fbpx

จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน : ช่องวัน 31 ในวันที่ข่าวคือน่านน้ำสีแดง

ถ้าใครได้ดูช่องวัน 31 อยู่บ่อย ๆ ในช่วงวันธรรมดาหลัง 4 โมงครึ่งไปแล้ว หรือถ้าเป็นช่วงท้ายสัปดาห์ก็วันศุกร์ช่วง 1 ทุ่มตรง คงจะคุ้นหน้ากับชายหนุ่มที่มีลีลาในการจัดรายการที่โดดเด่น และมีฝีปากที่คมคาย อย่าง “จั๊ด – ธีมะ กาญจนไพริน”

บุคลิกสนุก ๆ แบบนี้ ย่อยเรื่อยากให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายได้ในบางทีแบบนี้ ใครจะคิดว่าเขาคนนี้เข้ามาสู่วงการข่าวได้เพราะความ “บังเอิญ” จากการได้รับโอกาสในการจัดรายการ “ฟ้าทะลายโจร” ทางช่อง “บลูสกายแชนแนล” (หรือ “ฟ้าวันใหม่” ในเวลาถัดมา) ซึ่งเขาได้รับโอกาสจากการที่มีคนเห็นแวว หลังจากจั๊ดจัดรายการ “จั๊ดจัด” บนยูทูบเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในยุคสมัยนั้น

การจัดรายการฟ้าทะลายโจรก็ทำให้เขาได้ค้นพบว่าตัวเขานั้นคงจะถูกโฉลกกับการอ่านข่าวซะยิ่งเสียกว่างานอื่น ๆ แต่เมื่อเขาต้องมาทำงานในทีมข่าวที่เป็นทีมข่าว “จริง ๆ” เขาก็ค้นพบว่าวิธีการทำข่าวนั้น “ซับซ้อน” กว่าที่เขาเคยทำมาก่อนหน้านี้ และมีอะไรมากกว่านั้น สิ่งที่เขาเคยทำ หรือคิดว่าไม่ต้องทำก็ได้ในช่องฟ้าวันใหม่ ก็อาจทำไม่ได้ หรือจำเป็นต้องทำในทีมข่าวของช่องวัน

จนมาถึงวันที่เขาได้รับหน้าที่ในการจัดรายการ “ข่าววันศุกร์” ซึ่ง “จุดเด่น” ของเขาถูกเปิดเผยมาในวันนี้ การตรวจสอบตำรวจนั้นทำให้เขาได้เสริมลีลาในการนำเสนอในหลายรูปแบบสุดแปลกประหลาด จนสามารถสร้างมีมได้ ใครจะไปคิดหละว่า ผู้มีลีลาและคารมที่คมคายคนนี้ วันนี้เขาจะกลายมาเป็นพิธีกรข่าวขวัญใจมหาชนอีกคนหนึ่งในปัจจุบันนี้

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจั๊ดจะดูแลข่าวทั้งหมด 5 รายการ ทั้งรายการบนช่องวัน 31 ได้แก่ “ข่าวเที่ยงช่องวัน”, “ข่าวเย็นช่องวัน”, “ข่าวค่ำช่องวัน” และ “ข่าววันศุกร์” รวมไปถึงรายการออนไลน์อย่าง “จั๊ดอยากรู้” แต่จั๊ดก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด และลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านทางหน้าจออยู่เสมอ ๆ วันนี้ส่องสื่อจึงขอมาคุยกับจั๊ดถึงเส้นทางตลอดหลายปีในวงการข่าวกัน มาติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย

ทำไมถึงอยากเริ่มต้นทำงานข่าว?

“อยากอ่านข่าวเพราะอะไร เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ตอนแรกไม่คิดไม่ฝันว่าตัวเองจะได้มาอ่านข่าวเลย จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์จับพลัดจับผลูให้ตัวเองเนี่ยได้มีโอกาสไปจัดรายการข่าว ซึ่งเป็นรายการข่าวช่องดาวเทียมคือช่อง “บลูสกายแชนแนล” (หรือ “ฟ้าวันใหม่” ในปัจจุบัน) นะครับ แล้วพอได้อ่านข่าวในช่องบลูสกายแชนแนล ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่เลือกข้าง ณ ตอนนั้นนะ เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมซึ่งทุกคนก็รู้กันดีอยู่ว่าสถานการณ์ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร คงไม่ต้องให้เล่าย้อนให้ฟังว่ารายละเอียดเป็นยังไง เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น

พอเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้นปั๊บเนี่ย มันก็กลายเป็นว่าผมกลายเป็นคนที่เหมือนชอบเล่าข่าว เริ่มมีความรู้สึกกับการเล่าข่าวขึ้นมา โดยเฉพาะการเล่าเรื่องยาก ๆ ให้มันกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ผมก็ไม่รู้นะว่าคุณผู้ชมจะรู้สึกง่ายหรือเปล่า? แต่ว่าก็พยายามที่สุดที่จะทำให้เรื่องยาก ๆ เหล่านั้นมันกลายเป็นเรื่องง่าย แล้วก็เล่าทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน จนกระทั่งกลายเป็นเหมือนอาชีพหลัก แล้วกลายเป็นสิ่งที่เหมือนกับพอไปเรื่อย ๆ ปั๊บ ได้มีโอกาสกลับไปแสดงละคร เคยกลับไปแสดง เป็นทั้งพิธีกรอีเวนต์ด้วย ก็เคยเหมือนกัน แต่มันกลายเป็นว่าพอเรามาประกาศข่าวทุกวันเข้า จริง ๆ แล้วความถนัดของเรามันอยู่ที่การประกาศข่าวมากกว่า

คือถ้าตอนนี้จะให้เล่นละคร หรือว่ากลับไปทำพิธีกรอีเวนต์ ถามว่าทำได้ไหม? มันก็ทำได้ครับ แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดที่สุด กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เราถนัดที่สุดคือนั่งอยู่หน้าจอแล้วก็อ่านข่าวครับ”

ความแตกต่างระหว่างข่าวช่องวัน กับข่าวของช่องอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง?

“คือถ้าสมมติว่าจะให้ตัวผมนิยาม คือผมรู้สึกว่าข่าวของช่องวัน 31 เป็นข่าวที่พยายามที่จะบาลานซ์ระหว่างข่าวที่ผู้คนรู้สึกสนใจอยู่ในวันนั้นหรือว่าเป็นข่าวที่สร้างเรตติ้งได้ กับสิ่งที่เป็นข่าวที่ควรจะรู้ คือยังไงก็ต้องรู้ แม้ว่าคนไม่สนใจนะ แต่ว่าเราก็มีเวลาสำหรับข่าวเหล่านั้นให้รายงานกันด้วย ไม่ใช่ว่าทั้งหมดของเวลาข่าวที่สถานีมีจะต้องทุ่มเทไปให้กับข่าวส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะ

อย่างเช่นเราจะมานั่งเล่าข่าว Hard News อย่างเดียวเลยตลอดทั้งเวลาที่รับมาจาก กสทช. จัดสรรว่าในแต่ละวันจะต้องมีข่าวกี่ชั่วโมง แล้วเอาข่าวแบบฮาร์ด ๆ ทั้งนั้นมาเล่า โดยที่ไม่ได้สนใจหรือว่าคำนึงถึงตัวคุณผู้ชมของช่องที่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้อยากเสพข่าวลักษณะแบบนั้นทั้งวันนะ มีพื้นที่ตรงนั้น หรือถ้าจะให้เราทุ่มเทน้ำหนักทั้งหมดให้กับข่าวของดราม่าเพียงอย่างเดียว แล้วเล่ายาวเป็นชั่วโมง เราก็ไม่เอาอีก มันเลยเกิดจากการผสมกัน พยายามจะให้ลงตัวระหว่าง 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือฝั่งที่เข้าใจแหละว่ามันดราม่านะ มันเรียกเรตติ้งได้ เราให้พื้นที่ตรงนั้น อีกส่วนนึงก็คือแม้มันอาจจะไม่มีดราม่า แต่ว่าคุณควรรู้นะ เป็นข้อมูลที่สำคัญ อาจจะย่อยยากสักหน่อย เราก็ให้พื้นที่ตรงนั้นด้วย คือบาลานซ์กันให้ได้ประมาณนั้นครับ”

แล้วสไตล์ใน “ข่าววันศุกร์” เกิดขึ้นได้ยังไง?

“ย้อนกลับไปตอนแรก ๆ เลยที่ทำข่าววันศุกร์ ในครึ่งปีแรกมันเป็นคล้าย ๆ กับการรายงานข่าวที่บลูสกาย (หรือฟ้าวันใหม่) เพราะว่าเรายังทำงาน 2 ที่ซึ่งมันทับกันอยู่ ก็ยังหาสไตล์ของตัวเองไม่เจอว่ามันจะต้องควรเป็นอย่างไร แต่คราวนี้พอทำข่าววันศุกร์ไปได้สักประมาณน่าจะครึ่งปีเห็นจะได้ แล้วมันก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในวันนึงที่ผมเล่ากับการตรวจสอบตำรวจว่าตำรวจคนนี้เป็นตำรวจจริงหรือว่าตำรวจปลอม แล้วผมก็ใช้เว็บไซต์ที่ตรวจสอบในโทรศัพท์มือถือ

ตอนตรวจสอบก็ตรวจสอบท่านอดีต ผบ.ตร. คุณจักรทิพย์ ชัยจินดา พอพิมพ์ปั๊บ ปรากฏว่าระบบมันดัน ERROR หน้าจอมันก็ขึ้นคำว่า ERROR แล้วตัวกล้องมันซูมอยู่ที่หน้าจอพอดี แล้วผมก็พูดว่า ERROR ครับ คนก็ขำกัน เราได้ยินเสียงตอบรับเบื้องตันจากคนในสตูดิโอก่อนว่า “มันขำ” คือมันเป็น Shot ที่เราไม่ได้หวังไว้ว่ามันจะให้มันขำไง มันเป็น Shot ที่จะลองคุณผู้ชมว่า โอเค กดเข้าไปในนี้ ตรวจสอบว่ามันเจอนะ แต่มันดันไม่เจอ มันกลายเป็นความขำ พอมันกลายเป็นความขำปั๊บ มันก็มี Feedback คือคนก็เอาไปแชร์ต่อในโลกออนไลน์เยอะพอสมควรนะ

หลังจากนั้นมามันก็เลยทำให้เราจับจุดได้ว่าถ้าจะทำการเล่าข่าวให้มันแตกต่างจากที่เดิมที่เราเล่าข่าวอยู่ สิ่งที่ทำให้แตกต่างได้ก็คือมันมีความบันเทิงอยู่ในนั้นด้วย มันไม่ใช่ความบันเทิงแบบที่เราดู อย่างเช่นการดูซิตคอม หรือว่าละคร มันเป็นความบันเทิง มันคือความสนุกสนานที่อยู่ในรายการข่าวมากกว่า เพราะว่ารายการข่าววันศุกร์มันคือการเล่าข่าวในแต่ละสัปดาห์ และพอข่าวนั้นๆ มีสีสันอะไรบางอย่างให้เล่นก็จะเอาออกมาเล่น”

กระบวนการการทำงานใน “ข่าววันศุกร์” มันเริ่มต้นยังไงบ้าง?

“ถ้าเป็นกระบวนการทำงานล่าสุดที่เราใช้กันเนี่ย จุดเริ่มต้นมันก็จะเริ่มจากการประชุมข่าว การประชุมข่าววันศุกร์จะเกิดขึ้น 2 วันก่อนมีข่าววันศุกร์ ก็คือช่วงเย็นหลังจากจบข่าวเย็น คือ 6 โมงของวันพุธ กับ 6 โมงของวันพฤหัสบดี ในวันพุธเราก็จะมานั่ง Ref. List กันระหว่างคนในที่ประชุมว่ามันมีข่าวอะไรน่าเล่นบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะหาข่าวสักประมาณ 4 ข่าวเป็นหลัก 4 ข่าวนี้ยังไงก็ต้องเล่นแน่นอนในข่าววันศุกร์นะ ก็จะมานั่งหาเรื่องว่าในแต่ละสัปดาห์เราจะหาเรื่องอะไรมาเป็นเรื่องหลัก ซึ่งต้องเริ่มต้นวันพุธ

เนื่องจากว่าปกติแล้วเวลาหาเรื่องได้ปั๊บ มันจะต้องแตกรายละเอียดว่าในวันพฤหัสจะต้องส่งผู้สื่อข่าวไปที่ไหนบ้างหรือว่าทางกอง บก. นั้นจะต้องติดต่อแหล่งข่าว คือคนที่จะมาให้สัมภาษณ์ เราจะไปสัมภาษณ์เขาที่ไหน? หรือว่าจะสะดวกเป็นวิดีโอคอล หรือว่าจะสะดวกเป็นทางโทรศัพท์ ก็จะหาเรื่องกันให้ผ่านก่อนในวันพุธ แล้วก็แบ่งการบ้านกันไปทำ คนนึงทำข่าวนึง แล้วก็วันพฤหัสก็มาสรุปรวมว่าสิ่งที่ไปหาได้มานั้นเป็นยังไง แล้วก็มาจัดเรียงเป็น Rundown แล้วก็พอถึงวันศุกร์เราก็จะตามมาดูว่าบางทีมันอาจจะมีประเด็นไหนที่มันอาจจะเพิ่งเกิดขึ้นในวันศุกร์แล้วมันเด่นขึ้นมา เราก็ปั้นมันขึ้นมาใหม่เลย หรือว่าสิ่งที่เราหาเจอแล้วในวันพุธกับวันพฤหัส แต่ว่าในวันศุกร์มันดันมีความคืบหน้าสำคัญมา เราก็เอามันขึ้นมาใหม่เลย

หรือว่าในระหว่างที่ข่าววันศุกร์จะออกอากาศ มันก็มีเวลาอยู่อีก เพราะว่ากว่ามันจะออกอากาศ ก็ทุ่มนึงนะ ถ้าสมมติว่าเรานึกอะไรออกที่มันเกี่ยวกับข่าวนั้น ๆ แล้วมันมี Infographic เพิ่มเติม ทำได้ไหม? มันมีข้อกฎหมายบางข้อที่เกี่ยวข้องแล้วเราอยากจะหยิบยกมันขึ้นมาบ้างหรือเปล่า? เราก็สามารถสอดแทรกไปได้ แต่ว่าไม่ค่อยมีเลยที่อยู่ดี ๆ คิดประเด็นใหม่ขึ้นมาในวันศุกร์ แล้วก็เอาวันศุกร์เลย แบบนี้ยากมากที่จะเกิดขึ้น”

แล้วอย่าง “ข่าวค่ำช่องวัน” Process มันต่างกันไหม?

“Process มันต่างกันนะ เพราะว่าคือปกติแล้วในวันจันทร์-พฤหัสบดี ระบบในการจัดสรรข่าวมาทั้งหมดจะเป็นระบบของทางกอง บก. จะประชุมร่วมกัน แล้วก็จะจัดเรียงข่าวมาให้ว่าจะมีข่าวอะไรให้เล่าบ้าง อาจจะยกเว้นแต่เพียงว่ากระบวนการของ “จั๊ด ซัดทุกความจริง” กับกระบวนการของข่าวค่ำที่เพิ่งทำมาได้ประมาณสักสองสัปดาห์นี้เอง มันจะต้องแยกเป็น 2 รายการก่อน

ถ้าเป็นจั๊ดซัดทุกความจริง มันจะเกิดจากการที่ตัวผมแล้วก็ทีมงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งอันนี้จะเล็กกว่าข่าววันศุกร์ ก็จะช่วยกันหาประเด็นที่สามารถจะขยายได้ แต่ส่วนใหญ่มันจะมาจากความต้องการที่จะเล่าของผมมากกว่าว่าผมเล่าเรื่องนี้แล้วผมมีมุมอื่น ๆ ที่ผมจะเอามาประกอบ ก็จะตัดสินใจกันว่าจะเอาเรื่องนั้นในวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วจั๊ดซัดทุกความจริงเนี่ย มันจะคิดประเด็นได้ในวันนั้นเลยที่ออกอากาศ นาน ๆ ทีจะมีคิดได้ตอนคืนก่อนออกอากาศ เพราะว่าจั๊ดซัดทุกความจริงมันออกอากาศแบบ Daily แต่ข่าววันศุกร์เองเราสามารถไปเอาประเด็นที่เด่น ๆ ที่มันเกิดขึ้นในวันอังคารมาออกได้

ส่วนตัวข่าวค่ำก็มีการเปลี่ยนใหม่ แล้วก็เวลาในการออกอากาศ หรือว่าวิธีการเล่าเรื่อง ในการเลือกเรื่องมาออกอากาศจะเป็น กอง บก. เป็นหลักที่จะเลือกเรื่องมาเป็นข่าวนี้ และถ้าเหลือเวลามากพอสมควรที่พอจะให้ผมได้ต่อเติมอะไรสักอย่างที่ผมอยากจะพูดสัก 4 นาที ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของข่าวในพระราชสำนักในแต่ละวัน ถ้าวันไหนข่าวในพระราชสำนักมายาว ก็หมายความว่าข่าวค่ำบางทีเราอาจจะมีเวลาเหลือแค่ 3 นาทีต่อวัน ถ้า 3 นาทีต่อวันก็เป็นการเล่าข่าวปกติทั่วไป แต่ถ้าวันไหนข่าวในพระราชสำนักมาสั้น สมมติข่าวในพระราชสำนักมาสัก 10 นาที มีเวลาเหลืออยู่ประมาณสัก 14 นาทีที่เราพูดแบบนี้ 14 นาทีก็จะมีเวลาสำหรับข่าวพิเศษสักเรื่องหนึ่งที่อยากจะขยายให้คนรู้ นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นข่าวที่จัดเรียงมาตามสิ่งที่กอง บก. ร่วมกันตัดสินใจครับ”

อะไรที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้คนจดจำ “ข่าวช่องวัน” ได้?

“จุดเด่นที่คนจดจำ “ข่าวช่องวัน” ได้ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเก็บข่าวแบบทั้งสองฝั่ง ผมเชื่อว่าอย่างนี้นะ การเก็บข่าวทั้งสองฝั่ง คือตัวข่าวดราม่าก็ไม่ได้ขยี้จนหนักหนายาวนานมาก ๆ แล้วเราก็ยังให้เวลากับข่าวครบถ้วน ทุกประเด็น ขาดอยู่อย่างเดียวคือตัว “ข่าวกีฬา” ที่เราไม่ได้ไปแตะมันเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น เราแตะหมด ตัวข่าวต่างประเทศ ตัวข่าวบันเทิง ตัวข่าวการเมือง ถ้าวันไหนการเมืองเด่นจริง ๆ เราก็ขยี้นะ เราไม่ได้หมายความว่าเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่เล่นตัวของข่าวการเมือง วันไหนข่าวเศรษฐกิจมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเศรษฐกิจที่มันเกี่ยวข้องกับปากท้องของคน เราก็จะเน้น

อย่างถ้าย้อนกลับไปนิดนึง เช่นในข่าววันศุกร์กลายเป็นว่ามันมีพัฒนาการของมันนะ คือตัวผมเวลามีวิธีการคิดข่าว ผมจะชอบคิดในแบบมหภาคมาก ๆ คือคิดโครงการนี้เป็นแบบนี้ โครงการนี้มันเริ่มต้นมาจากตรงนี้ คือตัวผลกระทบตัวใหญ่มาก แต่ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่คนอยากดู เท่าที่ทำข่าววันศุกร์มาเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าสิ่งที่คนอยากดูไม่ใช่เรื่องที่มันเข้าใจยากขนาดนั้น พวกเราอยากจะอธิบาย มันเป็นเรื่องที่ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ มันขึ้นอยู่กับการหาเงินของเขาว่าเขาจะหาเงินได้มากกว่านี้ได้ยังไง สภาพเศรษฐกิจในตลาด ชีวิตของคนในชุมชนว่าพอเจอกับวิกฤตครั้งนี้แล้วเขาได้รับปัญหาอย่างไร มันเป็นแบบนี้มากกว่า

ผมว่าความเด่นของข่าวช่องวันเรา เราพยายามจะเอาประเด็นใหญ่ ๆ ไปจับให้คนตัวเล็ก ๆ รู้สึกว่าประเด็นเหล่านั้น มันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา เราเอาความเกี่ยวข้องกับตัวคนดูเป็นหลัก ให้ไปเกี่ยวกับประเด็นไหนก็ได้ จะเป็นประเด็นเล็กหรือเป็นประเด็นใหญ่ก็ได้ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเขา ให้เขาดูปั๊บแล้วเขารู้สึกว่ามันเป็นแบบนี้ มับเกี่ยวข้องกับกระเป๋าสตางค์ของเขา ผมจะพูดเสมอในข่าววันศุกร์ทุก ๆ สัปดาห์ตั้งแต่ออกอากาศมาในช่วงหลัง ๆ ในช่วงโควิดว่าเราจะเริ่มต้นกันในเรื่องของความเป็นอยู่ อาหารการกินของท่าน ที่อยู่อาศัยของท่าน อาชีพของท่าน การเรียนของลูกท่าน แล้วผมเชื่อว่าอันนี้เป็นเรื่องที่น่าจะผลักดันต่อไปให้กลายเป็นความเด่นของข่าวช่องวันเลยก็ได้ด้วย ซึ่งทุกวันนี้เราก็พยายามทำอยู่แล้ว

ภาพจำแบบว่าเวลาคนที่จะนึกถึง “ธีมะ กาญจนไพริน”?

“คนนึกถึงธีมะ กาญจนไพรินก็คงจะเป็นลีลาของการนำเสนอ น่าจะเป็นลีลาของการนำเสนอมากที่สุด เชื่อว่าเป็นแบบนั้นนะ ลีลาการนำเสนอว่าวันนี้คนรอดูว่าเราจะนำเสนอข่าวนี้อย่างไร เราจะนำเสนอข่าวนี้ในรูปแบบไหน เพราะคนก็คาดหวังว่าถ้าเปิดมาดูปั๊บ ก็คงจะไม่ได้เห็นว่าอยู่ดี ๆ เราจะมานั่งอ่านข่าวนี้แล้วก็จบไปแบบนี้ อันนี้ผมกำลังพูดถึงเรื่องโปรแกรมพิเศษต่าง ๆ นะครับ แต่ว่าลีลาปกติในข่าวปกติทั่วไปมันก็จะมีออกมาบ้าง แต่ว่ามันจะไม่จัดจ้านถึงขนาดข่าวช่วงพิเศษอย่างจั๊ดซัดทุกความจริงหรือว่าในรายการข่าววันศุกร์ที่เราตั้งใจที่จะ Create มันออกมาอีกแบบนึงในลีลาการนำเสนอครับ”

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ลีลาการนำเสนอข่าว หลายครั้งกลายเป็นมีมในออนไลน์?

“ก็รู้สึกดีใจ รู้สึกสนุกดีที่ภาพไปปรากฏแบบนั้นนะ” (มีอันไหนที่รู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษไหม?) “จริง ๆ แล้วอันที่อย่างอันล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไปก็คือมีอันที่เราทำเป็นหลับแบบนี้ แล้วกลายเป็นว่ามันคือการเอาไปเปรียบเทียบ คือเขาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องที่นายกออกมาแถลง แล้วนายกออกมาพูดชื่อวัคซีนมั่วไปหมด แล้วเขาก็เปรียบเทียบแหละว่าเวลาคนดูดูนายกแถลงเนี่ย คนดูง่วง อยากหลับเพราะมันน่าเบื่อมาก เขาก็เลยไปเอาหน้าผมตอนที่ผมรายงานข่าว แต่ตอนนั้นมันคือการรายงานข่าวย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังมี สนช. อยู่เลย แล้วก็หลับกันคอโยก คอเอนไปหมด

ตรงนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ผมอธิบายไปในหน้าเพจ Facebook ส่วนตัวของผมบอกว่า ต้องอธิบายกันว่าคือจริง ๆ แล้วผมก็เข้าใจว่ามันน่าเบื่อจริง ๆ อันนี้ผมทิ้งท้ายในโพสต์ของผม ลองตามไปย้อนดูได้นะ แต่ผมบอกว่าเฮ้ย ถ้าเอาไปใช้ในแบบที่มันถูกที่ ถูกเวลา คือผมทำแบบนั้น เพราะผมกำลังหมายความว่าแบบนั้นจริง ๆ อันนี้ผมไม่ว่า แต่ถ้าสมมติว่าอยู่ดี ๆ ดันตัดบางส่วนของผมไปแล้วเอาไปบิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งอันนี้ผมว่าไม่ใช่ คือถ้าผมกำลังพูดถึงเรื่องนี้อยู่แล้วมีคนเอาไปเผยแพร่ แล้วเป็นเรื่องนั้นอยู่ โอเค แต่ถ้าสมมติว่าผมกำลังพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งอยู่แล้วกำลังทำท่าทำทางอะไรบางอย่าง เอาไปบิดแล้วมันดันส่งผลกระทบกว้าง เพราะว่ามันไปกระทบต่อรัฐบาลแบบนี้ บางทีอาจเดือดร้อนนะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่เอาไปแปลผิดที่ผิดทางมากนักครับ คืออาจจะไม่รอดมากกว่าครับ (หัวเราะ)

อะไรคือหัวใจสำคัญของการดำเนินรายการข่าวในแต่ละวัน?

“สำหรับตอนนี้สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นหัวใจหลักที่ต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของความถูกต้อง เพราะจำนวนข่าวทุกวันนี้มันมีรายละเอียดเยอะมากนะ พอมีรายละเอียดเยอะมาก ถ้าเราตามมันไม่ครบถ้วนในแต่ละวัน มันอาจจะให้เราสื่อสารผิดไปได้ เพราะว่าหลัง ๆ บางทีมันเริ่มเกิดขึ้นพอสมควรที่เรารายงานไปปั๊บแล้วเรากลับไปดู ดูตัวเองว่าเรารายงานไป เอ๊ะ มันเป็นแบบนี้หรือเปล่า หรือว่าบางทีเรารายงานไปปั๊บ เรากลับไปบ้านไปนั่งดูข่าวช่องอื่น ๆ หรือว่าไปเปิดคลิปย้อนหลังดูรายการอื่น ๆ ที่เขาเล่าข่าวเดียวกับเรา แล้วเขาเล่าออกมา แล้วข้อมูลเป็นอีกแบบนึง แล้วปรากฏว่าเห็นคนแสดงความเห็นแล้ว เฮ้ย สิ่งที่เราเล่าไปมันผิดนี่หว่า มันผิดไปจุดหนึ่งบ้าง สองจุดบ้าง มันก็จะเกิดความรู้สึกเศร้าใจ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเรา ไม่ได้อ่านให้มันละเอียดแบบครบถ้วนหมดจดจริง ๆ ก่อนที่จะนำเสนอไป มันเลยทำให้บางทีมันพลาด”

มีวิธีการปรับตัวหรือทำการบ้านยังไงบ้าง?

“คือคงต้องใช้เวลาในการอ่านข่าวล่วงหน้าให้มากขึ้นเยอะกว่านี้ คืออ่านข่าวแบบครอบ ๆ นะ อ่านให้กระจายไปหมดเลย แม้กระทั่งข่าวที่ผมไม่อ่านเลย ผมยอมรับตัวเองอย่างนึงว่า ถ้าเป็นแต่ก่อนเลย ข่าวอาชญากรรมในแต่ละวันผมไม่อ่านเลย ก็คือพูดง่าย ๆ ว่ากอง บก. เขียนว่ายังไงผมก็จะเล่าตามไปแบบนั้นเลย เพราะว่าไม่ชอบ ส่วนตัวคือไม่ชอบอยู่แล้ว ข่าวอาชญากรรม

แต่ถ้าสมมติว่าเราจะมานั่งเป็นผู้ประกาศข่าวในรายการข่าวปกติที่ไม่ได้เป็นรายการพิเศษ มันก็ต้องเล่าข่าวทุกประเภท ดังนั้นพอเล่าข่าวทุกประเภท มันจะมีข่าวบางประเภทที่เราไม่ติดตาม เราเลือกที่จะสไลด์ฟีดผ่านไปเลยเวลาเราเห็น หลัง ๆ มันก็ไม่ได้แล้ว ก็กลายเป็นว่าเราต้องใส่ใจให้มากขึ้นกับทุกข่าว ทุกประเภทที่มันผ่านตาเข้ามา แม้ว่าข่าวข่าวนั้นมันอาจจะเป็นข่าวอาชญากรรมที่บางทีมันก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก แต่มันมีรายละเอียดบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้นที่บางทีเราประมาทเกินไปในการที่จะมองข้ามมันไป เลยทำให้ตอนเล่า เราเล่าแล้วเรา ไม่ทราบรายละเอียดมาก่อน”

มองอย่างไรกับสมรภูมิข่าวในปี 2021 บ้าง?

“ผมว่าก็เป็นอะไรที่ดุเดือดมากเลยนะ คือตั้งแต่ผมทำข่าวในทีวีดิจิทัลมา ผมว่าปีนี้ก็เป็นปีที่ดุเดือดที่สุดแล้วละ ซึ่งผมไม่ทราบว่าปีหน้ามันจะเป็นยังไง แต่ผมเชื่อว่าปีนี้ดุเดือดเหลือเกินนะ เพราะว่ามีการกลับมาของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องของธุรกิจสื่อต่าง ๆ คือทุกช่องมันมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง โดยปกติแล้วถ้าย้อนกลับไปประมาณสัก 3 ปีก่อน มันจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างระดับใหญ่มหึมา มันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เปลี่ยนผ่าน ปรับเวลาเท่านั้น

แต่ว่าในตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาแล้วเชื่อมมาถึงปีนี้เนี่ยมันเกิดความเปลี่ยนแปลง ช่องวันเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เข้าตลาดหลักทรัพย์นะ กลุ่มผู้บริหารระดับสูงของแต่ละช่องบางทีก็มีการเปลี่ยนทีมนะ แล้วก็เกิดการโยกย้ายถ่ายเทกันระหว่างบุคลากรในสถานีข่าวต่าง ๆ เยอะพอสมควร ดังนั้นปีนี้มันเป็นปีที่ทุกคนฟาดกันแรงจัด ๆ เลย แข่งกันเป็นช่วงต่อช่วงมาหมด มาเต็ม อย่างแต่ก่อนผมจัดรายการ “ข่าวเย็นช่องวัน” 4 โมงครึ่งถึง 6 โมงมันแทบจะไม่ค่อยมีช่องไหนที่วางผังข่าวเย็นไว้ช่วงเวลานั้น พอปีนี้กลับมาปั๊บ ข่าวเย็นช่องนี้ก็มาเวลานี้ อีกช่องก็มาเวลานี้ มันก็ต้องเกิดการกระจายกันของคนดูอยู่แล้ว

ดังนั้นมันก็จะเกิดการแข่งขันกันที่มีการเข้มงวดมาก เพราะมันไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีคู่แข่งอีกแล้ว มันกลายเป็นในทุกข่าวที่มีการนำเสนอจะมีอีกช่องนึงนำเสนออยู่ แต่เขาอาจจะนำเสนอข่าวอื่นอยู่หรือเปล่า ที่อาจจะเป็นข่าวที่คนดูมากกว่าเรา อีกช่องนึงก็มีนำเสนออีกนะ แต่ว่านำเสนออีกข่าว หรือว่าอาจจะเป็นข่าวเดียวกับเรา แต่มันมีมุมมองคนละมุมมอง มันก็เลยมีการแข่งขันฟาดฟันกันแบบหนักหน่วงพอสมควรครับ”

คิดว่าข่าวที่ดีสำหรับเราต้องเป็นอย่างไรบ้าง?

“คือข่าวที่ดีผมว่าต้องให้เวลากับบางอย่างที่ควรจะให้เวลามากให้มากกว่านี้ ข่าวที่ควรจะให้เวลาน้อยกว่านี้ก็ควรจะให้เวลาให้มันน้อยกว่านี้ แล้วก็บาลานซ์ให้ดี ไม่เทไปที่ข่าวอะไรมากจนเกินไป คือไม่เทไปตามกระแสมากจนเกินไป แล้วก็ไม่เททางอุดมการณ์มากเกินไปนะ อย่างผมเองคนจะมองอยู่แล้วว่าผมอาจจะถูกจัดอยู่ใน Category ที่ไม่ใช่นักข่าวด้วยซ้ำ หรือว่าอาจจะนิยามไม่ได้ว่านี่คือผู้ประกาศข่าวก็ได้ แต่ว่าผมไม่ค่อยสนใจในประเด็นนั้นนะ ผมสนใจว่ารายการข่าวที่ดีควรจะเป็นรายการข่าวที่มัน “ครบด้าน” และ “ครบรส” มันให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อคน ที่จะเอาไปดำเนินชีวิตต่อได้ เรื่องที่ยากเกินไป ย่อยให้ง่ายหน่อย เขาจะเข้าใจ

แล้วก็บางทีอาจจะมีการใส่สีสัน ใส่ลูกเล่นเข้าไปเพื่อดึงดูดใจให้คนนั้นมาดูรายการข่าวมากยิ่งขึ้น อันนี้ผมพูดถึงตัวรายการข่าวนะ คือตัวรายการข่าวเมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าเทียบกับรายการข่าวด้วยกันนะครับ คือถ้าเทียบกับรายการประเภทอื่น ๆ รายการข่าวควรที่จะมีบางสิ่งบางอย่างที่มันทำให้คนดูนั้นอยากจะติดตามมากยิ่งขึ้น อยากจะติดตามมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับรายการ Category อื่น ๆ จากคนที่อาจจะอยากดูละคร คนที่อาจจะอยากดูรายการเกม คนที่อาจจะอยากดูรายการวาไรตี้ รู้สึกว่ารายการข่าวมันดูแล้วก็น่าสนใจ แล้วมันก็เกิดประโยชน์ด้วย แล้วบางทีมันก็สนุกด้วยนะ”

“ธีมะ” ในชีวิตปัจจุบันเรียนรู้อะไรจากอดีตที่ผ่านมาบ้างไหม?

“ได้เรียนรู้หลายอย่างเลย ในช่วงแรก ๆ ที่เรียนรู้เลยก็เป็นช่วงของการทำรายการ “ฟ้าทะลายโจร” เป็นรายการที่ส่วนตัวผมเรียกว่ามันเป็นรายการข่าวรายการแรกที่ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ทำงานด้านการอ่านข่าว เพราะว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเลย ความรู้ด้านการอ่านข่าวหรือว่าการทำรายการข่าว “เป็นศูนย์” เพราะว่าเราทำแต่รายการบันเทิง เป็นดีเจ เป็นพิธีกร ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากรายการฟ้าทะลายโจร คือวิชาเกี่ยวกับเรื่องของการอ่านข่าวว่าเวลาเราอ่านข่าวเราอ่านอย่างไรนะ

พอเปลี่ยนมาเป็นการอ่านข่าวที่ Weekly Summary หรือว่าที่ทำกับที่ GDH มันเป็นข่าวอีกแบบนึง ซึ่งเป็นข่าวที่เล่าข่าวทั้งหมดเลย แต่เล่าแบบชาวบ้านมาก ๆ แล้วเล่าแบบตลก เป็นรายการข่าวที่เน้นความตลก เน้นความโปกฮา แต่เล่าข่าว เป็นรายการที่ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบรายการข่าวแหละ แล้วก็สิ่งที่เอามาเล่าก็เป็นข่าวจริง ๆ แต่ว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือการเล่าข่าวแบบมีสไตล์ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้คนดูชอบ

พอเข้ามาในข่าวช่องวัน สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการทำข่าวในแบบมืออาชีพของแท้ แบบที่พูดง่าย ๆ ว่าตั้งแต่ทำงานด้านข่าวมาในรายการข่าวตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งเข้าช่องวันมาตอนประมาณสักปี 2558 ไม่เคยรู้ว่าการทำข่าวแบบที่มีกองบรรณาธิการแบบเต็มสูบ เต็มที่มันเป็นยังไง ไม่เคยเจอมาก่อน เพราะว่าการทำรายการข่าวแต่ก่อน ฟ้าทะลายโจรเขาก็มีกอง บก. แต่รายการฟ้าทะลายโจรผมทำเองคนเดียว มีผู้ช่วยอีกคนนึง จบ ไม่มีคนมารีไรท์ข่าว ผมแค่เลือกข่าวว่าอยากได้อันนี้ แล้วผมก็ไปทำการบ้าน แล้วไปแตกประเด็นกันเอาเองว่าผมอยากจะเล่าอะไร ภาพก็ว่ากันไป น้องทำภาพอะไรมาก็ มันเป็น “สถานีดาวเทียม” ครับ ขั้นตอนในการก่อนออกอากาศมันจะไม่ได้มีอะไรที่ยิบย่อยมากเท่ากับการออกอากาศ ณ ปัจจุบันในทีวีดิจิทัล

พอเข้ามาช่องวันก็ได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วรายการข่าวจริงๆ เป็นแบบนี้นี่หว่า กว่ามันจะออกอากาศได้ มันไม่ใช่แบบที่เราเคยสัมผัสมาเลย แบบที่เราสัมผัสมามันคล้าย ๆ กับการทำรายการบันเทิงด้วยซ้ำด้วยวิธีการของมันนะ แต่ว่าจากการเรียนรู้ทั้งหมดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ล่าสุดกับข่าวช่องวัน

ที่ได้เรียนรู้คือการเล่าข่าวแบบฮาร์ด ๆ ในสไตล์ฟ้าทะลายโจร ผมเล่าฮาร์ด ๆ เลยนะ ยกเว้นเรื่องการแสดงความคิดเห็นไป ซึ่งอันนั้นก็เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า “ไม่ควรจะมี” สำหรับอุดมคติของการทำรายการข่าว ถ้าตัดอันนั้นออกไป แต่ว่าตัวคอนเทนต์ที่ผมนำเสนอในรายการฟ้าทะลายโจรเป็นคอนเทนต์หนัก จะไม่มีคอนเทนต์ที่ไม่หนัก มันจะเป็นคอนเทนต์การเมืองล้วน ๆ ก็ได้เรียนรู้ตรงนั้น ได้เรียนรู้การจัดแบบสนุกสนานมาในรายการแบบ HEADLINE TODAY บ้าง ในรายการ GANG MENT

แล้วก็เอามาผสมผสานกันออกมาในรายการของข่าวช่องวัน คือข่าวช่องวัน ตอนแรกที่ผมมา ผมก็ปั้นมาเต็มที่เลยว่าผมต้องฮาร์ดการเมืองมาก ๆ อย่างเดียว แต่เราก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เราก็รู้จักกับกระบวนการในการทำเรตติ้ง รู้จักกับกระบวนการในการเรียนรู้เกี่ยวกับ Target Group ของช่องทีวีดิจิทัล รู้จักว่าเราต้องคำนึงถึงคนดูว่าอย่างไร รู้จักเกี่ยวกับเรื่องของสถิติ กับผลตอบรับที่มันออกมาจากการทำรายการข่าวว่าเราควรจะทำรายการข่าวในรูปแบบลักษณะแบบไหน ตรงไหนที่เราคนคิดว่ามันถูก พอมาทำจริง ๆ ในแบบที่มืออาชีพเขาทำกัน มันทำไม่ได้ เราก็รับไปเสีย แต่อะไรที่เราคิดว่ามันผิด พอมาที่นี่ปั๊บก็ได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องนั้นมันต้องทำอย่างไร?”

แสดงว่าสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตเป็นผู้ประกาศข่าวคือการเรียนรู้ในทุกวันที่เป็นอยู่?

“ใช่ ต้องเรียนรู้ทุกวัน คือหลัง ๆ ผมก็ชอบไปอ่านเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิทยา เกี่ยวกับ Effect ต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นต่อชีวิตมนุษย์แล้วมันมีภาวะภาวะนึงที่ผมไปอ่านมาแล้วชอบมากเลยคือ Dunning-Kruger Effect คือภาวะที่คนที่โง่มักจะคิดว่าตัวเองฉลาดมาก แต่คนที่ฉลาดจริง ๆ เขามักจะคิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เขารู้ มันคือสิ่งที่ไม่จริง ซึ่งถ้าเราลองไปอ่านสิ่งนี้ดู ภาวะ Dunning-Kruger Effect มันกลายเป็นสิ่งที่มันติดอยู่ในใจพี่จั๊ดตลอดเลย ที่ผ่านมาเราจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เรารู้ทั้งหมดเลย เรารู้ว่ามันจริงแท้แน่นอน จริงแน่ ๆ เต็มที่ ใส่ความเห็นทุกอย่าง เล่าเต็มที่

แต่จริง ๆ แล้ว หลายครั้งความผิดพลาดเกิดจากตรงนั้นแหละ เกิดจากสิ่งที่เรารู้สึกไปเองว่าเรารู้แล้วว่ามันเป็นแบบนั้น แต่พอไปอ่านทฤษฎีเกี่ยวกับ Dunning-Kruger Effect มันเป็นทฤษฎีที่เขามีกราฟบอกมาเลยนะว่าคุณกำลังตกอยู่ในหลุมของ Dunning-Kruger Effect ตกลงไปลึกขนาดไหน ยิ่งคุณคิดว่าตัวเองรู้มากเท่าไหร่บางทีแสดงว่าคุณไม่รู้เลย เพราะคุณยังรู้ไม่ครอบคลุมพอ แต่ถ้าคุณฉลาดพอ คุณจะเรียนรู้ได้เสมอว่ามันยังถมไม่เต็ม ผมว่าตรงนี้คือสิ่งที่ผมยึดถือตอนนี้ว่าจงอย่าคิดว่าเรื่องที่เราอ่าน หรือว่าเรื่องที่เราเล่าให้คนอื่นฟัง เรารู้ทั้งหมดแล้ว เราต้องรู้เพิ่มขึ้นให้มากกว่านั้น

พอไปอ่านทฤษฎีนี้ปั๊บ ทำให้เรารู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเรากำลังเป็นคนโง่อยู่เหรอเนี่ย (หัวเราะ) พูดกันตรง ๆ ก็คือจริง ๆ แล้วที่ผ่านมาเราโง่มากเลยที่เราดันไปคิดว่าสิ่งที่เราพูด มันคือใช่แล้ว เราคือคนโง่นะเนี่ย เพราะว่าคนฉลากเขาจะมานั่งคิดแล้วคิดอีกว่าอันนู้นมันเป็นอย่างนั้น อันนั้นมันเป็นอย่างนี้ ตอนนี้มันก็เลยกลายเป็นว่าต้องค้นพบไปเรื่อย ๆ ว่าในทุก ๆ วันมันมีสิ่งใหม่นะ เรื่องแบบนี้มันน่าจะเป็นเรื่องของการสะสมไปในแต่ละวันให้มากขึ้น”

เห็นอะไรบ้างในสังคมปัจจุบันนี้?

“ในสังคมปัจจุบันนี้เห็นว่าน่าจะเป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนเห็นเหมือนกันก็คือ “ความเร็ว” เอาความเร็วเป็นหลัก พอเราเอาความเร็วเป็นหลักปั๊บ ความถูกต้องหรือว่าความแม่นยำ มันจะลดลงไปอย่างน่าใจหาย แล้วตอนนี้สังคมเป็นแบบนั้นอยู่ คือถ้าเราลองย้อนนึกกลับไปในวันที่เรายังไม่มีสมาร์ทโฟนนะ เราคิดไม่ออกเลยว่าเราจะทนอยู่ได้ยังไงกับเรื่อง ๆ หนึ่งที่ 2 ชั่วโมงผ่านไปแล้วยังไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย เราอยู่ได้ยังไง? เราย้อนกลับไปในสมัยก่อน สมัยก่อนเวลามันเกิดเรื่อง ๆ นึงขึ้นปั๊บ มันก็จะรู้เช้า พอรู้เช้าเสร็จปั๊บ จากนั้นมันจะไม่รู้แล้วดับไปเลย เพราะว่าไม่มีใครนำเสนอเลย หาจากไหนก็ไม่ได้

แล้วเราก็ไม่ใช่นักข่าว เราเป็นผู้บริโภคคนนึง เรามีชีวิตอยู่แล้วก็รู้อีกทีตอนเที่ยง ตอนเที่ยงบางทีเรียนอยู่ อยู่มหาลัย กลับมาดูจริงจังอีกทีตอนค่ำ เท่ากับวันนึงเราได้ทราบความเคลื่อนไหวของข่าว 2 ครั้งเอง แล้วก็มีแค่นั้นนะ แล้วจะไม่มีใครมาวิเคราะห์อะไรให้ด้วยนะ จะไม่มีนักวิชาการมาวิเคราะห์ ถ้ารายการเขาไม่นำเสนอช่วงวิเคราะห์ มันก็จะไม่รู้วิเคราะห์ เราก็จะรู้อยู่แค่นั้น แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เราหงุดหงิดทันทีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราทำรายการข่าว พอมีเวลาว่างปั๊บ ดูฟีด ไถฟีด ไอ้เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าตอนนี้มันเป็นยังไง ผมเชื่อว่าหลายคนเป็นแบบนี้แม้ว่าจะไม่ได้อยุ่ในอาชีพผู้สื่อข่าวหรือว่าสื่อสารมวลชนก็ตาม คือมีความกระหายใคร่รู้ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ แล้วมันมีให้อัปเดตตลอดด้วยบางที

คราวนี้เราก็ตกลงไปอยู่ในหลุมความเร็วข่าวโดยที่ขาดการศึกษาตริตรองรายละเอียดที่มันเกิดขึ้นว่าแท้เจริงแล้วมันเป็นยังไง มันก็เลยเกิดความผิดพลาดมากมาย แล้วที่สำคัญก็คือเป็นเหยื่ออันโอชะของขบวนการในการสร้างข่าวลวง! นี่แหละ มันคือวิธีการที่มันเหมือนกับว่าคุณกำลังล่าปลาอยู่ แล้วถือฉมวกอยู่แบบนี้ แต่มันจะมีปลาประเภทหนึ่ง คือปลาประเภทแบบพวกเราที่ชอบความเร็วว่ายมาในทางที่คนถือปลารู้เลยว่าเดี๋ยวมันจะว่ายไปทางไหน แทงยังไงมันก็โดน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

แล้วก็นอกจากนั้นอีกอย่างนึงก็คือผมเชื่อว่าบางทีเราต้องทนดูข่าวบางอย่างที่เราต้องอดทน ไม่ดูข่าวบางอย่างที่บางทีมันเริ่มจะมากเกินไป ผมว่าอย่างนี้นะ อะไรที่มันมากเกินไป ผมเข้าใจว่ามันสนุก มันเข้าทางเรา มันถูกจริตเราเหลือเกิน ผมว่าบางทีเรานั่งดูไปเราก็ต้องนั่งสะกดใจตัวเองว่า บางทีมันก็เพียงพอแล้วนะ แต่ว่าในบางข่าว ที่พอดูอยู่แล้วมันพูดกันเรื่องอะไร ยากจังเลย มันน่าเบื่อจังเลย บางทีขอให้เรายอมดูมันต่ออีกนิดนึงได้ไหม เพราะว่าเรื่องบางเรื่องต่อให้อธิบายยังไงมันไม่ง่ายเลย คือเรื่องบางเรื่องอธิบายยังไงมันก็ยังแอบยากอยู่ดี แต่ถามว่ามันมีประโยชน์ต่อตัวเราไหม มันมีประโยชน์ต่อตัวเรา”

เป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้ายังจะอ่านข่าวอยู่หรือเปล่า หรือทำอะไร?

“ไม่ไปทำอะไรต่อแล้ว คาดว่านี่คืออาชีพที่จะยึดไปทำมาหากินไปเรื่อย ๆ ครับ ถ้ายังได้รับโอกาสอยู่นะ สำหรับผมเอง ผมคิดว่าตัวเองคงไม่เปลี่ยนอาชีพแล้ว เพราะว่าปีหน้าก็อายุ 40 แล้ว (หัวเราะ) ถ้าสมมติว่ายังได้รับโอกาสจากสถานีโทรทัศน์ช่องวันอยู่ แต่ว่ามองตัวเอง 5 ปีข้างหน้า หรือว่ามองตัวเองใน 10 ปีข้างหน้า ก็ยังคงมองตัวเองว่ายังต้องอยู่หน้าจอ แล้วพูดอะไรบางอย่างอยู่หน้าจอแหละ แล้วรับใช้คุณผุ้ชมด้วยสิ่งที่ผมอยากจะพูดออกไป แต่จะพูดอะไร แนวไหน อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ผมรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เป็นตัวตนของผมมากที่สุด ผมรู้จักตัวเองดีว่าถนัดอะไร ผมสามารถที่จะปรับปรุงอะไรของตัวเองให้มันดีขึ้นมากกว่านี้ ถ้าอยากที่จะปรับปรุง มันจะต้องทำอย่างไร มองตัวเอง 5 ปีข้างหน้าก็ยังอยู่ในเส้นทางอาชีพลักษณะแบบนี้อยู่นะ”

Skill นักข่าวที่ทุกคนต้องมีคืออะไร?

“ผมว่าตอนนี้ ณ วินาทีนี้ผมเชื่อว่าเป็นการรู้ข่าวให้มากที่สุดในแต่ละวันและรอบด้านที่สุด เหมือนในแบบที่แต่ก่อนเขาบอกว่าคุณสรยุทธอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ อันนี้คือผมไม่เคยสัมผัสเองนะ ที่เขาเล่ากันมาคุณสรยุทธก็จะเอาหนังสือพิมพ์มา ก็คือทุ่มหัวเลย แล้วเขาก็อ่านหมดของเขา ทุกหน้า ไม่ว่าหน้าไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่คนไม่ค่อยชอบอ่านกันอย่างเช่นพอเราเปิดหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งมาปั๊บ แล้วเขาบอกว่าเปิดต่อหน้า 11 อีหน้า 11 นี่แหละ คนไม่เปิดอ่าน เพราะเปิดไปปั๊บ แม่งมีแต่ตัวหนังสืออะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลย (หัวเราะ) แต่ว่าคุณสรยุทธเขาอ่านแบบนั้นนะ เขาลง Detail ผมเชื่อว่าถ้าสมมุติว่าสิ่งที่นักข่าวควรจะมีคือควรจะเป็นแบบนั้นคือเก็บรายละเอียด ผมว่าการเก็บรายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าผมขาดด้วยแหละ ผมเลยเห็นว่าสำคัญตอนนี้”

ใส่แมสก์อ่านข่าวเหนื่อยไหม?

“ใส่แมสก์อ่านข่าวถ้าอ่านข่าวปกติไม่เหนื่อย แต่ถ้าอ่านข่าววันศุกร์เหนื่อย คือที่ออกกฎมาจะให้ถอดหรือไม่ถอดนี่เฉย ๆ นะ ถอดก็ได้ ไม่ถอดก็ได้นะ สบายดี คือเวลาใส่มันสบายอย่างหนึ่งคือ หนวดไม่ต้องโกนและเวลาแต่งหน้าคือแต่งแค่ครึ่งเดียว คือแต่งตาแล้วบางทีมันแบบขี้เกียจล้าง ถ้าแต่งเต็มหน้าเช็ดออกมาทีคือเมคอัพทั้งนั้น แต่ถ้าถามว่าความเหนื่อย ถ้าอ่านข่าวปกติ ไม่เหนื่อย แต่ถ้าอ่านคนเดียวยาว ๆ เหนื่อยหน่อยครับ”


6 รายการข่าวที่จั๊ด ธีมะ กาญจนไพรินแนะนำว่าต้องดู

Infographic : ทินวุฒิ ลิวานัค

เพราะสถานการณ์ข่าวสารมันหมุนรอบตัวไวยิ่งกว่ารถแข่งซะอีก งานนี้จั๊ด – ธีมะ กาญจนไพริน จึงแนะนำ 6 รายการข่าวที่ดูบ่อยๆ และเป็นรายการ Top of Mine ของตนเองเลยก็ว่าได้มาฝากกัน เริ่มที่รายการแรกคือ “ฟังหูไว้หู” ทางช่อง 9MCOT HD ของอาจารย์วีระ ธีรภัทร รายการต่อมาคือ “คุยให้คิด” ทาง ThaiPBS โดยสามหนุ่มมากประสบการณ์ “วีระ/สุทธิชัย/วิสุทธิ์” หลังจากนั้นคือรายการ “Suthichai Live” โดย สุทธิชัย หยุ่น และรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS โดย วราวิทย์ ฉิมมณี หลังจากนั้นคือรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand โดย หมาแก่ – ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ กับแมวสาว – อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ สุดท้ายคือรายการ THE STANDARD NOW โดย อ๊อฟ – ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์