fbpx

สรุปสาระสำคัญบางส่วนจากการสัมมนาออนไลน์ (webinar) ปิดหลักสูตรเรียนออนไลน์ระยะสั้น: การตรวจสอบข้อเท็จจริง “Hands-On Fact-Checking: Online Short Course” สำหรับผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการสื่อ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล (International Fact-Checking Network) หรือ IFCN ณ Poynter Institute โคแฟค ประเทศไทย (Cofact Thailand) และ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย


Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล / Director of International Fact-Checking Network (IFCN) ได้ร่วมบรรยายในการสัมมนาออนไลน์การอบรมหลักสูตรระยะสั้นแบบเรียนด้วยตนเองว่าด้วยหลักสูตรการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ทาง IFCN ร่วมมือกับ COFACT Thailand และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยได้พูดถึงการตรวจสอบข่าวลวงและร่วมถามตอบกับผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ซึ่งมีหลากหลายคำถามที่น่าสนใจและทางส่องสื่อนำมาสรุปให้ได้อ่านกัน

โดยคุณ Baybars ได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นว่า เมื่อพูดถึงว่าอะไรที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็จะมีอยู่หลากหลายกรณี เช่น ความคิดเห็น เราไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะมันเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล หรือภาพล้อเลียน เสียดสีต่างๆ ซึ่งมันจะไม่มีประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกสิ่งหนึ่งก็คืออนาคต เพราะเราไม่มีหลักฐานว่าคำกล่าวเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่?

วิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลักๆ จะมีขั้นตอน คือ ค้นหาการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าอันไหนที่ตรวจสอบได้หรือไม่ได้ ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปแล้วจะมีบางส่วนที่ตรวจสอบไม่ได้ และหาจุดเด่นที่สำคัญต่อสาธรณชนที่ให้ความสนใจ และยังต้องสร้างความสมดุลให้กับข้อมูลอีกด้วยว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง

หลังจากนั้น เราก็ต้องหาว่าแหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้คืออะไร? อะไรที่เราไม่รู้บ้าง? และเราต้องหาแหล่งว่าอันไหนที่เราหาเพิ่มเติมได้บ้าง หลังจากนั้นคือการแก้ไขหรือทำให้ถูกต้อง โดยการนำคำกล่าวต่างๆ มาทำให้เป็นจริง ซึ่งก่อนที่เราจะเผยแพร่นั้นต้องดูรูปแบบที่เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง? และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งต้องดูตามบริบทว่าทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง?

ในการตรวจสอบข้อมูลนั้น จำเป็นต้องหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เช่นในตุรกีที่เขาไปหาองค์กรในระดับภูมิภาค เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และสามารถทำให้ข้อมูลกระจ่างได้มากขึ้นด้วย อย่างในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศอาเซียน 1 ใน 10 ประเทศ ก็สามารถหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของอาเซียนได้ว่ามีข้อมูลตรงไหนที่เป็นประโยชน์สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้บ้าง

หรือองค์กรต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรือองค์การอนามัยโลก หรือสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่มีชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่สามารถนำข้อมูลมาต่อยอดและตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เช่นกัน ซึ่งทำให้สามารถเข้าใจและนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ในหลายๆ เรื่องด้วยเช่นกัน

แล้วเราก็สามารถตรวจสอบว่าข้อมูลที่สร้างขึ้นมาในโลกออนไลน์จริงหรือไม่? โดยการศึกษาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ออกมาและสร้างข้อมูลออกมา ซึ่งการสร้างข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน ในฐานะที่ที่ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องนั้น อาจจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดพลาดได้ เพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพได้ในอนาคตอีกด้วย

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรม “หยุดแชร์” ของสหประชาชาติ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อให้คนตระหนักในการอ่านและตรวจสอบก่อนแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งเรายังต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาดนี้เป็นจำนวนมาก โดยดูแหล่งข้อมูลที่เราเจอว่ามาจากไหน และตรวจสอบดูว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเขาได้พูดอะไรที่เกี่ยวข้องไหม? รวมไปถึงการพูดคุยเรื่องนี้ในโลกออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟสบุ๊ค หรือการถ่ายทอดสดในออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งถ้าได้รับการตรวจสอบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องเราก็ต้องรีบไปบอกและแก้ไข ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่วิกฤตทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตของการเกิดข่าวลวงเช่นกัน

ในปัจจุบันก็มีตัวส่วนเชื่อมต่อใน Browser ต่างๆ ชื่อว่า “InVID” ที่สามารถดึงตัว Keyframe ออกมาจากวีดิโอได้ และตรวจสอบได้ว่าข้อมูลในวีดิโอนี้เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่? โดยการค้นหาเพิ่มเติมจาก Google Search นั่นเอง นอกเหนือจากนี้เรายังสามารถนำ Keyframe ไปค้นหาได้ด้วยว่าข้อมูลตรงไหนที่เป็นข้อเท็จจริงหรือถูกบิดเบือน โดยการใช้ Google Image Search / Google Search ร่วมกัน

แน่นอนว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลามากพอสมควรที่จะพัฒนางานตรงนี้ รวมไปถึงการหาข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้จริงๆ และการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันในการค้นหาข้อมูลในวงกว้างต่อไป


และเมื่อช่วงถามตอบก็ได้มีผู้ให้ความสนใจร่วมถามตอบเป็นจำนวนมาก โดยทางส่องสื่อได้หยิบยกคำถามที่น่าสนใจมาสรุปเพื่อให้ผู้ที่พลาดจากการเรียนครั้งนี้ได้มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันด้วย ซึ่งมีคำาถามดังต่อไปนี้

อะไรบ้างที่ควรตรวจสอบข้อเท็จจริง?

แน่นอนว่าข้อมูลสาธารณะควรถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรที่จะทำกับข้อมูลสาธารณะได้อยู่แล้ว โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่แล้วและเผยแพร่อยู่แต่เดิมแล้ว แต่การตรวจสอบเชิงข่าวจะได้ในส่วนของเนื้อข่าวไปเขียน การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็จะได้ข้อสรุปว่าข้อมูลนี้จริงหรือไม่จริง

การตรวจสอบข้อเท็จจริงกับการถามข้อมูลเพื่อตรวจสอบ ต่างกันอย่างไร? (fact-checking vs verification)

มันมีความต่างกันอยู่ในเชิงภาษาอังกฤษ แต่ส่วนตัวที่ใช้ภาษาตุรกีเป็นภาษาหลัก สองคำนี้จึงไม่ต่างกันเลย ในประเทศไทยก็ไม่แน่ใจว่ามีการใช้คำสองคำนี้มีความต่างมากน้อยแค่ไหน? ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คือการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เราหยิบขึ้นมาว่าต้นตอมาจากไหนและจริงหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นโควตหรือข้อมูลอื่นๆ เช่นกัน

เกณฑ์ในการที่จะตรวจสอบความจริง สามารถปรับเปลี่ยนตามบริบทได้หรือไม่?

แน่นอนว่าปรับเปลี่ยนตามบริบทได้ โดยปัจจุบัน 102 องค์กรจาก 50 ประเทศทั่วโลกได้รับการรับรองจาก IFCN อยู่แล้ว เขาก็มีการจัดทำเครื่องมือเพื่อปรับไปตามบริบทของแต่ละประเทศ เครื่องมือหลักๆ เราก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่รายละเอียดก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทนั้นๆ แม้กระทั่งข้อมูลที่ไม่เสียค่าเข้าข้อมูล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ รวมไปถึงการเข้าถึงของข้อมูลด้วยเช่นกันว่าจะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน

รวมไปถึงการสนับสนุนทางการเงินที่ต้องโปร่งใสเช่นเดียวกัน คือสิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์ในประเทศหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้ได้ในอีกประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องมีหลักเกณฑ์สากล แต่สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทได้เช่นกัน

มีวิธีการอะไรที่เป็นระยะสั้นที่ทำให้เราสามารถดำเนินการได้บ้าง?

คือเวลาที่เรามีใบสมัครมาจากหลายๆ ประเทศ แล้วเราก็ดูว่าองค์กรนั้นๆ มีเครือข่ายในภูมิภาคมากน้อยแค่ไหน? ถ้าน้อยกว่า 5 รายก็จะให้ทำงานตรวจสอบข่าวลวงอย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้ามีมากกว่า 5 รายในภูมิภาคก็จะให้ตรวจสอบข่าวลวงอย่างน้อย 12 เดือน หรือในบางช่วงที่ต้องมีการเลือกตั้งหรือในสถานการณ์โรคระบาดก็จะลดเหลือแค่ 3 เดือน เนื่องมาจากการตรวจสอบข่าวลวงมีความสำคัญมากๆ นอกจากนี้เราก็ยังมีความช่วยเหลือและให้ความสะดวกต่างๆ มีข้อมูลที่ให้ไปดำเนินการได้เช่นกัน

เวลาที่คุณยกตัวอย่างว่าสิ่งไหนที่ตรวจสอบได้หรือไม่ได้ มันยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ตรวจสอบได้ และเราก็อยากเห็นกับผู้สื่อข่าวในบ้านเรา

ขอบคุณครับและขออนุญาตขยายความสักนิดนึง จริงๆ แล้วเราสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ว่าการกล่าวอ้างที่เกิดขึ้น กับข้อมูลเชิงสถิติอื่นๆ มันมีความจริงหรือไม่จริงอย่างไรบ้าง? ไม่จำเป็นต้องใช้การวัดเรทติ้งก็ได้ เพื่อที่ทำให้สาธารณชนเห็นว่าข้อมูลนี้ควรเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ในฐานะของผู้สื่อข่าวก็ต้องนำข้อมูลสถิติมากางเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อะไรที่เป็นความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ความท้าทายที่สำคัญคือการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ จากการทำงานเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวงก่อนมาทำงานกับ IFCN 5 ปี ผมพบว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งบางข้อมูลที่เราพบอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน เราต้องหาข้อมูลที่เป็นปัจจุบันให้ได้มากที่สุด และพอค้นพบแล้วเราก็ต้องตั้งข้อสงสัยเสมอว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่? การเก็บข้อมูลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน? แล้วก็เมื่อไม่นานมานี้การตรวจสอบความถูกต้อง เราจะปกป้องตนเองจากการถูกรังควานได้อย่างไร?

มีกรณีศึกษาที่หักล้างข้อมูลโควิด-19 ที่น่าสนใจบ้างไหม?

ช่วงก่อนหน้านี้ตนเองได้ทำงานที่ฟอริด้า สหรัฐอเมริกา โดยทำงานที่บ้าน แล้วเราก็ได้รับข้อมูลจากไต้หวันซึ่งนำข้อมูลมาจับเก็บที่เรา เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มชายอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของฟอริด้านำไปตีพิมพ์ข่าวที่บิดเบือน ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งก็นำมาจากข้อมูลจากเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวลวงของเรา

หลังจากนั้นก็มีการส่งอีเมลมาทางเราว่าอยากนำไปอ้างอิงได้ไหม? และนำข้อมูลไปหักล้างกับวัคซีนอื่นๆ รวมไปถึงอยากสัมภาษณ์เรา ซึ่งข้อมูลเรื่องนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการหักล้างข้อมูล และเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันข้อมูลจากโลกออนไลน์ก็ขาดการตรวจสอบที่ดีในการนำเสนอข้อมูลนั้นๆ

มีการโน้มน้าวเจ้าของแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนไม่ส่งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปบ้างไหม?

ตอบว่าใช่และไม่ครับ คือมันมีแพลตฟอร์มสองรูปแบบ คือสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะแตกต่างกับแอพพลิเคชันส่งข้อความ โดยแอพพลิเคชันส่งข้อความจะมีการใส่รหัสเอาไว้ไม่ให้เราสามารถตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เราไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ระบบก็สามารถนำข้อมูลมาตรวจสอบได้เลย ดังนั้นไม่ง่ายเลยในการตรวจสอบข้อมูลในแอพพลิเคชันส่งข้อความ เพราะมีเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่เราต้องพึงระมัดระวังด้วย

พูดถึงประสบการณ์ของประเทศไทยในการตรวจสอบข่าวลวงว่าในผู้สูงวัยเป็นแหล่งของผู้ส่งต่อข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด ในตุรกีเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

ใช่ครับ ในสหรัฐอมเริกาและยูโรปมีการสำรวจว่าผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปีมีการส่งข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เปิดรับข้อมูลที่ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยการใช้ทักษะและข้อมูลที่เขาเข้าใจได้มากขึ้นด้วย ในกรณีที่สำคัญๆ คือ มิจฉาชีพที่มีการโอนเงินต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งมีเหตุในสหรัฐอยู่บ้าง แม้กระทั่งประเด็นทางสังคม ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เปราะบางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน แน่นอนว่าเวลาเราแชร์ก็ควรแชร์ด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นเราควรที่จะช่วยเขาให้เขามีทักษะในการตรวจสอบข่าวลวง


ในช่วงต่อมาเป็นช่วงของการอภิปรายระหว่างเครือข่ายนักตรวจสอบข่าวลวง โดย คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ได้เริ่มพูดถึงการตรวจสอบข่าวลวงว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริง สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ นอกเหนือจากนั้นคือการตั้งคำถามกับข้อมูลสำคัญๆ ก็อาจจะต้องใส่ใจในการหาข้อมูลเชิงลึกและตั้งคำถามให้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือการมีอยู่ของข้อมูลสาธารณะ ซึ่งในประเทศไทยกำลังไปเส้นทางนั้น แต่ด้วยหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้สักที เรามีทั้งหน่วยงานและพระราชบัญญัติ เพียงแต่ในความเป็นจริงในการรวมศูนย์ของข้อมูลศูนย์กลางอาจจะเป็นไปได้ยากพอสมควร

ในช่วงที่ผ่านมา Google พยายามช่วยดูข้อมูลที่ไทยมากๆ ให้สามารถถูกค้นหาเจอได้ ซึ่งการถึงจุดตรงนั้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมาถึง คือการเปิดข้อมูลสาธารณะซึ่งเป็นจุดสำคัญเป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการแปลงไฟล์ PDF ซึ่งตามปกติเราอาจจะใช้แค่แปลงไฟล์ให้เป็น PDF แต่ในราชการไทยกลับใช้วิธีการสแกนรูปภาพเป็นข้อมูลออกมา ซึ่งทำให้ยากขึ้นในการค้นหาข้อมูล

ในส่วนของการมีอยู่ของข้อมูลของภาครัฐ มีหลายส่วนที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลควรเป็นรูปแบบไหน แล้วการรวมข้อมูลจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป ในประเทศไทยเรากำลังไปตรงนี้แต่ไม่รู้ว่าจะไปถึงเมื่อไหร่ หรือในบางส่วนคือแพลตฟอร์มต่างๆ ก็นำเทคโนโลยีการแปลงรูปภาพที่มีตัวอักษรมาใช้มากขึ้น ทำให้การตรวจสอบสะดวกขึ้นและง่ายขึ้นเช่นกัน

สิ่งที่เราทำได้เลยก็คือการตั้งคำถามกับการตรวจสอบข้อมูล และการค้นหาตามเว็บไซต์ต่างๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วยนั่นเอง ในส่วนของการเคลมรีวิว (Claim Review) นั้นมีกลุ่มที่เขาพูดถึงว่าอาจจะต้องมีการค้นหาแล้วค้นพบว่ารู้จักบทความต่างๆ สามารถโชว์บทความได้ ซึ่งทาง Google เองก็จะต้องรู้จักว่าอันนี้คือหนัง อันนี้คือเพลง เป็นต้น ซึ่งการนำบทความมาลงบนการค้นหาก็จะทำให้คนได้รู้จักได้มากขึ้นว่าข้อมูลนี้ได้รับการตรวจสอบข้อมูลมาได้แล้ว

หลังจากนั้น คุณธนภณ เรามานะชัย จาก Google News Initiative ได้กล่าวต่อถึงการตรวจสอบข่าวลวงในฐานะแพลตฟอร์มอย่าง Google ว่า ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับ COFACT ซึ่ง GNI ในปีนี้เป็นปีแรกที่เข้ามาทำงานในภาคภาษาไทย แต่เราเกิดขึ้นมา 5 ปี ซึ่งในส่วนของผมเองที่เป็นแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นแล้วผมจะพูดถึงวิธีการหรือขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบได้ ซึ่งตัว Keyframe ไปค้นหาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ตัวผมอาจจะใช้วิธีการเพิ่มเติม คือวีดิโอในบางทีในลักษณะทางภูมิศาสตร์ว่าเสียง ภาษาถิ่นเป็นอย่างไร ถ้าเราเข้าใจภาษาถิ่นนั้นๆ ได้แล้ว เราก็อาจจะตั้งสมมุติฐานได้แล้วว่ามาจากประเทศหรือส่วนไหนของประเทศนั้นๆ นอกจากนั้นก็มาดูทิวทัศน์ว่ามีความคุ้นหูคุ้นตามากน้อยแค่ไหน? ไม่ใช่แค่ค้นหาตามลักษณะรูปภาพเท่านั้น เราต้องใช้ประสบการณ์ของตนเองในการช่วยค้นหาความจริงได้เช่นกัน

ส่วนเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PDF หรือตัวเลขไทย เราต้องยอมรับว่า Google เองเข้าใจตัวเลขไทยบ้างแล้ว และเราก็มีเครื่องมือเปลี่ยนภาพเป็นตัวอักษร ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เอา PDF เป็นต้นฉบับ Upload ขึ้นมา อันนี้ก็จะช่วยในการค้นหาได้ดีกว่ามากๆ ซึ่งสิ่งสำคัญในการลงข้อมูลที่ตรวจสอบความจริง คือการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เผยแพร่คอนเทนต์ การสร้างความรู้ และการตรวจสอบความจริงที่ต้องไปด้วยกัน ข้อมูลที่อ้างอิงต้องเชื่อถือได้และค้นหาได้ง่าย เนื้อหาการตรวจสอบข่าวลวงต้องเข้าถึงง่ายและทำให้สร้างความรู้ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ช่วงท้ายสุด Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล / Director of International Fact-Checking Network (IFCN) ได้กล่าวปิดท้ายงานว่า แน่นอนว่าการทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายที่สุด คือเราต้องดูว่าคอนเทนต์แบบไหนที่ต้องเอาข้อมูลมาใช้ เราอาจจะต้องดูหลายแหล่งว่าแหล่งข้อมูลไหนที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่ง Google ที่เป็นแหล่งข้อมูลที่น่าค้นหา เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ตรวจสอบข่าวลวงมักจะใช้บ่อยๆ เพราะฉะนั้นคือเราควรที่จะไปถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญๆ นั้นได้อย่างไร? และต้องมีการหากลุ่มเป้าหมายว่าเป็นคนกลุ่มไหน ให้ข้อมูลแบบไหนที่จะดีมาก เพราะว่าสุดท้ายคุณไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทุกชิ้นในโลกนี้ได้หรอก เราต้องให้ข้อมูลและให้ประชาชนได้เข้าใจว่าควรตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่เลือกรับเข้ามานั่นเอง