fbpx

นอกจาก “ค่ายเพลง” บริษัทแม่ “ค่ายมือถือ” ก็ทำโฮมช้อปปิ้งเหมือนกัน

หลังจากที่ตอนที่แล้วเราพูดถึงการที่ “ค่ายเพลง” ลงมาทำโฮมช้อปปิ้งไปแล้ว ก็มาถึงภาคต่อกับการที่บริษัทแม่ของ “ค่ายมือถือ” ก็ขอลงมาทำโฮมช้อปปิ้งบ้าง

“เราเชื่อว่าค่ายมือถือ หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์แรก ๆ ที่คุณนึกถึงก็จะมีอยู่ 2 ค่ายใหญ่ ๆ ไม่เอไอเอส ก็ทรูมูฟเอช อย่างน้อย ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ต้องเคยใช้บริการจาก 1 ใน 2 เจ้านี้ หรือไม่ก็ทั้งคู่”

ด้วยความที่ทั้ง 2 เจ้าก็มีกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเอง ทรูเองก็มีทรูวิชั่นส์ ผู้ที่เรียกได้ว่าแทบจะผูกขาดตลาดเคเบิลทีวีในระบบดาวเทียมและเคเบิลแบบบอกรับสมาชิก รวมถึงแอปพลิเคชั่นทรูไอดี  และกล่องทรูไอดีทีวี ซึ่งมีปัญหาจอดำอยู่บ่อยครั้ง แต่มีจุดเด่นในเรื่องของจำนวนภาพยนตร์ และเชื่อมต่อกับสมาร์ทการ์ดของทรูวิชั่นส์เพื่อเพิ่มช่องได้ ซึ่งตัวแอพสามารถใช้ได้ทุกค่าย ส่วนตัวกล่องนั้นมักจะจัดโปรโมชั่นควบคู่กับทางทรูออนไลน์ หรือทรูมูฟเอช

ส่วนเอไอเอสก็มีเอไอเอสเพลย์บ็อกซ์ ซึ่งให้บริการสำหรับผู้ที่ติดตั้งเน็ตบ้านของเอไอเอสไฟเบอร์ และแอปพลิเคชั่นเอไอเอสเพลย์ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกเครือข่ายเพียงแค่ใช้เบอร์โทรศัพท์ในประเทศไทย เอไอเอสเพลย์มีจุดเด่นในเรื่องของคลังคอนเสิร์ต, แอนิเมชั่น และกำลังขยายจำนวนคอนเทนต์อย่างหนัก ซึ่งเอไอเอสเพลย์มีปัญหาจอดำน้อยครั้งกว่า

แต่วันนี้เราไม่ได้มาพูดถึงเรื่องของเคเบิลทีวี หรือ IPTV แต่เราจะพูดถึงกลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง กลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้งนี่ก็เป็นธุรกิจที่หอมหวาน น่าหลงใหล ถึงแม้ว่าฐานลูกค้าส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มคนมีอายุก็ตาม วันนี้ทางผู้เขียนจึงจะขอหยิบยกกรณีของ 2 ค่ายมือถือที่ก็ลงมาทำ Home Shopping มาให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ

ทรูช้อปปิ้ง : เกิดใกล้กับโอช้อปปิ้ง – เพื่อนจากเกาหลีเหมือนกัน – รูปแบบก็คล้าย ๆ กัน

หากพูดถึงกลุ่มทรู กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายของกลุ่มทุนใหญ่โตอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ในส่วนของเน็ตบ้าน และเคเบิลทีวี หลาย ๆ ท่านคงนึกถึงค่ายมือถือ ภายใต้แบรนด์ “ทรูมูฟเอช”, ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี ภายใต้แบรนด์ “ทรูวิชั่นส์” และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ภายใต้แบรนด์ “ทรูออนไลน์” แต่อีก 1 ธุรกิจที่น่าสนใจ คือกลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้งภายใต้แบรนด์ “ทรูช้อปปิ้ง” 

ทรูช้อปปิ้งก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2554 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 ฝ่ายคือกลุ่มจีเอส ผู้นำด้านโฮมช้อปปิ้งออนไลน์จากประเทศเกาหลี, ทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีเจ้าใหญ่ในไทย, ซีพีออลล์ ผู้ได้รับสิทธิ์ในการขยายร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ซึ่งธุรกิจของเจ้านี้แทบจะผูกขาดตลาดร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดในไทย, และเดอะมอลล์กรุ๊ป เจ้าของห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ แห่ง ที่ไม่เน้นการขยายปริมาณสาขา แต่เน้นคุณภาพสาขา (หรือถึงขยายได้ ก็มักจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ) โดยเริ่มต้นจากชื่อแบรนด์ “ทรูซีเล็คท์” ก่อนเป็นแบรนด์แรก [1]

ทรูซีเล็คท์เกิดมาในไทม์ไลน์ที่ค่อนข้างไล่เลี่ยกับโอช้อปปิ้งของกลุ่มจีเอ็มเอ็มแกรมมี่และซีเจกรุ๊ป ซึ่งเป็นโฮมช้อปปิ้งที่ร่วมทุนกับบริษัทจากเกาหลีใต้เหมือนกัน และยังมีรูปแบบที่ไปในทางเดียวกัน คือการเป็นรายการแนะนำสินค้าที่จัดในสตูดิโอที่เป็นหลักแหล่ง, มีโชว์โฮสประจำ และในบางครั้งก็เป็นรายการสด โดยที่ทั้ง 2 เจ้านี้มีจุดเด่นในเรื่องของการรับประกันสินค้า และการส่งฟรีในทุกออเดอร์(ในช่วงแรก ๆ) เหมือนกัน [2]

อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มธุรกิจโฮมช้อปปิ้งเป็น 1 ในธุรกิจที่เติบโตอย่างเต็มที่ในยุคของทีวีดิจิทัล สำหรับทรูช้อปปิ้ง ทรูสามารถจับมือเป็นพันธมิตรได้กับสถานีโทรทัศน์หลาย ๆ ช่อง นอกเหนือจากช่องของตนเอง และยังมีบ้างที่เป็นมือปืนรับจ้างให้กับช่องอื่น ๆ เช่น Hello Shops แต่ถ้าดูในส่วนของผลประกอบการในรอบ 3 ปี จะสังเกตได้ว่าทรูช้อปปิ้งก็ผ่านช่วงขาดทุนมาแล้ว ก่อนจะพลิกมาเป็นกำไรในช่วงปี 2562 และปี 2563

ปี 2561 มีรายได้ 1,214 ล้านบาท ขาดทุน 19.64 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,429 ล้านบาท กำไร 37.94 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 2,132 ล้านบาท กำไร 136 ล้านบาท

แน่นอนว่าของเล่นระดับเจ้าสัวขนาดนี้ ถ้าไม่มีกำไรอาจจะดูแปลก ๆ ไปบ้าง แต่ก็เป็นของเล่นคนรวยที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับทรูเลยหละ

ไฮช้อปปิ้ง : มาช้าสุด แถมขาดทุนยับ

สำหรับเอไอเอส หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงภาพจำของค่ายมือถือที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยก่อนเป็นอันดับแรก แต่บางท่านอาจจะไม่ทราบว่าบริษัทแม่อย่างอินทัช โฮลดิ้ง ก็มีการลงทุนในธุรกิจโฮมช้อปปิ้งเหมือนกัน ในชื่อของ “ไฮช้อปปิ้ง”

ตัวบริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างอินทัช มีเดีย บริษัทลูกของอินทัช โฮลดิ้งส์ บริษัทแม่ของผู้ให้บริการมือถือเจ้าดังอย่าง “เอไอเอส” และบริษัท ฮุนได โฮมช้อปปิ้ง เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ประเทศเกาหลี ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 500 ล้านบาท [3] 

รูปแบบของรายการก็ไม่ต่างอะไรกับของอีกหลาย ๆ เจ้าในปัจจุบัน ที่ก็เป็นรายการแนะนำสินค้าที่จัดในสตูดิโอที่เป็นหลักแหล่ง, มีโชว์โฮสประจำ และในบางครั้งก็เป็นรายการสด แต่ต่างกันที่ความยาวรายการ ที่ไฮช้อปปิ้งสามารถทำได้สูงถึงเกือบ ๆ 60 นาทีต่อตอนสำหรับรายการในช่องตนเอง(ซึ่งนานมาก) และที่น่าสังเกตก็คือเจ้านี้ก็เคยเป็นมือปืนรับจ้างให้ Hello Shops เหมือนกัน แต่ที่น่าสังเกตคือเมื่อเทียบกับทรูช้อปปิ้งแล้ว ไฮช้อปปิ้งถือว่ายัง “มาช้าไป” อยู่ เพราะผลประกอบการมีรายได้ที่ถือว่ายังน้อยอยู่มาก แถมผลกำไรยังไปในทาง “ขาดทุน” ทุกปี! 

ปี 2561 มีรายได้ 298 ล้านบาท ขาดทุน 86.40 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 325 ล้านบาท ขาดทุน 69.83 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 313 ล้านบาท ขาดทุน 110 ล้านบาท

ก็ไม่รู้ว่ากลุ่มอินทัชกำลัง “คิดอะไรอยู่” ถึงลงมาเล่นในสนามนี้ แต่ถ้าเอาแค่ฐานลูกค้าของค่ายเอไอเอส ก็ถือว่ามากโขเลยหละ

สมรภูมิโฮมช้อปปิ้งถือว่าเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันกันโหดอยู่ในระดับหนึ่ง เชื่อว่าทั้ง 2 ค่ายก็คงจะมั่นใจในฐานลูกค้าของตัวเองแล้ว ที่จะลงมาเล่นในสมรภูมินี้ แต่พวกเขาจะอยู่ในสนามได้นานแค่ไหน ตรงนี้อาจไม่มีใครทราบ…

อ้างอิง
[1] เว็บไซต์ทรูช้อปปิ้ง, “เกี่ยวกับ”
[2] Youtube, ,True Selet ทรูซีเล็คท์,
[3] เว็บไซต์ไฮช้อปปิ้ง, “เกี่ยวกับ High Shopping”