fbpx

Mercury Goldfish : เมื่อนิเทศศาสตร์ ดนตรี และการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

ถ้าพูดถึงวงการดนตรีกับนิเทศศาสตร์ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นคนละสายในการเรียนหรือการทำงานหรือเปล่า? หรือถ้าผนวกกับเรื่องการเมืองเข้าไปอีก หลายคนก็อาจจะสงสัยไปอีกว่ามันใช่แนวทางของนักร้อง-นักเรียนสื่อหรือไม่? ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์ต่างตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของนักแสดงและคนในวงการบันเทิงกับการเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยถึงจุดแตกหัก

Mercury Goldfish คือวงดนตรีอิสระหนึ่งในไม่กี่วงในประเทศไทยที่ทั้งเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเรียนด้านการโฆษณา อีกคนเรียนด้านภาพยนตร์ และยังมีผลงานเพลงที่ขึ้นชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของวงอีกด้วย อย่างเช่น “ซ่อนตัว” หรือ “ถามจริง” นอกเหนือจากนี้เขาทั้งคู่ยังออกมาแสดงความเห็นทางด้านการเมืองผ่านการ Cover เพลง “ประวัติศาสตร์” โดยดัดแปลงเนื้อร้องบางส่วนด้วยเช่นกัน

วันนี้ส่องสื่อจึงเชิญ “จอน-จอนปรอท วงษ์เทศ” นักร้องนำ และ “มาอิ-ณัฐชานันท์ เนติกรวิวัชร” มือคีย์บอร์ด จากวง Mercury Goldfish มาพูดคุยกันผ่านมุมมองการทำงานเพลงที่เขาทั้งคู่เจอกันจากความบังเอิญ โดยมีแม่สื่ออย่าง “ละครนิเทศจุฬา” พื้นที่ที่เขาทั้งสองต่างมาเจอกัน จนได้ทำงานเพลงด้วยกัน เรามาฟังมุมมองที่หลากหลายผ่านงานสัมภาษณ์นี้กัน

จุดเริ่มต้นการตั้งวงอยู่ที่ “เทสดนตรีคล้ายกัน”

จอนเริ่มต้นเล่าว่าทั้งคู่เริ่มต้นตั้งวงนี้ขึ้นมา เพราะว่าทั้งคู่ได้มีโอกาสได้ไปเล่นดนตรีด้วยกันแล้วมันเข้ากันได้ คือส่วนตัวจอนคิดว่าเทสดนตรีทั้งคู่ต่างคล้าย ๆ กันด้วย นิสัยก็ค่อนข้างที่จะขั้วตรงข้ามกัน พอมาทำด้วยกันถึงจะมีจุดที่มัน Balance กัน เพราะจะมีคนหนึ่งที่อยากทำ แต่ก็จะมีอีกคนที่คอยเบรคไว้ แล้วจอนก็เป็นคนที่แต่งเพลงแต่ไม่ใช่คนที่เล่นดนตรี ส่วนมาอิเป็นคนที่เล่นดนตรีแต่ไม่ถนัดแต่งขนาดนั้น ก็เลยทำด้วยกัน

มาอิเล่าต่อว่าเหมือนจริง ๆ แล้ว ทั้งคู่รู้จักกันด้วยเพราะอยู่ฝ่ายเพลงละครนิเทศจุฬาอยู่แล้ว และสนใจทางด้านดนตรีเหมือนกัน แต่ว่าจอนจะชอบมีกิจกรรมอะไรก็จะมาชวนมาอิไปทำด้วย แบบแค่อยากให้ไปดูคอนเสิร์ต มีคอนเสิร์ตมาเล่นที่คณะนี้นั้นก็ไปด้วยกัน แล้วก็เริ่มสนิทกัน เริ่มรู้สึกว่าเข้ากันได้ในเรื่องการทำเพลงเหมือนกัน พอได้มาเล่นดนตรีด้วยกันตนก็รู้สึกว่าก็มาทำเพลงของตัวเองด้วยดีไหม? เพราะก็มีโครงการของ TK Band ให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ลองสมัครไป Workshop ซึ่งได้เรียนรู้การทำเพลงของตัวเอง หลังจากนั้นเริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นไปเรื่อย ๆ เลย จอนเห็นป้ายประกาศมีให้รับสมัครแล้วก็มาชวนมาอิว่ามีงานเล่นที่คณะ รับสมัครวงเล่นที่งานแบบนิเทศเฟส จอนก็แบบมาสมัครมาเล่นกันไหม? เล่นขำๆ ก็เริ่มมาจากตรงนี้

เพลง “ซ่อนตัว”

จอนเล่าต่อถึงแนวดนตรีที่ตนเองชอบฟังว่า “ส่วนตัวผมคือเป็นคนที่ฟังเพลงไปเรื่อยมาก อยากฟังไรก็ฟังเลย Pop Hip-hop Jazz R&B Indie เราก็ฟังแล้วแต่อารมณ์ แต่ศิลปินที่ชอบเลย ที่ Inspire ในการทำเพลงเลยก็จะมีแบบ Plastic Plastic , The Toy , Whal & Dolph หรือเพลง Kamikaze เพลงยุคที่มี K-OTIC หวาย หรือโฟร์มด ผมก็เอามา Inspire หรือแบบว่าพวก Synth จัด ๆ เลยอยาก Telex Telex เราก็ฟัง ผมฟังเยอะมากเลย อย่างเกาหลีเราก็ฟังแบบ K-Pop เมนสตรีมแบบ Girls’ Generation หรือ NCT แล้วเวลาทำเพลง เราก็เอาหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ซึ่งถ้าดู Spotify เพลงที่ขึ้นมาแต่ละปีของเรา มันจะหลากหลาย”

ในขณะที่มาอิก็ตอบถึงแนวดนตรีที่ตนเองชอบฟังเช่นกันว่า “ถ้าถามศิลปินที่ชอบ มาอิชอบ Whal & Dolph แล้วก็ Plastic Plastic ทั้งชอบแล้วก็เอามาเป็น Inspire ในการทำเพลงของวงด้วย ถ้าถามว่าชอบฟังเพลงแนวไหน ก็คือฟังไปเรื่อยเหมือนกัน ช่วงนี้จะชอบฟังเพลง K-indie , Indie-pop , Pop-Rock ของฝรั่งก็ฟังเหมือนกัน อารมณ์มันแบบไปเรื่อยมาก ๆ Taylor Swift ก็ฟัง แล้วก็ชอบเพลงที่มันจะมี Melody เสียงสูง ๆ น่ารัก ๆ เป็นสไตล์ที่ชอบด้วย”

เพลงแรกที่ทำ = การค้นหาตัวตนของตนเอง

มาอิเล่าให้ฟังถึงเพลงแรกว่า “เพลงแรกในฐานะวงชื่อว่า “ไม่ได้บอก” ซึ่งเป็นเพลงที่ปล่อยใน TK Band แต่ว่าตอนนั้นมีรุ่นน้องที่มาสมัครคนเดียว เขาเลยจับมารวมวงด้วยกันด้วย ตอนนั้นเราก็เพิ่งเริ่มทำด้วย ยังหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ ยังไม่ค่อยเป็น MERCURY GOLDFISH” จอนเสริมว่า “เหมือนอันนั้นเขาจะให้ทำเพลง Original Song ออกมาเพลงหนึ่ง แต่ถ้าเพลงแรกที่ปล่อยให้คนออกมาฟังจริง ๆ คือเพลง “ซ่อนตัว” นั่นเอง”

จอนเล่าให้ฟังถึงยอดการรับฟังเพลงแรกของวงในชื่อ “ซ่อนตัว” ว่า “เหมือนตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าคนจะเห็น คนจะดู คนจะสนใจเยอะเพราะว่า เราก็ทำลงแบบปกติ ละครนิเทศมันจะมีแบบให้ทำเพลงลงอัลบั้ม แต่พอปล่อยมาคนก็สนใจเยอะแล้วก็แชร์เยอะ ประกอบด้วยช่วงนั้นผม MacBook หายด้วย ก็อาจจะได้ยอด Engage จากสิ่งนี้ แล้วก็ MV มันน่าจะดีด้วยแหละ แบบว่าเราก็ให้เพื่อนช่วยทำด้วย ทุกคนก็ชอบ MV เยอะ ซึ่งเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ในคณะที่ช่วยกันทำ ยกเครดิตให้เลย”

พัฒนาศักยภาพจากการเรียนด้วยการทำ MV

มาอิเริ่มเล่าเรื่องราวกว่าจะมาเป็น Music Video หนึ่งเพลง ซึ่งมาจากการช่วยเหลือของเพื่อนๆ ว่า “คือคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการทำหนังสั้น ออกกอง หรือทำหนังส่งครูเป็นเรื่องปกติ มันมีคนออกกองอยู่เรื่อย ๆ เลย การทำ MV ขึ้นมามันแบบเกณฑ์คนมา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่ในคณะ ก็เลยแบบเรียกเพื่อนๆ มาช่วยกันทำ”

จอนเสริมต่อว่า “ทุกครั้งคือเกณฑ์มาเลย เป็นงานบุญล้วน ๆ ตอนนั้นเราก็เป็นนักศึกษาไม่มีเงินจ้างด้วย ฝากกราบขอบพระคุณทีมงานทุกคนมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะทีมงานทุกคนถึงจะเป็นนักศึกษาแต่คุณภาพมากจริงๆ ซึ่งตัวพวก Storyboard ผู้กำกับ MV จะเป็นคนคิด คือเราจะมีพล็อตกับ Reference ในหัวที่เราคิดไว้ แบบตอนที่แต่งเราคิดอะไรในหัว หรือว่าเราอยากให้ MV เป็น Mood & Tone ยังไง เราก็จะโยนให้ผู้กำกับไปทำต่อเลย แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้จริงจังด้วย เป็นแบบกองเล็กๆ เราก็ยังไม่ได้เป็นศิลปินที่มีค่าย มีแรงสนับสนุน เราก็เลยอาสาทั้งใจของเพื่อนๆ ซึ่งก็เป็นไปได้ในอนาคตถ้าเรามีค่าย เราก็จะจ้างทีมงานเดิม ๆ แน่นอนครับ”

เพลง “ถามจริง”

เรายังถามเรื่อง MV เพลง “ถามจริง” ที่มีการใส่เส้นเรื่องของความรักในรูปแบบชายรักชายอีกด้วย ซึ่งจอนก็ให้คำตอบว่า “จริง ๆ มันก็มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมประมาณหนึ่ง แต่ว่าตัว MV ผมก็คุยกับผู้กำกับไว้ว่าเราแบบทำ LGBTQ+ บ้าง เพราะเรารู้สึกว่า MV มันก็ไม่ค่อยมีด้วย และ MV ของเพลงอินดี้มันก็น้อยอยู่แล้วด้วย ส่วนตัวเราเรียนชายล้วน ก็จะมีพอทราบเรื่อง Insight ในโรงเรียนชายล้วน เราก็เลยโยนให้เพื่อน ให้น้องดู หลังจากนั้นก็ให้เขาไปลองตีความดู แล้วไปคิดมาและเสนอเรา”

คลังเพลงมาจาก Keyword ใน Instagram Story!

มาอิเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการทำเพลงของวงว่า “คือถ้าส่วนมาก จอนจะแต่งเพลงไว้อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็มีเพลงอีกมากเลยทีจอนแต่งไว้ แต่ยังไม่ได้เอามาทำ เราก็เลยมีเพลงเก็บอยู่ใน Stock เยอะอยู่เหมือนกัน เรามีการวางแผนอยู่แล้วว่ามีเพลงไหนที่อยากปล่อยช่วงไหนหรือเอามารวมกันช่วงไหน เราก็จะเริ่มทำเพลง ตอนนี้ก็แบบก็มีแพลนวางไว้แล้วก็จะพยายามทำตามแพลน”

จอนเสริมว่า “จอนจะค่อนข้างใจร้อน อยากปล่อยก่อน ก็จะแบบทำเพลงนี้กัน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นมาอิเท่าไร จะเป็นจอนที่อยากทำ แต่ว่าส่วนหนึ่งเราได้เพลงดี ๆ จากการตั้ง Instagram Story เยอะมาก บางทีมันเราก็ไม่มีไอเดีย ก็ให้คนลองโยนมาว่าอยากให้แต่งจากอะไร แล้วเราก็ทำงานต่อจากคำนั้น ซึ่งมันก็เป็นวิธีหา creative idea ที่ดีประมาณหนึ่งครับ ก็จะมีเพลง “ไม่พูด” แล้วก็ “ต้องมนตร์” ก็เป็นเพลงที่เกิดจาก Instagram แล้วจริงๆ มีอีกเยอะที่ยังไม่ได้ปล่อย ซึ่งแรงบันดาลใจในแต่ละครั้ง ผมก็จะรู้สึกว่ามัน Inspire แบบฟังเพลงแล้วมันแบบมันเท่ มัน Sound ดีจัง แล้วเราก็อยากทำอะไรบ้างแล้ว เราก็อยากให้เพลงของเรามี Mood & Tone พิเศษขึ้นมา”

มาอิยังเสริมถึงการมีส่วนร่วมในการทำเพลงของวงด้วยว่า “จริง ๆ มันแล้วแต่เพลงเหมือนกัน คือส่วนมากจอนจะแต่งแบบที่มีทำนองมาแล้ว ซึ่งมีเนื้อร้อง-ทำนองส่งให้มาอิแกะคอร์ด แล้วก็เริ่มทำดนตรีไป แต่มันก็จะมีบางทีที่แบบมาอิเล่นดนตรีขึ้นมาแล้วแบบชอบทำนองนี้ Melody นี้แล้วก็ส่งไปให้จอนแต่ง คือบางทีมันแค่แบบบางคำในเนื้อเพลงที่จอนแต่งมา แค่แบบคำประโยคเดียวหรือคำคำนั้นคำเดียวทำให้นึกถึงเสียง มาอิก็หยิบเข้ามาใส่ได้อย่างเช่นแบบเพลง “แค่กลัว” มาอิเอาเสียงแก้วแตกเข้ามาใส่ในเพลง เพราะรู้สึกว่ามันเข้ากับเพลง เหมือนความสัมพันธ์ที่มันจะแตกออกมาได้ เนื้อเพลงคำไหนที่มีคำว่าเวลา มาอิจะชอบเอาเสียงนาฬิกาใส่ อันนี้เป็นแบบแนวชอบหาเสียงแปลก ๆ หรือให้มันจั๊กจี้หู”

นิเทศศาสตร์ คือพื้นที่ของคนช่างฝัน…

จอนเล่าให้ฟังถึงสิ่งแวดล้อมในการเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอาไว้ว่า “รู้สึกว่าทุกคนให้กำลังใจกัน ถ้าใครอยากจะทำอะไร ทุกคนก็จะพยายามช่วยเหลือกัน คือเรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ทุกคนช่วยกัน มันเป็นพื้นที่ของคนที่ฝัน การที่เราจะเข้านิเทศ เราก็ต้องมีฝันในการทำงานในวงการบันเทิงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าและเบื้องหลัง แต่คือทุกคนเป็นนักช่างฝันจริง ๆ ไม่ว่าจะฝันเล็ก ฝันใหญ่ยังไงก็ไม่มีคนดูถูกกัน ต่อให้คุณอยากแบบฝันจะเป็นดารา นักร้อง ผู้กำกับชื่อดัง หรือฝันอยากจะเป็นนักการตลาด ทุกคนก็พร้อมที่จะสนับสนุน แล้วก็เป็นกำลังใจให้เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร”

มาอิเล่าต่อว่า “เราเรียนรู้จากการทำฝ่ายเพลง ของละครนิเทศมาเยอะมาก ๆ ในเรื่องของ การทำดนตรี เพราะจริง ๆ เราก็ไม่ได้เรียน การที่มาอิรู้จักการทำโปรแกรมดนตรี หรือการขึ้นเพลง มันก็มาจากแบบที่เราได้ทำกับเพื่อนๆ ซึ่งถ้าพูดถึงแค่ในฝ่ายเพลงก่อนนะ ในฝ่ายเพลงก็คือทุกคนเป็นคนที่สนใจในเรื่องดนตรีเหมือนกัน เราก็มาทำเพลงด้วยกัน ซึ่งต้องมาช่วยกัน เหมือนทุกคน ทุกคนมันก็มีมาจากศูนย์ทั้งหมดเลย มาอิก็มาจากศูนย์เหมือนกันในเรื่องของการทำโปรแกรม ก็มาเรียนรู้จากที่นี่ซึ่งก็มีแบบพี่ ๆ คอยช่วยสอนด้วย แล้วก็แบบทีมงานในเอ็มวี ก็คือเป็นคนในคณะหมดเลย”

เพลง “ใจร้อน”

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเอาวิชาเรียนจากในคณะ ไปปรับใช้กับการทำงานด้านดนตรีเช่นกัน โดยจอนพูดถึงการนำวิชาเรียนไปปรับใช้ว่า “อย่างผมเรียนโฆษณา ผมเรียนรู้การยิงโฆษณา เรื่อง Marketing มาประมาณนึง แต่ผมก็ไม่ใช่คนที่เก่งเรื่อง Marketing นะ แต่ก็มาใช้บ้างในการPromote เพลง อย่างผมก็เป็นคนทำ Graphic อยู่แล้วด้วย”

ส่วนมาอิเสริมต่อว่า “ส่วนของมาอิก็คือพอเรื่องการทำเอ็มวีก็จะรู้ขั้นตอนมากขึ้น จากตอนแรกที่ไม่ได้เรียนรู้อะไร ก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์ต่อการมาทำวงกัน จริง ๆ แล้วเอ็มวีล่าสุดที่ปล่อยมา เพลง “ไม่พูด” มันเป็นการบ้านส่งของมาอิเอง คือมาอิใช้การเรียนภาพยนตร์เป็นประโยชน์ต่อวงมาก คือการบ้านส่งวิชา Film Directed ของมาอิก็แบบอยากทำเอ็มวี ซึ่งครูอนุญาต เพราะครูก็รู้อยู่แล้วว่าเราทำวง ครูเขาก็ไม่ได้แบบจำกัดว่าต้องทำเป็นภาพยนตร์เท่านั้น ก็เลยทำเอ็มวีวงแล้วก็ใช้ปล่อยจริงเลย ก็คือถ่ายเก็บไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ว่าเพิ่งมาปล่อยตามแพลนของวง”

เป้าหมายคือการได้รับสนับสนุนจากค่ายเพลง

จอนเล่าถึงความฝันในการทำงานดนตรีของตนเองต่อว่า “จริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากมีค่ายที่คอย Support เหมือนกัน เราก็รู้สึกว่าวงการดนตรี ถ้าเราอยากทำอิสระมันต้องมีทุนประมาณหนึ่งเลย เพราะมันเป็นอาชีพที่ไม่สามารถ Standalone ด้วยตัวเองขนาดนั้น การที่คุณจะทำมันก็ต้องมีต้นทุน หรือมีแรงสนับสนุนจากทั้ง Financial Support หรือ Support ด้านอื่น ๆ ด้วย การเป็นศิลปินอิสระในเมืองไทยมันยากประมาณหนึ่งด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีค่ายครับ แต่ว่าการเป็นอิสระก็มีข้อดี เราก็ชอบที่เราเป็นอิสระเพราะมันได้ทำอะไรอิสระ เป็นตัวเองเต็มที่ดี”

วงการดนตรีกำลังจะคึกคัก แต่โควิดดันมาทำให้อ่อนแรงลง

จอนพูดถึงมุมมองต่อวงการดนตรีในปัจจุบันว่า “เรารู้สึกว่าวงการดนตรีไทย มันคึกคักขึ้นเลย แต่ก็เป็นธุรกิจที่กำลังจะหมดแรงด้วย ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นเพราะว่าโควิด-19 คือที่มันคึกคักขึ้น เพราะว่าเริ่มมีเพลงหลายประเภทขึ้น จากเพลงไทยเดิม ๆ ที่มันมีเพลงเศร้าอกหัก มันก็เริ่มมี T-POP เกิดขึ้น มีไอดอล มีวงนอกกระแสวงอินดี้เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะว่าอิทธิพลจากการฟังเพลงนอกกระแสด้วย แต่ว่ามันก็น่าเสียดาย เพราะว่ามันดันมาคึกคักตอนช่วงโควิดพอดี เพลงมันเป็นธุรกิจที่แบบต้องมีคนฟัง ตอนนี้คนเริ่มได้แต่แบบ Digital Streaming ไปก่อน แล้วพอมี T-POP Stage ขึ้นมาก็ดีใจมาก เพราะเมื่อก่อนสิ่งที่วงการดนตรีไทยไม่มีก็คือพื้นที่ที่จะได้ให้คนเห็นเยอะ วงที่เพิ่งเข้ามาก็สามารถมีพื้นที่ที่จะไปโชว์ได้ ใน T-POP Stage ก็รู้สึกว่ามันก็เริ่มมีความหวังขึ้น แต่จริง ๆ ก็ถ้ารัฐบาลสนใจนักดนตรีขึ้นมากขึ้นมันก็จะยิ่งดีขึ้นครับ”

มาอิเสริมต่อว่า “ถ้าเห็นได้ชัดก็คือ CAT EXPO แค่ประมาณ 2-3 ปีก่อนที่มาอิเคยไป คือปีแรกที่มาอิไปก็คือคนยังไม่เยอะขนาดนี้ แต่ 2 ปีที่แล้วกับปีที่แล้วคือแบบคนล้น มันคึกคักขึ้นจริงๆ วงการดนตรีไทย ก็รู้สึกว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ก็น่าเสียดายเหมือนกันที่มันแบบมาคึกคักอยู่ตอนนี้เพราะมันไม่สามารถจัดงานเล่นสดได้”

ทีมงานมาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นศิลปินง่าย แต่ประสบความสำเร็จยาก

จอนเล่าให้ฟังถึงแนวคิดว่าใครๆ ก็เป็นศิลปินได้ว่า “เรารู้สึกว่าสมัยนี้มันง่ายขึ้นจริงสำหรับการทำเพลง ทุกคนเป็นศิลปินได้ มีพื้นที่ให้คุณสามารถปล่อยเพลงได้ มีช่องทางการเรียนรู้ มีโปรแกรมออนไลน์ มันทำได้หมดเลย แต่ว่าสิ่งที่ยากคือการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ เรารู้สึกแบบศิลปินที่มีฐานคนฟัง ศิลปินที่มีคนชอบ มีคนชื่นชม มีคนติดตามเป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าด้วยความที่มันง่ายขึ้นปุ๊บ แสดงว่าคนก็มีเพลงให้เลือกฟังมากขึ้น ซึ่งก็ต้องมาคิดว่าเราจะทำยังไงให้แตกต่าง เราจะวางจุดยืนหรือวาง Branding ยังไง ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับเรา มันคือการพยายามที่มากขึ้น มันกลายเป็นวงการที่แข่งขันกันมากขึ้น เมื่อก่อนมันจะมีคนที่เฟ้นหาศิลปิน แต่สมัยนี้ไม่ต้องมีค่ายก็ได้ ซึ่งมันก็ต้องเกิดจากความพยายาม มีจุดขายของตัวเองอยู่ดี”

มาอิเล่าต่ออีกว่า “ศิลปินสมัยนี้ แค่ทำเพลงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องมีแบบการตลาดเข้ามาช่วยเยอะอยู่ประมาณนึง เพราะคู่แข่งมันเยอะมาก แล้วใคร ๆ ก็ทำได้ แล้วทุกคนก็หาฟังได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนที่จะออกเทป แต่เดี๋ยวนี้แค่ลง YouTube คนมาฟังเป็นสิบล้านก็ยังได้ แบบเป็นเพลงแรกเพลงเดียวอยู่ก็ดังขึ้นมาได้เลย จะทำให้คนจำเราได้ มันต้องใช้การทำBranding การสร้างตัวเองมากประมาณนึง มันไม่ใช่แค่ทำดนตรีอย่างเดียวในการเป็นศิลปินในยุคสมัยนี้”

เป็นนักดนตรีก็มีจุดยืนทางการเมืองได้!

จอนเล่าให้ฟังถึงจุดยืนทางการเมืองของวงว่า “เราก็มองว่าเราแสดงออกชัดเจนอยู่แล้ว เราก็ค่อนข้างที่จะไม่โอเคกับรัฐบาลนี้ (นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) รู้สึกว่ามันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะว่ามันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว มันก็ 7 ปีแล้ว เป็นช่วงระยะเวลาที่นาน ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็จะมันจะเหลืออะไร คือเรารู้สึกว่าในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่

เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็พร้อมแล้วก็รู้สึกเหมือนเราว่าคนพวกนี้กำลังกินเวลาชีวิตของเราอยู่เท่านั้น เวลาของเขาจะหมดแล้ว แต่เขาก็ยังกินเวลาของเราอยู่ เขาใช้ชีวิตมาทั้งชีวิตแล้ว แต่ก็ยังมาใช้ชีวิตของเรา มันกำลังอยู่ในยุคที่เราหนุ่มสาวเรามีแรง เรามีความคิดความฝันที่อยากทำ แต่ว่าเขากำลังจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปจากเราทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่แบบตัวเองก็ผ่านสิ่งนี้มาแล้ว แล้วก็กำลังจะตาย เรารู้สึกว่าประเทศเรามันดีกว่านี้ได้จริงๆ เราก็อยากให้ทุกคนที่อยากให้ประเทศเปลี่ยนก็อยากให้มาช่วยกัน

แล้วจริง ๆ เราก็รู้ว่ามันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เราต้องทำในวัยนี้ด้วยซ้ำ อย่างการออกมาเรียกร้องทางการเมือง จริง ๆ วัยเราควรจะได้แบบทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำแบบไปตามฝันหรือทำสิ่งที่มีความสุข ไม่ควรเสียเวลามาเรียกร้องด้วยซ้ำ แต่ว่าถ้าเราไม่ทำมันจะเปลี่ยนแปลงไหม? เราเลยต้องทำไรสักอย่าง ไม่งั้นมันก็จะเป็นอย่างนี้”

นักแสดงและนักร้องในเพลง “ถามจริง”

มาอิเสริมเล็กน้อยว่า “ยิ่งแบบช่วงโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัด คือเราเสียเวลาช่วงที่เราอยู่ปี 4 แทนที่จะเป็นช่วงสุดท้ายที่จะได้ไปเจอเพื่อน ๆ ที่คณะ หรือไปมีกิจกรรมที่คณะ ก็คือเราเรียนออนไลน์มาตลอด ทำ Thesis มาอิก็เครียด ทำกองถ่ายมันก็ต้องเลื่อนไป ซึ่งทั้งหมดนี้มันก็มาแบบจากการจัดการเรื่องวัคซีนทีไม่ดีด้วย ก็อยากให้ทุกคนส่งเสียงจริงๆ เพราะแค่เสียงเดียวมันก็มีค่าขึ้นมาได้”

มาอิยังเสริมถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยด้วยว่า “อยากให้คนทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แท้จริง หมายถึงว่า เราสามารถที่จะพูดสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึกได้โดยที่แบบ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะต้องโดนอะไร”

จอนเสริมว่า “เราไม่ควรจะถูกปิดกั้นทางความคิด การแสดงออก ถ้าให้ผมอยากเปลี่ยนแปลงประเทศผมอยากหลายอย่างมาก แล้วก็ผมอยากให้ความเหลื่อมล้ำมันลดลง อยากให้วงการศิลปะมันถูกเห็นคุณค่าขึ้นด้วย ความฝันจริง ๆ ก็คืออยากให้วงการศิลปะไทยมันเจริญสู้ต่างประเทศได้ เรามีศักยภาพมากจริง ๆ คนไทยเก่งจริง ๆ แต่ว่ามันก็มีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้มันไปไม่ได้ไกล”

โกโก้ ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่าย อย่าอ้างสิ โกโก้!

จอนเล่าให้ฟังถึงราคาที่ต้องจ่ายในการออกมาเรียกร้องทางการเมืองว่า “สำหรับเรารู้สึกว่ามันมีราคาอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งที่เราพูดออกไป เราก็มีคิดว่าเเบบสิ่งนี้มันทำให้ค่ายไม่อยากรับเรารึเปล่า? แบบมันจะมีคนที่ไม่จ้างงานเราเพราะสิ่งนี้หรือเปล่า แต่เราก็ทำอยู่ดี เพราะเรารู้สึกว่าต่อให้เรามีเสียงที่ฟังเรากับคนที่ติดตาม 3,000 คน เราอยากจะพูดสิ่งนี้ออกมาให้เขารู้ครับ มันไม่ใช่เรื่องที่ต่อให้เราจะโดนอะไรก็จะปิดปากเราได้ ในเมื่อเรามีสิทธิ์ที่จะพูด ถ้าเรารู้ว่าพูดได้เราก็อยากจะพูด ยิ่งมีคนฟังเยอะเราก็จะยิ่งอยากพูด ต่อให้อนาคตมีคนมาฟังเยอะ เราก็จะยิ่งเป็นกระบอกเสียงให้เขามากขึ้น มันก็จะยิ่งดังขึ้น”

จอนยังพูดถึงการทำงานของสื่อยุคปัจจุบันต่อด้วยว่า “รวม ๆ เลยเราก็รู้สึกว่าทั้ง ๆ ที่ในยุคนี้ สื่อมีอิทธิพลต่อคนดูมาก แต่กลายเป็นสื่อมีพลังน้อยลง ทั้งที่คนเสพสื่อเยอะมากขึ้น แต่เหมือนว่าสื่อเองดันเอาพลังตัวเองให้รัฐ กลายเป็นเครื่องมือต่อรัฐไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตัวเองควรจะเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดให้ประชาชน กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนในโลกออนไลน์ต่างหากที่กลายเป็นพื้นที่ที่มันจะมาแทนสื่อแล้ว คนคุยกันเองแทนสื่อแล้ว สื่อไม่ตามทันโลกแล้วสื่อก็อ่อนแอลง แต่เราก็เข้าใจว่ามันก็ยากสำหรับสื่อ เป็นสื่อมันก็ต้องมีสิ่งอื่นมาแทรกแซง เราก็เข้าใจ เราก็เคยสัมภาษณ์พี่ ๆ สื่อมวลชนเหมือนกันตอนเราทำม็อบ”

เพราะทุกคนเท่ากัน และเรื่องความหลากหลายทางเพศก็สำคัญ

จอนพูดถึงเรื่องมุมมองความหลากหลายทางเพศด้วยว่า “เรารู้สึกว่าก็เป็นชุมชนที่ทุกคนควรจะสนับสนุนกัน เพราะว่าการเป็น LGBTQ+ ในไทย เหมือนจะถูกเปิดแต่มันก็ถูกกดทับเยอะเหมือนกัน คือมันก็อยู่ในกรอบของความคิดเก่า ๆ ที่มองว่าจะต้องเป็นคนดีหรือเป็นคนเก่งถึงจะยอมรับ มันก็จะมีหลาย ๆ เรื่องที่โดนกดทับอยู่ครับ อย่างน้อยก็เพิ่มความตระหนักรู้เพิ่ม เพราะว่ามันก็มี LGBTQ+ ที่เขาทุกข์กับการเป็นตัวเองจริง ๆ มันก็จะมี LGBTQ+ ที่เขาต้องพยายามจะเป็น Straight มาทั้งชีวิต ก็อยากให้ช่วยกันตระหนักกัน แล้วก็อยากให้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับเรื่องปัญหาทางเพศ”

มาอิเสริมว่า “มาอิอยากให้ทุกคนรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่คนจะต้องเปิดเผยออกมา หมายถึงว่าเป็น LGBTQ+ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเปิดเผยตัวตนของตนเองออกมา คือแบบ ทำไม Straight ถึงไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แต่ว่าแบบ LGBTQ+ ถึงต้องเปิดเผยตัวตน”

เพลง “ถามจริง”

จอนพูดต่อว่า “รู้สึกว่าการที่เราจะเปิดเผยตัวตนก็ควรจะเป็นตัวเลือกของคนนั้นๆ ไม่ควรจะมีใครถูกผลักดันให้เปิดเผยตัวตน เพราะว่าบางคนอาจจะยังไม่ได้เข้าใจในตัวเองขนาดนั้นก็มี แต่ว่าคนที่ยังสงสัยในตัวเองมันก็มี เรื่องเพศมันเป็นมุมมองที่แบบละเอียดมาก ก็แบบไม่ควรจะไปชี้ใคร ไม่ควรจะไปตีหน้าใครว่าใครเป็นอะไร จริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ไทยมีการรับรู้เรื่องเพศมากกว่านี้ก็ดี เพราะว่าตอนเราไปสหรัฐอเมริกา ทุกคนก็ต้องถามว่าอยากให้ใช้สรรพนามอะไร เป็นต้น”

มาถึงตอนนี้ใครหลายคนคงจะได้รับฟังความคิด มุมมอง ทัศนคติ และเส้นทางการเดินทางของเด็กนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งสองคนในฐานะนักดนตรี หมวกอีกใบของเขาทั้งคู่ที่ยังต้องก้าวต่อไปอีกไกล อย่างไรก็ฝากติดตามเขากับเพลงต่างๆ นอกเหนือจากเพลง “ไม่พูด” ที่ในรอบนี้มี TikTok Challenge ด้วยเช่นกัน เขาฝากบอกมาว่าเร็วๆ นี้อัลบั้มแรกของเขาจะออกมาแล้วด้วยนะ! และติดตามเขาได้ในทุกช่องทางของสื่อออนไลน์ เพียงแค่ค้นหาคำว่า “Mercury Goldfish” ได้เลย


4 เพลงในใจของวง “Mercury Goldfish”

พูดถึง List เพลงโปรดที่เขาชอบตั้งแต่ทำเพลงออกมา วงนี้ก็มักจะมีเพลงในใจที่อยากให้ทุกคนแวะไปฟังกัน โดยเริ่มจากเพลง “แค่กลัว” เพลงเศร้าสำหรับคนคิดมากกับการจากลาของคนที่เรารัก ต่อกันด้วยเพลง “ถามจริง” เพลงของคนแอบรักเพื่อนที่ไม่สมหวังในความรัก และต่อจากนั้นคือเพลง “เหงาว่ะ!” เพลงสำหรับคนว้าเหว่ ขาดคนเคียงข้าง และตบท้ายด้วยเพลง “ไม่พูด” อีกเพลงที่เหมาะสำหรับคนแอบชอบที่อยากจะบอกเต็มอกแล้ว!