fbpx

ว่ากันว่าทีวีดิจิตอลในยุคสมัยนี้ต้องมีบริการสำหรับผู้ที่รับชมที่หลากหลาย เนื่องมาจากการเป็นทีวีระดับชาติซึ่งให้บริการเป็นการทั่วไป คือใครมีโทรทัศน์ก็จะสามารถรับชมฟรีได้ทันที จึงทำให้เกิดการผลักดันและใช้ประกาศ กสทช. ที่ให้แต่ละสถานีโทรทัศน์จัดให้มีบริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง หรือเสียงบรรยายแทนภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ชมในวงกว้าง ทั้งที่ต้องการรับชมจริงๆ เช่น กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการทางสายตา เป็นต้น กับกลุ่มผู้ชมทั่วไปซึ่งในบางครั้งก็ต้องการฟังก์ชั่นเหล่านี้

ล่าสุดในรายงานการประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีมติในการอนุมัติรายงานผลการจัดบริการเพื่อผู้พิการ ประจำปี 2563 โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจัดให้มีบริการต่างๆ ประกอบไปด้วย ล่ามภาษามือและคำบรรยายแทนเสียงอย่างละ 60 นาที/วัน และเสียงบรรยายแทนภาพ 30 นาที/วัน

แน่นอนว่าหลายช่องก็หลีกเลี่ยงโดยการเอาคอนเทนต์เหล่านี้ไปใส่ไว้ในช่วงยามไทม์ ยกเว้นบริการล่ามภาษามือที่จัดไว้ในช่วงเวลาของข่าว ซึ่งต้องยกย่องและสนับสนุนให้จัดบริการนี้ต่อไป ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่ปี 2563 ก็พบว่าบางช่องไม่สามารถจัดบริการให้เป็นไปตามประกาศได้ โดยได้แก่ ช่อง 5, เนชั่นทีวี และเอ็นบีที ซึ่งทาง กสทช. ได้มีหนังสือเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์เหล่านี้เพื่อทำการปรับปรุงรายการให้สามารถจัดบริการได้ครบถ้วน เพื่อบริการสาธารณะได้ในปีต่อๆ ไปนั่นเอง

ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าในปี 2564 ช่องใดที่จะสามารถก้าวข้ามและจัดบริการสาธารณะไว้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างแท้จริงและหลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่รายการข่าวหรือละคร สารคดีรีรันยามดึกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องหลากหลายช่วงเวลาและหลากหลายคอนเทนต์อย่างแท้จริง เพื่อทำให้บริการเหล่านี้สามารถเข้าถึงประชาชนทั้งผู้พิการและประชาชนที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน