยายไปทำ ขยายไปทำลิขสิทธิ์ Merchandise บริหารลิขสิทธิ์ให้เจ้าต่าง ๆ เช่น CARNIVAL ขายลิขสิทธิ์ในการนำ Merchandise นารูโตะมาร่วม Collab กับแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ นะครับ แบรนด์ขนมอย่างเช่น บิ๊กวันกับขบวนการ 5 สี ซึ่งเราถือลิขสิทธิ์ Sentai แบบถูกลิขสิทธิ์ในไทยอยู่นะครับ ก็ต้องปรับตัวกันอย่างมาก แล้วก็มีการปรับมาเป็นระบบ IPTV ด้วยความที่ ณ ปัจจุบันนี้กล่อง IPTV ก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ Plug & Play ด้วย เราก็ต้องปรับตัวเราเองมาเป็นแบบนั้น”

การ์ตูนไทยจะโกอินเตอร์ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน

นพเล่าถึงความร่วมมือในการผลักดันการ์ตูนไทยเอาไว้ว่า “การสนับสนุนในส่วนของอุตสาหกรรมก็เกี่ยวด้วยนะครับ จริง ๆ การ์ตูนคลับของเราพร้อมสนับสนุนการ์ตูนไทยตลอด เราก็พาร์ทเนอร์กับ TACGA – Thai Animation and Computer Graphic Association นะครับ แล้วก็อย่างที่ผ่านมา ทางคุณนัทก็มีไป Pitch โปรเจ็กต์แอนิเมชั่นไทยเพื่อหานักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาก็มีสำเร็จไปแล้ว 1 โปรเจ็กต์ คือ “Hey Buddy” น่าจะได้เห็นแอนิเมชั่นเร็ว ๆ นี้แหละ ก็ได้นักลงทุนจากอินเดียมาร่วมลงทุนกับโปรเจ็กต์แอนิเมชั่นไทย

คือเรามองว่าเราก็การันตีเปิดโอกาสเพราะช่องการ์ตูนคลับของเราก็จะเป็นช่องทางออกอากาศที่พร้อมสนับสนุน เป็นช่องทาง Penetrate นำเสนอออกไปในสื่อของทางเลือกเราว่าการ์ตูนแต่ละเจ้าแตกต่างครับ แต่เราคิดว่าสำคัญที่สุดเลยคือเงินลงทุน และความพร้อมของอุตสาหกรรมที่ถ้าทางภาครัฐมีการสนับสนุน อย่างเช่นเกาหลีคือต้องให้เครดิตเขามาก ๆ เลย ว่าเป็นระบบอุตสาหกรรมที่พร้อมจะสนับสนุน พร้อมให้คำปรึกษาด้านการออกลิขสิทธิ์ ด้านการออกอะไรทุก ๆ อย่างนะครับ คือทุก ๆ อย่าง ในส่วนของการ Support จากภาครัฐก็สำคัญ การศึกษาด้านแอนิเมชั่น เรามีแอนิเมชั่นฝีมือเราไม่แพ้ที่ใดในโลกหรอกครับ แต่ว่าการ Support ในส่วนของภาครัฐ ในส่วนของเม็ดเงินลงทุน ทุก ๆ อย่างเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเพราะว่าเราก็ได้เห็นเคสของที่เกาหลีเขาพัฒนาคอนเทนต์ จาก 20-30 ปีที่แล้ว K-CONTENT เขายังแทบไม่มีอะไรเลย เขาก็พัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power มาได้ถึงขั้นนี้นะครับ แต่ว่ายืนยันว่าการ์ตูนคลับพร้อมเป็นแรงสนับสนุนสิ่งนั้นแน่นอน และเราก็ดีใจ ภูมิใจว่าโปรเจ็กต์ที่เราสำเร็จในการหาเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศแล้ว ก็คือเป็นโปรเจ็กต์แอนิเมชั่นไทยแท้ ที่ร่วมกับในส่วนของทาง Big Brain Studio ในส่วนของตรงนี้ครับ”

อนาคตของการ์ตูนคลับ ถ้าให้มองอีก 10 ปี?

นพตอบคำถามนี้ว่า “การ์ตูนคงยังเป็น Core ของเราแน่นอน เพราะยังไงคนเสพการ์ตูนอยู่แล้ว แต่ว่าจะไปใน Platform ไหน ยังไงก็ต้องมองว่าอนาคต Platform ไปในทิศทางไหน เราพร้อมปรับตัว เพื่อให้เข้ากับทุกยุคทุกสมัย ให้เข้ากับทุกแพลตฟอร์ม และพร้อมต่อสู้เพื่อการ์ตูนให้มีที่ยืนในสังคมไทย เพราะว่าเราเชื่อมาตลอดเวลา 30 ปีที่เราทำการ์ตูนมาตลอดแล้วแหละ คืออย่างเมื่อก่อนดีใจเลย ดีใจมาก ๆ ที่สิ่งนี้มันเริ่มหายไปกับคำว่า “การ์ตูนคือสิ่งมอมเมาเยาวชน” เมื่อก่อนสิ่งนี้โดน Attack หนักมากยุค 10 – 20 ปีก่อน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คงแทบจะหายไปละกับคำว่าการ์ตูนมอมเมาเยาวชนนะครับผม ทุกวันนี้ก็มารณรงค์อีกอย่างที่ยากกว่าคือการละเมิดลิขสิทธิ์ลิงก์เถื่อน เพราะมันก็คือคอนเทนต์ที่ทางเลือกและเราก็พิสูจน์มาตลอด 30 ปี ว่าเราสามารถสร้าง Impact ที่ดีกับสังคมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การ์ตูนจะเป็นหัวใจหลักคอนเทนต์เรา แต่ว่าจะไปออกอากาศในรูปแบบไหน ทางไหน ทางออกอากาศหรือเปล่า หรือว่าทาง VOD ใน Platform ไหนก็พร้อมปรับตัวเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมคอนเทนต์ด้านนี้ๆ ได้ในไทย แล้วก็พยายามจะเป็นทางเลือกที่พร้อมที่สุดสำหรับผู้ชมตลอดเวลาครับ”

“ธนพ ตันอนุชิตติกุล”

ทัศนคติคนดูการ์ตูนเมื่อ 30 ปีก่อนถูกพังไปแล้วเรียบร้อย เพราะใครๆ ก็เข้าถึงได้

นพยังเล่าถึงแนวคิดว่าการ์ตูนมอมเมาเยาวชนให้ฟังเพิ่มว่าในปัจจุบันมองอย่างไรบ้าง? “คือเหมือนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ อย่างเมื่อก่อนคือคนมองว่าการ์ตูนคือสำหรับเด็ก เหมือนโตแล้วทำไมยังดูการ์ตูนอยู่ เมื่อก่อนมันมีคำพูดอย่างนี้เยอะมากครับ “โตแล้วทำไมยังดูการ์ตูนอยู่อีก” แต่จริง ๆ แล้วผมคิดว่าถ้าเราพัฒนามาถึงจุดที่การ์ตูนคือทางเลือกรับชมที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยจริง ๆ เห็นผลได้อย่างใน Netflix นะครับผม TOP10 Thailand เห็นการ์ตูนโดดเข้ามาอยู่ใน Netflix หลาย ๆ ครั้งเลยซึ่งดีใจที่ได้เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ เหมือนเมื่อวาน (2 มิ.ย. 2564) My Hero Academia ก็ติด TOP10 เหมือนกันนะครับ

ซึ่งผู้ชม Netflix เท่าที่ทราบกัน ที่จะติด TOP10 ได้คงไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียวตรงนี้ เพราะฉะนั้นคนเปิดรับการรับชมการ์ตูนเป็นทางเลือกของคอนเทนต์ เพราะว่าการ์ตูนคืออีก 1 แขนงในการนำเสนอ เนื้อหาคอนเทนต์นั้นแหละอาจจะออกมาในรูปแบบของการ์ตูน อย่างที่เรียนแหละครับผม Attack On Titan น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีคือการ์ตูนสนุก เนื้อหาดีมาก แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กนะครับผม และผมก็ไม่แนะนำให้เด็ก 4-14 ปีดูเรื่องนี้นะ ผมว่าเนื้อหามันรุนแรงเกินไปจริง ๆ เนื้อหามันหนักเกินไปสำหรับเด็กนะครับ

เพราะฉะนั้น การปรับเปลี่ยน ผมว่าคำว่าโตแล้วทำไมดูการ์ตูน คำนี้เริ่มจะไม่มีแล้ว เพราะว่าบางคนเขาก็บอกว่าดาบพิฆาตอสูรเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่งั้นคงไม่ทำรายได้เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสูงสุดตลอดกาล ก็คือดูทุกเพศทุกวัยเห็นปรากฏการณ์คุณพ่อ คุณแม่ มาดูการ์ตูนเป็นเพื่อนเด็ก ๆ ด้วย อย่างช่องการ์ตูนคลับ สมัยที่เราวัดเรตติ้งใน Nielsen ตอนเป็น Satellite TV ก็คือติด Channel Ranking ทุกกลุ่มอายุ ไม่ใช่แค่ 4-14 เพราะฉะนั้นเรามองว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนแล้วครับผม เปิดรับว่าการ์ตูนไม่ใช่แค่สำหรับเด็กนะ และการดูการ์ตูน ก็คือการดูคอนเทนต์เหมือนคนชอบดูซีรีส์ เหมือนคนชอบฟังเพลง K-DRAMA, K-CONCERT ฟัง J-POP ฟัง K-POP แต่ละอย่างก็เหมือนอีกอย่างหนึ่ง ก็ผมเป็นคนชอบดูการ์ตูน อย่างผมก็พูดได้เต็มปากว่าผมเองก็เป็นคนชอบดูการ์ตูนมาก ๆ แล้วผมโตมากับการ์ตูน ยังไงผมก็ผูกพันกับการ์ตูน ก็คือเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบดูการ์ตูนคนนึง”

การ์ตูน คลับ แชนแนล

การ์ตูน 5 เรื่องที่ “นพ ช่อง 9 การ์ตูน” แนะนำให้ดู!!!

Infographic : ทินวุฒิ ลิวานัค

ใครก็ตามที่ยังคิดการ์ตูนที่ยังดูไม่ออก คุณนพบอกลิสต์การ์ตูนเอาไว้ให้ดู เผื่อว่างๆ จะดูรวดเดียวจบไปเลย โดยคุณนพแนะนำการ์ตูนที่น่าสนใจ ได้แก่ “วันพีช, นารูโตะ, ดิจิม่อน (คุณนพบอกว่าเป็นตัวที่ทางเขากับพี่นัทได้มีโอกาสเป็นเหมือนตัวแทนของดิจิม่อนในไทยด้วย) นอกจากนั้นคือ ดาบพิฆาตอสูรนะครับ ยุคใหม่ก็คือการเปลี่ยนถ่ายแต่ละยุคสู่ยุค แล้วก็อีก 1 เรื่อง ไม่งั้นจะกลายเป็นการ์ตูนสไตล์โชเน็นอย่างเดียวเลย ก็คือผมก็ต้องพูดให้เต็มปากเลยว่าผมเป็นแฟน Attack On Titan ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถือลิขสิทธิ์เรื่องนี้เอง แต่ว่าก็เป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ครับ”