fbpx

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่โอลิมปิกปี 2020 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาของประเทศไทย ท่ามกลางการได้รับการฉีดวัคซีนของชาวประเทศญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 22 และการที่ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 มากกว่า 3,000 รายต่อวันก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วญี่ปุ่นก็ตัดสินใจจัดงานนี้ขึ้นท่ามกลางสนามที่ไร้ผู้ชม ซึ่งเกิดการประท้วงของผู้คนในประเทศและสร้างความเสียหายแก่ผู้สนับสนุนการจัดงานอย่างมหาศาล

การตัดสินใจเลื่อนการจัดงานไป 1 ปีของญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงแต่ทำให้ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น แต่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 2 ใน 3 นั้นต้องจ่ายด้วยเงินจากงบประมาณของประเทศ ซึ่ง Nikkei และ Asahi หนังสือพิมพ์ทางการเงินของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าต้นทุนสุดท้ายหลังจากการจัดงานเสร็จสิ้นจะจบอยู่ที่มากกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

การจัดงานโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงครั้งแรกที่ได้รับบทเรียนทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการเลื่อนการจัดงานและการจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 เพียงเท่านั้น ในการวิจัยที่จัดทำโดย The University of Oxford ในปี 2559 และเว็บไซต์ Play The Game แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีงบประมาณที่เกินจากการคาดการณ์ไปค่อนข้างมาก เช่น มอนทรีออลในปี 2519 ซึ่งจากการจัดโอลิมปิกครั้งดังกล่าวใช้งบประมาณเกินร้อยละ 720 และบาร์เซโลนาในปี 2535 ซึ่งประสบปัญหาค่าใช้จ่ายเกินร้อยละ 266

แน่นอนว่าการที่ใช้งบประมาณเกินจากการคาดการณ์มักจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคระยะยาว อย่างไรก็ดีการจัดการทรัพยากรที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกมักจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเสมอๆ ในเมืองที่จัดงานสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น ซาราเยโว เอเธนส์ ปักกิ่ง และริโอ เป็นต้น ที่สถานที่จัดการแข่งขันหลายแห่งถูกปล่อยให้ทิ้งร้างไว้ ซึ่งการจัดการทรัพยากรที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งบประมาณที่สูญเสียไปถูกนำมาใช้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์การทิ้งสถานที่ให้เป็นที่รกร้าง ซึ่งมันไม่ได้เป็นอนุสรณ์ที่น่าภูมิใจนัก กลับกันมันคือสัญลักษณ์แห่งความมืดมนทางการบริหารจัดการที่ผิดพลาดนั่นเอง

INFOGRAPHIC : นุติกานต์ ไชยสุวรรณ